เมื่อ “สังคมเสมือน” ถูกหลอมรวมกับ “เรียลเวิลด์” นักวิชาการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีได้มากกว่ารับข้อมูลข่าวสาร ทั้งความสะดวกในชีวิตและเพิ่มกระบวนการทางสังคม แนะเปิดรับสื่อหลากหลายช่องทางเพื่อรู้เท่าทัน เตือนระวังด้านมืด ผลกระทบการใช้ชีวิต ใช้อารมณ์ในโซเชียลระวังข้อกฎหมาย ขณะที่สื่อ “เก่า-ใหม่” ย้ายไปอยู่ออนไลน์ 70% ชี้ความน่าเชื่อถือช่วยให้สื่อมืออาชีพอยู่รอดได้ทั้งโลกจริงโลกเสมือน
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง เมื่อ “สังคมเสมือน” ถูกหลอมรวมกับ “เรียลเวิลด์” ดำเนินรายการโดย วิชัย วรธานีวงศ์ และ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจําคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ธาม เชื้อสถาปนศิริ สะท้อนมุมมองต่อสังคมไทย ระหว่างโลกเสมือนกับโลกปัจจุบัน ผู้คนอยู่ในส่วนไหนมากกว่ากัน โดยชี้ว่าแต่เดิมที่อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่ปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่เรามีกระบวนการทางสังคม จากตัวเลขการสำรวจทั่วไปในระยะ 5-10 ปีหลัง ใน 1 วัน ช่วง 8 ชั่วโมงของการทำงาน เราใช้สื่อสังคมออนไลน์ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งเสพข้อมูลข่าวสาร ทำธุรกรรมที่ไม่ต้องไปด้วยตัวเอง การเงิน การซื้อสินค้า การเรียน เล่นเกม
ในชีวิตจริงทุกวันนี้ เราจึงสามารถเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงได้หมดแล้ว เข้าถึงกลุ่มคอมมูนิตี้ เพจ สมาชิก หรือแม้กระทั่ง การสร้างตัวตนในเวอร์ชั่นที่เราอยากเป็น บนพื้นที่อินสตาแกรม เป็นคนดังในคลับเฮ้าส์ มีแฟนติดตามในติ๊กต่อก ทวิตเตอร์ สามารถใช้อวตาร สร้างตัวตนเวอร์ชั่นดิจิทัลได้ ซึ่งเป็นโลกที่เราจริงจังมากขึ้น
“สำหรับคนไทย ถ้าถามว่าใช้ชีวิตอยู่ในโลกไหนมากกว่ากัน ในความเป็นจริง 24 ชั่วโมง เราอยากอยู่ในโลกกายภาพ แต่ดูเหมือนอิทธิพลจากโลกเสมือนจริงจะมีผลต่อโลกกายภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในโลกเสมือนจริง ที่เราสามารถสร้างตัวตนขึ้นมาได้ แล้วตัวตนไหนที่เป็นตัวเรา เพราะหลังคีย์บอร์ด เราตั้งสถานะ พูดถึงเรื่องต่างๆ เต็มที่ แต่ตัวจริงทางกายภาพอาจเป็นอีกแบบหนึ่งก็ได้”
สะท้อนปัญหาโลกจริงโลกเสมือน
พร้อมกันนี้ อ.ธาม ได้หยิบยกงานวิจัย ที่ระบุถึงบุคลิกของคนทั่วๆ ไป เวลาที่ไปอยู่ในพื้นที่สื่อ มักจะแสดงตัวตนอีกแบบ ถ้าเป็นความรุนแรงก้าวร้าว ก็จะแรงขึ้น จัดขึ้น แม้ในโซเชียลมีเดียเราสามารถสร้างบุคลิกขึ้นมาก็ได้ แต่ปัญหาที่เป็นระดับลึกคือ เราประกอบสร้างมันขึ้นมา อย่างเช่นเทคโนโลยีดีฟเฟก แล้วทำให้คนเชื่อว่าเป็นจริงก็ได้
ฉะนั้นการปลอมเรื่องด้วยเทคโนโลยี ถ้าเป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ถือว่าอันตราย เพราะปกติข้อมูล ถ้าเป็นสำนักข่าวตอนที่ยังเป็นข้อมูล เราจะต้องตรวจสอบก่อน และหากเป็นข้อมูลที่อยู่ในสื่อในสังคมออนไลน์ หากเป็นเฟกนิวส์ ข้อมูลที่ผิดพลาด แล้วปล่อยออกมา คนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่ามันเป็นข้อจริงมากกว่าข้อเท็จ เพราะจิตวิทยาของคน เชื่อว่าสิ่งใดก็ตามที่ผ่านสื่อแล้วจะมีการตรวจสอบ ไม่เช่นนั้นจะออกมาบนหน้าสื่อได้อย่างไร คนก็จะเชื่อว่าเป็นความจริงแน่แท้
