“คดีตู้ห่าว ตัวอย่างการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” สื่อสะท้อน ยากในการหาข้อมูล เมื่อตำรวจเพลย์เซฟจากบทเรียนคดีดังทัวร์ศูนย์เหรียญ อุบข้อมูล สื่อดิ้นรนหาช่องทางรีเช็คข้อมูลแหล่งข่าวกลุ่มทุนสีเทา ยอมรับต้องไต่เส้นลวดจริยธรรม เพื่อแลกข้อมูลเชิงลึก ชี้คดีนี้โยงคนการเมือง โอกาสไปไม่สุด ด้านนักวิชาการชี้ ข่าวสืบสวนสอบสวนจำเป็นต้องทำงานเป็นทีม ระดมทั้งกองบก. ใช้นักข่าวเชี่ยวชาญ ให้รุ่นใหญ่ถ่ายทอดประสบการณ์รุ่นใหม่
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “คดีตู้ห่าว ตัวอย่างการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” โดย ณรงค สุทธิรักษ์ และสืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ทัศนีย์ ดำมุณี ผู้สื่อข่าวอาวุโส กองข่าวสังคม สำนักข่าวไทย เอกรัฐ ตะเคียนนุช ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ในมุมของนักวิชาชีพที่ทำข่าวมากว่า 20 ปี ต่อการทำข่าวคดีนี้ ทัศนีย์ ดำมุณี มีมุมมองว่า คดีนี้ยากมาก ในแง่การเข้าถึงข้อมูลโดยเฉพาะจากฝ่ายตำรวจ ทั้งจากแหล่งข่าวที่มีตั้งแต่ตำรวจระดับล่างจนถึงระดับสูง โดยเฉพาะระดับล่างไม่มีใครกล้าพูด ตำรวจนครบาลไม่พูด ตำรวจสืบสวนสอบสวนไม่พูด จึงเป็นปัญหาว่าจะหาข้อมูลจากไหน
ทุกอย่างกลายเป็นว่า นักข่าวต้องไปรอรับข้อมูลแค่การแถลงจาก ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร. 3 นายนี้เท่านั้น ที่จะได้ข้อมูลจากฝ่ายตำรวจ แน่นอนว่าในการแถลง ตำรวจก็ไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมด ที่สื่ออยากรู้ สื่อจึงต้องไปอาศัยข้อมูลที่จะเอามาทำข่าวก็คือ คนที่ออกมาเปิด คือ ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ แล้วก็หาข้อมูลเพิ่มเติมเอาเอง โดยเฉพาะการสืบหาจากแหล่งข่าวเก่า ที่เคยทำคดีเกี่ยวกับกลุ่มทุนจีนลักษณะนี้ ต้องยอมรับว่าคดีนี้เป็นคดีที่หินมาก แทบไม่ได้ข้อมูลอะไร
อย่างไรก็ตาม หลักวิชานิเทศศาสตร์ ที่จะมาใช้การทำข่าว รายงานข่าวนี้ ก็ยากเช่นกัน เพราะคดีนี้เหมือนมีแผ่นฟิล์มบางๆ มาบังไว้ บางสิ่งบางอย่างที่รู้มา ก็ไม่สามารถถ่ายทอดได้ เพราะไม่มีแหล่งข่าวยืนยันให้อ้างอิงได้ ไม่มีบุคคลมายืนยันกับเรา หากที่สุดอีกฝ่ายที่ถูกกล่าวหา ศาลพิพากษาว่าไม่ผิด สื่อก็เสี่ยงที่จะโดนฟ้องกลับเช่นกัน
คดีหิน หาข้อมูลยาก ในการขยายประเด็นข่าว
ประเด็นที่ ชูวิทย์ นำมาเปิดเผย แม้จะยืนยันได้ว่าเป็นข้อจริง แต่สื่อก็พยายามสอบถามแหล่งที่มาข้อมูล ซึ่งเขาก็อ้างว่า เอามาจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ สื่อเองก็ต้องสืบต่อให้สุด และเอาข้อมูลที่ได้ไปขยายผลต่อ ทั้งจากแหล่งข่าวที่สนิท เพราะการไปถามต่อ ข้อมูลบางอย่างของชูวิทย์ก็ไม่ใช่ว่าจะชัวร์ 100% แต่บางประเด็นก็ได้รับการยืนยันมาจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ดังนั้นจึงเป็นความยาก กว่าจะนำเสนอออกมาเป็นข่าวอย่างที่เห็น
