ประกาศฯ คำชี้แจงการใช้ปลอกแขนสัญลักษณ์ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าว

ประกาศศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม

เรื่อง คำชี้แจงการใช้ปลอกแขนสัญลักษณ์ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าว

ตามที่ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กร ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้จัดทำปลอกแขนสำหรับสื่อมวลชน เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกฝ่ายมีไว้แสดงตัวตนอย่างบริสุทธิ์ใจ ในการลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุม ตามหลักสากลที่สื่อมวลชนหลายประเทศพึงใช้ที่ต้องการเสรีภาพในการทำข่าวการ ชุมนุม อย่างรอบด้าน ปราศจากการกดดัน และคุกคามจากทุกฝ่าย

ปัจจุบันเปิดให้ลงทะเบียนขอรับปลอกแขน สำหรับสื่อมวลชนที่มีสิทธิ์ตรงตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้มาแล้ว 5 รอบ มีองค์กรสื่อมวลชนติดต่อลงทะเบียนรับปลอกแขนไปแล้วจำนวนมาก และศปสช.ได้รับฟังเสียงสะท้อนทั้งปัญหา และความคิดเห็นเกี่ยวการใช้ หรือครอบครองปลอกแขนสื่อมวลชนจำนวนมาก เหตุนี้เมื่อวันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2566 ศปสช.ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ หรือระเบียบที่ต้องความให้เข้าใจดังนี้

1. ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน จัดตั้งขึ้นมีลักษณะเป็นสีฟ้าทาบด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษสีขาวว่า “PRESS” ซึ่งเป็นเครื่องหมายสากลที่สื่อถึงผู้ปฏิบัติงานแสดงสัญลักษณ์ชัดเจนว่า “ผู้สวมใส่เป็นสื่อมวลชน” สมควรมีสิทธิ์ และได้รับการคุ้มครองในการทำหน้าที่รายงานข่าวสาร และสถานการณ์ในพื้นที่การชุมนุมอย่างปลอดภัย ปราศจากการคุกคาม และการปิดกั้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้นผู้ใช้ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อควรเป็นสื่อมวลชนที่มีหน้าที่ในการรายงานข่าวจากสถานการณ์ชุมนุมโดยตรงเท่านั้น เช่น ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ (เช่น ตากล้อง ทีมไลฟ์เฟซบุก ฯลฯ) ไม่ควรนำเอาปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อไปให้กับบุคคล หรือกลุ่มใดๆ ที่มิใช่สื่อมวลชน และปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อทุกชิ้นเป็นสมบัติของ ศปสช. หากบุคคลใดทำให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมอาชีพสื่อมวลชน ศปสช.สงวนสิทธิ์การใช้มาตรการต่างๆ ตามระเบียบที่กำหนดตกลงกันไว้

2. เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสื่อมวลชนในการใส่ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อลงพื้นที่นั้น “ปลอกแขนจัดทำขึ้นทุกชิ้นมีเลขกำกับเฉพาะของแต่ละชิ้น” เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน และติดตามตรวจสอบได้ว่า ปลอกแขนสื่อมวลชนเลขดังกล่าวเป็นของใคร สังกัดใด ภายใต้การกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน

ในกรณีที่มีการสูญหาย หรือชำรุดเสียหาย ต้นสังกัดนั้นๆ ต้องดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน หรือ แจ้ง ศปสช. หรือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้ทราบโดยทันที เพื่อป้องกันบุคคลผู้ไม่หวังดีนำปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อไปใช้นอกเหนือจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทำนองการกระทำผิดกฎมาย

3. เพื่อเป็นการติดตามปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรสื่อมวลชนติดต่อลงทะเบียนรับปลอกแขนไปแล้วจำนวนมาก “ศปสช.” จึงขอความร่วมมือกับผู้ประสานงานปลอกแขนจากแต่ละสำนักข่าว และแผนกข่าว ที่ผ่านเกณฑ์การรับปลอกแขนสื่อ ดำเนินการตรวจสอบรวบรวมจำนวนปลอกแขนที่ขอรับลงทะเบียนไปแล้วนั้นแจ้งต่อ ศปสช.หรือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 30 กันยายน 2566 นี้ เพื่อเป็นการยืนยัน และติดตามตรวจสอบได้ว่าปลอกแขนดังกล่าวตรงตามจำนวนที่แต่ละองค์กรนั้นๆ แจ้งขอรับไปอย่างถูกต้อง

สำหรับช่องทางติดต่อหากมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.) หรือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  หมายเลขโทรศัพท์ 02-668-9422 ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ระหว่างเวลา 10.00 – 18.00 น. หรืออีเมล์ tjareporter@gmail.com

สุดท้ายนี้ปลอกแขนสื่อมวลชนมีไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกฝ่ายสำหรับสื่อมวลชนในสถานการณ์ชุมนุม เพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างปลอดภัย และสะดวกขึ้น “มิได้จัดทำขึ้นเพื่อให้องค์กรหรือหน่วยงานใด  อ้างเป็นเหตุอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการเข้าพื้นที่ที่มีการชุมนุมใดๆ”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

5 กันยายน 2566