ที่สำคัญ หากขาดวิจารณญาณ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการรู้เท่าทันสื่อแล้ว สิ่งที่อันตรายกว่าก็คือ ตอนที่เรายังไม่ต้องใช้วิจารณญาณ โดยเปิดรับสื่อทุกๆ เอ็นเกจเมนต์ ทุกอินเตอร์แอคทีฟ ทุกการกดไลท์ กดแชร์ คอมเมนต์ ต่อให้ไม่กดอะไรเลยก็ตามแต่ AI รู้ว่า คุณกำลังจ้องมองจ้องมองโพสต์นั้นค้างอยู่ ฉะนั้นยิ่งไปกดไลค์ ก็จะรู้ว่าจริตคุณเป็นอย่างไร ซึ่งเอไอ หรือฟิลเตอร์บับเบิ้ลทำงานแบบนั้น ซึ่งจะทำให้เรามีหน้าต่างข้อมูลข่าวสารแคบลงไปเรื่อย ๆ
เปิดรับสื่อหลากหลายช่องทางเพื่อรู้เท่าทัน
ฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ พยายามเปิดรับสื่อหลากหลายช่องทาง อย่าเปิดรับเฉพาะที่เอไอดึงอะไรมาให้ก็รับหมด พยายามรับสื่อแบบเชิงรุก เช่นค้นหาข่าวจากสำนักข่าว คีย์เวิร์ดคำต่างๆ อ่านความเห็นอื่นๆ ที่น่าเชื่อถือ เป็นองค์กรที่ตรวจสอบสื่อได้ มีจริยธรรมในการนำเสนอ แบบนี้จะทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสารที่บาลานซ์ แล้วเราจะไปใช้เครื่องมือเอไอ หรือวิจารณญาณน้อยลง เพราะเรามีข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายทางแบบนี้ จะช่วยเราได้มาก
สำหรับบทบาทของสื่อ ในการทำหน้าที่ให้ผู้รับสารได้ในสิ่งที่ควรต้องได้และไม่อาจแยกไปข้างใดข้างหนึ่งมากจนเกินไป อ.ธาม ระบุว่า คนทำสื่อทำในเชิงคอนเทนต์ที่ออนแอร์ทางบอร์ดแคส แต่คนสื่อไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม อัลกอรึทึม ไม่ได้ควบคุมสมการคณิตศาสตร์ใดเลย เป็นเพียงคนทำคอนเทนต์ ปัจจุบันความยากกว่าการทำคอนเทนต์ที่ดีคือทำอย่างไรให้คอนเทนต์นั้นมันถูกแพร่กระจายไปถึงผู้รับสาร เพราะการกระจายของข้อมูลข่าวสารมันไม่ได้อิสระ แต่ถูกควบคุมด้วยมวลชน UGC ไม่ได้แค่ผลิตคอนเทนต์แต่ควบคุมการแพร่กระจายด้วย ฉะนั้นมวลชนเป็นอย่างไร ข่าวสารเป็นแบบนั้น ถึงบอกว่าในสังคมที่คนมีการศึกษามีความรู้เท่าทันสื่อมีความวิพากษ์ ประชาชนมีคุณภาพ สื่อมวลชนควรช่วยเร่งสร้าง เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่กระจายข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศที่มีคุณภาพ
มาตรการกฎหมายรัฐดาบสองคม
นอกจากสื่อแล้ว มีหน่วยงานหรือ ภาครัฐที่จะจัดการกับสถานการณ์อย่างนี้ได้บ้าง อ.ธาม กล่าวว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ในอินเทอร์เน็ตมีลักษณะของ Free Flow of Information ภาวะไหลของข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นเสรีภาพ ยกเว้นรัฐบาลอยากจะปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบางอย่าง คิดว่าภาระหนึ่งที่บางประเทศทำ แต่ก็เป็นดาบสองคม นั่นคือการมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเฟกนิวส์ ในหลายประเทศ