เมื่อถามว่า ท่าทีของตำรวจเรื่องการให้ข้อมูล ที่ถูกสังคมตั้งคำถามหลายแง่มุม ในมุมมองของสื่อเองมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัยกับการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจหรือไม่ ทัศนีย์ กล่าวว่า ตำรวจนครบาลชุดนี้ เป็นชุดที่มาจากสายสืบ และเป็นพนักงานสอบสวนใหญ่ ที่ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต ซึ่งก็มักจะไม่เปิดเผยข้อมูล เขาก็จะให้เหตุผลว่า เพราะการเอาข้อมูลเหล่านั้นซึ่งเป็นสาระสำคัญ ออกมาเปิดเผยสื่อมวลชนแล้วนำเสนอออกไป อาจทำให้อีกฝ่ายหรือฝ่ายผู้ต้องหาหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการต่อสู้ อาจทำให้คดีเสียหาย
บทเรียนคดีดัง จนท.เพลย์เซฟจนข่าวไม่หลุด
คดีนี้เป็นคดีใหญ่ที่สำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้บทเรียนสำคัญราคาแพงมาก คือกรณีก่อนหน้านี้ทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งทุกวันนี้มีประเด็นว่า ศาลพิพากษาแล้วว่ากลุ่มทุนฯ ไม่ผิด ปรากฏว่าได้ฟ้องร้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติจนแพ้คดี ฉะนั้นคดีลักษณะนี้จึงจำเป็นต้องรัดกุมและละเอียดรอบคอบมากขึ้น เพราะฉะนั้นการทำงานของตำรวจก็ต้องชัดเจนทุกประเด็น ทุกคดีต้องยืนยันได้ 100% ว่าผิด และข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถนำมาเปิดเผยกับสื่อได้ ต้องบอกว่า การทำงานของตำรวจชุดนี้ค่อนข้างละเอียดและเก็บเป็นความลับจริงๆ นี่จึงเป็นผลกระทบกับสื่อ
เมื่อถามถึงข้อสังเกตจากสังคมถึงทิศทางตำรวจนครบาล กับ รอง ผบ.ตร.ก็ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในมุมของคนข่าวคิดว่าแนวโน้มของคดีจะไปจบอย่างไร ทัศนีย์ ระบุว่า ตอนนี้ตำรวจนครบาลก็ต้องปกป้องตัวเอง เพราะเค้ารู้ว่าคดีนี้ไม่ธรรมดา สิ่งที่ตำรวจทำได้ คือต้องส่งให้หน่วยงานอื่นที่มีศักยภาพ มีความรู้ด้านกฎหมายเข้ามาช่วย ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฟอกเงิน มาตรการยึดทรัพย์ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด องค์กรที่ดูเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงอัยการสูงสุด ที่ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่สอบสวนร่วมกับตำรวจ รวมไปถึงด้านของผู้เปิดเผยอย่างชูวิทย์ ก็เดินหน้าเต็มที่ไปถึงกระทรวงยุติธรรม ให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ เชื่อว่าคดีนี้น่าจะไปสุดทาง แต่สุดท้ายแล้ว ก็ต้องลุ้นว่าจะดำเนินคดีได้แค่ไหน กรณีนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะไม่เป็นแบบคดีทัวร์ศูนย์ เหรียญ
จุดยากคดีเกี่ยวพันคนดังในการเมือง
