คดีดัง รองผบ.ตร. จ่ายเงินสื่อสะท้อนปัญหาใต้พรม แม้มีหลักจริยธรรมกำกับดูแลกันเอง 3 สภาวิชาชีพสื่อผนึกตั้ง กก.ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย นักวิชาชีพ ร่วมตรวจสอบข้อมูลก่อนชงต้นสังกัด สะท้อนปั ญหานักข่าวภูมิภาค-สตริงเกอร์ หวังร่วมกันแก้ปัญหาทั้งระบบ ด้านนักวิชาการชี้รับเงินแหล่งข่าวจุดอ่อนวัฒนธรรมองค์กร หนุนดูแลสวัสดิการเพื่อทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี กำกับทั้งระดับองค์กร-ตัวบุคคล กระตุ้นสังคมมีบทบาทกำกับดูแลสื่ออีกทาง
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “รับเงินแหล่งข่าว ผิดจริยธรรมวิชาชีพร้ายแรง” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และสืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย สุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ภูวสิษฏ์ สุขใส บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส และ Songkhla Focus รศ.เสริมศิริ นิลดำ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย
จากกรณีตรวจค้นบ้านพัก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับคดีพนันออนไลน์ถูกระบุว่ามีการจ่ายเงินให้ตำรวจทีมงาน รวมทั้งผู้สื่อข่าวด้วย และต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า จ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ทำให้สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และตั้งคำถามว่า เป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณ และจริยธรรมวิชาชีพหรือไม่ กระทั่ง 7 องค์กรสื่อ ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอให้องค์กรต้นสังกัดตรวจสอบด้วย
สุปัน รักเชื้อ อธิบายถึงแนวทางสภาวิชาชีพสื่อว่า ในสถานการณ์แบบนี้สภาวิชาชีพจะประชุมร่วมกัน เพื่อรับฟังข้อมูลรอบด้าน ไม่ด่วนตัดสินใจ เรื่องลักษณะนี้ถือว่าร้ายแรง เพราะคนที่ให้คือตำรวจ ดูจากข่าวที่ออกมา รองผบ.ตร. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และทนายความพยามแสดงความบริสุทธ์ว่าเงินที่ให้สื่อ เป็นเงินบริสุทธิ์มาจากกระเป๋าตัวเอง ไม่ใช่มาจากบัญชีเว็บไซต์พนันออนไลน์ จึงเป็นประเด็นที่กระทบกับการทำงานวิชาชีพสื่อของพวกเรา ซึ่งก็มีระเบียบ ข้อบังคับทางจริยธรรมซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มของวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนี้การวางรากฐานจริยธรรมสื่อมวลชน ได้มีนักวิชาการ นักนิเทศศาสตร์ นักสื่อสารมวลชน หลายมหาวิทยาลัย ได้นำไปอ้างอิงบ่อย ๆ คือบัญญัติ 8 ประการของ อ.สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์และนักวารสารศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย ว่าด้วย “ข้อที่ 7 นักข่าวที่ดี จะต้องไม่รับผลประโยชน์ หรือสินบนจากแหล่งข่าวอย่างเด็ดขาด เพราะผลประโยชน์ดังกล่าว อาจมีผลต่อความเป็นกลาง และความเป็นธรรมของนักข่าว” นี่คือการวางมาตรฐานทางจริยธรรมวิชาชีพ การที่เราจะไปรับอามิสสินจ้างจากแหล่งข่าว อาจมีผลต่อการโน้มเอียงในการนำเสนอข่าวให้กับเจ้าของเงิน สิ่งของ ที่ให้กับเราหรือไม่ ถือเป็นการป้องกันไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งเราได้ยึดถือปฏิบัติกันมาต่างกรรมต่างวาระ
