สภาการสื่อมวลชนฯ อัปเดตนิยามศัพท์สื่อมวลชนให้ทันสมัย
ครอบคลุม สังคมได้นำไปใช้ในมาตรฐานเดียวกัน
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อัปเดต “นิยามศัพท์สื่อมวลชน” ในยุคดิจิทัล เมื่อสื่อโซเชียลหลากหลาย เพื่อให้ทันสมัย ครอบคลุม สังคมนำไปใช้ในมาตรฐานเดียวกัน และเชื่อมโยงราชบัณฑิตยสภา ด้านนักวิชาการจำแนก 3 กลุ่มสื่อออนไลน์ ชี้จุดอ่อนภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าใจนิยามสื่อต่างกัน จำเป็นต้องจำแนกสื่อให้ชัด ย้ำจริยธรรมแห่งวิชาชีพจุดสำคัญยึดโยงสื่อหลัก ที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “นิยามของสื่อมวลชนในยุคดิจิทัล” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาการสื่อสารดิจิทัลคอนเทนต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ อนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ และสมาชิกสัมพันธ์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เกรียงไกร บัวศรี ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวออนไลน์ เดลินิวส์ออนไลน์
ในยุคดิจิทัล ที่สื่อมีความหลากหลาย ในที่สุดองค์กรวิชาชีพสื่อจำเป็นต้องนิยามคำว่า “สื่อมวลชน” ในยุคนี้กันใหม่หรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในสังคม วันนี้จึงนำประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยกับทั้งนักวิชาการ นักวิชาชีพ และตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ
โดยเฉพาะผู้นำเสนอแนวคิดนิยามสื่อในยุคดิจิทัล ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ได้หยิบยกเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มาตรา 35 ซึ่งระบุ นิยามสื่อมวลชนไว้ว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” โดยรัฐธรรมนูญให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และการนำเสนอข่าวสารค่อนข้างชัด
ทั้งนี้ เมื่อมามองสื่อมวลชนในปัจจุบัน ก็จะพบว่าแตกต่างจากในอดีต ซึ่งสื่อเก่า จะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และทรานฟอร์มมาเป็นออนไลน์มากขึ้น ขณะที่สื่อออนไลน์ในปัจจุบันก็แตกแขนงออกมา สื่อใหญ่ก็มีช่องทางออนไลน์ของตัวเอง รวมถึงผู้ที่สร้างเพจขึ้นมา แล้วสถาปนาตัวเองเป็นสื่อมวลชน เป็นสำนักข่าว หรืออินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ ที่คิดว่าสามารถดึงดูดให้คนสนใจการนำเสนอข่าวของตัวเอง ก็จะดึงตัวเองขึ้นมา ดังนั้นคำว่าสื่อมวลชนจึงเริ่มแตกต่างออกไป
อ.สิงห์ ระบุว่า หากดูเนื้อหารัฐธรรมนูญ ที่ระบุถึงจริยธรรมวิชาชีพ ดังนั้นจะต้องชี้ชัดว่า สื่อมวลชนที่เราจะนิยามกัน จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยเฉพาะที่มองกันว่า มีจริยธรรมวิชาชีพเป็นตัวกำหนดว่าคนไหนเป็นสื่อมวลชนหลัก และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทราบหรือไม่ว่าจริยธรรมวิชาชีพคืออะไร
ในอดีตเราอาจมองว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ รวมถึงให้ความบันเทิงซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่สื่อสารมวลชน ตรงนี้จึงต้องมองต่อไปว่า ณ ปัจจุบัน คนที่ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ควรนิยามตัวเองว่าอย่างไร ขณะที่อีกด้าน ก็มีคนมองว่า สื่อมวลชนถ้าแปลแบบสุดโต่ง ก็คือจาก One to many คือจากหนึ่งไปถึงหลาย ๆ คนได้ จะแปลว่าทุกคนที่มีโซเชียลออนไลน์สามารถเป็นสื่อมวลชนได้หรือไม่