ด้านเอกรัฐ ตะเคียนนุช นักข่าวที่เกาะติดคดีนี้เพื่อเจาะลึก ระบุถึงความยากของการทำข่าวคดีนี้ว่า จุดยากในคดีนี้เนื่องจากเป็นคดีอาชญากรรมที่มีแง่มุมทางการเมืองซ่อนอยู่ ช่วงแรกที่ถูกเปิดข้อมูล มีกระบวนการที่ไปพาดพิงอดีตรัฐมนตรี อดีตนักการเมือง แต่หลังจากนั้น ประเด็นนี้เหมือนถูกตัดทิ้งออกไป
เมื่อถามถึงในแง่สื่อทีวีต้องใช้ทั้งภาพทั้งเสียในการนำเสนอ การหาข้อมูลและภาพเพื่่อตามถึงร่องรอยในคดี รวมทั้งการสัมภาษณ์แหล่งข่าวยากหรือไม่ เอกรัฐ ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะการติดตามข่าวนี้ ต้องตามทั้งส่วนที่เป็นต้นทางข้อมูล คือ ชูวิทย์แล้วมารีเช็คทั้งสองฝั่งคือตำรวจ ขณะนั้นก็ได้เพียงข้อมูลรูทีน หรือข่าวรายวัน จากการแถลงของรอง ผบ.ตร.
สำหรับผม จะใช้วิธีการคือไปหาแหล่งข่าวที่อยู่ในภาคส่วนของกลุ่มสีเทาๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องใช้คำว่าโชคดี ที่อย่างน้อยไปได้แหล่งข่าวคนหนึ่งที่สามารถรีเช็คข้อมูลได้ เพราะเจ้าตัวเป็นคนที่ทำอาชีพสีเทาๆ คลุกคลีเป็นลูกน้อง ลูกจ้างของกลุ่มทุนจีน ตั้งแต่เป็นกลุ่มทุนสีขาวยังไม่เทา ช่วง 16-17 ปี ตรงนี้จึงได้รีเช็คอย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่า กลุ่มทุนจีนแบบนี้ไม่ได้เข้ามาอยู่ในไทยเพียงแค่ 2 สองเดือนตามที่มีข่าวปรากฏอย่างแน่นอน จึงเป็นจุดหนึ่งที่เห็นหลักฐานสำคัญว่า มันถูกหมกเม็ดปิดบังมานาน อันนี้เป็นจุดหนึ่ง ที่เราก็ต้องแยกไปเจาะตามเส้นทางของกลุ่มทุนสีเทา เป็นแนวทางหนึ่งที่เราต้องไปหาแหล่งข่าวที่ทำหน้าที่อยู่จริงๆ และยอมรับตรงไปตรงมา
วีธีการหาข้อมูลหาแหล่งข่าวไต่ลวดจริยธรรม
เมื่อถามถึงมุมในการหาข้อมูล เทียบกับคดีดังในต่างประเทศ อย่างคดีวอเตอร์เกต ปี 1970 หลาย 10 ปีที่ผ่านมา ยุคอะนาล็อกไม่มีอุปกรณ์สื่อสารทุกวันนี้ เทียบยุคนี้ ความสุ่มเสี่ยงในการละเมิดจริยธรรมในการหาข้อมูล เปรียบเทียบการคดีทุนจีนสีเทา การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน การฝึกอบรมของสมาคมวิชาชีพ นำมาใช้กับคดีนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เอกรัฐ ยืนยันว่า การทำข่าวสืบสวนสอบสวน ก็ยังต้องใช้แนวทางเดิมอยู่ เพียงแต่ว่ามีความยากของมันที่จุดเริ่มต้น ที่ครอบคลุมทางการเมืองบางอย่าง ที่ต้องใช้ความพยายามสูงมากกว่าเดิม
วิธีการไปพูดคุย หลักการของเราต้องไม่ละเมิดจริยธรรม แต่รอบนี้ต้องไต่เส้นลวดเส้นสุดท้าย ถ้าไม่ไต่ลวด เกาะรั้วเลย ก็จะได้ข้อมูลแค่สองฝั่ง ระหว่างชูวิทย์ กับตำรวจ มีอยู่แค่นี้ ดังนั้นหลักการต่างๆ ที่เราทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของเดิมก็ยังใช้อยู่ แต่ต้องขยับเพดานขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง ก่อนที่จะทะลุเส้นลวดตรงนั้น เป็นจุดที่ยากสมควร ซึ่งความยากของมันที่ถูกการเมืองคลุมอยู่
เมื่อถามถึงในมุมการทำงานของตำรวจ ที่ถูกตีความเป็นว่าการทำงานไม่ชอบมาพากล แต่นักข่าวก็ไม่ค่อยตามประเด็นนี้เท่าไหร่ เอกรัฐ มองว่า สำหรับตัวเขาเอง เป็นนักข่าวสายการเมือง ที่ไม่ได้มีความสนิทสนมกับตำรวจมากนัก การทำงานจึงอาจง่ายกว่านักข่าวประจำสายตำรวจ ที่ไม่ต้องเกรงใจมากนัก อย่างประเด็นที่แถลงข่าวแล้วขัดกันเองระหว่างตำรวจ เช่นกรณีจะทำเป็นคดีอาชญากรรมข้ามชาติหรือไม่
เอกรัฐ ระบุว่า มี 2-3 ประเด็นถ้ามองจากนักข่าวสายการเมือง จะเห็นว่ามีกลิ่นการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อมีข้อสังเกตว่าเหตุใดที่คดีทุนจีนนี้ มาเกิดในช่วงปลายเดือนตุลาคม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นหากย้อนกลับไปมีกรณีการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม2564 ที่ กกต.เผยแพร่ข้อมูลให้รู้ว่าใครบริจาค แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นมานานแล้ว
ผมมีโอกาสได้คุยกับแหล่งข่าวหลายคนที่เป็นตำรวจในชั้นปฏิบัติการ จริงๆ เจ้าหน้าที่ก็ทราบมาตลอดว่า กลุ่มทุนจีนแบบนี้มีมานานในไทย มีมาตลอดแต่มันไม่ได้ถูกจัดการ ไม่ได้ถูกพูดถึง ถูกปล่อยระยะเวลามาจนถึงช่วงเดือนตุลาคม 65 ซึ่งมันก็มีนัยทางการเมืองผสมอยู่ในห้วงเวลาแบบนี้จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่กำลังนับถอยหลัง อันนี้จุดหนึ่งที่นักข่าวสายการเมืองมองเข้าไปเป็นช่องโหว่ที่ตามเจาะได้เหมือนกัน
คดีมีโอกาสลากยาว-จุดจบลุ้นขั้วการเมือง
อีกข้อสังเกต ที่เอกรัฐ เห็นว่า เมื่อมีชื่อของนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็หายไป ในช่วงหนึ่งเดือนที่แล้ว แม้จะตามเจาะเรื่องนี้โดยไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่เราก็ชี้ให้เห็นกระบวนการที่เชื่อมโยง ตั้งแต่เรื่องเงินบริจาค เราต่อจิ๊กซอว์ตั้งแต่ตอนนั้น ก็พอจะมองเห็นภาพช่วงการบริจาคเงิน เป็นช่วงที่เป็นผู้บริหารชุดไหนเป็นใคร ซึ่งก็ต้องระมัดระวัง เพราะไม่ได้หมายความว่า การรู้จักกันกับกลุ่มทุนจีน จะเป็นสิ่่งที่ผิดกฎหมาย หรือสีเทาทั้งหมด เพียงแต่ว่าตอนนั้น สายการเมืองเราเล่นหนักเรื่อยๆ และในช่วงเดือนตุลาคม นักการเมือง ก็จะใช้วิธีการอัดคลิปออกมา หลังจากจุดตรงนั้น เรื่องก็หายไปนับตั้งแต่ตอนนั้นเลย แม้จะติดตามตรวจสอบเรื่องนี้เพิ่มเติม ในแง่มุมของบริษัทที่บริจาคที่ธุรกิจ 12-13 บริษัทใน 20- 21 ของบริษัทที่ขาดทุนระดับ 500-600 ล้านบาท แต่สามารถบริจาคเงินก้อนใหญ่ 3 ล้านบาทให้พรรคการเมืองได้ ซึ่งการนำเสนอก็ได้กระทุ้งไปที่ กกต.แต่ที่สุดก็เงียบไปเช่นกัน
บทสรุปของคดีนี้จะเป็นอย่างไร เอกรัฐ มองว่า คงเป็นหนังม้วนยาว ในคดีที่เกี่ยวข้องกับทุนจีนแบบนี้เราก็เคยมีบทเรียนเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญมาแล้ว กระทั่งมีการยึดทรัพย์ต่างๆ แต่ปลายทางกลายเป็นหนังคนละม้วนไปเลย ซึ่งมันก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่หลายๆ ส่วนคงระมัดระวังตัว ในการที่จะปล่อยข้อมูลออกมา อ้างเรื่องข้อมูลในสำนวนไม่อาจนำมาเผยแพร่ได้ แม้บางเรื่องควรพูดได้มากกว่านั้นด้วยซ้ำ ก็เข้าใจมุมนี้ของเจ้าหน้าที่ เพราะฉะนั้นในแง่การทำข่าว ก็คงต้องจับตาเป็นระยะ
ทิศทางเรื่องนี้ อาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองประกอบไปด้วย หรือกระทั่งไปประกบคู่กับการถอยหลังสู่การเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำว่าทิศทางจะออกมาอย่างไรหรือจะจบลงในลักษณะแบบไหน คงเป็นเรื่องยาว หากโยกย้ายเปลี่ยนขั้วสลับข้างของนักการเมืองที่ถูกพูดถึงในคดีนี้ ก็อาจจะมีแง่มุมการเมืองที่ร้อนแรง ดังนั้นจึงฟันธงได้ว่าคดีทุนจีนสีเทา และตู้ห่าว มีความเชื่อมโยงกับทางการเมืองค่อนข้างสูง และอาจจะเป็นสิ่งกำหนดทิศทางในการดำเนินคดีด้วยซ้ำ ก็เพราะตำรวจเองก็เป็นข้าราชการที่ถูกกำกับดูแลด้วยการเมือง เพราะฉะนั้นก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการทำคดีต่างๆ มันก็มีทิศทางที่จะไปแบบไหน อย่างไร พอสมควร
สื่อต้องทำการบ้าน ทำงานเป็นทีม
ในมุมมองของนักวิชาการ ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข เห็นสอดคล้องว่าค่อนข้างยากมาก ในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ เนื่องจากมีความเปราะบางเกี่ยวพันกับในหลายๆ เรื่องที่ตัวผู้สื่อข่าวเอง จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ นำเสนอต้องมั่นใจในข้อมูลหลักฐาน ไม่ใช่เพียงรายงานสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามันใช่
อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวลักษณะนี้ ทักษะ ความรู้ ความสามารถของผู้สื่อข่าว ถือว่าจำเป็นมาก ไม่ใช่สื่อจะส่งนักข่าวคนไหนก็ได้ไปทำข่าว ต้องคัดเลือกอันดับแรก ตรงนี้ถือเป็นจุดที่สำคัญมาก อย่างน้อยที่สุด คนที่เข้าไปทำข่าวนี้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกลุ่มทุนจีนมาก่อน ต้องศึกษาเรื่องนี้ให้มากพอสมควรเพราะกลุ่มทุนจีนมีเรื่องราวยาวนาน หากส่งผู้สื่อข่าวไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็จะเหมือนถูกตัดตอน อาจเข้าไม่ถึง อาจตกเป็นเหยื่อไปในด้านใดด้านหนึ่งได้ง่ายๆ ฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่องค์กรจะต้องส่งมืออาชีพมีทักษะความรู้ความสามารถจริงๆ
คดีนี้มีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อไหร่ก็ตามถ้าเราไม่เข้าใจลึกซึ้งในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นมาเลย แล้วมาจับเอาตอนปลาย ก็ยากมาก ในแง่ความเป็นสื่อสารมวลชนที่เรามีหน้าที่ต้องทำเพื่อสังคม เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เราละเลยไม่ได้ เพียงแต่องค์กรต้องให้ความสำคัญ อยากให้การทำงานออกมาในลักษณะการทำงานเป็นทีมลักษณะกองบรรณาธิการ ไม่ใช่ปล่อยเดี่ยวๆ แล้วค่อยกลับมารายงาน มันไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่ ในการรายงานรูทีนแต่ละวัน ที่ไม่มีข่าวเจาะลึกเชิงสืบสวนสอบสวน
ในแง่ของเบาะแสข่าว ก็ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ที่เราควรระมัดระวัง หากเราไปหลงเชื่อแหล่งข่าวที่มีชื่อเสียง ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย อาจทำให้เราไขว้เขว นำเสนอไปในทิศทางที่่อาจจะไม่ชัดไม่เคลียร์
ผศ.ดร.บุปผา มองว่า ตอนนี้ดูเหมือนสื่อจะเซฟตัวเองค่อนข้างมาก ไม่ได้ขุดคุ้ยเจาะลึก ไม่ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลจริงๆ หากเข้าไปถึงข้อมูลลึกๆ คดีตู้ห่าว อาจจะได้ประเด็นที่หลากหลายมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการทำงาน และทางออกของสื่อกรณีที่เป็นข่าวสืบสวนสอบสวน เห็นว่าทั้งองค์กรต้องทำงานเป็นทีม ทำเดี่ยวๆ ไม่ได้ คดีอย่างนี้ทุกคนต้องร่วมกันหาข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง ต้องประชุมพูดคุยกัน หัวหน้ากองบรรณาธิการที่เคยมีประสบการณ์ในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนมาก่อน อาจจะต้องเป็นพี่ใหญ่ให้กับน้องๆ ต้องถ่ายทอดประสบการณ์ ทำงานกันเป็นทีม
นักข่าวมากประสบการณ์ควรถ่ายทอดรุ่นใหม่
หรืออาจจะต้องการนักวิชาชีพที่เคยผ่านกระบวนการทำงานเชิงสืบสวนสอบสวนเข้ามาช่วยถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในการทำงานสืบสวนสอบสวนให้กับนักข่าวรุ่นใหม่ อาจจะเป็นอีกทางออกหนึ่ง ที่จะช่วยให้วิชาชีพของเราเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นเรื่องธุรกิจ ซึ่งทุกวันนี้ก็เข้ามามีผลต่อวิชาชีพเราค่อนข้างมาก
ลักษณะการทำงานเป็นทีมในสื่อ ก็เป็นประโยชน์ในแง่ที่สื่ออาวุโสจะได้ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำงานไปพร้อมกับเด็กรุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้ เพราะจากสถาบันการศึกษาอย่างเดียวคงไม่ได้ ได้แค่หลักการ ให้เด็กมีจิตสำนึกแต่ในแง่การทำงานจริงต้องอาศัยนักวิชาชีพ
อีกแง่มุมในการทำข่าวนี้ สื่อต้องศึกษาเรื่องของกฎหมายให้ดี ประเด็นกฎหมายก็มีผลต่อเรื่องนี้หากไม่มีทีมกฎหมายมาสนับสนุน ก็อาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ไม่กล้าทำอะไร เพราะมีความเสี่ยงสูงอยู่เหมือนกันหากไม่เข้าใจกฎหมาย ที่สำคัญ องค์กรก็ต้อง Support ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย เพราะว่าเรื่องนี้มีคนที่เกี่ยวข้องหลากหลายวงการคนที่มีชื่อเสียงระดับชาติ องค์กรไม่ให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็อาจจะทำให้การทำงานไม่สำเร็จ
++++++++++++++++++