สื่อมวลชนกับจริยธรรมและจรรยาบรรณในยุคโซเชียลมีเดีย (Social Media)
ดร.ณัชชา พัฒนะนุกิจ
สาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารมาเป็นอันดับหนึ่ง We are social และ Hootsuite ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต มือถือ โซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มต่างๆ ของคนทั่วโลกออกมาเป็นรายงานที่ชื่อว่า ‘Digital in 2018’ พบสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนไทยในยุคดิจิทัลจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศเรา 57 ล้านคน (82% ของประชากร) มีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 51 ล้านคน ประเทศไทยใช้เวลาสูงสุด เฉลี่ย 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ (9 ชั่วโมง 29 นาที) และบราซิล (9 ชั่วโมง 14 นาที) ส่วนโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้เยอะที่สุดคือ Facebook (75%) การสำรวจยังพบว่าคนไทยใช้สมาร์ทโฟนใช้เพื่อถ่ายรูปหรือวิดีโอสูงถึง 54%, ใช้แทนนาฬิกาปลุก 42%, ใช้เช็คข่าวสาร 26%, ใช้จัดตารางนัดหมายหรือจดบันทึกสิ่งต่างๆ 25% (Brand Buffet, 2561: ออนไลน์ 2561)
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเนอข่าว เพิ่มช่องทางที่สื่อมวลชนสามารถรายงานข่าวได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก(Facebook) และ ทวิตเตอร์ (Twitter) พฤติกรรมในการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียส่งผลให้ “ทุกคนเป็นสื่อได้” เพราะถูกออกแบบให้ใช้ง่ายบนโทรศัพท์มือถือ ทุกคนสามารถนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อดังกล่าวมีอิทธิพลเรื่องความเร็วของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร (เทียนทิพย์ เดียวกี่,2559) นักวิชาชีพวงการสื่อมวลชนถือได้ว่าได้รับผลกระทบโดยตรงความรวดเร็วที่เกิดขึ้นทำให้การเสนอข้อมูลข่าวสารไม่มีความรอบคอบเท่าที่ควร (เทียนทิพย์ เดียวกี่, 2559)
ปัญหาของการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารในยุคดิจิทัล
จากความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนในสังคมยุคดิจิตอลและลักษณะการทำข่าวแบบคอนเวอร์เจนซ์ เราจะพบว่าสาธารณชนมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลทั่วไปสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆด้วยตนเองมีช่องทางเปิดให้ผู้รับสารกับองค์กรสื่อมีช่องทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ (interactive) ทำให้คนในสังคมสามารถเข้าถึงสื่อได้หลากหลายประเภทและช่องทางมากขึ้นยุคข่าวสารไร้พรมแดนที่ผู้รับสารสามารถตัดสินใจเลือกรับสารได้ตามความพอใจของตนเอง (Active audience)(Little John, 1999) ทำให้การบริโภคเนื้อหาข่าวสารมีความหลากหลาย องค์กรสื่อลดบทบาทของสื่อในการเป็นนายทวารข่าวสารหรือ Gatekeeper และบทบาทในการกำหนดสิ่งที่ประชาชนจะรับรู้ผ่านสื่อในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ เกิดการพัฒนารูปแบบข่าวและการเล่าเรื่องที่ใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียมากขึ้นจนเกิดการตั้งคำถามเรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณของสื่อสรุปไว้ดังนี้ (Kendyl Salcito, 2561: ออนไลน์, อิสรานิวส์,2558: ออนไลน์)
- ความรวดเร็วและความหลากหลายของข้อมูลทำให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกิดข่าวลือเกิดความคิดเห็นที่ตรวจสอบไม่ได้
- มีแรงกดดันให้สื่อบางสื่อลดเพดานจริยธรรมลงหันไปทำข่าวที่เต็มไปด้วยอารมณ์สีสันดึงเรตติ้งของผู้ชม เพิ่มพื้นที่การขายข่าวเพื่อความอยู่รอดขององค์กร
- สาธารณชนเริ่มตั้งคำถามตอบประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การเข้าถึงข้อมูลหรือการนำข้อมูลที่มีอยู่ในออนไลน์มาใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต หรือขาดการอ้างอิงที่ถูกต้อง
- เกิดความสับสนต่อการนิยามใครคือนักข่าวในเมื่อใครๆก็สามารถที่จะเผยแพร่ข้อมูลและรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
- ปัญหาจริยธรรมสื่อในปัจจุบันตกต่ำมากขึ้น เช่น การนำเสนอข่าวเกินจริง ใส่ความคิดเห็น ตั้งตนเองเป็นผู้พิพากษาตีตราผู้ตกเป็นข่าว ไม่แยกแยะระหว่างผลประโยชน์องค์กรกับส่วนรวม สาเหตุอาจเกิดจากคนในแวดวงวิชาชีพไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม (อิสรานิวส์,2558: ออนไลน์)
จรรยาบรรณทางวิชาชีพสื่อมวลชน
จรรยาบรรณ หมายถึง ประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติหรือประมวลมารยาทของผู้ประกอบอาชีพต้องเป็นเอกลักษณ์ทางวิชาชีพ ใช้ความรู้ มีองค์กรหรือสมาคมควบคุม (จรวยพร ธรณินทร์, 2554)
จริยธรรมสื่อมวลชนจึงหมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของสื่อมวลชน (สมสุข หินวิมาน และคณะ, 2557)
จรรยาบรรณของสื่อมวลชนจึงหมายถึง หลักคุณธรรมของผู้ประกอบอาชีพนักสื่อสารมวลชน ที่มารวมตัวกันเป็นสมาคมวิชาชีพ สร้างขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบอาชีพนักสื่อสารมวลชนให้มีความรับผิดชอบ
เสรีภาพบนความรับผิดชอบในวิชาชีพสื่อมวลชน
ข้อปฏิบัติสำคัญที่สื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบพึงกระทำ ได้แก่ สื่อจะต้องรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นจริงอย่างละเอียดรอบด้าน และตรวจสอบอย่างรอบคอบโดยพิจารณาดูบริบทที่เหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นสื่อมวลชนจะต้องสร้างเวทีแห่งการแสดงและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงเป็นช่องทางที่จะแสดงความคิดเห็นของสาธารณะสื่อมวลชนจะต้องเป็นตัวแทนของคนทุก ๆ กลุ่มในสังคมและจะต้องนำเสนอเป้าหมายและคุณค่าของสังคมอย่างชัดเจน (กาญจนา แก้วเทพ, 2556)
Lasswell (1948) และ Wright (1974) (อ้างในอรอนงค์สวัสดิ์บุรีและพงศ์ภัทรอนุมัติราชกิจ,2554) ได้กล่าวถึงการทาหน้าที่ของสื่อมวลชนว่ามีบทบาทหน้าที่ในการสอดส่องดูแล (Surveillance) และรายงานเหตุการณ์ในสังคมปทัสถานสื่อมวลชนตามทฤษฎีว่าด้วยความรับผิดชอบทางสังคม (The social Responsibility Theory) มีหลัก 3 ประการคือ
- ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมและเลือกรับข่าวสาร
- สื่อต้องมีอิสรภาพและเสรีภาพในการนำเสนอข่าว
- สื่อต้องตระหนักถึงประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ
McQuail (1994 อ้างถึงใน พงษ์ วิเศษสังข์, 2554) ได้กล่าวถึงความรับผิดชอบของสื่อมวลชนมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่
- สอดส่องดูแล ระแวดระวัง เหตุการณ์ที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยสื่อจะต้องตื่นตัวในการสอดส่องเหตุการณ์สำคัญ ๆ ป้องกันเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
- ประสานความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆให้ประชาชนได้รับรู้ความคิดเห็นในหลากหลายมิติ
- สั่งสอน ถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีต่อสังคม
- ให้ความบันเทิงถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์
- รณรงค์ท่ามกลางปัญหาเก่า ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นมากมายเป็นหน้าที่ของสื่อในการรวบรวมพลังและผลักดันประชาชนให้เกิดทัศนคติและพฤติกรรมที่สร้างสรรค์ทางสังคมร่วมกัน สร้างความเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกันหลักการสำคัญของทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถสรุปได้ดังนี้ (พีระ จิระโสภณ, 2551)
5.1 สื่อมวลชนควรจะต้องยอมรับและปฏิบัติให้ลุล่วงในภาระหน้าที่ที่เป็นพันธกิจต่อสังคม
5.2 สื่อมวลชนจะต้องบรรลุถึงมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
5.3 สื่อมวลชนควรจะต้องควบคุมตนเองภายใต้กรอบแห่งกฎหมายและสถาบันที่ธำรงอยู่
5.4 สื่อมวลชนควรจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่อาจนำไปสู่อาชญากรรม ความรุนแรง หรือ
ความไม่สงบ หรือแสดงความก้าวร้าวต่อเชื้อชาติหรือศาสนาของชนกลุ่มน้อยในสังคม
5.5 สื่อมวลชนโดยทั่วไปควรจะเปิดกว้างและสะท้อนความหลากหลายของสังคม
