นิยามศัพท์สื่อมวลชน
โดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
วิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพด้านการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่เนื่องด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีการสื่อสารได้ส่งผลให้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา มีความซับซ้อนในกระบวนการสื่อสารมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังกระทบต่อความรับรู้และความเข้าใจจนทำให้เกิดการสื่อสารความหมายที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อมวลชน
ด้วยเหตุนี้ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ในฐานะองค์กรซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน จึงได้จัดทำ “นิยามศัพท์สื่อมวลชน” ในลักษณะนิยามปฏิบัติการของสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมและให้ความหมายคำศัพท์ในวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเป็นระบบ สร้างความชัดเจน ป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการตีความ ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สามารถใช้เป็นมาตรฐานกลางในการอ้างอิงทั้งในภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคธุรกิจสื่อที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนด้านการนำเสนอข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
หมวดที่ ๑ สื่อสารมวลชนและวิชาชีพสื่อมวลชน
การนิยามคำศัพท์ในหมวดที่ ๑ “สื่อสารมวลชนและวิชาชีพสื่อมวลชน” มีเป้าหมายเพื่ออธิบายคำศัพท์พื้นฐานสำคัญในภาพกว้างเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อันประกอบด้วยบริบท องค์ประกอบ อุดมการณ์ และจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงกลไกที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมของสื่อมวลชน ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจการนิยามศัพท์ในหมวดอื่น ๆ ต่อไป
ข้อ ๑ สื่อสารมวลชน (Mass Communication) หมายถึง กระบวนการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนที่มีกองบรรณาธิการทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล สามารถสื่อสารไปยังผู้รับสารจำนวนมากที่มีลักษณะประชากรและความสนใจแตกต่างกันผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และสื่อดิจิทัล ตลอดจนช่องทางการสื่อสารในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป
ทั้งนี้ ในบริบทของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร กระบวนการผลิต และเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนนั้นต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒ สื่อมวลชน (Mass Media / Media / Press / Journalist) หมายถึง สื่อหรือช่องทางที่ผลิต เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอเป็นปกติธุระ ทั้งในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง รวมถึงสื่อดิจิทัลหรือในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็น การทั่วไป
นอกจากนี้ “สื่อมวลชน” ยังหมายถึงผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งในระดับบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กรสื่อมวลชน ตลอดจนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้วย ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ทั้งนี้รูปแบบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนในสื่อแต่ละประเภทมีลักษณะสำคัญในการสื่อสาร ดังนี้
- ข้อ ๒.๑ หนังสือพิมพ์ (Newspaper) หมายถึง สื่อที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยใช้สิ่งพิมพ์ มีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม
- ข้อ ๒.๒ วิทยุโทรทัศน์/สื่อภาพและเสียง (Television Broadcasting) หมายถึง สื่อที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยใช้ทั้งภาพและเสียงเป็นสื่อกลางในการนำเสนอผ่านช่องทางคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์
- ข้อ ๒.๓ วิทยุกระจายเสียง/สื่อเสียง (Radio Broadcasting/Audio Media) หมายถึง สื่อที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยใช้สื่อเสียงเป็นองค์ประกอบหลักในการนำเสนอผ่านช่องทางคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง
- ข้อ ๒.๔ สื่อดิจิทัล (Digital Media) หมายถึง สื่อที่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยให้สามารถนำเสนอข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง การปฏิสัมพันธ์ข้อมูล ตลอดจนการนำหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงมาเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ โปรแกรมประยุกต์ (Application) โดยผู้รับสารสามารถดาวน์โหลดข้อมูลข่าวสารไปอ่านรับชมหรือรับฟังได้ทั้งแบบเรียลไทม์ (Real Time) หรือแบบรายสะดวก (On Demand) ตามอายุการเผยแพร่ มีทั้งแบบไม่ชำระเงิน แบบบอกรับสมาชิก และ แบบอุดหนุนค่าใช้จ่าย
