จุดอ่อนข่าว “อิสราเอล-ฮามาส” ไร้สื่อในพื้นที่ นักวิชาชีพห่วงปัญหาข่าวปลอมจากเอไอ สื่อใช้ภาพจากหนังปนในข่าว ขณะที่ยุโรปกดดันแพลตฟอร์มไล่ลบข้อมูลเสี่ยง

จุดอ่อนข้อมูลข่าวสาร “อิสราเอล-ฮามาส” ไร้สื่อในพื้นที่ จากข้อจำกัดจากสถานการณ์สงคราม โคแฟคชี้ยากต่อการตรวจสอบข่าวลวงข่าวจริง เพราะสื่อเข้าไม่ถึงข้อเท็จจริง หวังภาครัฐผุดศูนย์ข่าวแหล่งให้ข้อมูลสื่อ เพิ่มกลไกร่วมมือแพลตฟอร์ม นักวิชาการสะท้อนข้อมูลล้นโซเชียล ส่งผลสื่อทำงานยาก ขณะที่ออนไลน์คนยังยึดสื่อหลัก นักวิชาชีพห่วงปัญหาข่าวปลอมจากเอไอ ปัญหาสื่อใช้ภาพจากหนังปะปนในภาพข่าว ขณะที่ยุโรปกดดันแพลตฟอร์มไล่ลบข้อมูลเสี่ยง

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “รู้ทันโซเชียลมีเดีย ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างประเทศ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชิบ จิตนิยม ผู้ดำเนินรายการข่าวต่างประเทศ

สุภิญญา กลางณรงค์ มองสถานการณ์การใช้โซเชียลมีเดียในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ความขัดแย้งระหว่างฮามาสและอิสราเอลมีมานานหลายปี แม้ประเด็นไม่ซับซ้อน แต่มีความละเอียดอ่อน ในแง่ผลกระทบหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องข้อเท็จจริง ซึ่ีงสิ่งที่จะถูกทำให้หายไปก่อนอันดับแรกพอเกิดภาวะสงครามก็คือความจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากไม่มีพยาน หรือผู้สื่อข่าวไปอยู่ในสถานที่นั้น ๆ อีกทั้งสื่อมวลชนเองก็ถูกจับ และถูกทำร้ายหลายคน และทางการอิสราเอลก็ไม่ได้อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไป 

ฉะนั้นสถานการณ์เปราะบาง แบบสงครามที่เราเห็นตอนนี้ จึงยากต่อการเข้าถึงข้อเท็จจริงอยู่แล้ว เพราะไม่มีคนกลางเข้าไปในสถานการณ์ตรงนั้นได้ ขณะที่ยุคนี้ เป็นยุคที่คนไทยใช้โซเชียลมีเดียเกิน 100 ถ้าเทียบกับยุคก่อนหน้านี้ รวมทั้งทั่วโลกด้วย จึงกลายเป็นว่าสิ่งที่ใช่-ไม่ใช่ จริง-ไม่จริง ก็เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว เหมือนเป็นไฟไหม้ฟาง 

ปรากฏการณ์นี้ จะเห็นได้ว่าในหลาย ๆ สื่อ ได้ถกเถียงกัน เรื่องข้อมูลจริงไม่จริงมากเป็นประวัติการณ์ ถ้าเปรียบเทียบกับก่อนหน้าระหว่างยูเครน-รัสเซีย ก็อาจซับซ้อนน้อยกว่านี้  ถ้าเป็นมหกรรมเทียบกับกีฬา ก็เหมือนโอลิมปิกทีเดียว ซึ่งแต่ละประเทศก็มีเวอร์ชั่นของตัวเองมาประชันกันในโลกออนไลน์ ซึ่งยากแก่การตรวจสอบมาก บางทีก็เป็นเหตุการณ์เก่าไม่เกี่ยวข้องเลย บางทีก็เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น แต่ไม่ใช่จังหวะนั้น จึงยากมาก เนื่องจากทุกคนใช้โซเชียลมีเดียและส่งต่อ ส่วนคนที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็เข้าถึงข้อมูลยาก เพราะเป็นพื้นที่สงคราม

