ปรากฎการณ์สื่อตอกย้ำถามซ้ำซาก เมื่อคำตอบลับลวงพราง สำคัญกว่าคือท่าที สื่อชี้จุดอ่อนระดับผู้นำไม่เตรียมข้อมูลสื่อสารกับประชาชน จำเป็นต้องใช้โอกาสจากคำตอบเพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อน แก้ปัญหาผ่านคำพูดผู้นำ และเห็นสัญญาณทิศทางการเมือง นักวิชาการหนุนสื่อกำหนดวาระข่าวสาร บาลานซ์ 3 อำนาจอธิปไตย ชี้การเมืองยุคนี้สื่อต้องล้วงลึก ข้อดีวัฒนธรรมสื่อไทยได้ใกล้ชิดผู้นำ ฝ่ายการเมืองมีโอกาสใช้ประโยชน์พีอาร์ฟรี บอกเล่าการทำงาน สื่อสารประชาชน
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง ทำไม…? สื่อต้องตั้งคำถาม ‘ตอกย้ำ-ซ้ำซาก’ ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ศักดา เสมอภพ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวการเมือง เนชั่นสุดสัปดาห์ ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ ผู้สื่อข่าวสายการเมือง นสพ.ไทยรัฐ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
ปรากฎการณ์ในการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว ที่ระยะนี้มีการตั้งคำถามโดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองต่อแกนนำรัฐบาลอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในห้วงนับถอยหลังวาระรัฐบาล เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง จึงไม่พ้นที่นักการเมืองจะถูกตั้งคำถามตอกย้ำ จนอาจถูกมองว่าซ้ำซาก และบ่อยครั้งที่่แหล่งข่าวเองแสดงท่าทีไม่พอใจ และปฏิเสธการตอบด้วยรูปแบบและท่าทีต่างๆ
มีคำอธิบายถึงสถานการณ์นี้จากนักวิชาชีพ และความเห็นจากนักวิชาการ ที่อาจเป็นคำตอบให้สังคมเข้าใจบริบทที่เกิดขึ้น
ศักดา เสมอภพ ระบุว่า ประเด็นที่ว่า ทำไมสื่อต้องตั้งคำถามตอกย้ำซ้ำซาก อาจจะเป็นการโจมตีไปหน่อย เหตุที่นักข่าวต้องถามแล้ว ถามอีก โดยเฉพาะสื่อทำเนียบฯ ต่อผู้นำ นั่นเป็นเพราะ คำถามไม่ได้คำตอบ หรือคำตอบไม่ชัดเจนพอ และประเด็นที่ถูกถามก็ผ่านกระบวนการคิด ไตร่ตรองมาก่อนถาม ในฐานะที่ตั้งคำถามแทนประชาชน เมื่อไม่ได้คำตอบที่ประชาชนอยากได้ สื่อจึงต้องถามเช่นเดิม
แม้แหล่งข่าวจะเจอกับคำถามซ้ำซาก แต่คำตอบที่ได้มา ก็อาจไม่ซ้ำซาก และอาจมีประโยชน์ โดยเฉพาะในบริบทการเมือง การที่แหล่งข่าวตอบแบบมีอาการไม่แฮปปี้ หรือไม่ตอบ หรืออีกวันถึงยอมตอบ ก็ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เพราะคำถามได้ทำหน้าที่โดยตัวเองของมันเอง
ทั้งนี้การตั้งคำถามของสื่อจะได้คำตอบหรือไม่ ก็อยู่ที่ตัวนายกฯ แต่ละคนว่าจะเตรียมพร้อมในการตอบมากน้อยแค่ไหน หากเปรียบเทียบยุคอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร จะเป็นนายกฯที่เตรียมข้อมูลมาก่อน มีทีมเก็งคำถาม อ่านใจสื่อว่าจะถามอะไร ซึ่งก็คือการทำการบ้าน เตรียมตอบ ขณะที่ยุคนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา การบริหารจัดการจะต่างกันมาก ไม่เก็งคำถาม ไม่เตรียมคำตอบ ดังนั้นเวลาตอบ สื่อจึงได้ข้อมูลไม่มากพอ เมื่อตอบไม่เคลียร์ จึงถูกถามซ้ำ และการมายืนแถลงข่าวของระดับนายกฯ และรัฐมนตรี ย่อมมีทีมงานแบ็คอัพข้อมูล ที่ทีมจัดเตรียมให้อยู่แล้ว
