สภาสื่อมวลชนในวิกฤตศรัทธาสื่อ
เมื่อประกาศต่อสังคมในชื่อ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” องค์กรวิชาชีพสื่อแห่งใหม่นี้ ก็จะมีหน้าที่กำกับ ดูแลด้านจริยธรรมของสื่อ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสำคัญที่สุด คือสื่อดิจิทัล สื่อใหม่ที่ทำให้ทัศนคติ ความคิด ความเห็น ความเข้าใจของสังคมเบี่ยงเบนไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “ทุกคนเป็นสื่อได้”
ในมหาสมุทรของข้อมูลข่าวสารยุคใหม่นั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งถูกผลิตโดยกลุ่มคนทั่วไป ซึ่งมีนัยสำคัญที่แตกต่างจาก นักข่าวพลเมือง หรือ Citizen journalism คือบุคคล ชุมชน หรือแม้กระทั่งนักข่าวอิสระ ที่ทำหน้าที่ผลิตเนื้อหาข่าว โดยยังคำนึงถึงหลักการการทำงานตามวิชาชีพ
คนที่ไม่ได้ยึดอาชีพสื่อเป็นหลัก และไม่ได้เป็นสมาชิก ธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ไม่เรียกว่าเป็น “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” แต่ก็เป็นประเด็นที่องค์กรวิชาชีพสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
รวมทั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะต้องสร้างความรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนผู้รับสารเข้าใจภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปเช่นนี้
ดังนั้น จุดมุ่งหมายของการมีอยู่ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จะต้องไปไกลกว่าสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คือต้องจัดระเบียบ สร้างความเข้าใจในการกำกับดูแลสื่อทั้งระบบ ในขณะเดียวกันแม้จะเป็นสื่อออนไลน์ หรือสื่อวิทยุ โทรทัศน์ในสังกัด หากมีการละเมิดจริยธรรม ผ่านกระบวนการสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายแล้ว จะต้องประกาศ เผยแพร่ คำวินิจฉัยและคำสั่งของสภาฯ อย่างชัดเจนต่อสาธารณะ ตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญข้อ ๘ (๓)
ข้อนี้ ถึงแม้ในธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หมวด ๕ ว่าด้วยความรับผิดทางจริยธรรม จะตราเป็นข้อกำหนดไว้ว่า เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในสังกัดสมาชิกละเมิดหรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพให้คณะกรรมการมีอำนาจตักเตือน หรือตำหนิ และเผยแพร่คำวินิจฉัยนั้นต่อสาธารณะ แต่ในทางปฎิบัติแทบจะไม่ได้ใช้การลงโทษเช่นนี้ต่อองค์กรสมาชิกเลย
แม้จะสนับสนุน การเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่เรียกได้ว่าเป็นเสาหลักในการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม เป็นประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ที่บรรดาผู้อาวุโสในแวดวงวิชาชีพสื่อไม่ว่าจะเป็นคุณมานิจ สุขสมจิตร อาจารย์พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร หรือคุณสุทธิชัย หยุ่น รวมทั้งท่านอื่นๆ ได้ร่วมกันต่อสู้กันมาเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาวิชาชีพ ที่ปลอดจากอำนาจ และตัวแทนรัฐ และเชื่อว่าภายใต้หลักการเดียวกันนี้ ท่านเหล่านั้นก็คงยินดีที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังคงรักษาความเป็นอิสระซึ่งเป็นหัวใจสำคัญไว้
ถึงกระนั้น เมื่อเรายังคงรักษากำแพงความเป็นอิสระ ไม่ให้อำนาจรัฐทลายลงได้ ก็จำเป็นจะต้องทบทวนบทบาท สร้างความแข็งแรง และใช้กลไกสำคัญในการกำกับดูแล กันเอง นั่นคือ “มาตรการทางสังคม” หรือ Social Sanction อย่างได้ผล เพราะนี่คือเครื่องมือชนิดเดียวที่ดีที่สุดในการกำกับเรื่องจริยธรรม ไม่ใช่การใช้กฎหมายบังคับ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฝ่ายอำนาจรัฐพยายามใช้กำกับสื่อตลอดมา ครั้งสุดท้ายคือความพยายามร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.)
ไม่เพียงการประกาศต่อสาธารณะ ยังต้องใช้มาตรการทางสังคมควบคู่กันไปด้วย เช่น การแสดงความไม่ยอมรับ ต่อต้าน คว่ำบาตร ในกรณีของสื่อมวลชน คือการที่ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร ไม่อ่าน ไม่ดู ไม่ฟังสื่อที่ละเมิดจริยธรรม หรือรวมตัวกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ในคราวที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น ยื่นหนังสือให้สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง แสดงจุดยืน กรณีที่พิธีกรรายการคนหนึ่งมีคดีความเกี่ยวกับการทุจริตรายได้ค่าโฆษณา โดยเรียกร้องให้เจ้าของกิจการ ใช้มาตรการทางสังคม ถอนโฆษณาในรายการนั้น
หรือการใช้มาตรการทางสังคม กดดันจนเจ้าของกิจการบางแห่ง ถอนโฆษณาจากสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เนื่องจากการรายงานข่าว การทำหน้าที่บนหน้าจอของพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างความคิดเห็น ทัศนคติส่วนตัว กับการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะ
เครื่องมือที่จะกระตุ้น และสร้างพลังผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งในการจัดการสื่อที่ละเมิดนี้ อาจทำผ่านกลไกคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ภายใต้คณะกรรมการจริยธรรม ซึ่งมีคุณสุภิญญา กลางณรงค์ เป็นประธาน
การมีอยู่ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมาจากการผลักดันของ คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี จากยุคของผม (พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๘) ที่มีความพยายามเช่นนี้เช่นกัน แต่ไม่สำเร็จ นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากยุคสื่อดั้งเดิม มาสู่ยุคดิจิทัล
แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะไม่มีความหมายเลย หากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ไม่มีความกล้าหาญในการจัดการสื่อที่ละเมิดจริยธรรมอย่างจริงจัง โปร่งใส ตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันองค์กรสมาชิกก็จะต้องตระหนักและยอมรับการนำของสภาฯ หาไม่แล้ว รัฐก็จะใช้อำนาจเข้ามาครอบงำ และจัดการให้สื่ออยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ด้วยข้ออ้างที่มีมาทุกยุคสมัย นั่นคือ “สื่อกำกับดูแลกันเองไม่ได้”