เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล วงการสื่อสะท้อน “นักข่าวผี” อาจต้องปิดตำนาน

วงการสื่อสะท้อน “นักข่าวผี” อาจต้องปิดตำนาน เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ใครก็เป็นสื่อได้ ปรากฎการณ์สื่อบุคคล อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ยูทูบเบอร์ ได้เข้ามาแทนที่สื่อมืออาชีพที่ลดลง นักวิชาการชี้อาจเป็นทางเลือกวงการพีอาร์ เปิดช่องทางสื่อสารถึงกลุ่มหลากหลาย หวังยึดแนวปฏิบัติร่วมกับสื่อวิชาชีพ ขณะที่นักวิชาชีพห่วงสายข่าวเฉพาะทาง ที่ต้องใช้ทักษะ หากถูกนำเสนอแค่ฉาบฉวย อาจส่งผลความน่าเชื่อถือ

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “นักข่าวผี ในยุคดิจิทัล” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ภูวนาถ เผ่าจินดา อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) จิตวดี เพ็งมาก ผู้สื่อข่าวอาวุโสเศรษฐกิจ นสพ.เดลินิวส์ และอดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ  ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

จากประสบการณ์ทั้งนักวิชาการ และนักวิชาชีพ อดีตผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ อ.สกุลศรี ให้คำจำกัดความ “นักข่าวผี” ว่า คือคนที่ไม่ใช่นักข่าว ไม่มีเป้าหมายนำเนื้อหาสาระในงานไปเสนอ แต่มีเป้าหมายเพื่อได้ประโยชน์จากสิ่งของที่แจกในงาน

“ไม่ว่าจะยุคใด คนที่เราเรียกกันว่า นักข่าวผี เขาไม่ได้ตั้งใจเข้ามาเพื่อเก็บข้อมูล แล้วไปเล่าเรื่องเกี่ยวกับงานนั้นๆ แต่มีเป้าหมายเพื่อได้ประโยชน์จากสิ่งของที่แจกในงาน หรือมารับประทานอาหาร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานที่มีของแจก ซึ่งเราจะเห็นกันเยอะ”

อ.สกุลศรี ฉายภาพให้เห็นว่า ปัจจุบันนี้งานอีเวนต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสายการตลาด จะพบว่า มีกลุ่มคนทั้งที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพ ที่สังกัดองค์กรสื่อชัดเจน และกลุ่มคนที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของแชนแนล หรือเพจ หรือคนที่เพิ่งเริ่มทำคอนเทนต์ ซึ่งเป็นปัจเจก จะมีคนหลากหลายกลุ่มเพิ่มมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคดิจิทัล คนที่เข้ามาทำอีเวนต์ต่าง ๆ มีช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง จึงกลายเป็นว่า ทุกคนที่เข้าไปร่วมงานเป็นคนที่มีสังกัดของตัวเอง เป็นเจ้าของเพจ เฟซบุ๊ก ช่องยูทูบ และมีการนำไปเผยแพร่ซึ่งก็ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งได้เห็น

.

“ยุคนี้อาจจะต่างกับสมัยที่เราทำข่าว เพราะตอนนั้นยังไม่ได้มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากมายแบบนี้ พอเห็นหน้าค่าตากัน ก็จะรู้ว่าเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการข่าวเดียวกัน ส่วนคนที่เป็นนักข่าวผี เราก็รู้ว่าใครเป็นใคร ค่อนข้างจะชัดเจน แต่สิ่งที่เราสามารถแยกเขาได้ คือคนที่มาเขาตั้งใจที่จะมาเอาข้อมูลเพื่อไปเล่าเรื่อง หรือลงในแพลตฟอร์มบางอย่างหรือไม่ อย่างน้อยถ้าหากมาแล้วทำคอนเทนต์เพื่อเผยแพร่ บอกข้อมูลต่อ ก็ยังพอรับได้ ในแง่ที่ว่า อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระจายไปยังเน็ตเวิร์กของเค้า ซึ่งยุคนี้มีสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียที่ทุกคนมีเน็ตเวิร์กของตัวเองอยู่ในมือ มีเครือข่ายจะมากจะน้อย แต่ก็มี ก็ยังเป็นประโยชน์สำหรับคนจัดงานงานนั้น ๆ”

