เพจปลอมปลด ผบ.สามเหล่าทัพ : บทเรียนจริยธรรมคนทำสื่อยุคดิจิทัล

เพจปลอมปลด ผบ.สามเหล่าทัพ : บทเรียนจริยธรรมคนทำสื่อยุคดิจิทัล

 

บุปผา  บุญสมสุข และปฏินันท์  สันติเมทนีดล

อาจารย์ประจำสาขาวิชาคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

          เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 โลกโซเซียลมีเดีย ได้มีการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 2/2562 เรื่อง ให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง  โดยระบุให้ผู้บัญชาการทหารบก  ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารเรือ พ้นจากตำแหน่ง และให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาไลน์ไทยคู่ฟ้าของรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงว่า “อย่าเชื่อข้อความดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อและไม่ควรส่งต่อข้อความนี้ เพราะอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด  และสร้างความสับสนในสังคมได้” พร้อมทั้งได้แจ้งความดำเนินคดีกับเพจข่าวปลอมดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้น ถือเป็นความโชคดีของสังคมไทย ที่ทีมงานเฝ้าติดตามตรวจสอบข่าวออนไลน์ของรัฐบาลได้ตอบโต้และแก้ข่าวนี้ได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ ก่อนที่นักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ และมือสมัครเล่นทั้งหลาย จะนำข่าวปลด ผบ.สามเหล่าทัพไปแพร่กระจายและสร้างความเสียหายให้กับประเทศ

เพจปลอมราชกิจจานุเบกษา ปลด ผบ.สามเหล่าทัพครั้งนี้ ถือเป็น Fake News ขั้นรุนแรงที่สุด ที่มีการปลอมทั้งเพจ และเกิดขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองที่ประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562  ท่ามกลางบรรยากาศของการรณรงค์หาเสียง การสื่อสารหลากหลายรูปแบบ และการโฆษณาทางการเมืองที่เข้มข้น เพื่อกล่าวโทษผู้อื่น (ดิสเครดิต) โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และอวดอ้างข้อดี ข้อเด่นของฝ่ายตนเอง ดังนั้น การเสพข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้เสพจะต้องกลั่นกรอง วิเคราะห์ และใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ ข่าวโคมลอย ข่าวมีมูล ข่าวลือ ข่าวยกเมฆ ข่าวกุ ข่าวปลอม ข่าวเท็จ ฯลฯ เพราะข่าวแต่ละข่าวที่กล่าวมาล้วนเป็นข่าวที่ยังไม่สามารถนำเสนอผ่านสื่อได้ ด้วยเหตุผลเดียว คือ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงนั่นเอง

ข่าวโคมลอย เป็นสำนวนของข่าวที่ “ไม่จริง” แต่ข่าวโคมลอย หรือข่าวไม่จริงนั้น อาจจะนำมาซึ่งเบาะแสให้ติดตามเรื่องราวต่อไป ซึ่งนักข่าวรู้จักกันในชื่อ Hints ข่าว ซึ่งหมายถึง การพูดเป็นนัย ๆ หรือสิ่งที่เป็นนัย ๆ หรือมีเค้ามีมูลที่จะทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นจริง

ข่าวลือ ศ.ดร.วีรชัย  โกแวร์ (ม.ป.ป., ออนไลน์) ได้เขียนบทความและอธิบายเกี่ยวกับข่าวลือ ว่าเป็นเรื่องที่พูดกัน แต่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง ในข่าวลือบางครั้งก็อาจมีมูลความจริงอยู่บ้าง ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่า ถ้าไม่มีไฟจะไม่มีควัน นั่นหมายความว่าในบางข่าวลืออาจมีมูล แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่ได้ยิน เนื่องจากข่าวลือไม่อาจหาต้นตอได้ ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะเอาความจริงกับข่าวลือต่าง ๆ ได้

