จดหมายข่าวประจำเดือนมี.ค – เม.ย 51

[wptab name=’จดหมายข่าวประจำเดือนมี.ค – เม.ย 51′]

แถลง

หลังจากที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และอาจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงองค์กรวิชาชีพสื่อ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2551  แสดงความวิตกกังวลถึงสภาวการณ์ที่สื่อถูกใช้และการใช้สื่อ เพื่อปลุกเร้าความเกลียดชังและกำลังขับเคลื่อนสังคมให้แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยความรุนแรง

โดยระบุว่านี่เป็นปัญหาของ”สื่อเป็นพิษ”

หนังสือร้องเรียนดังกล่าวยังเรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและองค์กรของสื่อเข้ามาดูแลปัญหา”สื่อเป็นพิษ”นี้โดยด่วนที่สุด โดยขอให้สาธารณชนเข้ามีส่วนร่วม โดยย้ำว่ารัฐบาลไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวจุดประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง มีการตั้งคำถามตั้งแต่การทำงานของนักข่าวในสนาม ขึ้นไปจนถึงการนำเสนอข่าวสารที่ออกสู่สาธารณชน ตั้งแต่ส่วนที่เป็นเนื้อหาข่าวสารความเคลื่อนไหว ไปจนถึงคอลัมน์ บทความ ที่แสดงความคิดเห็นหรือจุดยืนของผู้เขียนต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ

สถานการณ์ที่วงการสื่อถูกวิจารณ์ว่า”เป็นพิษ”นี้ เป็นภาพซ้อนของการต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมือง ที่เวลานี้ปริแยกเป็นสองขั้ว และชี้หน้ากล่าวหากันและกัน ฝ่ายหนึ่งอ้างเป็นบทบาทหน้าสื่อที่จะติดตามรายงานเหตุการณ์”จริง”ที่เกิดขึ้น ขณะที่อีกฝ่ายอ้างมีเจตนาคุกคามผู้เห็นต่าง

แม้จะเป็นเรื่องวิจารณ์สื่อ สื่อก็รายงานให้สาธารณชนรับรู้ เป็นการเสริมบทบาทของ”สาธารณชน”ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลปัญหาสื่อเป็นพิษด้วยเช่นกัน

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีส่วนประกอบย่อยหลากหลาย และเกี่ยวพันหลายส่วนของแวดวงสื่อมวลชนทั้งระบบ  ไม่ว่าจะเป็นคนในวงการหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทั้งในคลื่นหลักและวิทยุชุมชน  โทรทัศน์ ทั้งทางช่องปกติและโทรทัศน์ดาวเทียม จนถึงเคเบิลทีวี ตลอดจนถึงการสื่อสารในโลกไซเบอร์ ซึ่งต้องนับเนื่องเป็นสื่อสารมวลชนด้วยกันทั้งหมด ที่ต้องตระหนักในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนร่วมกัน

ขณะที่การเปิดสายให้ผู้ฟังรายการวิทยุเข้ามาพูดคุย แล้วชวนกันไปตีหัวคนอื่นที่เห็นต่างนั้นเป็นการปลุกเร้าความเกลียดชัง ซึ่งต้องตำหนิกัน แต่การที่เว็บไซต์ปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความให้รายละเอียดวิธีผลิตระเบิดแสวงเครื่องแบบต่าง ๆ  ในกระทู้หัวข้อชวนกันไปต้านการรวมกลุ่มของอีกฝ่าย จะนับเป็นเรื่องของเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นไม่ได้

[/wptab]
[wptab name=’เตรียมเสนอกระจายอำนาจสนง.ศิลปากรเขต ให้วัฒนธรรมจังหวัดเป็นหน่วยรับจดแจ้งฯ’]

เตรียมเสนอกระจายอำนาจสนง.ศิลปากรเขต ให้วัฒนธรรมจังหวัดเป็นหน่วยรับจดแจ้งฯ

หลังจากที่พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หลายประการ และในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้มีความไม่เข้าใจหรือผลกระทบหลายประการแก่ทั้งหนังสือพิมพ์เดิม หรือการจะขอออกหนังสือพิมพ์ใหม่ขึ้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กร ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ให้แก่ผู้แทนองค์กรสมาชิกหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมาแล้วนั้น

ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  สมัยที่ 5 ครั้งที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ชี้แจงที่ประชุมว่า หลังการจัดประชุมชี้แจงที่ส่วนกลางไปแล้วนั้น มีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเข้ามาร่วมรับฟังการชี้แจงในครั้งนั้น หรือมีประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีการทำความเข้าใจให้เกิดความกระจ่าง จึงต้องการให้ตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนที่ผลักดันเรื่องนี้ ได้ไปจัดประชุมชี้แจงในส่วนภูมิภาคด้วย จึงได้นัดหมายจัดการประชุมชี้แจงรายละเอียดพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ให้แก่ตัวแทนหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้ง 4 ภาค โดยในวันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2551 ประชุมที่โรงแรมวรบุรีอโยธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อชี้แจงให้สมาชิกเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลางและภาคตะวันออก เป็นภาคสุดท้ายtai.jpg img_03.jpg

ชี้แจงพรบ.จดแจ้งที่ภาคใต้ ชี้แจงพรบ.จดแจ้งที่ภาคเหนือ

udorn.jpgprb1.jpg

ชี้แจงพรบ.จดแจ้งที่ภาคอีสานชี้แจงพรบ.จดแจ้งที่ภาคกลาง-ตะวันออก

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้เดินทางร่วมกับตัวแทนสื่อมวลชนที่มีบทบาทร่วมผลักดันร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ในชั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อาทิ นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตส.ส.ร. และที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อดีตกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์  ไปร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ให้แก่เครือข่ายบรรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคต่างๆ 3 ภาคแล้ว คือ ภาคเหนือเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 ที่โรงแรมโฮมแลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2551 ที่โรงแรมการิน จังหวัดอุดรธานี ภาคใต้เมื่อวันเสาร์ที่ 19 เมษายน 2551 ที่โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ รีสอร์ท จังหวัดสงขลา 

เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ตัวแทนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสะท้อนปัญหาการต้องไปยื่นจดแจ้งที่สำนักงานศิลปากรเขตต่างๆ มีความยุ่งยาก บางจังหวัดต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลมาก เช่น ถ้าจะออกหนังสือพิมพ์ใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนต้องไปจดแจ้งที่สำนักงานศิลปากรที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ หรือถ้าจะออกหนังสือพิมพ์ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องไปยื่นจดแจ้งที่สำนักงานศิลปากรที่ 4 ลพบุรี เป็นต้น ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กำลังประสานกับทางกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเสนอขอให้มีคำสั่งมอบหมายให้วัฒนธรรมจังหวัดเป็นหน่วยรับเรื่องจดแจ้ง แล้วส่งต่อให้สำนักงานศิลปากรที่กำกับดูแลพื้นที่นั้น จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้จะยื่นจดแจ้งมากกว่า

นอกจากนี้มีความกังวลของเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ดำเนินการอยู่แล้วว่า ในขั้นตอนการส่งมอบภารกิจระหว่างตำรวจสันติบาลหรือกระทรวงมหาดไทย ไปให้กระทรวงวัฒนธรรมนั้น เกรงจะมีปัญหาความผิดพลาดทางทะเบียน ทำให้ชื่อหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายอยู่แล้วตกหล่น จนอาจกลายเป็นว่าหนังสือพิมพ์นั้นผิดกฎหมายเพราะไม่ไปจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะได้ประสานแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระมัดระวัง เพื่อให้การโอนย้ายทะเบียนถูกต้องราบรื่นที่สุด รวมทั้งน่าจะเป็นโอกาสในการตรวจสอบและสะสางข้อมูลหัวหนังสือพิมพ์ทั้งหมดที่ได้ยื่นขอไว้ตั้งแต่กฎหมายการพิมพ์เดิม แต่ไม่ได้ดำเนินการตีพิมพ์ออกจำหน่ายจริง เพื่อให้ฐานข้อมูลใหม่ตรงกับความเป็นจริงที่สุดต่อไป


สัมภาษณ์

bunyong.jpg

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง
ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

 

วิจัยใหญ่”นสพ.ท้องถิ่น”
ทำอย่างไรจึงอยู่รอดและเติบโต
สถาบันอิศราซึ่งเกิดจากการรวมสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยและสถาบันข่าวอิศราเข้าด้วยกัน โดยความเห็นชอบของมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางทางด้านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะและจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน ได้นำเสนอโครงการ”ปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ในระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี นั้น

การวิจัยในหัวข้อ”สถานภาพและบทบาทของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในประเทศไทย” เป็นส่วนหนึ่งในห้าแผนงานย่อยภายใต้โครงการดังกล่าว โดยในหัวข้อวิจัยนี้มีนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งจะเป็นการทำวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพครั้งใหญ่ในขอบเขตทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ภาพรวมที่ยังไม่เคยมีการวิจัยทางวิชาการวารสารศาสตร์เคยทำมาก่อน องค์ความรู้ที่จะได้จากการวิจัยครั้งนี้ “บรรยงค์ สุวรรณผ่อง” ชี้ว่า จะทำให้เห็นถึงสถานภาพและแนวทางการดำเนินการเพื่อความอยู่รอดและเติบโตด้วยตนเองของกิจการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น การยืนอยู่ได้บนลำแข้งของตัวเอง จะเป็นหลักประกันให้ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำ และทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างสมบูรณ์  ซึ่ง”บรรยงค์”เล่าถึงงานวิจัยนี้อย่างละเอียดดังต่อไปนี้

ที่มาของแนวคิดการวิจัยสถานะหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นครั้งใหญ่ 

หัวหน้าทีมวิจัย “สถานภาพและบทบาทของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในประเทศไทย” เล่าว่า สืบเนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ส่วนท้องถิ่น ได้แสดงความเห็นคัดค้านมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ห้ามมิให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการหนังสือพิมพ์ โดยสะท้อนว่า หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดบางส่วนต้องอาศัยการเมือง เจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางคนเป็นนักการเมืองด้วยทั้งในสนามการเมืองท้องถิ่น หรือระดับชาติ เพื่อให้สามารถทำหนังสือพิมพ์ต่อไปได้ หรือบางคนต้องมีธุรกิจหรืออาชีพเสริมอื่น เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนการทำหนังสือพิมพ์ จึงเกิดแรงบันดาลใจว่า ทำอย่างไรหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจึงจะอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปพึ่งรายได้ทางอื่นมาเสริม

ทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตระหนักถึงการดำเนินกิจการของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ว่าจะสามารถอยู่ได้อย่างไร ภายหลังมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  จึงมอบหมายให้สถาบันอิศรา ไปทำวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสื่อท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างอิสระ

จึงเป็นที่มาของการทำวิจัยในหัวข้อ “สถานภาพและบทบาทของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในประเทศไทย”ขึ้น แบ่งเนื้อหาเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ   โดย”บรรยงค์ สุวรรณผ่อง” จะรับผิดชอบงานวิจัยในด้านบริหารจัดการของตัวองค์กรหนังสือพิมพ์  และผศ.อังธิดา ลิมป์ปัทมปาณี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง รับผิดชอบการวิจัยในด้านงานบรรณาธิการ
วิธีวิจัยและกรอบเวลา

