[wptab name=’จดหมายข่าวประจำเดือนก.ย – ต.ค. 51′]
แถลง
ห้วงที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากสังคม และสื่อมวลชนได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานความเคลื่อนไหวเป็นข่าวสารให้ผู้บริโภคตามภารกิจของวิชาชีพ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีหลายมิติทับซ้อนกันอยู่ แต่ละสื่อวางน้ำหนักแตกต่างกันออกไป ซึ่ง”วิธีการนำเสนอ”ของแต่ละสื่อ ได้กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าเหมาะควรหรือไม่เพียงใด
กรณีคลิปฉาวสองนักร้องคู่ดูโอวัยรุ่น ซึ่งประสบชะตากรรมถูก”ถ้ำมองยุคดิจิตอล” นอกจากส่งต่อคลิปกันไปทั่วแล้ว ยังมีคนเอาไปบันทึกลงแผ่นวีซีดีขายหาประโยชน์ซ้ำ
มีคำถามซ้อนหลายข้อ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแผนโฆษณาของต้นสังกัด หรือบทบาทของพนักงานสอบสวนที่ชี้นิ้วกราดไปหาคนอื่น ตลอดจน”บทบาทสื่อ”เองว่า ไต่ข้ามเส้นแบ่งระหว่าง”รายงานข้อเท็จจริง”ไปสู่ฝั่งของการ”ถ้ำมองซ้ำ”กับชะตากรรมของวัยรุ่นสาวหรือไม่
ยังมีกรณีความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุเหตุความรุนแรงเป็นระลอก ไล่ตั้งแต่”ปรากฎการณ์อุดรธานี” มาจนถึงกรณีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายหลายราย
“บทบาทสื่อ”ถูกตั้งคำถามอีก
เพื่อร่วมพินิจ”บทบาทสื่อ”ในสถานการณ์ร้อน ๆ ที่เกิดขึ้น พลิกไปในฉบับพบกับมุมมองของนักวิชาการนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์ในพื้นที่ วิเคราะห์โครงสร้างและการเข้าถึงสื่อของผู้บริโภคที่อุดรธานี อาจเป็นสะพานนำไปสู่ความเข้าใจ”ปรากฎการณ์อุดรฯ”
อ่านมุมมองหลากหลายเพื่อถอนบทเรียนและสร้างองค์ความรู้”การรายงานข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง”
อ่านมุมคิด”ประกิต หลิมสกุล” กับ”วิธีคิด”การทำข่าวของสื่อมวลชนวันนี้ที่แอบหลังอยู่กับหลักคิด”ข่าวต้องเป็นข่าว” จนลืมรดน้ำพรวนดิน”มโนสำนึก”ที่ถูกผลักไปอยู่ในหลืบลึกของหัวใจ
คณะผู้จัดทำ
[/wptab]
[wptab name=’มองบทบาทสื่อในวิกฤตทางการเมือง’]
โดย อภิวรรณ เสาเวียง
มองบทบาทสื่อในวิกฤตทางการเมือง
{mosimage} เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) แถลงผลการศึกษา “การรายงานข่าววิกฤติการณ์ทางการเมือง วันที่ 7 ตุลาคม 2551” ขึ้น ซึ่งนับเป็นเวทีวิจัยวิจารณ์เชิงวิชาการนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์เวทีแรก ที่ตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทของ “สื่อมวลชน” กับการรายงานข่าวความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลางกรุง แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าที่สื่อโทรทัศน์ แต่เวทีเสวนาย่อยถัดมาก็ขยายวงถึงบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อทุกประเภทที่น่าสนใจเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาแวดวงวิชาชีพสื่อไทยกันต่อไปในอนาคต
{mosimage}ในช่วงแรกนายธาม เชื้อสถาปนศิริ ตัวแทนคณะวิจัยได้แถลงผลการศึกษา “การรายงานข่าววิกฤติการเมือง วันที่ 7 ตุลาคม 2551” เหตุการณ์สลายการชุมนุมระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณรัฐสภา ที่มีการใช้ความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากทั้งจากสองฝ่าย สื่อมวลชนทุกแขนงได้ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์การชุมนุมดังกล่าวเป็นอย่างมาก ความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อระบอบการเมืองไทยและการปฏิรูปการทำงานของสื่อมวลชน
ผลการศึกษาพบว่า สื่อฟรีทีวีเน้นฉายภาพความรุนแรงของเหตุการณ์มากเกินความจำเป็น และไม่มีส่วนในการช่วยลดความรุนแรงในสังคม ทุกช่องฉายภาพความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมา การตั้งคำถามที่ขาดการควบคุมทิศทาง ส่งสัญญาณความรุนแรง การแสดงความคิดเห็นลงไปในภาษาข่าว การคัดเลือกแหล่งข่าวที่ขาดความสมดุล รอบด้าน และการให้สัดส่วนพื้นที่แหล่งข่าวที่ไม่เป็นธรรม
หลังจากที่การแถลงผลการศึกษาจบเป็นช่วงเวลาของการเสวนา “เรื่องการทำข่าววิกฤติทางการเมือง…ความจริงและความเป็นธรรม” โดยวิทยากรที่มีความใกล้ชิดกับปัญหาดังกล่าว เข้าร่วมหาทางออกให้กับสังคม คือ นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตบรรณาธิการข่าววิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยประจำกรุงลอนดอน นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวและหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผศ. สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และนางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการเสวนาโดย รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
{mosimage}นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอให้พิจารณาประเด็นการใช้สื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยคำนึงถึงประโยชน์เพื่อส่วนรวม และเห็นว่าสื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ทุกคนต้องปกป้องเสรีภาพของสื่อ และสื่อต้องตระหนักในสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน แต่โดยหลักการทำหน้าที่ของสื่อสามารถตรวจสอบสังคม และบุคคลสาธารณะได้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะสื่อฟรีทีวีที่เป็นสมบัติของส่วนรวมและเข้าถึงประชาชนได้มาก สังคมจึงตั้งความหวังเอาไว้สูง
แต่อาจเป็นเพราะฟรีทีวีเป็นสื่อของรัฐ ที่มีผู้บริหารของรัฐ จึงถูกครอบงำจากนโยบายของผู้บริหารระดับสูงของรัฐ ดังนั้นการทำหน้าที่ของสื่อในการรายงานสถานการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา จึงสังเกตได้ว่าไม่สามารถทำข่าวได้รอบด้านและหลากหลาย อีกทั้งยังมีลักษณะการรายงานข่าวโน้มเอียงมาทางฝ่ายรัฐ แต่สามารถแหวกด่านออกมาได้มากพอสมควร หากเทียบกับเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา จึงสรุปได้ว่าการทำข่าวของฟรีทีวีมีข้อจำกัดใหญ่จากนโยบาย และกระบวนการสนับสนุนทั้งหมด ดังนั้นสังคมควรช่วยสื่อฟรีทีวีฝ่าวิกฤติจากการครอบงำของรัฐ และทำให้ผู้สื่อข่าว ผู้ปฏิบัติงานได้รับการส่งเสริมในเสรีภาพและจรรยาบรรณของสื่ออย่างแท้จริง ถึงจะทำให้เกิดความกล้าที่จะแหวกม่านของการนำเสนอข่าวได้
