ความท้าทายสื่ออาชีพ เมื่อโซเชียลมีเดียกำหนดวาระข่าวสาร จนสามารถชี้นำสังคมได้ ยกเลือกตั้งส.ส.กรณีตัวอย่าง “บรรยงค์” แนะสื่อหลักต้องสร้างความสมดุลข่าวสาร ด้วยหลักความรับผิดชอบและจริยธรรม “นักวิชาชีพ” ชี้วาระข่าวสารเปลี่ยนมือ เมื่อออนไลน์โตเร็ว มองข้อดี สื่อมีแหล่งข้อมูลเพิ่มจากสื่อสังคม ทั้งกว้าง ทั้งเร็ว บทบาทสื่อจึงต้องเพิ่มบาลานซ์ งานเชิงลึก “นักวิชาการ” แนะสื่ออาจต้องมองถึงแพลตฟอร์มของตัวเอง
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “สื่อสังคม กำหนดทิศทางข่าวได้จริงหรือ?” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อดีต ผู้กำหนดวาระข่าวสารคือ “สื่อมวลชน”
วันนี้ยังมี “สื่อสังคม” ที่สื่อมวลชนยังต้องตาม
ยิ่งรอบรู้การสื่อสารและการใช้สื่อดิจิทัล ก็สามารถ “ชี้นำ” จนอาจควบคุมสังคมได้
“รู้เท่าทันสื่อ” เท่านั้น จึงจะแยกแยะ “ข้อเท็จ” และ “ข้อจริง” ออกจากกัน
ข้อเขียนของ บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ที่ฉายภาพสถานการณ์วาระข่าวสารในสังคม พร้อมทั้งขยายความว่า เดิมผู้กำหนดวาระข่าวสารคือสื่อมวลชน แม้ยากที่่จะเป็นกลาง หรือแค่เลือกว่าจะเสนออะไร ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้รับข่าวสารที่หลากหลายแตกต่างได้ ด้วยเหตุนี้เอง สื่อมวลชนวิชาชีพจึงกำหนดไว้ชัดว่า ให้นึกถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ฉะนั้นประเด็นเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อได้กำหนดวาระข่าวสารอย่างบริสุทธิ์ใจหรือไม่ ก่อนจะไปสู่สังคม
โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ อย่างการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ประชาชนจะได้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร ไม่ใช่แค่ประโยชน์แก่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด ตรงนั้นคือความสมดุล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากของสื่อมวลชน
ในส่วนของสื่อสังคม ที่มีคำถามว่า กำหนดทิศทางข่าวได้จริงหรือ โดยทั่วไป วันนี้ผู้ใช้สื่อออนไลน์สร้างสารได้แล้ว ที่เราใช้ User generated content (UGC) มาเทียบเคียงกับวารสารศาสตร์ ก็คล้ายกับผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ เค้าก็กำหนดวาระข่าวสาร แต่เป็นข่าวสารที่มากหลากหลาย ในสายตาคนทำสื่อ ก็เห็นว่าหยิบไปเสนอต่อได้ โดยอ้างว่า มีคุณค่าข่าว เป็นปุถุชนวิสัย
เรื่องอย่างนี้อาจไม่ชัดเจนว่า สื่อสังคมกำหนดทิศทางข่าว แต่สื่อมวลชนต่างหากที่ถูกตั้งคำถามว่า เมื่อนำเรื่องที่ว่านี้มาเสนอเป็นข่าว แล้วสังคมได้อะไร สาธารณะประโยชน์อยู่ตรงไหน สื่อก็อาจจะอ้างว่าสะท้อนพฤติกรรมสังคม คือสังคมเป็นอย่างไร สื่อก็เป็นอย่างนั้น ก็เป็นข้ออ้าง แต่หน้าที่สื่อไม่ได้มีแค่นี้ ยังมีหน้าที่สำคัญอื่น โดยเฉพาะการชี้นำสังคม เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งในการทำให้สังคมมีคุณภาพ
เลือกตั้งตัวอย่างชัดสื่อสังคมกำหนดวาระ
มีข้อที่อาจกล่าวได้ว่า สื่อสังคมกำหนดทิศทางข่าวได้จริง นั่นคือกรณีศึกษาจากการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ 14 พ.ค.2566 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือการผลิตวาทกรรม โดยใช้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมมาประกอบสร้าง เพื่อขยายวาทกรรม เอาคำว่าประชาธิปไตยกับเผด็จการ ที่ใช้สื่อสารมากที่สุด เมื่อยุบสภามีการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยก็ปรับเป็นเสรีนิยม เผด็จการก็ปรับเป็นอนุรักษ์นิยม ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกัน ทุกช่องทางของสื่อสังคมที่ใช้แพลตฟอร์ม ถูกนำมาใช้เผยแพร่ จนเป็นไวรัลแพร่กระจายออกไป โดยผู้ใช้สื่อออนไลน์ในสังคม เกิดการแบ่งปัน หลังจากที่เปลี่ยนจากความไม่รู้ ความถี่เยอะๆ ก็เป็นความสงสัย ก็กลายเป็นความเชื่อ และเชื่อเนื้อหาที่ถูกประกอบสร้างบนข้อเท็จจริง เพียงแต่ว่า เรื่องนั้นเท็จมากกว่าจริง หรือจริงมากกว่าเท็จก็แล้วแต่ มันยากที่จะปฏิเสธว่า สื่อสังคมที่มีเจตนา หรือมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนนั้น สามารถกำหนดทิศทางข่าวได้ คำตอบมันชัดยิ่งกว่าชัด ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ซึ่งพวกนักการเมืองเก่าแก่ที่เชื่อมั่นว่าเข้าสภาได้ ถูกกวาดจนไม่เหลือเลย
ที่เกี่ยวข้องกับคนทำสื่ออาชีพคือ สื่อมวลชนที่นำข่าวสารทางการเมืองจากสื่อสังคมนำไปเผยแพร่ต่อ นำไปรายงานต่ออย่างไร ที่ไม่ต่างกับการยอมรับว่า สื่อสังคมเป็นผู้กำหนดทิศทางข่าว
“นี่เรายังไม่รู้ตัวกันอีกนะ แล้วมันส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนในฐานะผู้ชี้นำสังคม โดยเฉพาะในข้อที่ว่า เมื่อเกิดข้อสงสัยในสังคม ที่สุดแล้ว สื่อมวลชนคือผู้ให้คำตอบ ไม่ใช่สื่อสังคม แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจแล้ว”
แนะสื่อมวลชนต้องสร้างความสมดุล
เมื่อถามว่า สังคมไทยไปกับโซเชียลมีเดียหมดแล้ว ขณะที่อาจมีสื่อโซเชียลก่อให้เกิดความเข้าใจผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ สื่อมวลชนจะสามารถดึงกลับมาได้หรือไม่ อ.บรรยงค์ ระบุว่า ถ้าแยกแยะสื่อของคนในสังคม พวกที่ไม่ตั้งใจเยอะมาก แต่ในสื่อสังคมก็มีกลุ่มคนที่มีเจตนา วัตถุประสงค์ชัดเจน ถ้าเป็นในทางบวกก็ดีไป แต่ถ้าเพื่อประโยชน์ตนเองหรือกลุ่มตนเอง เขาก็สามารถสร้างวาทกรรมต่างๆ ทั้งหลายได้ และหากเกิดการบิดเบือน ตรงนี้จะเป็นอันตราย ด้วยเหตุนี้เอง ถึงกังวลมากเรื่องสื่อสังคมกำหนดวาระข่าวสาร