ส่วนการอ้างแหล่งข่าวของสำนักข่าวต่าง ๆ ก็อาจจะอ้างแหล่งข้อมูลในหลายระดับ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ออกมา ดูเสมือนไม่สามารถมีใครตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ว่า เป็นข้อเท็จหรือข้อจริง  อย่างไรก็ตาม ก็ได้เห็นความพยายามของสำนักข่าวนานาชาติหลายแห่ง ตรวจสอบคลิปต่าง ๆ ที่ถูกเผยแพร่ เพราะกรณีคลิป จะมีข้อดีคือสามารถใช้เครื่องมือในการตรวจสอบได้ เช่นตรวจสอบโลเคชั่นจาก Google Maps เป็นต้น อย่างบางคลิปที่ออกมา ก็ไม่ตรงตามที่อีกฝั่งเคลม 

สำหรับหน้าที่ของโคแฟค สุภิญญา ระบุว่า เราต้อง Verify ข้อเท็จจริง เรื่องไหนที่เป็นไวรัลมาก ๆ ต้องหาทางตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ และถ้าไม่จริง ก็ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาไม่มีอยู่ ความยากก็อยู่ตรงนี้ แต่โคแฟคยังไม่ถึงขั้นเอาคลิปมาตรวจสอบเอง ต้องยอมรับว่า เราก็ไม่เคยไปพื้นที่นั้น แต่จะรีวิวจากการที่สำนักข่าวต่างประเทศตรวจสอบอีกทีหนึ่ง ซึ่งสื่อไทยก็มีศักยภาพเช่นเดียวกับสำนักข่าวต่างประเทศเช่นกัน หากมีปรากฏการณ์คลิปที่ถูก เคลมแล้วเป็นไวรัลมาก ๆ อาจใช้วิธีแบบสำนักข่าวต่างประเทศคือค่อย ๆ ไล่คลิป นำมาตรวจสอบ แต่ประเด็นที่น่าห่วงคือ สถานการณ์ที่ไปเร็วมาก เมื่อมีคลิปใหม่ ๆ เข้ามาก็อาจทำไม่ทัน 

โคแฟคเน้นชัวร์ก่อนแชร์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โคแฟคพยายามทำ คือเราเน้นที่ยูสเซอร์ก่อนว่า ถ้าไม่ชัวร์ โดยเฉพาะสถานการณ์ล่อแหลมแบบนี้ ไม่แชร์จะดีกว่า และถ้ามีศักยภาพในการตรวจสอบ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ น่าจะดีที่สุด อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่โคแฟคซึ่งเป็นองค์กรภาคพลเมืองสามารถรณรงค์ได้ แต่การตรวจสอบแบบเป็นจริงเป็นจัง ต้องใช้ศักยภาพมาก แม้แต่สำนักข่าวต่างประเทศก็เหนื่อยในการต้องตรวจสอบคลิปต่าง ๆ ที่เกิดอย่างรวดเร็วและเยอะมาก

เมื่อถามถึงกรณี ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเรื่องกรณีตัวประกันคนไทย สุภิญญา มองว่า หากเป็นเคสที่ประเทศไทยก็ไม่ยากที่จะตรวจสอบ กรณีเกี่ยวกับแรงงานไทย เพราะเบื้องต้นสามารถเช็คแหล่งข่าวผ่านสถานทูตได้ เป็นอันดับแรก ถือเป็นแหล่งข่าวสำคัญ คือตัวแทนรัฐที่อยู่ในพื้นที่ ที่จะช่วยตรวจสอบยืนยันได้ เพราะฉะนั้นแทนที่จะรายงานไปก่อน สื่ออาจจะต้องเช็คกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานรัฐไทย รวมถึงสถานทูตที่นั่น หรือแม้แต่สถานทูตอิสราเอลเอง 