ข้อ ๓ วิชาชีพสื่อมวลชน (Media Professional) หมายถึง การประกอบอาชีพสื่อมวลชนอย่างมีอาชีวะ ปฏิญาณ (Profession) อันต้องมีองค์ความรู้และมีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานตามหลักวารสารศาสตร์ซึ่งครอบคลุมกระบวนการทำงานตั้งแต่การค้นหา รวบรวม กลั่นกรอง ตรวจสอบความถูกต้อง และนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อทุกประเภทอย่างกว้างขวางและลุ่มลึก มุ่งเน้นความความถูกต้องและข้อเท็จจริง ประโยชน์สาธารณะ ความสมดุลและเป็นธรรม การเคารพสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตระหนักรู้ถึงจริยธรรมแห่งวิชาชีพ มีความรับผิดชอบทางกฎหมาย และมีกลไกกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๔ เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) หมายถึง อิสระในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการควบคุมหรือแทรกแซงจากอำนาจต่าง ๆ ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่ละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่น
ข้อ ๕ จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน (Media Ethics) หมายถึง หลักความประพฤติที่ดีงามของผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งยึดหลักความถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน เป็นประโยชน์สาธารณะ มีความสมดุลและเป็นธรรม เคารพสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการมีกระบวนการทำงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม การเคารพแหล่งข่าว การได้มาซึ่งข้อมูลโดยไม่ละเมิด ความรับผิดชอบในการแก้ไขข่าว และต้องไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงให้เกิดความมัวหมองหรือเกิดความเคลือบแคลงต่อวิชาชีพ
ข้อ ๖ จรรยาบรรณสื่อมวลชน (Media Code of Ethics) หมายถึง ประมวลความประพฤติที่ดีงามซึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีมติร่วมกันแล้วกำหนดขึ้นตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง มีความรับผิดชอบ เป็นธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และเพื่อส่งเสริมเกียรติคุณ รักษาชื่อเสียงของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยอาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
ข้อ ๗ การกำกับดูแลสื่อมวลชน (Media Regulation) หมายถึง การกำกับ ควบคุม หรือดูแลให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างมีเสรีภาพและรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งรูปแบบของการกำกับดูแลสื่อมวลชนแบ่งเป็น ๑) การกำกับดูแลกันเอง (Self-regulation) ๒) การกำกับร่วมกัน (Co-regulation) และ ๓) การกำกับโดยรัฐ (State-regulation) ซึ่งมีกลไกสำคัญที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ได้แก่ กฎหมาย หน่วยงานกำกับดูแล ข้อกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ จริยธรรม หรือแนวปฏิบัติของสื่อมวลชน และกลไกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๘ การกำกับดูแลกันเอง (Self-regulation) หมายถึง การกำกับ ควบคุม หรือดูแลให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างมีเสรีภาพและรับผิดชอบต่อสังคมโดยความสมัครใจและมีพันธกิจรับผิดชอบร่วมกันในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเอง มีกลไกในการตรวจสอบและดูแลกันเองระหว่างสมาชิกให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๙ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน (Mass Media Professional Organization) หมายถึง คณะบุคคลที่มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชน ในลักษณะสภาวิชาชีพ หรือสมาคมวิชาชีพ ฯลฯ โดยมีกลไกหรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๑๐ คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรสมาชิก (Media Ombudsman) หมายถึง คณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนอันเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชนภายในองค์กรสื่อมวลชนนั้น ๆ ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่าสร้างความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว และการแสดงความคิดเห็น หรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน
ข้อ ๑๑ ภูมิทัศน์สื่อ (Media Landscape) หมายถึง ภาพรวมของระบบสื่อสารมวลชนในสังคมซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบที่สำคัญ อาทิ ประเภทและรูปแบบของสื่อ เทคโนโลยีการสื่อสาร พฤติกรรมการใช้สื่อและการมีส่วนร่วมของผู้รับสาร สภาพเศรษฐกิจและการแข่งขันของสื่อมวลชน บทบาทและอิทธิพลของสื่อในสังคม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ การกำกับดูแลสื่อมวลชน เป็นต้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันเป็นผลมาจากการพัฒนาและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นสำคัญ โดยที่ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในภูมิทัศน์สื่อนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้รับสาร ชุมชน และสังคม ซึ่งเรียกสภาวะความสัมพันธ์นี้ว่า “นิเวศสื่อ” (Media Ecology)
หมวดที่ ๒ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
การนิยามคำศัพท์ในหมวดที่ ๒ “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” มีเป้าหมายเพื่ออธิบายคำศัพท์เกี่ยวกับบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจขอบเขตและการทำหน้าที่ในวิชาชีพสื่อมวลชนที่ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย มีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ข้อ ๑๒ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน (Media / Press / Journalist) หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร และเจ้าของที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นปกติธุระ โดยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญตามหลักวิชาชีพในการทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร คัดกรอง ตรวจสอบความถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและสามารถกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๑๓ องค์กรสื่อมวลชน (Mass Media Organization) หมายถึง องค์กรที่ประกอบกิจการด้านสื่อมวลชนซึ่งให้บริการรวบรวม คัดกรอง ตรวจสอบความถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเป็นปกติธุระ โดยมีผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย และสามารถกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทั้งนี้ พึงมีหนังสือสำคัญที่เป็นหลักฐานการประกอบกิจการสื่อมวลชน เช่น หนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการวิทยุโทรทัศน์ การจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ (Domain name) ที่มีการดำเนินการด้านธุรกิจข้อมูลข่าวสาร
ข้อ ๑๔ ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน (Media Worker) หมายถึง กองบรรณาธิการ บรรณาธิการ หัวหน้ากองบรรณาธิการ บรรณาธิการบริหาร หรือตำแหน่งอื่นใดที่ทำหน้าที่ควบคุม คัดกรอง ตรวจสอบข้อมูลตามบทบาทหน้าที่ของกองบรรณาธิการ รวมถึงผู้สื่อข่าว ผู้เขียนข่าว ผู้เขียนบทความ ช่างภาพ ผู้เขียนภาพ นักสร้างสรรค์ภาพประกอบ กราฟิก การ์ตูน ภาพเสมือนจริง (Immersive) ผลงานจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือตำแหน่งอื่นใดที่มีบทบาทในการค้นหา รวบรวม ตรวจสอบ สร้างสรรค์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นปกติธุระตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชนที่ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
- ข้อ ๑๔.๑ ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนแบบสังกัดองค์กรสื่อมวลชน หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีตำแหน่งงานอยู่ภายใต้โครงสร้างการบังคับบัญชาขององค์กรสื่อมวลชน ได้รับมอบหมายให้ทำงานตามบทบาทหน้าที่อย่างต่อเนื่องตามนโยบายที่องค์กรกำหนด เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางขององค์กรเป็นหลัก ได้รับการว่าจ้างหรือค่าตอบแทนและสวัสดิการที่แน่นอนสม่ำเสมอและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน มีความรับผิดชอบทางกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนที่เป็นไปในลักษณะรับผิดชอบร่วมกันในองค์กร
- ข้อ ๑๔.๒ ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนแบบอิสระ/ไม่สังกัดองค์กรสื่อมวลชน หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะดังนี้
- ข้อ ๑๔.๒.๑ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยได้รับการว่าจ้างเป็นครั้งคราวจากองค์กรสื่อมวลชนโดยมีการแสดงสังกัดองค์กรชัดเจน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางขององค์กรซึ่งได้รับค่าตอบแทนตามวาระงานหรือ จำนวนผลงานที่เผยแพร่ เรียกว่า “สตริงเกอร์”ทั้งนี้ ในกรณีที่ได้รับการว่าจ้าง องค์กรสื่อมวลชนที่เป็นผู้ว่าจ้างจะต้องมีส่วนรับผิดชอบทางกฎหมายและกำกับดูแลให้การปฏิบัติหน้าที่ในวาระงานนั้นให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย
- ข้อ ๑๔.๒.๒ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยได้รับการว่าจ้างเป็นครั้งคราวจากองค์กรสื่อมวลชนโดยไม่แสดงว่าสังกัดองค์กรใดองค์กรหนึ่งชัดเจน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางขององค์กรซึ่งได้รับค่าตอบแทนตามวาระงานหรือ จำนวนผลงานที่เผยแพร่ เรียกว่า “ฟรีแลนซ์” ทั้งนี้ ในกรณีที่ได้รับการว่าจ้าง องค์กรสื่อมวลชนที่เป็นผู้ว่าจ้างจะต้องมีส่วนรับผิดชอบทางกฎหมายและกำกับดูแลให้การปฏิบัติหน้าที่ในวาระงานนั้นให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย
- ข้อ ๑๔.๒.๓ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของตนเองเป็นหลักโดยที่การรับผิดชอบทางกฎหมายและผลกระทบทางจริยธรรมมีลักษณะเป็นการรับผิดชอบส่วนตน
ข้อ ๑๕ ผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานสื่อมวลชน/ผู้สนับสนุนงานข่าว (Media Supporter) หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำงานสนับสนุนกระบวนการผลิตและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการงานกองบรรณาธิการ อาทิ พนักงานจัดหน้าหนังสือพิมพ์ ฝ่ายกราฟิก ผู้พิสูจน์อักษร นักตัดต่อภาพและเสียง พนักงานควบคุมเสียง พนักงานควบคุมแสง นักสร้างสรรค์มัลติมีเดีย นักสร้างสรรค์เนื้อหา แอดมิน หรือตำแหน่งอื่นใดที่มีบทบาทสนับสนุนการค้นหา รวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อมวลชน โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๑๖ บรรณาธิการ (Editor) หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนที่มีหน้าที่ในกระบวนการคัดเลือกกลั่นกรองข่าวสารที่จะเผยแพร่ (Gatekeeping) ตรวจสอบข้อมูล (Fact Checking) โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพในการบริหารงานกองบรรณาธิการตั้งแต่กระบวนการผลิตจนกระทั่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางสื่อมวลชน ทั้งนี้ โครงสร้างการบริหารขององค์กรสื่อมวลชนอาจประกอบด้วย บรรณาธิการบริหาร ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บรรณาธิการกลุ่มข่าว บรรณาธิการข่าว บรรณาธิการข่าวประจำวัน หัวหน้าข่าว
ข้อ ๑๗ กองบรรณาธิการ (Editorial Board/ News Room) หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงานสื่อมวลชนโดยรับผิดชอบกระบวนการผลิตและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตั้งแต่การค้นหา รวบรวม ตรวจสอบ คัดเลือก วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะผ่านสื่อมวลชน โดยมี ความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๑๘ โต๊ะข่าว (News Desk) หมายถึง กลุ่มบุคคลหรือฝ่ายหรือแผนกในกองบรรณาธิการที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ค้นหา รวบรวม ตรวจสอบ สร้างสรรค์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในประเด็นเฉพาะด้าน อาทิ โต๊ะข่าวการเมือง โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ โต๊ะข่าวกีฬา โต๊ะข่าวอาชญากรรม โต๊ะข่าวสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยโครงสร้างของโต๊ะข่าว มักประกอบด้วย บรรณาธิการกลุ่มข่าวหรือหัวหน้าโต๊ะข่าว และผู้สื่อข่าวที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเด็นเฉพาะด้านนั้น ๆ โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแล การดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๑๙ นักข่าว/ผู้สื่อข่าว/ผู้รายงานข่าว (Journalist/ Press/ Reporter) หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญตามหลักวิชาชีพในการค้นหาประเด็น รวบรวมข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๐ นักข่าวท้องถิ่น/ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น (Local Journalist / Local Reporter) หมายถึง ผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่หรือภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นนำเสนอประเด็นในชุมชน ท้องถิ่น หรือพื้นที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๑ ช่างภาพข่าว (Photo Journalist/Video Journalist) หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนที่มี องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญตามหลักวิชาชีพในการทำหน้าที่บันทึกภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์หรือบุคคลเพื่อนำเสนอเนื้อหาข่าวหรือข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชน โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๒ ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตรายการข่าว (News Co-operation Business) หมายถึง กลุ่มบุคคลหรือผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตรายการข่าวเพื่อเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ทั้งในลักษณะของการรับจ้างผลิตรายการ (Outsource) การจ่ายค่าตอบแทนแก่องค์กรสื่อมวลชนเพื่อแบ่งเวลาผลิตรายการ (Time Sharing) และการร่วมผลิตรายการโดยแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน (Co-operation) ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ผลิตรายการข่าวและองค์กรสื่อมวลชนนั้น