วิพากษ์การทำงานของคนสื่อ
ผู้ไม่รู้VSคนวงในใครเจ็บกว่า
ณรงค สุทธิรักษ์
ข่าวการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ได้รับการจัดความสำคัญให้อยู่ในลำดับต้นสำหรับการนำเสนอข่าวของสื่อทุกสำนัก พร้อม ๆ กับการจับตาการทำงานของสื่อที่เกิดขึ้นควบคู่กันโดยอัตโนมัติ
”ผู้คนจำนวนไม่น้อย” รอจังหวะ “ให้คำแนะนำ” ซึ่งก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่ออย่างใจจดจ่อ เฉกช่นเดียวกับที่เคยให้คำแนะนำหลังเหตุการณ์ “กราดยิงที่โคราช” เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2563 มาแล้ว
รับได้ครับ..หากผู้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็น “นักข่าว” และ/หรือ ไม่เคยข้องแวะกับธุรกิจข่าว เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้รู้ข้อมูลหรือเบื้องหลังการทำงานของคนสื่อ ภายใต้สถานการณ์ที่คนทั้งโลกเรียกว่า “วิกฤต” อย่างเช่น เหตุ “…ที่โคราช” หรือ “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” รวมทั้งวิกฤตอื่น ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่จะเป็นข่าวหรือไม่ และวิกฤตที่ว่านั้นจะใหญ่แค่ไหน
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนวงใน หรือ “คนข่าว” ด้วยกันนั้น ถ้าเราไม่ “โลกสวย” จนเกินไปเราก็จะเห็นว่า คนวงในกลุ่มนี้ มักเป็นคนข่าวในสาย “สุขนิยม” ที่ไม่เคยได้รับโอกาส หรืออาจจะปฏิเสธโอกาสในการนั่งเก้าอี้ตัวใหญ่สุดขององค์กร(ข่าว)
พวกเขาจึงไม่เคยรู้จักคำว่า “กดดัน” ไม่มีภาระต้องแบกไว้บนบ่า ไม่ต้องรับผิดชอบเรตติ้ง ไม่ต้องร่วมวางแผนนำพาองค์การไปข้างหน้า ไม่ต้องสนับสนุนการหารายได้ และไม่ต้องรับผิดชอบอนาคตตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของคนข่าว รวมทั้งพนักงานในองค์กร(ข่าว)ของตัวเอง ซื่งเป็นคุณสมบัติของผู้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นรองก็เพียง “เจ้าของ” เท่านั้น
คนวงในกลุ่มนี้ มักเป็นนักคิดและนักปฏิบัตินอกองค์กร โดยจะมอบเวลา ความรู้ ความสามารถ และความตั้งใจที่มีอยู่ “ให้กับองค์กรอื่น” รวมทั้งหาจังหวะให้คำแนะนำคนในองค์กรของตัวเอง “ผ่านสื่ออื่น” ทุกครั้งที่มีโอกาส
เสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคนสื่อในเหตุการณ์ “…ที่โคราช” จึงเกิดขึ้นอย่างอึงมี่ ทั้งเวทีสัมมนา เสวนา เพื่อหาทางออกให้กับสังคม ที่แม้จะไม่มาก แต่ก็เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มีโอกาสติดตาม ได้ข้อสรุปว่า ในยุคที่ทั่วโลกถูก “Disrupt” ด้วยเทคโนโลยี และ “พื้นที่สื่อ” ที่เปลี่ยนแปลงไป จริยธรรม-จรรยาบรรณในงานข่าวสำหรับคนข่าว “จะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป” เพราะแม้แต่คนสื่อด้วยกัน ก็ยัง “คอนเฟิร์ม” ถึงความไม่ถูกต้องอยู่ตามบนเวทีต่างๆ
ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ “…ที่โคราช” ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกตำหนิ-ติติงจากสังคมอย่างรุนแรงนั้น ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ถ้าพลาดก็ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่จะมีอีก
คิดได้ดั่งนี้ หลายสื่อจึงกรูกันเข้าโคราชแบบมืดฟ้ามัวดิน การช่วงชิงคนดู-ผู้เฝ้าติดตามด้วยการ “รายงานสดจากพื้นที่” เป็นไปอย่างดุเดือด หลายสำนักล้มผัง เพื่อรายงานเหตุการณ์แบบ “นาทีต่อนาที” บางสำนักใช้รูปแบบการรายงานเสมือนถ่ายทำภาพยนตร์
เนื้อหาของการรายงาน ก็จะออกแนวตื่นเต้น เร้าใจ หวือหวา น่าติดตาม ซึ่งแน่นอนว่า “ถูกใจคนไทยทั้งประเทศ” ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อ ก็ยังเฝ้าติดตามแบบตาไม่กระพริบ
“เรตติ้ง” ของสื่อในกลุ่มนี้ “ทะลุเส้น” ที่ “ผู้แจกโฆษณา” ขีดเอาไว้ ขณะที่บางสำนัก(ข่าว)เลือกที่จะไม่สนใจและดำเนินรายการตามผังรายการปกติ โดยให้น้ำหนักกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียง “ข่าวต้นชั่วโมง” แน่นอนว่า ผลที่ได้รับคือ “ไม่มีเรตติ้ง” ไม่มียอดวิว ไม่มียอดไลค์ รวมทั้งยังสร้างความเสียใจให้กับทีมข่าวของตัวเอง ที่ต้องการแสดงฝีมือ แต่กลับไม่ได้รับโอกาสนั้น