ฉะนั้นหน่วยงานรัฐ อย่างแรกคือ การทำสงครามกับข้อมูลข่าวสารที่มันเป็นเฟกนิวส์ทุกประเภท จะต้องออกมาตรการ ออกกฏหมาย ขั้นตอนการปฏิบัติที่ดี สอง การส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่ออย่าง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ กระทรวงดีอีฯ ดูแลเรื่องแพลตฟอร์ม แหล่งที่มาเว็บปลอม บ่อนทำลาย แพร่กระจายข่าวลือ กสทช.เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม เหล่านี้ จำเป็นต้องทำงานเชิงรุก และโดยรวมต้องมีกฎหมายเป็นพื้นฐาน
สื่อจำเป็นต้องช่วยตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะคิดว่าหาใครมาช่วยควบคุม แต่ในโลกปัจจุบันคงไม่อาจคาดหวังว่าให้หน่วยงานรัฐมาทำหน้าที่เป็นตำรวจหรือเป็นเซ็นเซอร์แบบนั้นได้ จริงๆ แล้วเรายังต้องการสังคมที่มีเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร แม้แต่คนสื่อก็ต้องการเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริง แม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็น ถ้าเราไปหวังพึ่งพิงอำนาจรัฐมากเกินไป ก็จะถูกเซ็นเซอร์ จริงๆ แล้ว สื่อก็ยังคงมีหน้าที่หลัก คือกำกับดูแลควบคุมดูแลกันเอง
คิดว่าบรรยากาศทางการสื่อสารที่ดี สื่อมวลชนจำเป็นอย่างมากที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร แม้กระทั่งการตรวจสอบนั้น จะเป็นการตรวจสอบกันเองในวงการ เพราะที่สุดเรื่องที่มันยากกว่าเฟกนิวส์ ก็คือ เฟกนิวส์จะกลายเป็นดีฟเฟก อีก 5 ปีมันจะลงไปอยู่ภายใต้เว็บข้างล่าง ไม่ใช่เซอร์เฟซเว็บ มันจะลงไปอยู่ในดีฟเว็บเลย ฉะนั้นลองจินตนาการดูว่า อะไรก็ตามที่เคยเป็นข้อมูลเท็จวันนี้ แล้วถ้าเราไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง มันจะค้าง แล้วจะวนลูปกลับมาซ้ำ ฉะนั้นเฟกนิวส์มันเป็นเหมือนโรคระบาดที่กลับมาระบาดซ้ำ มันเป็นข้อมูลข่าวสารที่มันร้ายกาจมาก ฉะนั้นสื่อมวลชนปล่อยไม่ได้ แม้กระทั่งประชาชนก็จำเป็นจะต้องร่วมกันตรวจสอบเหมือนกัน
ชี้มุมบวกประโยชน์เทคโนโลยีโลกเสมือน
ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล ให้น้ำหนักระหว่าง โลกเสมือนกับโลกปัจจุบัน เกิน 50% เพราะเห็นว่า เราต้องอยู่กับโลกเสมือนถึงครึ่งวันในการทำงาน สำหรับนักศึกษาคนรุ่นใหม่มีโลกทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร อ.ณภัทร จากที่สัมผัสกลุ่มคนตั้งแต่เจน X เจน Y เจน Z ถ้าพูดถึงตัวเด็กๆ เค้าอยู่กับโลกสังคมเสมือนจนเนียนกริบ ไม่ได้รู้สึกว่ามีความแตกต่าง และเพื่อนที่มาจากโลกเสมือน ก็มีความสำคัญเท่าๆ กับเพื่อนที่มีตัวตนในโลกจริงๆ มีการปรึกษากัน ทั้งเพื่อนที่โรงเรียน และเพื่อนในโลกเสมือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กเจนใหม่ เช่นการมีเพื่อนที่อยู่ในเกม ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะเด็กก็สามารถเรียนภาษาจากเกมได้ เด็กยุคนี้ กับโลกเสมือนมันเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันก็กลืนกินโลกความเป็นจริงไปแล้วในตอนนี้
มองอย่างไรเมื่อสังคมเสมือนถูกหลอมรวมเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ในระยะอันใกล้ อยู่ในจุดเสี่ยงหรือไม่ หรือหากเราจะทำให้อีกหลายกลุ่มรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัลมีคำแนะนำอย่างไร อ.ณภัทร กล่าวว่า ตนมองในแง่บวก โดยยกตัวอย่างที่มีโอกาสไปทำงานกับองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องของเมตาเวิร์ธ ซึ่งได้ทดลองสื่อที่เป็นโลกเสมือน เหมือนยืนอยู่ข้างกัน แล้วมีกระดานเขียน ซึ่งช่วยลดช่องว่าง ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย การใช้เวลา เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากขึ้น เมื่อสมองไม่เหนื่อย คนเราจะสร้างสรรนวัตกรรมอะไรได้เยอะมาก เมื่อลดข้อจำกัดเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เจอคนได้มากขึ้น ก็เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันได้มากขึ้น นี่คือข้อดี พอโลกเสมือนมันเกิดขึ้น ก็เกิดอิมแพคที่ดีต่อสังคมได้
แต่ข้อจำกัดมันก็มี เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้แพง และไปเร็วมาก ก็คงจะต้องเป็นการปรับตัวของกลไก หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเรามองว่า ประเทศเราจะต้องมีความสามารถทางการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่กล้าก้าวข้ามเส้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพราะประเทศอื่นเค้าก็ใช้เทคโนโลยี
ข้อระวังด้านมืด ผลกระทบการใช้ชีวิต
ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีสิ่งที่ต้องระวัง เพราะเหรียญมีหลายด้านเสมอ ก็คือ ขณะที่มีคนพยายามพัฒนาประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ ก็มีคนเก่งๆ อีกด้านหนึ่ง ที่ใช้ความเก่งของตัวเองพัฒนาในด้านดาร์กไซด์ของสิ่งเหล่านี้ มันมีเว็บที่เป็นดาร์กไซด์ ไม่เฉพาะเด็ก แต่ผู้ใหญ่วัยไหนก็ตาม ผู้สูงอายุ ผู้มากด้วยประสบการณ์ หากเข้าไปในดาร์กเว็บเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ตามเข้ามาในชีวิตจริงได้เลย ไม่ใช่แค่เรื่องโดนแฮ็กข้อมูล เค้าตามเข้ามาในชีวิตประจำวันได้
โลกเสมือนอย่างไรก็ต้องเข้ามาแน่ เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทุกวินาที ขณะเดียวกันเราจะปฏิเสธเลยก็คงจะตกขบวนคันนี้ สิ่งที่ต้องมีก็คือการรู้เท่าทัน และการเปิดรับ และการมองเรื่องของการเรียนรู้ เป็นเรื่อง Positive และฝึกฝนเรื่องนี้ไปด้วยกัน
ความน่าเชื่อถือสื่อรอดได้ทั้งโลกจริง-เสมือน
เมื่อถามว่าถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ในมิติของการทำงานของสื่อสารมวลชนในปัจจุบัน ไม่ว่าสื่อใด มีมุมมองอย่างไรกับการทำหน้าที่ของสื่อ อ.ณภัทร กล่าวว่า ถ้าสื่อทำงานกับคนเจเนอเรชั่นใหม่ แล้วเราพยายามจะบอกว่า เค้าอยู่โลกเสมือนมากเกินไป ไม่ฟังเราเลย มันจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอื่น แล้วคนรุ่นใหม่เค้าก็จะไม่คุยกับเรา ก็จะไปคุยกับสื่อที่เขายอมรับนับถือ แต่สิ่งหนึ่งที่สื่อมืออาชีพจะมีได้ และเป็นจุดแข็ง ไม่ว่าเทคโนโลยีไม่สามารถทำอะไรเราได้ คือเรื่องความเชื่อถือได้ คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นโลกเสมือนใดก็ตาม แต่ถ้ามาจบที่สื่ออย่างนี้ คือสิ่งที่น่าเชื่อถือ คิดว่าเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นเสน่ห์ของวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวลชน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปยังไง ถ้าเรามีความน่าเชื่อถือ ก็จะอยู่รอดและเป็นที่ยอมรับ
