สื่อจัดทัพรับเลือกตั้ง เน้นเสนอข้อมูลเบื้องลึก เบื้องหลังให้รู้ทันการเมือง

ได้เวลาสื่อจัดทัพรับเลือกตั้ง ประเมินนายกฯยุบสภาก่อนครบวาระ เปิดพื้นที่ทุกแพลตฟอร์ม เกาะติดสถานการณ์ล่วงหน้า ให้ข้อมูลความรู้ประชาชนเรื่องกติกาเลือกตั้งที่ปรับเปลี่ยน เน้นเสนอข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังให้รู้ทันการเมือง ชี้สื่อออนไลน์มีผลต่อการตัดสินใจสูง คาดหลังเลือกตั้งการเมืองไทยไม่เหมือนเดิม ด้านนักวิชาการแนะสื่อให้ข้อมูลกลุ่มที่ไม่ติดตามการเมืองใกล้ชิด ไม่นำเสนอเนื้อหาสร้างความเกลียดชัง ควรชี้ช่องทางติดตามตรวจสอบร้องเรียนนักการเมือง

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ได้เวลา (สื่อ) จัดทัพรับเลือกตั้ง” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ดวงฤทัย ผ่องใส หัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ผศ.ดร.พรรษา รอดอาตม์ หัวหน้ากลุ่มวิชาสื่อสารองค์กร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ดำเนินรายการ คมชัดลึก และข่าวข้นคนข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี

การเมืองไทยเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ไทม์ไลน์ภายในกลางปี 2566 นี้ สื่อมวลชนจึงต้องเตรียมความพร้อม เกาะติดสถานการณ์ ความเคลื่อนไหวของพรรคและนักการเมือง ประเด็นที่เกี่ยวข้อง 

ในมุมการเตรียมความพร้อมของสื่อ ดวงฤทัย ผ่องใส ในฐานะหัวหน้าข่าว ระบุว่าตามไทม์ไลน์ ที่อายุรัฐบาลนี้จะสิ้นสุดลง 23 มีนาคม 2566 บรรดา ส.ส.หรือนักการเมืองที่จะย้ายพรรค หากรัฐบาลอยู่ครบวาระก็คงจะย้ายไม่ได้แล้ว เพราะเกินกรอบ 90 วันในการสังกัดพรรคที่จะลงสมัคร ซึ่งวันสุดท้ายคือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 แต่หากยุบสภา กติกาการสังกัดพรรคก็ลดลงมาอยู่ในกรอบ 30 วัน ซึ่งผู้คนก็มั่นใจว่าจะยุบสภาใกล้ๆ วันครบวาระรัฐบาล 

ในบรรดาสื่อการเมือง มีการประเมินกันว่าน่าจะยุบสภาในช่วงต้นเดือนมีนาคม เพราะเห็นสัญญาณจากรองนายกฯ อาจารย์วิษณุ เครืองาม ที่ระบุว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ไม่มีการยุบสภาแน่นอน ดังนั้นก็ต้องจับตาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งการเลือกตั้งก็อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นพฤษภาคม ซึ่งรัฐบาลนี้ก็จะรักษาการไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

เลือกตั้ง 62-66 ปม ม.44 ไม่มีผลกระทบ

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีมาตรา 44 เหมือนเมื่อปี 2562 แต่เชื่อว่าคงไม่มีผลกระทบต่อการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ  สำหรับการเตรียมรับสถานการณ์ข่าวเลือกตั้ง เดลินิวส์ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ก็เปิดหน้าเลือกตั้ง 2 หน้า เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ซึ่งเราจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาผู้แทนราษฎร ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง นักการเมือง ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่มีความแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เราจึงต้องเร่งเปิดพื้นที่ เพื่อนำเสนอข้อมูล ความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ประชาชนรับรู้เร็วกว่าปกติ โดยมีมีคอลัมน์ต่างๆ เกี่ยวกับการให้ความรู้ มีข้อมูลด้านวิชาการ เพิ่มเติมจากความเคลื่อนไหวทางการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีสื่อออนไลน์หลายแพลตฟอร์ม เช่น ยูทูป ซึ่งนำเสนอข่าวเหมือนทีวีช่องหนึ่ง มีเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ ซึ่งเราก็อยู่ในลำดับต้นๆ สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือจากประชาชน ฉะนั้นเราจึงต้องมียุทธศาสตร์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ

อีกทั้งเรายังเตรียมจัดเวทีดีเบต สำหรับตัวแทนพรรคการเมืองเป็นบางช่วง และจะลงไปถึงระดับนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา อาทิ อยากได้นายกรัฐมนตรีแบบไหน อยากจะออกแบบประเทศไทยอย่างไร เรื่องการศึกษาต้องการอะไรซึ่งจะจัดในภูมิภาค จังหวัดต่างๆ ด้วย โดยจะนำประเด็นเหล่านั้นมาเสนอในแพลตฟอร์มของเดลินิวส์ทั้งหมด

แนะปชช.ศึกษาข้อมูลรอบด้านก่อนใช้สิทธิ์

ดวงฤทัย ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อยากให้ประชาชนได้พิจารณาว่า แม้การเมืองของประเทศตอนนี้ เราจะเห็นถึงความวุ่นวาย มีพลังดูด มีสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมากมาย แต่อย่าเพิ่งเบื่อหน่าย เพราะการเมืองคือการจะนำพาประเทศพัฒนาไปได้ เวลานี้สิทธิในการเลือกอยู่ที่เราแล้ว ขอให้ศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง แล้วถึงเวลาก็ไปใช้สิทธิ เพื่อกำหนดกำหนดอนาคตของประเทศ

ทั้งนี้ประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง และการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องรอดูว่า จะส่งผลให้ไทม์ไลน์การเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงหรือไม่ 

“เพราะเรื่องการแบ่งเขต ที่มีบางพรรคพอใจ บางพรรคไม่พอใจ ถือว่ามีผลต่อการเลือกตั้ง เพราะหากมีการผ่าเขตใหม่ นักการเมืองที่เคยทำพื้นที่เดิมมาตั้งแต่ปี 2562 แต่หากกกต.ผ่าเขตออกไปครึ่งหนึ่ง การต้องใช้เวลาไปทำพื้นที่ในเขตที่เปลี่ยนแปลงไป ก็อาจเป็นตัวตัดแต้มได้ ประเด็นของ กกต.ก็เคยถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความมาแล้ว ในกรณีที่ตัดสินใจเอง โดยมองว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่” ดวงฤทัย กล่าว

กกต.ควรยื่นตีความจนสิ้นสงสัย ให้ปชช.เชื่อมั่น

หัวหน้าข่าวเดลินิวส์ ยังชี้ว่า ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีที่การนับจำนวนประชากร ที่นับรวมคนต่างด้าวเข้ามาด้วย ทีแรกคนไม่เข้าใจ เพราะมองกันว่า นับรวมไปถึงคนที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย อาจเป็นเรื่องความไม่เหมาะสม แต่หลังจากฟัง กกต.ออกมาชี้แจง ก็จึงเข้าใจได้ว่า คำว่าราษฎรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือราษฎรที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด กับราษฎรที่เป็นลูกของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ก็จะเป็นราษฎรอีกส่วนหนึ่งที่จะรวมเข้ามาได้ แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ค้างคาใจกันอยู่ และผู้คนเองก็สับสนว่า สิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม คืออะไร อย่างไรก็ตาม การใช้เกณฑ์ต่างๆ ในการเลือกตั้ง ช่วงนี้ กกต.ก็ควรทำให้ถูกต้อง ควรยื่นตีความ ให้มีการวินิจฉัยให้ชัดเจน เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นที่เชื่อถือ เชื่อมั่นได้

ด้าน วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ดำเนินรายการข่าวการเมือง ประเมินสถานการณ์เลือกตั้งว่า นักการเมืองถึงจะไม่พร้อม ก็ต้องพร้อมแล้วเพราะเวลานี้อำนาจทุกอย่างอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี ว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ใจนายกฯ ได้ แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็ยังประเมินได้ว่า จะยุบสภา 100% เพราะผ่านเส้นตายวันที่ 7 กุมภาพันธ์มาแล้ว คือถ้าเราไม่เห็นการลาออกเพื่อไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติของบรรดา ส.ส.ที่จะตามพล.อ.ประยุทธ์ ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็แปลว่าเค้ารู้สัญญาณว่านายกฯ จะใช้วิธียุบสภา ก็ค่อยมาสมัคร เพราะยังมีเวลาสังกัดพรรค 30 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง

หลังเลือกตั้งการเมืองไม่เหมือนเดิม

สำหรับบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้ ต่างกับครั้งที่แล้วปี 2562 ที่ยังมีมาตรา 44 อยู่ เท่าที่คุยกับนักการเมืองเบื้องหลัง เค้าจะบอกว่าบรรยากาศมันไม่เหมือนกันเลย มันมีกลไกรัฐบางอย่างที่ฝ่ายการเมืองก็ต้องสยบยอม เพราะฉะนั้นใครที่คิดว่า อาจจะง่ายเหมือนเดิม จับขั้วกันเหมือนเดิมได้ พอฟังจากสุ้มเสียงนักการเมืองที่พูดให้ฟังถึงเบื้องหลัง และวิเคราะห์ไปถึงผู้มีอำนาจ มันจะไม่เหมือนเดิม มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงแน่ๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมการตัวเลขว่า สุดท้ายแล้วออกมาจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าแต่ละพรรคก็คงมีโมเดลของเค้า ถ้าตัวเลขเค้ามาแบบนี้ เค้าจะไปคุยกับอีกพรรคหนึ่งที่ตัวเลขแบบนี้ คิดว่าคงต้องคุยกันบ้างหลวมๆ บ้าง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปว่ากันหลังเลือกตั้งอย่างเดียว ก็ต้องคุยกันหลวมๆ ไว้ ตัวเลขออกมาอย่างไร ก็ค่อยมาว่ากัน เพราะฉะนั้นเรื่องการสลับขั้ว ก็อาจจะได้เห็นเหมือนกัน ในการเลือกตั้งครั้งนี้

การเสนอข่าวเน้นให้ปชช.รู้เท่าทันการเมือง

สำหรับความคาดหวังของประชาชน ที่จะมีต่อการรายงานข่าวเลือกตั้งครั้งนี้ วราวิทย์ มองว่า คนจะสนใจมาก สำหรับคนทำสื่อก็น่าจะคาดหวังเรตติ้งอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะชั่งน้ำหนักเนื้อหาของเราที่ทำอย่างไร ให้มีประโยชน์ด้วยแล้วก็ได้เรตติ้งกลับมาด้วย ที่ตนให้ความสำคัญอย่างหนึ่ง รวมถึงสื่อในเครือเนชั่นก็คือ ทำให้ทุกคนรู้เท่าทันการเมือง คือปฎิเสธไม่ได้ว่า การเมืองมันคือเกม แม้นักการเมืองจะปฏิเสธตลอดว่าไม่ได้เล่นเกม แต่ที่เราเห็นทุกอิริยาบถ ทุกฉาก ทุกความเคลื่อนไหว ทุกคำพูด นั่นคือเกมทั้งนั้น ทีนี้เราก็มีหน้าที่ที่จะสังเคราะห์ วิเคราะห์ออกมาว่า เกมที่เค้าพูดกัน มันคืออะไร 

เมื่อคนรู้ เราไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด แต่เราวิเคราะห์ให้เห็นเบื้องหลัง เช่นทำไม พล.อ.ประวิตร ต้องใส่เสื้อแจ็คเก็ต ใส่เสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ กางเกงยีน ไปเดินสถานที่อย่าง เยาวราช ตลาด อตก.ไปเดินออกกำลังกายสวนลุมฯ ตอนเช้า ที่ผ่านมาเคยเห็นไหม โอเคท่านอาจจะเป็นผู้สูงวัยมันก็เป็นปรากฏการณ์ แต่ถ้าเราทำให้เห็น มันคือเกมอย่างไร เช่น วันที่ไปเยาวราชเป็นการไปโดยไม่บอก ไปก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งแจ้งเอาไว้ก่อนว่า จะไปในช่วงเย็น ซึ่งก็รู้แล้ว ซึ่งพี่น้องเค้ามี Something อะไรกันหรือเปล่า เราก็ต้องชี้ให้เห็นอะไรแบบนี้ เพราะผู้คนได้ติดตามข่าวสาร ก็จะได้รู้มากกว่า ปรากฎการณ์ที่ไปทุกอย่างมันมีที่มาเป็นสิ่งที่สื่อในเครือเนชั่นให้ความสำคัญมาก คือพยายามจะให้เห็นเบื้องหลังให้ได้มากที่สุด เพื่อให้รู้เท่าทัน

สื่อออนไลน์มีผลสูงต่อการตัดสิน

สำหรับแผนงานของเครือเนชั่น ในการเสนอข่าวเลือกตั้งครั้งนี้ มีทั้งการเสนอข้อมูลแบบเจาะลึกครบถ้วน และเตรียมทำเวทีดีเบตของผู้นำพรรค ผู้สมัครพรรคต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งได้เตรียมจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ร่วมกับฝ่ายวิชาการ 

ส่วนความตื่นตัวของผู้คนในทางการเมือง ที่ดูข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย วราวิทย์ มองว่า สื่อออนไลน์น่าจะมีผลสูงต่อการตัดสินใจของผู้คน แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ( ไอโอ) ถ้าจะให้แนะนำก็คือ ถ้าเราสนใจต้องฟังให้เยอะที่สุด อยากจะรู้ หรือตัดสินใจ ถ้าเราอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ติดตามเฉพาะจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็อาจจะมีเสียงสะท้อนอยู่ในความคิดเราแค่นั้น ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน การที่มันมีสื่อออนไลน์เข้ามา ก็อาจจะทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เราชอบ อัลกอริธึม ก็จะจัดลำดับให้เราดูในสิ่งที่เราอยากจะดูเท่านั้น 

ถ้าเราไม่พยายามเปิดใจ ฟังความเห็นต่างออกไปกว้างๆ ให้เห็นว่ามีผู้คนที่เราคิดต่างจากเรา ก็อาจจะมีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่ข้อดีมันก็มากกว่าอยู่แล้ว ในแง่มีสื่อออนไลน์เข้ามา ทำให้เราได้รู้ข้อมูลมากกว่าสมัยก่อน ที่ไม่มีทางที่จะรู้ข้อมูลแบบเชิงลึกอย่างเรื่องนักการเมืองบ้านใหญ่ต่างๆ นอกจากจะไปนั่งคุยกับนักการเมืองเอง ตอนนี้แค่อยู่หน้าเว็บไซต์ ติดตามทางเนชั่นทีวี ก็จะได้รู้ทั้งหมด และรู้เท่าทันได้

แยกให้ชัดข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น

เมื่อถามถึงการทำหน้าที่ผู้จัดรายการ มีข้อจำกัด หรือมีความอิสระในการดำเนินรายการ วราวิทย์ บอกว่า ตนเองอยู่เนชั่นมาได้ปีกว่า การทำงาน มีการให้อิสระทางความคิด แค่อย่าบิดเบือนเท่านั้นเอง อันนั้นจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะจะเป็นผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น ก็เป็นเรื่องปกติในยุคนี้ ที่ผู้ดำเนินรายการก็จะใส่ความคิดเห็นเข้าไปบ้าง เพียงแต่พยายามแยกให้เห็นว่า คือข้อมูล ต่อไปนี้คือสิ่งที่เราถอดรหัส สิ่งที่เราวิเคราะห์ ผู้คนก็จะสัมผัสได้ว่า ส่วนข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมันก็คือสิ่งที่เห็นอยู่ส่วนที่เราวิเคราะห์ มันก็อาจจะเป็นความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นนั้น ก็มาจากข้อเท็จจริง ที่เราผ่านการสังเคราะห์มาแล้ว

สำหรับประชาชนที่ติดตามสื่อหลากหลายช่องทาง ก็อยากให้รับฟังความเห็นต่างด้วย ไม่มีนักการเมืองคนไหนดีที่สุด คนไหนเลวที่สุด ข้อดีของเราที่ทำงาน และเจอคนมากมาย ด้านหนึ่งไม่ทำให้เราเอาตัวไปผูกติดกับใครๆ หรือเชื่ออะไร100% การที่เราได้เจอผู้คนหลากหลายในทางการเมือง ก็คิดเหมือนกัน แม้ว่าการเลือกตั้งเสร็จ ความขัดแย้งจะไม่หายไป แต่ถ้าเราเริ่มคุยกับคนเยอะๆ ฟังว่าเค้าก็มีมุมนั้นมุมนี้อาจทำให้เราเข้าใจการเมืองว่า การเมืองมันก็เป็นมีความขัดแย้งกันแบบนี้แหละ เพียงแต่ว่า อย่าเอาเป็นเอาตาย จงเกลียดจงชังกัน