ต้องยอมรับว่าในโลกของสื่อสารมวลชนบ้านเรา ในปัจจุบันมีสื่อหลากหลายประเภทมากขึ้น ทั้งสื่อที่มีสังกัด สำนักข่าวต่างๆ สื่อที่เป็นสื่อมวลชนอิสระ เป็นฟรีแลนซ์ บางคนเป็นเอเจนซี่ข่าว ฉะนั้นคนฟังอาจจะมีคำถามว่าแตกต่างกันตรงไหน อย่างไรก็ตาม เรื่องจริยธรรมสื่อ คนที่ทำสื่อ ต้องมีจริยธรรมขั้นพื้นฐาน เรื่องนี้ไม่ปฏิเสธ แต่อาจมีการกำกับดูแลที่แตกต่างกันออกไป
หากเรามาดูเจาะจงลงไปในประเด็นนี้ จะเห็นว่า ในสถานการณ์นี้ มีสื่อ 2 ประเภท ประเภทแรกที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และทนายความพูดถึง คือ ประเภทที่ 1 คือรับเงินจากเขาโดยตรง ตอนที่เราประชุมองค์กรวิชาชีพ และสืบค้นข้อมูลจากนักข่าวในภาคสนาม ก็จะมีสถานภาพของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องตรงนี้ได้ชัดเจน ว่าเป็นฟรีแลนซ์ หรือบางคนเป็นเอเจนซี่ข่าว ตรงนี้จึงอยู่นอกเหนือการกำกับดูแลขององค์กรวิชาชีพ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรใด ในวิชาชีพสื่อ
เคลียร์ปมสภาวิชาชีพกำกับได้เฉพาะสมาชิก
“หลักการที่อยากทำความเข้าใจร่วมกัน คือ องค์กรวิชาชีพสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสมาคม หรือสภาวิชาชีพ จะกำกับดูแลได้เฉพาะบุคคลและองค์กรที่เป็นสมาชิกเท่านั้น กรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เราจะใช้กระบวนการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สื่อข่าวคนนั้น ๆ เช่น รายการที่นำเสนอข่าวจากเขา และสถานีที่ดูแลจัดการรายการนั้น ๆ ” สุปัน ระบุ
ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวอีกว่า อาจมีคำถามว่า ทำไมองค์กรวิชาชีพทำอะไรไม่ได้ มากกว่าการออกแถลงการณ์หรือ ความเป็นจริง บทบาทเบื้องต้นของเรา คือการออกแถลงการณ์ ในการขอความร่วมมือ ในการสืบสวนสอบสวน หลายหลายเรื่องเราทำสำเร็จ และได้ผลมา ก็ต้องส่งให้องค์กรต้นสังกัดเป็นคนดูแลจัดการ หรือบางทีมีกรณีที่เกิดขึ้นองค์กรเขาก็รู้ว่านักข่าวเขาผิด หรือรายการเขาผิด เขาก็แถลงขอโทษในรายการ แสดงความรับผิดชอบในรายการ เช่นเดียวกับคดีความ ที่หากตกลงกันได้ ก็ลงโฆษณาขอโทษกัน ถ้ามองย้อนกลับไป สื่อสิ่งพิมพ์สมัยก่อน เมื่อเกิดความผิดพลาด ก็ลงประกาศขอขมา ขออภัย แต่ความรู้สึกของคนในสังคม อาจไม่เข้าใจ เห็นว่าไม่สามารถทำอะไรได้
เมื่อถามว่ากรณีนี้ สามารถจำแนกนักข่าวออกเป็น 2 กลุ่มได้หรือไม่ คือ กลุ่มรับเงินตรงจากรอง ผบ.ตร. กับอีกกลุ่มมีข้อมูลเส้นทางการเงินเข้ามา สุปัน ระบุว่า กรณีที่ตำรวจไซเบอร์ชี้แจงผ่านสื่อ ต่างกรรมต่างวาระว่ามีนักข่าวที่รับเงินตรงจากบัญชีม้าและจะเรียกสอบ อาจจำแนกสื่อเป็น 2 ประเภท ถ้าเป็นในเชิงกฎหมาย ฝ่ายสืบสวนสอบสวนคดีก็ดำเนินการไปแต่สำหรับองค์กรวิชาชีพทั้ง 7 องค์กรก็จะตรวจสอบทางจริยธรรม ผ่านองค์กรที่นักข่าวนั้น ๆ สังกัด
ตั้งกก.ร่วมตรวจสอบ ก่อนส่งต้นสังกัด