สุดท้ายถ้ามองในแง่ของกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ามีจริยธรรมวิชาชีพเป็นตัวกำหนด ให้สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่อะไร และอะไรที่ทำแล้วไม่ถือว่าเป็นสื่อมวลชน เช่น การเรียกรับเงิน ก็ต้องมองต่อไปว่า ปัจจุบันสำนักข่าวออนไลน์ที่มีจำนวนมาก รวมทั้งเพจต่าง ๆ ที่ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นสำนักข่าว แต่นำเสนอข่าวสารประหนึ่งเป็นสื่อมวลชน เราจะทำให้คนกลุ่มนี้จะขยายตัวเอง บอกตัวเองว่า เป็นสื่อมวลชนได้หรือไม่
ชี้ปมสับสนของหน่วยงานในนิยามสื่อ
พร้อมกันนี้ อ.สิงห์ ได้ตั้งประเด็นว่า หากสำนักข่าวออนไลน์ อยากเข้าไปทำข่าวในหน่วยงานราชการ เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงต่าง ๆ ที่ต้องมีบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว โดยมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัด จึงจะได้บัตรอนุญาตเข้า หากสามารถถือบัตรเป็นสื่อมวลชนได้ ส่วนนี้คือสื่อมวลชนใช่หรือไม่ ทั้งนี้ วิธีการคัดกรองสื่อมวลชนของหน่วยงานต่าง ๆ ก็แตกต่างกัน เช่น การไปทำข่าวถ่ายภาพในงานพระราชพิธี ต้องเฉพาะผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็เป็นอีกระดับหนึ่ง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในการคัดกรองแต่ละหน่วยงาน จะแตกต่างกัน หากไม่มีหน่วยงานกลางดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องเอาไว้ว่า ตามจริยธรรมวิชาชีพ สามารถจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขึ้นมาได้ เพื่อคัดกรองว่าใครเป็นสื่อมวลชน ใครไม่เป็น
การจัดลำดับตรงนี้ ตนมองว่าเป็นความสำคัญ ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นว่ามีอยู่ เราอยากให้เห็นว่า ตรงนี้จะตอบคนในสังคมทั่วไปได้อย่างไรว่า คนที่เดินไปเดินมาตามนายกฯ คนไหนคือสื่อมวลชน
อ.สิงห์ มองว่า ปัจจุบันเราให้ความสำคัญสื่อออนไลน์ค่อนข้างสูงเราก็ต้องมองลึกลงไปอีกว่า ที่เขาทำกันอยู่ ถูกต้องตามจริยธรรมวิชาชีพหรือไม่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่จะเป็นผู้กำหนดว่า ใครคือสื่อมวลชน
จุดอ่อนนิยามโดยสภาการสื่อไร้กฎหมายรองรับ
ขณะที่ธรรมนูญของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีคำจำกัดความสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี สื่อดิจิทัล ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน แต่ อ.สิงห์ มองว่า ตรงนี้เป็นลักษณะที่สภาการสื่อมวลชนเป็นผู้กำหนดขึ้นมา โดยไม่มีกฎหมายรองรับ หรือหน่วยงานต่างๆ รับรอง
เช่น หากสื่อใด ขึ้นทะเบียนกับสภาการสื่อมวลชน จะไปขอขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ หรือขอไปทำข่าวทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา สามารถทำได้หรือไม่ นั่นแปลว่าอำนาจของการกำหนดนิยามของสภาการสื่อฯ ไม่มีอำนาจด้านกฎหมายบังคับ จึงทำให้คำว่าสื่อมวลชนต่างออกไป
