สื่อวิชาชีพสะท้อนปัญหาเส้นแบ่งการ “แบ่งปันข่าว -การลอกข่าว” ชี้วัฒนธรรมคนข่าวภาคสนาม ตั้งแต่อดีตการแลกเปลี่ยนแบ่งปันเป็นเรื่องปกติ ไร้ปัญหา ยกเว้นข่าวเดี่ยว ที่สื่อต้องแข่งประเด็น ชี้บริบทเปลี่ยนยุคใครก็เป็นสื่อได้ แนวโน้มการลอกข่าวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สภาการสื่อมวลชนฯ เล็งใช้แนวทางจริยธรรมวิชาชีพเป็นหลัก สร้างความตระหนักรับรู้ทั้งในวงการสื่อ วงการคนอยากเป็นสื่อ และสาธารณะ นักวิชาการชี้ 3 ฝ่ายเกี่ยวข้อง ร่วมแก้ปัญหาได้ ทั้งภาครัฐ-สื่อ-ประชาชน ยันคอนเทนท์สื่ออาชีพยังเป็นหลักยึดของผู้บริโภคทุกเจน
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “การแบ่งปันข่าว คือวัฒนธรรมที่ควรรักษาไว้… ? ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร เนชั่นทีวี ชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ผศ.ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว ย้อนภาพความเปลี่ยนแปลงกลุ่มสื่อในยุคอนาล็อกและดิจิทัล จากประสบการณ์เกือบ 30 ปีที่ผ่านมาว่า วัฒนธรรมการแบ่งปันข่าวเป็นอย่างไร เขาบอกเล่าสถานการณ์ในช่วงพัฒนาการของสื่อในยุคที่สื่อมีจำนวนไม่มาก เวลานั้นสื่อสิ่งพิมพ์สื่อทีวียังเป็นสื่อหลัก การทำข่าวรูทีน หรือข่าวรายวันทั่วไป การตั้งคำถามต่อแหล่งข่าว และคำตอบ ก็มาจากการสัมภาษณ์กลุ่มโดยนักข่าวที่อยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ ฉะนั้นการแบ่งปันข่าวในส่วนนี้ ระหว่างผู้สื่อข่าวด้วยกันเอง จากความสัมพันธ์ในสังคมคนข่าวด้วยกันเองจึงไม่เป็นปัญหา
ขณะเดียวกันก็มีรูปแบบข่าว Exclusive หรือที่เรียกว่าข่าวซีฟ ที่บรรณาธิการมอบหมายให้ขยายประเด็น รวมถึงข่าวที่นักข่าวได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวเอง ก็จะถือเป็นข่าวเดี่ยว ข่าวซีฟ ซึ่งเกิดจากทักษะการทำงานของนักข่าวเอง ซึ่งสื่อในยุคนั้นก็ต้องการเสนอข่าวให้มีความแตกต่าง ยิ่งสื่อไหนที่มีข้อมูลที่ต่างจากคนอื่น แล้วเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ก็จะได้รับความน่าเชื่อถือผู้บริโภคข่าวมาก และถือเป็นความสามารถของสื่อที่เพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งมักจะใช้คำว่า “พบกันบนแผง” ในหมู่ของสื่อสิ่งพิมพ์ ลักษณะนี้ ก็ใช้กันทั้งในสายการเมือง และสายอื่นๆ เช่น อาชญากรรม กีฬา
ธรรมสถิตย์ ได้ยกตัวอย่าง สายข่าวการเมือง ที่จะมีนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล นักข่าวประจำรัฐสภา เวลาไปทำข่าวซีฟ ก็จะมีทั้งซีฟเดี่ยว ซีฟหมู่ หรือเป็นข่าวเดี่ยว หรือข่าวซีฟกลุ่ม ซึ่งนักข่าวกลุ่มต่าง ๆ ก็จะทำงานหาข้อมูลในลักษณะเดียวกัน ทำให้เกิดการแข่งขันในการทำข่าว แต่ไม่ได้เป็นความขัดแย้งกัน โดยยังเป็นการหน้าที่สื่อ ที่นำเสนอข่าวสารที่มีคุณภาพ และไม่ใช่ลักษณะข่าวที่เหมือนกันหมด สมัยก่อนถ้าทำข่าวแบบนี้ จะได้รับการยอมรับ ทั้งจากสื่อด้วยกันเอง และนักการเมืองด้วย
ยุคแบ่งปันข่าวในวงการสื่อไร้ปัญหา
เขามองว่า การทำข่าวกลุ่มในลักษณะแชร์ข่าวกัน เพราะสังคมสื่อในเวลานั้น นักข่าวรู้จักกัน จึงเกิดการแลกเปลี่ยน ก็จะเป็นที่เข้าใจกันเพราะเมื่อได้ประเด็นข่าวมา ก็จะไปขวนขวาย พัฒนาในการหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ชิ้นงานขึ้นมา นั่นคือข่าวที่เกิดขึ้นในสมัยอดีต