ถามซ้ำถามทุกที่เพื่อให้ได้คำตอบ
สำหรับสถานการณ์อย่างเช่น กำหนดการนายกฯ ไปปฏิบัติภารกิจในประเด็นสังคม และนักข่าวกลับไปถามประเด็นการเมือง จนบางครั้งอาจเกิดความไม่พอใจ แล้วย้อนสื่อกลับ กรณีอย่างนี้ สื่อจำเป็นต้องแยกแยะคำถามตามสถานการณ์หรือไม่ ศักดา ระบุว่า ในการทำงานของสื่อในบริบทดังกล่าว ไม่ว่านายกฯ หรือรัฐมนตรี สื่อก็จะสัมภาษณ์ถึงภารกิจในงานที่มาอยู่แล้ว จากนั้นจึงจะมีคำถามที่ประชาชนอยากรู้เพิ่มเติม
“การได้เจอนายกฯ ใน 1 วัน อาจจะได้เจอ 1 ครั้ง หรือได้เจอแค่สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ฉะนั้นคำถามที่ประชาชนอยากรู้ สื่ออาจไม่มีโอกาสถาม เพราะไม่ได้เจอนายกฯ ตลอดเวลา เมื่อมีโอกาสลงพื้นที่แล้วเจอ ก็ต้องถาม ขณะที่นายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ก็ต้องพร้อมตอบคำถามสื่อทุกเรื่อง ทุกเวลา และต้องมีข้อมูล เพราะคำตอบของนายกฯ จะมีผลต่อการดำเนินการในเรื่องนั้นๆ หากไม่มีความคืบหน้า ไม่กระเตื้อง เมื่อสื่อนำมาถามนายกฯ แล้วนายกฯส่งสัญญาณ ย่อมทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนั้นก็จะเดินเร็วขึ้น จากที่นายกฯ แอคชั่น ซึ่งก็จำเป็นในระดับหนึ่ง”
วัดกึ๋น-ศิลปะการสื่อสารของผู้นำ
ศักดา มองว่า การปฏิเสธตอบคำถาม ก็เป็นศิลปะในการสื่อสารของผู้นำ หรือแหล่งข่าวแต่ละคน ในการทำให้เกิดความเข้าใจ ถ้าอยากตอบน้อย เลี่ยงตอบ หรือไม่ตอบ ก็มีวิธี เช่นบอกว่าได้มอบหมายหน่วยงานนั้นๆ ไปดำเนินการแล้ว สื่อก็จะตามไปสอบถามต่อได้
สำหรับเรื่องประเด็นที่นายกฯ อาจเห็นว่าคำถามไม่เป็นประโยชน์ เพราะตอบแล้ว ก็ยังถูกถามอีก โดยเฉพาะข่าวเรื่องปาดหน้าลงพี้นที่ ระหว่าง 2 ป.ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ศักดา ระบุว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า สถานการณ์ที่กำลังไปสู่เลือกตั้ง และมีความขัดแย้งทางการเมือง เป็นความเคลื่อนไหวที่ประชาชนอยากรู้จากแหล่งข่าวเอง เพื่อไปตัดสินใจ ฉะนั้น หน้าที่สื่อในช่วงนี้ การมีคำถามแบบนี้ จึงจำเป็นในระดับหนึ่ง ที่ต้องถามผู้นำแต่ละพรรค รวมถึงนายกฯ ที่เป็นนักการเมืองเต็มตัว
“ปรากฎการณ์ปาดหน้า หลังแยกกันเดินของ 2 ป. มีผลในภาพใหญ่ทางการเมือง การแย่งชิงฐานเสียงที่ทับซ้อน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่สื่อต้องถามพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามเยอะมาก่อนปลายปี และคงต้องเผชิญอีกหลายๆ ครั้ง”
คำตอบที่ได้มากกว่าถ้อยคำ
ขณะที่อาจมีคำถามที่ถูกมองว่าไม่เกิดประโยชน์ สังคมไม่ได้อะไร เช่นการถามถึงเรื่อง 2 ป. ปาดหน้ากัน ศักดา ระบุว่า บางคำถามในเซ้นต์การเมือง อาจถูกมองว่าไม่ได้ประโยชน์กับประชาชนโดยตรง แต่จะได้เห็นถึงทิศทางการขับเคลื่อนการเมือง ทิศทางพรรคการเมือง เครือข่ายการเมือง เพราะบางคำถามอาจจำเพาะเจาะจง แต่ก็จำเป็นต้องถาม เพราะบางโอกาสจะทำให้เห็นถึงทิศทางการเมืองของเครือข่ายอำนาจ ต่อจากนี้อาจจะมีคำถามเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองหนักกว่านี้