แม้คำนิยามต่างๆ สภาการสื่อมวลชนฯ จะทำเอาไว้ค่อนข้างดีในรายละเอียด แต่ตนเป็นห่วงเรื่องการมีอำนาจบังคับ 1.ในปัจจุบันไม่มีการออกบัตรโดยสภาการสื่อมวลชนฯ 2. หากสภาการสื่อออกบัตรให้แล้ว มีกฎหมายรองรับหรือไม่ ถ้าไม่มี สามารถทำความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐได้หรือไม่ว่า ถ้าใครต้องการขอบัตรเข้าไปทำข่าวในหน่วยงาน กระทรวงใดก็ตาม ให้ส่งชื่อมาแล้วทางสภาการสื่อมวลชนจะตรวจสอบให้ หรือหากมีรายชื่ออยู่ จะส่งไปให้ ซึ่งการทำในลักษณะนี้ ถ้าเราไม่มีอำนาจไปบังคับได้ ก็ใช้วิธีขอความร่วมมือ ในฐานะที่เราเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
ทั้งนี้ แม้จะมีบัตรอนุญาตเข้าไปทำข่าว ก็ยังมีอีกประเด็นว่า สภาการสื่อฯ ไม่ได้มีอำนาจบังคับว่าทุกคนต้องมาขึ้นกับเรา แต่วิธีการที่จะบังคับให้ทุกคนที่คิดว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชน มาขึ้นกับเรา แล้วมาคัดกรอง จะทำอย่างไร คงต้องประสานกับหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนทั้งหมดว่า ถ้าต้องการจะเชิญสื่อมวลชน หรือสื่อมวลชนใดต้องการจะไปทำบัตรเข้าหน่วยงานใด ให้มาตรวจสอบรายชื่อที่มีอยู่ ถ้ามีแปลว่าเขายอมรับการปฏิบัติตามจริยธรรมวิชาชีพของสภาการสื่อมวลชนฯ
จำแนก 3 กลุ่มออนไลน์
เมื่อถามว่า บรรดาเพจ ช่อง ออนไลน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันจำนวนมาก ควรบริหารจัดการอย่างไรดี อ.สิงห์ ระบุว่า อาจจะแบ่งเป็น 3 ส่วน 1.ส่วนที่มีผู้ติดตามมากพอ เขาต้องการมีตัวตน มีชื่อขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพสื่อ กลุ่มนี้ไม่เป็นปัญหา 2.กลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงชั่วคราว ทำภารกิจใดภารกิจหนึ่งโดยเฉพาะ จะไม่สนใจเรา สามารถตัดออกจากรายชื่อที่มีได้ง่าย 3.กลุ่มอิสระ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนท์ครีเอเตอร์ ที่อยากผันตัวเองมาเป็นคนรายงานข่าว กลุ่มนี้ต้องการมีตัวตน พยายามจะเข้ามามีบัตร ยืนยันว่าคือหนึ่งในสื่อมวลชน กลุ่มนี้ก่อนที่จะออกบัตรให้ได้ ก็ต้องพูดคุยกันก่อนว่า ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ก็จะถูกตัดสิทธิขาด โดยประกาศผ่านเว็บไซต์ ช่องทางออนไลน์อย่างเป็นทางการ ซึ่งการทำงานของสภาการสื่อมวลชนฯ ก็จะเหนื่อยขึ้นแน่นอน แต่ก็จะทำให้คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศมองเห็นว่า คำว่า สื่อมวลชนคืออะไร จริยธรรมของวิชาชีพของสื่อมวลชนคืออะไร ตรงนี้คือจุดสำคัญ
การจะเพิ่มนิยามคำว่า สื่อมวลชนในยุคดิจิทัล คาดหวังว่าสังคมจะได้ประโยชน์อะไร อ.สิงห์ ระบุว่า การที่ประชาชนเริ่มสับสนว่า ใครคือสื่อมวลชน ปัจจุบันคนส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ ว่าเนื้อหาคือข่าวเหมือนกันหมด แล้วก็แชร์ แล้วใครคือสื่อมวลชน ใครคือคนที่ประชาชนจะเชื่อได้ว่า ข้อมูลข่าวสารนั้น คือข้อเท็จจริง
จริยธรรมจุดยึดโยงสื่อวิชาชีพ
สิ่งสำคัญคือเราต้องการจะให้เห็นข้อเท็จจริงที่สื่อสารมวลชนนำเสนอมากกว่า เนื่องจาก ในโลกออนไลน์ เราจะเห็นข่าวปลอม ข่าวถูกบิดเบือนค่อนข้างมาก การที่เราสามารถกำหนดนิยามของสื่อมวลชนได้ ก็จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่า สื่อมวลชนคืออะไร คือคนที่เขาจะสามารถเชื่อถือข้อมูลข่าวสารที่ถูกนำเสนอ ผ่านกลุ่มวิชาชีพ ที่เรียกว่าสื่อมวลชนได้ นี่คือจุดสำคัญ ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้แน่นอน