“สำหรับคนจัดงานก็อาจต้องพิจารณาว่า ยอมรับได้หรือไม่ คนกลุ่มดังกล่าวมีผลต่อการจัดงานหรือไม่ เพราะก็จะมีมุมของ UGC เหมือนกัน คือคอนเทนต์จากคนทั่วไปที่พยายามเริ่มทำพื้นที่ของตัวเอง เขาอาจจะต้องหาคอนเทนต์ด้วยการไปตามงานลักษณะแบบนี้ เพื่อให้ได้คอนเทนต์มา สุดท้ายแล้วคอนเทนต์ของเขามีประโยชน์ในการส่งต่อไปให้คนอื่นได้รับรู้ข้อมูลจากงานที่จัดหรือไม่ ถ้ามี ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกเขาว่า นักข่าวผี”

ในมุมของคนจัดงาน อ.สกุลศรี มองว่า อาจต้องกลับไปดูเป้าหมายของการจัดงาน นอกจากในส่วนที่เป็นสื่อมวลชน ที่ผู้จัดงานอยากได้ข่าวที่เข้มข้น ในลักษณะมืออาชีพเท่านั้นหรือไม่ และหากอยากให้คนได้เห็นเรื่องราวในกลุ่มที่มีความหลากหลายมากขึ้น เป็นเนื้อหาที่มาจากคนที่ไม่ได้มาจากสื่อ อย่าง อินฟลูเอ็นเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์ ทั้งหลายที่เข้ามา ซึ่งสามารถกระจายไปในกลุ่มที่สื่อมวลชนอาจจะเข้าไม่ถึงกลุ่มนั้นก็ได้ ถ้ามองในลักษณะแบบนี้ ก็ยังเป็นประโยชน์ แต่สำหรับการจัดการกับกลุ่มคนที่เข้ามาแล้วไม่ได้เล่าเรื่อง ถ้าตัดประโยชน์บางอย่างที่เขาจะได้ไป ก็อาจจะลดจำนวนคนเหล่านั้นลงไปได้

วัฒนธรรมการทำข่าวไม่จำเป็นต้องแจก

ต่อคำถามถึงวัฒนธรรมในการทำข่าวประเทศเรา จำเป็นต้องมีของแจกหรือไม่ มองอย่างไร อ.สกุลศรี กล่าวว่า ประเด็นนี้ในแนวปฏิบัติของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในเรื่องอามิส สินจ้าง ได้มีข้อกำหนดเรื่องของกำนัล รวมทั้งบางองค์กรข่าว ก็จะมีข้อกำหนดไม่รับของเวลาไปงาน

โดยหน้าที่ของนักข่าว ถ้าจะไปงานแถลงข่าว ไปงานอีเวนต์ต่าง ๆ โจทย์ของเราคือ เราต้องไปทำข่าว ต้องไปได้ข้อมูลกลับมา ของติดไม้ติดมือเป็นเรื่องรองมาก ๆ ถ้าหากพีอาร์ไม่แจก นักข่าวก็ไม่ได้เดือดร้อน ถ้าคนจัดงานอยากจะตัดปัญหาเรื่องนักข่าวผี แค่ไม่มีของแจกก็ไม่มีนักข่าวผีแล้ว ของแจกไม่มีความจำเป็นสำหรับนักข่าว นอกจากของที่ต้องนำไปทดลองใช้ เพื่อจะสามารถเขียนข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับของสิ่งนั้น ๆ เพื่อพิสูจน์ว่า มันทำได้จริง ใช้ได้จริงหรือไม่ อันนั้นก็เป็นเรื่อง Testimonial ต่าง ๆ ซึ่งเราอาจจะเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดงาน เพราะของแจก เพื่อเป็นที่ระลึก ก็ไม่จำเป็นบางทีคนรับมาก็ลำบากใจ ไม่สบายใจ ซึ่งก็จะลดปัญหานี้ได้

