กำเนิดของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

เนื่องจากความเห็นร่วมกันในการประชุมสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ประชุมได้มีมติให้สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตัดข้อความว่าองค์กรอิสระตามกฎหมายกำหนดออก จากมาตรา 40 ซึ่งกำหนดให้มีองค์กรอิสระควบคุมหนังสือพิมพ์ แล้วให้นำไปบัญญัติไว้ในหมวด 5 ว่าด้วยหลักการพื้นฐานในการกำหนดนโยบายของรัฐ เพราะสื่อมวลชนต้องการให้องค์กรนี้เป็นอิสระจริงๆ ปราศจากการแทรกแซงของทางราชการและการเมืองในขณะที่สื่อมวลชนก็พร้อมที่จะ ตั้งองค์กรขึ้นมาควบคุมกันเอง

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ว่า มาตรา 40 ที่ระบุรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของพนักงานหรือ ลูกจ้างเอกชนที่ประกอบกิจการด้านสื่อมวลชน รวมทั้งเจ้าพนักงานของรัฐ โดยไม่ต้องขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพภายใต้การควบคุมของ “องค์กรอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติ” นั้น เป็นหลักการที่ดี แต่องค์กรอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว จำเป็นต้องมีหลักประกันในความเป็นอิสระ ภายใต้หลักการควบคุมกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ หรือวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องมีการพิจารณากันโดยละเอียดรอบคอบในขั้นของการออกกฎหมาย ประกอบตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป

ในการประชุมสมาพันธ์ฯ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 ที่ประชุมมีมติให้สภาร่างรัฐธรรมนูญตัดข้อความว่า องค์กรอิสระตามกฎหมายกำหนดออกจากมาตรา 40 แล้วนำไปบัญญัติไว้ในหมวด 5 ว่าด้วยหลักการพื้นฐานในการกำหนดนโยบายของรัฐ และในการประชุมเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2540 ที่ประชุมมีความเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน 7 คน ได้แก่ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายวีระ ประทีปชัยกูร นายพนา จันทรวิโรจน์ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายวิทูร พึงประเสริฐ นายวันชัย วงศ์มีชัย และนายวรวิทย์ ศรีอนันตรักษา มีนายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นที่ปรึกษา คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่สอบถามความต้องการของเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ถึงเรื่องให้องค์กรอิสระโดยไม่ต้องให้กฎหมายบังคับ

คณะทำงานชุดนี้ ทำงานในรูปของการฟังความคิดเห็นจากเจ้าของหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ว่าจะมีองค์กรอิสระควบคุมกันเองหรือไม่ และได้มีข้อสรุปให้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้น โดยในขั้นแรกให้มีการจัดตั้งกรรมการยกร่างธรรมนูญ”สภาการหนังสือพิมพ์แห่ง ชาติ”

สมาพันธ์ฯ ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 แต่งตั้งกรรมการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีใจความว่า ตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มีเจตนารมณ์ที่จะจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเองโดยสมัครใจ เจ้าของและบรรณาธิการผู้มีอำนาจเต็มของหนังสือพิมพ์และสมาคมฯ ผู้ประกอบวิชาชีพที่ชอบด้วยกฎหมายได้ให้ความเห็นชอบที่จะลงนามร่วมกันในวัน ที่ 4 กรกฎาคม 2540 เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพทั้งมวลพร้อมที่จะดำเนินการควบคุมกัน เอง เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานในเรื่องเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นหลักประกันความรับผิดชอบในการเสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพนี้

ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทย อังกฤษ 25 ฉบับ จากจำนวนทั้งสิ้น 32 ฉบับ รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ 10 องค์กร ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกเจตนารมณ์จัดตั้ง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” เพื่อเป็นองค์กรควบคุมกันเอง และส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์และ กิจการหนังสือพิมพ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยมีตัวแทนสถานทูตสหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย และสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ที่สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ศ.นายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมการยกร่างฯ แถลงผลสำเร็จการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า คณะกรรมการยกร่างฯ ได้ดำเนินการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ตามเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้ลงนามในบันทึกร่วมกันเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศ.นพ.ประเวศ แถลงว่า หลักการสำคัญของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตามธรรมนูญดังกล่าว เป็นไปเพื่อให้วงการหนังสือพิมพ์ได้ควบคุมดูแลกันเอง ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาร่วมในคณะกรรมการสภาการหนังสือ พิมพ์ฯ ดังกล่าวด้วย องค์ประกอบของกรรมการประกอบด้วย 4 ส่วน คือ เจ้าของหรือผู้บริหารหรือผู้ประกอบการซึ่งเลือกกันเอง 5 คน บรรณาธิการหรือตัวแทนผู้มีอำนาจจากกองบรรณาธิการซึ่งเลือกกันเอง 5 คน ผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์ซึ่งเลือกโดยสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทย 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ อีก 7 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอาวุโสและประสบการสูงด้านหนังสือพิมพ์ซึ่ง ไม่สังกัดหนังสือพิมพ์ใด2คน

อีกหลักการหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมกันเองของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กำหนดไว้ในหมวดความรับผิดชอบทางจริยธรรม เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ใน สังกัดสมาชิกละเมิดหรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ก็จะแจ้งให้หนังสือพิมพ์ฉบับที่ถูกร้องเรียนลงตีพิมพ์คำวินิจฉัยดังกล่าวภาย ใน 7 วัน และอาจแจ้งให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นตีพิมพ์ข้อความคำขอโทษผู้เสียหาย ส่วนกรณีมีผู้ถูกร้องว่าประพฤติผิดจริยธรรมสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะแจ้งไปยังต้นสังกัดเพื่อดำเนินการลงโทษแล้วแจ้งผลให้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทราบโดยเร็ว ในการนี้สภาอาจเผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณะได้ คณะกรรมการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะยกร่างข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้มีการเลือกกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นเป็นคณะแรกภายใน ระยะเวลา 120 วัน หลังจากนั้นสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะดำเนินการเพื่อให้มีการควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต่อไป

การเลือกตั้งกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ในวันที่ 9 ตุลาคม 2540 นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการคือ ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ และนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ได้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติชุดแรกตามธรรมนูญ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ 9 ซึ่งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะมีด้วยกันไม่เกิน 21 คน โดยจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการฯ ประเภท 1, 2, และ 3 ก่อน จำนวน 14 คน เพื่อไปดำเนินการเลือกตั้งกรรมการในประเภทที่ 4 อีกจำนวน 7 คน ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยกรรมการทั้ง 3 ประเภท มาจากกลุ่มผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ไม่เกินกลุ่มละ1คน

ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 ได้มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2540 โดยที่ประชุมได้มีการเลือกตั้งประธาน รองประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกให้นายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นาย พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ 1 ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เป็นรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ 2 นายสุวัฒน์ ทองธนากุล เป็นเลขาธิการ และนางผุสดี คีตวรนาฏ เป็นเหรัญญิก

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิก ไปดำเนินการร่างนโยบายในการทำงานและศึกษาการร่างระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เช่น ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อบังคับว่าด้วยการรับและพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ฯลฯ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2540

ในการประชุมนี้ นอกจากจะมีผู้แทนจากเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความแมกไซไซ ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาแพทยสภา ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และนายบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย

ล่าสุด สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้อนุมัติข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์จำนวน 30 ข้อ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 และเริ่มเปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนและผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อพิจารณากลั่น กรองเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยมีนักวิชาการและผู้แทนองค์กรเอกชนทางด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมเป็น กรรมการด้วย