5.6 สังคมและสาธารณะมีสิทธิที่จะคาดหวังการปฏิบัติในระดับมาตรฐานที่สูงของสื่อมวลชน
และการเข้าแทรกแซงอาจจะต้องถือว่าไม่เป็นเรื่องผิด หากเพื่อความดีงามของสาธารณะ
5.7 นักวารสารศาสตร์และนักวิชาชีพสื่อมวลชนจะต้องเป็นที่วางใจหรือเชื่อถือได้ของสังคม
เห็นได้ว่า มีนักวิชาการได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติที่เป็นแนวทางความรับผิดชอบของสื่อมวลชนอยู่อย่างมากมาย ส่วนใหญ่เน้นไปที่บทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนภายใต้เสรีภาพและความรับผิดชอบ
แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมวลชนในโซเชียลมีเดีย (Social Media)
ที่ผ่านมาในวงการวิชาการด้านสื่อมวลชนและวิชาชีพ ได้ร่วมระดมความคิดเห็น ผ่านบทความวิชาการ งานวิจัย บทสัมภาษณ์ หรือเวทีการประชุมสัมมนาวงการวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นแนวทางร่วมกันในการพัฒนาจริยธรรมและจรรยาบรรณกลุ่มคนที่ทำงานในวงการสื่อมวลชน ผู้เขียนได้สรุปแนวทางการแก้ปัญหาทางด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณ ดังนี้ (สุทธิชัยหยุ่น (2555), วัฒนีภูวทิศ (2556),การดาร่วมพุ่ม (2557),ศิริวรรณอนันต์โท (2558),เทียนทิพย์ เดียวกี่ (2559)
1.ระดับองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อมวลชน ควรสร้างความตระหนักในเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อแก่ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกอบรมวิชาชีพสื่อมวลชนแก่ผู้ปฏิบัติงาน การประชุมสัมมนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน (เทียนทิพย์ เดียวกี่,2559)
2.ระดับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมด้วยการเปิดโอกาสให้องค์กรหรือบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบจริยธรรมจริยธรรมวิชาชีพของสื่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม (ศิริวรรณอนันต์โท, 2558)
ทั้งนี้กระบวนการทำงานระดับผู้บริหารในองค์กรสื่อมวลชนควรมีการวางมาตรการการรับบุคคลเข้าทำงานในองค์กร ให้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้นและควรออกใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเมื่อกระทำผิดสามารถยึดคืนได้ (วัฒนีภูวทิศ, 2556)
ส่วนระดับผู้ปฏิบัติการในองค์กรสื่อมวลชน ควรช่วยกันตรวจสอบการกรองข่าวสารก่อนออกสู่สาธารณะ (เทียนทิพย์ เดียวกี่, 2559) ลดความเสี่ยงในผิดพลาดด้วยการประชุมโต๊ะข่าวในกองบรรณาธิการแสดงให้เห็นว่าได้ผ่านกระบวนการถกเถียงแสดงความคิดเห็นร่วมกันมาแล้ว (การดาร่วมพุ่ม, 2557)
3.ระดับสถาบันการศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการต่าง ๆ มีส่วนสำคัญที่จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อมวลชนในระบบการเรียนการสอนและควรปูพื้นฐานสร้างนักข่าวรุ่นใหม่ตั้งแต่ระดับเยาวชนด้วย (สุทธิชัยหยุ่น, 2555)
บทสรุป
สื่อมวลชนกับจริยธรรมและจรรยาบรรณในยุคโซเชียลมีเดีย (Social Media)เป็นเรื่องที่มีการถกมาตลอด ตราบเท่าที่การทำหน้าที่สื่อยังไม่สามารถสลัดเรื่องทุนนิยมออกไปได้ ก็ปฏิเสธได้ยากที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งที่บางครั้งมีผลต่อการทำงานหน้าที่ของสื่อ จนเป็นสิ่งที่ถกมาตลอดเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อมวลชน ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหน่วยงานการควบคุมการเข้ามาเป็นเจ้าของสื่อของนายทุน รวมถึงการสร้างจิตสำนึกด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบให้กับสื่อมวลชน มีข้อบังคับที่ชัดเจนมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสังคมสื่อที่เอื้อต่อการสร้างกรอบจริยธรรม สื่อมวลชนให้ขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งสังคม
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
การดา ร่วมพุ่ม. (2557). สื่อมวลชนกับการรายงานข่าวสิทธิเด็ก. วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิต. 8(1), 31-53.