หวังยึดแนวปฏิบัติการทำข่าวร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ในด้านของแนวปฏิบัติ กรอบจริยธรรม ที่เป็นความต่าง ของคนที่อยู่ในวิชาชีพ อ.สกุลศรี มองว่า จุดนี้สามารถเป็นตัวอย่างให้กับคนกลุ่มอื่น ๆได้ หากสร้างมาตรฐานร่วมกัน และถ่ายทอดมาตรฐานเหล่านั้นให้นักข่าวพลเมือง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ให้มีมิติความคิดไปในทางเดียวกัน และไม่ได้เป็นการกีดกันใครออกไปจากการเป็นสื่อมวลชน แต่ยิ่งทำให้นิยามตรงกันชัดเจน คือประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง

ทั้งนี้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้มีความพยายามเผยแพร่แนวปฏิบัติต่าง ๆ ผ่านการถอดบทเรียน ให้เข้าใจง่ายมากขึ้น เพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า หลักการของจริยธรรม แนวปฏิบัติของสื่อมวลชนคืออะไร หากเราทำให้คนในสังคมเข้าใจว่า มีมาตรฐานแบบนี้อยู่ โดยสื่ออาชีพเป็นต้นแบบ และให้คนที่พยายามจะเป็นสื่อ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งแนวปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่ใช้ร่วมกันได้ ก็จะทำให้การกระจายเรื่องของจริยธรรมเพิ่มมากขึ้น

“หากสามารถนำไปใช้ในงานของตัวเอง ก็จะช่วยกันสร้างมาตรฐานของวงการคนทำสื่อในแต่ละกลุ่มเพิ่มขึ้นได้ เราก็พยายามช่วยกันให้กระจายไปในกลุ่มต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ กลุ่มคนทำข่าวประเภทต่างๆ ก็จะมีความหลากหลาย ก็จะไปสร้างมาตรฐาน แนวปฏิบัติทางจริยธรรม ที่สามารถทำได้จริง ในการทำงานที่แตกต่างกันได้ เราก็จะสามารถทำให้เกิดการรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นร่วมกันได้” อ.สกุลศรี ระบุ

นิยาม”นักข่าวผี”อาจเปลี่ยนแปลงไป

ในมุมนักวิชาชีพ ภูวนาถ เผ่าจินดา บอกเล่าถึงสถานการณ์นักข่าวผี จากประสบการณ์กว่า 30 ปีในวงการข่าวว่า พบเห็นเรื่องเหล่านี้มาตลอด กลุ่มคนเหล่านี้ วัตถุประสงค์ที่มาในงานอีเวนต์ ที่สื่อมาทำข่าว คือมาเอาของพรีเมียม ของแจกในงาน นอกจากนี้บางส่วนยังใช้สถานภาพปลอม ๆ ไปต่อยอดอย่างอื่น โดยมีข้อสังเกตว่า เข้ามาถ่ายรูปกับคนต่าง ๆ ในงาน เพื่อให้ภาพของตัวเองปรากฎอยู่ตามงานกับบุคคลต่าง ๆ ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า การทำความรู้จักกับแหล่งข่าว อาจนำไปต่อยอดอย่างอื่น หรืออาจจะนำไปทำเรื่องไม่ถูกต้องหรือไม่

ทั้งนี้ ช่องทางที่นักข่าวผีแฝงตัวเข้ามาได้ เพราะเจ้าภาพ เป็นเอเจนซีโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ทำหน้าที่เชิญนักข่าว เขาก็หวังผลให้มีคนมาร่วมงานเยอะ ๆ จึงเป็นช่องทางให้กลุ่มคนประเภทนี้เข้ามาร่วมงานได้ ในยุคอานะล็อก กลุ่มที่เข้าไปแทรกตัวอยู่ตามงานต่าง ๆ นักข่าวเอง ก็อาจจะชี้ได้ว่า คนไหนใช่ หรือไม่ใช่ เพราะจำนวนไม่ได้มาก จึงพอจะสังเกตเห็นได้