นักการเมือง ที่อยากเข้าสู่อำนาจ ก็ต้องเตรียมใจ โดนตั้งคำถาม และถ้าตอบแล้วส่งผลลบตัวเอง ก็ต้องยอมรับสภาพ นักการเมืองเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะตอบ สื่อสารให้เป็นประโยชน์ เข้าถึงคนจริงๆ
ผู้ดำเนินรายการถามว่า นักการเมืองควรมีท่าทีอย่างไร ในการสื่อสารกับสังคม ศักดา มองว่าแหล่งข่าวแต่ละคน มีคาแรกเตอร์ส่วนบุคคล อย่างพล.อ.ประวิตร มักจะพูดว่าไม่รู้ๆ พล.อ.ประยุทธ์ลักษณะฉุนเฉียว ตนเคยคุยกับนักการเมือง และทีมเบื้องหลังถึงข้อสังเกตว่าทำไมจึงไม่ปรับเปลี่ยนบุคลิก ก็ได้คำตอบว่า มีแฟนคลับที่ชอบ การตอบคำถามแบบนี้ หรือความตรงๆ ฉะนั้นจึงเห็นว่าแต่ละคนก็ต้องการสื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับโดยตรง ซึ่งเขาอาจจะคิดอีกมุม ต้องการคงคาแรคเตอร์เอาไว้ เพราะอาจประเมินว่ามีคนชอบ จึงไม่เปลี่ยน
ตอบหรือไม่ตอบก็เป็นประเด็น
ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ ที่คร่ำหวอดในสนามข่าวการเมือง สะท้อนถึงการตั้งคำถามของนักข่าวสายทำเนียบฯ สายสภาฯ ว่า เวลาต้องตั้งคำถามผู้นำ สื่อเองก็พูดคุยกัน มีทั้งการนัดประเด็น หรือชิงถามกันเฉพาะหน้า
“หากเจอแหล่งข่าวเขี้ยว ก็ต้องเตี๊ยม เพราะอาจจะมีบางคำถาม เป็นคำถามวงแตก ก็เอาไว้ทีหลัง ต้องเอาคำถามที่ตะล่อมเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการก่อน หากหลุดจากคนนี้ ก็เป็นคนนี้ถามต่อ ส่วนคำถามแรง ก็จะถามเป็นลำดับสุดท้าย ปกติจะรู้กันว่า ใครถามวงแตก ก็ต้องเตี๊ยมกัน หรือฝากให้เพื่อนถามแทน นักข่าวภาคสนาม ไม่ได้ต้องการถามเสี้ยม แต่บางทีก็เป็นเหมือนกันเทสต์แหล่งข่าว ว่าอย่างไร ตอบอย่างไร”
ปราเมศ ระบุด้วยว่า โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ไม่ว่าตอบอย่างไรก็เป็นประเด็น ไม่ตอบก็เป็นประเด็น เดินหนีก็เป็นประเด็น และจะถูกถามจนกว่าจะได้คำตอบ
ส่วนการถูกแหล่งข่าวตอบคำถามด้วยกันย้อนถามกลับด้วยความไม่พอใจ ผู้สื่อข่าวก็จะเรียนรู้ และใช้วิธีที่จะได้คำตอบ ปราเมศ ยกตัวอย่าง พล.อ.ประวิตร ว่า ก่อนหน้านั้น ก็เรียกลุงป้อมว่าท่านรองนายกฯ อย่างเป็นทางการ แต่ตอนหลังก็พยายามเรียกลุงป้อม ก็ทำให้ระยะห่างลดลง เจ้าตัวก็จะยิ้ม อารมณ์ดี จากที่สื่อเคยถูกย้อนถามกลับด้วยเสียงดุ สไตล์ทหาร แต่ที่จริงก็จะเป็นลักษณะปากร้าย ใจดี ตอนหลังท่าทีดุๆ ไม่ค่อยมี แต่สำหรับนายกฯ ประยุทธ์ ก็ยังคงท่าทีดุไม่เปลี่ยน
ตอกย้ำถามซ้ำ เช็คแอนด์บาลานซ์
ปราเมศ อธิบายถึง การตั้งคำถามตอกย้ำ ซ้ำๆ ของสื่อว่า การถามคือการเช็ค และบาลานซ์ ให้ได้ข้อเท็จจริง ให้ได้รู้ถึงความเคลื่อนไหว เพราะสื่อก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบแทนประชาชน การที่บางทีผู้มีอำนาจไม่ตอบ โดยเฉพาะเวลาเจอเรื่องหนักๆ ถูกสื่อถามย้ำ บางครั้งก็ หลุด ก็ยิ่งเป็นประเด็น และได้อีกคำตอบที่ต่างจากเดิม
