เมื่อ “สื่อ” กำลังเล่นบทผู้ผลิต “Fake News”

เมื่อ “สื่อ” กำลังเล่นบทผู้ผลิต “Fake News”

โดย  กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์

 

 

ทุกครั้งที่เกิดคดีดังๆ ทุกคนทุกฝ่ายที่เคลื่อนไหวในคดีต่างได้รับความสนใจ แทบทุกกระเบียดนิ้ว จะยืน จะนั่ง จะพูดจะจา ทุกอย่างถูกตีความไปซะหมด ตอนนี้ (2 มี.ค.61) มี 2 คดีใหญ่ๆ ที่อยู่ในความสนใจอย่างล้นทะลัก คือ “หวย 30 ล้านบาท” และ ”ปฏิบัติการทวงคืนเสือดำ” ไม่นับรวมแอคชั่น-วาทะรายวันจากทั่นผู้นำ

 

คดีหวย คนก็ลุ้นกันว่า “ใครคือเจ้าของตัวจริง” ส่วนคดี “เสือดำ” คนลุ้นว่า สุดท้ายแล้วอำนาจรัฐจะจัดการกับคนกระทำผิดที่ถูกมองว่ามีอำนาจคับประเทศได้อย่างไร

 

ความสนใจของคนดู-คนอ่านเป็นปัจจัยสำคัญที่คนผลิตสื่อใช้พิจารณา “คุณค่าข่าว” ควบคู่กับข้ออื่นๆ นี่อาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้หลายที่ “เลือก” เสิร์ฟตามใจคนดูมากกว่า “สิ่งที่ควร” นำไปรายงาน

 

ภาพพนมมือรับไหว้ของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวอล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่เดินทางมาสอบปากคำ ในฐานะผู้ต้องหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ โดยสื่อแห่งหนึ่ง พร้อมกับข้อความที่เอนเอียงในทำนองที่ว่า “งานนี้รอดแหงๆ”

 

หลังจากนั้นไม่นาน เพจเสียดสีสังคมทั้งหลาย นำภาพนี้ไปทำ Meme ล้อเลียน จนยอดแชร์ถล่มทลาย คนเข้ามาคอมเม้นก่นด่าต่างๆนานา กับภาพ 1 วินาทีนั้น โดยไม่คิดอะไรแล้ว? แม้ต่อมาไม่นาน จะมีคลิปที่ระบุชัดเจนว่า เป็นการรับไหว้กันปกติธรรมดาของคนไทย ที่เราทุกคนก็ล้วนทำกันทั้งนั้น แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ทันเสียแล้ว มีผู้สื่อข่าวหลายคน ขึ้นเขียนโพสต์ตัวเอง ต่อเหตุการณ์นี้ว่า สื่อไม่ควรทำให้สถานการณ์นี้ “แย่ลงไปอีก” และ “อย่าสร้างความเกลียดชัง”

 

แม้ในใจสื่อจะมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนปุถุชนทั่วไป สะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างกัน แต่ในฐานะของผู้สื่อข่าว ผู้สื่อสาร หน้าที่สื่อความนี้จึงแตกต่างออกไป

 

ด้าน “หวย 30 ล้านบาท” ก็ไม่น้อยหน้า เปิด News Feed มาตั้งแต่เช้าวันที่ 2 มีนาคม 2561 ก็เจอข่าวพาดหัวว่า “ครูปรีชาสารภาพแล้ว หวยไม่ใช่ของตน แต่เข้าใจผิด” ทั้งๆ ที่ในเนื้อข่าวกลับยังไม่มีการยืนยันใดๆ แต่คนก็แชร์กันไปหมดทั่วโลกออนไลน์ ล่าสุดครูปรีชา ยังยืนยันเป็นเจ้าของหวย 30 ล้านบาทอยู่

 