แต่พอมายุคที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน ภูวนาถ มองว่า นิยามคำว่านักข่าวผีอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจ นักข่าวที่อยู่ในองค์กรสื่อก็ถูกลดจำนวนลง จึงมีส่วนที่ออกไปทำสื่อเอง ในลักษณะที่เป็นสื่อบุคคลมากขึ้น โดยมีการทำเพจ ทำเว็บไซต์ ทำช่องยูทูปเอง เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายขึ้น 

อีกส่วนคือ คนนอกที่สนใจการทำข่าว การรายงานข่าว ที่กล่าวกันว่า ทุกวันนี้ใครก็เป็นสื่อได้ ส่วนนี้เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยมีอาชีพเป็นคนข่าวมาก่อน เมื่อโอกาสเอื้ออำนวย ก็เปิดช่องทางของตัวเอง กลายเป็นสื่อ เมื่อมีการแถลงข่าวที่ไหน ก็จะไปร่วมงาน 

ห่วงสายข่าวเฉพาะทาง ความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม หากเป็นงานข่าวเฉพาะทาง ที่ต้องมีทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญ อย่างนักข่าวสายยานยนต์ หากเป็นคนทั่วไปที่เพียงแค่ไปรีวิว โปรโมชั่น แต่ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ก็อาจจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือในแง่ข่าว ข้อมูลความรู้ 

“อย่างข่าวสายนี้ นักข่าวต้องมีความรู้ด้านเทคนิคพอสมควร เพราะเทคโนโลยีก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และผ่านการฝึกฝนมา ใกล้ชิดกับข้อมูล กับแหล่งข่าวมากกว่ากลุ่มคนที่เป็นยูทูปเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ต่างๆ แม้กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเติบโตมาด้วยตัวเองสนใจเรื่องรถยนต์บ้าง เขาอาจจะไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องรถยนต์ อาจจะทำเรื่องอื่นแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ แต่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเรื่องรถยนต์เรื่องเทคโนโลยี อาจจะไม่เท่ากับคนในวิชาชีพ ที่เติบโตมากับงานข่าวด้านนี้ ฉะนั้นถ้าไปแค่รีวิว เป็นแค่การโปรโมทว่า ขับดี มีออปชั่นอะไรโดยไม่มีองค์ความรู้ หรือการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ” อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย กล่าว

เมื่อถามถึง อีเวนท์มอเตอร์โชว์ ของค่ายรถยนต์ ไม่นานมานี้ที่มีการเชิญผู้สื่อข่าวไปไม่ต่ำกว่า 100 คน เป็นเพราะต้องการปริมาณ โดยอาจไม่สนใจว่าคนที่เข้ามาในงานจะใช่นักข่าวทั้งหมดหรือไม่ มองอย่างไร ภูวนาถ ตั้งข้อสังเกตว่า บางทีเจ้าของผลิตภัณฑ์ ก็อาจต้องการกลุ่มนี้ เพื่อสื่อสารออกไปสู่สาธารณะให้มาก เพราะทุกวันนี้คนก็เข้ามาหลายรูปแบบ และมีพื้นที่สื่อของตัวเอง เจ้าของงานต้องการปริมาณ ก็จะเจอภาพแบบนี้ ซึ่งอาจจะแยกแยะไม่ออก อย่างเช่น มีของแจกเตรียมไว้จำนวนเท่านี้ แต่ไม่พอ บางทีไม่ได้เชิญ แค่สื่อสารออกไปว่า วันนี้จะมีรอบสื่อมวลชน ก็แห่กันไป เต็มไปหมด 