แนะสื่อตรวจสอบเข้ม 3 ระดับ

หากสำนักข่าวใดมีศักยภาพในการสามารถส่งคนไป Investigates เพิ่มเติม หรือโทรศัพท์ถามเพิ่มเติม ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ที่จะยากกว่าคือสถานการณ์ที่เกิดหน้างานแล้วไม่มีใครเห็นข้อเท็จจริง นอกจากภาพที่เคลมกันไปมา 

“ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนไทยจริง ๆ ก่อนนำเสนอทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก จะต้องเช็คกัน 3 รอบ รอบแรก ดับเบิ้ลเช็ค และซูเปอร์เช็ค อีกทั้งแหล่งข่าวในประเทศ ต่างประเทศ รวมทั้งสถานทูต ที่จะเป็นแหล่งข่าวทางการ หากผิดหรือเปลี่ยนแปลงขึ้นมา สื่อก็ยังอ้างอิงได้ว่า เป็นแหล่งข่าวมาจากทางการ เพื่อยืนยันว่าสื่อเองไม่ได้ละเลยการตรวจสอบ เป็นต้น”

เสนอหน่วยงานรัฐมีศูนย์ข่าว

สุภิญญา ระบุว่า มีข้อเสนอไปยังหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะในรัฐบาลใหม่ที่คิดว่าสามารถปรับตัวและรับมือได้เร็ว เพื่อลดความสับสนเพราะไม่มีแหล่งข่าวที่เป็นทางการ เนื่องจากปัญหาเชื่อมกันหมด และทุกคนอาจต้องกลับมาปรับปรุงการทำหน้าที่ในส่วนของตัวเอง เพื่อลดทอนปัญหา แม้จะแก้ไม่ได้หมด แต่หากทุกคนปรับหน้าที่ตามฟังก์ชั่นของตัวเอง คนละจุด อาจบรรเทาเบาบางความสับสนลงได้

“หลายเรื่อง ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เราผ่านสถานการณ์แบบนี้มาหลายรอบแล้ว โดยเฉพาะยุคโควิด ความสับสนเรื่องข้อมูล มีบทเรียนมาแล้ว สถานการณ์ฉุกเฉิน สถานการณ์สงคราม น่าจะเป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรสื่อ และหน่วยงานภาครัฐ น่าจะต้องสรุปบทเรียน และเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลข่าวสารผิดพลาดให้ดีกว่านี้” 

“ถ้าเป็นนิวส์เซ็นเตอร์ มีคนคอยรับเรื่อง กำหนดขั้นตอน ดาวน์โหลดข้อมูลได้ หากยังไม่แน่ใจ ก็อาจบอกได้ว่ากำลังตรวจสอบอยู่ ให้รอ หรือถ้าเฟคเลย ก็อย่ารีบแชร์ ก็จะมีระดับของข้อมูลที่สามารถตัดสินใจได้ ในการยับยั้ง ทำให้คนติดตาม จะได้รับรู้ และเบาใจได้ด้วยไม่ใช่ไปหาข้อมูลกันเองในโลกออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะไม่ไช่เรื่องจริง มากกว่าจริง เพราะอาจผสมผสานขยายความจนมั่วไปหมด” 

“สถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ ครม.เองก็อาจทำเป็นพิเศษ ให้โฆษกแถลง อาจไม่ถึงขั้นแบบในช่วงโควิด แต่ถ้ามีสถานการณ์เกี่ยวข้องกับคนไทย การสื่อสารกับสาธารณะและสังคมก็ต้องมี เพื่อที่จะ Calm down ลง คิดว่าการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน ภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ สงคราม โรคระบาด ภาครัฐมีบทเรียนเยอะแล้ว ก็อาจจะต้องทบทวนกันอีกที สำนักนายกฯ หรือรัฐบาลอาจจะรวมศูนย์ในการทำตรงนี้ได้ หรือกระทรวงดีอีเอสจะต้องมีปฏิกิริยาโดยตรงกับเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับแพลตฟอร์มอยู่แล้ว แม้แต่ กสทช. ที่มีความสำคัญในการติดต่อกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม” 

