หลอมรวมใจ..ก้าวไปข้างหน้า

หลอมรวมใจ..ก้าวไปข้างหน้า

ศักดิ์สิทธิ์ วิบูลย์ศิลป์โสภณ

บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ จังหวัดเพชรบุรี

สิ่งที่คาดหวังของสื่อมวลชนภูมิภาคที่เป็นองค์กรสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมาแต่เดิม คือโอกาสที่จะได้ร่วมก้าวไปพร้อมกับสื่อมวลชนส่วนกลางที่เป็นองค์กรสมาชิกเดิมและที่เข้ามาใหม่ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่สังคมและประเทศชาติ ปกป้องสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อภายใต้กรอบจริยธรรมอย่างเต็มความสามารถ ที่สำคัญคือความสามัคคีขององค์กรสื่อมวลชน

         ในฐานะคนดำรงชีพอยู่กับการทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “เพชรภูมิ” ใน จ. เพชรบุรี ต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี รักและ ผูกพันการทำหนังสือพิมพ์ด้วยจิตวิญญาณ มิใช่เพื่อเงินหรือรายได้เยียวยาชีวิต แต่ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจเพื่อต้องการเสนอความเคลื่อนไหวในสังคม สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในรูปแบบข่าว บทความ และบทวิเคราะห์แง่มุมต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา มุ่งหมายให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมของท้องถิ่น

         เหน็ดเหนื่อยแต่ไม่เคยท้อแท้ แม้ยามเจ็บป่วยก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่พร้อมทีมงานให้สำเร็จลุล่วง รู้สึกดีใจที่หนังสือพิมพ์ดำรงอยู่ได้ด้วยความเมตตาของผู้อ่านที่ทวีจำนวนมากขึ้นมาตามลำดับภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตผลงานพร้อม ๆ กับผู้บริหารสำนักพิมพ์ – เพื่อนทุกองคาพยพในองค์กรเดียวกัน และเพื่อนสื่อมวลชนในจังหวัดเดียวกัน

         ยืนหยัดอย่างอดทนและซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพจนสามารถเห็นความเจริญรุ่งเรืองของกิจการงานสิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ในตลอดห้วงเวลากว่า 30 ปีภายใต้ร่มเงา บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด หอมกลิ่นสาบหมึก หอมกลิ่นกระดาษ คุ้นกับเสียงแท่นพิมพ์ และได้เห็นความเคลื่อนไหวของผู้ร่วมงานทุกฝ่ายทุกแผนกกว่า 40 – 50 ชีวิตที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวทุกวันจนชินตา

         ด้วยสโลแกน “คุณภาพคือความอยู่รอด” ที่ นายปริญญา สุนทรวาทะ กรรมการผู้จัดการบริษัทเพชรภูมิการพิมพ์ฯ ได้รังสรรค์ไว้

          ถึงวันนี้จึงรู้สึกใจหายเมื่อกระแสสื่อยุคใหม่ที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อดิจิทัลออนไลน์ที่ลงทุนน้อย แต่สามารถแพร่กระจายข่าวได้รวดเร็วทันใจ สื่อสารกันได้ทันควัน เชื่อมโยงไปยังทุกมุมโลกภายในเสี้ยวนาที และกำลังถาโถมเข้ามา
กลบกลืนสื่อกระดาษ (หนังสือพิมพ์) ชนิดตั้งตัวกันแทบไม่ทัน

          หนังสือพิมพ์ชื่อดังหลายฉบับในส่วนกลางต้องปิดกิจการ ขณะที่หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดได้ล้มหายตายจากไปจำนวนมากเนื่องจากต้นทุนการผลิตสื่อในรูปแบบกระดาษสูงกว่าสื่อสมัยใหม่ในยุคนี้หลายเท่า ผู้อุปถัมภ์ด้านโฆษณา (สปอนเซอร์) ที่มีส่วนทำให้หนังสือพิมพ์อยู่รอดก็ค่อย ๆ ทยอยถอนตัวออกทีละเจ้าสองเจ้า และหันไปใช้บริการสื่อดิจิทัลในระบบออนไลน์ที่ตอบสนองได้เร็วกว่า แพร่หลายกว่า และมีรายจ่ายน้อยกว่า