นอกจากนี้ประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนปฏิบัติงานคือ การสัมภาษณ์แหล่งข่าวมีข้อจำกัด คือ ผู้บาดเจ็บบางรายสามารถให้สัมภาษณ์ได้ บางรายไม่ได้ หรือการไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์หรือทำข่าว ส่วนการที่สื่อมวลชนตั้งคำถามว่า “พรุ่งนี้จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงหรือไม่” แสดงให้เห็นว่ามีสัญญาณของความรุนแรง ถือว่าสื่อมวลชนทำถูกต้องเพราะถือเป็นการป้องปราม และการเสนอภาพข่าวสื่อมวลชนต้องระมัดระวังเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากภาพนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่อยู่ในภาพ แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนถูกท้าทายด้วยความหมายของการรายงานข่าววิกฤติการณ์ทางการเมืองต่างจากการทำข่าวในภาวะปกติ ซึ่งการให้ข้อเท็จจริงที่รวดเร็ว เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเป็นสิ่งที่จำเป็น ทำให้หลาย ๆ องค์กรออกมาวิจารณ์และป้องปรามรัฐบาลได้เร็ว แต่สื่อต้องหาจุดสมดุลให้ได้ เพราะกว่าจะรอข้อมูลครบรอบด้านอาจมีบางแง่มุมที่ต้องถูกนำเสนอไปก่อน ซึ่งนโยบายและทีมงานของกองบรรณาธิการมีความสำคัญมาก
{mosimage}ทางด้าน ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มองว่า ก่อนหน้าที่จะมีการปฏิรูปการเมืองการปฏิรูปสื่อ เมื่อปี 2540 สื่อจะผูกติดกับอำนาจรัฐเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากมีการปฏิรูปสื่อและปฏิรูปการเมืองเพื่อที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของคนหมู่มากแล้ว แต่กลายเป็นการไปเพิ่มน้ำหนักให้กับกลุ่มทุนหรือกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาพัวพันกับสื่อ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมือง
ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองสื่อโทรทัศน์จะมีบทบาทสำคัญในการรายงานสถานการณ์มากกว่าหนังสือพิมพ์ จะสังเกตได้ว่ากระบวนการทำงานของสื่อโทรทัศน์ในการรายงานข่าวเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นการรายงานข่าวจากสิ่งที่เห็นด้วยตาโดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งข่าว และขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกตั้งคำถามในแง่ของหลักการทำงานที่ถูกต้องของหลักวิชาชีพ และจรรยาบรรณของสื่อ อย่างไรก็ตาม แม้การรายงานข่าวที่มีแหล่งข่าวมาให้ข้อมูลก็ตาม สื่อมวลชนจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะบางครั้งแหล่งข่าวอาจให้ข้อมูลเพื่อเป็นการป้ายสีฝ่ายตรงข้าม
นอกจากนี้จะเห็นว่า สื่อโทรทัศน์รายงานภาพเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้น เพราะคนที่ดูรายการมีหลายกลุ่ม จึงอาจทำให้บางกลุ่มเกิดความคับแค้นใจ สังคมจึงหาทางออกไม่ได้ ไม่มีความหวัง และไม่สามารถแสวงหาการยุติความขัดแย้งได้ในเวลานั้น อีกทั้งการทำงานในระดับกองบรรณาธิการมีการแข่งขันกันในแง่ของความเร็ว การเข้าถึงสถานการณ์ และจะนำไปสู่การแย่งกันเพื่อรายงาน แต่แสดงออกมาในลักษณะที่ฉาบฉวย
เนื่องจากวงการโทรทัศน์ยังไม่มีการรวมตัวกันเพื่อดำเนินการในเรื่องการปกป้องเสรีภาพ และการตรวจสอบจริยธรรม ดังนั้นเมื่อการรายงานข่าวของสื่อโทรทัศน์มีผลกระทบ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงไม่สามารถไปเรียกร้องความเป็นธรรมได้จากใคร ที่ไหน อย่างไร แต่ในภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในประเทศไทยนั้นมีความเคลื่อนไหวอยู่บ้าง มีการเรียกร้องจากภาคประชาสังคมและคนที่ติดตามสื่อ นำไปสู่การระบุมาตรฐานทางจริยธรรม คณะกรรมการที่จะมากำกับดูแล และการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 อีกส่วนหนึ่งคือ ความเคลื่อนไหวของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่ประสงค์ให้มีสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งจากประสบการณ์การเรียนรู้ของสมาคมนักข่าวฯ จะนำไปสู่คณะกรรมการพัฒนาสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ให้มีขึ้นได้จริงหรือไม่
ส่วนการที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีแนวคิดที่จะถอดบทเรียนคำให้การของผู้สื่อข่าวภาคสนามจากเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 51 นั้นอยากให้เพิ่มเนื้อหาแนวปฏิบัติการรายงานข่าวในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง หรือสถานการณ์ฉุกเฉินเข้าไปด้วย เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
{mosimage}ส่วนนักวิชาชีพผู้ที่ต้องปฏิบัติงานจริงในสนามข่าว นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอยู่ในสถานการณ์วิกฤตหรือมีสภาพอนาธิปไตยที่ควบคุมกันได้ยาก แต่ละฝ่ายย่อมมีวาระเป็นของตนเอง ใครชอบหรือชังฝ่ายไหนจะให้ข้อมูลเพื่อหวังผล ซึ่งถือเป็นภาวะที่น่ากลัว โดยเฉพาะการทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง สื่อจะทำงานลำบาก การเข้าถึงตัวแหล่งข่าวทำได้ยาก อีกทั้งยังมีการปล่อยข่าวลือเพื่อปลุกอารมณ์คนด้วยข้อมูลที่เกินจริงจากทั้ง 2 ฝ่ายมีอยู่มาก สื่อมีโอกาสตกเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นสื่อมวลชนจะต้องตั้งสติและตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ได้มา และเนื่องจากผู้สื่อข่าวที่ในพื้นที่ไม่สามารถมองเห็นสถานการณ์โดยรวมได้ทั้งหมด กองบรรณาธิการจึงต้องประเมินสถานการณ์ให้แม่นยำ เพราะจะสามารถช่วยผู้สื่อข่าวในพื้นที่ได้
จากการสังเกตการณ์ทำงานของสื่อโทรทัศน์ในการรายงานข่าวสถานการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จะเห็นได้ว่า เป็นการประเมินสถานการณ์โดยสรุป และรายงานเป็นข่าวสั้น ซึ่งการรายงานข่าวลักษณะดังกล่าวต้องเป็นผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์มาก แต่ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในสนามส่วนใหญ่เป็นผู้สื่อข่าวใหม่ที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวมาก่อน ประกอบกับลักษณะการทำงานของสื่อโทรทัศน์ที่แข่งกันได้ภาพ ได้ข่าว แต่เมื่อไปไม่ถึงข่าวจึงต้องนำภาพเดิมมาเสนอซ้ำ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าไปตอกย้ำความรุนแรง การแก้ไขจึงควรมีคำอธิบายประกอบ