ผู้ดำเนินรายการถามว่า กรณีที่นายกฯ ประยุทธ์ เคยหลุดปาก ถึงการถาม“ดิสเครดิต” ที่เกิดจากคำถามซ้ำๆ ของสื่อ ปราเมศ มองว่า แม้จะเป็นผู้มีอำนาจที่มีหน้าที่ แต่ก็มีสิทธิที่จะตอบหรือไม่ตอบ หรือมองว่าดิสเครดิตหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของเค้า แต่สำหรับสื่อถ้าวันพรุ่งนี้เจอกันอีกสื่อก็จะถามอีก ขณะที่การไม่ตอบ สังคมมีสิทธ์จะตั้งคำถาม หรือแม้แต่ฝ่ายการเมืองด้วยกันเอง อย่างพรรคก้าวไกลก็เอาไปตั้งกระทู้ถามในสภาฯ จนกว่าจะตอบ
2 ปัจจัย สื่อรุกถาม-ประชาชนตื่นตัว
ด้านนักวิชาการ รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว มองปรากฎการณ์สื่อตอกย้ำ ถามซ้ำว่า เวลานี้มีหลายปัจจัย ทั้งการเมืองที่เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ความต้องการข่าวสารด้านนี้จึงเพิ่มขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีก็มีส่วน สมัยก่อนการปิดต้นฉบับหนังสือพิมพ์เป็นไปตามกรอบ รายการวิทยุ มีช่วงข่าวในเวลาที่แน่นอน แต่ยุคดิจิทัล ข่าวออนไลน์ที่เป็นไปตามเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้มีข่าว 24 ชั่วโมง
ขณะที่การถามซ้ำของสื่อ มองว่าในเชิงการทำหน้าที่ของกันและกัน สื่อเป็นตัวกลาง อาจจะเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ประชาชนตื่นตัวกับข่าวสาร แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวบุคคลสำคัญได้ ฉะนั้นสื่อก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจ ก็มีทางเลือก จะตอบโต้ หรือตอบคำถามแบบไหน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลีลา ท่าทางของแต่ละบุคคล วาระของแต่ละคน แต่ละพรรคการเมือง ว่าจะเลือกให้ข่าวไปในทิศทางไหน ถ้าถูกทางที่ตัวเองต้องการสื่อสาร ก็อาจเป็นโอกาส ให้สื่อเป็นพีอาร์เรื่องที่ต้องการเสนอได้เลย
วัฒนธรรมสื่อเอื้อให้ซักถามผู้นำได้ใกล้ชิด
สำหรับการตอบคำถามของผู้มีอำนาจ ควรเตรียมข้อมูล เนื้อหาในการสื่อสารหรือไม่อย่างไร รศ.ดร.อัศวิน มองว่า เป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง สถาบัน หน่วยงาน ซึ่งทำหน้าที่แทนส่วนรวม การมีตำแหน่งในองค์กร และการสื่อสารองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ พรรคการเมืองใดมีกระบวนการเช่นนี้ ก็สะท้อนถึงความพร้อม ที่จะทำงานเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งต้องเล่า ต้องบอก ต้องสื่อสารกับประชาชนในวงกว้างด้วย ก็เป็นราคาที่ต้องยอมจ่าย เมื่อเลือกมาเดินเส้นทางนี้ คงต้องยอมรับสิ่งนี้มันมาพร้อมกับตำแหน่ง บทบาทหน้าที่
อย่างไรก็ตาม การรับมือกับคำถามของแหล่งข่าว ด้วยการไม่ตอบ หรือเดินหนี มองอย่างไร รศ.ดร.อัศวิน มองว่าอยู่ที่กลวิธีของนักการเมืองแต่ละคน นายกฯ แต่ละคน บุคลิก ความสามารถเฉพาะตัว และการสื่อสารข้อมูลของผู้นำแต่ละประเทศ ก็มีรูปแบบต่างกัน