หวังหน่วยงานรัฐสร้างกลไกร่วมแพลตฟอร์ม

“ต้องมีกลไกของรัฐในการทำงานกับแพลตฟอร์มให้เป็นเรื่องราว และตั้งมาตรฐานร่วมกัน ถ้าเป็นเรื่องขนาดนี้ จะต้องจัดการอย่างไร ซึ่งทางแพลตฟอร์มก็มีมาตรฐานอยู่  ประเทศไทยเราอาจมีมาตรฐานที่เราอยากจะเจรจาก็ได้ เพื่อหาจุดลงตัว ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝัน ที่ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง แพร่กระจายในโลกออนไลน์โดยไม่จำเป็น” สุภิญญา ระบุ

สุภิญญา ยังฝากถึงผู้บริโภค ที่จะต้องอาศัยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการเสพข้อมูลจากต่างประเทศดัวยว่า ควรระมัดระวัง โดยอยากให้เน้นอ่านเป็นหลักก่อน เมื่ออ่านแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ แต่ถ้าอยากแชร์ ก็ควรสืบค้นข้อมูลก่อน เพื่อเป็นการระวังให้มากขึ้น

ข้อมูลล้นโซเชียลส่งผลสื่อทำงานยาก

ด้านนักวิชาการสื่อ ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา มองว่า สถานการณ์นี้ เป็นวาระแห่งโลกซึ่งส่งผลกระทบไม่เฉพาะในต่างประเทศแต่ถึงไทยเราด้วย ข้อมูลในสื่อกระแสหลักและสื่อต่าง ๆ มาทุกทาง ไม่เฉพาะจากภาครัฐของแต่ละประเทศ แต่มาจากโซเชียลมีเดียด้วย ทำให้นักข่าวทำงานค่อนข้างยาก ในการคัดกรอง หรือตรวจสอบข้อมูล ว่าจะนำเสนอดีหรือไม่ จะเป็นการไปสนับสนุนอเจนด้าของฝั่งใดฝั่งหนึ่งหรือไม่ รวมถึงนักข่าว หรือสำนักข่าวที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เช่น ในประเทศเรา ก็ต้องรับจากสำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งต้องนำมาคิดวิเคราะห์อีกว่า ประเด็นที่เราจะนำเสนอ จะนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มเติมหรือไม่ หรือเป็นการสุมไฟเข้าไปในสงครามหรือไม่

การเช็คบาลานซ์ในการนำเสนอ อ.ชนัญสรา ระบุว่า หน้าที่สื่อก็ต้องเชื่อมั่นในการทำงานที่เป็นมืออาชีพของตัวเอง เรายึดหลัก ไม่ได้ต้องการตกเป็นเหยื่อของการลดทอนความเป็นมนุษย์ หรือการใส่ร้าย การประณาม การแบ่งแยกพวก แบ่งข้างในทางการเมือง หรือสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ ถ้าเรายึดตรงนี้ คำว่าเทคบาลานซ์จริง ๆ ก็เป็นเส้นบาง ๆ สมดุลจะต้องเท่ากันเลยหรือไม่ เข้าใจความยากของผู้สื่อข่าว และสำนักข่าว 