ข่าวเลือกตั้งเรียกความสนใจผู้คนได้มาก

ด้านนักวิชาการด้านสื่อ ผศ.ดร.พรรษา รอดอาตม์ มองว่า การเสนอข่าวของสื่อเกี่ยวกับการเลือกตั้งถือเป็นวาระที่สำคัญ และการรายงานข่าวของสื่อในช่วงนี้ ก็เรียกความสนใจของผู้คนได้มากเลยทีเดียว เพราะมีการรายงานความเป็นไป ความเคลื่อนไหวของทุกพรรค การหาเสียงของผู้นำแต่ละพรรค โดดเด่นมากในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อถามว่าการรายงานข่าวในรูปแบบไหน ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน นำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกพรรคหนึ่งพรรคใดมากที่สุด ผศ.ดร.พรรษา กล่าวว่าการรายงานข่าวเป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นความจริง เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อที่ผู้รับสาร หรือประชาชนจะได้ประโยชน์ และเอาไปใช้งานได้มากที่สุด ในเชิงปริมาณ จะมากหรือน้อย บางทีอาจจะต้องคำนึงถึงความต้องการ หรือความคาดหวังของกลุ่มผู้รับสาร หรือประชาชนด้วย

แนะสื่อให้ข้อมูลกลุ่มที่ไม่ติดตามการเมืองใกล้ชิด

ในส่วนของประชาชนที่ไม่ติดตามเรื่องการเมืองมาก่อนเลย สื่อก็ต้องให้ข้อมูลที่เยอะพอสมควร ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้งจากครั้งที่ผ่านมาอย่างไร มีกฎหมายอะไร ที่ต้องทราบ การกาบัตรมีความแตกต่างอย่างไร การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากครั้งก่อนบ้าง เหล่านี้สื่อจะต้องให้ข้อมูลในปริมาณที่มากพอสมควร ที่ประชาชนจะเข้าใจได้ และต้องย่อยข้อมูลให้สามารถดูแล้วเข้าใจได้ ปฏิบัติได้ไป กาบัตรแล้วไม่กลายเป็นบัตรเสีย ซึ่งสื่อควรจะต้องเป็นเครื่องมือในการช่วยอธิบายให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ง่ายที่สุด แล้วผู้คนสามารถทำตามได้ แต่หากกลุ่มที่เป็นคอการเมืองอยู่แล้ว ความต้องการของเค้า ก็คืออยากจะอัพเดตว่าแต่ละพรรคที่เขาชอบ เคลื่อนไหวอย่างไร นักการเมืองที่เค้าสนใจติดตามอยู่ ไปอยู่ตรงไหน ยังอยู่ฝั่งเดิม หรือย้ายพรรคไปแล้ว เป็นต้น

ตรงนี้ถ้าเราเอาความต้องการของประชาชนมาเป็นตัววัด เค้าก็ต้องการข้อมูลที่มากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งเป็นการดูในเรื่องของการประเมินตามความต้องการของผู้คน

ส่วนอีกแง่หนึ่ง ก็จะมีคำว่าเหมาะสมด้วยเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม อย่างไรถึงจะเหมาะสม ก็อยากจะเอาเกณฑ์เรื่องคุณภาพ คือวัดระดับความเป็นกลาง น่าจะเป็นตัวช่วยได้ประชาชนก็พอจะเห็นว่า บางทีสื่อก็มีการเลือกข้างค่อนข้างชัดเจน คนดูคนชมก็รู้ และเลือกเปิดรับหรือเลือกเข้าถึงกับสื่อที่ให้ข้อมูลตามที่เค้าชอบ อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นชัด บางทีก็มีการพูดถึงในเรื่องการรายงานข่าวอย่างไรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้หลักการ ให้แนวทาง ให้คู่มือ ให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด

ให้ข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การรายงานผลงานของฝ่ายค้านหรือรัฐบาล สื่อจะนำเสนออย่างไร เพื่อจะได้เป็นข้อมูล ในการประกอบการตัดสินใจให้กับคนรับสาร หรือประชาชน เพื่อที่จะเลือกคนได้ถูกตามที่เขาชอบ ที่ผ่านมาพฤติกรรมเป็นอย่างไรบ้าง เข้าประชุมสภาหรือไม่ สื่อนำเสนอข้อมูลแบบนี้ ให้ผู้คนได้นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจหรือไม่นอกจากเรื่องนโยบาย หรือทิศทางในอนาคตที่แต่ละพรรคจะต้องดำเนินการหากได้รับการเลือกตั้ง จึงอยากจะให้สื่อได้นำเสนอข้อมูลตรงนี้ด้วย

การให้ความรู้ หากพบว่าการเลือกตั้งมีการซื้อเสียง อันแรกคือเราต้องทำให้ประชาชนรู้ว่า ควรจะต้องไปแจ้งเบาะแสที่ไหน ที่คนแจ้งจะยังได้รับความปลอดภัยพราะรู้แล้วว่าผู้สมัครรายนี้มีการซื้อเสียง ทำผิดระเบียบ เมื่อแจ้งแล้วจะไม่มีผลกระทบกับตัวเอง สื่อต้องแนะนำและบอกเค้าว่ามีช่องทางใด หรือสื่อจะรับหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานให้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนก็ได้

