คดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิง ยิ่งเป็นข่าวยิ่งละเมิด
ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล
มหาวิทยาลัยบูรพา
จากคดี 5 วัยรุ่นข่มขืนเด็กหญิงอายุ 12 ปี ที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงเดือนธันวาคม 2561 นับเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์หนึ่งที่แวดวงสื่อมวลชนต้องยืนอยู่บนเส้นแบ่งระหว่าง “การทำหน้าที่” และ “การละเมิดสิทธิเด็ก” อีกครั้ง เพราะถึงแม้ว่าในมุมมองของการรายงานข่าวนั้นคดีดังกล่าวจะถือเป็นประเด็นใหญ่ที่กระตุ้นให้สังคมรับรู้ถึงอันตรายใกล้ตัว และปลุกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ทอดทิ้งผู้ถูกกระทำต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมเพียงลำพัง แต่ในอีกด้านหนึ่งการตอกย้ำถึงเหตุการณ์ พื้นที่ กระบวนการ ขั้นตอน ความรู้สึกทั้งฝ่ายผู้กระทำและผู้ถูกกระทำก็เป็นการ “ผลิตซ้ำ” ความทุกข์ของเด็กและครอบครัวรายวัน และแทบจะเป็นรายชั่วโมงจากความพยายามในการรายงานความคืบหน้าคดีของสื่อมวลชน
คดีล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าวเป็นข่าวครึกโครมต่อเนื่องยาวนานนับสัปดาห์ นักข่าวติดตามความคืบหน้าของเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มเป็นคดี ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกจากทุกแง่มุมของผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ “พ่อเดือดลูกสาววัย 12 ถูกแก๊งโจ๋รุมโทรม อบต.มาเจรจาถาม “ใครเสร็จบ้าง?” (เรื่องเล่าเช้านี้, 18 ธันวาคม 2561) หรือ “5 โจ๋ รุมโทรม ด.ญ. 11 ปี รับสารภาพ 3 ราย อีกโจ๋ยังอ้างแค่ใช้นิ้ว!” (ข่าวสด, 19 ธันวาคม 2561) หรือ “ช็อกซ้ำ! ข้อมูลใหม่เด็กสาวถูกมองเป็นนกต่อ ก็ถูก 3 โจ๋รุมโทรม เจ้าของร้านนั่งเล่นเกมเฉย” (SANOOK, 19 ธันวาคม 2561)
ในมุมของผู้รายงานข่าว ทุกประเด็นอาจเป็นความจำเป็นที่จะทำให้ผู้รับสารสามารถทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่ร้ายแรง ตระหนักถึงผลกระทบของครอบครัว เช่น ผู้เป็นพ่อที่ต้องแบกรับความไม่เป็นธรรมของสังคม หรือแม้แต่เด็กหญิงที่ถูกมองว่าเป็น “นกต่อ” แท้จริงแล้วก็คือเหยื่อ ท่ามกลางความเพิกเฉยของคนในสังคมที่ไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองเด็กหญิง อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวด้วยถ้อยคำที่ทำให้เห็นภาพชัดเจน การย้อนเหตุการณ์ความรุนแรงทุกประเด็นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ว่าจะเป็น “รุมโทรม” , “ใครเสร็จบ้าง”, “แค่ใช้นิ้ว” , “นกต่อ” ฯลฯ แม้ผู้อ่านทั่วไปอาจรู้สึกว่าเป็นเพียงถ้อยคำธรรมดา แต่ในมุมของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นอาจเป็นการสร้างตราบาป (stigma) ที่ไม่จบสิ้น ยิ่งรายงานละเอียดมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำบาดแผลให้ลึกลงไปในจิตใจมากขึ้นเท่านั้นและยากจะจางหาย เพราะนอกจากจะฝังลงในจิตใจแล้ว ทุกเนื้อหาเกี่ยวกับข่าวดังกล่าวยังทิ้งร่องรอยดิจิทัล (Digital Footprint) ไว้บนโลกออนไลน์อย่างยากที่จะลบเลือน
เมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่าการรายงานข่าวยังมีความจำเป็น ในขณะที่การไม่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงได้มีการประกาศแนวปฏิบัติเรื่อง การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และภาพข่าวผู้หญิงและเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศไว้ตั้งแต่ปี 2549 โดยล่าสุดในปี 2560 (สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, 24 ธันวาคม 2561) ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เท่าทันการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนที่มีความสลับซับซ้อนและอ่อนไหวต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีใจความสำคัญ คือ