หัวหน้าคณะวิจัยอธิบายว่า การวิจัยครั้งนี้จะเป็นการสร้างระบบการพัฒนาองค์ความรู้ และฐานข้อมูลสื่อท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการส่งเสริมงานวิจัยทางด้านสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน  และผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสื่อมวลชน  หรือระหว่างฝ่ายวิชาการกับวิชาชีพ โดยในการวิจัยปฐมภูมินั้น ในเชิงปริมาณจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี  ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพต้องใช้เวลามากกว่านั้น แต่จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จจนได้แบบจำลองออกมาภายในเดือนมีนาคม 2552

การวิจัยในเชิงปริมาณจะเป็นการเก็บข้อมูลในเชิงปริมาณของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแต่ละฉบับ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดทำร่างแบบสอบถาม เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานภาพ ความสามารถในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ของสื่อท้องถิ่น การเกิด การดำรงอยู่ การบริหารจัดการของตัวองค์การ และภาพรวมของงานบรรณาธิการ ในความเป็นสื่อนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ๆ สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง หรือมีความจำเป็นต้องพึ่งพากิจการอื่นๆ มาสนับสนุนหรือไม่ โดยมีการวิจัยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั่วประเทศ   ทั้งรายวัน ราย 3 วัน ราย 7 วัน ราย 15 วัน และรายเดือน โดยอาศัยเครือข่ายนักวิชาการในสถาบันการศึกษาทั่วทุกภูมิภาค

หัวหน้าคณะวิจัยกล่าวต่ออีกว่า เมื่อได้ข้อมูลเชิงปริมาณมาแล้ว จะทำให้มองเห็นภาพของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในประเทศไทยชัดเจนขึ้น และจะนำข้อมูลดังกล่าวมาทำวิจัยในเชิงคุณภาพต่อ โดยคัดเลือกภูมิภาคละ 3 ฉบับที่มีสถานภาพคละกัน คือ 1. เป็นหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในภาวะที่ต้องประคับประคองตัวเอง 2. เป็นหนังสือพิมพ์ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และ 3. เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีความมั่นคง  ด้วยการติดตามดูการทำงานทุกกระบวนการของกิจการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ถูกเลือกมาเป็นตัวแบบ
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะได้อะไร

จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนงานวิจัยแบบทุติยภูมิ คือนำข้อมูลหนังสือพิมพ์ที่ทำวิจัยเชิงคุณภาพมาสังเคราะห์ คือแยกแยะ กลั่นกรอง วิเคราะห์ แล้วประมวลความรู้ที่ได้ขึ้นมา  ตั้งแต่รูปแบบของหนังสือ  เนื้อหาของข่าว กระบวนการบริหารจัดการทุกขั้นตอน คือการมองภาพของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และคาดการณ์ความน่าจะเป็นต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นบทสุดท้ายของงานวิจัยที่จะเป็นข้อสรุปและข้อเสนอแนะ

หลังจากนั้นนำงานวิจัยเชิงคุณภาพมาสร้างแบบจำลอง ว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่จะอยู่ได้นั้นเป็นอย่างไร ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ เริ่มต้นอย่างไร จำนวนคนเท่าไหร่

“ตัวนี้จะเป็นตัวตอบโจทย์ได้ว่า จะทำข่าวที่ดีและอยู่ได้ด้วยตนเองเป็นอย่างไร โดยเป็นการศึกษาจากตัวเขาเอง ถอดองค์ความรู้จากตัวเขาเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ที่อยู่ได้นั้นเขาอยู่ได้เพราะอะไร คนนี้เด่นตรงนั้น คนนั้นเด่นตรงนี้ ใครมีส่วนดีตรงไหนก็นำมา เรียกว่าเป็นการสังเคราะห์ จากนั้นก็จะเริ่มการวิเคราะห์ว่า ถ้าหนังสือพิมพ์ที่ดีนั้นเป็นอย่างไร เราจะเอาอะไรมารวมไว้ ต้องทำอย่างไรต่อ”
งานวิจัยเอามาใช้ได้จริงหรือ

หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้หากมีงบประมาณเพิ่มอาจจะทำวิจัยต่ออีก 1 ชิ้น โดยทีมวิจัยจะทำเอง หรือถ้านักศึกษาปริญญาเอกด้านนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์อยากจะทดลองทำก็ได้ คือนำงานวิจัยที่วิเคราะห์และสังเคราะห์แล้วนี้ มาสร้างแบบจำลองและทดลองทำหนังสือพิมพ์ขึ้นมาจริง ๆ ภายในกรอบระยะเวลาและงบประมาณที่กำหนด (Experimental Research) เพื่อให้เห็นภาพการทำหนังสือพิมพ์ที่ชัดเจน ว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไร เช่น การเริ่มต้น อุปกรณ์ บุคลากร กำหนดระยะเวลาการจัดพิมพ์ และองค์ประกอบด้านอื่น ๆ เป็นต้น

นายบรรยงค์กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า หากได้ทำวิจัยชิ้นนี้จนครบทุกกระบวนการตามเป้าหมายที่วางไว้ ถือว่าเป็นความพอใจสูงสุด เพราะประโยชน์ของการทำวิจัยในครั้งนี้ ผู้ที่ทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอยู่เดิม จะได้แบบจำลองของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปศึกษาและนำมาปรับปรุง ทั้งนี้ อาจมีการพูดคุยกับเครือข่ายภูมิภาค และนำแบบจำลองไปเล่าให้เขาฟัง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของระเบียบวิธีการวิจัยซึ่งมีความเที่ยงตรง  นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษา ที่จะได้เห็นภาพการทำงานด้านหนังสือพิมพ์ที่ชัดเจน เพื่อการพัฒนาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นให้เกิดคุณภาพ และเป็นสื่อของชุมชน ทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้ชี้นำสังคม ให้สิ่งที่สร้างสรรค์ ก่อให้เกิดสุขภาวะสังคมที่ดีตามมา