ประเทศไทยวัฒนธรรมการทำข่าวของเรา อาจจะเป็นการเข้าไปยืนล้อมแหล่งข่าว ยื่นไมค์ หรือเป็นการดักถาม ต้อนแหล่งข่าวให้ได้ข้อมูลผู้นำเรามีตารางเวลาชัด ผู้สื่อข่าวเองก็ใกล้ชิดกับแหล่งข่าว การซักถามเพื่อให้ได้คำตอบจึงทำได้ง่าย และบ่อยกว่า
หากเปรียบกับประเทศอื่นบางประเทศอาจมีโฆษก เป็นทีมงาน เป็นบุคคลสำคัญ ที่จะให้ข่าว โดยจะเลือกบางช่วง และจังหวะ ที่ต้องการกำหนดสถานการณ์ จึงจะให้ข่าว
หนุนสื่อกำหนดวาระข่าวสารตรวจสอบ
รศ.ดร.อัศวิน มองว่า การกำหนดวาระข่าวสาร เป็นบทบาทหน้าที่ของสื่อ ประหนึ่งเป็นตัวแทนประชาชน ที่ตระหนักว่าเรื่องอะไรเป็นเรื่องสำคัญต่อส่วนรวม จุดนั้นจึงนำไปกำหนดคำถาม ซึ่งก็จะนำไปสู่วาระข่าวสารสาธารณะอีกขั้นหนึ่ง หากสื่อไม่ทำตรงนี้ ผู้นำ ผู้บริหารประเทศ นักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจ ก็อาจละเลยเพิกเฉยต่อการทำประโยชน์สาธารณะก็เป็นไปได้
หากโยงตรงนี้ ในเชิงทฤษฎีการกำหนดวาระข่าวสาร เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฐานันดร 4 ของสื่อ ซึ่งมาคานอำนาจฝ่ายบริหาร รวมถึงซักค้าน ฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีสื่อมาตรวจสอบ ก็อาจไม่ฟังก์ชั่น อาจทำงานไปคนละแบบ เพราะไม่มีใครมาคอยตรวจสอบกันและกัน
การเมืองลับลวงพรางที่สื่อต้องล้วงลึก
ในมุมมองที่ว่า การตั้งคำถามตอกย้ำซ้ำซาก มีทฤษฎีอะไรมาจับหรือไม่ สังคมได้อะไร รศ.ดร.อัศวิน มองว่า การเมืองในบางครั้งก็มีหน้าฉากและหลังฉาก ในทฤษฎีสื่อสารทางการเมือง สื่อก็ต้องไปล้วงข่าวซีฟ ข่าวลึก อย่าลืมว่าในฝ่ายบริหารเองก็มีการปล่อยข่าว โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจาก ลับลวงพราง ก็มีมิติลักษณะนี้อยู่ เหตุผลที่ต้องไปถามซ้ำบ่อยๆ เป็นไปได้ว่า พฤติกรรมอีกอย่าง แต่ข่าวที่หลุดมาอีกอย่าง สื่อเองก็ย่อมอยากขอความกระจ่างในเรื่องนั้นๆ
พอถามย้ำๆ ไป ก็ย้อนไปที่ตัวนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่โดนคำถาม ซึ่งก็เป็นสิทธิแต่ละคน ว่าจะเลือกอย่างไร การถามคำถาม ไม่ได้ต้องการคำตอบที่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ตอบ เลือกตอบแบบไหน อย่างไร หรือไม่ตอบ ซึ่งผลกระทบที่ตามมา สังคมก็จะมองกลับมาที่ตัวผู้ตอบว่าแสดงอะไรออกไป ตอบตรง หรือไม่ตรง หรือไม่ตอบ
รศ.ดร.อัศวิน มองด้วยว่า จากนี้ปี่กลองก็คงดังขึ้นเรื่อยๆ เราก็คงเข้าสู่โหมดข่าวการเมือง เรื่องการแข่งขันแต่ละพรรคมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลเพิ่ม ก่อนที่สุดท้ายจะตัดสินใจลงคะแนน ซึ่งเป็นการแสดงฉันทามติของสังคมว่าจะเลือกแบบไหนอย่างไร
ฉะนั้นการเลือก โดยมีข้อมูล มีความรู้ ย่อมดีกว่าไม่มี หรือมีข้อมูลจำกัด หรือข่าวบิดเบือน ข่าวหลอก ซึ่งสื่อก็ทำหน้าที่อยู่แล้ว ขณะที่พลเมืองออนไลน์ก็อยากเข้ามาแจม ส่วนแหล่งข่าวเมื่อจะขึ้นเวที ก็ต้องยอมรับ แต่อยากให้นึกว่าเป็นการพูดคุยกับประชาชนส่วนรวม.