ว่าด้วย “วาระข่าว” หรือ “วาระการเมือง”
นายมงคล บางประภา
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ทันทีที่เริ่มปี พ.ศ. ใหม่ ปี 2562 บรรยากาศความสนุกสนานในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ยังไม่ทันคลาย บรรยากาศความท้าทายในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนก็เริ่มต้นทันที เพราะสิ่งที่รอคอยอยู่ คือการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากที่ว่างเว้นมากว่า 7 ปี
หลังจากมีการคลายล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้ แม้จะยังไม่ได้คลายล็อคคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่ข่าวสารการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็มีขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน มีการระดมข้อมูลข่าวสารส่งผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ สู่สังคมอย่างเต็มที่
มันจึงเป็นโอกาสที่ดีที่สังคมจะถือโอกาสนี้จับตามองเพื่อเรียนรู้และรู้จักแยกแยะสื่อแต่ละประเภท อันเป็นการ “รู้เท่าทันสื่อ” เพื่อปรับตัวในโลกแห่งการสื่อสารยุคใหม่ที่ “ข่าวสาร” (News) ถูกปนเปไปด้วย “ข่าวสร้าง” (Make news) ไปจนกระทั่ง “ข่าวลวง” (Fake news)
ผู้เขียนเคยให้ความเห็นในเวที Media Forum ครั้งที่ 6 “บทบาทสื่อและการรับมือสงครามข่าวสารช่วงเลือกตั้ง” จัดโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ถึงการจัดแบ่งประเภทของสื่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกระแสยุคโซเชี่ยลว่า ผู้เขียนไม่อยากให้จำแนกสื่อยุคใหม่ สื่อโซเชี่ยล ว่าเป็น “สื่อกระแสรอง” และสื่อยุคที่เก่ากว่าอย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เป็น “สื่อกระแสหลัก” เพราะระยะเวลาที่ผ่านมามีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงของสื่อทั้งสองยุคเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคข่าวสารมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อยุคเก่าที่เริ่มผนวกสื่อโซเชี่ยลออนไลน์เข้ามาเพิ่มใต้สังกัด จนบอกไม่ได้แล้วว่าแบบไหนคือสื่อกระแสหลัก หรือสื่อกระแสรอง เพราะต่างก็เป็นสื่อที่สามารถสร้างอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนไม่น้อยกว่ากัน ต่างสลับเป็นต้นตอข่าวที่ส่งต่อซึ่งกัน
แต่ผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งที่สังคมควรจำแนกแยกแยะนั้นควรเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง ใช้สื่อ หรือใช้ข้อมูลข่าวสารนั้นต่างหากที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในการ “รับรู้” และ “แยกแยะ” ข่าวสาร ให้ออกจากข่าวสร้างและข่าวลวงนั่นเอง
ผู้เขียนได้จำแนกสื่อปัจจุบันออกเป็นประเภทใหญ่ๆ 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 สื่อบุคคลทั่วไปสมัครเล่น เช่น บล็อกข่าว เว็บเพจ ที่ตั้งขึ้นเพื่อการสื่อสารต่อสาธารณะ ตามความชอบ ความนิยมของตนเอง หรือกลุ่มเพื่อนแอดมินเพจที่ไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นกองบรรณาธิการอย่างเป็นทางการ สื่อเหล่านี้เมื่อเริ่มต้นอาจจะไม่ได้ตั้งใจจะหารายได้ แต่บางเพจเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น เริ่มมีโฆษณาสินค้ามาลง อาจมีการปรับตัวเป็นสื่อประเภทที่ 2 หรือ 3 ในเวลาต่อมาก็ได้ ประเภทที่ 2 สื่ออาชีพ บริการข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้ว่าสื่อกลุ่มนี้จะมีการหารายได้ แต่ก็มีกองบรรณาธิการที่ชัดเจน และเป็นอิสระแยกออกจากฝ่ายหารายได้ มีความรับผิดชอบทางกฎหมาย และถูกกำกับด้วยจรรยาบรรณ และกรอบจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน
และ ประเภทที่ 3 สื่อเฉพาะกิจเพื่อวาระแห่งผลประโยชน์ สื่อประเภทนี้มักมีนายทุนหนุนที่มีผลประโยชน์อื่นเป็นการเฉพาะ นอกเหนือจากการทำธุรกิจสื่อเป็นหลัก แม้โดยปกติจะทำตัวคล้ายสื่อประเภทที่สอง แต่มักจะแสดงจุดยืนอย่างเด่นชัด