พื้นที่ข่าวแฝงอเจนด้าการเมือง

สิ่งสำคัญคือ ข้อมูลที่ได้มา อาจจะต้องตรวจสอบก่อน สำคัญมากเพราะเราต้องตระหนักไว้เสมอว่า ในพื้นที่ข่าว มีคนที่มีอเจนด้าอยู่เพราะแต่ละส่วนของสงคราม ก็มีคนที่ต้องการชนะ เป็นผู้ถืออำนาจ ฉะนั้นต้องตั้งคำถามตลอดเวลา โดยเฉพาะในสถานการณ์สงครามแล้วจึงค่อยตรวจสอบ ก่อนนำเสนอ แต่จะบาลานซ์อย่างไร เช่น มีผู้เสียหายในพื้นที่ เชื่อว่าไม่ใช่แค่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่มีหลายฝั่ง ต้องพยายามฉายภาพความหลากหลายตรงนี้ให้เห็น รวมถึงหลีกเลี่ยงคำ ที่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่า ไปตีตรากลุ่มนี้ เป็นแบบนี้แบบนั้น ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับยุค 911 ที่สื่อบางส่วนทำเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม แล้วเสนอซ้ำสิ่งนี้ สื่อตะวันตกซึ่งมีอำนาจอยู่แล้วในการขายข่าวให้สื่อต่าง ๆ ก็เป็นการเผยแพร่ ซึ่งเราจะต้องวิเคราะห์ และเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อจะไม่เป็นส่วนในการเติมเชื้อไฟ

“กรณีการจับตัวประกัน ซึ่งมีคนไทยรวมอยู่ด้วย และมีคนเสียชีวิต ก็ยิ่งมีการปะทุความเกลียดชัง เท่าที่สังเกตดูมีอเจนด้าบางอย่างที่ถูกนำมาใช้ทางการเมืองด้วย สื่อเองก็ต้องระวัง ประเด็นที่มีการสูญเสียแรงงานไทยเป็นเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลบางอย่าง ที่ถูกนำมาตีในเรื่องทางการเมือง ว่ารัฐบาลทำไม่ดี ก็ยิ่งเป็นการลากความขัดแย้งกลับเข้ามาในประเทศไทยด้วยอีกทางหนึ่ง แทนที่เราจะมุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือแรงงานไทยอย่างไรให้ได้มากที่สุด หรือมีช่องทางอะไรบ้าง เป็นต้น น่าจะเป็นเรื่องที่สื่อกระแสหลักต้องระมัดระวัง” อ.ชนัญสรา ระบุ

พบคนไทยเช็คทั้งสื่อหลัก-โซเชียล

อ.ชนัญสรา ยังเปิดเผยถึงการวิเคราะห์ข้อมูล Social listening ด้วยว่า ใน #อิสราเอล และ#ฮามาส ในโซเชียล มีการพูดถึงอย่างไร จากการติดตามในช่องทาง Twitter หรือ X และ Facebook ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่อิสราเอลประกาศสงคราม จนถึงปัจจุบันพบว่า คนติดตามช่องทางทั้ง 2 ส่วน ของสื่อกระแสหลัก โดย Top 3 ของ Facebook คือ พีพีทีวี เนชั่นออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ ส่วน Twitter คือ ไทยพีบีเอส มติชน และเนชั่น ซึ่งคนพยายามอัปเดต ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลัก 

นอกจากนี้ หากดูในแพลตฟอร์มออนไลน์ จะมีช่องต่าง ๆ พยายามอธิบายบริบทของความขัดแย้งสองฝ่ายต่าง ๆ มีกลุ่มคนทำโซเชียลมีเดียเสนอข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ หรือทำเรื่องที่เป็นหลายเลเยอร์ ทุกคนที่มีสื่อก็พยายามตระหนักว่า สถานการณ์ไม่ใช่แค่ใครทะเลาะใคร แต่มันมีเลเยอร์ทางผลประโยชน์ทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ได้เห็นกระแสความตื่นตัว แสดงว่าคนที่ใช้สื่อออนไลน์ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เผยแพร่ข้อมูลผิด ข่าวลวง หรือสร้างความเกลียดชังอย่างเดียว แต่ยังมีหลายกลุ่มในโซเชียลมีเดีย พยายามเข้าใจสถานการณ์ก่อนที่จะตัดสินใจสื่อสารอะไร จึงอยากให้เกิดกลุ่มที่สองนี้เยอะขึ้น 