หรือมีการพบเรื่องที่อาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน มีความเคลือบแคลงน่าสงสัย หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบหรือไม่ ตรงนี้อยากให้สื่อได้หยิบยกขึ้นมา เพื่อนำมาบอกเล่าให้พวกเราได้รู้บ้างก็ดี เวลานี้ผู้คนกระตือรือร้นในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารหลายช่องทางเพื่อจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของเขาได้หรือควรจะคำนึงถึงนโยบาย จะให้ความสำคัญกับนโยบายอะไรบ้าง ควรนำเสนอประเด็นเหล่านี้ด้วย

ชี้ช่องทางติดตามตรวจสอบนักการเมือง

อีกด้านหลังจากการเลือกตั้งเสร็จแล้วสื่อมีบทบาทแนะนำประชาชนควรช่วยให้ผู้คนกระตือรือร้นเพิ่ม คือติดตามผลงาน ส.ส.ที่เราเลือกเข้าไปเค้าไปทำงานให้เราตามนโยบายที่เคยสัญญาไว้หรือไม่ เค้าทำงานเป็นอย่างไร เราสามารถติดตามผลงานเขาได้จากแหล่งใดได้บ้าง จะต้องเข้าไปในช่องทางไหนที่เรารู้การทำงาน ซึ่งถือเป็นการแนะแนวทางในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง

เมื่อถามถึงการรายงานข่าวการเมืองทุกวันนี้ สื่อแสดงความคิดเห็นมากมาย ประชาชนควรแยกแยะอย่างไร ผศ.ดร.พรรษา กล่าวว่าถ้ามีปรากฎการณ์สำคัญ หรือเหตุการณ์สำคัญ สังเกตได้ว่าคนไทยส่วนหนึ่งจะหันมาเปิดรับข้อมูลจากสื่อกระแสหลัก สื่อจริง เพื่อหาข้อมูล เพราะเค้ามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ในแง่มุมของการทำงานด้านสื่อสารองค์กร ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กรก็ยังเชื่อถือในสื่อดั้งเดิม สื่อกระแสหลัก แม้จะมูฟออนไปแพลตฟอร์มอื่นๆ

ไม่นำเสนอเนื้อหาสร้างความเกลียดชัง

สำหรับผู้นำทางความคิด Opinion leader ก็สามารถเข้าใจได้ว่า เค้าก็สร้างตัวตนของเค้า ในพื้นที่ของเค้า ในการนำเสนอหรือเป็นผู้นำทางความคิด แต่ในการทำงานของคนที่เป็นสื่อจริงๆ ก็จะทำงานตามหน้าที่ บอกข้อเท็จจริง สำหรับผู้นำจากความคิดเห็น การที่เค้าจะสื่อสารอะไรออกไปแต่ทำอย่างไรจะไม่ให้เขาสร้างความเกลียดชัง ยุยงให้เกิดความแตกแยก ใครไม่ใช่พวกเดียวกันก็ให้ไปอยู่อีกมุมหนึ่ง

สำหรับสื่อหลักถ้าทำหน้าที่ถูกต้องก็จะได้รับความน่าเชื่อถือ ให้คนได้ฉุกคิดได้บ้าง ไม่สร้างความเกลียดชัง ยุยง ไม่ผลักใครไปติดกำแพงกลุ่มที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน ถ้าเราเป็นสื่อหลักอย่าทำแบบนั้น เชื่อว่าการเป็นตัวอย่างที่ดี ผู้คนก็จะเชื่อถือและไว้วางใจในข้อมูลข่าวสารที่ส่งต่อไปให้เค้า สักวันเค้าก็อาจนำเสนอความคิดที่รอบด้านมากขึ้น รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างมากขึ้น เพราะเรื่องความชอบ ไม่ชอบเป็นสิทธิของแต่ละคน สื่อเลือกข้างเราเข้าใจ แต่ก็ควรนำเสนอให้ผู้คนได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนเรื่องสิ่งที่ชอบ ไม่ชอบเป็นสิทธิ์แต่ละคน แต่อย่าผลักคนเห็นต่างไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะชอบ เพราะคิดไม่เหมือนเป็นเรื่องสำคัญที่อยากฝากไว้.

+++++++++++++