[wptab name=’จดหมายข่าวประจำเดือนกันยายน 52′]
จดหมายข่าวของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติฉบับนี้ คณะผู้จัดทำได้นำภารกิจที่คณะกรรมการออกไปทำหน้าที่ประสานงานร่วมกับองค์กรอื่นเพื่อเป็นการเผยแพร่และแนะนำสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กับองค์กรภายนอก จากที่ผ่านมาที่เห็นจะเป็นภารกิจหลักทำเกิดประโยชน์กับมวลสมาชิกของเรา โดยเฉพาะกับการที่กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกไปพบปะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่ดูแลเรื่องการจดแจ้งการพิมพ์ ถึงวันนี้การผลักดันให้สามารถจดแจ้งได้ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค์ ในวันข้างหน้าที่เราทำงานร่วมกัน ซึ่งจะก้าวเดินทางไปข้างหน้าอย่างพร้อมกัน
คณะกรรมการ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้พยายามออกไปรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิก 12 ปี ที่ผ่านมาเราดำเนินการไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสมาชิก ให้ความช่วยเหลือสมาชิกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หากต้องการให้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ดำเนินการอย่างไร้ เมื่อเดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการได้มีโอกาสไปเยี่ยมสมาชิกหลายฉบับ หนังสือพิมพ์ในเครือเนชั่น หนังสือพิมพ์เครือบางกอกโพสต์ และไทยโพสต์ คณะกรรมการได้ขอคิดและข้อเสนอแนะให้เราทำอะไรในภาวะบ้านเมืองขณะนี้ นอกจากนั้นเรายังได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การควบคุมดูแลหนังสือพิมพ์ออน์ไลน์ว่าในอนาคตเราจะดำเนินการดูแลกันเองอย่างไร เพราะปัจจุบัน สมาชิกของเราส่วนใหญ่นอกจากจะทำหนังสือพิมพ์แล้วยังการทำข่าวออนไลน์ด้วย นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่พวกเราจะดูและกันอย่างให้เป็นเอกภาพที่เหนียวแน่น นอกจากนั้นเนื้อหาสาระในฉบับนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับสมาชิกและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
คณะผู้จัดทำ
[/wptab]
[wptab name=’MBA ศรีปทุม สุ่มคนบริโภค นสพ.’]
M.B.A. ศรีปทุม สุ่มคนบริโภคนสพ. ต้องการอ่านข่าวน่าเชื่อถือ/สร้างสรรค์
นักศึกษา ป.โท เอ็มบีเอ ม.ศรีปทุม ศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมในการเลือกซื้อหนังสือพิมพ์ไทยของคนในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อการบริโภคข่าวสาร พบคนอ่าน นสพ. ต้องการอ่านข่าวที่น่าเชื่อถือ และสร้างสรรค์ ส่วนข่าวทีวีกับอินเทอร์เน็ตเป็นอุปสรรคสำคัญตัดทอนการซื้อ หากอยากอยู่รอดต้องปรับธุรกิจสอดรับพฤติกรรมอ่านและการแข่งขันบนธุรกิจสื่อ
นายฐิติชัย อัฏฏะวัชระ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยฯ ได้เปิดเผยถึงงานวิจัยนี้ว่า ได้ทำการเก็บข้อมูลในวันที่ 1 – 10 กรกฎาคม 2552 ทำการสำรวจในเขต กทม. ใช้กลุ่มตัวอย่าง 250 คน เคยซื้อหนังสือพิมพ์ 217 คนหรือ 86.8% ไม่เคยซื้อ 33 คนหรือ 13.2% และในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เลือกตอบไม่ซื้อหนังสือพิมพ์นั้น จะมีวิธีการรับรู้ข่าวสารในช่องทางอื่น ประกอบด้วย โทรทัศน์ 36% วิทยุ 30.3% อินเทอร์เน็ต 27.3% และช่องทางอื่นๆ (บอกเล่า, พูดคุย) 6.1%
สำหรับข้อมูลด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อหนังสือพิมพ์ไทย กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจะเป็นกลุ่มผู้ที่เลือกซื้อหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีจำนวนผู้ตอบ 217 คน ซึ่งพฤติกรรมการเลือกซื้อ หนังสือพิมพ์จากแหล่งจำหน่าย จะมีพฤติกรรมการเลือกซื้อดังนี้ ร้านสะดวกซื้อ 34.1% ร้านหนังสือ 55.85% ซุปเปอร์มาเก็ต 3.7% ตามบริเวณสี่แยกไฟแดง 0.9% อื่นๆ (เป็นสมาชิก, ส่งที่บ้าน)5.5%
ความถี่การซื้อหนังสือพิมพ์ เลือกซื้อทุกวัน 20.3% เลือกซื้อ 1 – 2 ครั้ง/สัปดาห์ 40.6% เลือกซื้อ 3 – 4 ครั้ง/สัปดาห์ 14.3% เลือกซื้อ 5 – 6 ครั้ง/สัปดาห์ 6.9% อื่นๆ(นานๆครั้ง, เดือน, ขึ้นอยู่กับข่าวที่สนใจ, พาดหัวน่าสนใจ, ข่าวที่ตนเองสนใจ) 18%
ข้อมูลด้านการให้ความสำคัญการติดตามอ่านข่าวหนังสือพิมพ์จากผลการเลือกซื้ออ่าน มีดังนี้ ติดตามอ่านข่าวการเมือง เลือกอ่านในระดับปานกลาง ติดตามอ่านข่าวเศรษฐกิจ อยู่ในระดับมาก ติดตามอ่านข่าวบันเทิง ในระดับปานกลาง ติดตามอ่านข่าวกีฬา ในระดับปานกลาง ติดตามอ่านข่าวต่างประเทศ ในระดับปานกลาง ติดตามข่าวสังคม ในระดับมาก ติดตามอ่านบทความ/รายงาน/คอลัมนิสต์ ในระดับปานกลาง ติดตามอ่านบทละครโทรทัศน์ อยู่ในระดับน้อยที่สุด และจากข้อมูลทั้งหมดของการเลือกซื้อหนังสือพิมพ์เพื่อติดตามอ่านข่าว กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจะนิยมติดตามอ่านข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม และอ่านบทความ/รายงาน/คอลัมนิสต์ อยู่ในระดับมาก ส่วนอ่านบทละครจะน้อยที่สุด