“วันนี้เราจะไปบอกว่าที่เขา(หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น)ทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อที่แท้จริง ก็คงจะพูดอย่างนั้นไม่ได้เต็มที่นัก เพราะที่ดิ้นรนทำอยู่ทุกวันนี้เขารักที่จะทำและทำตามประสาเขา ซึ่งก็มีอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย เช่น เงินทุน เรื่องตลาด หรือต้นทุนการผลิต  เป็นต้น แต่เราไม่รู้จักเขา จึงต้องไปศึกษาเขาว่าเป็นอย่างไรก่อน” หัวหน้าคณะวิจัยกล่าว

{mospagebreak } page1 of 2

รายงาน
สภาการหนังสือพิมพ์ฯสัญจรพบองค์กรสมาชิก
หลังจากที่คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติชุดปัจจุบัน จัดโครงการสัญจรออกพบปะคณะผู้บริหารหนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก เริ่มด้วยการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ กับคณะผู้บริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ มติชน และฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา

จากนั้นนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมผู้แทนคณะกรรมการชุดปัจจุบัน ได้ทยอยพบปะผู้บริหารองค์กรสมาชิกอีก 2 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 20  มีนาคม 2551  ในช่วงเช้าได้พบปะผู้บริหารหนังสือพิมพ์เครือบางกอกโพสต์ นำทีมโดยคุณพิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการอำนวยการ พร้อมด้วยคุณพัฒนะพงศ์ จันทรานนทวงศ์ บก.บห.   จากนั้นเดินทางไปสำนักงานหนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยมีคุณผรณเดช พูนศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กับคุณปริญญา ช้างเสวก บก.บห. พร้อมคณะ ให้การต้อนรับและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต่อด้วยการเข้าพบปะกับคณะผู้บริหารของค่ายสยามสปอร์ต ซินดิเคตฯ ชุดใหญ่ นำทีมโดยคุณระวิ โหลทอง ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา คุณวิลักษณ์ โหลทอง ประธานกรรมการบริหาร เป็นต้น

ถัดมาในวันที่ 22 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็ได้เดินทางพบปะองค์กรสมาชิกเป็นครั้งที่สาม โดยรอบนี้พบปะกับผู้บริหารของหนังสือพิมพ์ซินเสียนเยอะเป้า นำโดยคุณเนตรา ฤทัยยานนท์ กรรมการผู้จัดการ และคุณทวี ยอดเพชร บก.บห. จากนั้นได้เดินทางไปยังสำนักงานแห่งใหม่ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และได้สนทนากับทีมผู้บริหาร ประกอบด้วยคุณชัชวาล คงอุดม คอลัมนิสต์กิตติมศักดิ์ คุณกฤตพล คงอุดม กรรมการผู้จัดการ คุณวิโรจน์ วัฒนธาดากุล บก.บห.เป็นต้น  ปิดท้ายการสัญจรรอบนี้ด้วยการเดินทางไปพบปะผู้บริหารหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ โดยมีคุณสมบูรณ์ อิชยาวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมผู้บริหารกองบก.โดยคุณสุนทร กุลวัฒนวรพงศ์ บก.บห. นำตัวแทนผู้บริหาร มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจหลายประการ

การพบปะองค์กรสมาชิกดังกล่าวเพื่อรายงานการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นคณะกรรมการสมัยที่ 5 พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรสมาชิก เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำงานในช่วงที่เหลือในอีก 1 ปีตามวาระ ซึ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างกันยิ่งขึ้น รวมทั้งมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์หลายประการ อาทิ เสนอให้มีหลักสูตรกลางสำหรับนักข่าวใหม่ การเร่งสร้างความเข้าใจและยอมรับบัตรประจำตัวนักข่าวของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  การประสานงานที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกับหนังสือพิมพ์ต้นสังกัด กรณีการสอบสวนข้อร้องเรียน  ซึ่งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะได้นำไปดำเนินการโดยเร็วที่สุดต่อไป

post01.jpgsiamrath_resize.jpg

. เยี่ยมคณะผู้บริหารค่าย “บางกอกโพสต์”       . พบปะคณะผู้บริหาร “สยามรัฐ”

siamsport.jpgnaewnar.jpg

. เต็มแผงกับคณะผู้บริหารเครือ “สยามสปอร์ต”  . อบอุ่นกับคณะผู้บริหารแนวหน้า

a.jpg

รับข้อเสนอหลากหลายจาก “โลกวันนี้”

{mospagebreak } page1 of 2

“ไทยรัฐ”หนุน”การอ่านนสพ.ในโรงเรียน”
ปีนี้ขยายวงจัดในต่างจังหวัดทั่วประเทศ


เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสถาบันอิศรา ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ”สัปดาห์ส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1” ขึ้น โดยมีคณะครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จาก สำนักงานเขตการศึกษาละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 50 คนจากทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมมนากับทีมวิทยากร ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกของโครงการในปีนี้ nie 51.jpg

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนโดยสมาคมหนังสือพิมพ์โลก (WAN) และบริษัท Norske Skog (ประเทศไทย) เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสนใจการอ่านหนังสือพิมพ์ และมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ผ่านการใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยในปีที่ผ่านมามีหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเป็นผู้สนับสนุน และจัดโครงการร่วมกับข้าราชการครูสังกัดกรุงเทพมหานคร