“เรายังไม่ได้มองว่า เพื่อนร่วมวิชาชีพเราทั้ง 2 ส่วนนี้ผิด แต่นี่คือหลักการที่เราจะต้องตรวจสอบ ว่าเกิดอะไรขึ้น ในการที่จะดำเนินการนี่คือบทบาทในเบื้องต้นขององค์กรวิชาชีพ ซึ่งเรามีมติร่วมกันที่จะให้ 3 สภาวิชาชีพ ซึ่งเป็นหลักอยู่ใน 7 องค์กรเป็นฝ่ายตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ประกอบด้วย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งมีเครือข่ายที่เป็นสมาชิกสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ ที่แพร่ภาพ และสถานีวิทยุที่กระจายเสียงอยู่ เป็นสมาชิกของเรา ซึ่งก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขการกำกับดูแลของเราได้”
สำหรับคณะกรรมการ คาดว่าอย่างช้าน่าจะเสร็จสัปดาห์นี้ ซึ่งจะประกอบด้วย นักกฎหมาย นักวิชาการ นักวิชาชีพ เหมือนกับกระบวนการในการไต่สวนคดี โดยคณะกรรมการจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ถูกกล่าวหา ผู้เปิดเผยหรือเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน มาให้ข้อมูลด้วย ส่วนจะมาหรือไม่ เราก็คงไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง เพราะฉะนั้นเราก็อยากขอความร่วมมือด้วย เพราะสิ่งที่ท่านให้ข่าวออกมา ได้สร้างผลกระทบที่เสียหายให้กับวงการวิชาชีพสื่อมวลชนมาก เมื่อได้ข้อมูลมารอบด้าน คณะกรรมการฯ ก็ต้องมาประเมิน ก่อนจะมีคำวินิจฉัยออกมา จากนั้นก็จะส่งให้หน่วยงานที่สื่อนั้นสังกัด และคณะกรรมการของแต่ละสภาวิชาชีพพิจารณา ซึ่งในกระบวนการขององค์กรสื่อก็จะมีกรอบเวลากำหนด
อย่างไรก็ตาม ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงาน และเอเจนซี่ข่าวทั้งหลาย ที่จัดงานแถลงข่าวต่างๆ อยากให้เข้าใจกระบวนการในการนำเสนอข่าวด้วยว่า นักข่าวที่ไปทำข่าว ไม่ใช่ว่าเขาสามารถตัดสินใจนำเสนอข่าวนั้นๆ เองได้ แต่จะต้องผ่านกระบวนการในกอง บก.พิจารณาก่อน จึงจะนำออกอากาศได้ เพราะฉะนั้นบางที ที่เห็นว่ามีการต่อว่าต่อขานกัน โดยที่เอเจนซี่ หรือหน่วยงานของรัฐ ก็ไม่รู้ว่า ให้ข่าวไปแล้ว ทำไมถึงไม่ออกอากาศ
สะท้อนปัญหานักข่าวภูมิภาค-สตริงเกอร์
“ที่ลำบากและเป็นประเด็นที่ถูกต่อว่าต่อขานมากที่สุด คือเพื่อนร่วมวิชาชีพที่เป็นนักข่าวภูมิภาค และสตริงเกอร์ ขณะที่พวกเรายังมีสังกัด มีสำนักงานรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทั้งครีเอทประเด็น ช่วยคิดประเด็นให้ ทั้งนัดแขกให้ แต่เพื่อนร่วมวิชาชีพเราในต่างจังหวัด เขาต้องคิดเองทุกอย่าง ลงทุนเองทุกอย่าง ทั้งกล้อง ทั้งค่ารถไปทำข่าว แต่บางทีทำข่าวส่งมา ส่วนกลางบอกไม่เอา ไม่เล่น เขาก็ไม่มีรายได้ จึงอยากฝากไปยังสำนักข่าวต่าง ๆ เวลาได้ข่าวมาเล่า เผยแพร่หลายแพลตฟอร์ม แต่ละแพลตฟอร์มมีรายได้ แต่เราจ่ายค่าข่าวให้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพเราที่เป็นข่าวต่างจังหวัดราคาเดียว แล้วเราจะมองว่าทำไมเขาถึงไปหาเศษหาเลย เขาบอกว่าแล้วพวกเขาจะอยู่อย่างไร” สุปัน สะท้อนปัญหาที่เกี่ยวโยง และทิ้งท้ายว่า เรื่องจริยธรรม การกำกับดูแลกันเอง โดยเฉพาะเรื่องการรับเงินของสื่อ การจะดูแลจัดการกันเอง จึงอยากให้มองกันทั้งระบบ
สภาการสื่อจุดยืนขับเคลื่อนจริยธรรม
