จักร์กฤษ เพิ่มพูล
อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
กรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ด้านกิจการสื่อสารมวลชน
คนในอาชีพสื่อมวลชน ถูกแรงเหวี่ยงจากโรคโควิด-19 ไม่น้อยไปกว่าคนในอาชีพอื่น ๆ ขนาดของความรุนแรงครั้งนี้มากยิ่งกว่าในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง หนักกว่าช่วงถดถอยของทีวีดิจิทัล ที่จาก 24 ช่อง เหลือเพียง 15 ช่อง มนุษย์เงินเดือนในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ถูกเลย์ออฟมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ปิดฉากความฝันเฟื่อง ของผู้ประกอบการสื่อบางราย ที่ขยายฐานจากธุรกิจสื่อหนังสือพิมพ์ โดยหวังว่า ทีวีดิจิทัลจะเป็นโอกาสในการฟื้นตัว ทำกำไร แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด จากช่องทีวีเดิมที่ผูกขาดมายาวนาน แต่ความจริงกลับแบกหนี้มหาศาล รายได้โฆษณาไม่เข้าเป้า จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องใช้มาตรา 44 ช่วยให้พ้นวิกฤต
ยุคทองในความฝัน ยังไม่ทันได้เกิดขึ้น ความตายก็มาถึงเสียก่อนแล้ว
ยังไม่นับถึงความพลิกผันในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ที่เคยคาดหวังกันว่า จะเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ รองรับผู้ที่จบมาทางด้านวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ที่ล้นเกินความต้องการในสื่อหนังสือพิมพ์ จากการไหลบ่าเข้ามาของสื่อออนไลน์ จนกระทั่งหลักสูตรด้านสื่อสารมวลชน ในหลายสถาบันการศึกษา ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่
การปรับตัวคือความอยู่รอด
ปรากฎการณ์ “โควิด-19” ครั้งนี้ มีนัยสำคัญที่แตกต่างจากวิกฤตครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านไป แล้วก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมา ธรรมชาติคัดกรองคนที่แข็งแรงยังคงทำงานในวิชาชีพสื่อได้ต่อไป คนที่อ่อนแอก็ออกจากอาชีพนี้ไป แต่ครั้งนี้ ความแข็งแรง ความฉลาดไม่ได้เป็นปัจจัยบวกอีกต่อไป
ชาร์ลส ดาร์วิน บอกว่า “ผู้ที่จะอยู่รอดได้ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นผู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด“
ความเปลี่ยนแปลง หลังโควิด-19 อาจเป็นความเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน นั่นคือ ทุกสรรพสิ่งเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ความไม่ปกติในวิถีชีวิตประจำวัน จะกลายเป็นเรื่องปกติ ชีวิตแบบใหม่ การหากินแบบใหม่ จะเข้ามาแทนที่วิถีชีวิตแบบเก่า
เราเรียกปรากฎการณ์เช่นนี้ว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) เป็นคำศัพท์ที่เคยใช้อธิบายปรากฎการณ์หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ ช่วงปี 2007 – 2009
คนในฝั่งยุโรป เคยเห็นว่าการสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องไม่สำคัญ นอกจากเป็นผู้ป่วย พวกเขายังคงแสดงความรักในที่สาธารณะ สัมผัสใกล้ชิดกันตามแบบวัฒนธรรมตะวันตก แต่จากนี้ คนยุโรป คนในฝั่งประเทศตะวันตก จะกลับมาสวมใส่หน้ากากอนามัย เป็นวิถีชีวิตปกติ และระมัดระวังในการใกล้ชิดกัน เพราะพวกเขาต่างก็ได้เห็นความตายตรงหน้าจำนวนมากมาย มากกว่าสงครามครั้งใดๆ
คนไทยเองก็ไม่ต่างกัน แต่ความตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายจากการไม่ป้องกันตนเอง สูงกว่าคนในแถบตะวันตก ตั้งแต่ช่วงฝุ่น pm 2.5 จนมาถึงช่วงโรคระบาด โควิด-19 พวกเขาต่างสวมใส่หน้ากากอนามัยจนกลายเป็นเรื่องปกติ
แม้ว่าการสวมใส่หน้ากากอนามัย จะกลายเป็นบทบังคับ ตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกอบกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว การสวมใส่หน้ากากอนามัย และการดูแลรักษาความสะอาด การล้างมือบ่อยๆ ยังจะกลายเป็นวิถีปฎิบัติต่อไป
พฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งนิยมใช้เวลานาน ๆ เดินจับจ่าย ซื้อของในห้างขนาดใหญ่ เป็นทั้งแหล่งช็อปปิ้งและพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย จะเปลี่ยนไป เป็นการเข้าไปซื้อสินค้าที่จำเป็นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ รวมทั้งอาหารการกิน ซึ่งเป็นวิถีในปัจจุบัน และมันจะกลายเป็นปกติ
นี่คือภาพอนาคตของสังคมไทย
คนดู ยอดไลค์ ยอดแชร์หรือความรับผิดชอบ
สำหรับคนในอาชีพสื่อมวลชน โควิด-19 เปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว จะเปลี่ยนวิถีใหม่จากการทำงานข่าว ด้วยการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งดูเป็นเรื่องไม่ปกติ จะกลายเป็นวิถีใหม่ที่เป็นปกติได้อย่างไร
การทำมาหากินที่ยากลำบากมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า คนทำสื่อจำเป็นต้องแย่งชิงพื้นที่ในการนำเสนอข่าว เพื่อจำนวนคนดู คนฟัง คนไลก์ คนแชร์มากขึ้น โดยคิดถึงแต่ข่าวที่ขายได้ และละเลยความรับผิดชอบ หรือจะยิ่งมีความรับผิดชอบ ด้วยเสียงสะท้อนของสังคมที่ต้องการข่าวคุณภาพ เชื่อถือได้
มาตรการเข้ม ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้คนในหลายอาชีพกลายเป็นคนตกงาน คนทำสื่อส่วนน้อยก็กลายเป็นคนว่างงาน เช่น การปิดตัวเองของ “คม ชัด ลึก” ฉบับพิมพ์ และ ER ของ “เดลินิวส์” ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาก่อนหน้านี้
ในขณะที่คนทำงานสื่อส่วนใหญ่ ก็ยังต้องเป็น “หนูถีบจักร” ทำงานเสี่ยงภัยต่อไป โดยไม่เห็นช่องทางที่จะแปรวิกฤตเป็นโอกาสเหมือนคนในบางอาชีพ
ในท่ามกลางซากปรักหักพัง ความสูญเสีย และแตกดับของบางอาชีพที่เคยเฟื่องฟู แต่ธุรกิจบริการ logistics ส่งอาหาร grab food, lineman, food panda เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ชิ้นโต ผ่าน Index ซื้อของผ่าน Lazada ยังไปต่อได้
คนในอาชีพสื่อ ก็ยังมีพื้นที่ที่จะทำงานต่อ แต่เขาจะทำงานบนพื้นที่สาธารณะต่อไปโดยอาจจำเป็นต้องตอบโจทย์คำถามที่ว่าไว้นั้นหรือไม่ นั่นคือ เพียงขายข่าว หรือฟังเสียงผู้รับสารมากขึ้นว่า แท้จริงความต้องการบริโภคข่าวสารของเขานั้นคืออะไร
ในแง่เนื้อหาข่าว บริบททางสังคมใหม่ อาจทำให้การประเมินคุณค่าข่าว วิธีการทำงาน Presentation เปลี่ยนไป ข่าวการเมือง ข่าวที่ขายความขัดแย้งของผู้คน รวมทั้งข่าวอาชญากรรมเลือดท่วมจอ ความสนใจจะลดลง ข่าวเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ปัญหาสังคม ได้รับความใส่ใจมากขึ้น
ข่าวกระแสหลัก คุณภาพชีวิต ไม่ขัดแย้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวสารด้านสาธารณสุข คุณภาพชีวิต ที่คนทำข่าวเคยเป็นพลเมืองชั้นสอง เมื่อเทียบกับนักข่าวการเมือง นักข่าวเศรษฐกิจ จะกลายมาเป็นข่าวกระแสหลัก เหมือนเช่นที่ข่าวภัยธรรมชาติ ข่าวรายงานสภาพอากาศ ฝนตก ฟ้าร้อง พายุใหญ่ คลื่นลมในทะเล ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ได้สำคัญมากนัก กลายเป็นข่าวที่ทุกคนต้องติดตาม หลังเหตุการณ์สึนามิที่ฝั่งอันดามัน เมื่อปลายปี 2547
ก่อนหน้า โควิด-19 เรามีพื้นที่ข่าวที่เป็น Hard News คือข่าวเหตุการณ์สำคัญ หรือข่าวที่มีผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากไม่มากนัก ในขณะที่ข่าวประเภท Sensation ในกลุ่มข่าวอาชญากรรม หรือข่าวการเมืองปิงปอง ที่ขายความขัดแย้ง ได้รับความนิยมสูง จนสถานีโทรทัศน์บางช่อง เรทติ้งขึ้นไปในอันดับท็อปไฟว์ เพียงรายการข่าวชาวบ้าน ข่าวคนฆ่ากันตาย เพียงรายการเดียว
ในช่วงโควิด มีกระแสข่าวความขัดแย้งช่วงชิงอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในสถานการณ์ปกติ ข่าวนี้จะต้องได้รับการนำเสนอ ติดตามต่อเนื่อง และทำซ้ำ เป็นข่าวที่พวกเขาคิดว่า “ขายได้” แต่กลับปรากฎเสียงสะท้อนถึงความเบื่อหน่ายของประชาชน เบื่อหน่ายความวุ่นวายของนักการเมือง ที่ไม่รู้กาละเทศะ ในที่สุดข่าวนี้ก็หายไปจากพื้นที่สื่ออย่างรวดเร็ว
ก่อนหน้า โควิด-19 รายการประเภทสาระ รายการส่งเสริมความรู้ รวมทั้งรายการเด็กแทบจะหายไปจากหน้าจอ ในขณะที่เกมส์โชว์ รายการประกวดร้องเพลงผสมเกมส์โชว์ ที่ต้องจ้างคนไปดู ไปส่งเสียงเชียร์ในห้องส่ง รายการถ่ายทอดชกมวย ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอล ยึดครองพื้นที่หน้าจอส่วนใหญ่
หลังโควิด 19 บางรายการในกลุ่มนี้ เปลี่ยนเป็น rerun เพราะไม่สามารถผลิตในห้องส่งได้ หรือติดเงื่อนไขจำนวนคน ในการผลิตรายการตามมาตรการของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.)