“เพราะเรื่องรถยนต์ มีเรื่องเทคโนโลยี คนต้องการอยากรู้โปรโมชั่น สามารถสร้างคอนเทนท์ที่มีสีสันให้คนสนใจได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้ ก็อาจจะทำหน้าที่แค่บอกโปรโมชั่น หรือมีรถใหม่ ๆ ออกมา แมสเซจเท่านี้ เขาพอใจแล้วที่จะส่งไปให้กลุ่มคนติดตามเขา เจ้าภาพก็อาจจะพอใจเท่านี้ เพราะฉะนั้นจึงได้เห็นปริมาณคน ที่เดินถือโทรศัพท์ไลฟ์สดเต็มไปหมด มากกว่าสื่อที่มาทำงานข่าวจริง ๆ” ภูวนาถ กล่าว

สะท้อนพฤติกรรมเรียกผลประโยชน์

ด้าน จิตวดี เพ็งมาก บอกเล่าประสบการณ์เรื่องนักข่าวผี ในสายข่าวเศรษฐกิจเกือบ 20 ปี ว่า ได้รับรู้ ตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ ๆ โดยรูปแบบที่นักข่าวผี เคยสร้างความเดือดร้อน มากกว่าไปงานเพื่อไปรับของแจก ซึ่งกระทบคนที่จัดงาน

“นักข่าวผีส่วนหนึ่งมีพฤติกรรม คือจะมาเอาของแจก ของที่ระลึก บางคนเอากระเป๋า มาเอาอาหารกลับบ้าน ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับพีอาร์ ให้คนที่มาร่วมงาน ที่อาจจะเตรียมอาหาร เตรียมของไว้จำนวนหนึ่ง ก็อาจไม่พอ และอีกพฤติกรรม ที่สร้างความเดือดร้อนให้นักข่าวจริง คือ แอบแฝงเข้ามาขโมยของมีค่า อุปกรณ์การทำงาน ทั้งกล้องถ่ายภาพ กระเป๋าต่าง ๆ

อีกส่วน มีพฤติกรรมหาผลประโยชน์กับองค์กร กับแหล่งข่าว

“พอไปงาน ทำทีไปทำข่าว ถ่ายภาพ แล้วก็เอาไปขึ้นเพจส่วนตัวของตัวเอง ที่เอ็นเกจไม่ได้เยอะ แล้วก็ไปเก็บเงินกับแหล่งข่าว กับองค์กรต่าง ๆ อันนี้เป็นพฤติกรรมที่น่าห่วง น่ากลัวที่สุด อันตรายที่สุด ทำให้ภาพลักษณ์สื่อเสียไปด้วย ซึ่งในส่วนนี้พีอาร์ ก็ไม่ควรเห็นแต่ประโยชน์เรื่องของจำนวนนักข่าวเท่านั้น” 

.

ปัญหาจากกลุ่มนักข่าวผีที่สร้างความเดือดร้อนมาก สมัยก่อนก็พยายามสกัดกั้น โดยทางสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้หยิบยกเรื่องนักข่าวผีขึ้นมาพูดคุยกัน เพื่อหาทางแก้ปัญหา ซึ่งเคยมีมาตรการ ให้แขวนบัตรประจำตัว เพื่อให้เห็นว่า ใครอยู่สังกัดไหน สื่อไหน จะได้รู้ว่า คือนักข่าวจริง 

พีอาร์เปิดช่อง เมื่อสื่ออาชีพลดลง

ขณะที่ในส่วนของเอเจนซีพีอาร์ ที่บริษัทต่าง ๆ จ้างให้จัดงานให้ ที่ต้องมีเงื่อนไขในการเชิญผู้สื่อข่าว มาตามจำนวนที่กำหนด แต่เมื่อสถานการณ์ที่สื่อหลัก ๆ ไม่ได้มีมากเหมือนเดิม ก็กลายเป็นปัญหา