เชื่อว่าเราก็ยังต้องเจอข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ข่าวเท็จ ตลอดเวลา ตรงนี้คือจุดที่อยากจะให้สภาวิชาชีพสื่อเอง มองว่าการที่เรากำหนดนิยาม อย่างน้อยอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ข้อมูลข่าวสารที่ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด ถ้าผู้ส่งเป็นสื่อมวลชนก็จะมีความน่าเชื่อถือ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ
อ.สิงห์ ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่สำคัญมาก เพราะเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ข้อเท็จจริง ให้ความรู้ และชี้ทิศทางของสังคมได้ จึงอยากให้จริยธรรมวิชาชีพเป็นจุดสำคัญที่จะยึดโยงผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชน
สภาการสื่อตั้งคณะทำงานนิยามศัพท์สื่อ
ขณะที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะทำงานนิยามศัพท์สื่อสารมวลชน ประกอบด้วย นายระวี ตะวันธรงค์ นายฐิติชัย อัฏฏะวัชระ นางสาวอศินา พรวศิน นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี และผศ.ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล โดยมี นายมานิจ สุขสมจิตร นายบุตรดา ศรีเลิศชัย และนายดำฤทธิ์ วิริยะกุล เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน
ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ อธิบายถึงแนวคิด ในการกำหนดนิยามของสื่อมวลชนในยุคดิจิทัลว่า ที่ผ่านมาในแต่ละยุค ก็ถกเถียงเรื่องนิยามสื่อมวลชน มาถึงปัจจุบัน ก็มีนิยามของคำอื่นๆ ในด้านวิชาชีพ
คนทำงานด้านวิชาการ ได้ให้ความหมายของสื่อมวลชน เป็นไปตามยุค ตอนนี้สื่อมีการเปลี่ยนผ่าน มีการกำกับดูแลใหม่ๆ การที่เราจะทำนิยามนี้ ไม่เฉพาะแค่คำว่าสื่อมวลชนอย่างเดียว ยังมีคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านวิชาชีพ เช่น คำว่าจริยธรรม การหลอมรวมสื่อ
องค์กรวิชาชีพสื่อเอง โดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็เปลี่ยนผ่านมาจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และมีนิยามคำใหม่ขึ้นมา เราจึงต้องมาดูว่า คำเหล่านี้ ในปัจจุบันควรจะให้ความหมายอย่างไรบ้าง เช่น คำว่าเฟกนิวส์ ทุกวันนี้ เรายังตีความว่า เป็นข่าวลวง ข่าวปลอม ต่อไปนักวิชาการ หรือหน่วยงาน ด้านนิเทศศาสตร์ องค์กรใดก็ตาม สามารถที่จะนำไปใช้อ้างอิงได้
องค์กรวิชาชีพสื่อเอง โดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็เปลี่ยนผ่านมาจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และมีนิยามคำใหม่ขึ้นมา เราจึงต้องมาดูว่า คำเหล่านี้ ในปัจจุบันควรจะให้ความหมายอย่างไรบ้าง เช่น คำว่าเฟกนิวส์ ทุกวันนี้ เรายังตีความว่า เป็นข่าวลวง ข่าวปลอม ต่อไปนักวิชาการ หรือหน่วยงาน ด้านนิเทศศาสตร์ องค์กรใดก็ตาม สามารถที่จะนำไปใช้อ้างอิงได้
ทั้งนี้ เมื่อองค์กรสื่อทำเรื่องนี้เสร็จ เรายังต้องนำคำนิยามเหล่านี้ ส่งไปให้ราชบัณฑิตด้วย หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็อาจจะบรรจุ หรือปรับแก้ไข เพื่อให้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาชีพ ได้ยกร่างคำศัพท์ ให้มีสถานะเป็นปัจจุบันให้มากขึ้น และนี่คือภาพใหญ่ ที่จะแสดงให้เห็นว่า วันนี้คำต่างๆ ที่เราเห็น ที่มีเพิ่มขึ้นมากมาย อย่างเช่น คำว่า อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์