อย่างไรก็ตามการทำหน้าที่ของสื่อโทรทัศน์สามารถเห็นและทำความเข้าใจได้ แต่สื่อใต้ดินที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า และสิ่งที่สมาคมนักข่าวฯ กำลังทำอยู่ขณะนี้คือการถอดบทเรียนของผู้สื่อข่าว เพื่อทำเป็นหนังสือ “บันทึกคำให้การของนักข่าว” เพื่อถอดข้อเท็จจริงของเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ว่า 1. ใครเป็นคนสั่งการสลายการชุมนุมในวันนั้น 2. แหล่งที่มา ประสิทธิภาพ วิธีการยิงแก๊สน้ำตา
ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มองเห็นว่า ความเป็นเจ้าของสื่อยังเป็นปัญหาของสังคมไทย จากการหารือกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ถึงแนวทางในการนำสถานีโทรทัศน์ NBT ที่มีโครงสร้างความเป็นสื่อของรัฐ แต่ต้องไม่ถูกควบคุมโดยนักการเมือง ผู้มีอำนาจ และต้องผลักดันให้เป็นองค์กรมหาชนอิสระได้อย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องจัดเสวนาและจัดการแก้ไข พ.ร.บ.ของกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งสื่อเอกชน จะมีแนวทางป้องกันอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือในการต่อสู่ทางการเมือง หากปล่อยไปถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก นับเป็นโครงสร้างใหญ่ๆ ที่ต้องรีบแก้ไขเมื่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองผ่านพ้นไป เพราะสื่อเปรียบเสมือนแม่น้ำหลักสายใหญ่ และต้องกลายเป็นจำเลยของสังคม
นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่พูดเรื่องจริยธรรมไว้ชัดเจน สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงได้ดำเนินการก่อตั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ นับเป็นการแก้ไขระดับโครงสร้างของจริยธรรม แม้เป็นเรื่องยากแต่ต้องเริ่มดำเนินการ และต้องนำหลักการที่นายสมชัย สุวรรณบรรณ เขียนไว้ มาผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นสื่อมวลชนจะตกเป็นจำเลยของสังคมตลอดเวลา
“ขณะนี้นับเป็นระยะเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และสื่อมวลชนต้องถูกพ่วงไปกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิด” นายประดิษฐ์กล่าว
{mosimage}ด้านนายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตบรรณาธิการข่าววิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยประจำกรุงลอนดอน กล่าวว่า ขณะนี้สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างความแตกแยก ถือเป็นเรื่องปกติ แต่สื่อไม่ควรสร้างความเกลียดชัง จากการรายงานข่าวในปัจจุบันมีลักษณะคุยข่าว เป็นการลดคุณค่าของข่าว ประกอบกับเมืองไทยมีลักษณะเหมือนละคร ที่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก มีการสร้างความความเกลียดชัง การใช้ความรุนแรง การสร้างความรู้สึกทางอารมณ์ของคน ดังนั้นการที่สื่อมวลชนรายงานข่าวในลักษณะที่ก่อให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว ทำให้มีการตั้งคำถามถึงคุณภาพและจริยธรรมของสื่อ
ทั้งนี้ กรอบจรรยาบรรณของสถานีโทรทัศน์ BBC ที่มีมาตรฐานเรื่องความเป็นกลาง มาตรฐานในการรายงานข่าวในภาวะฉุกเฉิน รุนแรง หรือข่าวที่ก่อให้เกิดความโศกเศร้า ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ตกเป็นข่าว ส่วนการรายงานข่าวการชุมนุมทางการเมือง ต้องรายงานสถานการณ์ในภาพรวมอย่างครบถ้วน รอบด้าน เที่ยงตรง ตรวจสอบแหล่งข่าว ตรวจสอบข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นตัวเลข หากมีแหล่งข่าวมากกว่า หนึ่งแหล่ง ผู้สื่อข่าวต้องรายงานตัวเลขที่ประมาณไว้ต่ำสุดและสูงสุดควบคู่กัน และหลีกเลี่ยงการคาดเดา การรายงานคำสัมภาษณ์ของแหล่งข่าว สื่อมวลชนควรตั้งคำถามถึงที่มาของข้อมูล เป็นการทัดทานผู้ที่มีอำนาจในการให้ข่าว ด้วยข้อมูลหลักฐาน และให้ข่าวจบลงตรงนั้น ถือเป็นหลักการสร้างความสมดุล ความหลากหลาย การจัดการข้อเท็จจริง แต่ผู้สื่อข่าวไทยไม่ค่อยปฏิบัติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ 1.ทักษะ 2.วัยวุฒิ 3.ขาดการฝึกอบรม
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สื่อมวลชนควรตระหนักในการรายงานข่าวประเภทนี้ คือ ไม่ได้เป็นเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์เท่านั้น แต่ต้องช่วยส่งสัญญาณเตือนหรือเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่หากการรายงานบริเวณที่มีการชุมนุมมีส่วนทำให้ผู้ชุมนุมเกิดการฮึกเหิมต้องการแสดงออก ผู้ปฏิบัติงานต้องถอนตัวออกจากบริเวณนั้นทันที 1.เพื่อความปลอดภัยขอผู้สื่อข่าว 2.รายงานสถานการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ถ้าการรายงานไปทำให้สถานการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ต้องพิจารณาว่าควรจะทำหน้าที่ตรงนั้นต่อไปหรือไม่ ในส่วนของการทำหน้าที่ของสถานีต้องให้ผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์ นักวิชาการ หรือคนที่รู้เรื่องเหตุการณ์ในสถานการณ์ขณะนั้นมาให้บริบท ภูมิหลังของเหตุการณ์ในการรายงานข่าว
นอกจากนี้ต้องตระหนักถึงความอ่อนไหวของผู้ชมบางกลุ่มโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ผู้ปฏิบัติงานสื่อต้องระวังในการใช้ภาษา การนำเสนอความรุนแรง หรือสะเทือนต่อความรู้สึก ไม่ออกอากาศหรือตีพิมพ์ภาพหรือข้อมูลที่อาจมีผลเสียต่อด้านศีลธรรม ด้านกายภาพ สติปัญญาของเด็กและเยาวชน ต้องระมัดระวังการเสนอภาพเสียง ที่อาจจะชักจูงผู้ฟังที่เป็นเด็กและเยาวชนไปในทางที่ผิด ที่มีเนื้อหาความรุนแรง การยั่วยวนทางเพศ กิจกรรมที่เสี่ยงภัยต่อร่างกาย เด็กและเยาวชนอาจลอกเลียนแบบ
ดังนั้น จึงตั้งความหวังกับสมาคมนักข่าวฯ และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่า ทำอย่างไรจึงจะมีการวางกติกาขั้นต่ำในหมู่ผู้สื่อข่าวทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อทางเลือกอื่นๆ และสิ่งที่เคยปฏิบัติกันมาอย่างผิด ๆ แต่นึกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกใช้อยู่
บทบาทของสื่อมวลชนท่ามกลางวิกฤติการทางการเมือง สื่อมักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเรื่องความเป็นกลาง แต่ในยุคของข้อมูลข่าวสารเราไม่สามารถปฏิเสธการรับข้อมูลเหล่านั้นได้ ดังนั้นการติดตามข้อมูลข่าวสารจากทุกช่องทางการสื่อสาร โดยมีภาวะการรู้เท่าทันสื่อจะเป็นผลดี ไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
[/wptab]
[wptab name=’มองบทบาทสื่อกรณีข่าวคลิปฉาว’]