ข้อ 1 การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว และการแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับผู้หญิงและเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ
1.1 หนังสือพิมพ์ต้องไม่ตีพิมพ์ชื่อ ชื่อสกุล หรือตำบลที่อยู่ของผู้หญิงและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งชื่อ ชื่อสกุล และตำบลที่อยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากรณีใด ๆ หรือสิ่งที่ทำให้รู้หรือสามารถรู้ได้ เช่น ข้อมูลสถานศึกษา หรือที่ทำงานของผู้เสียหาย
1.2 ในกรณีผู้หญิงและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 1.1 เว้นแต่การเผยแพร่ข้อมูลนั้น เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
1.3 การพาดหัวข่าว โปรยข่าว ตลอดจนเนื้อหาข่าว และการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้หญิงและเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งในเรื่องการใช้ภาษา การให้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ โดยต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หรือความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียงเกียรติคุณผู้เสียหาย และไม่ตอกย้ำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องเพศอันเนื่องมาจากการล่วงละเมิดทางเพศนั้น
ข้อ 2 การเสนอภาพข่าวผู้หญิงและเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ
2.1 หนังสือพิมพ์ต้องไม่ตีพิมพ์ภาพข่าวของผู้หญิงและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงภาพข่าวใด ๆ ที่จะทำให้รู้ได้ เช่น ภาพผู้เกี่ยวข้อง ภาพที่เกิดเหตุ สถานศึกษา สถานที่ทำงาน ไม่ว่ากรณีใด ๆ และไม่ว่าผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น จะเสียชีวิตหรือไม่ก็ตาม
2.2 ในกรณีผู้หญิงและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 2.1 เว้นแต่การเผยแพร่ข้อมูลนั้น เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยสามารถนำเสนอได้เฉพาะภาพหน้าตรงของผู้เสียชีวิตขณะมีชีวิตอยู่เท่านั้น
จากแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แม้จะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งที่น่าจะช่วยให้สื่อมวลชนไม่หลงทางเมื่อต้องยืนอยู่บนเส้นแบ่งระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรับผิดชอบ” เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่การมี “แนวปฏิบัติ” นับเป็นเพียงครึ่งทางแรกเท่านั้น หากครึ่งทางที่สำคัญนับจากนี้คือความตระหนักและการตัดสินใจของผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนว่าจะยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่เพียงใด หรือจะเห็นความสำคัญของ “การขายข่าว” จนก้าวข้ามเส้นแบ่งนี้ไปบดขยี้สิทธิและความเป็นมนุษย์ของเด็กซ้ำแล้วซ้ำอีก
————————————–
แหล่งอ้างอิง
SANOOK (19 ธันวาคม 2561). ช็อกซ้ำ! ข้อมูลใหม่เด็กสาวถูกมองเป็นนกต่อ ก็ถูก 3 โจ๋รุมโทรม เจ้าของร้านนั่งเล่นเกมเฉย. เข้าถึงเมื่อ 24 ธันวาคม 2561 จาก https://www.sanook.com/news/7615382/
ข่าวสด (19 ธันวาคม 2561). 5 โจ๋ รุมโทรม ด.ญ. 11 ปี รับสารภาพ 3 ราย อีกโจ๋ยังอ้างแค่ใช้นิ้ว!. เข้าถึงเมื่อ 24 ธันวาคม 2561 จาก https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1977937
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (16 พฤษภาคม 2560). แนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และภาพข่าว ผู้หญิงและเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ พ.ศ. ๒๕๖๐. เข้าถึงเมื่อ 24 ธันวาคม 2561 จาก https://www.presscouncil.or.th/เรื่อง-การเสนอข่าวและภา/
เรื่องเล่าเช้านี้ (18 ธันวาคม 2561). พ่อเดือดลูกสาววัย 12 ถูกแก๊งโจ๋รุมโทรม อบต.มาเจรจาถาม “ใครเสร็จบ้าง?” . เข้าถึงเมื่อ 24 ธันวาคม 2561 จาก https://www.youtube.com/watch?v=_aeB84NbVLM