ดังนั้น สื่อมวลชนจึงต้องเข้าไปสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น แต่วันนี้สื่อมวลชนอาชีพด้วยกันเอง จำนวนสื่อหลักที่จะพึ่งพาอาศัยได้ ยิ่งในโลกดิจิทัล ในความเยอะเชิงปริมาณ แต่เชิงคุณภาพมันตามไม่ทัน หรือถูกอิทธิพลหลายๆ อย่างบ้าง เช่น แม่นักการเมืองถือหุ้นสื่อก็มีอิทธิพลแล้ว
3 ข้อหลักบทพิสูจน์สื่อมืออาชีพแท้จริง
อ.บรรยงค์ มองว่า ที่สังคมต้องการคือสื่อที่มีวิชาชีพแท้จริง และการรักษาความน่าเชื่อถือในการเป็นสื่อมืออาชีพเท่านั้นจึงจะรักษาความเป็นสถาบันไว้ได้ เพราะผู้ทำให้สถาบันสื่อมวลชนสั่นคลอนได้ ไม่ใช่สื่อสังคมแต่เป็นสื่อมวลชนด้วยกันเอง เพราะที่สุดแล้วสื่อวิชาชีพต่างหากที่จะเป็นหลักอยู่ได้
ขณะเดียวกันสภาวิชาชีพ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเอง ก็ทำงานได้ยากมาก เพราะต้องเป็นหลัก เราทำงานไม่ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากเราต้องมีหลักเหมือนกัน ฉะนั้นก็ต้องใช้สื่อด้วยกันเอง เพื่อบอกเล่าให้คนในสังคมรับทราบว่า มันมีอยู่ เพียงแต่อย่าให้ลดน้อยไปกว่านี้ เพื่อเป็นหลักให้ได้ เชื่อว่าสังคมจะหันมาหาข้อเท็จจริง เพื่อจะดุลกับคนในสื่อสังคม ที่เค้าสามารถกำหนดวาระด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ ก็เห็นชัดแล้ว
อ.บรรยงค์ ได้ฝากถึงสื่อมืออาชีพว่า 1.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม แต่หากยังทำไม่ได้ ก็ไม่ใช่สื่อมวลชน 2. ยึดมั่นในอาชีวะปฏิญาณนั้นคือจริยธรรมวิชาชีพ ถ้าไม่ยึดมั่น ก็ไม่ใช่สื่อมวลชน 3.การพัฒนาตัวเองไม่หยุดยั้ง เพราะสังคมมันละเอียดอ่อนขึ้น สลับซับซ้อนขึ้น ทั้ง 3 ข้อนี้ คือข้อที่สื่อมวลชนหัวหงอกหลายคน ทุกวันนี้ลืมตัว คิดว่าใช่แล้ว ก็ฟันฉับๆ เรื่องต่างๆ 3 ข้อนี้คือการบอกว่าตัวเองเป็นสื่อมืออาชีพแท้จริง
วาระข่าวสารเปลี่ยนมือเมื่อออนไลน์พุ่ง
กนกพร ประสิทธิ์ผล มีมุมมองเรื่องความเปลี่ยนแปลงของคอนเทนต์บนสื่อสังคม หรือโซเชียลมีเดียว่า ถ้าเทียบเรื่องช่วงเวลาที่เห็นความแตกต่างได้ชัด คือ ก่อนโควิด ช่วงโควิด และหลังโควิด ในเชิงของความสนใจของคน หรือประเด็นคอนเทนต์จะเปลี่ยนไปตามบริบทสังคม
แต่สิ่งที่รู้สึกว่ามันต่างคือ ก่อนและหลังโควิด ที่คนเริ่มอยู่กับออนไลน์มากขึ้น เห็นสถิติมากมายหลายบริการบนออนไลน์ที่มีตัวเลขสูงขึ้น ยอดซื้อสมาร์ทโฟนมากขึ้น การใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น การเปิดรับเรื่องของโลกออนไลน์เยอะขึ้น นั่นหมายความว่าคนเริ่มเปิดประสบการณ์เข้ามาสู่โลกออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ หรือดิจิทัลเนทีฟ แต่ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ใครที่ยังไม่เคยใช้ ช่วงโควิดเป็นช่วงที่ปรับจูน เป็นช่วงวิกฤติที่ทำให้เกิดโอกาสของการเข้ามาสู่โลกอินเทอร์เน็ตเยอะขึ้น หมายความว่าเค้าใช้โซเชียลมีเดียเยอะขึ้นด้วย