แต่ปัญหาทุกวันนี้คือมีสื่อประเภทที่ 3 พยายามแฝงตัวเองในคราบของสื่อประเภทที่ 2 และพยายามเรียกร้องสิทธิในฐานะสื่อสารมวลชนเพื่อปฏิบัติการให้บรรลุในวาระที่ต้องการ ทั้งที่สื่อประเภทที่ 3 มักเป็นต้นกำเนิด “ข่าวลวง” หรือ “Fake news” แต่กลับเรียกร้องหาเกราะคุ้มกันตนเองเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ก่อเกิดกับบุคคล หรือสังคม
แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น กำลังจะเป็นโอกาสที่ช่วยให้เกิดเบาะแสให้สามารถแยกแยะสื่อที่แฝงตัวระหว่างประเภทที่ 2 กับ 3 ออกมาได้ง่ายขึ้น ด้วยข้อสังเกต อาทิไม่ว่าสื่อประเภทที่ 3 ที่เคยแฝงตัวด้วยการเสนอข่าวให้ดูเป็นสื่อมืออาชีพ การรายงานข่าวอาจมีความรอบด้าน มีแหล่งข่าวแต่ละฝ่ายให้เห็น แต่เมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ข่าวที่ถูกเลือกนำเสนอจะพบว่ามักจะเป็นข่าวลบสำหรับฝ่ายหนึ่ง และข่าวบวกสำหรับอีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด
สำนักข่าวเหล่านี้มักจะให้กำลังใจนักข่าวในสังกัดว่าสื่อที่ดีจะต้องไม่เป็นกลาง ต้องเข้าข้างฝ่ายที่ถูกต้อง แต่ผู้กำหนดว่าฝ่ายไหนถูกต้องมักมาจากฝ่ายนโยบาย และฝ่ายที่ถูกต้องก็มักมีสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์กับองค์กรหรือผู้บริหาร หรือเป็นแหล่งทุน หรือผู้สนับสนุนหลัก การใส่แนวคิดว่า “สื่อไม่ต้องเป็นกลาง” ให้กับนักข่าวในสังกัดจะช่วยลดปัญหาไม่ให้โต้แย้งคำสั่ง หรือการเสนอข่าวอย่างไม่รอบด้าน ไม่เปิดโอกาสฝ่ายตรงข้ามชี้แจง หรือการโหมประเด็นข่าวให้แรงเกินจริง ซึ่งล้วนเป็นการขัดต่อหลักจรรยาบรรณของการเป็นสื่อมวลชนทั้งสิ้น
สื่อประเภทนี้มักสอดรับความเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบของผู้กำหนดวาระสื่อ ยกตัวอย่างในกรณีพรรคการเมือง การขับเคลื่อนกระแสออกไปสักเรื่องจะผ่านกระบวนการของทีม ผ่านการระดมสมองสร้างกระบวนการ มีตัวเปิดประเด็นที่อาจจะเป็นพรรคการเมือง นักการเมืองในพรรค หรืออาจเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ขยับเป็นทิศทางเดียวกันเสมอ ข้อสังเกตไม่ยากคือไม่ว่าเหตุการณ์จะใหญ่จะน้อย สื่อประเภทนี้จะรู้หมายและไม่เคย “ตกข่าว” และอุทิศพื้นที่ข่าวให้เสมอ แม้ว่าตัวเนื้อหาอาจจะมีคุณค่าข่าวน้อย แต่เมื่อจังหวะทางการเมืองเหมาะสม สื่อประเภทนี้ก็จะหยิบข่าวความเคลื่อนไหว หรือภาพบุคคลที่ต้องการสร้างกระแสมานำเสนอแบบฉีกกฎของหลักคุณค่าข่าว
สื่อประเภทนี้มักใช้โครงข่ายข้ามสื่อ เพื่อผลัดกัน รับ – ส่ง ประเด็นข่าว อาศัยพื้นที่ข่าวของสื่อโซเชี่ยล หรือสื่อเก่าเป็นผู้ “ชง” ประเด็นก่อน เพื่อให้สื่ออีกชนิดในเครือข่ายเดียวกันรับลูกขยายประเด็นข่าวต่อ บ่อยครั้งพบว่ามีการอ้างตัวสื่อที่นำเสนอก่อนเป็นแหล่งข่าว แล้วไปขยายผลอีกทีโดยเติมเนื้อหาให้เจาะจงเป้าหมายมากขึ้นซึ่งเป็นกลยุทธ์การทำข่าวแบบ “โจมตีก่อน แล้วล่อให้เจ้าตัวออกมาปฏิเสธ”
ตัวอย่างข่าวเลือกตั้งที่มีการใช้กลยุทธ์ทางสื่อ คือเรื่อง “การเลื่อนวันเลือกตั้ง” ข่าวชิ้นนี้ถูกโหมตั้งแต่แรกให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ รัฐบาล หรือ กกต. ระบุวันเลือกตั้งออกมา และพยายามโหมข่าวให้สังคมติดหูว่าวันเลือกตั้งคือวันที่ 24 ก.พ. 2562 ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริงแล้ว วันเลือกตั้งถูกกำหนดเงื่อนไขโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ไว้แล้วว่า “จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ครบทั้ง 4 ฉบับ”