ๆ ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย รวมถึงการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๓ ผู้ควบคุมการผลิตรายการข่าว (Producer) หมายถึง บุคคลที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการทำหน้าที่บริหารจัดการงานผลิตรายการข่าว ตั้งแต่ขั้นก่อนการผลิต (Pre-production) ขั้นการผลิต (Production) และขั้นหลังการผลิต (Post-production) อาทิ การกำหนดและลำดับเนื้อหาข่าว การควบคุมรูปแบบรายการ การดูแลโฆษณาที่ปรากฏในรายการ ทั้งนี้ ผู้ควบคุมการผลิตรายการข่าวจะมีการประสานงานร่วมกับบรรณาธิการข่าวเพื่อนำมาผลิตเนื้อหาในรายการข่าว โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๔ ผู้ประกาศข่าว (News Anchor/ Newscaster) หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อ่านข่าวตามเอกสารข่าวที่เตรียมไว้แล้วโดยไม่ได้แสดงข้อคิดเห็นและไม่แสดงอารมณ์ประกอบการอ่านข่าว โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๕ ผู้เล่าข่าว (News Narrator) หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นำเสนอข่าวในรูปแบบการเล่าหรือพูดคุยรายละเอียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าว คำนึงถึง การใช้ภาษาและกริยาที่เหมาะสม ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๖ ผู้ดำเนินรายการข่าว (News Presenter) หมายถึงผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นำเสนอข่าวโดยอาศัยทักษะการสื่อสารในการปฏิสัมพันธ์กับผู้รับชมรายการ มีบทบาทในการสร้างบรรยากาศของรายการ การนำเสนอข่าวในรูปแบบการสนทนาร่วมกับแหล่งข่าวหรือผู้ร่วมรายการ เป็นผู้นำการสนทนา อภิปราย หรือสัมภาษณ์แหล่งข่าว/แขกรับเชิญที่มาร่วมรายการ คำนึงถึงการใช้ภาษาและกริยาที่เหมาะสม ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย และการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๗ พิธีกรข่าว (News Host) หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบรายการสาระบันเทิง โดยอาจมีผู้ร่วมรายการหรือไม่ก็ได้ คำนึงถึงการใช้ภาษาและกริยาที่เหมาะสม ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๘ ผู้ดูแลเว็บไซต์ (Webmaster) หมายถึง ผู้พัฒนาและบริหารระบบเว็บไซต์ข่าวที่รับผิดชอบออกแบบพัฒนา ปรับปรุง และบำรุงรักษาเว็บไซต์ให้มีความปลอดภัยและทันสมัย โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างมี ความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๒๙ ผู้ดูแลระบบ/แอดมิน (Admin/Administrator) หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางสื่อดิจิทัลให้มีความปลอดภัยและทันสมัย ตั้งแต่การนำเข้า แก้ไข ลบ หรือปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนการโต้ตอบกับผู้รับสารตามสิทธิการจัดการข้อมูลที่ได้รับมอบหมาย โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๓๐ ผู้สร้างสรรค์เนื้อหา/คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) หมายถึง บุคคลที่สร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่มุ่งเน้นความน่าสนใจ สร้างสรรค์ สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสารผ่านสื่อ
ทั้งนี้ ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาในวิชาชีพสื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๓๑ คอลัมนิสต์ (Columnist) หมายถึง ผู้ทำหน้าที่เขียนคอลัมน์ประจำในสื่อมวลชนประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อดิจิทัล อาทิ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ทั้งนี้ คอลัมนิสต์อาจเป็นผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับข้อมูลที่นำเสนอผ่านคอลัมน์นั้น ๆ โดยคอลัมนิสต์จะต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๓๒ ผู้เฝ้าประตูข่าวสาร/ผู้รักษาประตูข่าวสาร/ผู้เปิดประตูข่าวสาร (Gatekeeper) หมายถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน อาทิ บรรณาธิการ ซึ่งทำหน้าที่คัดกรอง ควบคุม และตัดสินใจว่าข่าวสารหรือข้อมูลใดควรได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ มีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
หมวดที่ ๓ ข้อมูลข่าวสารในวิชาชีพสื่อสารมวลชน