หลังจากนั้น พฤติกรรมการเสพข่าว ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย การมีเพื่อน มีสังคม แม้กระทั่งการเติบโตของแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะยุคใหม่ๆ เช่น TikTok เยอะขึ้น จะเห็นตัวเลขสูงขึ้นเร็วมากตั้งแต่ช่วงโควิดเป็นต้นมา
สำหรับประเด็นที่ว่า วาระข่าวสารในวันนี้ สื่อสังคมกำหนดทิศทางข่าวได้จริงหรือไม่ กนกพร มองว่า การที่วาระข่าวสารจะถูกโยกจากผู้กำหนดข่าวสารที่เป็นสื่อมวลชนในสมัยก่อน ที่จริงมันเปลี่ยนไปนานมากแล้ว ก่อนโควิดด้วยซ้ำ การเสพสื่อช่วงของการเปลี่ยนที่สำคัญ คือการมีโซเชียลมีเดีย พอเริ่มมีความนิยมมากขึ้น วาระข่าวสารที่เกิดขึ้นได้ถูกเปลี่ยนมือจากผู้กำหนดที่เป็นองค์กรสื่อ อาจจะไม่ได้ลดบทบาทลงมากนัก แต่ก็ถูกกระจายผู้กำหนดวาระ
มองข้อดีสื่อมีแหล่งข้อมูลเพิ่มทั้งกว้าง-เร็ว
การเปิดพื้นที่ให้กับผู้บริโภค ได้เป็น UGC มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ มีบัญชีเฟซบุ๊กตัวเอง หรือมีแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น ทำให้เขาสามารถจะเจอเรื่องราวต่างๆ และเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ด้วยตนเอง นั่นก็คือเป็นผู้ที่สามารถกำหนดวาระได้ ซึ่งไม่ได้เป็นผลเสีย ก็เป็นประโยชน์ กับการที่เราได้แหล่งข่าวเพิ่มขึ้น เราได้เห็นอะไรในสังคมที่กว้างมากขึ้น และเร็วมากขึ้น
“ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่มันมีทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม การมีโซเชียลมีเดียเยอะขึ้น ทำให้วาระถูกกระจายมากขึ้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า คือสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่ได้เป็นรูปแบบการสื่อสารหนึ่งต่อหนึ่ง หรือเรากับเพื่อนเท่านั้น เราอาจจะไปต่อเชื่อมกับเพื่อนของเพื่อน หรือมีการกระจายบนโซเชียลมีเดียได้รวดเร็วมากขึ้น แล้วยังมีเรื่องของอัลกอริทึม กลไกการเลือกอีก”
เมื่อถามถึงกรณี UGC ใครก็สามารถรายงานข่าว แสดงความคิดเห็นได้ตามต้องการ จะส่งผลอย่างไรต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคมไทย กนกพร กล่าวว่า คำว่า UGC มีทั้ง Generate แบบไหน มีประโยชน์ เป็นเฟกนิวส์ไหม ครบถ้วนรอบด้านหรือไม่ ปัจจัยของคอนเทนต์ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่เริ่มเยอะขึ้น ตรวจสอบได้ยากมากขึ้น เริ่มมีความไม่บาลานซ์เยอะขึ้น สิ่งที่ต้องพัฒนาตามไปคือ คนเสพข้อมูล ต้องมีความเท่าทันมากขึ้น ต้องเช็คด้วยตัวเองมากขึ้น ต้องเป็นนักวิเคราะห์มากขึ้น สืบค้นมากขึ้น
บทบาทสื่อเพิ่มบาลานซ์-งานเชิงลึก
ส่วนใครจะเป็นคนออกมาตัดขวาง สื่อเองก็มีหน้าที่ ถ้าเจอวิธีการใดๆ ก็ต้องเอามาเผยแพร่ ต้องเพิ่มบาลานซ์มากขึ้น ทั้งทำวาระตามที่เค้าสนใจ หรือหากเกิดความเข้าใจอะไรผิดขึ้น สื่อก็ต้องทำข้อเท็จจริงให้เกิดขึ้น แล้วส่งไปให้ถึงมือให้ได้