ด้านนักวิชาชีพ ภูวสิษฏ์ สุขใส ระบุว่า 1.ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยพูดคุยในองค์กรสื่อหลายครั้ง 2.เป็นเรื่องที่รับรู้กัน 3.เป็นความจริงที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ 4.แล้วทำไม ไม่มีการจัดการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรามักจะทำเป็นไฟไหม้ฟางหรือพูดกันเฉพาะเมื่อเกิดเหตุ แล้วก็จบกันไป ฉะนั้น ตนจึงอยากตั้งเป็นจุดข้อเสนอเพื่อนำไปสู่องค์กรสื่อที่เกี่ยวข้อง
เมื่อก่อนเราสัมมนาวิชาการ วิชาชีพ บ่อยครั้ง มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้ง กสทช. กรมประชาสัมพันธ์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเคยทำเรื่องเรื่องจริยธรรม เรื่องการส่งเสริมสื่อมืออาชีพดี ๆ ขณะที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็มีเจตนามุ่งมั่นแน่วแน่เรื่องนี้มาก โดยขับเคลื่อนตั้งแต่เป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จนเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
“ผมเองก็ได้รับมอบหมาย ให้เดินสายไปพูดคุยกับเพื่อนสื่อทั่วประเทศ ในการจัดตั้งคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร หรือ ออมบุดสแมน ว่าจะกำกับดูแลจริยธรรมอย่างเข้มข้นอย่างไร โดยก่อตั้งทุกภูมิภาค ตามนโยบายของสภาการฯ แต่โจทย์ที่เพื่อนสื่อสารกลับมายังผม ว่าพูดแต่เรื่องจริยธรรม แล้วเรื่องความอยู่รอด เราจะเป็นอย่างไร ผมจึงนำกลับมานำเสนอที่สภาการฯ ว่า เราต้องทำ 2 เรื่องพร้อมกัน คือส่งเสริมทั้งวิชาชีพ และอาชีพให้เขาอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง โดยการพัฒนาอบรมส่งเสริมเชิงธุรกิจ ต้องควบคู่ไปกับเรื่องจริยธรรม เราควรจับมือจับมือกันทั้งหมด ทำอย่างจริงจัง อาจจะต้องมีโรดแมป” ภูวสิษฏ์ กล่าว
ภูวสิษฏ์ระบุด้วยว่า ครั้งล่าสุดในการเสวนา 26 ปีสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้พูดคุยกันเรื่องการกำกับดูแลกันเองของสื่อ เรื่องจริยธรรมสื่อ ก็เชื่อมโยงมาถึงประเด็นนี้ตอนนี้ เราคิดว่า ถึงเวลาที่เราต้องส่งเสริมเรื่องการกำกับดูแลกันเองอย่างเข้มข้น ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันเรื่องศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ และอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ ก็ต้องทำให้กระจ่างชัด โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ทุกวันนี้ตั้งแต่มีโซเชียลมีเดีย ที่เราพูดกันเยอะว่า ใคร ๆ ก็ เป็นสื่อได้
เสนอทุกฝ่ายร่วมจัดระเบียบสื่อในสังคม
ในวงการสื่อทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า สถานภาพสื่อหรือคนในวงการสื่อโดยรวม ความเข้มแข็งของวิชาชีพสื่อมวลชนธุรกิจสื่อต่าง ๆ ถูกกระทบตั้งแต่ถูกดิสรัปชั่น โควิด วิกฤตสื่อ เรื่องแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไป ทุกวันนี้รูปแบบสื่อออนไลน์ เรียกว่าภาวะสังคมสื่อไร้ระเบียบ ไม่มีองค์กร หรือหน่วยงานรัฐ สามารถกำกับ หรือจัดระเบียบได้เลย ในต่างจังหวัด ก็นิยามว่าตัวเองเป็นสื่อเยอะไปหมด แค่มีเพจเฟซบุ๊กเท่านั้นก็เป็นสื่อ เป็นบรรณาธิการกันหมด ซึ่งตนเคยเสนอกับองค์กรสื่อ หน่วยงานวิชาการ วิชาชีพ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมาจัดระเบียบว่า คนที่จะบอกว่าเป็นเจ้าของสื่อ ควรมีคุณสมบัติในวิชาชีพอย่างไร