ย้อนกลับไปไม่นาน มีเหตุการณ์คล้ายๆ แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อครั้งปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ยืนชี้หน้ากลุ่มเครือข่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา แต่อีกพักมีคลิปวิดีโอเล่าเหตุการณ์ว่า “ทั้งประชาชน-เจ้าหน้าที่” กำลังพูดคุยสารทุกข์สุกดิบอย่างเป็นกันเอง

 

ตอนนี้ ข่าวเหล่านั้น ถูกแก้ไปแล้ว แต่การแก้ การสร้างความกระจ่างรอบ 2 คนดูคนรับรู้ และเข้าใจเท่าตอนแรกที่นำเสนอหรือไม่?

 

ข่าวที่เสนอแบบฉับๆ และฉาบฉวยนี้ ต่อไปมันจะพัฒนาเป็น Fake News และ Hoax News ได้ทั้งนั้น และแก้ไขยากมาก

 

หากมันมาจากคนที่ไม่ได้ทำงานสื่อ ไม่ได้น่าเสียใจ และชอกช้ำเท่ากับมาจากคนที่ร่วมวิชาชีพเดียวกัน การต้องการเป็นที่หนึ่ง การต้องการเร็วกว่าที่อื่น ต้องการยอด Engagement ไม่ใช่เรื่องผิด และดีด้วยซ้ำ หากสามารถทำให้การสื่อสารของตนเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และกระจายไปทั่ว แต่บางครั้งต้องตระหนักคิดสักนิดว่า “ความเร็ว-ความอยากชนะ-อยากซีฟ” ที่ขาดการยั้ง ทิ้งอะไรไว้ในสังคม สร้างความเข้าใจให้กับคนดู-คนอ่าน ไว้อย่างไรบ้าง นี่ยังไม่นับรวมข่าวที่ “ไม่ถูกต้อง” ซึ่งมาจากการฟังไม่ได้ศัพท์ หรือเร่งรีบเพื่อเสนอข่าวอีก และรายการข่าวที่มุ่งเน้นสัมภาษณ์ด้วยภาษาแรงๆ ชี้นำ เน้นสนุกปาก มากกว่าเสริมปัญญา

 

“ความไว” ของการกระจายข่าวในยุคดิจิทัล มันไปไกลเกินกว่าที่จะหยุด และหวนกลับไปทำความเข้าใจใหม่ได้อีก ทุกวันนี้ เรายังเจอโพสต์ และจดหมายแชร์ลูกโซ่เกลื่อนโซเชียล เจอสูตรมะนาวรักษามะเร็ง วนเวียนเป็นไม่ไปผุดไปเกิด หลายๆ ข่าวที่เคยผิดพลาด ก็ยังถูกมาแชร์ไม่รู้จบ

 

เรื่องนี้ มันไม่ใช่การโยนไปเรื่อง “อย่าดูถูกคนดู-คนอ่าน” ให้เขาตัดสินเองสิ พวกเขาสามารถคิด และพิจารณาเองได้ ซึ่งก็มีความจริงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด คนดูคนอ่าน ยังหวังพึ่งสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร กลั่นกรองสิ่งต่างๆ มาให้รับรู้ และสร้างความน่าเชื่อถือ และมั่นใจ ที่เป็นเสมือน “หน้าที่”

 

วันนี้มาพูดเรื่อง “อย่าดูถูกวิชาชีพตัวเอง” จะดีกว่า ว่าจะไม่ให้ข่าวผิด ข่าวบิดเบือน ข่าวลวง ข่าวหลอก มันวนเวียน โดยมีต้นเหตุมาจากสื่อด้วยกันเอง เมื่อทุกสื่อล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้น

 

ในวันที่โลกมีข้อมูลล้นหลาม มีคนเยอะมากบอกว่า “สื่อจะตาย สื่อจะสู้เพจอื่นไม่ได้” ขอเถียงว่า สู้ได้เสมอ ด้วยการนำเสนอความถูกต้อง และน่าเชื่อถือ ถ้าข้อมูลมันเยอะมาก สื่อนี่แหละสามารถช่วยได้ว่าจะนำเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ จะเสนอเรื่องฮอตๆ อย่างไรให้น่าสนใจ และเพิ่มความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้สังคมได้แล้ว