สัมภาษณ์
มองบทบาทสื่อกรณีข่าวคลิปฉาว
“ทุกเรื่องที่น่าสนใจต้องเสนอ
แต่อยู่ที่ว่าสื่อเสนออย่างไร”
กรณีคลิปฉาวนักร้องดูโอสาวรุ่นชื่อดัง ”โฟร์-มด” เป็นข่าวครึกโครมในสื่อมวลชนทุกประเภทช่วงที่ผ่านมา นอกจากพฤติกรรมของเหตุการณ์จากการถ้ำมองและลักลอบถ่ายภาพจากห้องน้ำโรงแรมที่พัก กระทั่งถูกนำไปเผยแพร่ต่อ ๆ กันไปทางคลิปโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขยายวงสู่การบันทึกลงแผ่นวีซีดีขายตามแหล่งใต้ดินกันเกรียวกราวจนกลายเป็นคดีขึ้นแล้วนั้น ระหว่างการดำเนินคดีก็มีเหตุตอบโต้กันไปมาหลายคู่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีพนักงานสอบสวนตำหนิบริษัทว่าไม่รีบแจ้ง พนักงานสอบสวนตำหนิสื่อว่าล้ำเส้นไปตรวจถึงที่เกิดเหตุจนทำลายหลักฐาน ทำให้คนร้ายตื่น ขณะที่พนักงานสอบสวนก็เปิดปากให้ข่าวทุกวัน การกระชากลากถูกรณีนี้เสมือน”ถ้ำมองซ้ำ”สองวัยรุ่นสาว จนเกิดคำถามกับบทบาทของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง”สื่อมวลชน”
“ประกิต หลิมสกุล” ที่ปรึกษากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมนิสต์ชื่อดังที่ขีดเขียนสะท้อนมุมมองต่อปรากฏการณ์สังคมทุกเมื่อเชื่อวัน ได้เปิด”มุมคิด”ต่อการทำงานของวงการสื่อมวลชนในกรณีนี้ผ่านรายการ”รู้ทันสื่อกับสภาการหนังสือพิมพ์” ทางคลื่นเอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิร์ต 13.00-14.00 น. เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา ดังนี้
-ได้ติดตามดูการเสนอข่าวเรื่องคลิปโฟร์-มดของสื่อต่าง ๆ ที่ผ่านมามีข้อสังเกตอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสื่อ
ผมมีข้อสังเกตเรื่องข่าวที่เกิดขึ้น เป็นข่าวในทำนองเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งบางครั้งข่าวที่ปรากฏนั้นเป็นการทำร้ายและซ้ำเติมประชาชน เช่น ข่าวข่มขืน สื่อมวลชนบางส่วนถูกสอนให้รู้จักข่มขืนซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่รุนแรงและน่าสะเทือนใจมาก นอกจากนี้ในเรื่องอ่อนไหวเช่นข่าวโจรเรียกค่าไถ่ หากสื่อมวลชนเสนอข่าวอาจทำให้เหยื่อที่ถูกลักพาถูกทำร้ายหรือโดนฆ่า เป็นการวัดใจของสื่อมวลชนว่าใครจะรู้ข่าวก่อนใครจะเสนอก่อน แม้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือญาติผู้เสียหายขอร้องไว้ ทำให้มองภาพสื่อมวลชนว่าหิวข่าวเกินไปหรือไม่
กรณีคลิปฉาวของสองนักร้องดัง โฟร์-มด ก็เช่นกัน รู้สึกว่าจะมีการหารือกันในโต๊ะข่าวมาก่อน ส่วนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั้นได้ติดตามเรื่องนี้ ผมมีข้อสังเกตว่า ข่าวในลักษณะนี้หากใครเริ่มต้นก่อน อีกหลายฉบับต้องเดินตาม แต่จะเดินตามกันอย่างไร สนุกสะใจกับข่าวที่เป็นความเจ็บปวดของเด็กสาวตัวเล็ก ๆ หรือไม่ หรือเป็นท่วงทำนองของการทำหน้าที่ ที่มักอ้างว่าเป็นการแสวงหาความจริงเพื่อให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งข่าวนี้ก็เป็นเหมือนข่าวที่เกิดขึ้นทุกๆ ครั้ง สื่อก็ตกหลุม และมีทั้งสื่อที่ตั้งใจตามข่าว แต่สิ่งที่ตามคือความกลัวว่าตนจะตกข่าว
-ถ้าเช่นนั้นจะมีวิธีเลือกอย่างไร ระหว่างเส้นแบ่งที่คลุมเครือ ระหว่างการแสวงหาความจริงมาเปิดเผย กับการแข่งขันเพื่อจะเสนอก่อนบนหน้าหนังสือพิมพ์
ผมอยากเล่าประสบการณ์การทำข่าวของผมเอง ที่เริ่มต้นมาจากการทำข่าวอาชญากรรม โดยมีพี่มานิจ สุขสมจิตร เป็นหัวหน้า และได้ให้คำแนะนำว่า “เขียนอะไรก็ให้นึกถึงคนที่ตกเป็นข่าวว่าเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นหลาน” กระบวนการทำข่าวข่มขืนจำเป็นต้องใช้ “เด็กหญิงนามสมมติ” ไม่มีชื่อพ่อแม่ ที่ผมเขียนจะไม่มีกระทั่งนามสมมตติ ไม่มีพ่อแม่ มีแต่พฤติกรรมของผู้กระทำและตำรวจเท่านั้น แต่ในกลุ่มผู้สื่อข่าวอาชญากรรมกลุ่มหนึ่งคิดว่าเป็นความจริงที่ต้องนำเสนอ แต่ยอมรับในหลักการว่าเมื่อเรื่องเกิดขึ้นแล้วสื่อมีหน้าที่เสนอ ความถูกต้องเราต้องทำ แต่ในกระบวนการยุติธรรมสื่อจะทำอย่างไรให้อยู่ในขอบเขตของความพอดี เช่นกรณีข่าวข่มขืน ที่มีเนื้อหา ประเด็น หรือขั้นตอนใดก็ตามที่เป็นการตอกย้ำซ้ำเติมแผลที่เจ็บปวดในใจของคนที่ตกเป็นเหยื่อ ถือว่าเป็นความผิด
ที่จริงเรื่องดังกล่าวมีการออกกฎหมายมาแล้วว่า คดีอย่างนี้ต้องมีนักจิตวิทยา มีทนายความ ต้องกันสื่อเพื่อไม่ให้เสนอข่าว เป็นบทสรุปทางกฎหมายมาแล้ว แต่แปลกที่สังคมทุกวันนี้ต้องย้อนกลับมาพูดกันอีกครั้ง ทำให้ผมเองรู้สึกอาย
นอกจากนี้ผมไม่เห็นด้วยกับการนำเด็กที่ตกเป็นเหยื่อมาออกแถลงข่าวโดยใช้หมวกหรือผ้าคลุมปิดหน้าไว้ก็ตาม เพื่อมาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้คนอื่นฟัง ซึ่งผมรับไม่ได้ อาจจะอ้างว่าให้มาเล่าพฤติกรรมเพื่อให้เป็นบทเรียนแก่สังคม เป็นการช่วยให้สังคมจะได้ไม่เจอปัญหาแบบเดียวกันอีกในอนาคต แต่มองอีกด้านหนึ่งกระบวนการที่ทำกันนั้นมีแรงจูงใจจากพลังของการได้เป็นข่าวหรือไม่ และมีหลายขั้นตอนที่เป็นการกระทำซ้ำเติม ซึ่งผมไม่เห็นด้วย
-แต่หนังสือพิมพ์หัวสีมักชอบนำเสนอข่าวประเภทดังกล่าวโดยใช้สำนวนภาษาให้เกิดภาพลักษณ์
หากเป็นผมจะไม่ทำอย่างนั้น แต่ในกลไกมนุษย์นั้นสอนยาก สั่งยาก และที่สำคัญคนมีใจทางนั้นหรือไม่ ครั้งหนึ่งที่มีการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสร้างกรอบการนำเสนอข่าวลักษณะนี้เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมผู้ที่ถูกกระทำ ก่อนที่จะมีกฎหมายออกมาเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย จึงทำให้ความพยายามในครั้งนั้นล้มเหลว แสดงให้เห็นว่าคำสอนของนายมานิจ สุขสมจิตร ว่า “เขียนถึงใครก็ได้ อย่าคิดว่าเต็มที่ อย่างน้อยให้คิดว่าเขาเป็นลูกเป็นหลาน” แต่ไม่สามารถไปจูงใจใครหลายคนได้ ส่วนการลงชื่อ ตัวอย่างเช่น บางครั้งไม่ต่างจากที่กล่าวหาว่าหนังสือพิมพ์หัวสีเขียนอย่างไร และพูดอย่างไร ให้นำมาจำแนก แจกแจง ให้เห็นโดยละเอียด เมื่อนึกถึงกระบวนการยุติธรรมที่มี ลำดับขั้นตอนเหตุการณ์ ไม่เป็นการซ้ำเติมเด็ก แต่อยู่ในสายพานกระบวนการเดียวกันที่มีความกระทบกระเทือนถึงเด็ก จึงอยากให้พูดกันเพียงครั้งเดียวจบ เพราะยิ่งพูดมากคำ เรื่องยิ่งเป็นการซ้ำเติม และกระทบกระเทือนจิตใจ (ดีที่ไม่ได้เป็นกรณีข่มขืน แต่เป็นเพียงกรณีแอบถ่าย) จึงอยากให้ทำลักษณะนั้น