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันอิศรา เปิดเผยว่า ในปีนี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเสนอตัวเป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ และขยายไปสู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน โดยกระจายไปตามสำนักงานเขตการศึกษาต่าง ๆ ที่จะได้รับเลือกมาเขตละ 1 โรงเรียน โรงเรียนละหนึ่งห้อง รวมทั้งสิ้น 50 โรงเรียน

ทั้งนี้มีวิธีดำเนินการคือ คณะวิทยากรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมหนังสือพิมพ์โลก จัดส่งผู้เชี่ยวชาญโครงการนี้มาเป็นวิทยากร เพื่อจัดสัมมนาให้แก่คณะครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการ ถึงเทคนิควิธีการการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของหนังสือพิมพ์มาเป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งทีมวิทยากรจะมีเทคนิคที่หลากหลายมากกว่าการให้นักเรียนไปอ่านข่าวแล้วมาเล่าเรื่องราวสรุปเนื้อหาให้ฟังในห้องเรียน ซึ่งขั้นตอนนี้ดำเนินการไปแล้วในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา

เมื่อถึงวันที่กำหนดให้เป็นสัปดาห์ส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ จะจัดส่งหนังสือพิมพ์ให้นักเรียนห้องที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการตลอดทั้งสัปดาห์ โดยเฉลี่ยห้องละ 35-40 ฉบับตามจำนวนนักเรียน และครบทั้ง 50 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ รวมเป็นวันละประมาณ 1,750-2,000 ฉบับ หรือ 8,750-10,000 ฉบับตลอดสัปดาห์ เพื่อเป็นอุปกรณ์ประกอบกิจกรรมตามแผนงานที่ครูได้รับการอบรมมา ซึ่งกิจกรรมในขั้นตอนนี้จะดำเนินการในเร็ว ๆ นี้หลังจากเปิดเทอมแล้ว และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะประชุมคณะครูอีกครั้งเพื่อประเมินผล

“ผลที่เกิดขึ้นในโครงการปีที่แล้วครูที่เข้าร่วมโครงการแจ้งว่า นักเรียนในชั้นเรียนมีความสนใจการอ่านหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้น และเรียกร้องขออ่านหนังสือพิมพ์คมชัดลึกที่ตนเองคุ้นเคยและได้สัมผัสตลอดหนึ่งสัปดาห์ของโครงการ และช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการอ่านของนักเรียนได้อย่างดี โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมและสร้างฐานคนอ่านหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ได้”นายชวรงค์กล่าวในตอนท้าย

{mospagebreak } page1 of 2

แถลงการณ์ร่วมเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก


เนื่องจาก องค์การยูเนสโกหรือองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้ประชาชนของทุกประเทศได้ร่วมกันความสำคัญของการที่สื่อมวลชนจะต้องมีเสรีภาพ ซึ่งย่อมหมายถึงการที่ประชาชนจะมีเสรีภาพด้วย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนดังกล่าว พร้อมทั้งขอเรียกร้องรัฐบาลไทยและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่งเสริมหรือจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนดังนี้
1. แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จะมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนไว้อย่างชัดเจน แต่ภายใต้รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีกลับมีบรรยากาศของการ “คุกคาม บิดเบือน ชวนทะเลาะ” ต่อสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นการคุกคามรูปแบบใหม่ด้วยคำพูดที่ก้าวร้าว หยาบคาย การตอบโต้การทำหน้าที่สื่อมวลชนผ่านสื่อของรัฐโดยเฉพาะในรายการสนทนาประสาสมัคร ที่มักโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมทั้งการชวนทะเลาะ กับสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ รายการบางรายการของวิทยุและโทรทัศน์ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งสวนทางกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าคนในวิชาชีพสื่อมวลชนจะมีความเข้าใจในพฤติกรรมของนายกรัฐมตรีคนนี้ที่มีปัญหากับสื่อมวลชนมาตลอดกว่า 30 ปีแต่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีผู้นี้ ยังคงมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการลดความน่าเชื่อของสื่อมวลชน และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่เป็นปัญหาของประเทศ ที่สำคัญเมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะใช้สื่อของรัฐตอบโต้สื่อเอกชน เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนย่อมถูกสั่นคลอน และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น                 องค์กรวิชาชีพสื่อ เห็นว่าพฤติกรรมการสื่อสารของนายสมัคร สุนทรเวช แสดงออกถึงความเพิกเฉย ไม่สนใจ มองไม่เห็นคุณค่าของสื่อในสังคมประชาธิปไตย ด้วยการไม่เคารพศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสื่อ

2. จากกรณีที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะจัดระเบียบสื่อของรัฐ วิทยุกระจายเสียง  และวิทยุโทรทัศน์โดยได้ใช้อำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงสื่อที่อยู่ภายใต้สังกัดของกรม
ประชาสัมพันธ์  กดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน อสมท. และล่าสุดได้จัดโครงการทดลองพัฒนาความร่วมมือ
ระหว่างภาครัฐและวิทยุชุมชนขึ้น โดยเสนอว่าจะเจรจากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ละเว้นการจับกุมสถานีวิทยุชุมชนที่จัดสรรเวลาออกอากาศแก่รายการของรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ บีบบังคับทางอ้อมให้สถานีวิทยุชุมชนเข้ามาเป็นพวกพ้อง เพื่อรายงานข่าวของรัฐบาลเป็นหลัก กีดกันผู้มีความเห็นที่แตกต่างและปฏิเสธความหลากหลายของสื่อ ทั้งการต่อรองว่าจะไม่จับกุมนั้นก็หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 เพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มากำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อแก้ปัญหาวิทยุชุมชนโดยเร็ว  และหยุดพฤติกรรมประวิงเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 โดยมีเจตนาแอบแฝง เพื่อให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลต่อไป

3. ตลอดช่วงเวลาหลายปีนักการเมือง ผู้มีอำนาจรัฐและข้าราชการชั้นสูง ได้ใช้กลไกทางกฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือในการปิดกั้น สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเพื่อมิให้ทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ แต่ในขณะนี้ปรากฎว่ามีกลุ่มบริษัทเอกชนไทยและบริษัทข้ามชาติใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือเช่นกัน  พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายทางแพ่งทั้งรวมเป็นมูลค่าสูงนับพันล้านบาท แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการค่าชดเชย แต่มุ่งหวังให้หยุดการนำเสนอข่าวการกระทำเช่นนี้ เป็นการใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงขอเรียกร้องให้บุคคลและองค์กรต่างๆ ทั้งนักการเมือง และองค์กรธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ยุติการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนดังกล่าว

เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันเจตนารมณ์ในการสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก อันเป็นเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก เราเชื่อว่า การกระทำใดๆที่ขัดขวางเสรีภาพการแสดงออก ย่อมได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างแน่นอน หากการแสดงออกนั้นอยู่ในขอบเขตของกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงามของปวงชนชาวไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.tja.or.th

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย www.thaibja.org

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.ctj.in.th

3 พฤษภาคม 2551

{mospagebreak } page1 of 2

ยืดอกพกบัตร
นักข่าวสมาชิกสภาการฯ พร้อมแสดงตน ยืดมั่นจริยธรรมแห่งวิชาชีพ


ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ได้รายงานที่ประชุมถึงการเดินทางไปเยี่ยมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้บริหารองค์กรสมาชิกครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตัวแทนคณะผู้บริหารหนังสือพิมพ์โลกวันนี้เร่งรัดให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดทำบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวให้ทั่วถึง และเร่งสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นแก่หน่วยงานต่าง ๆ โดยเร็ว เพราะนักข่าวประสบปัญหาในการเข้าไปปฏิบัติงานในบางพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ รวมทั้งการเข้าพื้นที่เพื่อรายงานข่าวงานพระราชพิธีในส่วนภูมิภาค

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเห็นพ้องกันว่าต้องเร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยราชการต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ออกบัตรเพื่อยืนยันตัวผู้สื่อข่าว แต่เวลานี้พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้แล้ว ตำรวจสันติบาลพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่จะอนุมัติหัวหนังสือพิมพ์ เปลี่ยนเป็นให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยรับจดแจ้งการพิมพ์แทนแล้ว บัตรประจำตัวนักข่าวของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ออกให้แก่ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ในสังกัดสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ซึ่งมีการกำกับดูแลอย่างดี ระบบตรวจสอบที่รัดกุม โดยมีการลงนามร่วมของประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ที่ผู้สื่อข่าวนั้นสังกัดอยู่ รวมทั้งมีฐานข้อมูลที่สามารถเข้ามาตรวจยืนยันฐานข้อมูลผู้สื่อข่าวในเว็บไซต์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ตลอดเวลาอีกด้วย จึงสามารถใช้แสดงเพื่อยืนยันตัวบุคคลและสังกัดของผู้สื่อข่าวนั้นได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะได้เร่งทำหนังสือแจ้งการออกบัตรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติให้แก่นักข่าวในสังกัดองค์กรสมาชิก เพื่อทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ  ต่อไป

นอกจากนี้แล้ว ในการไปพบปะผู้บริหารองค์กรสมาชิก ได้มีผู้หยิบปัญหาการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ หรือความประพฤติของนักข่าว ที่รายงานข่าวหวือหวา หรือข่าวซุบซิบแนวปาปารัสซี่ที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของคนอื่น   แต่สังคมเหมารวมว่าเป็นภาพลักษณ์ทางลบของวงการหนังสือพิมพ์ไปทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มิใช่สมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงไม่สามารถไปกำกับดูแลได้โดยตรง แต่การมีบัตรประจำตัวนักข่าวสภาการหนังสือพิมพ์ฯ และส่งเสริมให้สังคมเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติม ในการขอตรวจสอบบัตรเพื่อยืนยันสังกัดของหนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวาง  จะช่วยลดการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ให้น้อยลง

บัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

c.jpg

1.คืออะไร

คือบัตรประจำตัวที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกให้เฉพาะแก่ผู้สื่อข่าวหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติงานข่าว ในสังกัดหนังสือพิมพ์ที่เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 46 ฉบับ/เครือ (บางเครือมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ)
บัตรนี้มีอายุ 2 ปี

2.ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

สำหรับนักข่าวผู้ถือบัตร สามารถใช้บัตรนี้ในการแสดงตน เพื่อยืนยันสังกัด และใช้ประกันตัวกับพนักงานสอบสวนในกรณีถูกฟ้องหมิ่นประมาท
สำหรับหน่วยราชการ สถาบัน องค์กร หรือบุคคลทั่วไป สามารถขอตรวจสอบบัตรผู้ที่มาติดต่อ หรืออ้างตนเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ที่สังกัดสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และตรวจทานย้อนกลับเพื่อยืนยันความถูกต้องจากฐานข้อมูลผู้สื่อข่าวได้ที่ www.presscouncil.or.th ตลอดเวลา


3.ใครจะขอมีได้บ้าง

ผู้จะขอออกบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานข่าวของหนังสือพิมพ์ที่เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยต้องมีหนังสือรับรองมาจากบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์นั้น ๆ  และบนบัตรจะมีประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ลงนามร่วมกับบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ที่ผู้สื่อข่าวสังกัดอยู่ จึงเป็นการตรวจสอบควบคุมร่วมกันของสององค์กร

