สื่ออาวุโสห่วงการใช้ภาษาในสื่อเสื่อมลงอย่างน่าวิตก ชี้ช่องเรียนรู้ด้วยตัวเอง หาผู้รู้ช่วยสอน

สื่ออาวุโส สมาชิกราชบัณฑิตยสภาห่วงสถานการณ์การใช้ภาษาในสื่อ เสื่อมลงอย่างน่าวิตก วัฒนธรรมการอบรมถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นขาดช่วง ยกสไตล์บุ๊กในองค์กรสื่อเป็นต้นแบบ ชี้ช่องเรียนรู้ด้วยตัวเอง หาผู้รู้ช่วยสอน ผู้บริหารสื่อออนไลน์ยึดมาตรฐานภาษาสื่อกระแสหลัก แม้ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ไปตามบริบทสังคม ด้านนักวิชาการชี้หลักนิเทศศาสตร์เน้นย้ำการสื่อสารที่เข้าใจในบริบทสังคม ภาษาในสื่อสิ่งพิมพ์ยังเป็นต้นแบบทุกแพลตฟอร์ม

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ความรับผิดชอบของสื่อกับการใช้ภาษา” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย มานิจ สุขสมจิตร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อศินา พรวศิน บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว เดอะ สตอรี่ ไทยแลนด์ ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

“วันภาษาไทยแห่งชาติ” ในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยมีความเป็นมา จากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปอภิปรายหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505

พระองค์ท่านทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 เป็นวันเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อระลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย และให้คนไทยควรตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญของภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

“มานิจ สุขสมจิตร” ได้หยิบยก พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2501 เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2502 ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อมาคำนึงถึงวิธีจะนำเอาวิชาความรู้ไปใช้ประโยชน์ จะต้องอาศัยสิ่งใดบ้างแล้ว ก็เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือ ภาษา การได้มาซึ่งวิชาความรู้ต้องอาศัยภาษา การนำวิชาความรู้ไปใช้ ก็ย่อมต้องอาศัยภาษาอีก เช่น เมื่อจะให้ปฏิบัติการใดก็ต้องออกคำสั่งเป็นต้น ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ใช้ถ้อยคำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งการออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เอง เป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้วเป็นมรดกอันมีค่า ตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ” อ.มานิจ ระบุว่า พระองค์ท่านรับสั่งเช่นนี้ เพราะทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องนี้

ห่วงการใช้ภาษาไทยในสื่อ “น่าวิตก”

ในมุมมองของสื่ออาวุโสที่อยู่ในวงการสื่อมวลชนมานาน รวมทั้งยังอยู่ในภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา อ.มานิจ เห็นว่า การใช้ภาษาไทยในบริบทสังคมยุคปัจจุบัน หากพูดแบบตรงไปตรงมา ฟันธงว่า เป็นไปในทางเสื่อมลงอย่างน่าวิตก ในโลกนี้เมื่อหลาย 10 ปีมาแล้ว มีภาษาใช้อยู่ประมาณ 6,000 กว่าภาษา แต่เวลาผ่านไป 20-30 ปี ตอนนี้เหลือประมาณ 5,000 ภาษา และก็จะหายไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาถิ่นหายไป เพราะคนที่อยู่ในท้องถิ่นก็ไม่ยอมใช้ภาษาของตัวเองแล้ว เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก นอกจากภาษาจะหายไปแล้ว ก็ยังใช้ภาษากันผิดๆ อีก

อ.มานิจ ระบุว่า เมื่อมาพิจารณาถึงการใช้ภาษาของสื่อมวลชนเรา ก็ใช้ภาษากันผิด ๆ โดยไม่ดูแล นึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียน อย่างเช่น คำลักษณะนาม “ปิ่นโต” ที่นับเป็น “เถา” ไม่ใช่เป็นตัว เป็นอัน “ระนาด”นับเป็น “ราง” เคียวเกี่ยวข้าว นับเป็น“เล่ม” งาช้าง นับเป็น “กิ่ง” เป็นต้น อย่างนี้ ลืมกันไปหมดแล้ว นอกจากนี้ การใช้คำว่า “อดีตเคยเป็น” ก็ต้องเลือกคำใดคำหนึ่ง“อดีต” หรือ “เคยเป็น” แต่กลับใช้ว่า “อดีตเคยเป็น” รัฐมนตรีมาก่อน … ตัวอย่างเหล่านี้ จึงน่าเป็นห่วงมาก

หรือแม้แต่ การใช้คำสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ก็ไม่ถูกต้อง โดยนำไปปนกัน ทั้งที่ความหมายคนละอย่าง สำนวนคือเป็นโวหาร หากจะกล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น คนนี้เป็น “หนังหน้าไฟ” หรือใครมาทำอะไรเรา ก็ต้องใช้วิธี “เกลือจิ้มเกลือ” เหล่านี้ เป็นสำนวนไทย

ส่วน “คำพังเพย” คือถ้อยคำที่พูดสืบต่อกันมานาน อย่างเช่น ทำอะไรตื่นเต้น เหมือน “กระต่ายตื่นตูม”

“สุภาษิต” ก็ไม่เหมือนกับสำนวนและคำพังเพย แต่ก็ถูกนำมาใช้ปนกันหมด เช่น สุภาษิต สอนว่า “เราอย่าไปสอนคนที่มีความรู้ แล้วก็เปรียบว่า “อย่าไปสอนหนังสือสังฆราช” แต่ก็มีคำสอนอีกอันว่า “อย่าไปสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ” เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ที่มาที่ไปก็เลยดำมาปนกัน

การเขียน อย่างเช่นคำว่า “บ้านนอกขอกนา” ก็เขียนผิดเป็น “บ้านนอกคอกนา” จากเป็น ข ไปเป็น ค เพราะคำว่า “ขอก” เป็นภาษาถิ่นภาคเหนือ หมายถึงเขต แดน ฉะนั้นที่เขียนผิดจาก ข เป็น ค ก็กลายเป็นเขียนถูกไปแล้ว เป็นต้น

การอบรมถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่นที่หายไป

พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงสาเหตุว่า เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่การอบรมการฝึกสอนให้ความรู้สื่อรุ่นต่อ ๆ มา ก็ขาดช่วงไป แตกต่างจากสมัยก่อน “ผมเป็นนักข่าวใหม่ ๆ เมื่อ 60 ปีมาแล้ว ตอนเช้าเราจะมีการชุมนุมกันที่ใต้ถุนกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงแรมรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันนี้ ก็จะมีนักหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง กว่า 50 คน มานั่งคุยกัน กินข้าวต้มกัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำข่าวตามกระทรวง ตามโรงพัก โดยขึ้นรถราง ขึ้นรถเมล์ไปทำข่าว ซึ่งเราก็ได้อบรม และให้ความรู้กันอย่างไม่เป็นทางการ”

“เมื่อกลับถึงสำนักงาน เอาข่าวที่เขียนไปส่ง หัวหน้าก็จะเอาข่าวที่เราเขียนมาดู แล้วก็จะแนะนำ ตรงไหนไม่ถูกต้อง ต้องเขียนอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันขาดหายไป ต่อมาเมื่อนักข่าวไม่ได้เข้าสำนักงานแล้ว อยู่ข้างนอกก็ส่งข่าวผ่านอีเมลเข้าไป บางทีอาจไม่ได้เขียนเอง เห็นเพื่อนคนไหนเขียนดี ก็ขอก๊อปปี้ส่งไปโรงพิมพ์เลย ฉะนั้น การเรียนรู้นอกห้องเรียน อย่างที่พวกเราปฏิบัติกันมา มันจึงขาดหายไป จุดนี้ จึงเป็นจุดที่น่าวิตกมาก” อ.มานิจ เปรียบเทียบให้เห็น

ชี้ช่องเรียนรู้ด้วยตัวเอง-หาผู้รู้ช่วยสอน

เมื่อถามว่า วิธีการแก้ปัญหาเร่งด่วน ในยุคนี้ ควรต้องทำอย่างไรบ้าง อ.มานิจ เห็นว่า แม้ไม่ได้มีการสอนกันในการทำงาน แต่ก็มีตำราให้ศึกษามากมาย ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ควรจะต้องทำ ปัจจุบันนักข่าว เป็นคนเขียนข่าว เขียนบทวิจารณ์ พูดทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ จะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองจากตำรา หรือหาคนที่รู้มาช่วยสอนให้ เป็นต้น

“ภาษาไทยเป็นมรดกของชาติ เป็นวัฒนธรรม ควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ เป็นความภูมิใจ เพราะในบางประเทศไม่มีภาษาของตัวเองใช้ ก็ต้องไปเอาภาษาอื่นมาใช้ แต่ของเรามีภาษาเอง เราควรจะภูมิใจ โดยเฉพาะเลขไทย ที่ยุคนี้เด็กเขียนไม่เป็นแล้ว ในสมัยก่อนบัตรเลือกตั้ง จะมีเป็นเลขไทยเป็นหมายเลขเลือกตั้ง และถ้าคนอ่านไม่ออก ก็จะมีจำนวนจุดดำ เท่ากับจำนวนเลข ให้นับเอา แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นเลขอารบิกหมด เหตุที่เปลี่ยนก็เพราะ มีนักการเมืองชื่อดังคนหนึ่ง จับฉลากรับเลือกตั้งได้เบอร์ 7 ก็บอกว่า เขียนไม่เป็นเลยระหว่างเบอร์ ๗ เจ็ดกับเบอร์ ๙ ฉะนั้นก็ให้เลิกเลขไทย และ กกต. ก็สนองตอบ นักการเมืองซึ่งไม่รักภาษาไทยคนนั้น จึงเปลี่ยนมาเป็นเลขอารบิก” 

สำหรับคำ “สแลง” อ.มานิจ ยืนยันว่า ตนไม่ปฏิเสธเรื่องคำสแลง และสามารถใช้ได้ แต่จะต้องเป็นคำที่ชาวบ้านรู้เรื่อง ที่สำคัญคือ อย่าเป็นคำลามก หรือชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง ดังเช่นคำว่า “ด้อม” ซึ่งเป็นที่รับรู้กันแล้ว ก็สามารถใช้ได้ เพราะภาษาขยับไปได้

ปูพื้นฐานให้เด็ก-สไตล์บุ๊คในองค์กรสื่อ

อย่างไรตาม สำหรับสื่อต่างประเทศ จัดการกับเรื่องภาษาที่เปลี่ยนไปอย่างไร อ.มานิจ ระบุว่า ในหลาย ๆ ประเทศ ในสำนักงานจะมีสไตล์บุ๊ก สำหรับคนที่เขียนข่าว เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ จะต้องเขียนอย่างใด ต้องเขียนตามศัพท์บัญญัติของทางราชการ ซึ่งของไทยเราก็มีราชบัณฑิตยสภา ที่ทำพจนานุกรมออกมาหลาย ๆ ประเภท เช่น พจนานุกรมภาษาไทย ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิศวกรรม เคมี กฎหมาย มีให้ศึกษาค้นคว้าทั้งนั้น

ในบางประเทศ ก็มีทำสไตล์บุ๊กเป็นของกลาง เช่น ในสหรัฐอเมริกา สำนักข่าวเอพี ก็ทำสไตล์บุ๊กขึ้นมา เพราะว่าภาษาอังกฤษกับอเมริกัน ก็มีหลายคำที่ความหมายเดียวกันแต่เขียนคนละอย่าง สำหรับประเทศไทย ก็ทราบว่าสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ก็ดำริที่จะทำเรื่องนี้อยู่เพื่อแก้ปัญหาการเขียน ที่ไปคนละอย่างสองอย่าง อันนี้ก็จะเป็นกฎเกณฑ์อันหนึ่ง ซึ่งจะให้พวกเราเรียนรู้

สำหรับสังคม สิ่งสำคัญที่สุด คือครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสืออยู่ในโรงเรียน โดยเฉพาะระดับขั้นพื้นฐาน ประถม มัธยม ต้องวางพื้นฐานการใช้ภาษาให้เด็กให้ดี แม้จะเป็นภารกิจที่ยาก ขณะเดียวกันคนที่จะพิทักษ์รักษา ส่งเสริมภาษาไทยก็มีน้อยลง หน่วยราชการ มีเพียงราชบัณฑิตยสถาน และกระทรวงวัฒนธรรมเท่านั้น ทั้งที่เมื่อก่อนกระทรวงศึกษาธิการ เคยมีกรมวิชาการ สถาบันภาษาไทย คอยดูแล เดี๋ยวนี้เมื่อจัดระเบียบกระทรวงทบวงกรมใหม่ สถาบันฯ นี้ก็หายไป

เช่นเดียวกับความรับผิดชอบของสื่อกับการใช้ภาษา อ.มานิจ เน้นย้ำว่า สื่อมวลชน มีภาระที่หนักกว่าประชาชนทั่วไป ในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง 

สื่อออนไลน์ความท้าทายด้านภาษา

ขณะที่นักวิชาชีพ ผู้บริหารสื่อออนไลน์ “อศินา พรวศิน” บอกเล่าถึงการบริหารจัดการ การใช้ภาษาไทยในสื่อออนไลน์ว่า หากบนเว็บไซต์ จะยึดหลัก 2 ส่วนคือ 

1.ราชบัณฑิตยสภา ที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งคำภาษาอังกฤษทับศัพท์ หรือคำกำเนิดใหม่ ว่าจะต้องใช้อย่างไร คำที่ตัวสะกดเปลี่ยนไปหรือคำซ้ำ

2.เนื่องจากเราเป็นสื่อออนไลน์ ก็จะดูว่า คนส่วนใหญ่ใช้คำใดกัน บางคำเราขอไม่ใช้ตามราชบัณฑิตฯ แต่จะยึดตามที่คนส่วนใหญ่ใช้

อศินา มองว่า ภาษามีการเติบโต และมีเส้นทางการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของการใช้สังคม ซึ่งการเลือกใช้คำพาดหัวข่าวก็มีผลต่อยอดคนเข้ามาดู มาชม และหากจะให้ดี คำนั้นถ้าโดน SEO ด้วย จะยิ่งดี เพราะจะทำให้การเข้าถึงคอนเทนต์นั้นมีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อศินา ย้ำว่าแม้ เดอะ สตอรี่ ไทยแลนด์ จะเป็นสื่อออนไลน์ แต่การที่ตนเติบโตมากับสื่อหนังสือพิมพ์ การพาดหัว จึงเน้นใช้คำที่ชัดเจนไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด 

เมื่อถามว่าสื่อออนไลน์ กับสื่อสิ่งพิมพ์ การรักษาเรื่องภาษาไทยเอาไว้ยากง่ายต่างกันอย่างไร อศินา ระบุว่า ไม่ว่าสื่อออนไลน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ก็มีความยากในการรักษาภาษาไทยเท่า ๆ กัน บริบทของภาษามันเป็นพลวัต มีการเกิดใหม่ตลอด รวมทั้งคำเดิม ที่การเขียนก็ปรับเปลี่ยนตัวสะกด แต่สื่อออนไลน์อาจจะมีความได้เปรียบมากกว่า หากมีข้อผิดพลาดก็แก้ไขได้ทันที แต่สื่อสิ่งพิมพ์ ถ้าผิดแล้ว ก็ไปเลยซึ่งอาจจะยากกว่า

ยึดมาตรฐานภาษาสื่อกระแสหลัก

“แม้เราจะเป็นสื่อออนไลน์ แต่ก็เลือกใช้ภาษาให้เป็นมาตรฐานของสื่อ ที่ใช้กันในสื่อกระแสหลัก สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี ใช้ภาษาอย่างไร เราก็จะใช้ภาษาแบบนั้น แม้จะมีบ้าง ที่มีความเป็นทางการน้อย เพราะฉะนั้นก็จะยืดหยุ่นตรงนี้สูงกว่านิดหนึ่ง” 

“ภาษาต้องทันสมัยด้วย ไม่เช่นนั้นก็อาจจะดูไม่ร่วมสมัย ไม่เข้าพวก ไม่เกี่ยวข้องกับ Audience เท่าไหร่ และการใช้ภาษา ก็จะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละเรื่องด้วย ถ้าเราใช้โพสต์บน Facebook ก็จะมีความเป็นกันเอง หรือเป็นทางการน้อยลง แต่ถ้าเป็นแคปชั่น หรือโพสต์อยู่ในเว็บไซต์ ที่เราเซ็ตมาตรฐานไว้แบบนี้ ก็จะเป็นทางการมากขึ้น” 