แต่เมื่อเห็นกระบวนการของสื่อแล้ว ยังเป็นกระบวนการที่เกินเลย และที่สำคัญคือการมีตัวละครแสดง และเป็นตัวแสดงที่น่าสนใจ แต่นอกจากความน่าสนในที่เกิดขึ้น มีความน่าชื่นชมหรือไม่เป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แก่ใจ ซึ่งบางคนใช้ความเดือดร้อน ใช้ความเจ็บปวดของผู้อื่นเป็นเครื่องมือสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ
–ปัจจุบันที่มีนักข่าวรุ่นใหม่เข้ามาเยอะ คิดว่ามีความตระหนักหรือซึมซับ ถึงเรื่องดังกล่าวมากเพียงใด
ผมไม่สามารถคิดแทนคนอื่นได้ ก็ได้แต่พยายามพูดพยายามสร้างแนวคิด แต่ได้รับการต่อต้านมากพอสมควร เพราะทุกคนอ้างว่าเป็นหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถหวังอะไรกับเด็กรุ่นใหม่แค่ไหน อย่างไรบ้าง เพราะหากไม่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองก็คงไม่รู้สึก ไม่รู้ว่าศาสนาจะสอนให้เขารู้จักคำว่า “เมตตา”หรือไม่ ความเมตตาคือการปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข กรุณาคือปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ การรู้จักศาสนา รู้จักเมตตาคน ก่อนหน้าในกระบวนยุติธรรมการนำเสนอข่าวข่มขืนถูกต่อต้านอย่างมาก ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสังคมมันเต็มไปด้วยบรรยากาศอย่างนี้ จิตใจคนจึงเป็นอย่างนี้
ผมยังสงสัยว่าหากตลาดไม่ตอบรับข่าวประเภทคลิปโป๊แล้วจะมีการโหลดคลิปมาขายหรือไม่ แสดงว่าคนจิตตกหรือจิตต่ำในสังคมมีเยอะ เมื่อมีคนที่จิตตกจิตต่ำเยอะสื่อก็นำมาเสนอเพิ่มเติม ทำให้มีคนที่จิตตกต่ำมีเพิ่มมากขึ้น จึงไม่สามารถไปหวังอะไรได้จากเด็กรุ่นใหม่ วันนี้หรือวันหน้า ว่าคุณภาพต้องดีขึ้น แต่ต้องพยายามทำให้ดีขึ้น ไม่ถึงกับท้อถอย เพียงแค่ทำใจ เพราะผมแก่แล้ว และเข้าใจว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้น
-ที่พยายามผลักดันมาเป็นสิบปีก่อนก็เริ่มเกิดผลแล้ว เช่น มีกฎหมายมาควบคุม มีการออกแนวปฏิบัติให้สมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ฯอยู่ในกรอบเดียวกัน
ความจริงคือเรามักละเมิดกฎหมาย ทั้งนี้เรื่องครอบครัว ข่าวข่มขืน ข่าวเกี่ยวกับเด็ก เป็นประเด็นใหญ่ที่สื่อมีความกังวลมาก เมื่อก่อนทำข่าวด้วยความเคยชิน ทุกวันนี้เบาลงมากพอสมควร และหวังว่าน่าจะเบาลงมากกว่านี้ แต่ติดปัญหาอยู่ที่จิตใต้สำนึกของคนที่เกี่ยวข้อง ที่มักจะอ้างว่าเป็นการทำหน้าที่ คิดว่าเป็นการช่วยในด้านบวก คิดด้วยหรือไม่ว่า ถ้าเด็กคนนั้นเป็นลูกเป็นหลานแล้วยังจะทำและพูดอย่างเต็มปากเต็มคำอย่างนี้หรือไม่ คิดว่าควรมีช่วงชั้นที่มีข้อจำกัดอยู่บ้าง มีระดับที่สามารถเปิดเผยได้มากแค่ไหน อย่างไร และควรจะจบอย่างไร ไม่ใช่ยืดยาวไม่รู้จักจบสิ้น แต่หากหนังสือฉบับใดคิดว่าข่าวอย่างนี้เป็นข่าวที่ขายได้ ก็เข้าใจว่าเป็นหนังสือขายดีกับเรื่องดังกล่าว โดยไม่ใส่ใจกับความรู้สึกของคนอื่น
-แต่สังคมก็เริ่มมีปฏิกิริยาต่อสื่อมากขึ้น จะทำให้คนทำสื่อตระหนักและระวังมากขึ้นไหม
ปฏิกิริยาตอบกลับก็ต้องมาดูกันว่ามากหรือน้อยเพียงใด เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร เรื่องนี้เป็นที่น่าสนใจ แล้วก็มีคนเล่นตามกันมาก เพราะแค่รูปวับๆ แวมๆ เท่านั้นก็สามารถขายได้ ปฏิกิริยาที่เข้ามาก็เป็นเรื่องที่ดี แต่คิดว่าที่สุดแล้วก็ไม่ได้มีความเชื่อมโยงไปถึงจุดที่เป็นปัญหา ผู้ที่เผยแพร่ซ้ำไม่ได้ถูกปฏิกิริยาจากประชาชน เสียงจากผู้อ่านบอกก็ถึงแค่คนที่รับรู้และเข้าใจเท่านั้น
-ผู้สื่อข่าวอาจไม่รู้ตัว เพราะปฏิกิริยากลับมาไม่ถึงตัวผู้สื่อข่าว แต่ก็มีข้อเสนอจากนักวิชาการว่า ควรทำข้อกำหนดเป็นขอบเขตว่า นักข่าวจะนำเสนอข่าวได้แค่ไหน เพียงใด เช่น ข่าวความมั่นคง ข่าวอ่อนไหวที่กระทบกับเด็ก สตรี หรือผู้ด้อยโอกาส
ที่จริงผมคิดว่ากฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว แต่ไม่มีการนำมาปฏิบัติ เช่น ข่าวข่มขืน ต้องมีนักจิตวิทยา ห้ามถ่ายรูป ห้ามระบุชื่อ กำหนดไว้ชัดเจน แต่จะสังเกตว่ากรณีดังกล่าวเป็นกรณีซ้ำซากที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่การเอาเด็กมาคลุมหัวมาเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือการมาโชว์หน้า โชว์ตัว จะหมดไปเสียที เพราะเป็นเรื่องทีน่าเศร้าใจมาก
-ข่าวข่มขืนตอนหลังสื่อเริ่มถูกฟ้องจนซาไปบ้างแล้ว แต่กรณีคลิปโฟร์-มด กระบวนคิดเรื่องข่าวต่างกันไหม เพราะมุ่งแข่งขันและเจาะลึกเพื่อให้เข้าถึงก่อน
โดยทางข่าวนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่โดยลักษณะของบาดแผลอาจตื้นกว่าเท่านั้น คือการมีกระบวนการคิดแบบเดียวกันและกรอบของกฎหมาย กรอบของสังคมแบบเดียวกัน ควรเปลี่ยนแนวคิดของผู้ใหญ่ในมุมลึกๆ ที่ไม่อาจจะพูด หรือพูดทั้งรอยยิ้ม แต่สามารถช่วยเรื่องของความนิยม (เรตติ้ง) ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเด็กร้องไห้ขอร้อง ผู้ใหญ่ก็ควรพอได้แล้ว เพราะสภาพจิตใจเขารับไม่ได้ และไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวของเด็กเอง และผู้ใหญ่ที่อ้างว่าหวังดี ทำเขาได้ลงหรือ คนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งโทรทัศน์หนังสือพิมพ์ที่พูดถึงนั้น หากไม่พูดถึงการปราบปรามยับยั้งแล้วเป็นเรื่องที่น่าต้องทบทวนกันทุกคน
-ในมุมของกฎหมายในการเอาผิดกรณีเผยแพร่ ถือว่าสื่อได้ทำหน้าที่ในการบอกล่าว หรืออย่างน้อยทำให้คนที่กระทำผิดเกิดความเกรงกลัวความผิด เพื่อยุติการเผยแพร่ สื่อทำหน้าที่นี้ได้ดีพอไหม
สื่อมวลชนถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการเดียวกัน แต่ก็ได้ตั้งคำถามว่านี่เป็นเรื่องที่ผิด กลายเป็นว่าเมื่อคนที่น่าสนใจทำ เราก็ทำไปด้วย เคยสังเกตหรือไม่ว่าสื่อจะเล่นประเด็นแรงแต่สื่อไม่กล้าเมื่อมีตัวนำที่น่าสนใจ เหมือนกับว่าเป็นการท้าทายทำให้สังคมเฝ้ามอง แต่ที่จริงแล้ว สังคมควรเจรจากับเขาว่ากรณีที่เคยทำหยุดได้แล้ว และทบทวนสักหน่อยว่าควรทำแต่เท่าที่ควร เปิดเพื่อเป็นกรณีศึกษา เปิดเพื่อเตือน เพื่อป้องปราม เป็นเรื่องที่น่ารัก
-แสดงว่าสื่อมวลชนต้องปรับกระบวนการการทำหน้าที่
หากถามว่าไม่ทำได้หรือไม่ แต่ตัวละครมันน่าสนใจจึงต้องนำเสนอ แต่ควรเสนอในลักษณะอย่างไร ผมเคยถามนักวิชาการและได้รับข้อเสนอกลับมาว่าบางเรื่องควรนำเสนอ แต่บางเรื่องไม่ควรนำเสนอหรือไม่ ทุกเรื่องที่น่าสนใจสื่อต้องนำเสนอ แต่ประเด็นคือสื่อมวลชนควรนำเสนออย่างไร หากในกรณีข่มขืน หรือกรณีเป็นการประจาน ซ้ำเติม เป็นเรื่องผิด แต่ควรนำเสนอเพื่อให้รู้ถึงข้อผิด รู้เพื่อหาทางแก้ไข เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก เป็นเรื่องที่น่าจะถูกต้องกว่า แต่ที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
-รูปแบบที่นำเสนอบางครั้ง บางกรณีที่เล่ารายละเอียดจนสามารถมองเห็นภาพ ควรจะหมดไปจากหน้าข่าวของไทยหรือไม่
คงหวังไม่ได้ เพราะดูท่าเขาชอบการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ เรื่องเพศ รวมถึงข่าวประเภทม้า มวย หวย และเรื่องในมุ้ง ถือเป็นจุดขาย ซึ่งโลกเปลี่ยนไปขนาดนี้แล้ว หนังสือหลายฉบับก็ตั้งหลักได้แล้วน่าจะพิจารณาหลักคิด มีกรอบ มีเกณฑ์ในการเสนอข่าวสารใหม่ได้แล้ว
(ฟังบทสัมภาษณ์นี้ได้ที่ www.presscouncil.or.th )
รายงาน
เจาะลึก”โครงสร้างสื่อพื้นที่” กับ”ปรากฏการณ์อุดรธานี”
{mosimage}การเห็นต่างในความคิดทางการเมืองที่ขยายวงกว้างและลงลึกไปทุกภาพส่วนของสังคมนั้น เป็นตัวตั้งให้เกิดคำถามว่าสื่อได้มีบทบาทหรือทำหน้าที่ได้ดีเพียงใด เพราะหน้าที่ของสื่อที่มีทั้งการให้ข้อมูล ให้ข่าวสารข้อเท็จจริง ให้ข้อคิดเห็น ตลอดจนให้ความรื่นรมย์นั้น หากสื่อทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงเพียงพอ ต่างฝ่ายต่างได้เสนอและได้รับฟังข้อคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอของกันละกัน ความขัดแย้งไม่ควรขยายวงไปสู่การเผชิญหน้าถึงขั้นใช้กำลังเข้าห้ำหั่นให้ต้องเลือดตกยางออก แต่ในความเป็นจริงความขัดแย้งที่คนแยกเป็นสองฝ่ายได้ขยายวงไปทั่ว กระทั่งเกิดเหตุการณ์ชมรมคนรักอุดรฯรวมกลุ่มไล่ทำร้ายทุบตีฝ่ายที่เห็นต่างอย่างรุนแรงจนถูกเรียกว่า “ปรากฏการณ์อุดรธานี” เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551.นั้น น่าสนใจว่าโครงสร้างและบทบาทของ”สื่อ”ในพื้นที่ที่อุดรธานีเป็นอย่างไร ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประจำสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ให้ข้อมูลและมุมมองจากพื้นที่ที่น่าจากการสนทนาใน”รู้ทันสื่อกับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ” เมื่อวันที่13 กันยายน ที่ผ่านมา
-ข้อสังเกตการณ์การรับรู้ข่าวสารด้านการเมืองของประชาชนจังหวัดอุดรธานีเป็นอย่างไร
จากผลการสำรวจเมื่อปี 2550 เกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในเขตเทศบาล จังหวัดอุดรธานี พบว่า สื่อที่ผู้บริโภคเปิดรับข้อมูลข่าวสารมากที่สุดคือ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ ตามลำดับ และผลการสำรวจในต่างอำเภอพบว่า สื่อที่เข้าถึงคือโทรทัศน์ และวิทยุ ส่วนการสำรวจการรับข้อมูลข่าวสารในปี 2551 มีการศึกษาว่าประชาชนสนใจรับข้อมูลข่าสารประเภทใดมากที่สุด ไม่น่าเชื่อว่าแม้เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น เวลานั้นชาวบ้านให้ความสนใจข่าวสารการเมืองมาเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อถึงเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นปัจจุบัน สาขาวิชานิเทศศาสตร์พยายามติดตามว่าเกิดเหตุการณ์ใดในยุคข้อมูลข่าวสาร แล้วประชาชนใช้ข้อมูลข่าวสารนี้อย่างไร
ทั้งนี้ได้แบ่งช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของ จ.อุดรฯ ออกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน คือ 1 กลุ่มที่อยู่ในตัวเมืองเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเลือกรับข้อมูลข่าวสาร เพราะมีเคเบิลทีวี 2 บริษัท ที่แต่ละบ้านจะเป็นสมาชิก และทางเคเบิลทีวีพยายามหาช่องทางเพื่อถ่ายทอดสัญญาณเพื่อบริการประชาชนให้มากที่สุด 2. กลุ่มอำเภอรอบนอกที่รับข้อมูลข่าวสารจากสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี จึงเกิดความแตกต่างในการรับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันระหว่างเขตเทศบาลจังหวัดอุดรฯ และเขตอำเภอรอบนอก
-การกระจายสัญญาณของเคเบิลทีวีในต่างอำเภอยังไม่ทั่วถึง
การกระจายสัญญาณของเคเบิลทีวีในต่างอำเภอยังไม่ทั่วถึง เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องการให้บริการ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจะมีรายการข่าวท้องถิ่นของสถานีโดยเฉพาะ ดังนั้นข่าวในท้องถิ่นจึงมีความรวดเร็วสูง มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าการดูข่าวจากกรุงเทพฯ
-บริษัทเคเบิลทีวีทั้ง 2 บริษัท เปิดดำเนินการมานานแค่ไหน และได้รับความนิยมจากประชาชนมากน้อยเพียงใด
เคเบิลทีวีของจังหวัดอุดรฯ คือบริษัทโฮมเคเบิลทีวี เปิดดำเนินการมาเข้าปีที่ 20 แล้ว ส่วนอีกหนึ่งหนึ่งบริษัทเปิดดำเนินการประมาณ 5 ปี ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนในพื้นที่ โดยในช่วงเย็นจะเป็นรายการข่าวในท้องถิ่น และสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์คือ สามารถรับรู้ข่าวสารจากช่องสัญญาณดาวเทียม เช่น ASTV หรือช่องอื่นๆ ทั่วไป เพราะเคเบิลทีวีจะมีการเชื่อมสัญญาณในท้องถิ่นทั่วถึงกัน
ทั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกันระหว่างคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่รอบนอกเขตเทศบาลจะมีความคิดทางการเมืองไปตามนโยบายของพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่คือเขตของส.ส.พรรคพลังประชาชน ส่วนประชาชนในเขตเทศบาลจะรับข้อมูลข่าวสารโดยแยกออกเป็นกลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นของพรรคพลังประชาชนและดู ASTV ไปด้วย และอีกกลุ่มที่ชัดเจนคือกลุ่มพันธมิตรอุดรธานี
เนื่องจากมีความต่างในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยในต่างอำเภอรับผ่านคนที่เป็นผู้นำความคิดเห็น ทั้งนี้เรากำลังมุ่งไปที่สื่อที่นอกเหนือจากสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี จากผลสำรวจพบว่าคนดูโทรทัศน์ มากขึ้น นับเป็นนัยยะที่น่าสนใจ
-สื่อประเภทอื่น เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือสื่อวิทยุชุมชน มีบทบาทมากน้อยเพียงใด ในการรับข่าวสารของประชาชนจังหวัดอุดรฯ
วิทยุชุมชนในจังหวัดอุดรฯ มีอยู่หลายคลื่น แต่ยังขาดเนื้อหาที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่จะเน้นไปเพื่อความบันเทิงมากกว่า มีเพียงบางสถานีที่พูดถึงเรื่องการเมืองโดยเฉพาะเช่น ชมรมคนรักอุดรฯ ดังนั้นวิทยุชุมชนจึงมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเพียงส่วนหนึ่ง
-มีการกระจายสัญญาณทั่วทั้งจังหวัดหรือไม่
กระจายสัญญานอยู่บางพื้นที่ ในรัศมีประมาณ 20-30 กม.แต่มีอยู่ในทุกอำเภอ ทุกตำบล
-ในส่วนของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนั้นบทบาทค่อนข้างมีข้อจำกัด เพราะมีอยู่ไม่กี่ฉบับ และระยะเวลาในการออกหนังสือพิมพ์ล่าช้า แต่ถือเป็นข้อจำกัดของสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
-ในฐานะที่เป็นนักวิชาการในพื้นที่ มีข้อแนะนำในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันข่าวสารอย่างไร เพราะการรับสื่อเพียงด้านเดียวอาจทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารไม่รอบด้าน
นับเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับประชาชนจังหวัดอุดรฯ ซึ่งจากการสอบถามอาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรฯ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน และได้รับคำตอบว่า เมื่อเดินเข้าไปในตลาดก็มีความแตกต่างกันทางความคิดอย่างชัดเจน จึงลำบากในการสื่อสาร ดังนั้นการจะพูดเรื่องการเมืองจึงต้องดูว่าใครอยู่กลุ่มไหนนับเป็นปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่
ส่วนการแนะนำเพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อเป็นเรื่องที่น่าหนักใจมาก คือสื่อในปัจจุบันมีการสื่อสารที่เร็วมาก มีลักษณะเป็นการหลอมรวมสื่อ สื่อที่มีอิทธิพลสูง มีช่องทางในการเข้าถึงประชาชนได้มาก เป็นลักษณะการหลอมรวม ซึมซับเข้าไปในพฤติกรรมของประชาชน โดยที่อาจจะแยกแยะไม่ออกก็ได้ จึงน่าเป็นห่วงและน่าศึกษา ว่าสื่อที่เรียกได้ว่าเป็นการหลอมรวมสื่อที่ซึมซับเข้ามา จะเกิดอิทธิพลอย่างไรบ้าง ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าการเมืองหรือแนวความคิดของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเพราะการหลอมรวมสื่อ จึงยากที่จะแนะนำประชาชนในการเลือกรับสื่อ
-ในฐานะที่เป็นผู้บรรยายในสาขานิเทศศาสตร์ นักศึกษามาปรึกษาในเรื่องเกี่ยวกับสื่อมากน้อยเพียงใด
ในส่วนที่สอนเกี่ยวกับการทำวิจัยสื่อ อิทธิพลของสื่อ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากพอสมควร เพราะนักศึกษาบางคนมีความเห็นว่าสื่อสมัยใหม่ต้องเป็นสื่อเลือกข้าง แต่ก็อธิบายไปว่ายังไม่สามารถเลือกข้างได้ ซึ่งมีอยู่หลายพวกคือ พวกที่ยังยึดแนวสื่อสารมวลชนที่ต้องรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าถูกหรือผิด โดยที่สื่อไม่ควรไปตัดสินหรือพิพากษาก่อนนำเสนอ
-การวิจัยที่นำเสนอไปแล้ว จะมีการต่อเนื่องในประเด็นศึกษาเรื่องอื่น ๆ ต่อไปอีกหรือไม่ นอกจากนี้การศึกษาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใด
นักศึกษาที่กำลังเรียนวิชาวิจัยของคณะนิเทศศาสตร์ พยายามทำสำรวจภายใต้ชื่อ “อุดรฯ โพล” โดยสังเกตประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละสัปดาห์ จากนั้นนำประเด็นมาตั้งคำถามและรวบรวมข้อมูล ศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการวิจัย ทั้งนี้ทำอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. ชาวอุดรธานีคาดหวังอะไรจากการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา 2. ชาวอุดรธานีทราบหรือไม่ว่ามีการจัดประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งผลการสำรวจเป็นที่น่าพอใจ เพราะชาวอุดรฯ ทราบข่าวสารมากถึง 71.8 % และไม่ทราบ 21.2 % นอกจากนี้ยังมีการสำรวจว่าชาวอุดรฯ รู้สึกอย่างไรต่อการจัดประชุมครม.สัญจรในครั้งนี้ พบว่าประชาชนมีความเป็นห่วงจะมีการแบ่งฝ่ายที่ชัดเจนมากขึ้น 43.5 % และได้เสนอปัญหามากขึ้น 44.6 % ต้องการให้ครม.แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 59.6 % โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของคณะนิเทศศาสตร์ www.udru.net
(ฟังบทสัมภาษณ์นี้ได้ที่ www.presscouncil.or.th )
[/wptab]
[wptab name=’แถลงการณ์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ’]
แถลงการณ์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
เรื่อง การยุติความรุนแรงในสถานการณ์ปัจจุบัน
จากกรณีการเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภาและบริเวณใกล้เคียง เมื่อวันอังคารที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา จนทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความหวาดวิตกในหมู่ประชาชนทั่วไปว่า จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงในบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังคงให้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในลักษณะที่เป็นการยั่วยุและอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงรอบใหม่ได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนบางแขนง ยังขาดการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านเพียงพอ จนอาจนำไปสู่การตื่นตระหนกและเพิ่มระดับความรุนแรงของสถานการณ์ที่ยากจะควบคุมได้เช่นเดียวกัน
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อหนังสือพิมพ์ เพื่อการรับรู้ข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความห่วงใยในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน และขอเรียกร้องมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
๑) รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสื่อมวลชนของรัฐ เช่น สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ต้องยุติการแถลงหรือให้ข้อมูลข่าวสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ โดยปราศจากการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการที่เป็นอิสระ เพราะการให้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารและยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในสถานการณ์ทางการเมืองที่ล่อแหลมได้ตลอดเวลา
๒) การชุมนุมและการปราศรัยบนเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ควรใช้ความระมัดระวังในการให้ข้อมูลข่าวสารในประเด็นที่อาจเข้าข่ายการยั่วยุให้มีการกระทำการผิดกฎหมายอาญาที่ร้ายแรง