ตัดกลับมาที่กลุ่มสังคมสื่อที่แข่งขันกันทำงาน ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สื่อสิ่งพิมพ์ลดลง และมีสื่อออนไลน์เข้ามาเพิ่มขึ้น นักข่าวก็เริ่มจะไม่มีสายที่อยู่ประจำที่ใดเป็นหลักอีกแล้ว นักข่าวจะถูกหมุนเวียนไปประจำที่ต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ประจำเช่นเดิม ด้วยข้อจำกัดเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องทุนของต้นสังกัด รูปแบบการทำงานของนักข่าวจะกลายเป็นกึ่งพนักงานบริษัท
การทำงานของสื่อก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ในแง่ของการรู้จักกันในสังคมสื่อ ความห่างเหินกัน การไม่รู้จักกันในกลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มผู้ประกาศ การปฏิสัมพันธ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป ก็กระทบกับการแบ่งปันข่าวสารที่เปลี่ยนไปด้วย
ควรยกระดับแก้ปัญหาให้ทันความเปลี่ยนแปลง
“ยุคนี้ การแบ่งปันข่าวกันก็ไม่มี จึงเกิดกรณีกลุ่มผู้ประกาศก็เอาข่าวไปใช้ ก็เกิดปัญหาขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าเขาคือผู้สื่อข่าวหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือการนำผลงานของนักข่าว ซึ่งจะเทียบก็เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สื่อข่าวที่หามา เป็นต้นฉบับเอาไปใช้ จึงเกิดปัญหา” ธรรมสถิตย์ ชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมคนข่าวที่มีหน้าที่แตกต่างกัน รวมถึงนอกสังคมคนข่าว
ธรรมสถิตย์ มองว่า ทางออกในเรื่องนี้ คือการยกระดับการจัดการปัญหาให้ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการนำเนื้อหาข่าวไปใช้ควรพูดคุยกัน มีข้อตกลง มีการขออนุญาตกัน หรือตกลงซื้อขายกัน ก่อนไปถึงขั้นการใช้กฎหมาย เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกมาก เนื่องจากลักษณะข่าวออนไลน์มากขึ้น และคนที่นำไปใช้ ไม่เฉพาะสื่อ มีทั้งอินฟลูเอนเซอร์ สื่อบุคคล ที่เอาข่าวที่สื่ออาชีพทำมา เอาไปต่อยอดเนื้อหา หรือเล่าใหม่
ขณะที่ในระดับกำกับดูแล เห็นว่าควรมีการพูดคุยระหว่างองค์กรสื่อ เพื่อแก้ปัญหา ในเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ ให้ทันต่อสถานการณ์ และไม่เฉพาะองค์กรกำกับดูแลสื่อเท่านั้น ขณะที่แต่ละสื่อก็มีแนวปฏิบัติของตัวเอง ที่ต้องพิจารณาว่าผู้สื่อข่าวให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน กระทั่งลงไปถึงผู้เรียนในสถาบันการศึกษา
สภาการสื่อฯ ถกหนักแนวทางแก้ปัญหา
ชาย ปถะคามินทร์ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านข่าวไม่น้อยกว่า 30 ปีเช่นกัน สะท้อนปัญหาลอกข่าวว่า แม้จะมีมาตลอด แต่ในอดีตไม่มากเท่าปัจจุบัน ที่มีอินเทอร์เน็ต มีการดิสรัป ปัญหาคนทำงานลดลง ทำให้มีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะในโลกโซเชียล ที่แอบลอกข่าว ไม่ว่าจะเรียกว่า สรุปข่าว หรือก็อปข่าวลงในโซเชียล แต่คนในวงการรู้ดีว่า มีสำนักข่าวใดบ้างที่เอาข่าวของสำนักอื่นมาเขียนใหม่ เพราะศักยภาพไม่สามารถทำได้อย่างครอบคลุม อย่างเช่นทั้งกอง บก. มีคนทำงานเพียงไม่กี่คน
ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ ปัญหาเหล่านี้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็ได้หยิบยกมาหารือในคณะกรรมการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของวิชาชีพ พูดกันชัดเจนถึงปัญหาที่เป็นเคสล่าสุด คือการลอกข่าว ซึ่งเสียมารยาท และผิดจริยธรรมวิชาชีพชัดเจน แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ จนเป็นที่มาของการก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ก็เกิดจากปัญหาเรื่องเหล่านี้
ยุคนี้ มีบางแห่งเอาข่าวสำนักอื่นไปใช้ แล้วเขียนตอนท้ายขอบคุณ โดยไม่มีลิงค์ข่าวอ้างอิง เพื่อให้คนเข้าไปอ่านจากต้นสังกัดได้ ทำให้ยอดคนดูคนอ่านไม่ได้เข้าไปยังสื่อต้นสังกัด สำนักข่าวที่เอาไปใช้ ก็ได้ยอด ขณะที่สำนักข่าวที่ถูกลอกไป ไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ ลักษณะนี้มีจำนวนมาก หากไปตามฟ้องก็คงไม่ไหว
ความเข้าใจวงใน-วงนอกด้วยจริยธรรมวิชาชีพ
อย่างไรก็ตาม แม้คนในแวดวงสื่อก็ตั้งคำถามกันว่า สถานการณ์ที่หนักขึ้นในปัจจุบัน สภาการสื่อฯ ทำอย่างไรได้บ้าง บทบาทสำคัญที่ยังเดินหน้าอยู่ ก็ยังเป็นเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ ล่าสุดสภาการสื่อฯ ได้จัดอบรมสัมมนาเรื่อง “จริยธรรมสื่อยุคใหม่” และได้หยิบยกเรื่องล่าสุดขึ้นมาพูดคุย และในการประชุมสภาการสื่อฯ เองก็ได้หยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุม โดยเห็นตรงกันเรื่องการหยิบฉวยข่าว ไปใช้ประโยชน์ ถือเป็นเรื่องผิดมารยาท ผิดจริยธรรมวิชาชีพ แม้จะอ้างว่านำไปเรียบเรียงใหม่ ยากจะยอมรับกันได้เพราะเป็นเรื่องละเมิดจริยธรรมวิชาชีพในประมวลจริยธรรมวิชาชีพสภาการสื่อฯ ชัดเจน
รวมถึงคุยกันถึงเรื่องข้อกฎหมาย ที่แม้จะยังไม่ถึงขั้นเอาผิดทางกฎหมายได้ แต่ผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวิชาการ ก็ตั้งข้อสังเกตว่าคล้ายกับการลอกเอกสารวิชาการหรือไม่ เป็นต้น
สถานการณ์สื่อ ที่เปลี่ยนไปจากวิชาชีพอย่างมากมาย มีทุกรูปแบบ มีการหารือที่อยากให้ประคับประคอง โดยยึดจริยธรรม การปรับตัว จัดอบรมเพิ่ิมเติมความรู้ พัฒนาวิชาชีพ ให้ทันการเปลี่ยนแปลง สภาการสื่อฯ พูดกันในแง่จริยธรรมกันค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น การลอกข่าวจะยิ่งแนบเนียนเลย ตามรอยได้ยาก
“ในการหารือ ก็มีข้อเสนอว่า ควรหาวิธีปฏิบัติร่วมกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในแวดวงสื่อ และประกาศให้บรรดาอินฟลูเอ็นเซอร์ สำนักข่าวอิสระ และสาธารณะ รับรู้รับทราบร่วมกัน ว่าอย่างไรเท่าไหน ถ้าเริ่มจากต้นทาง ที่เขาไม่รู้ จะทำอย่างไรให้คนใหม่ ๆ ได้รู้ถึงจริยธรรมวิชาชีพ เพราะสำนักข่าวเกิดใหม่มีมาก จึงเป็นโจทย์สำคัญ”
แนวปฏิบัติองค์กรสื่อยังเป็นหลักได้
ขณะที่แนวปฏิบัติของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็เป็นอีกแนวทางในการช่วยให้สื่อทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ใช่สมาชิกได้นำไปใช้ เพราะเป็นหลักสากล แต่ละแนวปฏิบัติก่อนจะออกมา ต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา ลักษณะการทำประชาพิจารณ์เล็ก ๆ สามารถยึดเป็นมาตรฐานได้ สำหรับสมาชิกของเรา ไม่มีปัญหา การทำหน้าที่อยู่ในกรอบ แต่สำหรับสื่อที่ไม่เป็นสมาชิก หากนำไปใช้ก็จะเกิดประโยชน์กับตัวเอง ทั้งความน่าเชื่อถือ และการยอมรับจากสาธารณะ
แบ่งปันข่าวยอมรับได้-ลอกข่าวเสี่ยงกฎหมาย
ด้านมุมมองนักวิชาการ ผศ.ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์ ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มองแยกเป็น 2 ประเด็น 1.เรื่องการแบ่งปันข่าว ถ้าขออนุญาต คิดว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ 2.แต่การหยิบไปดัดแปลง ทำซ้ำ เป็นอีกประเด็นที่ยอมรับไม่ได้
สำหรับสถานการณ์ในเรื่องที่เกิดขึ้น คล้ายการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ หยิบข่าวไปดัดแปลง ทำซ้ำ ซึ่งปัญหานี้มีเหมือนกันทั่วโลก แต่ระดับในการจัดการปัญหาของในแต่ละประเทศอาจไม่เท่ากัน ในไทยคิดว่าเลเวลค่อนข้างไม่ค่อยสูงมาก ส่วนใหญ่การแก้ปัญหาคือ การฟ้องร้อง เรียกค่าลิขสิทธิ์ ก็เป็นมาตรการทางกฎหมายอย่างหนึ่ง ที่ทำได้เลย เคยมีกรณีศึกษาที่ศาลพิจารณาตัดสินว่า คัดลอกข้อมูลข่าวนำไปดัดแปลงทำซ้ำ มีความผิด
พวกที่เรียนนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์มา จะคุ้นเคยกับคำว่า Ethic และ Moral คือจริยธรรมสื่อ และคุณธรรมสื่อ ในยุคนี้ที่เราได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่จบมาทางนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ นี่เป็นอีกจุดอ่อนหนึ่ง ที่คิดว่าควรมีกระบวนการบางอย่างในการเข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชน คนที่จบทั้งสองด้านนี้มา ก็จะผ่านกระบวนการในการบ่มเพาะลักษณะทางวิชาชีพด้านจริยธรรมคุณธรรมของสื่อ
เรื่องเทคโนโลยีทำให้คนสามารถทำสื่อได้ เมื่อก่อนใครจะเป็นนักข่าว ผู้ประกาศข่าว ต้องตรงเข้าไปสู่สถาบันสื่อ องค์กรสื่อ โดยเฉพาะ แต่ในยุคเทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนแปลงไป มีสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่ง สามารถรายงานข่าว ไลฟ์สด หรือโพสต์อะไรลงไปได้ ประกอบกับเดี๋ยวนี้ มีค่าตอบแทน มีเอ็นเกจเมนต์ มีกดไลท์ กดแชร์เยอะ ก็มีรายได้เข้ามา อันนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ประกอบกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย จะเรียกว่าเป็นเรื่องปัจจัยทางสังคมก็ได้ อาจมองว่าการทำแบบนี้ง่ายไปลอกของใครเอามาโพสก็ได้ ซึ่งเขาไม่รู้เบื้องหลังว่า กว่าจะมาเป็นข่าวหนึ่งข่าว ต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง นักข่าวต้องลงพื้นที่ ยากลำบากแค่ไหน
แนะทำข้อตกลงแบ่งปัน-แลกเปลี่ยนเชิงธุรกิจ
แนวทางการแบ่งปันข่าว และการก๊อบปี้ข่าว ผศ.ดร.อดิพล มองว่าเรื่องการแบ่งปันข่าวไม่ได้ผิดอะไร ถ้ามีการขออนุญาต สามารถทำได้หลายเลเวล เช่น ทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างที่เราทำกันอยู่ ก็คือซื้อขายข้อมูลกัน ตรงนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งเคสที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่ตัวคนข่าวเองลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตัวเอง และคิดว่ายังคงมีอีกหลายเรื่องที่สามารถทำได้ อีกเลเวลที่ทำได้ เมื่อถูกลอกข่าว คือการฟ้องร้องว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ถ้าดูจากสถานการณ์แล้ว ตอนนี้ผู้เกี่ยวข้อง หรือ Stakeholders ต่าง ๆ ถ้าอยากจะมีจุดเปลี่ยน อาจจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรที่ แตกต่างไปจากเดิม ที่เราเคยทำ ตัวอย่างเช่น ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปเพียงใด แต่กฎหมายต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ของเราก็ยังตามไม่ทัน
3 ส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออกได้
อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชน การก๊อบปี้ข่าว นำไปดัดแปลง ทำซ้ำ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในแง่ของจริยธรรมวิชาชีพสื่อ แต่การแก้ปัญหาเหล่านี้ แก้ได้ด้วยตัวนักข่าวเอง และประชาชน ถ้าเราไม่ทำอะไร สุดท้ายก็เงียบไป แล้วจะเกิดขึ้นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ต้องกลับมาพูดกันใหม่
“จริง ๆ มี Stakeholders สามส่วนต้องเข้ามาร่วมแก้ปัญหา หลัก ๆ คือ ภาครัฐ รวมถึง กสทช. อาจจะต้องเข้ามาดูแลในแง่ของกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ให้ทันยุคทันสมัย มีการบังคับใช้จริง องค์กรวิชาชีพสื่อเองรวมถึงตัวสื่อเอง ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันการกำกับดูแลกันเองยังใช้ได้ผลหรือไม่ ขอเสนอเป็น Regulation ให้มีการกำกับดูแลร่วมกัน และต้องคุยกันในรายละเอียดเยอะ ส่วนที่สาม คือประชาชนเอง เราเป็นส่วนหนึ่งของผู้เสพข่าวที่ไปสร้างเรตติ้ง เอ็นเกจเมนต์ ให้คนที่ไปก๊อปปี้ ดัดแปลง ทำซ้ำ ดังนั้น ในภาคประชาชนเราต้องตระหนักและไม่สนับสนุนคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ เพราะจริง ๆ ข่าวมีความสำคัญ และจำเป็นกับชีวิตเรา ต่อไปถ้านักข่าววิชาชีพล้มหายตายจากไปหมดไม่มีใครมาทำ แล้วเราก็จะประสบปัญหาหลายอย่าง ตัวนักข่าววิชาชีพเอง ก็มีความสำคัญต่อสังคม เพราะเป็นทั้ง Gatekeeper และ Watchdog เตือนภัยต่าง ๆ ให้ประชาชน”
คอนเทนต์ข่าวไม่มีวันตาย ผู้บริโภคยังยึดเป็นหลัก
ผศ.ดร.อดิพล เชื่อว่าสถานการณ์ในอนาคตผู้บริโภคสื่อทุกเจนเนอเรชั่นยังคงให้ความสำคัญกับข่าวคุณภาพจากสื่อหลัก โดยหยิบยกงานวิจัยเมื่อปี 64 เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนเจน X-Y-Z ที่ยังให้ความสำคัญคอนเทนต์ข่าว จะต้องใช้นักข่าววิชาชีพจริง ๆ จำเป็นต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์
คิดว่าในอนาคตคอนเทนต์ข่าวยังจำเป็นอยู่ และยังมีคนให้ความสนใจ แต่ก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เป็นประเด็นที่เราพูดคุยกัน การลอกข่าว เอาข่าวไปดัดแปลง ทำซ้ำ แล้วมาเผยแพร่ แล้วตัวเองก็มีรายได้ ได้เอ็นเกจเมนต์ ส่วนตัวนักข่าวคนที่ทำข่าวจริง ๆ ก็สูญเสียโอกาส แต่ความน่าเชื่อถือ คุณภาพของข่าว ยังยืนอยู่ได้ ทั้งความถูกต้อง เรื่องความน่าเชื่อถือ เป็นประเด็นที่ประชาชนผู้รับสารให้ความสำคัญมากทำให้ประชาชนหันกลับมาสนใจสำนักข่าวใหญ่ ๆ ที่เป็นสื่ออาชีพมากขึ้น มากกว่าที่จะไปเสพตามพื้นที่โซเชียลมีเดีย
แม้สภาพสังคมการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ทำให้คนชอบเสพความดราม่า บันเทิงเยอะ ขณะที่ในวงวิชาการที่เรามองปรากฏการณ์ในสังคม ก็ยังเห็นว่าข่าวที่เป็นข่าวจริง ๆ ยังมีความสำคัญอยู่ และคนยังให้ความสนใจ เริ่มเข้าที่เข้าทาง ซึ่งในปีที่ผ่านมา เริ่มมีการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มกันแล้ว ทำให้ตัวสำนักข่าวก็อาจมีกำลังใจกลับมา.