จะว่าไปแล้ว การทำงานข่าวภายใต้สถานการณ์ “วิกฤต” มักมีความท้าทายอยู่ 2-3 ประการ หนึ่งคือ ความท้าทายในเรื่องการแข่งขันและการดึงคนดู-คนอ่าน ซึ่งจะนำไปสู่ “เรตติ้ง” ที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ใครที่เคยบริหารองค์ข่าว หรือเคย “นำทัพ” มาแล้ว จะ “ซาบซึ้งตรึงใจ” ในประเด็นนี้เป็นอย่างดี อีกหนึ่งคือ ความท้าทายของทีมข่าว และผู้บริหารงานข่าว ซึ่งเป็นเวลาที่ต้องโชว์ให้เห็นว่า พวกเขาสมราคา(คุย) หรือคุ้มกับค่าจ้างที่ได้รับ สุดท้ายคือ ความท้าทายจากการที่ได้นำตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์อันตรายและสุ่มสี่ยงต่อชีวิตร่างกาย แต่ “คนข่าว” ทุกคนก็พร้อม เนื่องเพราะต้องการประสบการณ์ และ “ตราแสตมป์” เสมือนทหารที่เคยผ่านสนามรบ “จริง” มาแล้วนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม “คนข่าว” ณ เหตุการณ์โคราชจำนวนไม่น้อย ได้แสดงให้เห็นถึง “ความไม่เข้าใจ” ในการทำงานภายใต้สถานการณ์วิกฤต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความความสามารถ และความเป็นมืออาชีพของ “บก.ใหญ่” รวมทั้งความพร้อมขององค์กร(ข่าว) ต้นสังกัด โดยเฉพาะความหย่อนยานในเรื่องการรักษากฎกติกาของการรายงานข่าว และการยอมให้ “ความ(มัก)ง่าย” เข้าบดบังหลักการทำงานแบบมืดมิด เพื่อแลกกับเรตติ้ง และยอดวิว-ยอดไลค์
การทำงานภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ของคนข่าวมืออาชีพ หรือองค์กร(ข่าว)ที่มีมาตรฐาน มักจะเตรียมการล่วงหน้า มีการทบทวน-ซักซ้อม “หลักการทำงาน” อยู่เป็นประจำและอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับทีมฟุตบอล ที่จะต้องกำหนดตัวนักเตะ ก่อนลงสนามทุกครั้งว่า ใครจะอยู่ตำแหน่งไหน ใครจะต้องเตะลูกโทษ ณ จุดโทษ ใครจะต้องเตะลูกเตะมุม หรือใครจะต้องเตะลูกโทษนอกเขตโทษ
การทำงานข่าวขององค์กรสื่อที่มีมาตรฐาน ก็จะมีการกำหนดโครงสร้าง วางระบบ จัดระเบียบ จัดทีม และกำหนดตัวผู้บัญชาการ (บก.) สำหรับบัญชาการเหตุการณ์แบบมีอำนาจเต็ม ทั้งในสถานการณ์ข่าว “ฉุกเฉิน” แบบปกติ และสถานการณ์ “วิกฤต” ร้ายแรง เช่น การชุมนุมทางการเมืองที่อาจยืดเยื้อเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปีมีและอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้อง การก่อวินาศกรรม การจี้จับตัวประกัน หรือแม้แต่การติดตามเจ้าหน้าที่ตำรวจออกไปไล่จับตัวผู้ร้าย
มาตรฐานการทำงานเหล่านี้สำหรับองค์กรสื่อที่มีมาตรฐาน จะถูกงัดออกมาใช้ และปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกระบวนการ-ขั้นตอนของ “การรายงานข่าว” เช่น ไม่รายงานจำนวนตัวเลขผู้ชุมนุม ไม่ปล่อยเสียงสดบนเวที ไม่ถ่ายภาพ “ป้ายหรือสัญลักษณ์” ที่จะก่อให้เกิดความดูหมิ่นเกลียดชัง หรือส่งผลกระทบต่อบุคคลที่สาม และไม่รายงานในลักษณะของการเชิญชวนให้ผู้รับสารออกจากบ้าน เพื่อไปสังเกตการณ์บริเวณสถานที่ชุมนุม ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ “คนสื่อทุกคน” รู้ดีว่า มีอยู่จริง แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นสื่อหรือข้องแวะกับธุรกิจสื่อ ไม่อาจรับรู้
การวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ในมุมที่เป็นลบ และมีอคติกับการทำงานของคนสื่อ จาก “ผู้ไม่รู้” จึงไม่ควรถือโทษ และต้องขอบคุณที่คนกลุ่มนี้ ที่ให้ความสนใจความเป็นไปของสื่ออย่างจริงจัง
แต่การวิพากษ์วิจารณ์จาก “คนวงใน” ด้วยกัน โดยเฉพาะจากคนวงในที่ไม่เคยออกไปเสี่ยง หรือไม่เคยลงสนาม หรือไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารองค์กร(ข่าว)นั้น ควรจะต้องหยุดแค่เหตุการณ์ “…ที่โคราช” หรือยังจะต้องแสดงความเป็น ”เทพนอกองค์กร” ของตัวเองต่อไป
ภายใต้สถานการณ์นี้ เรามาให้กำลังใจกัน และช่วยกันรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมไปเก็บไว้ โดยไม่ต้องนำออกเผยแพร่…ดีมั้ยครับ ?