ข้อมูลด้านปัจจัยความพึงพอใจที่มีผลกระทบต่อการบริโภคหนังสือพิมพ์ไทย โดยจะจำแนกตามปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด (4P) คือ ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางจำหน่าย และ การส่งเสริมการขาย กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นกลุ่มผู้เลือกซื้อ จะให้น้ำหนักความสำคัญ
- ความพึงพอใจในด้านผลิตภัณฑ์ (รูปแบบและเนื้อหา) ซึ่งประกอบด้วย เนื้อหาข่าวครบถ้วน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยให้ความพึงพอใจระดับมากที่สุด ข่าวมีคุณภาพ ให้ความพึงพอใจระดับมากที่สุด ข่าวมีความน่าเชื่อถือ ให้ความพึงพอใจระดับมากที่สุด ข่าวมีความสร้างสรรค์ ให้ความพึงพอใจระดับมากที่สุด รูปเล่ม ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง การจัดหน้าข่าว ให้ความพึงพอใจระดับมาก โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง
- ความพึงพอใจที่มีผลกระทบต่อการบริโภคหนังสือพิมพ์ ด้านราคา ซึ่งประกอบด้วย ราคาจำหน่าย 10 บาท ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่โดยเฉลี่ย ให้ความพึงพอใจระดับมากที่สุด ราคาจำหน่าย 15 บาท ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง ราคาจำหน่าย 20 บาท ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง ราคาจำหน่าย 25 บาท ให้ความพึงพอใจระดับน้อยที่สุด
- ความพึงพอใจที่มีผลกระทบต่อการบริโภคหนังสือพิมพ์ ด้านช่องทางจำหน่าย ประกอบด้วย ส่งตรงถึงบ้าน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่โดยเฉลี่ย ให้ความพึงพอใจระดับมาก สามารถหาซื้อง่าย ให้ความพึงพอใจระดับมากที่สุด มีจำหน่ายสะดวก/ทั่วถึง ให้ความพึงพอใจระดับมาก มีให้เลือกซื้อเพียงพอต่อความต้องการ ให้ความพึงพอใจระดับมาก
- ความพึงพอใจที่มีผลกระทบต่อการบริโภคหนังสือพิมพ์ ด้านส่งเสริมการขาย ประกอบด้วย สะสมชิ้นส่วนเพื่อแลกรางวัล ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่โดยเฉลี่ย ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง สะสมชิ้นส่วนเพื่อเป็นส่วนลดสินค้า ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง ตัดชิ้นส่วนเพื่อนำไปลดราคาสินค้า ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง ส่งชิ้นส่วนเพื่อทายผล/เพื่อชิงรางวัล ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง ส่งชิ้นส่วนร่วมชิงโชคต่างๆ (รถ, บ้าน, โทรศัพท์, รถจักรยานยนต์)ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง ตรวจรางวัล ให้ความพึงพอใจระดับปานกลาง
ด้านอุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการบริโภคหนังสือพิมพ์ โดยเกิดจากจากผลการรับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางอื่น ประกอบด้วย การรับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามโดยเฉลี่ยคิดเห็นว่ามีผลกระทบในการอ่านข่าว และซื้อหนังสือพิมพ์ในระดับมาก บริการข่าว SMS, MMS ผ่านมือถือแบบรายวัน มีผลกระทบในระดับปานกลาง ข่าววิทยุ มีผลกระทบในระดับมาก ข่าวโทรทัศน์ มีผลกระทบในระดับมากที่สุด และทำให้ทราบได้ว่า อุปสรรค ที่มีผลกระทบต่อการบริโภคหนังสือพิมพ์ ข่าวโทรทัศน์ เป็นอุปสรรค มากที่สุด รองลงมา คือ อินเทอร์เน็ต วิทยุ บริการ SMS/MMS ผ่านมือถือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รายการข่าวโทรทัศน์ มีอิทธิพล ต่อการซื้อหนังสือพิมพ์ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเลือกซื้อ ซึ่งในปัจจุบันรายการข่าวโทรทัศน์ มีการรายงานข่าวอย่างทันที ต่อเนื่องเห็นได้ทั้งภาพและเสียง ในเวลาเดียวกัน
ดังนั้นการจะทำให้หนังสือจำหน่ายได้มากขึ้น หรือจะให้ผู้ซื้อเลือกซื้อ จะต้องทำการปรับการนำเสนอข่าวให้สอดรับกับความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ที่ได้ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจในด้านรูปแบบและเนื้อหาที่กลุ่มตัวอย่างจะให้ความสำคัญข่าวมีความน่าเชื่อถือ รองลงมาคือข่าวมีคุณภาพ และเนื้อหาข่าวครบถ้วน จะทำให้หนังสือพิมพ์สามารถแข่งขันได้
ในด้านของการรายงานข่าวผ่านอินเทอร์เน็ต จัดเป็นอีกสื่อหนึ่งที่จะมาแข่งขัน หรือ นำมาทดแทนการรายงานข่าวในการตีพิมพ์เป็นหนังสือพิมพ์ในอนาคต เพราะกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ จะทำการซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจเป็นเพราะปัจจัยด้านอุปสรรคของช่องทางสื่อสารข่าวในช่องทางอื่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งผลวิจัยในส่วนของสัดส่วน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม คิดเห็นว่า ข่าวโทรทัศน์ เป็นอุปสรรค มากที่สุด รองลงมา คืออินเทอร์เน็ต วิทยุ บริการ SMS/MMS ผ่านมือถือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รายการข่าวโทรทัศน์ มีอิทธิพล ต่อการซื้อหนังสือพิมพ์ และเป็นอุปสรรคต่อการเลือกซื้อหนังสือพิมพ์
และขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยซื้อหนังสือพิมพ์ ของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ ที่เป็นปัจจัยต่อการไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ ต่างมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน คือ จะนิยมบริโภคข่าว โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
สำหรับข้อเสนอแนะงานวิจัย จากข้อมูลด้านพฤติกรรมการซื้อ บนความถี่การซื้อต่อสัปดาห์ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก หากมีการปรับการนำเสนอข่าวให้เห็นแตกต่าง หรือสร้างกิจกรรมทางการตลาดขึ้นมากระตุ้น จะทำให้พฤติกรรมการซื้อของผู้อ่านได้มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะไปสอดรับกับข้อมูลด้านปัจจัยส่งเสริมการจำหน่าย ที่บอกถึงแรงจูงใจในการเลือกซื้อหนังสือพิมพ์ หากมีการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย อาทิ การตัดส่วนลดราคาสินค้า การมีกิจกรรมชิงโชค การร่วมสนุกกับหนังสือพิมพ์ ให้สอดแทรกอยู่ภายในเล่มหนังสือพิมพ์จะทำให้มีแรงจูงใจตัดสินใจเลือกซื้อเพิ่มขึ้น
ด้านกลุ่มอายุ 19 – 25 ปี จัดเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ กับการสร้างฐานกลุ่มผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านกลุ่มนี้ ถึงแม้จะเป็นวัยที่ยังไม่สนใจเรื่องข้อมูลข่าวสารมากนัก แต่ถ้าหนังสือพิมพ์ปรับเนื้อหาเข้าสอดรับพฤติกรรม จะทำให้ได้กลุ่มผู้อ่านได้ในระยะยาว ทดแทนกลุ่มผู้อ่าน ในระดับอายุ มากกว่า 46 ปีขึ้นไปเพราะกลุ่มผู้อ่านกลุ่มนี้จะถดถอย และมีการบริโภค ข้อมูลในช่องทางด้านอื่นเปรียบเทียบได้ หากหนังสือพิมพ์ปรับการนำเสนอเข้าไปสอดรับกลุ่มอายุวัยรุ่นได้ ก็จะทำให้การเติบโตอย่างยั่งยืน อยู่รอด มีกลุ่มลูกค้าใหม่เข้ามาในฐานสมาชิกต่อเนื่อง หรือรักษาระดับผู้อ่านได้ อย่างเช่น สื่อออนไลน์ หรือ พื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาสำหรับกลุ่มนี้ มากกว่าการนำเสนอข่าวในเชิงระบบบริหารการศึกษา ระบบการเมือง แต่ควรเป็นเวทีแสดงออก หรือใช้เป็นเครือข่ายทางความคิดให้กับกลุ่มผู้อ่านกลุ่มนี้
สื่อออนไลน์ หรือสื่ออินเทอร์เน็ต หากหนังสือพิมพ์ปรับตัวให้มีสื่อนี้เข้ามาช่วยเสริมจุดอ่อนการรายงานข่าวเปรียบเทียบกับสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ จะทำให้สื่อหนังสือพิมพ์มีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยหนังสือพิมพ์จะได้เปรียบทั้งด้านบุคคลากร รูปแบบการใช้เนื้อหาการนำเสนอ ที่จะทำให้มีการประกอบการรายงานข่าวในรูปนิวมีเดียบนอินเทอร์เน็ต หากสื่อปรับตัว ใช้ส่วนนี้ จะทำให้ธุรกิจสามารถมีรายได้เข้ามาเสริมอีกช่องทางหนึ่งจากรายได้จำหน่าย รายได้โฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะพฤติกรรมการอ่าน ของผู้บริโภค ที่ได้จากผลวิจัย ส่วนใหญ่ มีความเห็นเรื่องสื่ออินเทอร์เน็ต ที่จะนิยมอ่านมากกว่าหนังสือพิมพ์ เพราะเห็นถึงความสะดวก อ่านได้ทุกเวลา ไม่ต้องกังวล การหาอ่าน ไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีผลกระทบต่อปัจจัยรายได้ ปัจจัยการเติบโตทางธุรกิจ หากไม่ปรับตัวธุรกิจจะไม่สามารถอยู่รอดได้
จากที่ได้นำเสนอข้อมูล ได้แสดงให้เห็นทัศนคติและความต้องการของผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์นำไปปรับใช้ในการพัฒนาการนำเสนอข่าวสารให้สอดรับกับทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยการนำเสนอแต่ละครั้งอาจจะประสบความสำเร็จ บางครั้งอาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้านำเสนอข้อมูลข่าวเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ครบถ้วน ไม่เสนอข่าวเชิงแตกแยก หรือ นำเสนอแบบไร้ข้อมูลประกอบ จะทำให้ผู้อ่าน หรือผู้บริโภคเสื่อมศรัทธาต่อสื่อ และอาจจะทำให้หันไปบริโภคสื่อทางเลือกใหม่ หรือ รายใหม่มากขึ้น เพราะการแข่งขันด้านสื่อ หนังสือพิมพ์ ถึงแม้จะแข่งขันนำเสนอข่าวสูงมาก แต่ด้านการเติบโตทางธุรกิจ คงที่ หากมีปรับตัว ปรับบทบาท ปรับแนวทางนำเสนอ การเติบโตทางธุรกิจจะสามารถดำรงอยู่ มีกลุ่มผู้อ่านรายใหม่เข้ามาทดแทนรายเก่า ไม่ตกอยู่ในสภาวะถดถอย หรือปิดตัว เลิกกิจการลงไป
รายงานผลงานวิจัย เรื่อง “ศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมในการเลือกซื้อหนังสือพิมพ์ไทยของคนในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อการบริโภคข่าวสาร”
โดย นายฐิติชัย อัฏฏะวัชระ (หัวหน้ากลุ่ม) นายสุทธิพันธุ์ เตชะสันต์กุล นายมาลากร ทินกร ณ อยุธยา นางสาวลินดา มาตั๋น และนายปัญญาพล หล่อนิล
ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ(สำหรับนักบริหาร) รุ่น 15 หรือ Ex.M.B.A. 15 วิทยาคารพญาไท มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำกรณีศึกษาในวิชา ระเบียบวิธีวิจัย ศาสตราจารย์.ดร.นราศรี ไววนิชกุล เป็นอาจารย์ผู้สอน
[/wptab]
[wptab name=’ชมรมนักข่าวผี!’]
ชมรมนักข่าวผี!
เมื่อร่วมป้องกันย่อมหมดสิทธิหลอกหลอน
โดยชัยวัฒน์ กังแฮแฮ น.ส.พ.สยามธุรกิจ
สืบเนื่องจากมีบุคคลแอบอ้างชื่อ “ชมรมนักหนังสือพิมพ์ผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย” โดยมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ย่านสวนอ้อย กรุงเทพฯ มีนายวิวัฒน์ (ขอสงวนนามสกุล) ดำรงตำแหน่งประธานชมรมฯ มีพฤติกรรมส่อไปในทางฉ้อฉลด้วยการออกหนังสือเรี่ยไรเงินจำนวน 3,000 บาทแลกกับหนังสือ 2 เล่ม คือ หนังสือเพลงพระราชนิพนธ์ฯ “คีตราชัน” และหนังสือ “ครูเพลง” กับกลุ่มข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ โดยอ้างว่าจะนำเงินรายได้ไปให้ความช่วยเหลือนักหนังสือพิมพ์ที่เจ็บป่วยแต่ไม่มีคนดูแล ส่งผลทำให้หลายๆ หน่วยงานเกิดการหลงเชื่อกระทั่งตกเป็นเหยื่อจากพฤติกรรมของแก๊งค์ต้มตุ๋นดังกล่าว
กระทั่งทำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ต้องออกมาประสานเสียงยืนยันว่าไม่มีชมรมดังกล่าวในกลุ่มองค์กรสื่อแต่ประการใด และได้รับเรื่องร้องเรียนการหลอกลวงลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องต่อกรณีดังกล่าว โดย นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนว่า การแอบอ้างชื่อองค์กรสื่อนั้นมีการป้องกันที่ลำบากเนื่องจากชมรมดังกล่าวก่อตั้งโดยไม่มีกฏหมายรองรับทำให้สามารถแอบด้างกันได้ง่ายไม่เหมือนกับสมาคมหรือสมาพันธ์ ที่มีกฏหมายรองรับ และจะต้องมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง สมาคมจึงทำได้แค่ประกาศเตือนหากมีใครแอบอ้างมาก็ให้ตรวจสอบกับทางสมาคมฯก่อน โดยอยากประชาสัมพันธ์ว่าอย่าไปกลัวนักข่าว นักข่าวที่ดีไม่มีการรีดไถ ทุกคนมีจรรยาบรรณ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคืออย่ากลัวนักข่าว
เช่นเดียวกับ นายพรชัย ปุณณวัฒนาพร เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งขาติกล่าวว่า หลังได้รับเรื่องร้องเรียนทางสภาการหนังสือพิมพ์ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีสมาชิกรายใดมีพฤติกรรมดังกล่าว จึงทำให้เชื่อได้ว่านายวิวัฒน์ไม่ใช่สมาชิกขององค์กรสื่อใดสื่อหนึ่งแน่นอน หรือเป็นนักข่าวสายใดสายหนึ่งมาก่อน ทั้งนี้อยากฝากถึงหน่วยงานต่าง ๆ ว่าอย่าเกรงกลัวสื่อใดสื่อหนึ่งในการเข้าพบหรือขอความอนุเคราะห์ หากหน่วยงานสามารถให้ความช่วยเหลือได้ก็ขอให้ดำเนินการตามระเบียบหน่วยงาน หากไม่สามารถดำเนินการสนับสนุนได้ก็ขอให้ปฏิเสธอย่าได้เกรงกลัวว่าหากไม่สนับสนุนแล้วสื่อดังกล่าวจะโจมตีการทำงานของหน่วยงาน
นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมยังได้มีการหยิบยกปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ โดยที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
โดยนายพรชัยระบุว่าได้หารือกับที่ปรึกษาด้านกฎหมายแล้วทราบว่าสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะชมรมดังกล่าวไม่ใช่สมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ฯ หรือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และไม่ได้ใช้ชื่อสภาการหนังสือพิมพ์ฯไปแอบอ้าง สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทำได้เพียงทำหนังสือแจ้งหรือออกข่าวประชาสัมพันธ์เตือนให้ระมัดระวังเท่านั้น
นายสุนทร จันทร์รังสี แสดงความเห็นว่า ตามหลักการคำว่าชมรมไม่น่าเชื่อถือเพราะไม่มีความสำคัญทางกฎหมาย แต่เมื่อมีการจัดตั้งแล้วสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะตรวจสอบให้สังคมได้หรือไม่ว่า นายวิวัฒน์ ประธานชมรมดังกล่าว เป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโส และมีสมาชิกเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสจริงหรือไม่ อยู่ที่ไหน ไม่เช่นนั้นจะมีการแอบอ้างจัดตั้งชมรมมากขึ้น หากพบว่าเป็นผู้แอบอ้างจริงควรเปิดโปงให้สังคมได้รับรู้
นายวิทิต ลีนุตพงษ์ แสดงความเห็นว่า คำว่านักหนังสือพิมพ์เกี่ยวข้องกับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ พอสมควร การเรียกว่าเป็นชมรมนักหนังสือพิมพ์ ต้องดูว่าชมรมมีสมาชิกเท่าไร และเป็นนักหนังสือพิมพ์จริงหรือไม่ จึงควรมีกลไกที่ตรวจเช็คได้กรณีที่มีการนำความเป็นนักหนังสือพิมพ์มาใช้ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ และอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ หากพบว่าชมรมที่ก่อตั้งโดยใช้ชื่อหนังสือพิมพ์มีสมาชิกส่วนใหญ่ไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์ฯ ที่แท้จริง ควรขอให้เปลี่ยนชื่อชมรม
ขณะที่ นายสัก กอแสงเรือง เสนอทางออกด้วยการให้หาข้อมูลโดยส่งผู้สื่อข่าวไปติดต่อเพื่อทำสกู๊ปพิเศษ ขอสัมภาษณ์รายละเอียดในการก่อตั้ง วัตถุประสงค์ และการดำเนินการภายหลังได้รับเงินสนับสนุน เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วจึงมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากพบว่าเป็นการหลอกลวงจริงสามารถแจ้งความได้ในฐานะผู้เสียหายส่วนบุคคล โดยไม่ต้องใช้ชื่อองค์กรเข้าไปดำเนินการ
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แสดงความเห็นว่า หากเป็นเรื่องของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ อยากให้ใช้วิธีเปิดเผย วิธีที่ นายสัก กอแสงเรือง เสนอเป็นวิธีที่ดี ซึ่งสามารถทำได้หลายระดับโดยอาจให้หนังสือพิมพ์สมาชิกบางฉบับช่วยทำสกู๊ปให้ โดยสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้น้อยที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่เกี่ยวกับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ โดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือพิมพ์ การที่หนังสือพิมพ์สมาชิกช่วยทำสกู๊ปถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนบุคคลเหล่านั้นว่าหากทำสิ่งใดไม่ถูกต้องในวงการนี้ คนในวงการจะมีมาตรการดำเนินการเช่นกัน
เรื่องราวการแอบอ้างชื่อ “ชมรมนักหนังสือพิมพ์ผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย” แสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋า คงไม่ใช่กรณีแรกและเป็นกรณีสุดท้ายของปัญหาที่เกิดขึ้นบนวิชาชีพสื่อสารมวลชน หากแต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าหากันในการยับยั้งปัญหาที่เกิดขึ้น
[/wptab]
[wptab name=’สัมภาษณ์’]
สัมภาษณ์
ผศ.นุชรินทร์ ศศิพิบูลย์
หัวหน้าสาขาวิชาวารสารศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยจันทร์เกษม
“ข่าวไหนมีสาระประโยชน์ เรายังใช้วิจารณญาณน้อยไป”
ประเด็นการเผยแพร่คลิปเสียงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็ยังมีการสืบสาวหาต้นตอสาเหตุที่มาที่ไปของคลิปเสียง และตอบโต้กันไปมาของนักการเมือง กลายเป็นประเด็นข่าวที่ต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้ “วิวาทะสงครามข่าวใครได้ประโยชน์?” ผศ.นุชรินทร์ ศศิพิบูลย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยจันทรเกษม หัวหน้าสาขาวิชาวารสารศาสตร์ ได้แสดงมุมมองต่อกรณีนี้เอาไว้ในรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ” เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 52 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
รู้สึกอย่างไรบ้างที่หลายสัปดาห์นี้มักได้ยินข่าว “คลิปเสียง” ของ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่บนหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ทุกวัน
สนุกสนานมากเลยค่ะ ทั้งวิทยุ ทั้งทีวี ทั้งหนังสือพิมพ์ เรียกได้ว่ายึดครองพื้นที่สื่อได้มากทีเดียว และเกิดคำถามตามมาว่า การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกวัน เป็นประเด็นที่ฝ่ายหนึ่งมาโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนอีกฝ่ายก็ตอบโต้อีกฝ่ายหนึ่ง เล่นกันไป เล่นกันมาอย่างนี้ คนที่บริโภคข่าวสารได้ประโยชน์จากข่าวนี้หรือไม่ เพราะบางคนบอกว่าเริ่มเบื่อแล้ว เป็นเรื่องของบางกลุ่มหรือเปล่า ค่ะ เป็นเรื่องสนุกเหลือเกิน พี่คิดว่าประชาชนไม่น่าจะได้ประโยชน์ทั้งทางด้านสติปัญญาและด้านความคิด นอกจากบางคนบางฝ่ายจะคิดถึงความสะใจ หรืออย่างที่คุณอมรรัตน์บอกว่า “เหมือนเล่นปิงปอง สนุกจังเลย”
คือข่าวตอบโต้กันไปมา นักข่าวปิงปองมีความรู้สึกว่าคนนี้พูดเอาไปถามคนนี้ เอาคนนี้มาตอบ คนนี้ตอบโต้มา คนนี้จะตอบกลับอย่างไร
ค่ะ สนุกสนาน เป็นสีเป็นสันของสังคมไป แต่ถามว่าเราได้สาระอะไรจากนั้นหรือไม่ ประชาชนที่ติดตามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ที่มองเห็นแค่คนทะเลาะกัน คุณกำลังหาโอกาสที่จะโจมตีห้ำหั่นซึ่งกันและกัน และเหมือนกับว่าสื่อได้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือเปล่า
ใช่ค่ะ นี่ก็เป็นคำถามมาจากสื่อเหมือนกัน
ใช่ค่ะ เราตกเป็นเครื่องของนักการเมืองหรือไม่ เขาอาศัยเราหรือไม่ในการใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง กเราตกเป็นเครื่องมือของเขาโดยที่เราเองลืมไปหรือไม่ว่า เรากำลังทำหน้าที่อะไร เรากำลังทำหน้าที่แสวงหาความจริงเพื่อให้ประชาชนนั้นมีความรู้ หรือมีความคิดได้อย่างชัดเจนได้อย่างถูกต้อง แต่สิ่งที่เราให้เขานั้นพี่ว่ามันกลับทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่า สื่อตกเป็นเครื่องมือ สื่อไม่น่าเชื่อถืออีกแล้ว พี่มองว่าอย่างนี้
แล้วถ้าเจอสถานการณ์อย่างนี้หน้าที่ของสื่อเองอย่างที่เรียนกันมา จะต้องนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแก่ผู้คนในสังคมได้รับรู้ แต่บางครั้งถูกมองว่าเสนอข่าวไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นสื่อจะวางตัวอย่างไร จะทำบทบาทอย่างไร
คิดว่าต้องมองหลายๆ เหมือนกัน ในสถานการณ์อย่างนี้มันเป็นเรื่องของการแข่งขันกันระหว่างสื่อด้วย เราต้องยอมรับว่าสื่อมันเป็นธุรกิจ เมื่อสื่อเป็นธุรกิจก็เลยมีการแข่งขันกัน การแข่งขันกันในเชิงที่ว่า เธอเสนอไป หากฉันไม่ได้ข่าวก็ตกข่าว บก.ก็จะว่าทำไมเขาได้ข่าวนั้น ข้อความนั้นมา ทำไมเราไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องการแข่งขันระหว่างสื่อด้วย พี่คิดว่าบางครั้งเป็นไปได้หรือไม่ว่าตัวนักข่าวที่อยู่ในสนามข่าวเหล่านี้นั้นยังเป็นนักข่าวใหม่ ที่ยังไม่ตกผลึกทางความคิด หรือไม่เข้าใจว่าเราในฐานะที่เป็น Gate keeper ต้องทำอะไรบ้าง ยังไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร นักข่าวไม่ได้ระมัดระวังตัว รู้แค่ว่าวันนี้ต้องออกไปสนามข่าวต้องได้อะไรมา เพราะฉะนั้นจึงทำอย่างไรก็ได้ ก็เลยไปถามฝ่ายหนึ่ง แล้ววิ่งไปถามอีกฝ่ายหนึ่ง มันก็เลยออกมาในรูปนี้
แล้วบทบาทสื่อ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจบทบาทของตัวเอง อาจารย์มองว่าบทบาทที่สื่อที่ควรทำคืออะไร อย่างไรบ้าง
เรื่องอย่างนี้ตัวนักข่าวเองจะต้องมีความรู้ลึกซึ้ง ต้องมีความเข้าใจ ต้องทำข่าวลึก ต้องทำการบ้านเยอะๆ มากว่านี้ แล้วต้องรู้ถึงทิศทาง ทิศทางของการเมืองมันไปทางไหน คือเราตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่เราควรต้องรู้ว่ามันมี Agenda อะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่ เราทำไป ตัวนักข่าวเองอาจจะไม่รู้จักเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง หรือไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เก่าๆ ว่าทำอย่างไร ทำอย่างนี้แล้วผลจะเกิดขึ้นอย่างไร เพราะว่าเรื่องราวการเมืองจะเป็นวังวน ซ้ำรอยเดิมอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นนักข่าวจะต้องทำการบ้านให้มากขึ้น ต้องศึกษาเรื่องราวต่างๆ ให้ลึกซึ้งมากขึ้น การคิดแค่ว่ามีประเด็นอะไรก็วิ่งไปจับมา แล้ววิ่งไปถามคนนั้น ถามคนนี้ต่อสู้กันเพื่อให้เรามีเรื่องราวของข่าว ก็เหมือนกับสมัยท่านนายกฯ เปรม บอกว่าพวกเราเป็นนักข่าวเชิงบันได คือยืนถามอยู่ตรงนั้นไม่ได้ไปหาข่าว ไม่ได้ไปหาความรู้จากที่อื่นๆ เลย ก็เลยมีความรู้แคบๆ สั้นๆ คิดแค่เพียงว่าเรามีข่าวอะไรที่จะเสนอในวันนี้แค่นั้นเอง
สัดส่วนการทำหน้าที่ในการตรวจสอบการขุดคุ้ยเรื่องต่างๆ กับข่าวอื่นๆ และสื่ออื่นๆ นั้นเป็น อย่างไร
นั่นสิคะ เลยกลายเป็นว่าการที่จะทำข่าวให้ลึกขึ้นไป การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ลึกไปกว่านั้นนักข่าวเราทำไม่ได้ นักข่าวเราจะไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะทำ เพราะว่ามาเล่นข่าวปิงปองอยู่อย่างนี้ อย่างที่คุณรัตน์ว่าถูกต้องเลย ว่าการจะไปทำข่าวสืบสวนสอบสวนนักข่าวสมัยใหม่ต้องยอมรับว่าแม้แต่ลูกศิษย์พี่ก็อยู่ในลักษณะนี้ เราทำข่าวเจาะ หรือ Investigative news น้อยกว่าการทำข่าวลักษณะนี้ เพราะฉะนั้นการนำเสนอความจริงที่ชาวบ้านควรจะรู้ ที่ประชาชนควรจะรู้มากกว่านี้เราไม่ได้ทำ เราจึงละเลยไป ถ้าถามถึงปริมาณนั้นแน่นอนว่าน้อยกว่ากันมากๆ เลย
ปัญหามันอยู่ตรงไหน เพราะในช่วงแรกอาจารย์บอกว่ามีข้อจำกัดเรื่องการแข่งขัน
ตรงนี้เป็นเหตุอันหนึ่งหรือไม่ที่ทำให้ การแข่งขันหาข่าวในแต่ละวันทำให้ไม่มีเวลานั่งคิด หรือไปหาประเด็นเชิงเจาะลึกน้อยลงไป หรือมันเป็นข่าวที่สังคมเองก็อยากที่จะรู้ จริงๆ แล้วมันเป็นลักษณะอย่างไร แน่นอนสังคมอยากรู้ อยากรู้คำตอบในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น กรณีคลิปเสียง เราก็อยากรู้ว่ามันจริงหรือไม่ แต่มันไม่ใช่เป็นเรื่องวิวาทะ ทุกวันๆ เดี๋ยวฝ่ายนั้นพูดอย่างนี้ ฝ่ายนี้พูดอย่างนั้น เราอยากรู้ว่าต้นตอมันเป็นอย่างไร เราอยากรู้บทสรุปของคำตอบ แต่ไม่ว่าจะต้องนำเสนออย่างนี้ทุกวันๆ มีเรื่องอื่นๆ ที่เราต้องไปเจาะลึกให้มากขึ้น ยกตัวอย่าง กระบวนการอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไร ใครเป็นต้นตอ เราเคยสอนว่าบางครั้งนักข่าวต้องทำหน้าที่เหมือนนักสืบด้วย ต้องค้นคว้าหาความรู้ และหาเรื่องราวต่างๆ ให้ลึกขึ้น แต่พอมาห่วงแค่นี้เลยทำให้เราไม่มีเวลา เสียเวลาไปกับเรื่องนี้ พี่มองว่าวงการข่าวเรา หรือประชาชนเราจะไม่ได้รับความรู้ จะไม่มีความคิดอะไรเพิ่มขึ้นเลยจากการอ่านข่าวหากเรายังทำข่าวแบบนี้อย่างเดียว พี่ว่าสถานการณ์ข่าวจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อนักข่าวเราไปทำข่าวเชิงลึกมากขึ้น ทำข่าวเจาะให้มากขึ้น
อาจารย์มองว่าในวงการสื่อจริงๆ ก็มีหลายระดับชั้น เพราะว่าเท่าที่เคยคุยกับคนในสนามข่าวบอกว่า “ก็ออฟฟิศต้องการข่าวแบบนี้” ก็เลยไม่รู้ว่าต้นเหตุ ต้นตอของการที่จะปรับพฤติกรรมแบบนี้ต้องปรับที่ไหน และบางส่วนบอกว่าเป็นเพราะผู้บริโภคต้องการข่าวอย่างนี้ ข่าวแบบนี้ทำไปแล้วขายได้ หนังสือพิมพ์ขายดี เรตติ้งของรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ดี เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่กลุ่มผู้บริโภค หรือจริงๆ แล้วต้องไปปรับแก้ตรงจุดไหน อย่างไร หรือต้องมีความร่วมมือกันขนาดไหนถึงจะพัฒนา
พี่คิดว่าต้องร่วมมือกันแน่ๆ อย่างที่หนึ่งบางครั้งเราคิดเองหรือไม่ว่าเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องที่ประชาชนอยากรู้มากๆ ขออนุญาตย้อนไปถึงเรื่องซึ่งตลกมากๆ คือ กรณีลูกชายของคุณพุ่มพวงทะเลาะกับพ่อ หนังสือพิมพ์ ทีวีทุกรายการก็ต้องนำพ่อลูกคู่นี้มาออกทีวีทุกวัน พี่ว่าเป็นลักษณะเดียวกัน พอถึงจุดๆ หนึ่งเราบอกตัวเองกันเอง นักข่าวพูดเองใช้หรือไม่ว่าประชาชนอยากรู้ แต่เราเป็นคนให้เขา เพราะฉะนั้นเราน่าจะมีข้อตกลงกันแล้ว หรือต้องมาพิจารณากันแล้วว่าเราควรจะให้เขาระดับไหน เราควรจะต้องมีวิจารณญานที่จะพิจารณาได้ว่าข่าวอย่างนี้มีประโยชน์หรือไม่ ซ้ำเติมสังคมมากขึ้นหรือเปล่าหรือว่ามันจะช่วยยกระดับสังคม
พี่ยังเชื่ออยู่ว่าสื่อมีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยยกระดับความคิดของคนในสังคมได้ ถ้าคนในสังคม จริงอยู่อาจจะมีส่วนหนึ่งอยากรู้มากเหลือเกินว่า พ่อลูกคู่นี้เกิดอะไรขึ้น อยากรู้เหลือเกินว่าการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายเรื่องคลิปเสียงนั้นจะไปทางไหน แต่เราสามารถจะกำหนดได้ใช่หรือไม่ว่านี่คือสิ่งที่คุณรู้ในระดับนี้ เพราะว่าสิ่งที่จะรู้ต่อไปนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระอะไร นักข่าวเองพี่ว่าใช้วิจารณญานในการที่จะมองว่าข่าวนั้นมีสาระหรือไม่ มีประโยชยน์หรือไม่นั้นคิดน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักข่าวที่อยู่ในภาคสนาม นักข่าวเด็กๆ บางครั้งเป็นนักข่าวจบใหม่ ลูกศิษย์พี่บางครั้งจบไปแค่ปีเดียวพอปีที่สองอยู่ในสนามข่าวแล้ว เช่น ทำเนียบฯ รัฐสภา เป็นต้น ก่อนจะออกไปเราเคี่ยวเข็นมาก เพราะรู้ว่าภายในปี สองปีนี้เขายังไม่ตกผลึกเลย ยังไม่มีความเข้าใจสภาพของการเมือง หรือพื้นฐานความรู้ทางการเมืองของคุณยังน้อยอยู่
เรียกว่ายังไม่รู้เท่าทันนักการเมือง
ใช่ค่ะ ยังไม่รู้เท่าทันนักการเมืองเลย ไม่เคยอ่านข่าวเก่าๆ ไม่รู้เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา เพียงแต่เมื่อเข้าไปถึงแล้วใช้กระบวนการเกาะๆ กันๆไป ช่วยๆ กันเหมือนทำรายงาน เพราะว่าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ก็เหมือนกัน แน่นอนว่านักข่าวเก่าๆ ที่เก่งๆ ก็มี แต่เด็กๆ เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งข่าวเข้ามาสู่ตลาด แล้วตัวเขาเองนั้นเมื่อขาดความรู้ ขาดความลุ่มลึก ก็คิดว่าตรงนี้ใช่แล้ว คือเหมือนกระโจนลงในกระแสนำ แล้วว่ายวนอยู่อย่างนั้น เขาคิดไม่ออก เขาคิดไม่ได้ ว่าความลึกหรือความดี มีความถูกต้องที่เราเสนอเรื่องเหล่านี้ หรือมีแง่มุมตรงไหนที่จะทำเป็นขาวเขาะได้ ไม่ได้หมายถึงนักข่าวทุกคน แต่หมายถึงเท่าที่รู้
คือยังอ่อนประสบการณ์ เลยตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการใช้น้องๆ นักข่าวที่ยังอ่อนประสบการณ์ในการปล่อยข่าว ข้อมูลแล้วไม่ได้กลั่นกรอง ตรวจสอบ แล้วถ้ามองในแง่ของการส่งข่าวสารไปถึงผู้บริโภคถือว่าเป็นเรื่องอันตราย อาจารย์จะฝากไปถึงกองบก. หรือองค์กรวิชาชีพในการที่จะปรับตัวอย่างไร เพราะระยะหลังเริ่มมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการรับผิดชอบของสื่อเข้ามามากเช่นกัน
พี่ว่าความตื่นตัวของพวกเราทั้งองค์กริชาชีพ นักวิชาการ นักวิชาชีพที่จะมาตระหนักรู้ ที่จะมาร่วมมือกันเพื่อทำนั้นขณะนั้นร่วมมือกันเยอะแล้ว แต่สิ่งที่เราทำต้องบอกว่ามันยังไม่พอเราต้องร่วมมือกันให้มากกว่านี้ เราต้องให้ความรู้กับนักข่าวใหม่มากกว่านี้ ควรอบรมทั้งในเรื่องของวิธีการและความคิด พี่อ่านเว็บไซต์ข่าวของอเมริกา นักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์อเมริกา มีแต่จะช่วยให้ประเทศชาติของเขาอยู่รอด เขาให้กำลังใจซึ่งกันและกันโดยนำเสนอข่าวเพียงแค่ให้ประชาชนรู้ในระดับหนึ่ง ไม่ทำให้ประชาชนตื่นตกใจ ไม่ทำให้ประชาชนถูกปั่นไปด้วยข่าวอย่างนี้ พอมาคิดดูแล้วบางทีเราตอกย้ำกันเกินไปหรือไม่ นำเสนอข่าวเป็นการตอกย้ำเพื่อให้เห็นถึงมากขึ้นว่าประเทศเรากำลังย่า กำลังแตกแยก ทะเลาะกันอยู่อย่างนี้ เหมือนเป็นการกระทืบซ้ำ ขอโทษที่ต้องใช้ศัพท์อย่างนี้ เรากำลังทำร้ายประเทศตัวเอง ไม่ได้มีส่วนที่จะช่วยเลย จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่อยากจะฝากถึงทั้งกองบรรณาธิการ องค์กรวิชาชีพ นักวิชาการ และตัวนักข่าวเองด้วย
มีคำถามมาว่าสื่อชอบยัดเยียดข่าวให้กับประชาชนมากกว่า อันนี้จริงๆ มีส่วนหรือไม่
พี่ว่ามีส่วนมากๆ เลยค่ะ ถึงเวลาแล้วที่สื่อต้องฟังเสียงจากผู้บริโภค ว่าไม่ใช่เฉพาะการทำหน้าที่ในการส่องนักการเมือง ตรวจสอบเรื่องต่างๆ ในสังคมเท่านั้น แต่ต้องส่องกระจกสื่อด้วยกันเองเพื่อให้ตระหนักรับรู้ในการทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นจึงขอฝากเสียงสะท้อนนี้ไปถึงองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และกองบรรณาธิการข่าว ตัวผู้สื่อข่าวรวมไปถึงนักวิชาการ
[/wptab]
[end_wptabset]