ย้อนเส้นทางร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อ ระหว่างลุ้นการพิจารณาในสภาฯ ตัวแทนองค์กรสื่อเปิดที่มาทุกขั้นตอน การต่อสู้คัดค้าน การมีส่วนร่วมเสนอ แก้ไขร่าง ก่อนตกผลึก ตัดเนื้อหากำกับดูแล ควบคุมสื่อ สุดท้ายกระบวนการตรวจสอบไม่มีอำนาจลงโทษสื่อที่กำกับดูแลกันเอง ชวนอ่านรายละเอียดทุกมาตรา ที่ใช้มาตรการสังคมลงโทษ ชี้แค่ประณามก็รุนแรง
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 3 ธ.ค. 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. นำเสนอเรื่อง “เมื่อรัฐสภาบรรจุร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ เข้าสู่การประชุม” เป็นการสนทนาของผู้เกี่ยวข้องในองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านการควบคุมสื่อ และให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ จนปรากฎเป็นเนื้อหาในปัจจุบัน ประกอบด้วย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายเทพชัย หย่อง อดีตประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์
เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา วันที่ 29 พ.ย.2565 หลังจากผ่านมาเกือบปี ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสื่อมวลชนติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกพิจารณาในสภาทันวาระนี้หรือไม่ ที่สำคัญข้อกังวลขององค์กรสื่อ คือเมื่อร่างพ.ร.บ.เข้าสู่สภาแล้ว จะทำอย่างไรให้คงหลักการนี้ไว้ ไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระอีก
เส้นทางกว่าจะมาเป็นร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …ที่ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมีส่วนร่วมในการยกร่าง โดยยึดหลักการต้องไม่จำกัดเสรีภาพ กระทบการทำหน้าที่ของสื่อ จนตกผลึกมาเป็นเนื้อหาในปัจจุบันนี้
โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระบุว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายสื่อมวลชนหรือ Press Law เหมือนกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน อย่าง อินโดนีเซีย เมียนมา ติมอร์เลสเต ที่ใช้แนวคิดเรื่อง Press Council ทำกฎหมายสื่อขึ้นมา เพราะเรามีระบบการกำกับดูแลกันเอง โดยไม่มีกฎหมายรองรับ เราตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2540 ขณะนั้นก็มีความพยายามที่จะเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีสภาที่เป็นไปตามกฎหมาย และองค์กรสื่อในขณะนั้นได้ร่วมกันคัดค้าน เพราะเกรงว่าจะมีการแทรกแซง
ประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น มีการเสนอกฎหมายเกี่ยวกับสภาสื่อมวลชน สภาหนังสือพิมพ์ มาหลายครั้ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่พยายามเข้ามาควบคุมสื่อ แต่ก็ถูกคัดค้าน และเราไป Commit กับกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ว่าเราจะกำกับดูแลกันเอง กระทั่งตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ขึ้นมาได้ เมื่อปี 2540 โดยมีอาจารย์มานิจ สุขสมจิตร เป็นประธานฯ คนแรก
เราอยู่แบบนี้เรื่อยมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เรากำกับดูแลกันเองไม่ได้ เผชิญปัญหา บางองค์กรที่ไม่อยากถูกกำกับ ก็ไม่เป็นสมาชิก บางองค์กรเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วเกิดปัญหา มีกระบวนการสอบสวน ตรวจสอบจริยธรรม เมื่อไม่พอใจการทำงานของสภาฯ ก็ลาออกไป เหล่านี้เป็นจุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ว่าเรากำกับดูแลกันเองไม่ได้ ไม่ทั่วถึง ใครทำผิด ก็ทำได้แค่ตำหนิ ตักเตือน ตีพิมพ์คำวินิจฉัยว่าละเมิดจริยธรรม ไม่สามารถไปเอาผิดอะไรได้
เราก็ยืนยันหลักเรื่องของการกำกับดูแลกันเองมาตลอด จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียน ให้มีสภาสื่อที่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว แต่เราจะเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 คือมาตรา 41 ที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญประเทศไหนในโลกที่เขียนเฉพาะเจาะจงว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าว และแสดงความคิดเห็นตามหลักจริยธรรม คือถ้าเป็นสื่อ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ถ้าเราทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรม เราก็จะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะอยู่ในสื่อเอกชน หรือสื่อของรัฐ อันนี้เขียนไว้กว้างๆ
ตอนนั้นจึงมีการถกเถียงกันว่า ควรจะมีกฎหมายลูกหรือไม่ อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะเลขาฯ คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเคยมาพูดที่สมาคมนักข่าวฯ บอกว่าโดยส่วนตัวคิดว่าควรจะมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ค่อยมั่นใจว่า จะเขียนอย่างไร เพราะในส่วนของภาครัฐไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่ถ้าเป็นเอกชนจะเขียนอย่างไร
จนกระทั่งปี 2553 ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรานี้ เนื้อหาเดียวกัน ไปปรากฎอยู่ในมาตรา 46 เนื้อความใกล้เคียงกัน ยังคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ในเรื่องของการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น ภายใต้กรอบจริยธรรม ก็ยังไม่มีใครพูดถึงอีกว่า จะมีกฎหมายลูกอีกหรือไม่
จนกระทั่งหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2553 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ หลังมีการกระชับพื้นที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็บอกว่าเราจะต้องมีการปฏิรูป และเรื่องสื่อก็น่าจะทำ คือทำอย่างไรที่จะคุ้มครองสื่อตามรัฐธรรมนูญ จึงมอบหมายรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาคุยกับองค์กรสื่อในเวลานั้น และตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายขึ้นมา ชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน วัตถุประสงค์คือ ต้องการขยายความมาตรา 46 เรื่องของการคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ
ตอนนั้นก็ยกร่างกัน โดยมีอาจารย์มานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน และก็มีองค์กรที่เกิดขึ้นมา ตามกฏหมายฉบับนั้น คือคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งทางรัฐบาลอภิสิทธิ์ บอกว่ายินดีที่จะให้มีกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ก็อยากให้มีส่วนที่เกี่ยวข้องว่า จะคุ้มครองผู้บริโภคสื่ออย่างไร กรณีที่สื่อกระทำการละเมิดจริยธรรม
ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ก็มีการพูดถึงกรณีที่มีการร้องเรียน การปฎิบัติหน้าที่ละเมิดจริยธรรมของสื่อ มีการเขียนไว้ เป็นส่วนประกอบหนึ่ง แต่หลักใหญ่คือการคุ้มครองเสรีภาพสื่อ กฎหมายนี้ก็ผ่าน ครม. แล้วส่งไปที่กฤษฎีกาคณะที่หนึ่ง ซึ่งมีอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เราก็ไปร่วมพิจารณาด้วย ทั้งอาจารย์มานิจ และตนก็ไป มีการถามกันว่าแต่ละมาตราขัดหลักการเสรีภาพสื่อหรือไม่ ก็ทำจนเสร็จ แต่ยังไม่ทันได้เสนอกลับมาที่ ครม.ก็บสภาเสียก่อน
ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามา ปี 2554 ตอนนั้นองค์กรวิชาชีพสื่อเราก็คุยกัน ว่าควรทวงกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ควรจะไปผลักดันต่อหรือไม่ ซึ่งขณะนั้นตนเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ แล้วเราก็มีมติร่วมกัน ระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อ 3-4 องค์กรว่า อย่าดีกว่า การไม่มีกฎหมายก็ไม่เดือดร้อนอะไร และคิดว่ารัฐบาลเพื่อไทย ถ้าเราเสนอกฎหมาย อาจจะไปเพิ่มการควบคุมอะไรเข้ามา จึงตัดสินใจไม่ผลักดันต่อ และสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้
จนกระทั่งมีการรัฐประหารในปี 2557 มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. ให้ปฏิรูป 13 ด้าน หนึ่งในนั้นมีเรื่องสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย คณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศของ สปช.ก็หยิบยกปัญหาเรื่องของการกำกับดูแลกันเองของสื่อขึ้นมาเป็นประเด็น และคิดว่าควรจะมีกฎหมายบางอย่างที่เข้ามากำกับ
ตอนนั้นแนวคิดคือ กำกับดูแลกันเองของสื่อ (Regulate the Self Regulation) คือมองว่า สภาการหนังสือพิมพ์เดิมที่มีอยู่ มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ควรจะมีกฎหมายเข้ามาเสริม ให้การกำกับดูแลกันเองของสื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วก็ไปหยิบเอากฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ร่างไว้ตั้งแต่ปี 2553 มาเป็นต้นร่าง แต่กลับหลักการใหม่ ให้เน้นคุ้มครองผู้บริโภคก่อน คือให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้นมา และมากำกับดูแลองค์กรที่กำกับดูแลกันเองอยู่แล้วแบบสภาการหนังสือพิมพ์ และมีบางส่วนของกฎหมายที่ยังไปคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อมารัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีมาตรา 34 ก็พูดถึงเรื่องเดียวกัน คือการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพ
ในช่วงเวลานั้น บีบีซีไทย มาสัมภาษณ์ผม มีการเท้าความว่า องค์กรวิชาชีพสื่อค้านคัดค้านจริง ซึ่งขณะนั้นผมไม่ได้อยู่ในองค์กรวิชาชีพไหนเลย แต่ส่วนตัวก็คัดค้านมาตลอด เพราะตอนนั้นร่างของ สปช.ให้อำนาจสภาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย สามารถเข้ามาแทรกแซงสภาการหนังสือพิมพ์ได้ และสามารถมีโทษปรับองค์กรที่ไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม ผมคิดว่ามันขัดกับหลักการกำกับดูแลกันเอง
ต่อมา ผมเข้ามาเป็น ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ ปี 2558-2559 ก็ชักชวนพรรคพวกในองค์กรวิชาชีพไปคัดค้าน จนกระทั่งหมดวาระของ สปช.พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่าน เรื่องนี้ก็ถูกส่งต่อไปที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็เอาเรื่องนี้ไปทำต่อ ต่อยอดในบางประเด็น เช่น เติมว่าสื่อมวลชนต้องไปขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมทั้งใส่เรื่องเอาตัวแทนของรัฐเข้ามา 3-4 คนเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ตอนนั้นองค์กรสื่อก็ร่วมกันคัดค้านว่า กฎหมายแบบนี้ออกมาไม่ได้แน่นอน สปท.ก็ยอมถอยบางส่วน เอาเรื่องใบอนุญาตออก เอาเรื่องมีตัวแทนรัฐเข้ามา ก็มีบทเฉพาะกาล 5 ปี โดยหลังจาก 5 ปีก็ไม่มีแล้ว ซึ่งเราก็ยังคัดค้านอยู่