ข่าวลืออาจเป็นเรื่องของการขยายความบิดเบือนความจริงโดยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ผลทางจิตใจที่ตามมา คือ ข่าวลืออาจสร้างความดีใจ เสียใจ สร้างความกลัว เสียขวัญ หรือให้กำลังใจ โดยเฉพาะข่าวลือยุคไฮเทคที่สามารถแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ไหลผ่านสื่อต่างๆ ทุกประเภท จากนั้นข่าวลือจะผ่านปากต่อปาก ผลคือข่าวลือค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความเชื่อจนเกิดปฏิกริยาตอบโต้และมีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนข่าวยกเมฆดูเหมือนจะรุนแรงว่าข่าวอื่น ๆ ตรงที่เป็นข่าวที่ไม่มีมูลความจริงเลย ข่าวที่กุขึ้นมาเอง ข่าวที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เป็นการกุข่าวเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ปัจจุบันคนไทยใช้สื่อสังคม (Social Media) กันค่อนข้างมาก หาก “ไม่รู้เท่าทัน” ก็จะกลายเป็นเหยื่อของการปล่อยข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวสร้างสถานการณ์ หรือที่เรียกว่า fake news กระแส “ข่าวเท็จ” มักเกิดขึ้นอย่างหนักโดยเฉพาะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง จะมีการปล่อยข่าวปลอมออกมา ไม่ใช่แค่ข่าวที่เผลอหลุดออกมาเพราะความผิดพลาดของมนุษย์ปกติเท่านั้น หากแต่เป็นการจัดตั้งเป็นองค์กร เพื่อสร้างความบิดเบือนให้ผู้คนทั่วไปอ่านแล้วเชื่อว่าจริงและช่วยแชร์ต่อกันไป

Fake News  คือ ข่าวที่ถูกพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง และมีผลกระทบในระดับความเชื่อ และเข้าถึงคนหลักล้าน และพอส่งต่อกันมาก ๆ ก็อาจจะกลายเป็น “ข่าวจริง” ขึ้นมาได้ จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้สื่อข่าวที่รู้ไม่เท่าทัน Claire Wardle (อ้างถึงใน Nutnon, 2018, ออนไลน์) จาก First Draft News ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอม ร่วมกับ Social Media และ Publisher อีกกว่า 30 ราย รวมถึง Facebook, Twitter, New York Times หรือ BuzzFeed ได้ ให้นิยาม 7 รูปแบบข่าวปลอมไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

  1. Satire or Parody เสียดสีหรือตลก เวลามีเพจตลก เพจล้อเลียน ทุกคนก็จะดูรู้ว่าเป็นเพจที่ทำขึ้นมาเพื่อล้อเลียน ไม่ได้มีเจตนาในการสร้างความเข้าใจผิดหรือมีวัตถุประสงค์ต้องการให้คนมาเชื่อ
  2. False connection โยงมั่ว การโยงมั่วคือการที่สองสิ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยแต่ถูกนำมากล่าวถึงในข่าวเดียวกันหรือทำให้มาเชื่อมโยงกัน
  3. Misleading การเขียนข่าวหรือทำคอนเทนต์โดย จงใจให้เข้าใจผิด หรือการใช้คำอย่างหนึ่งเพื่ออธิบายอีกอย่างหนึ่ง ข่าวแบบนี้วัตถุประสงค์คือ ชวนเชื่อ หรือหวังผลทางการเมือง ตัวอย่างของคอนเทนต์Misleading เราจะพบเห็นได้บ่อยกับพวกข่าวการเมือง
  4.  False Context ผิดที่ผิดทางหรือการที่เอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่น รูป ข้อความ คำพูด แต่เอามาใช้แล้วพูดถึงอีกเรื่องหนึ่ง คอนเทนต์ที่เป็น False Context เช่น การเอารูปภัยธรรมชาติในต่างประเทศมาแล้วเขียนบอกว่าเกิดขึ้นที่ประเทศไทย
  1. Impostor มโนที่มาคือ การรายงานข่าวแบบปกติ มีการอ้างไปยังบุคคลหรือแหล่งข่าวเช่น ……..กล่าวไว้ว่า นายกเปิดเผยว่า ……..แต่จริง ๆ แล้วเป็นการที่คนทำคอนเทนต์หรือคนเขียนข่าวคิดหรือมโนขึ้นมา เพื่อสร้างความเข้าใจผิดและความขัดแย้งในวงกว้างได้
  2. Manipulated คือการปลอมหรือตัดต่อ ภาพ เสียง วิดีโอ หรือแม้กระทั่งการเอา logo ของสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือมาใส่
  3. Fabricated คือขั้นที่รุนแรงที่สุดของ Fake News เช่น การปลอมทั้งเว็บ เช่น การปลอมเป็นข่าวสด ปลอมเป็นไทยรัฐ หรือการปลอมเป็นบุคคล แล้วรายงานข่าว อันนี้ร้ายแรงมาก เนื่องจากคนก็จะเข้าใจว่าเป็นสำนักข่าวนั้นจริง ๆ และก็ไม่ได้เป็นการล้อเลียนหรือ Parody ด้วย ถ้าคนที่ไม่รู้ก็จะดูไม่ออกเลยว่าเป็นเว็บข่าวปลอม ในไทยก็เคยมีกรณีนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว ตรงนี้ก็ต้องอาศัยทุกคนช่วยกันตรวจสอบ

ข่าวเท็จที่ปรากฏตามเว็บไซต์และสื่อสังคมต่างๆ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ดร.แซนเดอร์ ฟอน เดอร์ลินเด็น (อ้างถึงใน BBC News, 2017, ออนไลน์) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้คิดค้นวิธีการทางจิตวิทยา ขึ้นมาช่วยชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือน โดยกล่าวเปรียบเทียบข้อมูลผิดๆ ว่าสามารถแพร่กระจายและสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ไม่ต่างจากไวรัส

“แนวคิดของนักวิจัยคือการทำให้คนอ่านมีทักษะทางความคิดที่ช่วยสร้างภูมิป้องกันข้อมูลที่ถูกบิดเบือน เมื่อเจอข้อมูลเท็จครั้งต่อไป ก็จะหลงเชื่อน้อยลง”

มาตรการสกัดข่าวเท็จในสื่อสังคมคือ การเรียนรู้เท่าทันข่าวสาร ซึ่งต้องสอนกันตั้งแต่ระดับประถมศึกษาทุกครั้งที่อ่านข่าวให้ถามว่าข่าวนี้มาจากไหน ใครเขียน มีชื่อคนเขียนหรือแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้หรือไม่ ถามว่าข่าวหรือเนื้อหาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดเมื่อไร และคนเอามานำเสนอผ่านสื่อสังคมวันไหน เพราะหลาย ๆ ข่าวหรือบทความบางครั้งเป็นเรื่องเก่าที่มีคนเอามานำเสนอเสมือนหนึ่งเพิ่งเกิดขึ้น อะไรที่เป็น “ข่าวจริง” ในอดีตอาจจะเป็น “ข่าวเท็จ” หรือ ข่าวจงใจบิดเบือนในวันนี้ก็ได้

ในประเทศไทยเราพบว่ามีงานวิจัยที่พยายามที่จะหาคำตอบเกี่ยวกับ ความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวสาร ในชื่อเรื่อง “ปัจจัยในการนำเสนอข่าวสารผิดพลาด และการยอมรับของหนังสือพิมพ์” โดย อภิชาต  ศักดิเศรษฐ์ (2544, ออนไลน์) ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ได้มีการสัมภาษณ์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวสารไว้อย่างน่าสนใจ ผลการสัมภาษณ์บรรณาธิการ เกี่ยวกับปัจจัยในการนำเสนอข่าวที่ผิดพลาด พบว่าเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ ตัวนักข่าว แหล่งข่าว เงื่อนไขเรื่องเวลา และเจ้าของสื่อ

  1. ตัวนักข่าวได้ข่าวมาผิด หรือจับประเด็นผิด หรือสร้างข่าวขึ้นเอง ด้วยประสบการณ์น้อย ประมาทเลินเล่อ ไม่มีการตรวจสอบข่าวหรือตรวจสอบไม่รอบด้าน มีอคติหรือมีผลประโยชน์กับแหล่งข่าว
  2. แหล่งข่าวให้ข้อมูลไม่ชัดเจน หรือพูดความจริงไม่หมด หรือใช้ประโยชน์จากการปล่อยข่าวหรือเบี่ยงเบนข้อมูลหลักฐาน
  3. เงื่อนไขเรื่องเวลา รีบนำเสนอทำให้ไม่มีเวลาตรวจสอบความถูกต้อง
  4. เจ้าของสื่อชี้นำการนำเสนอข่าวสารเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

ในด้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวสาร ผลการสัมภาษณ์พบว่าสาเหตุที่มีการนำเสนอข่าวสารผิดพลาดน่าจะมาจาก 4 ปัจจัย คือ ตัวนักข่าว แหล่งข่าว องค์กรสื่อ และ วัฒนธรรมของคนในสังคมไทย ดังนี้