         อย่างไรก็ตาม สื่อของสำนักพิมพ์ใหญ่หลายสำนักทั้งในส่วนกลาง และ ภูมิภาคที่สามารถปรับตัวได้ทัน ก็พ่วงเอาสื่อดิจิทัลออนไลน์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานข่าวด้วย และสามารถหารายได้ในเชิงเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าของธุรกิจที่เป็นสปอนเซอร์และผู้อ่านได้ในระดับหนึ่ง ในทำนอง “ขายเหล้าพ่วงเบียร์” และหากสื่อหนังสือพิมพ์สำนักใดที่มีกิจการสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ เคเบิ้ลทีวี อยู่ในมือด้วย ก็สามารถควบรวมธุรกิจด้านโฆษณาในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการได้มากขึ้น นอกเหนือจากสื่อดิจิทัลที่เป็นน้องใหม่มาแรง

          สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่มีผู้บริหารกิจการหนังสือพิมพ์ อันประกอบด้วยเจ้าของ บรรณาธิการ หัวหน้ากองบรรณาธิการ ผู้มีอำนาจทำการแทนของหนังสือพิมพ์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 และมีคณะผู้บริหารสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมาแล้วถึง 9 สมัย นับได้ว่าเป็นองค์กรนำที่มีบทบาทหลอมรวมความเป็นหนึ่งเดียวของสื่อส่วนกลางและสื่อภูมิภาคนานกว่า 20 ปี

         เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์และรวมถึงสื่อมวลชนอื่นที่มีหลากหลายในยุคปัจจุบัน   

         มีประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ที่เข้มแข็งมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ยืนหยัดในแนวทาง “ควบคุมกันเอง” โดยไม่ยินยอมให้ภาครัฐนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเข้ามาแทรกแซงหรือควบคุมการดำเนินกิจการสื่อหรือการทำงานข่าวในทุกภาคส่วน

         วันนี้เมื่อมีสื่อหลากหลายชนิดเกิดขึ้น โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลออนไลน์ที่แตกแขนงออกไปในรูปแพลทฟอร์มต่าง ๆ บ้างก็ยังเกี่ยวพ่วงกับสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีมาแต่เดิม บ้างก็เกิดขึ้นใหม่ แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต่างก็มีแนวทางของตัวเอง ย่อมน่าเป็นห่วงในเรื่องของการละเมิดกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับจริยธรรมที่มีความจำเป็นในฐานะของความเป็นสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นสื่อในรูปแบบใดก็ตาม

         เมื่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ภายใต้การนำของนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (ประธานฯ คนปัจจุบัน) และคณะกรรมการฯ ได้ดำริให้เปลี่ยนชื่อองค์กรจาก “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” เป็น “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสื่อในยุคใหม่ ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนภูมิภาคจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

         ขณะเดียวกันสื่อภูมิภาคต้องการให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติช่วยสนับสนุนด้านความรู้ความเข้าใจกระบวนการสื่อยุคใหม่ การต่อสู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่สื่อ การมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับสื่อส่วนกลางในโอกาสต่าง ๆ ที่ยังประโยชน์ต่อสื่อมวลชนในภูมิภาค และร่วมกันก้าวเดินไปพร้อมกันอย่างมีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของผู้ประกอบสัมมาชีพด้านสื่อสารมวลชน

         อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อหนังสือพิมพ์ในส่วนภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ยังมีสื่อหนังสือพิมพ์ในอีกหลายจังหวัดที่ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ แม้ยอดจำหน่ายและจำนวนผู้อุปถัมภ์(สปอนเซอร์)จะไม่กระเตื้องขึ้นกว่าเดิม แต่สังเกตได้ว่าบรรดาแฟนพันธุ์แท้ของผู้เสพสื่อหนังสือพิมพ์ในภูมิภาคส่วนหนึ่งยังคงเหนียวแน่นและให้การสนับสนุนสื่อกระดาษด้วยความเชื่อมั่น

         ตราบใดที่สื่อดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์ในแพลทฟอร์มต่าง ๆ ยังคงมีเสรีภาพในการนำเสนออย่างควบคุมไม่ได้ ข่าวบิดเบือน ข่าวปลอม (เฟกนิวส์) ข่าวใส่ร้าย ข่าวใส่ไข่ และข่าวหมิ่นประมาท ยังดำรงอยู่ ตรวจสอบได้บ้าง ตรวจสอบไม่ได้บ้าง กฎหมายและจริยธรรมของสื่อมวลชนไม่สามารถเอื้อมเข้าไปแตะต้องได้เต็มที่ ความน่าเชื่อถือของสื่อจำพวกนี้นับวันจะเสื่อมถอยไปเรื่อย ๆ

         ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์มี พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ รวมถึงกฎหมายหลายฉบับควบคุมอยู่ และนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวในสังคมเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ อย่างตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ เคารพต่ออาชีวปฏิญาณของงานสื่อสารมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์อย่างแท้จริง ย่อมได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่านอย่างไม่เสื่อมคลาย

         ตราบที่ผู้อ่านยังไม่สามารถเสพข่าวจากสื่อออนไลน์ได้อย่างสนิทใจ และนับวันหาความเชื่อถือไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ตราบนั้นสื่อหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ในส่วนภูมิภาคซึ่งหาเสพได้จากสื่อออนไลน์ได้น้อยอยู่แล้ว ย่อมเป็นสื่อที่ได้รับความเชื่อถือแน่นแฟ้นยาวนานยิ่งขึ้น

         ได้แต่หวังว่า กระแสนิยมการเสพสื่อกระดาษหรือสื่อหนังสือพิมพ์จะหวนคืนกลับมาสู่ความนิยมอีกในไม่ช้านี้ ซึ่งหลายประเทศก็กำลังมีแนวโน้มเช่นนั้น

         เชื่อว่าสักวันหนึ่งในอีกไม่ช้า แท่นพิมพ์ของสำนักพิมพ์บางแห่งที่กำลังเหงาหงอย อาจจะกลับมามีชีวิตชีวา นำพาทุกองคาพยพที่คร่ำอยู่กับงานสิ่งพิมพ์ให้สามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

         ผู้ประกอบวิชาชีพงานสิ่งพิมพ์หากยังมีความหวังและมั่นคงอยู่กับอาชีพอย่างยืนหยัดอดทน ไม่รีบหนีหายไปไหน และยิ่งหากกิจการสื่อหนังสือพิมพ์ภูมิภาคสามารถควบรวมกับสื่อดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์โดยยึดมั่นในอุดมการณ์และจริยธรรมของสื่อตามแนวทางของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้ เชื่อมั่นว่าสื่อหนังสือพิมพ์จะยังคงสามารถยืนหยัดต่อไปได้อีกยาวนาน

         “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”มีรากที่แข็งแรง มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นหลักยึดโยงมาสู่ยุคเปลี่ยนผ่านในชื่อใหม่ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ผู้โลดเต้นในบ้านหลังใหม่ชื่อใหม่นี้ล้วนมีประสบการณ์จากงานสื่อหนังสือพิมพ์ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดมาแล้วอย่างโชกโชน

          ยอมรับความเป็นไปของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง เสน่ห์ของสื่อ “หนังสือพิมพ์” จะดำรงอยู่ยาวนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแรงกายแรงใจและจิตวิญญาณของ “คนหนังสือพิมพ์” ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันมิให้
ล้มหายตายจาก 

อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม