หยุดคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าว

แถลงการณ์ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เรื่อง หยุดคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าว

กรณีนายณัฐพร วีระนันท์ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศราได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องหอพัก ที่ หจก.สมถวิล เรียลเอสเตรท ตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 32 ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร กทม. ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 ส.ค. 2560  เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหอพัก ในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หลังถูก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ทั้งนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรายงานข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและรอบด้านตามหลักวิชาชีพ

จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นอาคารที่พักอาศัยให้เช่า ชื่อ “เก๋ไก๋ อพาร์ตเมนต์” โดยผู้สื่อข่าวได้แสดงตนและขอสัมภาษณ์นางสมถวิล ไม่ทราบนามสกุล เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในการทำธุรกิจ ปรากฏว่าในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวผู้สื่อข่าวมาที่ สน.พหลโยธิน พร้อมกับแจ้งข้อหาบุกรุกสถานที่และยึดโทรศัพท์มือถือไว้ โดยให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติอาชญากร และควบคุมตัวไว้ในห้องขัง ก่อนที่จะให้ประกันตัวในวงเงิน 15,000 บาท

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ เห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีลักษณะเป็นการใช้กฎหมายเพื่อข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งได้ปฏิบัติตามหน้าที่ ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ได้แสดงตนและสังกัดชัดเจน โดยขอสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อมูลในประเด็นที่เป็นข่าว ไม่ได้เข้าไปในจุดห้ามเข้า ไม่ได้ทำลายเครื่องกีดขวาง หรือรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือประสงค์ต่อทรัพย์อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกแต่อย่างใด ขณะที่คนดูแลอาคารดังกล่าวได้แจ้งว่าให้รอในพื้นที่ก่อน ผู้สื่อข่าวจึงได้รอในบริเวณนั้น ซึ่งต่อมาตำรวจ สน.พหลโยธิน ได้เชิญตัวไปที่โรงพักพร้อมกับมีการแจ้งความข้อหาบุกรุกสถานที่

ฝ่ายสิทธิฯ สมาคมนักข่าวฯ เห็นว่า กรณีผู้สื่อข่าวเข้าไปสอบถามผู้ดูแลสถานที่ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปมาเช่าพัก ไม่ใช่การกระทำความผิดฐานบุกรุก ดังนั้นการตั้งข้อหานี้จึงไม่มีความชอบธรรมและเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางการประกอบวิชาชีพของผู้สื่อข่าวโดยใช้กระบวนการยุติธรรมขั้นต้นเป็นเครื่องมือ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจในการยึดโทรศัพท์ของผู้สื่อข่าวเพื่อดูข้อมูลภายในยังเป็นการละเมิดสิทธิ และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง ยัดข้อหาให้กับผู้สื่อข่าว อีกทั้งการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความดำเนินคดี ทั้งที่ไม่มีความชัดเจนในความผิด และบีบบังคับให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปในที่คุมขัง ถือเป็นพฤติการณ์กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำให้สูญเสียเสรีภาพ หรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยังเป็นการคุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน

ฝ่ายสิทธิฯ สมาคมนักข่าวฯ  เห็นว่า  ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเดินหน้าปฏิรูปตำรวจเพื่อให้ตำรวจเป็นของประชาชน ไม่ใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด  แต่สิ่งที่เกิดขึ้น หรือกรณีก่อนหน้านี้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจออกหมายเรียก      นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที พิธีกรรายการ “สภากาแฟ สภาประชาชน” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม นิวส์วัน (เอเอสทีวี) ที่ตรวจสอบการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ เพื่อหวังปิดปากสื่อไม่ให้ทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงไปสู่สังคม ซึ่งมิควรเกิดขึ้นแล้วในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจักต้องผดุงความยุติธรรมให้กับสังคม มิใช่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ

ฝ่ายสิทธิฯ สมาคมนักข่าวฯ ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการสอบสวนคดีที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และมีลักษณะเป็นการรับใช้ผู้มีอำนาจในคดีนี้โดยพลัน

 

ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

10 สิงหาคม 2560