 

ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ของแต่ละสื่อ ต้องเลิกเอา Online Engagement มาเป็น KPI หลักกับนักข่าวภาคสนามได้แล้ว ทำแค่หอมปากหอมคอ ไม่ให้คนทำงานแห้งเหี่ยว แค่ต้องกระตือรือร้นกับงานที่ทำก็คิดว่าเพียงพอ แต่ก็เข้าใจว่ามันก็เกี่ยวเนื่อง และผูกพันกับการทำงานในเชิงธุรกิจ การต้องพาธุรกิจไปให้รอดด้วย ยิ่งยุคที่โซเชียลมา สวนทางกับการลงทุนในทีวีดิจิทัล ที่เม็ดเงินโฆษณาถูกซอยแบ่งจนไม่เหลือให้อิ่ม หลายๆ ที่ เลยเหมือนคนกำลังจะจมน้ำ คว้าอะไรได้ ก็คว้าเอา จบข่าวไปวันๆ และดูแค่ตัวเลขที่เกิดขึ้นก็พอ

 

แต่ลองมองในระยะยาว เมื่อได้มองย้อนกลับมา มีสักกี่ข่าวที่เป็นข่าวที่มีคุณค่า ไม่ไล่ตามกระแสจนเกินไป หรือตามกระแส แต่จุดประกายอะไรสักอย่าง อย่างข่าวพี่ตูนวิ่ง และเป็นประโยชน์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างความเข้าใจ ให้ข่าวเป็นประโยชน์ในการศึกษาหาข้อมูลของคนวงการอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิง เล่นปาหี่ไปวันๆ ให้รู้สึกว่า มองย้อนกลับมาดูข่าวแล้ว “ชื่นใจ” ปีที่ผ่านมา มีงานดีๆ ออกสู่สาธารณะ

 

อีกนัยหนึ่ง ก็เห็นใจ “เพื่อนร่วมวิชาชีพ” ต้องถูกตำหนิแบบ “เหมารวม” ยังมีนักข่าว ผู้สื่อข่าว อีกมากมายทำงานไม่หยุด และตั้งมั่นทำงานอยู่ในกรอบ พยายามไม่ดราม่า พยายามประนีประนอมกับทุกอย่าง แต่ก็ไม่โลกสวยทุ่งลาเวนเดอร์ คนที่พยายาม “ฟัง” และ “สื่อความ” เพื่อรักษาทุกฝ่าย และคิดถึงสังคมเป็นหลัก แต่กลับเป็นกลุ่มตัวเล็กตัวน้อย ที่ไม่มีปากเสียง และถูกมองว่า “ไร้ชั้นเชิงในการสื่อสาร” ไม่ปังเหมือนคนอื่นๆ ที่ใช้ความหวือหวาแย่งชิงพื้นที่

 

ถ้าสื่อเป็น “ฐานันดรที่ 4” ของสังคมจริงๆ ก็ไม่ควรพาให้แต่ตัวเองรอด ด้วยยอดคนดู ยอดเรทติ้ง และ Engagement แต่ “สังคมแพ้” ไม่รู้จะไปทางไหน ไม่รู้จะพึ่งความน่าเชื่อถือได้ที่ใคร และสำหรับคดีดังๆ ที่คนให้ความสนใจมากมายขนาดนี้ จะดีกว่ามั้ย ที่สื่อจะฉวยโอกาสนี้สื่อสารสร้างค่านิยมใหม่ และทัศนคติที่ดีขึ้นให้กับสังคมมากกว่าสร้างความขัดแย้ง ความเข้าใจผิดแบบไม่รู้จบ