  1. นักข่าว 1) ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้นดีพอ ทำให้วินิจฉัยเรื่องราวผิดพลาด และหยิบประเด็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงไปนำเสนอ 2) มีอคติ ผูกโยงเหตุการณ์เอง และสร้างเรื่องราวขึ้นมา 3) ไม่มีความรอบคอบ และไม่ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้ถูกถ้วนก่อนนำเสนอ และ 4) ไม่ได้ทำข่าวด้วยตนเอง แต่ลอกข่าวจากผู้อื่น
  2. แหล่งข่าวให้ข้อมูลผิดพลาด เนื่องจากไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น หรือ หวังผลประโยชน์จากการให้ข้อมูลข่าวสาร
  3. องค์กรสื่อต้องการขายข่าวเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง มีการชี้นำบุคลากรให้นำเสนอข่าวสารตามความต้องการขององค์กร
  4. วัฒนธรรมของสังคมไทย ที่สนใจแต่เรื่องที่ตื่นเต้น เรื่องความขัดแย้ง หรือเรื่องที่เป็นด้านลบของบุคคลอื่น โดยไม่สนใจว่าเรื่องนั้นจะถูกต้องหรือไม่

ส่วนเรื่องของเวลาการปฏิบัติงานสื่อไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนนำเสนอ และได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขไว้ 6 ข้อ ดังนี้

  1. องค์กรควรคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริงมาทำหน้าที่
  2. องค์กรควรจัดอบรมนักข่าว นักเขียน ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งมีการหล่อหลอมให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่
  3. นักข่าวจะต้องไม่ทำข่าวด้วยการคาดคะเน หรือโยงเหตุการณ์โดยไม่มีเหตุผล หรือหลักฐานมารองรับ
  4. องค์กรสื่อควรตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำเสนอ
  5. ผู้ปฏิบัติหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารควรมีใบประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย
  6. แหล่งข่าว และผู้รับสาร ควรเข้ามามีบทบาทในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบการทำงานของสื่ออย่างจริงจังและต่อเนื่อง

สำหรับกรณีแหล่งข่าวปิด (Confidential News Source) รายละเอียดของข่าวได้มาจากผู้ชี้เบาะแสของข่าว หรือที่เราเรียกว่า Tipster ผู้ให้ข่าวจะมีเงื่อนไข ไม่เปิดเผยชื่อ นามสกุล อาชีพ หรือที่มาของแหล่งข่าว เพราะเกรงว่าจะมีผลเสียหาย เสียประโยชน์ หรือเกิดอันตรายแก่ผู้ให้ข่าวและครอบครัวได้ การใช้แหล่งข่าวปิดดังกล่าว บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เห็นว่า สามารถใช้ได้แต่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้แน่ใจว่าแหล่งข่าวนั้นไม่ได้ใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะข่าวสารการเมืองส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีความคิดเห็นว่า สื่อควรหลีกเลี่ยงการใช้แหล่งข่าวปิด เนื่องจากขาดความชัดเจน ไม่มีความน่าเชื่อถือ หรืออาจเป็นเพียงข้ออ้างในการทำงานก็เป็นได้

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ข่าวผิดพลาด ข่าวโคมลอย ข่าวมีมูล ข่าวลือ ข่าวยกเมฆ ข่าวกุ ข่าวปลอม ข่าวเท็จเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับสังคม ประเทศชาติ และวงการวิชาชีพทางด้านสื่อสารมวลชน นักวิชาชีพสื่อจะต้องรู้เท่าทัน มีวิจารณญาณในการคิด วิเคราะห์ หาหลักฐาน หาข้อมูล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเรื่องราว เหตุการณ์ นั้นก่อนที่จะมีการนำเสนอผ่านสื่อไปยังสาธารณชน สำหรับประชาชนในฐานะผู้เสพสื่อรัฐบาลควรมีมาตรการในการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาให้กับพลเมือง หน่วยงานของรัฐ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และรวดเร็ว เพื่อเป็นวัคซีนทางปัญญาในการต่อสู้กับไวรัสข่าวปลอม ข่าวปล่อย ข่าวเท็จดังกล่าว

………………………………………………………..

รายการอ้างอิง

วีรชัย  โกแวร์. (ม.ป.ป.). ข่าวลือ. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 จาก

http://www.romyenchurch.org.

อภิชาต  ศักดิเศรษฐ์. (2544). ปัจจัยในการนำเสนอข่าวสารผิดพลาดและการยอมรับหนังสือพิมพ์.

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน .

Nutnon. (2018). รู้จักกับ fake news ทั้ง 7 รูปแบบ ที่เราเจอกันทุกวันบน facebook, twitter.

สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 จาก https://www.rainmaker.in.th/7-type-of-fake-news/

BBC News. (2017). นักวิจัยเคมบริดจ์ คิดหา วัคซีนกันเชื่อข่าวปลอม. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์

2562 จาก https://www.bbc.com/thai/international-38722335