เมื่อถามถึงการอยู่รอดของสื่อ ในยุคที่มีแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้ อ.ณภัทร กล่าวว่า อยากหยิบยกคำมาใช้คือ Fail Fast, Learn Faster ซึ่งเป็นไอเดียของการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ จะเห็นได้ว่าในหลายวิชาชีพ ก็เริ่มนำไอเดียนี้ไปใช้ ซึ่งหมายถึงการยอมรับว่าเราทำผิดเมื่อเราพลาดไป เราเรียนรู้และลุกขึ้นมาใหม่ การล้มของเรามันเป็นการล้มไปข้างหน้า ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น เราก็จะต้องอยู่รอดให้ได้ทั้งในโลกธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องดำรงอยู่ซึ่งจริยธรรม และจรรยาบรรณ ศักดิ์ศรีของความเป็นสื่อมวลชน เราจะทำอย่างไรดี
ถ้าเป็นไอเดียแบบนี้ การที่มองว่ากลุ่มเป้าหมายหรือผู้เสพสื่อ อะไรคือคุณค่าที่เค้าต้องการ เช่น ข้อมูลที่เร็วแต่เชื่อถือได้ แล้วเราจะทำอย่างไร สอง เร็วและเชื่อถือได้อาจจะอยู่อีกแพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์ม พฤติกรรมของผู้บริโภคต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และดูว่ากลุ่มเป้าหมาย โลกเสมือนของแต่ละแพลตฟอร์มเค้าดูว่าสื่อแบบไหนที่มีคุณค่าต่อเค้า เค้าชอบแบบไหนแล้วเราก็ปรับตัวให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรา ซึ่งพฤติกรรมของเขามันคือคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะทำให้สื่ออยู่รอดได้
สื่อเก่าสื่อใหม่ย้ายไปอยู่ออนไลน์ 70%
ขณะที่ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล มีมุมมองต่อโลกเสมือนกับโลกแห่งความจริงว่า ขึ้นอยู่กับสังคม ถ้าเป็นของไทย ที่รู้สึกว่าถูกดิสรัปค่อนข้างมาก ตอนนี้สื่อกระแสหลัก ทีวี สิ่งพิมพ์ รวมถึงภาพยนตร์ ได้ย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ค่อนข้างมากผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ผ่าน Streaming คิดว่าประมาณ 70% ถ้าเทียบกับต่างประเทศ ประเทศเรามีการดิสรัปค่อนข้างสูง พวกทีวีดิจิทัล ทีวีดั้งเดิม สื่อสิ่งพิมพ์ ไปอยู่ออนไลน์เยอะ มองว่าโลกเสมือนกับโลกจริงได้มาบรรจบรวมกันแล้ว
หากไปดูสถิติของสมาคมโฆษณา จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้ผู้บริโภคไปอยู่ออนไลน์เยอะ ส่วนหนึ่งสื่อกระแสหลักก็ไปอยู่ในออนไลน์ ดูฟรี ก็ย้ายไปอยู่กันตรงนั้น ที่สำคัญคือเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่นั่น จึงคิดว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะไปอยู่บนออนไลน์เยอะขึ้น อย่างอังกฤษ บีบีซี เขาจะไม่มีทีวีแบบดั้งเดิมที่ดูบนหน้าจอตามเวลา เค้ากำหนดนโยบายอีก 10 ปีมาเลย อย่างของเรายังไม่ได้กำหนดนโยบายขนาดนั้น แต่พฤติกรรมผู้บริโภคก็ไปแล้วค่อนข้างเยอะ
ผู้ประกอบการต้องทำงานคู่ขนาน
เมื่อถามว่า สถานการณ์นี้มีอะไรน่าห่วงหรือไม่ สังคมจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร อ.พิจิตรา กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัว อุตสาหกรรมที่เรายังอยู่ในรูปแบบเก่า การรับมือไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้ผลิตเนื้อหา นักข่าว กลุ่มเก่าๆ อาจจำเป็นต้องทำงานคู่ขนานกัน ไม่ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ เล่นเรื่องลิขสิทธิ์ คือไม่ใช่การดูฟรี ตามพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัวไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น แล้วก็ต้องหารูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งคีย์สำคัญที่จะสามารถทำเงินได้ ก็คือเรื่องลิขสิทธิ์ และรูปแบบระบบสมาชิก ก็จะทำให้สามารถทำเงินได้ และยังอยู่รอดได้ เดี๋ยวนี้เราจะเห็นพอไปอยู่ออนไลน์ ก็จะรายการที่มีไทร์อิน มีสปอนเซอร์เข้ามาช่วย เค้าก็จะอยู่รอดได้ในโลกออนไลน์
ในส่วนของผู้บริโภค พอเป็นออนไลน์ ซึ่งผู้ผลิตไม่ได้มีเฉพาะมืออาชีพที่ผลิตคอนเทนต์ เราเจอปัญหานี้มาเป็น 10 ปีแล้ว สื่อก็ต้องมีภูมิคุ้มกันตัวเองในเรื่องของเฟกนิวส์ การบูลลี่ เฮดสปีช ต้องรู้ตัวด้วยว่า อะไรคือแหล่งข่าวที่เราต้องเข้าถึง และน่าเชื่อถือได้ อย่าไปเชื่อแค่ว่ามีคนบอก อย่าไปเชื่อเพราะพวกมากลากไป จะต้องระแวดระวังตรงนี้ เพราะฉะนั้นเรื่อง Fact Check ก็เป็นเรื่องสำคัญ แล้วเดี๋ยวก็มี Chat GPT อีก ยังมอนิเตอร์กันอยู่ ดังนั้นคิดว่าผู้รับสารก็ต้องมีภูมิคุ้มกันตัวเอง ต้องเอ๊ะไว้ก่อนเวลาเรารับสาร
ผู้บริโภคควรสนับสนุนสื่อข้อมูลคุณภาพ
เมื่อถามว่า ภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อ ควรจะมีตัวช่วยสำหรับคนเจนใหม่ รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ อย่างไร อ.พิจิตรา กล่าวว่า ถ้าจะเพิ่มเติม ในระบบของนิเวศสื่อ เราต้องสนับสนุนคนที่ทำข้อมูลข่าวสารที่เป็นระบบ และนำเสนอข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าวต่างๆ ต้องได้รับการสนับสนุน ผู้บริโภคมีระยะเวลามากสุดในแต่ละวัน 4-5 ชั่วโมง ในเวลาจำกัดอย่างนี้ เค้าจะได้รับข้อมูลข่าวสารแบบไหน ถ้าในลูปของสื่อสังคมออนไลน์ ที่ให้ภาพและเสียง มันมีแต่ขยะ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่คิดว่า นอกจากผู้บริโภคต้องคุ้มกันตัวเองแล้ว อันแรกต้องมีหน่วยงานหรือแพลตฟอร์มต้องร่วมมือกันส่งเสริมคอนเทนต์ดีๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงอยู่ในนั้นให้เยอะที่สุด หรือไปอยู่ในลำดับต้นๆ ของ Google หรืออยู่ในกล่องของวิกิพีเดีย หรือ Chat GPT ที่คนใช้หาข้อมูล คิดว่าจำเป็นมาก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทำความร่วมมือกันระหว่างบริษัทแพลตฟอร์ม หรือหน่วยงานต่างๆ ที่ห่วงใยเรื่องนี้ ก็ต้องโปรโมทข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ การทำงานแบบสำนักข่าว ที่มีระบบบรรณาธิการ
อันที่สอง เรื่องของการรู้เท่าทัน จากที่ทำงานเรื่องนี้มาเยอะ ต้องบอกว่าไม่ได้มีเฉพาะเด็กที่ไม่รู้เท่าทัน มีทั้งผู้สูงอายุที่แชร์เฟกนิวส์ ถ้าจะขยาย ก็ต้องทุกเจนเนอเรชั่น แล้วต้องเตือนกันในหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะกลุ่มเด็กอย่างเดียว ต้องให้ความรู้ผู้สูงอายุด้วย
เมื่อถามว่า การสร้างการรู้เท่าทัน คาดหวังจากอินฟลูเอนเซอร์ได้หรือไม่ อ.พิจิตรา ระบุว่า ทั้งอินฟลูเอนเซอร์ นักข่าว สำนักข่าวต่างๆ คือ Node ของ Hub ที่มีคนตามเยอะ ฉะนั้นในการสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ถ้ากลุ่มเหล่านี้ รู้เท่าทัน คือเค้าช่วยเราเช็คในระดับหนึ่ง ป้องกันข่าวปลอม ไม่แชร์ ก็ช่วยได้เยอะมาก เท่าที่ดูจากงานวิจัย กลุ่มนี้มีความรับผิดชอบค่อนข้างสูง เพราะเขากลัวเครดิตของเค้าเสีย นอกจากไม่แชร์ข่าวปลอมหลายครั้ง ยังระงับด้วยซ้ำ
อารมณ์ในโซเชียล ระวังข้อกฎหมาย
ประเด็นสำคัญที่ อ.พิจิตรา ชี้ว่าเป็นกระแสคือ เรื่องอารมณ์ที่อยู่ในสื่อโซเชียลเยอะ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นไวรัล อย่าอินกับมันมาก ซึ่งนอกจากรู้เท่าทันแพลตฟอร์มโซเชียลแล้ว ต้องรู้เท่าทันกฎหมายด้วย จะโพสต์จะแชร์อะไรต้องดู เพราะจะสร้างความลำบากให้เราเยอะแยะมากมาย
สำหรับเด็กรุ่นใหม่ มีความเปราะบางกับข้อมูลข่าวสารเป็นเท็จมากน้อยแค่ไหน อ.พิจิตรา มองว่า ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหญ่ไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ เพราะเขาโตมาเหมือนเป็นดิจิทัลเนทีฟ เค้าจะรู้เลยว่าอันนี้สแกม มาหลอก และรู้แหล่งในการแฟกเช็คด้วย เวลามอนิเตอร์เรื่องเฟกนิวส์ไม่ค่อยเจอรุ่นใหม่ที่มีปัญหา จริงๆ ผู้สูงอายุมีปัญหาเยอะ ทั้งถูกมิจฉาชีพหลอก เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มาหมด โดยเฉพาะอยู่ในกรุ๊ปไลน์
สำหรับเด็ก ถ้ารุ่นใหม่ ที่กังวลคือเรื่องอารมณ์ และการควบคุมตัวเอง การถูกบูลลี่ เพราะรุ่นเด็กคือการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองเรื่องความมั่นใจอาจไม่ได้เยอะ แต่เวลาอยู่ในโลกโซเชียลจะโชว์ว่าตัวเองมั่นใจ สิ่งที่เรากังวลน่าจะเป็นเรื่องสุขภาพจิต การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น การถูกบูลลี่ เอาตัวเองไปอยู่ในโลกเสมือนจนละทิ้งโลกความเป็นจริง
อย่างไรก็ตามบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook Google จะมีศูนย์ในการให้ความช่วยเหลือ เมื่อมีสัญญาณจากเด็กที่ซึมเศร้า จะมีฟีเจอร์เข้ามาบอก เพื่อช่วยให้โทรไปยังคนให้คำปรึกษาในเชิงจิตวิทยา และผู้ใหญ่ใกล้ตัวจะช่วยได้ โดยพยายามทำความเข้าใจเค้า เพราะโลกเสมือนไม่ได้แก้ปัญหาได้ ต้องเป็นโลกที่เจอผู้คนจริงๆ
ขณะที่ในส่วนของสื่อจะช่วยได้อย่างไร เราก็พยายามรณรงค์ อย่างในต่างประเทศ เมื่อมีการเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย หรือมีกรณีซึมเศร้า จะมีเบอร์ หรือช่องทางติดต่อได้ หรือแนบลิงค์อยู่ในเนื้อหาข่าว ไม่ว่าจะเป็นสื่อแพลตฟอร์มไหน ในทีวีจะมีตัววิ่งเสมอ และผู้ประกาศก็จะแจ้ง ซึ่งสื่อก็จะช่วยเป็นเน็ตเวิร์คในการติดต่อ.