เมื่อ สปท.หมดวาระ ส่งเรื่องนี้ให้รัฐบาล ตอนนั้นมีรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ก็ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ก็นำเรื่องนี้มาดูต่อ แต่ขณะนั้นรัฐบาล หรือคณะกรรมการปฏิรูป ไม่แน่ใจ ก็ส่งเรื่องนี้ให้ทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ระยะเร่งด่วน เพราะถือเป็นกฎหมายปฏิรูป โดยให้จัดทำร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา บอกว่าให้ส่งให้กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 6 เม.ย.2561 เป็นหน่วยธุรการในการจัดทำร่างกฎหมาย จากนั้น 24 ก.ค. ก็ตั้งคณะทำงานจัดทำร่างขึ้นมา
ตอนนั้นกรมประชาสัมพันธ์โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีในขณะนั้น มาทาบทามองค์กรวิชาชีพ รวมทั้งอาจารย์มานิจ สุขสมจิตร มาเป็นประธานยกร่างกฎหมายนี้ด้วย ตอนนั้นเราไม่แน่ใจ และคัดค้านว่าถ้าจะมีกฎหมายแบบที่ สปท.เสนอ อย่ามีดีกว่า แต่รัฐบาลคงคิดว่าไหน ๆ ก็ทำกันมาแล้ว ฉะนั้นฝ่ายสื่ออยากจะทำกฎหมายแบบไหน ก็มายกร่างกัน
จริงๆ เราเสนอร่างคู่ขนาน ประกบไปกับ สปช. สปท.ตั้งแต่แรก ซึ่งเค้าก็ให้มาร่างใหม่หมดเลย โดยไม่ต้องไปสนใจร่างเดิม ทางสื่ออยากได้อย่างไรร่างมาเลย โดยกรมประชาสัมพันธ์จะเป็นหน่วยธุรการ ตอนแรกเราก็คุยกันว่า กรมประชาสัมพันธ์ภายใต้รัฐบาล คสช. ซึ่งยังไม่ได้เลือกตั้งปี 2561 มีอะเจนด้าอะไรหรือไม่ อยากจะคุมสื่อหรือไม่ เราก็เข้าไปดูท่าทีก่อน วันนั้น จึงได้ถามอธิบดีสรรเสริญ ถึงการทำกฎหมายนี้ ได้รับใบสั่งจากคสช.หรือไม่ อธิบดีก็ยืนยันว่าไม่มี และพร้อมเป็นหน่วยธุรการ อำนวยความสะดวกให้อย่างเดียว
“เราจึงเริ่มจัดทำตรงนั้นขึ้นมา ใช้เวลาหลายเดือน ไปรับฟังความคิดเห็นตามภาคต่างๆ รวมทั้ง กทม.ด้วย จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย เมื่อตัวร่างเสร็จ ก็ส่งไปที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วน โดยในร่างที่คณะกรรมการจัดทำร่างที่เสนอไป ก็ยังมีเรื่องของการลงโทษสื่อที่ละเมิดจริยธรรม คือหากถูกสั่งให้ไปแก้ข่าว แต่ไม่ยอมทำ ก็ยังสามารถปรับได้ แต่ต้องไปปรับกับคนที่ไม่ใช่สมาชิกขององค์กรกำกับดูแลกันเองที่มีอยู่แล้ว”
ยกตัวอย่าง เช่น หนังสือพิมพ์ไหนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น แล้วไปละเมิดจริยธรรม แล้วถูกร้องเรียนไปยังสภาวิชาชีพตามกฎหมาย สภาฯ สามารถลงโทษ โดยมีโทษปรับได้ ร่างที่ส่งไปเป็นแบบนี้ ทั้งนี้ สาเหตุที่เรายอม เพราะคิดว่า ยังรักษาหลักการกำกับดูแลกันเองได้อยู่ คือถ้าเราอยากจะได้รับการคุ้มครองเรื่องการกำกับดูแลกันเอง ก็มาเป็นสมาชิกของสภาที่กำกับดูแลกันเอง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสภาการหนังสือพิมพ์ หากตั้งสภาขึ้นใหม่ก็ได้ แต่ขอให้มีระบบการกำกับดูแลกันเอง แล้วสภาสื่อตามกฎหมายจะมาแทรกแซงไม่ได้ ยกเว้นคนที่ไม่ยอมถูกกำกับดูแล อันนั้นก็จะถูกกำกับดูแลโดยตรงจากสภาตามกฎหมายที่ตั้งขึ้นมา
โชคดีที่ คปก.พิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้อำนาจของสภาวิชาชีพทางกฎหมายไปปรับเค้าไม่ได้ ต้องเอาโทษนี้่ออก สุดท้ายก็เห็นว่าเป็นเรื่องดี คือไม่มีโทษอะไรเลย ที่จะมากำกับ หรือทำให้สื่อไม่มีเสรีภาพ แม้แต่การลงโทษด้วยวิธีไหน เพราะเป็นการลงโทษทางสังคม ซึ่งเราก็ยอมรับได้