๓) สื่อมวลชนทุกแขนง ควรใช้วิจารณญาณขั้นสูงสุดในการพิจารณานำเสนอข้อมูลข่าวสารจากทุกฝ่าย โดยยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ก่อนการนำเสนอข่าว รวมทั้งคำนึงถึงอยู่เสมอว่า การนำเสนอข่าวสารดังกล่าว จะต้องไม่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เชื่อมั่นว่า สถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สามารถยุติลงได้ หากรัฐบาลและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการดำเนินการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เหนือผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
๙ ตุลาคม ๒๕๕๑
[/wptab]
[wptab name=’เปิดแฟ้มเรื่องร้องเรียน’]
เปิดแฟ้มเรื่องร้องเรียน
* ชาย ปถะคามินทร์
เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์
ปกปิดแหล่งข่าวคือจริยธรรมหนังสือพิมพ์
คำวินิจฉัยคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์
เรื่อง การร้องเรียนจริยธรรมหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง
กรณีเรื่องนี้สืบเนื่องมาจาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีหนังสือร้องเรียนต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งเสนอข่าวความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงของมหาวิทยาลัย จึงได้มีหนังสือถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้น ขอทราบแหล่งข่าวระดับสูงที่กล่าวอ้างนั้นคือผู้ใด แต่ไม่ได้รับคำตอบ กลับได้รับคำตอบด้วยการนำไปตอบในคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว โดยระบุว่า เรื่องแหล่งข่าวอะไรนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อธิการบดีฯเห็นว่าเป็นการปฏิเสธไม่เปิดเผยแหล่งข่าวโดยปราศจากเหตุผลอันควร ขัดต่อเจตนารมณ์ของข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมควรได้มีการตรวจสอบจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
อนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ได้แจ้งข้อร้องเรียน และหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้มีหนังสือชี้แจงแก้ข้อร้องเรียนโดยสรุปว่า ได้พยายามให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ด้วยการนำเสนอข่าวการแถลงของผู้ร้องอย่างละเอียดทุกครั้ง ด้วยความถูกต้อง ไม่ผิดพลาดและครบถ้วน ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และไม่อาจเปิดเผยที่มาของแหล่งข่าวได้ เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชา อันอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อผู้ที่เปิดเผยข่าวอันเป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชนได้ จึงมีเหตุอันควรที่จะปกปิดชื่อที่มาของแหล่งข่าว ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อ 14
คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ได้พิเคราะห์และตรวจสอบตามหนังสือที่ร้องเรียนแล้ว มีประเด็นที่พึงพิจารณาสองประการคือ
ประการแรก ประเด็นเรื่องการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวในกรณีเรื่องนี้เป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์หรือไม่ ประเด็นนี้ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่แสดงว่า มีการเสนอข่าวผิดพลาดพาดพิงอันอาจเกิดความเสียหายแก่บุคคล ซึ่งเป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อ 11 และ ข้อ 12
ประการที่สอง ประเด็นเรื่องการเปิดเผยแหล่งข่าวที่ผู้ร้องเรียนต้องการให้แจ้งชื่อผู้ซึ่งเป็นแหล่งข่าวให้ทราบนั้น ประเด็นข้อนี้ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ได้รับการคุ้มครอง ในอันที่จะปกปิดชื่อและฐานะของบุคคลที่ให้ข่าวไว้เป็นความลับ และต้องปกปิดนามปากกาหรือนามแฝงที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นไว้เป็นความลับด้วย ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อ 14
ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงมีมติยกคำร้องเรียน และแจ้งคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ทราบ ตามข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ตามข้อบังคับต่อไป
คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์
24 สิงหาคม 2550
คำวินิจฉัยนี้ที่มาจากการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ร้องเรียนต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้ผู้ร้องได้ทำหนังสือถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว เพื่อขอทราบแหล่งข่าวที่ผู้ถูกร้องอ้างถึงว่าคือผู้ใด เพื่อไปชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องได้ลงชี้แจงในคอลัมน์หนึ่งในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว โดยระบุว่าเรื่องแหล่งข่าวอะไรนั้นไม่ใช่ประเด็นหัวใจ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการปฏิเสธที่จะแจ้งให้ทราบถึงแหล่งข่าวของผู้ถูกร้อง เป็นการดำเนินการโดยปราศจากเหตุอันควร จึงได้ร้องเรียนมายังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ได้ทำหนังสือเพื่อให้ผู้ถูกร้องได้ชี้แจง ซึ่งผู้ถูกร้องได้ทำหนังสือชี้แจงสรุปได้ว่า การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยดังกล่าวนั้น ยืนยันว่าเป็นการนำเสนอข่าวที่ถูกต้อง ตามหมวด 2 ของจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในข้อ 4 ที่ระบุว่า หนังสือพิมพ์ต้องยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้องแม่นยำและครบถ้วน ขณะเดียวกันได้คำนึงถึงจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ ข้อ 6 หนังสือพิมพ์ต้องแสดงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยได้เสาะแสวงหาข้อมูลของฝ่ายผู้ร้อง และพบว่ามีการออกเอกสารชี้แจง จึงได้นำมาตีพิมพ์เพื่อความสมดุลของข่าวด้วย ขณะที่ได้พยายามขอสัมภาษณ์ผู้ร้อง แต่ผู้ร้องได้ปฏิเสธ
ส่วนการที่ผู้ร้องได้เรียกร้องให้ผู้ถูกร้องเปิดเผยแหล่งข่าวนั้น ผู้ถูกร้องเห็นว่า เป็นการอ้างที่ไม่ชอบ เพราะจริยธรรมในข้อนี้ได้ระบุเงื่อนไขสำคัญเอาไว้ด้วยว่า เว้นแต่จะมีเหตุอันควรปกปิดเพื่อสวัสดิภาพ (ของแหล่งข่าว) ซึ่งผู้ถูกร้องเห็นว่ามีเหตุอันควรที่จะปกปิดชื่อแหล่งข่าว เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอำนาจ และสายการบังคับบัญชา ที่อาจจะส่งผลกระทบด้านใดด้านหนึ่งต่อผู้ที่เปิดเผยข่าวได้
ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ได้พิจารณาก่อนที่จะออกมาเป็นคำวินิจฉัยดังกล่าว
[/wptab]
[end_wptabset]