ขณะที่การไลฟ์สดในสื่อออนไลน์ การใช้ภาษาจะต้องระมัดระวัง หรือป้องกันความผิดพลาดโดยเฉพาะในการไลฟ์สดได้อย่างไร อศินา กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ ทีวี หรือวิทยุ ถ้าเป็นรายการสด ก็อาจระมัดระวังได้ยาก แต่ในส่วนของผู้ที่มาร่วมรายการ อาจจะต้องคุยกันก่อน หรือต้องพิจารณาตั้งแต่การเลือกผู้ร่วมรายการ โดยเฉพาะหัวข้อในการพูดคุยเรื่องที่อ่อนไหว และต้องระมัดระวังการใช้ภาษา แต่เชื่อว่าผู้ร่วมรายการทุกคนก็จะมีวิจารณญาณในการใช้ภาษาที่จะออกสื่อสาธารณะอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นคนสื่อ ความรับผิดชอบในการใช้ภาษานั้น อศินา ระบุว่า ยืนยันว่าต้องรักษามาตรฐานภาษาไทยไว้ เพราะเป็นภาษาที่สวยงามมาก มีเสน่ห์มาก มีคำที่มีความหมายเดียวกันให้เลือกใช้มาก มีความหมายความลุ่มลึก อยากให้ช่วยกันรักษาเอาไว้ให้นาน ซึ่งเราไม่ได้ยึดติดจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะทุกภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่เราก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนทิ้งหลักภาษาไทย แต่ส่วนที่ควรจะปรับเปลี่ยนตามบริบทของสังคมปัจจุบัน เราก็สามารถปรับเปลี่ยนได้

การเรียนการสอนเน้นย้ำหลักภาษา

ด้านนักวิชาการ ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข มีมุมมองว่า ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามยุคสมัยมีคำใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย บางครั้งอาจตามไม่ทัน โดยเฉพาะภาษาจะเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ ที่คนนอกอาจไม่เข้าใจว่า เขากำลังสื่อสารอะไรกัน แต่นั่นก็เป็นบทบาทของภาษา ที่ใช้ในการสื่อสาร

สำหรับตน มีมุมมองหนึ่ง คือคนที่ยึดมั่นในหลักภาษา แล้วพยายามใช้ให้ถูกต้อง เพราะถูกฝึกฝน บ่มเพาะ มาพอสมควร โดยเฉพาะในวิชาชีพสื่อ ซึ่งบางครั้งเราก็แยกสื่อมืออาชีพ กับมือสมัครเล่น แล้วพบว่า นักสื่อสารมืออาชีพค่อนข้างยึดมั่นในภาษาที่ใช้ในการสื่อสารพอสมควร แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยใส่ใจ ยิ่งถ้าเป็นมือสมัครเล่น ประเภทที่เข้ามาสื่อสารเพื่อความสนุกสนาน เน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ก็จะไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาที่ถูกต้อง แม้กระทั่งพิธีกร คนอ่านข่าว ปัจจุบันเราจะเห็นว่า ภาพลักษณ์กลายเป็นเน้นอารมณ์ ความรู้สึกไปหมด เป็นการแสดงความคิดเห็นในข่าว มากกว่าการรายงานข่าว

นิเทศเป้าหมายคือการสื่อสาร

เมื่อถามว่าในชั้นเรียนระดับมหาวิทยาลัย มีความเข้มข้นเรื่องการเรียนการสอน เรื่องการใช้ภาษาไทยมากน้อยแค่ไหน อ.บุปผา ระบุว่านิเทศศาสตร์ เป้าหมายคือการสื่อสารอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องตัวหลักสูตร จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับในการใช้ภาษา ทั้งภาษาเขียน ภาษาพูด รวมถึงภาษาภาพ เพราะเป้าหมายที่เราใช้ คือการสร้างความเข้าใจ และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สื่อสาร 

เมื่อไหร่ที่เห็นว่าใช้ภาษาที่ผิด หรือไม่ถูกต้อง เราจะต้องรีบแก้ไข บางทีเป็นคำที่คนทั่วไป ใช้คำผิด จนดูเหมือนเป็นคำที่ถูก เพราะคนใช้กันทั้งประเทศ แต่หากเราต้องไปเป็นนักสื่อสารมวลชน ต้องยึดมั่นการใช้ภาษา ใช้คำที่ถูกต้อง จึงเน้นกับนักศึกษาตลอด ตั้งแต่ในชั้นเรียน ก่อนที่จะเข้าสู่วิชาชีพ

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำกับเด็กรุ่นใหม่ว่า ถ้าสื่อสารกับมวลชนกลุ่มใหญ่ ซึ่งมีหลากหลาย ทั้งเพศ วัย อาชีพ เราจำเป็นต้องยึดมั่นการใช้ภาษาที่ถูกต้อง เป็นกลาง ตรงนี้เน้นย้ำมาก แต่หากสื่อสารเฉพาะกลุ่ม เราก็ไม่ได้ว่า แต่เมื่อไหร่ที่ใช้ภาษาผ่านสื่อ ก็ต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย หากกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ คนที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีการศึกษาที่ดี เราก็ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษา เน้นย้ำว่าต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่เราสื่อสารอยู่

สำหรับการใช้ภาษาไทย ที่ปนกับภาษาอังกฤษ หรือคำทับศัพท์ สำหรับสาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ ในการตั้งชื่อหลักสูตร มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมกัน ปรากฏว่า ตอนที่เราสื่อสารกับเด็กมัธยมปลายรุ่นใหม่ เด็กไม่เข้าใจคำว่าเนื้อหาแต่พอพูดคำว่าคอนเทนต์ เขาเข้าใจทันทีว่าคืออะไร และกว้างกว่าคำว่าเนื้อหามาก ในความเข้าใจของเขา

ฉะนั้นยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ภาษาที่ใช้ ถ้าเรายึดมั่นว่า เราสื่อสารไปแล้วเขาเข้าใจ ถือว่าสัมฤทธิผลในเรื่องของการสื่อสารแล้ว แต่ถ้าสื่อสารโดยภาษาที่เน้นความถูกต้อง แต่ในแง่สัมฤทธิผล เขาไม่เข้าใจอันนี้ก็อาจจะต้องเลือก

ภาษาสื่อสิ่งพิมพ์ยังเป็นต้นแบบ

สำหรับการใช้ภาษาของสื่อ อ.บุปผา มองว่า ภาษาก็พัฒนาการไปตามสื่อด้วย ถ้าเป็นสมัยก่อน ภาษาที่ใช้ในหนังสือพิมพ์เป็นภาษาที่ดีมาก เราใช้มาเป็นต้นแบบ ใช้ในสื่อวิทยุ ทีวี โดยมีภาพเข้ามาช่วย ซึ่งภาษาก็จะเป็นในแนวสื่ออารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น เมื่อสื่อมาเป็นยุคดิจิทัล ทุกอย่างมันเร็วมันสั้น จนบางครั้งภาษาในออนไลน์ ก็ใช้คำเฉพาะที่เข้าใจกันภายในกลุ่ม ซึ่งตนเองก็ยังต้องพยายามเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา

สำหรับความรับผิดชอบของสื่อ อ.บุปผากล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่าอาชีพที่ผ่านกระบวนการการเรียนการสอนการนิเทศศาสตร์มา ได้อบรม และสั่งสม เรื่องความตระหนักรู้ หรือความรับผิดชอบต่อสังคม ว่าภาษาที่ใช้ในสื่อ จะต้องมีความระมัดระวัง แม้ว่าจะดูว่าเป็นนักวิชาชีพที่ไม่ทันสมัย แต่เราก็ต้องเน้นย้ำว่า เรายังต้องอนุรักษ์ และทำให้ภาษาไทยซึ่งเป็นวัฒนธรรมของเรา ยังคงยืนยาวต่อไป และเป็นต้นแบบในการใช้ ภาษาให้ถูกต้อง.