หวังสื่อเติมความรู้ในสถานการณ์

สำหรับบทบาทสื่อกระแสหลัก อ.ชนัญสรา มองว่า นอกเหนือจากรายงานข่าวที่เป็นการบอกสถานการณ์ ตัวเลเยอร์เหล่านี้ ก็ควรจะคลี่ให้ผู้บริโภคสื่อเห็น จะเป็นตัวช่วยให้การศึกษาในช่องทางของเรา ไม่ได้บอกใครผิดใครถูก แต่บอกว่าสถานการณ์นั้น เป็นมาอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่จะสร้างความตื่นรู้ และความตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น 

ส่วนเรื่องเฟกนิวส์ ถือว่าเป็นข้อมูลบิดเบือน ผิดพลาด ที่อาจถูกปล่อยและแพร่กระจายมาโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม อันนี้เป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานเริ่มเห็นความสำคัญ ตั้งแต่โควิด ก็พยายามรณรงค์หรือให้ความรู้เท่าทันข่าวปลอม สอนวิธีการตรวจสอบ ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีก้าวล้ำ จนมีดีฟเฟค เราก็ต้องต่อสู้ รวมทั้งทัศนคติที่อาจจะต้องปรับปรุงกันหลายวง ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเด็ก เป็นเรื่องที่ต้องสู้กันต่อ และตอกย้ำ ขยายผลในการอบรม สร้างค่านิยมถ้ายังไม่ชัวอย่าแชร์

ขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ ก็จะมีมาตรฐานของเขาอยู่แล้ว ส่วนในประเทศเรา การส่งเสริมประชาชน การเทรนนิ่งสื่อ น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า คนไทยอย่างไรก็ยังดูสื่อออนไลน์ และเสพสื่อกระแสหลักด้วย ฉะนั้น ทำอย่างไร ให้สื่อมีคุณภาพมากขึ้น เราอาจจะยังไม่มีเงินทุนมากพอ ที่จะไปแสวงหาข้อมูล Investigates ถ้ามาช่วยกันพัฒนาสื่อ ทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อออนไลน์ที่เป็นที่นิยม ก็น่าจะทำให้การรายงานข่าวมีคุณภาพในหลายมิติมากขึ้น

โซเชียลมีเดียมีทั้ง”แฟควอร์-เฟกวอร์”

ขณะที่นักวิชาชีพ ชิบ จิตนิยม สะท้อนว่า เรื่องข้อมูลใหม่ ๆ ในสงครามอิสราเอล-  ฮามาส ทุกวันนี้บรรดาคนที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย นักวิชาการต่าง ๆ สรุปเห็นตรงกันว่า มันเป็นแฟควอร์ (Fact War) และเฟกวอร์ ( Fake War) ด้วย อะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือข่าวลวง ข่าวปลอม ซึ่งมี 2 คำ ทั้งคำว่า Misinformation กับ Disinformation คำว่า Misinformation คือข้อมูลที่อาจจะเกิดจากความผิดพลาด เกิดจากเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม เป็นข้อมูลที่อาจต้องการความรวดเร็ว อาจมีผิดพลาดบกพร่องบ้าง แต่คำว่า Disinformation สำคัญกว่าหมายถึงว่าเป็นเจตนา Manipulate ที่จะสร้างข่าวลวง ข่าวเท็จ ข่าวปลอมขึ้นมา เพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นประเด็นที่น่ากลัวมากกว่า ก็จะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ทั่วโลกมีความหวั่นไหว