การนิยามคำศัพท์ในหมวดที่ ๓ “ข้อมูลข่าวสารในวิชาชีพสื่อสารมวลชน” มีเป้าหมายเพื่ออธิบายคำศัพท์เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาสาระที่เป็นผลผลิตของการทำหน้าที่ในวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ มีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๓๓ ข้อมูลข่าวสาร (Information) หมายถึง เนื้อหาจากการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ข่าว รายงานพิเศษ รายการสัมภาษณ์ การแสดงความคิดเห็นในรูปแบบต่าง ๆ ภาพประกอบ กราฟิก การ์ตูน ภาพเสมือน (Immersive) ผลงานจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือเนื้อหาอื่นใดที่มีการค้นหา รวบรวม ตรวจสอบ สร้างสรรค์ และเผยแพร่ทางสื่อมวลชน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันอาจพบคำว่า “คอนเทนต์” (Content) ที่นำมาใช้เรียกข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านสื่อ (Media Platform) อย่างมีวัตถุประสงค์ชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ มีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๓๔ เนื้อหา/คอนเทนต์ (Content) หมายถึง การนำเสนอข้อมูล หรือ เรื่องราว ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งตัวอักษร ภาพ ภาพเคลื่อนไหว แสง เสียง รูปแบบการนำเสนอเฉพาะของสื่อดิจิทัล กราฟิก แอนิเมชันจำลองเหตุการณ์ ภาพเสมือน (Immersive) ผลงานจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สื่ออินเตอร์แอคทีฟ และรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเนื้อหา นำเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ โดยมีความสร้างสรรค์ ให้คุณประโยชน์ มีความรับผิดชอบ และไม่ขัดต่อหลักจริยธรรมวิชาชีพ
ข้อ ๓๕ ข่าว (News) หมายถึง เนื้อหาที่เป็นการรายงานข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์หรือความคิดเห็นของบุคคลที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยไม่มีความคิดเห็นของผู้สื่อข่าว มีการนำเสนอข้อมูลหรือหลักฐานประกอบการอธิบายอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน โดยนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเสียง สื่อภาพ สื่อเคลื่อนไหว กราฟิก ภาพจำลองเหตุการณ์ สื่ออินเตอร์แอคทีฟ และรูปแบบอื่น ๆ ผ่านทางสื่อมวลชนซึ่งมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๓๖ สารคดีเชิงข่าว/รายงานพิเศษ/สกู๊ป (Scoop) หมายถึง รายงานเกี่ยวกับข่าวที่ได้มาจากการเสาะหาข้อมูลข่าวในเชิงลึกและเจาะจงประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นำมาเรียบเรียงและนำเสนอเพื่ออธิบาย วิเคราะห์ หรือให้รายละเอียดของข้อมูลที่มากกว่าการรายงานข่าวแบบตรงไปตรงมา รวมทั้งนำเสนอทางออกหรือวิธีแก้ปัญหา ฯลฯ ผ่านทางสื่อมวลชนซึ่งมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๓๗ บทสัมภาษณ์/รายการสัมภาษณ์ (Interview) หมายถึง รายงานข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญ น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ผ่านทางสื่อมวลชนซึ่งมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๓๘ บทความแสดงความคิดเห็น (Opinion Article) หมายถึง บทความหรือรายการที่มีลักษณะเป็น การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ หรือเสนอแนะ โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ อาทิ บทบรรณาธิการ บทวิเคราะห์ คอลัมน์ บทความ การ์ตูน เป็นต้น
ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นนั้นต้องมีการกลั่นกรองจากกองบรรณาธิการทั้งการประเมินคุณค่า ความน่าเชื่อถือ ความสมเหตุสมผล รวมทั้งไม่ละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอความคิดเห็นและเป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๓๙ วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) หมายถึง กระบวนการรายงานข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ในการรายงานข่าว โดยนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเอกสาร ฐานข้อมูลในระบบสารสนเทศมาวิเคราะห์ คัดกรอง ประมวลผล และนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย อาทิ แผนภูมิ อินโฟกราฟิก ข้อมูลอินเตอร์แอคทีฟ เป็นต้น รวมทั้งการใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูลในการรายงานข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Journalism) ซึ่งมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๔๐ เนื้อหาโฆษณา (Advertorial) หมายถึง เนื้อหาที่ถูกนำเสนอในลักษณะการให้ข้อมูลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการโฆษณาองค์กร ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกิจกรรม การสร้างความน่าสนใจและน่าเชื่อถือให้กับผู้อ่าน ผู้ชม ทั้งนี้ ตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เนื้อหาดังกล่าวต้องมีการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นเนื้อหาที่สนับสนุนโดย ผู้โฆษณาเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของผู้อ่าน ผู้ชม ว่าเป็นเนื้อหาปกติจากกองบรรณาธิการ
ข้อ ๔๑ การตรวจสอบข้อมูล (Fact-checking) หมายถึง กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล เพื่อยืนยันความถูกต้อง ความครบถ้วน ความน่าเชื่อถือ และป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดของข้อมูล โดยเป็นกระบวนการทำงานของผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนและกองบรรณาธิการตั้งแต่ขั้นการรวบรวมข้อมูล (Newsgathering) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analyzing) การตรวจสอบยืนยันข้อมูล (Verification) และ การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร (Presentation) โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๔๒ การกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda setting) หมายถึง กระบวนการที่สื่อมวลชนเลือกนำเสนอข้อมูลข่าวสารบางประเด็นอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของประเด็น การสร้างความถี่และให้พื้นที่ในการนำเสนอที่มากพอ เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่สำคัญ นำไปสู่การถกเถียงในสังคม รวมถึงอาจการผลักดันไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะหรือการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในรัฐบาลหรือภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง
หมวดที่ ๔ คำศัพท์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การนิยามคำศัพท์ในหมวดที่ ๔ “คำศัพท์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” มีเป้าหมายเพื่ออธิบายคำศัพท์ที่พบได้บ่อยในสื่อสารมวลชนซึ่งมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจภูมิทัศน์สื่อและนิเวศสื่อในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิเวศสื่อในยุคดิจิทัล
ข้อ ๔๓ ผู้คัดสรรเนื้อหา/คอนเทนต์คูเรเตอร์ (Content Curator) หมายถึง บุคคลที่ทำหน้าที่รวบรวม ตรวจสอบ สรุป แยกแยะ เรียบเรียง ข้อมูลจำนวนมาก พร้อมทั้งเพิ่มคุณค่าให้กับข้อมูลก่อนแบ่งปันข้อมูลนั้นออกไป
ทั้งนี้ ในวิชาชีพสื่อมวลชนคอนเทนต์คูเรเตอร์จะช่วยในการรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลเพื่อนำเสนอในงานสื่อมวลชนโดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๔๔ ผู้มีบทบาทในสื่อสังคมออนไลน์/อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้อื่นโดยมีผู้ติดตามจำนวนมากบนสื่อดิจิทัลโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์
ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอาจมีบทบาทเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๔๕ ผู้นำทางความคิด/เคโอแอล (KOL – Key Opinion Leader) หมายถึง บุคคลที่ได้รับความเชื่อถือว่ามีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง จนมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้ติดตาม เดิมมักเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ต้องการความรู้เฉพาะทาง เช่น วิทยาศาสตร์ การเงิน เทคโนโลยี เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้ขยายขอบเขตถึงกลุ่มไลฟ์สไตล์ด้วย เช่น ความงาม ท่องเที่ยว อาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอาจมีบทบาทเป็นเคโอแอลได้ โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๔๖ ผู้บริโภคที่เป็นผู้นำทางความคิด/เคโอซี (KOC – Key Opinion Customer) หมายถึง บุคคลที่เป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่พัฒนามาจากผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้สินค้าหรือบริการจริงและนำไปสู่การบอกต่อหรือแนะนำจนกระทั่งได้รับความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอาจมีบทบาทเป็นเคโอซีได้ โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๔๗ ผู้นำเสนอเนื้อหาในบล็อก/บล็อกเกอร์ (Blogger) หมายถึง บุคคลที่บันทึกข้อมูลและสร้างสรรค์เนื้อหาในบล็อก (Blog) ซึ่งเป็นเว็บไซต์รูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายบันทึกส่วนตัว โดยปัจจุบันนิยมสร้างสรรค์เนื้อหาในรูปแบบวิดีโอ (Vlog) ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอาจมีบทบาทเป็นบล็อกเกอร์ได้ โดยมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๔๘ ผู้สื่อข่าวพลเมือง/นักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) หมายถึง ประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะผ่านช่องทางการสื่อสารของตนเองหรือช่องทางที่องค์กรสื่อมวลชนจัดให้เป็นการเฉพาะ โดยมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นปกติธุระ และไม่ได้มีเป้าหมายในการแสวงผลประโยชน์ด้านรายได้จากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้น
ข้อ ๔๙ การทำอันดับข้อมูลให้โดดเด่น หรือ เอสอีโอ (SEO – Search engine optimization) หมายถึง เนื้อหาบนสื่อดิจิทัลที่มีกระบวนการในการออกแบบเนื้อหาโดยคำนึงถึงคำสำคัญที่จะถูกค้นหาได้ (Key word) การปรับแต่งเว็บไซต์ การสร้างการเชื่อมโยงกลับมายังเว็บไซต์ และอื่นๆ เพื่อให้ปรากฏเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอในรายการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเป็นลำดับต้น ๆ ของการค้นหา
ข้อ ๕๐ คลิกเบท/พาดหัวยั่วให้คลิก (Clickbait) หมายถึง การพาดหัวข่าว หัวข้อเนื้อหา หรือประโยคนำเรื่องของเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจ จูงใจ หลอกล่อ เชิญชวน กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้และคลิกเข้าไปอ่านเนื้อหานั้น ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้นอาจไม่มีประเด็นสำคัญ เนื้อหาไม่ครบถ้วน เนื้อหาบิดเบือนไม่ถูกต้อง และไม่ได้ตอบข้อสงสัยหรือความอยากรู้ของผู้อ่านตามที่ระบุในพาดหัวข่าวดังกล่าว
ข้อ ๕๑ การฟังเสียงของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) หมายถึง กระบวนการแสวงหา ติดตาม และประเมินเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสาธารณชน รวมถึงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้เทคนิคการรวบรวมข้อมูลที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์โพสต์ แสดงความคิดเห็น โต้ตอบกัน หรือการใช้แฮชแท็ก ฯลฯ ผ่านโปรแกรมประยุกต์หรือปัญญาประดิษฐ์แล้วนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ว่าสาธารณชนหรือผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีกระแส ความคิดเห็นต่อประเด็นหรือเหตุการณ์อย่างไร ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงธุรกิจและการทำงานของสื่อมวลชน
ข้อ ๕๒ เรต (Rate) หมายถึง การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ (Content Classification) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คำแนะนําสำหรับผู้ชม ในการเลือกรับชมสื่อทางโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับวัย
ข้อ ๕๓ เรตติง (Rating) หมายถึง ค่าความนิยมของสื่อที่วัดจากพฤติกรรมของผู้รับสารเพื่อวัดความนิยมที่มีต่อผู้ฟังและผู้ชมรายการวิทยุและโทรทัศน์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ
ข้อ ๕๔ การมีส่วนร่วม/เอนเกจเมนท์ (Engagement) หมายถึง การมีปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยในบริบทของสื่อดิจิทัลมักหมายถึงการมีส่วนร่วมของผู้รับสารที่มีต่อเนื้อหา เช่น การเข้าถึงเนื้อหา การติดตาม การแสดงความรู้สึก การแสดงความคิดเห็น การส่งต่อเนื้อหา เป็นต้น
ข้อ ๕๕ นักข่าวผี (Fake Journalist / Fake Reporter) หมายถึง บุคคลที่แอบอ้าง หรือ กล่าวอ้างว่าเป็นผู้สื่อข่าว โดยมักแสดงตนว่าสังกัดองค์กรสื่อมวลชนหรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่มีอยู่จริง โดยมิได้ทำหน้าที่ตามวิชาชีพสื่อมวลชนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากงานต่าง ๆ เช่น งานแถลงข่าว งานเปิดตัวสินค้า งานเลี้ยงสื่อมวลชน เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง
ข้อ ๕๖ นักข่าวปลอม (Falsely Claim Reporter) หมายถึง บุคคลที่แอบอ้าง กล่าวอ้าง สวมรอยว่าสังกัดองค์กรสื่อมวลชนที่มีอยู่จริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าถึงแหล่งข่าวหรือ พื้นที่ในการทำงานของสื่อมวลชน โดยมิได้ทำหน้าที่ตามวิชาชีพสื่อมวลชนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง
ข้อ ๕๗ ข่าวลวง (Fake News) หมายถึง ข้อมูลที่ถูกนำเสนอในรูปแบบของข่าวเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ โดยมีลักษณะสำคัญ ได้แก่ ๑) ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องซึ่งเผยแพร่ออกไปเนื่องจากเข้าใจผิดหรือขาด การตรวจสอบโดยไม่มีเจตนาร้าย (Mis-information) ๒) ข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างและเผยแพร่โดยเจตนา เพื่อสร้างความเสียหาย (Dis-information) และ ๓) ข้อมูลที่มีความจริงบางส่วนแต่ถูกนำไปเผยแพร่เพื่อก่อให้เกิดความเสียหาย (Mal-information)
นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสร้างหรือดัดแปลงสื่อดิจิทัล เช่น ภาพ เสียง และวิดีโอในลักษณะ Generative AI ที่เหมือนจริงจนแยกแยะได้ยาก (Deep fake)
ข้อ ๕๘ เนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (UGC – User Generated Content) หมายถึง เนื้อหาที่สร้างสรรค์และเผยแพร่โดยผู้ใช้งานทั่วไป เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ใช่เนื้อหาที่ผลิตจากสื่อมวลชน
ข้อ ๕๙ แหล่งข่าว (Source) หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานที่สื่อมวลชนใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการแสวงหา ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อการรายงานข่าว โดยแหล่งข่าวมีคุณลักษณะที่สำคัญคือ มีข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริง น่าเชื่อถือ โดยผู้ปฏิบัติงานข่าวจะต้องปฏิบัติต่อแหล่งข่าวตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
—————————————————–
นิยามศัพท์สื่อมวลชน (35 downloads )