“อย่างวิชาชีพ ที่ได้รับการยอมรับ และรับรู้โดยทั่วไป เช่น ทนายความ วิศวกร แพทย์ เภสัชกร แต่คนสื่อ วิชาชีพสื่อ ไม่มีอะไรเป็นตัวชี้วัดเลย อันนี้อันตราย ฉะนั้นวันนี้ทุกองคาพยพที่เกี่ยวกับสื่ออาชีพ ฝ่ายวิชาการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องหันหน้าเข้ามาจัดการตรงนี้ มาจัดระเบียบ จำแนกให้ชัดเจน บอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้ แล้วนำไปสู่การส่งเสริม การประกอบการ หรือการพัฒนาวิชาชีพ และจริยธรรม แล้วก็นำไปสู่กระบวนการกำกับดูแลกันเอง”
ภูวสิษฏ์ มองว่า สื่ออาชีพทุกคนต้องมีองค์กรต้นสังกัด และกำกับดูแลผ่านองค์กรต้นสังกัด ซึ่งต้องดูแลคนของตัวเอง ทั้งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ที่เหมาะสม บวกกับเรื่องจริยธรรม หากทำได้ปัญหาก็จะไม่เกิด ผู้หลัก ผู้ใหญ่ นักการเมือง นายตำรวจใหญ่ ก็ไม่มีข้ออ้างว่ารายได้สื่อไม่พอ ต้องดูแล ไม่ต้องคิดแทนเรา และต้องให้สังคมเข้าใจว่า สื่อมืออาชีพทำงานบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม
เปิดปัญหาใต้พรม สะท้อนธรรมเนียมปกติ
ในมุมมองนักวิชาการ ผู้เขียนตำราวารศาสตร์ จากงานวิจัย รศ.เสริมศิริ นิลดำ เห็นว่า เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น เป็นความบอบช้ำ ทั้งของวงการตำรวจ และวงการสื่อ ที่ผ่านมาก็พอจะรู้กันโดยนัยอยู่แล้ว ยังไม่โจ๋งครึ่มเท่านี้ แต่ครั้งนี้พูดออกมาชัดเจนจากผู้ให้เงิน
จึงเป็นการดึงปัญหาใต้พรมออกมาพูดซ้ำอีกครั้ง ทำให้ในสังคมรู้อย่างกว้างขวาง และพูดเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติของแหล่งข่าว เหมือนเขารู้สึกว่าเป็นธรรมเนียมปกติไปแล้วในการเชิญสื่อไปทำข่าว
ส่วนเรื่องนี้ควรดำเนินการสอบสวนหรือไม่อย่างไร อ.เสริมศิริ มองว่า องค์กรสื่อต้องคิดก่อนว่า เบื้องต้นคนที่ทำงาน ณ จุดนั้นที่รอง ผบ.ตร.พูดถึงสถานภาพนักข่าวที่ติดตามไปทำข่าว แล้วก็ให้ช่วยส่งข่าวไปให้สื่ออื่น ๆ ด้วย จะเรียกว่าเป็นนักข่าวที่สังกัดองค์กรหรือไม่ เบื้องลึกเบื้องหลังของผู้ที่รับเงิน หากเป็นนักข่าวอิสระ ที่มารับทำข่าวให้ เป็นการส่วนตัว เหมือนเป็นพีอาร์ส่วนตัว เป็นนักข่าวส่วนตัว หรือนักข่าวสังกัดองค์กรสื่อ ตรงนี้ยังไม่ทราบข้อมูล แต่ถ้าเป็นนักข่าวสังกัดองค์กร หรือแม้กระทั่งเป็นนักข่าวอิสระ ถ้าขึ้นชื่อว่านักข่าว โดยคำ ๆ นี้ ย่อมผูกมัด ในสำนึกทางวิชาชีพตัวเองอยู่ จริยธรรมเป็นเรื่องพื้นฐานมาก โดยเฉพาะการรับค่าตอบแทน ซึ่งอาจจะนำเสนอเป็นกลาง ไม่เป็นกลาง แม้คนรับเงินจะอ้างว่าไม่ผูกมัดกับเนื้อหาแต่จริง ๆ ความไว้วางใจของสังคมที่รู้ในวงกว้าง ก็ไม่อาจไว้วางใจได้
ย้ำจริยธรรมเรื่องพื้นฐานวิชาชีพสื่อ