“เอเจนซี่ก็อาจจะไปรับปากหน่วยงาน หรือองค์กรที่จัดงานให้ว่า จะมีนักข่าวมาเท่านั้นเท่านี้ เมื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงกลายการเป็นการเปิดให้นักข่าวผีเข้ามาปะปนในงานเยอะมาก” 

ทั้งนี้ เคยคุยกับคนที่จัดงานอีเวนต์ต่างๆ ถึงเรื่องการสกัดกั้นกลุ่มนักข่าวผี ทางเอเจนซี่ก็สะท้อนข้อมูลว่า บางทีเรื่องนี้ก็พูดยากเพราะไม่รู้ว่าจะไปสกัดอย่างไร เมื่อบางคนบอกว่ามีสื่อของตัวเอง แค่เปิดเป็นเพจเฟซบุ๊ก มีนักข่าวแค่ 1-2 คน บางเพจทำกันแค่พ่อลูก บางเพจทำแค่สามี-ภรรยา หรือบางเพจมีทีมงาน 4-5 คน ซึ่งเอเจนซี่ก็บอกว่า ไม่รู้จะปฏิเสธคนพวกนี้อย่างไร

เมื่อถามว่า มองว่า เป็นความสมประโยชน์หรือไม่ ในเมื่อจำนวนสื่อหลักอาจไม่เพียงพอ จึงเปิดให้กลุ่มที่เป็นเพจต่างๆเข้ามา ซึ่งอาจจะดีกว่าการไปซื้อโฆษณา จิตวดี มองว่า ในมุมนี้ หากมองว่าสมประโยชน์ ระหว่างคนที่รับจัดงานกับกลุ่มนักข่าวผี แต่คนที่เสียผลประโยชน์ก็คือองค์กร หน่วยงานที่จ้าง เพราะการเผยแพร่ข่าวให้สาธารณชนได้รับรู้ก็จะเป็นจำนวนน้อย 

ประเด็นปัญหาตรงนี้ ส่วนตัวมองว่า ทางองค์กรผู้จัดงาน ควรระบุไปเลยว่า การเชิญสื่อมาทำข่าว ต้องเป็นสื่อประเภทไหน อย่างไรด้วย

“หากบอกว่าจะมีสื่อมา 100 คน ก็กลายเป็นว่า ระดมมาหมด บางคนระดมผีมาด้วย ก็ถือว่าเป็นเรื่องการสมประโยชน์ ต่างคนต่างได้ บางทีองค์กรต่าง ๆ หน่วยงานต่าง ๆ เขาไม่รู้หรอกว่า ที่เชิญมาทั้งหมด เป็นใครบ้าง จากไหนบ้าง” 

สำหรับปรากฎการณ์ดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นกับงานอีเวนต์ที่ไม่ใช่ของหน่วยงานราชการ ซึ่งในส่วนของการทำงานเป็นนักข่าวประจำกระทรวงเศรษฐกิจ จะไม่ค่อยได้เห็นนักข่าวผีเท่าไหร่ เพราะไม่ค่อยมีของที่ระลึก เหมือนงานอีเวนต์ของภาคเอกชน อย่างเช่น งานรถยนต์ ที่เพิ่งเห็นจำนวนนักข่าวมากมาย ซึ่งวันเปิดงานมีการแจกของที่ระลึก

สื่อส่วนบุคคลต่าง ๆ ที่ไม่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็อาจไม่สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้ เนื่องจากสมาคมฯ เองก็มีหน้าที่กลั่นกรองการเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งปีนี้ก็อาจจะพิจารณาเรื่องระเบียบการคัดกรองสำนักข่าวต่าง ๆ เข้ามาเป็นสมาชิก เนื่องจากพบว่ามีการนำชื่อสมาคมไปแอบอ้าง เพื่อหน่วยงานองค์กร บริษัทพีอาร์ต่าง ๆ จะได้รับรู้ว่า สื่อใดได้ผ่านการพิจารณา คัดกรองเข้ามาเป็นสมาชิก.