สำหรับการขอมีบัตรประจำตัวนักข่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รอบแรกของปีนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะเปิดรับคำขอโดยมีหนังสือรับรองจากบรรณาธิการบริหารต้นสังกัด ภายในเดือนพฤษภาคมนี้เท่านั้น จากนั้นจึงจะเปิดรับอีกครั้งในช่วงปลายปี

{mospagebreak } page1 of 2

สภาการหนังสือพิมพ์ฯหนุนสมาคมวิชาชีพสื่อ
เคลื่อนไหวค้าน”ทุน-รัฐ”ใช้เล่ห์ปิดปากสื่อ


เมื่อวันที่ 24 เมษายน  2551   ที่ห้องประชุม 1   ชั้น 2   อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ชุดที่ 5 ครั้งที่ 4/2551 โดยมีคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง รวมทั้งนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร และนางบัญญัติ ทัศนียะเวช ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้าร่วมให้ความคิดเห็นด้วย โดยก่อนเข้าสู่วาระปกติ ที่ประชุมได้หยิบยกความเคลื่อนไหวที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของวงการวิชาชีพสื่อขึ้นมาหารือ เนื่องจากขณะนี้ปรากฏมีการแทรกแซงกดดันหลายรูปแบบทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อปิดปากสื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ ในการเสนอข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับรู้อย่างทั่วถึงและรอบด้าน ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้องได้ประชุมปรึกษาหารือและแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

โดยในกรณีแรก นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล จัดโครงการทดลองพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและวิทยุชุมชนขึ้น โดยมีข้อเสนอในลักษณะแบ่งแยกและหมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมายนั้น สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ค้านจักรภพ จัดระเบียบวิทยุชุมชน โดยดึงเข้าร่วมโครงการรัฐเพื่อต่อรองไม่จับกุม ชี้กำลังทำผิดกฎหมาย” เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา โดยชี้ว่า การเสนอจะเจรจาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ละเว้นการจับกุมสถานีวิทยุชุมชนที่จัดสรรเวลาออกอากาศแก่รายการของรัฐบาล เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพราะเท่ากับบีบบังคับทางอ้อมให้สถานีวิทยุชุมชนเข้ามาเป็นพวกพ้อง เพื่อรายงานข่าวของรัฐบาลเป็นหลัก กีดกันผู้เห็นต่างและปฏิเสธความหลากหลาย ทั้งการต่อรองจะไม่จับกุมนั้นก็หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ควรเร่งแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 เพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มากำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อแก้ปัญหาวิทยุชุมชนโดยเร็วดีกว่า

กรณีที่สอง บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เจ้าของธุรกิจค้าปลีกยักษ์ในนามเทสโก้ โลตัส  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้สื่อข่าว คอลัมนิสต์ และรองเลขาธิการหอการค้าไทย ข้อหาละเมิดหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่ารวมกันถึง 1,200 ล้านบาท ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมหารือกันแล้ว เห็นว่าการฟ้องร้องของกลุ่มธุรกิจเทสโก้โลตัส มิใช่การใช้สิทธิทางกฎหมายโดยสุจริตเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหาย  แต่มุ่งหวังให้หยุดการรายงานข่าวการขยายธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยและสังคม ซึ่งเป็นการใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน เพื่อมิให้ทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ

หลังจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมมีมติสนับสนุนการดำเนินการของ 2 สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนดังกล่าวข้างต้น เพื่อปกป้องสิทธิการแสดงออก และการวิพากษ์วิจารณ์ตามกรอบรัฐธรรมนูญต่อไป
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวในลักษณะที่ส่อเค้าว่า มีความพยายามที่จะเข้ามาชี้นำ บิดเบือน แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้มีการพิจารณาสถานการณ์นี้เช่นกัน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมปกตินายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เสนอให้ที่ประชุมหยิบยกกรณีการดำเนินการของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาหารือเป็นวาระพิเศษ

จากนั้นนายประสงค์    เลิศรัตนวิสุทธิ์ อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย    และนายศุภชัย กฤตผลชัย  อุปนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมกรรมการบริหารทั้ง 2 สมาคม ได้รายงานที่ประชุมว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ คณะกรรมการของ  2  สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนได้ประชุมด่วนเพื่อร่วมกันพิจารณา   กรณีที่นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   แสดงพฤติกรรมข่มขู่คาดโทษและสั่งตั้งกรรมการสอบกรรมการผู้อำนวยการ  บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) และสั่งการให้ยึดคลื่นวิทยุ 5 สถานี  ในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์คืนจากภาคเอกชนที่รับสัมปทานนั้น อาจเข้าข่ายการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  และส่อเจตนาถึงการคุกคาม แทรกแซง และครอบงำการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ผู้แทนสมาคมวิชาชีพสื่อกล่าวด้วยว่า แม้ว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลหน่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ของรัฐ แต่ก็มีขอบเขตอำนาจหน้าที่เพียงการกำกับดูแลเชิงนโยบายในภาพรวม ส่วนการดำเนินการในรายละเอียดเป็นอำนาจหน้าที่ของข้าราชการประจำหรือหน่วยงานผู้ปฏิบัติที่จะรับนโยบายไปดำเนินการ อีกทั้งในกรณีของบมจ.อสมท นั้น เป็นกิจการในตลาดหลักทรัพย์ มีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำกับดูแลการบริหารให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ การที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กรรมการผู้อำนวยการบมจ.อสมท พิจารณาตัวเอง หรือสั่งล่วงหน้าให้คณะกรรมการบริษัทฯ เปลี่ยนแปลงตัวผู้อำนวยการใหญ่ เป็นการเข้าแทรกแซงก้าวก่ายให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจพ้นจากตำแหน่งทั้งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ ยึดคลื่นสถานีวิทยุมาบริหารเองและเรียกบริษัทเอกชนที่เช่าคลื่นมาพบด้วยตนเองนั้น  น่าจะเป็นการใช้สถานะความเป็นรัฐมนตรีก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ซึ่งพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนี้ อาจทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามมาตรา 182 วรรค 7 ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติโดยสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามารถดำเนินการยื่นเรื่องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง จากนั้นมีมติสนับสนุนการดำเนินการของทั้ง 2 สมาคมวิชาชีพสื่อ ในการดำเนินการใด ๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