เป้าหมายความเข้าใจตรงกันของสังคม
อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าคำเหล่านี้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ แต่เราจะไม่ถึงขั้นว่า ต้องเขียนใหม่ สะกดใหม่ เราจะดูเรื่องความหมาย เพื่อให้เวลาเขียนข่าว จะได้เป็นประโยชน์ อย่างน้อยให้รู้ว่า ในความหมายที่ใช้ในแต่ละเซกเตอร์ คำแบบไหน ที่จะใช้จำกัดความได้มากที่สุด หรือใช้ในการอ้างอิงที่เข้าใจตรงกัน เกิดการยอมรับ มากกว่าการที่เราจะนิยามเอง ขึ้นมาลอยๆ
ทั้งนี้ สภาการสื่อมวลชนได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด มีหลายสาย หลายฝ่าย เพื่อทำให้คำเหล่านี้ทันสมัย ร่วมสมัย อันไหนที่ดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องปรับ อันไหนที่จะทำให้เกิดความสับสน เกิดการตีความ ก็พยายามจะขยายความ หรือทำให้คำเหล่านี้เข้าใจได้มากขึ้น
เมื่อถามว่า ในยุคดิจิทัล ยังสามารถนิยามความหมายของคำว่าสื่อมวลชนได้อยู่อีกหรือ ฐิติชัย ระบุว่า ความหมายของแต่ละบริบท และการตีความที่ผ่านมา ก็ยังมองความหมายสื่อมวลชนคนละแบบ ด้านนิติศาสตร์ คนทำร่างกฎหมาย ก็มองอีกแบบหนึ่ง ความหมายของสื่อสารมวลชน เพราะไปยุ่งเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม หรือเทคโนโลยี ก็มองในอีกความหมายหนึ่ง เราควรทำความเข้าใจ
ตัวอย่างเช่น คำว่าสื่อดิจิทัล เราอยากให้ความหมายว่า สื่อมวลชนที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชน ทั้งนี้ ให้หมายรวมถึงสื่อดิจิทัลของสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ด้วย แต่คำเหล่านี้ อาจจะเข้าใจเฉพาะในส่วนของวิชาชีพเรา แต่คนสาธารณะก็อาจมีคำถามว่า เกี่ยวข้องกับสื่อใหม่หรือไม่ หรือสื่อที่อยู่ภายใต้กรอบวิชาชีพ และถ้าไม่อยู่ จะเป็นอย่างไร
เทคโนโลยีเปลี่ยนนิยามต้องทันยุค
คำว่าสื่อดิจิทัล มีความหมายมากมาย บางคนเข้าใจว่า หนังสือพิมพ์ออนไลน์ อาจไม่ใช่สื่อที่จะเห็นในอนาคต ต่อไปอาจมีเทคโนโลยีที่ใช้ระบบการสแกนภาพเป็นสามมิติ ที่เป็นเนื้อหาข่าวสาร เป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งจะเป็นข่าวสารอีกรูปแบบหนึ่งได้ หากเปลี่ยนแปลงไปถึงขนาดนั้น จะนิยามสื่อที่ไปไกลแบบนี้อย่างไร
สำหรับกระบวนการทำงาน ฐิติชัย ระบุว่า จะรวบรวมคำที่คนสงสัย คนต้องการค้นหาความหมาย คนสนใจ 10-20 คำ อาทิ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ นักข่าววิชาชีพ ยูทูบเบอร์ สื่อออนไลน์ ซึ่งอันไหนดีอยู่แล้ว ก็จะไม่แก้ ไม่เพิ่มเติม แต่จะทำให้ทันสมัย ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยก็สามารถนำไปอ้างอิง หรือนำไปออกแนวปฏิบัติใหม่ๆ จะได้ง่าย
อยากให้คำเหล่านี้ สื่อสารได้ นำไปใช้ได้ หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ นักศึกษา นำไปอ้างอิงได้ว่า นี่คือความหมายที่วิชาชีพ ภายใต้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้นิยามความหมายแบบนี้ คาดว่าคณะทำงานจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน
วิชาชีพยังยึดหลักการบรรณาธิการ