อีกมุม คิดว่าภาครัฐ หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลข่าวสาร หรือโลกอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ ก็ต้องร่วมมือกัน หากเจอข้อมูลปลอมแปลงบัญชีผิด ข้อมูลเท็จ ภาครัฐและแพลตฟอร์มก็ต้องออกมาแสดงความเข้มข้น กฎเหล็กให้ชัดเจนและเร็วด้วย เพื่อขจัดสิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้ลดทอนลงไปได้เร็วขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ไหลไปจนเกิดความเสียหายแล้ว 2 ส่วนนี้ น่าจะขยับจากวิธีเดิมๆ ทำให้เป็นโปรแอคทีฟมากขึ้นอาจจะช่วยลดทอนและสร้างการรู้เท่าทันได้มากขึ้น
เมื่อถามถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสื่อหลักกับสื่อโซเชียล เรื่องที่ต้องอยู่ในกรอบจริยธรรม ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมผู้เสพสื่อหรือไม่ กนกพร กล่าวว่า เราอาจจะห้ามพฤติกรรมคนได้ยาก แต่เชื่อว่าที่มีประสิทธิภาพคือตัวแพลตฟอร์ม ถ้ามีความรับผิดชอบ ใส่ใจกับนโยบายเรื่องพวกนี้แพลตฟอร์มมีส่วนช่วยได้มาก ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย อย่างช่วงโควิด บางแพลตฟอร์มตื่นตัวมาก ห้ามโพสต์อะไรที่เป็นการชักจูงให้เกิดความเข้าใจผิด เกี่ยวกับยารักษาโรค หรือสมุนไพร แพลตฟอร์มจะสกัดข้อมูลทันที ทั้งรายบุคคลและรายใหญ่ มีผลมากในการสกัดข้อมูลเท็จ ความไม่ถูกต้อง
แพลตฟอร์มบ้านเราในปัจจุบัน เป็น Global เป็นของต่างชาติ อาจจะไม่ได้ห่วงทุกเรื่องในรายละเอียดของความอ่อนไหวของวัฒนธรรมไทย หรือในคอนเทนต์ของไทยมากนัก แต่คิดว่าภาครัฐน่าจะจับมือ พยายามให้ความสำคัญ ใช้กลไกทางเทคโนโลยีในการสกัด จะมีผลดีมาก
ทั้งนี้ ประเด็นที่ว่า สื่อสังคมกำหนดทิศทางข่าวได้จริงหรือไม่ กนกพร มองว่า วันนี้เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาที่อยู่บนโซเชียลมีเดีย ไม่ได้มีแค่สื่อวิชาชีพเหมือนสมัยก่อนแล้ว ดังนั้นสื่อสังคมจึงมีส่วนที่จะช่วยกำหนดทิศทางได้ แต่สิ่งที่สื่ออาชีพควรจะเปลี่ยนคือ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น การที่สื่อทำหน้าที่ต้องไปขยายข้อเท็จจริงในเชิงลึก ความถูกต้อง ไปพิสูจน์ ทำหน้าที่ที่ละเอียดมากขึ้น มีเชิงลึกมากขึ้น เพื่อคลายความสงสัยนั้น หรือทำความจริงให้บาลานซ์ แต่วาระต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นไปได้ว่า สื่ออาจจะไม่ได้ทำแค่ข่าว หรือข้อมูลตามที่สังคมสนใจ สื่อก็ต้องทำข้อมูลสิ่งที่เค้าควรจะสนใจ ควรจะรู้ เพื่อปรับความรู้เท่าทัน และความเข้าใจจากที่ผิด อาจจะถูกได้
ข้อท้าทายสื่ออาชีพ มีทั้งข้อดี – ข้อเสีย
ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา มองว่าในแพลตฟอร์มหรือโซเชียลมีเดีย มีกลุ่มที่หลากหลาย เรื่องข้อมูลข่าวสารก็มี User-generated Content กลุ่มนี้ อาจไม่ได้มีมาตรฐานทางจริยธรรมเหมือนสื่อมวลชน แต่ก็จะมีอีกกลุ่มที่อยู่บนโซเชียลมีเดียเหมือนกัน คือ Content creator เรื่องข้อมูลข่าวสาร แต่สิ่งที่ 2 กลุ่มนี้ทำ จะยกระดับคอนเทนต์ จากข้อมูลเป็นข่าวหรือไม่
ส่วนสื่อสังคมจะกำหนดวาระข่าวสารได้ไหม ก็ต้องถามว่าวาระเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อก่อนสื่อมวลชนเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสาร บก.เป็นคนเลือกว่า จะใช้วาระอะไร แต่ปัจจุบันสื่อมวลชนเองก็ใช้ประโยชน์จาก User-Generated Content และ Content Creator หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องกำหนดประเด็นข่าว เพราะตอนนี้โซเชียลมีเดียเมทริกซ์ เอ็นเกจเมนต์ ยอดวิว ยอดแชร์ แฮชแท็ก หรือเทรนด์ ที่นักข่าวสมัยนี้จะต้องดูว่า ตอนนี้อะไรเป็นเทรนด์ อะไรขึ้นแฮชแท็ก จึงทำให้เกิดอิทธิพลตรงนี้
สิ่งที่สื่อสังคมไม่ว่าใครจัดตั้งขึ้นมา ก็พยายามที่จะสร้างวาระ แล้วสื่อมวลชนเองก็ตามวาระเหล่านั้น แล้วนำมาเสนอ แต่ก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึ่งข้อดีบางทีประเด็นเหล่านั้นเป็นประเด็นที่นักข่าวมองไม่เห็น แต่พอกลายเป็นเทรนด์ เป็นกระแสขึ้นมา ทำให้ปัญหาที่เคยซุกอยู่ใต้พรม มันผุดขึ้นมา ก็ดีตรงที่ว่าทำให้ประเด็นนั้นได้รับความสนใจ จากที่เมื่อก่อนไปไม่ถึงสื่อ แต่ในข้อท้าทายก็คือ เราในฐานะสื่อมวลชนได้ใช้ User-generated Content อันนั้น โดยมองว่าเป็นแค่แหล่งข่าวต้นทุนต่ำ หรือเราได้ต่อยอดจากเนื้อหาตรงนั้นหรือไม่
เราในฐานะคนดูข่าว ก็ตั้งคำถามอยู่เหมือนกัน เราเห็นเนื้อหาเหล่านี้ในโซเชียลมีเดีย แต่เราคาดหวังเหมือนกันว่า สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่จะต่อยอดอย่างไร เพื่อสร้างการค้นหาข้อเท็จจริง มันเกิดจริงหรือไม่ ทำไมมันถึงเกิด ถ้าเกิดเราจะแก้อย่างไร เป็นสิ่งที่หา Value เหล่านี้ไม่ได้ในคอน เทนต์ของสื่อสังคม
เมื่อถามว่าทุกวันนี้การตั้งประเด็นข่าวของสื่อมักมาจากสถิติการดูข่าว เรตติ้ง ฉะนั้นการตั้งประเด็นข่าวในเชิงคุณภาพกับความต้องการเสพข่าวของผู้รับสาร เส้นแบ่งควรจะต้องอยู่ตรงไหน ผศ.ดร.ชนัญสรา กล่าวว่า ความจริงแล้วเป็นรูปแบบการทำธุรกิจข่าว แต่ปัญหาน่าจะอยู่ในเชิงโครงสร้างมากกว่า ว่าเราพึ่งพาตัวโซเชียลมีเดียเมทริกซ์ หรือการชี้วัดความเป็นความเจริญเติบโตของธุรกิจด้วยเมทริกซ์ที่มากับยุคก่อนหน้านี้ ก็คือเรทติ้ง ที่ดูที่เรื่องความนิยมของคอนเทนต์ พอเราย้ายมาอยู่โซเชียลมีเดีย เมทริกซ์เหล่านี้มันก็ตามมา แต่การที่เราคลิกเข้าไปดูในฐานะผู้ชม เพราะมันเป็นกระแส เรื่องที่คนพูดถึง แต่การเข้าไปดูไม่ได้เท่ากับมีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าเห็นด้วย แต่อาจเข้าไปดูเพราะเค้าอาจจะต้องการตามเรื่อง