ผลกระทบจากโควิด 19 ที่มีอยู่บ้าง คือรายได้ที่หดหาย จากรายการถ่ายทอดสดชกมวย กีฬาฟุตบอล ในขณะที่รายการประเภทข่าว ผู้ปฎิบัติงานฝ่ายข่าว ยังคงทำงานต่อไป โดยส่วนหนึ่งปรับตัว เป็น Work from home
Work from Home ไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามประกอบสร้าง ฉากที่บ้านให้ยังคงมีบรรยากาศเหมือนในห้องส่ง เพราะเนื้อหา จะสำคัญกว่ารูปแบบ นั่นแปลว่า Presentation ในห้องส่ง ที่อาจต้องมีฉาก มี Virtual studio หรือภาพเสมือนจริงก็ไม่มีความจำเป็น
สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือเนื้อหา ข้อมูล สถิติต่างๆ ที่ยืนยันและเชื่อถือได้ ดังนั้น หากฉากที่บ้านจะเป็นห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ในสวน หรือแม้ในห้องนอน คนดูก็จะดูด้วยความเข้าใจในสถานที่ และให้ความสนใจในเนื้อหา และความสามารถในการเล่าเรื่อง (Storytelling) ของพิธีกรมากกว่า
หากประเมินเนื้อหา ความสนใจของผู้รับสาร ในยามวิกฤต โควิด-19 เพื่อมองแนวโน้มในอนาคต จะพบโฟกัสไปอยู่ที่ข่าวสาร ข้อมูล ที่เป็นตัวเลข สถิติ ผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ที่เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับรัฐบาลในการปลดล็อคมาตรการต่างๆ หรือคงสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป
วิธีการนำเสนอสถิติ ตัวเลขเหล่านี้ สิ่งที่ปรากฎในสื่อคือรูปแบบของ Inforgraphic หลายสถานี ใช้อินโฟมาประกอบการอธิบาย แม้แต่การเสนอข่าวทางการของรัฐบาล การแถลงข่าวรายวันของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.
ไม่เพียงวิธีการนำเสนอ เสียงเรียกร้องข่าวจริง หรือกระบวนการตรวจสอบ Fake News ตรวจสอบแหล่งที่มา รวมทั้งการใช้ตรรกะในการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล ยังเป็นแนวโน้มใหม่ ที่สื่อยุคโควิด ต้องให้ความใส่ใจด้วย
ข่าวที่เชื่อถือได้ ข่าวที่มีความรับผิดชอบ คือข่าวที่จะตอบโจทก์ วิถีการทำงานสื่อต่อจากนี้
New Normal ในวิถีใหม่ของการทำงาน ซึ่งประชาชนผู้รับสาร ได้ส่งเสียงให้ได้ยินในช่วงวิกฤตการณ์โควิด และน่าจะยังเป็นเสียงที่ดังพอเมื่อวิกฤตนี้ผ่านไป คือสื่อที่ผลิตเนื้อหาโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ไม่ให้พื้นที่กับข่าวขยะ ข่าวความขัดแย้งของนักการเมืองที่ไร้สาระ เช่นเดียวกับที่สื่อส่วนใหญ่ได้ปรับตัว ทำหน้าที่ผลิตเนื้อหาข่าวและรายการคุณภาพอยู่แล้วในขณะนี้
วิถีใหม่ ที่จะกลายเป็นเรื่องปกติ และอาจจะเคยมีความไม่ชัดเจนก่อนหน้านี้ จะยังดำเนินไปตามปกติหรือไม่ กลุ่มคนสำคัญที่จะทำให้ปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง ก็คือประชาชนผู้รับสารนั่นเอง