ด้านนักวิชาชีพ มุมมอง เกรียงไกร บัวศรี เห็นว่าการนิยามความหมายสื่อมวลชนในยุคนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากในสายอาชีพ ความเป็นสื่อมืออาชีพ ได้ถูกมองว่า ก็ต้องผ่านเกณฑ์ ผ่านกระบวนการกลั่นกรอง จะนำเสนออย่างไร ต้องไม่ละเมิดสิทธิใคร ซึ่งหมายถึงการมีมาตรฐานมืออาชีพ
แม้แต่นักข่าว ที่ทำข่าว ก็ยังต้องมีกระบวนการบรรณาธิการ จึงจะนำเสนอข่าวออกมาได้ แต่กรณีที่ไม่มีสังกัด เสนอข่าวเอง ก็สุ่มเสี่ยง จึงมองว่า เป็นเรื่องที่ดี
ทั้งนี้ เกรียงไกร ได้อธิบายถึงรูปแบบการทำงาน ของเดลินิวส์ออนไลน์ว่า ทีมออนไลน์ ใช้โครงสร้างการทำงาน เป็นแบบเดียวกับ ทีมข่าวประจำวันหนังสือพิมพ์คือเป็นกองบรรณาธิการ แบ่งเป็นโต๊ะข่าว สายต่างๆ ซึ่งจะมีผู้ช่วยหัวหน้า หัวหน้าข่าว ทำหน้าที่กลั่นกรองก่อน ซึ่งทีมออนไลน์ ก็กลั่นกรองจากทีมเรียบเรียงข่าว มาถึงผู้ช่วยบรรณาธิการ และมาถึงบรรณาธิการ
“เมื่อภาคสนามส่งข่าวเข้ามา ก็จะเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรอง ไม่ใช่นักข่าวภาคสนามเผยแพร่ข่าวขึ้นเองอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราอาจจะต่างกับสื่ออื่น ที่เน้นเรื่องยอดวิว เร็ว ผิดพลาด ย่อมส่งผลลบ แต่เราก็ไม่ช้าเกินไป ถึงขนาดช้ากว่าเป็นชั่วโมง ที่สำคัญการได้รับความเชื่อถือ โดยเฉพาะคำที่ว่า ต้องรีเช็คจากเราก่อน และเรายังอยู่ในเวลาที่ไม่ต่างกับออนไลน์อื่นๆ”
จำเป็นต้องแยกให้ชัดสื่อวิชาชีพ-สื่อสังคม
เกรียงไกร สะท้อนภาพ ระหว่างสื่อเก่า กับสื่อใหม่ ในยุคนี้ ที่วางตัวเองเสมือนเป็นสื่อ โดยเชื่อว่า ในส่วนราชการก็จะสกรีนกลุ่มยูทูบเบอร์ กับสื่อหลัก โดยเริ่มชัดเจนขึ้น เพราะทุกว่าวันนี้ อาจจะเห็นว่าจำนวนนักข่าวมากเกินไป และเห็นความต่างในการทำงาน การถ่ายภาพ การนำเสนอ ขณะที่กลุ่มอื่นที่หลากหลาย การทำงานก็ไม่เป็นรูปแบบ
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องจัดกลุ่มสื่อยุคดิจิทัล โดยแยกแยะให้ชัดเจนหรือไม่ เกรียงไกร มองว่า จำเป็นมาก เพื่อจะแยกได้ชัดเจน พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า สถานการณ์เวลานี้ อย่างการทำข่าวที่รัฐสภา หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ สื่อก็ต้องลงทะเบียน มีสังกัด เพื่อขอบัตรประจำตัว ในการแสดงตัวเข้าไปทำข่าว
“กรณีเยาวชน นักเคลื่อนไหวรายหนึ่ง ที่ทำช่องยูทูปของตัวเอง ถือเป็นสื่อไหม เมื่อเข้าไปทำข่าวพรรคการเมืองต่างๆ ถ้ามีสื่อ ทำช่องออนไลน์เอง หน่วยงาน ก็อาจจะต้องดูว่าสังกัดสมาคมสื่อ สภาการสื่อ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ หรือไม่ และลักษณะนี้ ยังไม่เข้าข่ายสื่อ เหมือนเป็นเพจ แล้วนำข้อมูลไปรายงาน เพราะถ้าเป็นสื่ออย่างน้อย ต้องมีสังกัดองค์กรวิชาชีพ อยู่ในกรอบจริยธรรม มีแนวปฏิบัติ”
เมื่อถามว่า หากกลุ่มคนลักษณะนี้ อยากเข้ามาเป็นสื่อ แต่ไม่ได้สังกัดองค์กรวิชาชีพ จะเป็นการกีดกันหรือไม่ เกรียงไกร มองว่า การทำงานสื่อ ต้องมีกรอบ มีแนวปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้เป็นข่าว ทั้งในแง่กฎหมาย แต่หากไม่มีสังกัด ก็อาจถูกมองข้าม ถ้าอยากมาร่วม ก็อยากให้มาสมัคร เพื่อแสดงตัวให้ชัด และควรมีกรอบกติกา ไม่ใช่คิดว่าแค่ถ่ายรูป รายงานได้ ก็เป็นสื่อ อย่างไรก็ตาม องค์กรสื่อก็อาจจะเปิดกว้าง เพื่อให้เข้ามาอบรม เพิ่มเติมความรู้ได้.