ข่าวปลอมจากเอไอ-สื่อใช้ภาพหนังปะปน

สาเหตุที่สามารถทำได้ง่าย ตนพยามดูข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างประเทศ หลายแหล่งข่าวมีการสรุปตรงกันว่า เรื่องที่เผยแพร่ข่าวปลอมกันทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก AI ด้วย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ข่าวแพร่กระจายไปรวดเร็วมาก เพราะสามารถปลอมได้ทั้งเสียงทั้งรูปภาพ แม้แต่วิดีโอเกมต่าง ๆ เราจะเห็นข่าวที่มีความคลาดเคลื่อนจากความจริงไปมากมาย ภาพของการสู้รบ เป็นภาพในวิดีโอเกม แม้แต่ที่เห็นในสื่อไทยช่วงที่เกิดเหตุการณ์รบกันอย่างหนัก ก็มีช่องหนึ่งนำภาพจากภาพยนตร์มาอินเสิร์ช โดยไม่ระบุว่าเป็นภาพยนตร์ โดยเอาเรื่องจริงกับภาพยนตร์มาปะปนกัน เป็นเรื่องที่เสียหายมาก ทำให้คนเข้าใจผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนต้องระวัง

ชิบ ระบุด้วยว่า ณ วันนี้ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบโซเชียลมีเดียบอกว่า สถานการณ์ ณ วันนี้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมาก บางทีเราไม่สามารถจะแยกแยะได้ว่า อะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบที่เราไม่รู้ว่าจะเชื่อใจใครได้ จะฟัง จะเชื่อใครดี เป็นสิ่งที่ล่อแหลมอย่างมาก ทำให้สับสนวุ่นวายไปหมด ถ้าเราติดตามฟังข่าวจะเห็นปรากฏการณ์อย่างนี้มากมาย

ยุโรปกดดัน แพลตฟอร์มไล่ลบข้อมูลเสี่ยง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา เขายกตัวอย่างว่า ทางสหภาพยุโรปให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยให้บรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลดัง ๆ ใหญ่ ๆ ชี้แจงว่า มีวิธีการอย่างไรในการกลั่นกรองข้อมูลให้ถูกต้อง ซึ่งในช่วง 1-2 วันแรกที่เกิดเหตุการณ์ ทาง Twitter มีคนโพสต์เกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส มากกว่า 50 ล้านโพสต์ ระยะเวลาเดียวกัน Tik Tok บอกว่า ต้องลบคอนเทนต์วิดีโอออกไปมากกว่า 5 แสนวิดีโอ และปิดการไลฟ์มากกว่า 8,000 รายการ แสดงให้เห็นว่าทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียให้ความสำคัญ ทาง Meta  (เฟซบุ๊ก) เอง ก็บอกว่า 2-3 วัน หลังเกิดเหตุลบข้อความต่าง ๆ ที่เป็นการยุยง ให้ข่าวเท็จ ข่าวลวงประมาณ 8 แสนชิ้น

เขาเห็นความจำเป็น เพราะสหภาพยุโรปบอกว่า เป็นความเสียหายมาก นี่แค่ 2-3 วันแรก เพราะฉะนั้นมาตรการที่ทางสหภาพยุโรปออกมาบอกว่า ต่อไปนี้ถ้าหากบริษัทโซเชียลมีเดียใด ยังปล่อยให้มีการรั่วไหลของข้อมูลที่เป็นเท็จ อาจจะปรับเป็น 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ทั่วโลกจะยุ่ง ซึ่งก็มีนักวิชาการบอกว่าข่าวปลอม ข่าวเท็จ แค่ 1% จะส่งผลทำให้โลกวุ่นวายมาก

ขอความร่วมมือผู้ปกครอง-รร. ลบแอพฯ 

สำหรับการแก้ปัญหา เขาบอกว่าโรงเรียนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โรงเรียนในอิสราเอล อังกฤษ สหรัฐอเมริกา มีข้อแนะนำผู้ปกครอง ขอความร่วมมือให้ลบแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ลูกใช้อยู่ ถ้าเป็นแอพฯ ที่หมิ่นเหม่ ยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง โดยขอความร่วมมือทางผู้ปกครอง โรงเรียน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้ลบแอพฯ เหล่านี้ทิ้งด้วย เพราะเห็นว่าอาจจะลุกลามบานปลายแล้วคุมไม่อยู่ เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว 

