เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-5 ถึง B1-6 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ร่วมกับ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเสวนาเรื่อง “เสรีภาพสื่อมวลชนกับกระบวนการยุติธรรม” ผ่านรูปแบบผสมในห้องประชุม (onsite) และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (online) โดยมี นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานในพิธีเปิด มีนายนิพนธ์ นาคสมภพ ประธานอนุกรรมาธิการฯ สมาชิกวุฒิสภา นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาทนายความ และสื่อมวลชน เข้าร่วม
นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้มีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นของบุคคลไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 36 โดยเฉพาะมาตรา 35 ที่ได้กำหนดว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเน้นในเรื่องการใช้เสรีภาพที่มีอยู่ตามกฎหมาย แต่ปัญหาที่พบจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การใช้กระบวนการยุติธรรมมาใช้บังคับกับเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ดังจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น สื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ หรือนักการเมือง หรือการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม และบุคคลที่กล่าวอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวในเรื่องนั้น ๆ ได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย อาทิ ประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานหมิ่นประมาท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการละเมิด ไปยื่นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้สื่อมวลชนไม่ให้นำเสนอข่าว หรือลบข่าวนั้น ๆ ออกไป ซึ่งกรณีดังกล่าว ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
นายสมชาย กล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาด้านการสื่อสารมวลชนที่มีผลกระทบต่อประเทศในทุกมิติ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ เพื่อดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ และได้ติดตามเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งการจัดเสวนาในครั้งนี้จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน เพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับการจัดเสวนาในครั้งนี้ มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในหัวข้อ “เสรีภาพสื่อมวลชนกับกระบวนการยุติธรรม” โดยมีผู้ร่วมดำเนินการอภิปราย ประกอบด้วย นายจัตุรงค์ เสริมสุข สมาชิกวุฒิสภา นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พลตำรวจโท อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นางสาวศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความ ดร.วรรณชัย บุญบำรุง อดีตกรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน แนวทางในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง
ภายหลังการจัดเสวนาทางคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนร่วมกันดังกล่าว จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อองค์กรสื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป.