3 ฝ่าย นักวิชาชีพ นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรกำกับดูแล ฟันธงข่าวคดี “ชู้สาวอดีตรองนายกฯ” สื่อหลักยังทำหน้าที่อยู่ในกรอบจริยธรรม ยึดหลักให้แง่คิดเรื่องศีลธรรมในสังคมจากพฤติกรรมคนดัง แย้งความเห็นนายกฯ “สื่อโหดร้ายตรงไหน” ชี้ต้องแยกแยะคุณค่าข่าวกับเรื่องแฉในโซเชียลมีเดีย
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “สื่อโหดร้ายตรงไหน กรณีรายงานข่าว อดีตรองนายกฯ…” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย ผาณิต นิลนคร หัวหน้าข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รศ.วัฒณี ภูวทิศ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
จากกรณีอินไซด์ ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2566 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวในวงรับประทานอาหารกลางวันหลังประชุม โดยได้สอบถามกรณีข่าวการเปิดเผยข้อมูลอดีตรองนายกรัฐมนตรี มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับภรรยาของคนอื่นว่า “ทำไมสื่อนำเสนอข่าวโหดร้าย เมื่อก่อนเสนอข่าวแบบนี้หรือเปล่า” นายอนุทิน รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่นั่งอยู่ด้วย กล่าวอธิบายว่า “การเมืองก็เป็นแบบนี้เมื่อสมัยก่อนเป็นมานานแล้ว” จึงนำมาสู่ การพูดคุยผ่านมุมมองของ 3 ฝ่าย ในหัวข้อ “สื่อโหดร้ายตรงไหน กรณีรายงานข่าว อดีตรองนายกฯ…”
ผาณิต ในฐานะนักวิชาชีพ ได้อธิบายถึงคุณค่าข่าวในเรื่องนี้ว่า การนำเสนอข่าวนี้ ได้สะท้อนถึงแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม ฉะนั้นตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น กองบก.จึงต้องตกผลึกประเด็นร่วมกัน ก่อนจะเริ่มกระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน และนำเสนอและเผยแพร่อย่างระมัดระวัง
หัวหน้าข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ ระบุว่า ข่าวนี้จัดอยู่ในประเภทคดีพิศวาสซ่อนเงื่อน จึงต้องระมัดระวังในกระบวนการต่างๆ ในการนำเสนอไปยังผู้รับสาร และปกป้องตัวผู้ที่ตกเป็นข่าว โดยคำนึงถึงข้อกฏหมาย รวมทั้งต้องมีแง่มุมที่เป็นประโยชน์สาธารณะได้ แนวในการทำข่าว เราจึงทำในแบบพีระมิดหัวกลับ เอาความสำคัญมาเป็นต้นทาง แล้วค่อยๆ ย่อย ไล่เรียงประเด็น และวางไทม์ไลน์ของข่าว
คดีที่มีแง่มุมทางศีลธรรมในสังคม
“เหตุที่สื่อต้องนำเสนอข่าวนี้ สำหรับมุมนักวิชาชีพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมของคนไทย ในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ คือมีสามีภรรยาอยู่แล้ว แล้วยังไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันอีก อีกทั้งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ที่มีภรรยา หรือมีสามีหลายคน กระทำผิดศีลธรรมหรือไม่ ซึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้เป็นข่าวได้ แต่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ ดังนั้นก่อนที่จะเผยแพร่ออกไป เราตรวจสอบกลั่นกรอง เช็คข้อมูลย้อนกลับพอสมควร”
ผาณิต กล่าวอีกว่า แม้เรื่องราวที่นำเสนอ อาจดูเหมือนเป็นข่าวที่ง่ายๆ แต่เมื่อมองลึกเข้าไป มันมีปม และเงื่อนที่ซ่อนอยู่ในนั้น จึงต้องตั้งประเด็นว่าเป็นเรื่องพิศวาสซ่อนเงื่อน กระบวนการทำข่าวจึงต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการสืบสวน หลังจากเปิดเผยข้อมูลของทนายความคนหนึ่ง เมื่อตกผลึกแล้ว ก็สั่งประเด็นไปตามต่อ ซึ่งต้องเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถยืนยันได้
“ที่สำคัญ การหาข้อมูล ต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เมื่อได้ข้อมูลมาจากแหล่งข่าวที่หนึ่ง ก็ต้องไปหาแหล่งข้อมูลที่สองที่สามสี่ห้า เพื่อมายืนยันหักล้างกัน ที่สำคัญข้อมูลที่ได้ต้องมาจากแหล่งข่าว ถูกต้องแม่นยำ ต้องมีข่าวแหล่งข่าวที่เปิดเผยได้ และเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งก็ต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน”
สะท้อนพฤติกรรมบุคคลมีชื่อเสียง
หากพิจารณาให้ดี ข่าวนี้เป็นเรื่องบุคคลสองคน เป็นคนที่มีชื่อเสียง และทำผิดศีลธรรม เรื่องพฤติกรรมคู่กรณี ก็เป็นเรื่องของคนสองคน แต่จุดจบของคดีนี้ เชื่อว่าไม่ได้อยู่ที่ใครผิดใครถูก แต่อยู่ที่ว่า ในอนาคตเราจะไปปลูกฝังศีลธรรมให้คนรุ่นใหม่ให้ตระหนักได้อย่างไร ในจุดนี้มันเป็นคุณค่าข่าวที่เราพยายามจะต่อยอดไปในอนาคต
นี่คือสิ่งที่เราอยากจะบอกสังคมคือเรื่องศีลธรรม จึงพยายามจะสอดแทรกเรื่องเหล่านี้อยู่ในข่าว หรือแม้แต่การพาดหัวของเราจะใช้คำที่แตกต่าง เช่น พาดหัวว่า“ปีนต้นงิ้ว” ซึ่งเป็นกิมมิก เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ไปศึกษาหลักพุทธศาสนา ว่าสอนเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้เดลินิวส์ทั้งหนังสือพิมพ์และออนไลน์ ก็ทำเรื่องเคียงข่าวเอาไว้ ซึ่งเป็นคำอธิบายว่าคืออะไร
นายกฯต้องแยกเรื่องข่าวกับโซเชียล
ส่วนกรณีที่นายกฯประยุทธ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสื่อนำเสนอข่าวโหดร้าย ผาณิต ระบุว่า ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ควรเป็นเสียงสะท้อนจากผู้รับสาร รวมถึงนายกฯ ที่ถามคำถามนี้ สำหรับสื่อเอง ไม่สามารถที่จะไปตัดสินตัวเองได้ ฉะนั้นคนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คือผู้อ่าน
2. อีกประเด็น เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย คนต้องการข้อมูลที่กระชับเข้าใจง่าย จากยุคก่อนที่ข่าวหนึ่งๆ ต้องรอข้ามวัน จึงจะมีข่าวเพิ่มเติม แต่ทุกวันนี้ 24 ชั่วโมงอาจจะมีมากกว่า 20 ข่าว ซึ่งอาจเป็นบริบทที่นายกฯ ตั้งคำถามว่า สื่อโหดร้ายเกินไปหรือไม่
อีกทั้งปัจจุบัน นอกจากสื่อกระแสหลัก ก็ยังมีประเด็นที่ใครๆก็เป็นสื่อได้ เพราะฉะนั้นความถูกต้อง ในการนำเสนอ จรรยาบรรณ ความรู้เรื่องข้อกฎหมาย ก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้เกิดคำถามนี้ขึ้นมาว่า ทำไมถึงไปขุดคุ้ย ลงชื่อจริง เปิดหน้า แต่ถ้าพิจารณาถึงในยุคก่อน ที่สื่อสิ่งพิมพ์เฟื่องฟู สื่อหลักก็น่าจะนำเสนอข่าวที่ค่อนข้างกระชากอารมณ์มากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ
ในมุมมองของคนที่ทำสื่อ สำหรับสื่อหลักแล้ว ก็ต้องตระหนักถึงจริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพ ประเด็นที่หนึ่ง ต้องอยู่ในขอบเขตเหมาะสม ต้องเสนอข้อเท็จจริงแก่ผู้รับสาร และไม่สร้างข่าวขึ้นเอง ขณะที่ทุกวันนี้ใครก็เป็นสื่อได้ ประเด็นหลักคือไม่มีคนที่ไปกำกับดูแลตรงจุดนี้ ที่สำคัญทำให้ความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อจริยธรรม จึงทำให้เกินเลยต้องจุดนี้ไป
องค์กรกำกับฯยันยันสื่ออยู่ในกรอบ
ขณะที่มุมมองของ บรรยงค์ ในฐานะกำกับดูแลสมาชิกสื่อ ยืนยันว่า สื่อไม่ได้โหดร้ายในการเสนอข่าวนี้ และไม่ได้ละเมิดหลักจริยธรรมและแนวปฏิบัติ
“เวลานี้ ดูของพวกเรากันเองก่อน สื่อที่เป็นกระแสหลัก ขอยืนยันว่าไม่เกินเลย แล้วในข่าวก็ยังมีข้อเท็จจริงที่ทนายความให้สัมภาษณ์ พาดหัวก็ยังโอเค ถ้าจะนำคำว่าโหดร้ายมาใช้กับพวกเรา ที่เป็นสื่อกระแสหลักแล้ว ผมยังไม่เห็นด้วย และยังมองไม่ออกว่า ตรงไหน เพราะทุกอย่างมันมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่าย และอยู่ในสำนวน แม้กระทั่งจากทนาย ซึ่งการเปิดเผยชื่อ ทนายก็ใช้วิธีของตัวเองในทางอ้อม”
นอกจากนี้ บรรยงค์ ยังระบุถึงความรอบด้านว่า แม้แต่แหล่งข่าวอดีตรองนายกฯ สื่อก็ยังไปสัมภาษณ์ แม้เขาจะออกมาปฏิเสธ แต่สื่อก็เสนอข่าวค่อนข้างสมดุลย์ ด้วยความระมัดระวังการละเมิด เพราะฉะนั้นในแง่วิชาการหรือวิชาชีพที่คอยดู กรณีข่าวนี้ เราไม่ได้เกินเลย”
สำหรับการพาดหัวเรื่องสีสัน บรรยงค์ ระบุว่า เป็นที่เถียงกันมาหลาย 10 ปีระหว่างวิชาการกับวิชาชีพ ในที่สุดก็หยุดตรงกึ่งกลางได้ว่า เนื่องจากสมัยก่อนหนังสือพิมพ์ต้องอยู่บนแผง ต้องให้ผู้รับสารเห็น ก็เป็นการตลาด แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ที่สุดแล้วต้องนำมาขยายผลข้อเท็จจริงในข่าวให้ได้ ตรงนั้นสีสัน จึงเป็นที่ยอมรับกันได้
ถามกลับนายกฯสื่อโหดร้ายตรงจุดใด
ขณะที่คุณค่าข่าว บรรยงค์ ระบุว่า มีมากถึง 10 ข้อ จะหยิบตรงไหนก็หนี ความเป็นเรื่องปุถุชนวิสัยไม่ได้ ซึ่งผู้รับสารสนใจเพราะเป็นปุถุชนวิสัย ประเด็นในข่าวนี้ จึงอยู่ตรงที่ สื่อนำเสนอแล้วที่สุดแล้วสื่อได้ให้สาระอะไรเป็นกรณีศึกษา เช่นเรื่องของศีลธรรมประกอบเข้าไปด้วย หรือแค่เรื่องชู้สาว
เวลานี้พวกเราที่ทำงานสื่อมีวิชาชีพสื่อ ไม่ใช่เราเพียงกลุ่มเดียวแล้ว แต่มีสื่ออื่นๆ อีกทั้งสื่อดิจิทัลมากมาย สื่อเชิงพาณิชย์เค้าก็ไม่ได้มานั่งใส่ใจรับผิดชอบอะไรกับสาธารณะขอให้เพียงขายได้ ขณะที่สื่อวิชาชีพด้วยกัน ก็มีเรื่องการแข่งขันเพื่อการอยู่รอด การตลาดทั้งหลาย เราก็มีเส้นกำหนด
เราพิสูจน์ได้ว่า แต่ละเรื่องในที่สุดก็ต้องกลับมาหาเรา โดยข้อเท็จจริงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเป็นหลัก แต่กรณีนี้ไม่ทราบว่า ที่ท่านนายกฯคาใจ ว่าทำไมเสนอข่าวโหดร้าย ก็อยากจะถามท่านนายกฯว่า ตรงไหนที่โหดร้าย อะไรที่สื่อนำเสนอเกินกว่าที่ทนายเค้าพูดถึง และถ้าเกินกว่าคดีที่ผู้ที่ถูกกล่าวหา ก็ฟ้องร้องคดีแพ่งที่คิดว่าถูกละเมิดได้อยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องหมิ่นประมาทต่างๆ เชื่อว่าสื่อกระแสหลักอย่างพวกเรา จะระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องที่คู่กรณี เอาชนะคะคานกันด้วยประเด็นทางกฎหมาย
ข้อระวังการละเมิดคนรอบข้างคู่กรณี
เพียงแต่ว่าเราจะเสนอไปตามเส้น หรือถ้าหากเราจะหาอะไรมาเพิ่มเติมจากที่ทนายความเขาว่า ก็ต้องเป็นข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ที่เราควรระมัดระวัง คือคนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย เช่น อดีตภรรยาของอดีตรองนายกฯฉะนั้น จึงไม่เห็นด้วย อยากให้ท่านนายกมาพูดว่าตรงไหนที่โหดร้าย และใคร สื่อไหนที่เสนอข่าวและทำให้นายกฯ รู้สึกว่าโหดร้าย นายกฯ พูดแบบนี้ มันเหมาจ่ายพวกเรา สำหรับนายกฯ ก็อยากได้คำอธิบายมากกว่านี้ ถ้าพูดเท่านี้ก็ไม่เห็นด้วยกับท่าน
กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ ระบุด้วยว่า ตลอดปี 2565 การร้องเรียนเรื่องสื่อละเมิดจริยธรรม ก็ยังมีเรื่องสิทธิของบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เข้ามาตลอด แต่ปัญหาหลักเริ่มลดน้อยลง และไม่ใช่นักข่าวภาคสนาม แต่กลายเป็นปัญหาที่เจ้าของสื่อ กับผู้บริหารสื่อระดับสูง ที่ต้องรับผิดชอบหลักนโยบาย มาเป็นเรื่องประโยชน์ทางธุรกิจ แล้วเจ้าของสื่อเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ถ้าออกมาบอกว่า อย่าทำ แล้วใครจะทำ นักข่าวจะกล้าทำหรือ
แนะสังคมจับตานโยบายเจ้าของสื่อ
“ฉะนั้นต้องบอกผ่านรายการนี้ไปยังผู้ฟังว่า หากติดตามอยู่ ขอให้ช่วยกันดูเจ้าของสื่อด้วย เวลากล่าวถึง ก็กล่าวถึงเจ้าของสื่อด้วย ตัวนักข่าวเองไม่กล้าเอากระดิ่งไปแขวนคอแมว เค้าเป็นลูกจ้าง ทำได้ระดับหนึ่ง อย่างเก่งก็ทำในนามองค์กรวิชาชีพซึ่งก็พูดไม่ได้เต็มปาก เพราะยังเป็นลูกจ้างอยู่ ตรงนี้ที่เป็นอุปสรรคของพวกเรา ในการทำงานอย่างมืออาชีพ”
โดยเฉพาะกรณีเจ้าของธุรกิจสื่อ ลงมากำกับดูแลเรื่องข่าวเอง โดยไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกองบรรณาธิการ บรรยงค์เห็นด้วยว่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกมาพูดกันให้เป็นประเด็นสาธารณะให้ได้ เพื่อจะให้ประชาชนเข้าใจ ไม่เช่นนั้นสื่อเองก็จะโดนอยู่เรื่อยๆ อะไรก็พวกนักข่าว ทำข่าวอย่างนี้ เจ้าของสื่อต่างหาก
คุณค่าข่าวด้านจริยธรรมในเรื่องเพศ
ด้านนักวิชาการด้านสื่อ รศ.วัฒณี ระบุถึงประเด็นคุณค่าข่าวนี้ว่า เวลาเราพูดถึงเรื่องการที่สื่อจะคัดเลือกประเด็นเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นมานำเสนอเป็นข่าว เรื่องคุณค่าข่าวมีหลากหลายข้อ ในส่วนตรงนี้ เราอาจจะมองว่า สิ่งที่สำคัญที่เราอยากสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของความเป็นมนุษย์ มากไปกว่าแค่เราจะดูในเรื่องคุณค่าข่าว เรื่องของเพศ
ในลักษณะคุณค่าข่าว กรณีนี้เราอาจจะมองที่ว่า จะส่งผลกระทบในเรื่องเชิงจริยธรรม การปลูกฝังให้เชิงจริยธรรมของเยาวชนในอนาคตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องนี้บุคคลที่ตกเป็นข่าว อาจจะเคยเป็นบุคคลสาธารณะ มีชื่อเสียง ฉะนั้นเราอาจจะไม่ได้มองแค่เรื่องคุณค่าและเพศเท่านั้น แต่เรามองไปถึงเรื่องจริยธรรมในอนาคต เด็กและเยาวชนจะเห็นจากการประพฤติปฏิบัติของคนที่เป็นผู้ใหญ่ในสังคมด้วย
การดำเนินธุรกิจของสื่อ ที่ต้องมีการแข่งขัน แน่นอนว่าก็จะมีเรื่องที่จะทำอย่างไรให้คนเข้ามาสนใจข่าวสาร ที่นำเสนอด้วยถ้าหากสื่อนำเสนอเรื่องราวอยู่บนกรอบจริยธรรมจรรยาบรรณ สิ่งนี้จะเป็นคำตอบที่จะเป็นตัวของสื่อเอง ไม่ได้หมายความว่ามันดีในเรื่องธุรกิจ จึงทำให้นำประเด็นนี้ แต่จะสะท้อนออกมาตั้งแต่การคัดเลือกประเด็น วิธีการ หรือความระมัดระวังทั้งการใช้ภาษา นำภาพมาสื่อว่า ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะนำเสนอข่าวออกมา
ชี้ต้องแยกแยะสื่อหลัก-สื่อโซเชียล
ส่วนเชิงวิชาการ การนำเสนอเปิดเผยข้อมูลภาพของสื่อ รศ.วัฒณี มองว่า เรื่องนี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือสื่อกระแสหลัก และสื่อโซเชียล แน่นอนว่าสื่อกระแสหลักโดยการทำงานย่อมมีความระมัดระวังในการนำเสนออยู่แล้ว ยังไม่เห็นอะไรที่ดูแล้วมีลักษณะมากเกินไป จนกระทั่งระบุได้ว่าโหดร้ายเกินไป เพราะก่อนที่สื่อจะนำเสนอเรื่องราว ก็ต้องผ่านการคัดกรองตรวจสอบข้อมูล ไม่ได้เป็นเพียงว่าไปนำเอาข่าวที่หลุดออกมาจากโซเชียลมีเดียเท่านั้น
ส่วนในแง่ของสื่อที่เป็นโซเชียล ที่ไม่ได้สังกัดองค์กรสื่อไหน จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ฉะนั้นในบางครั้งอาจจะมีเรื่องการนำภาพที่ไม่ได้เบลอ จึงนำไปสู่การคาดเดา และปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เข้ามา ก็อาจจะมีบ้างที่เพจต่างๆ มีลักษณะเกินเลยและอาจจะเข้าข่ายในเรื่องการละเมิดสิทธิ คนที่ตกเป็นข่าวก็สามารถที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องได้
ถ้าเรามองจากตรงนี้ สื่อกระแสหลัก ลักษณะการนำเสนอข่าวยังอยู่ในกรอบของการทำงาน และนำเสนอข้อเท็จจริงโดยมีการอ้างอิงจากแหล่งต้นตอของข้อมูล และตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น ค่อนข้างมากก่อนที่จะปล่อยออกมา ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นเรื่องที่เกินเลยมากเกินไป
“ข่าวเชิงชู้สาวเกิดขึ้นมากในสังคม เพียงแต่สื่ออาจจะต้องตั้งคำถามตัวเองเช่นกันว่า มีเหตุผลอะไรในการที่จะเลือกเอาประเด็นข่าวตรงนี้มานำเสนอ และตัวผู้รับสารเอง แม้กระทั่งสังคมได้รับประโยชน์จากสิ่งที่นำเสนอนั้นอย่างไร ฉะนั้นในลักษณะของแนวทางการนำเสนอ ก็ยังต้องกลับไปที่เรื่องกรอบจริยธรรมอยู่ดี แม้จะมีเรื่องคุณค่าข่าว ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนอยากเข้ามาดู แต่ในฐานะคนทำสื่อ จะต้องดูว่า ไม่ใช่เฉพาะแค่ความเร็วที่จะไปตอบสนองผู้รับสารเท่านั้น แต่สาระประโยชน์ข้อคำนึงในการทำงานของสื่อ จะต้องกลับมาตอบความชัดเจน ในการปฎิบัติหน้าที่ของตัวเอง ที่จะไม่กระทบ ก้าวล่วงสิทธิ์ของผู้อื่น
ขณะเดียวกัน ก็ต้องเน้นให้ประชาชนมีสิทธิ์ได้รับรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นด้วย ฉะนั้นเราอาจจะต้องคำนึงถึง เรื่องของประโยชน์ที่สังคมจะได้รับอย่างไรบ้างเป็นสิ่งสำคัญ
ยังไม่เห็นความโหดร้ายในแง่มุมข่าว
“การนำเสนอข่าวอดีตรองนายกฯ ถ้ามองจากตรงนี้ ในแง่นักวิชาการยังมองไม่เห็นถึงความโหดร้าย ในแง่ของกระบวนการในการนำเสนอข่าว จากที่ดู สื่อก็ยังนำเสนออยู่ในกรอบของการทำงาน มีข้อเท็จจริงจากการนำมาจากต้นตอ แม้จะเปิดเผยจากนักกฏหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะใช้แค่แหล่งข่าวนี้เท่านั้น สื่อก็ยังไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวอื่นๆ เพื่อมานำเสนออย่างสมดุลย์”
“ข่าวนี้อาจจะไม่ได้มองแค่ประเด็นชู้สาว แต่สามารถนำเสนอออกมาเป็น 2 มุมได้ ทั้งคนที่อาจจะถูกมองว่าเป็นชู้ กับอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องการถูกแบล็กเมล์หรือไม่ ตรงนี้อาจจะมีแง่มุม ที่อาจจะนำเสนอได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเราก็อาจจะต้องระมัดระวังเรื่องที่ไปส่งผลกระทบกับคนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง คนรอบข้างของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ออกมา จะกลายเป็นว่าสื่อเข้าไปสร้างความโหดร้ายให้กับคนที่ถูกโยงเข้ามา ไม่ได้เป็นลักษณะการทำงานภายใต้กรอบของจริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพ” รศ.วัฒณี ทิ้งท้าย
++++++++++++++++