“โดยหลักของจริยธรรมเป็นเรื่องที่นิยามได้ยาก จริยธรรมก็มีรากฐานมาจากคุณธรรมจริยธรรมในสังคม กลายเป็นจริยธรรมของวิชาชีพ แต่ละวิชาชีพ จริยธรรมกับกฎหมายมีที่มาอย่างเดียวกัน คือสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ดังนั้นแต่ละสังคมก็อาจจะพูดถึง กำหนดหรือบอกมาตรฐานของจริยธรรมแต่ละวิชาชีพ ที่ไม่เท่ากัน แต่ในหลักสากล วิชาชีพสื่อ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตข่าว เรามีพื้นฐานเชื่อกันทั่วโลกว่า ข่าวคือความจริง คือข้อเท็จจริงในสังคม ที่สื่อนำมาเล่า ประเด็นก็คือว่า ในการเล่าของสื่อ เรามีสาร ความจริงที่เกิดขึ้นมีหลายแง่มุม มีหลายมุมมอง อยู่ที่ว่า ผู้ที่จะเล่า หรือนักข่าวหยิบอะไรขึ้นมาเล่า มาประกอบสร้างความจริง มาประกอบเหตุผลในการเล่าข่าว ให้คนในสังคมได้รับทราบ”
จุดอ่อนวัฒนธรรมองค์กร-สิ่งแวดล้อม
ดังนั้นสำนึกของคนแต่ละคน ที่เป็นนักข่าวจึงไม่สามารถกำหนดให้ชัดเจนได้ เพราะอาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมแต่โดยหลักพื้นฐาน 1.เรื่องของเงินที่ได้รับจากแหล่งข่าว และมูลค่าที่มากเกินไป อย่างไรมันก็เป็นจริยธรรม ที่ไม่ยาก ที่จะคิดได้ว่า มันไม่สมควร ไม่เหมาะสม สำนึกของนักข่าวแต่ละคนอาจจะมีไม่เท่ากัน เช่น ปัจจัยด้านองค์กร เขาอยู่ในองค์กรประเภทไหน วัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร บรรณาธิการ หัวหน้าข่าว นักข่าวอาวุโส พี่เลี้ยง ได้ถ่ายทอดตรงนี้กันหรือไม่ อันนี้ นอกจากการจะหลุดพ้นจากโลกมหาวิทยาลัยแล้ว ทางนิเทศศาสตร์ ก็สอนกันอยู่แล้ว แต่พอเข้าไปสู่วิชาชีพ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านองค์กร
2.อายุงาน บางทีอายุงานรุ่นน้องน้อย ๆ วิจารณญาณ อาจจะเรียนรู้น้อย แยกแยะไม่ได้ว่า อะไรเหมาะควร ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมหรือสังคม เช่น การทำข่าวอาชญากรรม จะต้องดูแวดวงของนักข่าวสายนี้ เวลาไปทำข่าว ด้วยการลงพื้นที่ คนหนึ่งรับ คนหนึ่งไม่รับ เขาก็รู้กันในวงการ ในพื้นที่นั้น ดังนั้นถ้าทำอะไรที่สังคมอาชีพเดียวกันรับไม่ได้ ก็จะต้องมีความละอาย เป็นเรื่องที่เปิดเผยไม่ได้ แต่รอบนี้แหล่งข่าวเปิดเผยหมด จึงกลายเป็นเรื่องที่รู้กันขึ้นมา
หนุนดูแลสวัสดิการเพื่อทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี
อย่างไรก็ตามอ.เสริมศิริ มองว่าภารกิจขององค์กรสื่อ นอกจากกำกับดูแลบุคลากร ก็ต้องดูแลเรื่องสวัสดิการของผู้สื่อข่าวด้วยการครองชีพต้องให้อยู่รอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อไม่ต้องไปพึ่งพา ไปรับเงินค่าดูแลทั้งหลาย กรณีดังกล่าวการพูดถึงปัญหาสำคัญของจริยธรรมสื่อในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะมาจากการถูกแทรกแซงระดับองค์กร หรือระดับปัจเจกบุคคลมาจากเหตุเรื่องเงินเป็นหลัก แต่รอบนี้มาจากรายบุคคล คือนักข่าว
ดังนั้นองค์กรสื่อจำเป็นต้องดูแลเรื่องค่าของชีพ หรือยกระดับค่าของชีพสวัสดิการต่าง ๆ ให้เขาพออยู่ได้ ตามมาตรฐานค่าแรง และสื่อดีดีๆก็ควรจะได้รับการยกย่อง หรือถูกตำหนิ กรณีที่ทำผิดไปจากความคาดหวังของสังคม อยากให้สังคมเข้ามาเปลี่ยนบทบาทหน้าที่นอกจากเสพข่าว เสพสื่อแล้ว อยากให้เป็นผู้กำกับดูแล เราอาจจะต้องหาวิธีการรณรงค์จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รณรงค์กับภาคประชาชนให้ช่วยมอนิเตอร์สื่อ และเรื่องของการจับจ้องมองสื่อว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น