{mospagebreak } page1 of 2

สภาการนสพ.ยกคำร้อง”ซ้อเจ็ด”ใช้ภาษาหวาดเสียว
ชี้ข้อบังคับใหม่ไม่คลุมเนื้อหาอื่นบนเว็บหนังสือพิมพ์


เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์  2551 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ได้มีการประชุมของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 5 ครั้งที่ 2/2551  โดยมีนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธาน ซึ่งมีวาระเพื่อพิจารณาที่น่าสนใจคือ กรณีผู้ใช้นามปากกา”หญิงไทย” ร้องเรียนการนำเสนอคอลัมน์ของ”ซ้อเจ็ด” หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พิจารณาแล้วมีมติให้ยกคำร้อง โดยมีความเห็นตามที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการทักท้วงมา ว่าคอลัมน์”ซ้อเจ็ด”เผยแพร่เฉพาะบนเซ็บไซต์ ไม่ได้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และเซ็บไซต์กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการไม่ใช่บริษัทเดียวกัน

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รายงานความเป็นมาการสอบสวนกรณีนี้เพิ่มเติมว่า ผู้ใช้นามปากกาว่า”หญิงไทย”ส่งหนังสือร้องเรียนมายังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ถึงการใช้ภาษาของ”ซ้อเจ็ด” ว่ามีลักษณะล่อแหลมสองแง่สองง่าม แม้จะไม่ได้ใช้ชื่อจริงแต่หากอนุกรรมการฯเห็นว่ามีสาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมกันเองในเชิงจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ ก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ 21(2)  อีกทั้ง อนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ เห็นว่า ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 ซึ่งได้ขยายนิยามคำว่า หนังสือพิมพ์ ให้หมายถึง “สิ่งพิมพ์ หรือการทำให้ปรากฏเป็นตัวอักษรหรือภาพ เพื่อสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นใดของสิ่งพิมพ์นั้น…”  เพื่อขยายการควบคุมดูแลไปถึงเนื้อหาข่าวที่นำไปเผยแพร่ทางเว็บไซต์หรือในรูปแบบอื่นใด ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่  จึงรับเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการ

ในเรื่องนี้ ทางฝ่ายผู้ถูกร้องเรียนคือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการชี้แจงว่า ซ้อเจ็ดไม่ได้เป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ อีกทั้งผู้จัดการออนไลน์ดำเนินการโดยอีกนิติบุคคลหนึ่งแยกต่างหากจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จึงมิได้เกี่ยวข้องกัน เพียงแต่ผู้จัดการออนไลน์นำเนื้อหาข่าวบนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาลงเผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ โดยที่บนเว็บไซต์มีเนื้อหาอื่นที่ไม่ปรากฏบนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รวมทั้งคอลัมน์ของซ้อเจ็ดที่ถูกร้องเรียนด้วย

เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เผยอีกว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ จึงย้อนกลับมาตรวจสอบประเด็นอำนาจหน้าที่ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า สามารถพิจารณาเรื่องร้องเรียนบนอินเตอร์เน็ตได้หรือไม่ โดยกลับไปตรวจบันทึกการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2540 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2548 ก็พบว่ากรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหลายท่านอภิปรายแสดงเจตนารมณ์ไว้และเป็นมติคือ ให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ดูแลครอบคลุมไปถึงเว็บไซต์เฉพาะเนื้อหาที่ถูกตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วนำไปเผยแพร่ทางเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงข้อความ บทความ คอลัมน์อื่นที่เผยแพร่เฉพาะทางเว็บไซต์  คณะอนุกรรมการฯจึงเห็นว่า เรื่องร้องเรียนนี้อยู่นอกเหนืออำนาจที่คณะอนุกรรมการฯจะพิจารณาได้ จึงมีมติให้ยกคำร้องในเรื่องนี้

จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีความกังวลว่า ปัจจุบันสื่อทางอินเตอร์เนตมีหลากหลายมาก และหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับมีการนำเนื้อหาไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ และไม่ได้แยกแยะว่าเป็นส่วนที่อยู่อำนาจหน้าที่กำกับดูแลของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหรือไม่ แต่จะเห็นว่าเป็นขององค์กรเดียวกันไปทั้งหมด โดยมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรสมาชิกในหลายระดับ มิใช่เฉพาะเรื่องร้องเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงการบอกกล่าวเสียงสะท้อนของสังคมถึงความประพฤติหรือการปฏิบัติของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรสมาชิกที่มีเข้ามาด้วย  จากนั้นในตอนท้ายที่ประชุมมีมติเห็นชอบยกคำร้องกรณีการร้องเรียนคอลัมน์ซ้อเจ็ด และมอบหมายอนุกรรมการฝ่ายวิชาการไปศึกษาทบทวนนิยามคำว่า “การสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นใด” มีขอบเขตครอบคลุมเพียงใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

[/wptab]

[end_wptabset]