อย่างเช่น ในสหรัฐฯ ที่อิลลินอยส์ มีเด็กอายุแค่ 6 ขวบ ถูกยิง และแม่บาดเจ็บ เนื่องจากเกิดความรุนแรงทางเชื้อชาติ เป็นเรื่องของชาวยิว ชาวมุสลิม โดยเฉพาะในฝรั่งเศส สหรัฐฯ ทุกวันนี้อยู่กันด้วยความหวาดกลัว หลายประเทศก็เช่นกัน ก็มีความวิตกกังวลว่าจะบานปลายลามปาม ลุกลามใหญ่โต

ทางด้านโซเชียลมีเดียในประเทศไทยมีอะไรที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ ชิบ มองว่าเยอะมาก มีการตกแต่งภาพเยอะมาก โดยเฉพาะ TikTok มีคนโพสต์เยอะมาก คนจะนิยมใช้มาก เป็นคลิปที่บางทีอ้างอิงสถานการณ์คนละเวลา คนละสถานที่ คนละปี เยอะมาก มีการโพสต์บอกว่าผู้นำประเทศต่าง ๆ โพสต์ข้อมูล ให้ความเห็น ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่มีความพยายามเอาไปตัดต่อคนละเรื่อง คนละเหตุการณ์กัน มีแม้กระทั่ง ทำซัปไตเติ้ล ดัดแปลงคำพูด นอกจากนี้ ปฏิกิริยาการตอบโต้ใน Facebook TikTok ก็จะเห็นว่ามีความรู้สึกแรงกล้า ในการตอบโต้กันมาก 

ผลกระทบคนสื่อแม้เป็นเกตคีพเปอร์

ขณะที่การนำเสนอข่าวของสื่อ ก็เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจ สื่อเองก็ไม่อยากเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ก็ต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ตนเคยมีประสบการณ์มามาก ช่วงนำเสนอข่าวระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ สมัยทำรายการข่าวอยู่ไอทีวี ก็ถูกถามว่าทำไมไม่ทำข่าวสงครามนี้บ้างซึ่งตนก็พยายามเว้นระยะบ้าง เพราะเหตุการณ์รบ ทะเลาะเบาะแว้ง เกิดขึ้นมาตลอด เราในฐานะสื่อมวลชนที่เป็นเกตคีปเปอร์ ก็ต้องพยายามไม่นำเสนอให้บ่อยนัก ในเรื่องเหตุการณ์ที่ร้ายแรง จะได้บรรเทาเบาบางความโกรธแค้นชิงชัง ตนพยายาม          บาลานซ์ทั้งสองฝ่าย สัมภาษณ์นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง แต่อย่างไรก็ไม่พ้นโดนด่าอยู่ดี เช่นเดียวกับเพื่อนในวงการสื่อก็โดนเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำใจ เพราะต่อให้เรามั่นใจ ยืนยันว่าเราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ก็เป็นเรื่องที่เรารับได้

ขณะที่ดิจิทัลคอนเทนต์ยุคนี้ ชิบ มองว่า เปลี่ยนไปมาก คำที่พูดกันว่า ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ ถึงได้ยุ่ง เพราะการเป็นนักข่าวโดยที่ไม่มีบรรทัดฐาน ไม่มีพื้นฐาน บางคนหวังจะมีเอ็นเกจเม้นต์ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เมื่อก่อนนี้เราต้องรับข่าวจากเดต้าใหญ่ ๆ จากดาวเทียมทุกวันนี้ดูเว็บไซต์ต่าง ๆ ข้อมูลเยอะมากจนไม่รู้จะเชื่อใคร แม้แต่สำนักข่าวใหญ่ ๆ เอง ก็พยายามศึกษาค้นคว้าเรื่องตรงนี้ ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับข่าว ในเชิงเป็นข่าวปลอมเยอะมาก เพราะเทคโนโลยีไปไกลมาก จนตามไม่ทัน เพราะฉะนั้นเรื่องของการติดตามข่าวสารช่วงนี้ ยังน่าเป็นห่วงอยู่มาก.