สืบค้นจาก http://www.dpu.ac.th/commarts/journal/upload/issue/lkxEvMl6tw
กาญจนา แกวเทพ. (2556). สื่อสารมวลชน:ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ.
พีระ จิระโสภณ. (2551). ปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร หนวยที่ 10. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
พัชราภา เอื้อมอมรวณิช. (2560). สื่อมวลชนเสรีภาพและความรับผิดชอบ วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์.11(4).
พงษ วิเศษสังข. (2554). ความรับผิดชอบของสื่อมวลชน. ในการประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ. 25 พฤษภาคม 2554.
(น. 22-29). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.
เทียนทิพย์ เดียวกี่. (2559). จริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อในการนำข่าว ยุคดิจิตอล. วารสารการสื่อสารและการจัดการนิด้า
2(2), 125–143.
จรวยพร ธรณินทร์. (2554). ความหมายและหลักการของคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ และธรรมาภิบาล (เว็บไซต์)
สืบค้นจาก http://charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&ld=5375831
ศิริวรรณอนันต์โท. (2558). จริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนการศึกษาในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน.วารสารอิศราปริทัศน์ 4 (6),
(7–25) สืบค้นจาก https://www.presscouncil.or.th/?p=1473
มาลี บุญศิริพันธ. (2556). วารสารศาสตรเบื้องตน: ปรัชญา และแนวคิด.(พิมพครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สํานักพิมพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร.
แรนดัล เดวิด. (2559). คนขาว ฉลาดทํางานศตวรรษที่ 21.(สุนันทา แยมทัพ, ผูแปล).กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพคบไฟ.
สมสุข หินวิมาน และคณะ. (2557). ความรู้เบื้องต้นทางวิทยุและโทรทัศน์ (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุทธิ ชัยหยุ่น. (2555). อนาคตของข่าว. สมุทรปราการ: บริษัท ดับบลิวพีเอส ประเทศไทย จำกัด.
วัฒนี ภูวทิศ. (2556). บทบาทเชิงจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์ในการรายงานข่าวสารหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย. วารสารวิจัยราชภัฏเชียงราย. 15(1), 97-107. สืบค้นจาก http://www.research.cmru.ac.th/2014/journal/file/15-01-009.pdf.
อรอนงค์ สวัสดิ์บุรี และ พงศ์ภัทร อนุมัติราชกิจ. (2554). ผลกระทบของสื่อต่อวิกฤติชาติ. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, 31(4), 69-84. สืบค้นจาก http://www.utcc.ac.th/ public_content/files/001/31_4-5.pdf.
อิสรานิวส์. 2558: ออนไลน์.เรื่อง จริยธรรมสื่อ: สอนคน สอนใคร สอนอย่างไร.
สืบค้นจาก https://www.isranews.org/thaireform-doc-mass-comm/38733-ethics-for-mass-media.html.
Brand Buffet. 2561: ออนไลน์.เรื่อง Digital in 2018 สำรวจพฤติกรรมคนไทยในยุคดิจิทัล. สืบค้นจากhttps://thematter.co/quick-bite/digital-2018/44856.
ภาษาอังกฤษ
Harrison, J. (2006). News. London: Routledge.
Littilejohn, S. W. (1999). Theories of Human Communication. CA :Wadsworth Publishing Company.
Ravi, B. K. (2012). Media and social responsibility: A critical prespective with special reference to television. Academic Research International. 2(1), 306-325.
Shoemaker, P. J. (2006). News and newsworthiness: a commentary. Communications. 31, 105-111.
Kendyl Salcito. (2561). New Media Trends สืบค้นhttps://www.scribd.com/document/264992826/New-Media-Trends.