ฉะนั้นที่พูดว่าโครงสร้างในเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่เราพึ่งพาเมทริกซ์เหล่านี้ ก็เลยนำไปสู่ว่า สื่อสังคมกำหนดวาระข่าวสารได้ เพราะเค้าก็ต้องเสิร์ฟคนที่เขามาดู มันก็ขาดเมทริกซ์ที่บ่งบอกถึงคอนเทนต์ควอลิตี้ ที่สังคมไทยอาจจะต้องขับเคลื่อนเช่นกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สื่อเองและตัวประชาชนที่อาจจะต้องขับเคลื่อนเมทริกซ์ในเรื่องของคุณภาพคอนเทนต์ มากกว่าความนิยมคอนเทนต์
ต้องมองถึงแพลตฟอร์มของตัวเอง
ถามว่าถ้าสื่อสังคมสามารถกำหนดทิศทางข่าวได้หรือสร้างแรงกดดันให้กับสังคมได้ อาทิ ประเด็นทางการเมืองในขณะนี้ จะส่งผลกระทบกับใคร ปลายทางของสังคมจะไปอยู่ตรงไหน ผศ.ดร.ชนัญสรา ระบุว่า เรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในสังคม ปัจจุบันคนเปิดรับผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีบทบาทอย่างมาก และสำนักข่าวก็ใช้แพลตฟอร์มเป็นช่องทางเผยแพร่ แม้ว่าเราจะนำเสนอรอบด้านอย่างไร มันก็จะถูกคัดเลือกโดยอัลกอริทึม คนก็ได้รับข้อมูลไม่รอบด้าน
อีกทางหนึ่งก็คือ งานในเชิงดิจิทัลพวกนี้ ไม่มีใครที่จะแบกรับความรับผิดชอบทั้งหมดในการแก้ปัญหา อาจจะต้องหลายๆ ส่วน ทั้งตัวมีเดียเอง อาจต้องมองถึงแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น เว็บไซต์ของตัวเอง หรือช่องทางใดที่เราเป็นเจ้าของ เราก็ดึงแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียที่เป็น Third party กลับเข้ามาในแพลตฟอร์มตัวเอง ทั้งเรื่องการเก็บดาต้า ซึ่งได้ประโยชน์เชิงธุรกิจด้วย แล้วทำให้คนเข้ามาเห็นข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น
ถ้าเราอยากให้คนเปิดรับข้อมูลที่หลากหลาย เพราะถ้าเค้ารับข้อมูลข่าวสารภายใต้แอคโคแชมเบอร์ด้วย 1. ก็คือด้วยความต้องการของตัวเองอยู่แล้ว ไม่อยากเจอข้อมูลที่ขัดแย้งต่อความรู้สึกของตัวเอง 2. เรื่องแพลตฟอร์ม ก็เสิร์ฟข้อมูลที่ตรงใจ ดังนั้นในฐานะสื่อเอง ทางออกหนึ่งก็คือ พยายามหา Own Platform
สำหรับเรื่องประชาชน ที่เป็น User เป็นฐานันดรที่ 5 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ต่างๆ ที่เรียกร้องทางแฮชแท็ก การกำหนดวาระข่าวสารที่ว่า คราวนี้เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนเป็นฐานันดรที่ 5 เพราะตอนนี้ต้องบอกว่า User ของเมืองไทย มีมือถือเข้าถึงเน็ต แต่ไม่ได้หมายความว่าเขามีความรู้เท่าทันสื่อ ยังเป็นระดับ User ที่เป็นผู้รับผู้สร้างสาร ยังไม่ได้เป็นระดับที่เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรอบรู้เรื่องดิจิทัล อันนี้เป็นประเด็นที่ทุกคน ทั้งฝั่งวิชาการ และตัวสื่อเอง ก็ตระหนักอยู่ว่า สุดท้ายแล้วคนต่างหาก ที่เราควรจะช่วยให้เค้ามีความรอบรู้มากขึ้น.