วันแรกที่ข่าวนี้ถูกโหม ผู้เขียนเองก็อยู่ในเหตุการณ์ พบว่าหลังจากที่มีการแก้ไขการบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายว่าให้มีผลบังคับใช้หลังจากครบ 90 วันนับจากวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทันทีที่มีการประกาศกฎหมายฉบับดังกล่าว มันย่อมสามารถคำนวณได้ล่วงหน้าว่าจะครบกำหนดในวันที่ 11 ธ.ค. 2561 สำนักงาน กกต. ซึ่งเป็นฝ่ายเตรียมการเลือกตั้งก็ต้องกำหนดสถานการณ์จำลองว่าหาก กกต. จะกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว วันไหนจะเป็นวันที่กำหนดได้เร็วที่สุด เพราะก่อนวันเลือกตั้งมันมีขั้นตอนที่ต้องเกิดขึ้นก่อน เช่นการแจ้งสิทธิ์แก่เจ้าบ้าน การแก้ไขผู้มีสิทธิ์ในบ้าน การรับสมัคร ส.ส. การลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ล่วงหน้าในและนอกราชอาณาจักร จึงจะสามารถเลือกตั้งได้ซึ่งคำนวณแล้วเร็วที่สุดคือ 24 ก.พ. 2562 จึงมีการทำสถานการณ์จำลองว่าหากวันดังกล่าวเป็นวันเลือกตั้ง มีขั้นตอนอะไรที่เจ้าหน้าที่ของ กกต. จะต้องทำเพื่อกำหนดเป็นปฏิทินเบื้องต้นได้
วันนั้น กกต. เปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวการเตรียมการของ กกต. และมีนักข่าวบางคนเห็นเอกสารบนโต๊ะเข้า วันรุ่งขึ้นกลายเป็นพาดหัวข่าวว่า กกต. กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว เป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562 ทั้งที่ถ้าตรวจสอบรัฐธรรมนูญสักหน่อยก็จะรู้ว่า มันยังไม่ถึงขั้นตอนที่ กกต. จะกำหนดวันเลือกตั้ง แต่เท่านั้นแหล่ะ ฝ่ายการเมืองก็รีบโหมกระแส เริ่มจาก “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ออกมาประโคมข่าวว่า กกต. กำหนดวันแล้ว รัฐบาลต้องรีบยืนยันเพื่อให้ต่างชาติมั่นใจ ตามด้วยพรรคการเมืองที่ออกมาตอกย้ำว่าให้รัฐบาลออกมาพูดให้ชัดเจน เพื่อให้จังหวะทางการเมืองราบรื่น และพ่วงไปถึงการเรียกร้องให้รีบยกเลิกคำสั่ง คสช. เพื่อให้ทันการทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการรับสมัครสมาชิกพรรคให้ทันเงื่อนไข 90 วันก่อนวันเลือกตั้งให้สามารถลงสมัคร ส.ส. ได้
ทั้งที่รัฐบาลและ กกต. ย้ำเสมอว่าการกำหนดวันเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้น เป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต. ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังคณะรัฐมนตรีประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งไปแล้ว ดังนั้นเมื่อถามรัฐบาลก็จะบอกว่าวันเลือกตั้งต้องไปถาม กกต. พอถาม กกต. ก็จะบอกว่ายังกำหนดไม่ได้ จนกว่าจะมี พรฎ. การเลือกตั้งออกมา เพียงแต่ตามแผนที่เตรียมไว้ คือหาก พรฎ. มีก่อนวันที่ 4 ม.ค. 2562 ขั้นตอนการจัดการของ กกต. และเวลาในการหาเสียงของพรรคการเมือง ก็จะมีเพียงพอหากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562
ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ข่าวทำนองว่าวันเลือกตั้งอาจจะไม่ใช่ 24 ก.พ. 2562 คำว่า “เลื่อน” ก็จะกลายเป็นวาทะทางการเมืองเพื่อกล่าวหาว่าไม่รักษาคำพูด หรือเอื้อประโยชน์แก่กัน ทั้งที่ยังไม่เคยมีใครกำหนดมาก่อนว่าต้องเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562 จนกระทั่ง คสช. มีการเชิญ กกต. และพรรคการเมืองไปหารือที่สโมสรทหารบก เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 คสช. จึงได้เปิดเผยปฏิทินการเลือกตั้งว่าจะเตรียมขั้นตอนทุกอย่างให้พร้อมสำหรับวันเลือกตั้งที่จะจัดได้เร็วที่สุดตามที่หารือ กกต. แล้วคือ 24 ก.พ. 2562 แต่ไม่ได้แปลว่าวันเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงเป็นวันอื่นไม่ได้และในที่สุด คำว่า “เลื่อน” ก็ถูกนำไปใช้สร้างวาระทางการเมืองเพื่อโจมตีหลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มาชี้แจงต่อ กกต. ให้คำถึงถึงพระราชพิธีในการกำหนดวันเลือกตั้ง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่พอจะช่วยให้รู้เท่าทันปฏิบัติการที่มีวาระทางการเมืองแอบแฝงของสื่อประเภทที่ 3 เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และผู้เป็นนักข่าวได้สำรวจสื่อที่ตนเองสังกัดอยู่ว่าใช่สื่อที่ตรงกับอุดมการณ์ในการทำหน้าที่นักข่าวของตนเองหรือไม่