แนะกำกับทั้งระดับองค์กร-ตัวบุคคล
อ.เสริมศิริ ระบุด้วยว่า สำหรับจริยธรรมสื่อองค์กรสื่อเองนอกจากจะต้องกำกับเรื่องจริยธรรมตัวเอง ไม่ให้กองบรรณาธิการข่าวถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุนการโฆษณาหรือฝ่ายการเมืองต่างๆ แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องกำกับเป็นรายบุคคล ในเรื่องการเข้าถึงเข้าหาแหล่งข่าว ทำอย่างไรให้คนที่ทำข่าว มีสำนึกเรื่องของความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมการเลี้ยงดูปูเสื่อ เลี้ยงข้าว การมีน้ำใจในระดับใด ที่ไม่เป็นการซื้อ ไม่ถูกซื้อ แม้กระทั่งวงราชการ ป.ป.ช.ยังกำหนดการรับของขวัญ สินน้ำใจไม่ควรเกิน 3,000 บาทวงการสื่อก็ต้องตระหนักตรงนี้เหมือนกัน ฉะนั้นการรับค่าตอบแทนในรูปแบบใดก็ตาม ก็ต้องเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง ไม่สามารถรับได้
จากงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยู่รอดของนักข่าวในสายภูธร ระดับจังหวัด ไปถามชาวบ้านเขาก็เข้าใจว่า นักข่าวไม่ควรรับเงิน ถ้าเรียกรับเงินเขาก็รู้ว่านักข่าวคนนั้นไม่ดี
กระตุ้นสังคมมีบทบาทกำกับดูแลสื่อ
ฉะนั้นหน้าที่หนึ่งของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ต้องตอกย้ำเรื่องจริยธรรมสื่อให้สังคมช่วยกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง แม้อาจจะไม่ใช่กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพโดยตรง แต่หากทำคู่ขนาน ไปกับการให้สังคมรับรู้ สังคมช่วยตรวจสอบคนที่ทำหน้าที่สื่อ ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้อยากให้องค์กรสื่อที่ถูกพาดพิง เวลามีประเด็นร้อนขึ้นมา คนในสังคมก็จะจับจ้อง ก็เป็นโอกาสดี ที่องค์กรสื่อที่ถูกพาดพิงได้แสดงจุดยืนกับสังคม และผู้ปฏิบัติงานของตัวเอง เพื่อทำให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณ จริยธรรม จะมีการกำกับดูแล ตรวจสอบหรือมีบทลงโทษอย่างไรตรงนี้ ก็จะกลายเป็นโอกาส ทั้งเผยแพร่ความรู้เผยแพร่ และตอกย้ำจุดยืนให้คนในอาชีพได้ตระหนักมากขึ้น
สำหรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย อ.เสริมศิริ ระบุว่า อาจารย์นิเทศศาสตร์ที่สอนวิชาจริยธรรมในแต่ละภูมิภาค ได้พูดคุยกันเรื่อย ๆ จะนำหลักการมาสอน 20-30% ที่เหลือจะเป็นเอากรณีศึกษา โดยยกเคสที่คลาสสิคต่าง ๆ เช่น แง่มุมของการเสนอที่ละเมิดกลุ่มคนเปราะบาง ละเมิดสิทธิเด็กสตรี การสื่อสารกับการใช้ความรุนแรงในข่าว ในคอนเทนต์ต่าง ๆ คดี 2-3 ปีที่ผ่านมา คดีที่อัพเดตต่าง ๆ
การนำเสนอด้วยเทคโนโลยีสื่อ เช่น การไลฟ์สด สตรีมมิ่ง การถ่ายทอดสด เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อจริยธรรมสื่ออย่างไรเป็นสิ่งที่เราพยายามสอน และเคสล่าสุด เราก็ต้องนำเสนอให้เด็กได้เรียนรู้ ดังนั้น ระดับการเรียนรู้ คิดว่านักศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์ซีเรียสว่า จริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะสำคัญมากกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ เพราะจริยธรรมถูกโยงในการทำหน้าที่ทุกวัน.