คปก.ก็ส่งเรื่องนี้ให้ ครม.เมื่อ 18 ธ.ค.2561 ครม.ก็รับหลักการ และส่งให้กฤษฎีกา ซึ่งกฤษฎีกาก็ตั้งคณะพิเศษ มีอาจารย์มีชัยเป็นประธาน ก็เชิญพวกเราไปทุกครั้งเหมือนเดิม กฎหมายนี้มีการพิจารณาในกฤษฎีการะหว่าง 26 ก.พ.- 11 มิ.ย.2562 พิจารณาเสร็จแล้ว ก็ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จนกระทั่ง 7 ก.พ.2563 ผ่านไปครึ่งปีกว่า กฤษฎีกาก็กลับมาถามว่า จะยืนยันร่างกฎหมายนี้หรือไม่ ก็ใช้เวลาอีกจาก ก.พ.- 22 ก.ย.2563 ครม.ถึงรับทราบร่างที่กฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว ผ่านไปปีกว่า เมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว ก็มีมติให้ส่งเรื่องให้วิปรัฐบาล (คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล) ไปดูว่า กฎหมายนี้ควรจะเสนอไหม
ต่อมา 4 พ.ย.2563 วิปรัฐบาลก็เชิญกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะผู้เสนอร่างไปชี้แจง หลังจากนั้นก็มีข้อสังเกตกลับมาหลายเรื่อง ก็ส่งกลับไปให้ ครม. พิจารณา 9 ก.พ.2564 ผ่านไปอีกหลายเดือน ก็รับทราบผลการพิจารณาของวิปรัฐบาล และให้กรมประชาสัมพันธ์กลับไปพิจารณาใหม่ กรมก็เชิญตัวแทนองค์กรสื่อหลายคนที่เกี่ยวข้อง เข้าไปสอบถามอีกครั้งว่า มีอะไรจะแก้ไขตามข้อสังเกตของวิปรัฐบาล
เช่น ทำไมไม่มีโทษอะไร ทั้งการปรับ จะเพิ่มได้หรือไม่ ทางเราก็ยืนยันไปว่าไม่มีโทษอย่างนี้ดีแล้ว ยังคงหลักการกำกับดูแลกันเองอย่างนี้ ก็ส่งกลับไปกรมประชาสัมพันธ์ กรมฯ ก็ยืนยันเรื่องนี้กลับไปที่สำนักเลขาธิการสำนักนายกฯ เมื่อ 2 พ.ย.2564 ล่าสุดเมื่อวัน 11 ม.ค.2565 เรื่องเข้าสู่ ครม.อนุมัติหลักการยืนยันตามที่เสนอกันไป ก็เป็นตัวร่างกฎหมายนี้
สื่อรวมตัวต้านกฎหมายควบคุมทุกยุค
มานิจ สุขสมจิตร อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่รับร่างนี้ว่า คราวนี้เป็นโอกาสดีของสื่อมวลชน ที่กฎหมายเดินหน้ามาเกือบเข้าสภาแล้ว อย่างที่คุณชวรงค์ปูพื้นมาอย่างละเอียด พวกเราคงจะเข้าใจการกำกับดูแลกันเอง ที่เราทำมา มันไม่บรรลุผลอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นก็จำเป็นต้องมีกฎหมายอันนี้ ซึ่งตามความจริงแล้ว พวกผมหลายๆ คน ทั้งคุณชวรงค์ คุณประดิษฐ์ คุณเทพชัย คุณสุทธิชัย หยุ่น เราไม่อยากมีกฎหมายเลย พวกเราได้ต่อสู้เรียกร้องกฎหมายที่ควบคุมหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 มาถึง ปร.42 มาถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ของจอมพลสฤษดิ์ ปร.42 ของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ พวกเรารณรงค์ให้ยกเลิกมาแล้วทั้งนั้น เพราะมันกดขี่ ขัดขวางการใช้เสรีภาพของพวกเรา
เพราะฉะนั้น ขอให้เชื่อถือว่า พวกเราไม่ไปเอาห่วงอะไรมาใส่คอให้มันลำบาก ที่ผมบอกว่าเป็นโอกาสอันดี เพราะมันเดินมาผ่านฉลุยอย่างที่คุณชวรงค์เล่า ซึ่งหลายคนอาจจะมีคำถามว่า แล้วทำไมไม่เหมือนสภาวิชาชีพอื่น อย่างแพทย์ ทนายความ ที่จะต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง ผมเรียนว่า การทำอย่างนั้นเป็นการใช้อำนาจรัฐ เมื่อใช้อำนาจรัฐ คนของรัฐจะต้องเข้ามาอยู่ด้วยในคณะกรรมการนั้น ซึ่งเรายอมไม่ได้ ซึ่งสภาทนายความ เราอยู่ข้างนอกเราไม่เห็นหรอกว่า คนของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งสภาทนายความมี รมว.ยุติธรรมเป็นสภานายกพิเศษ มีอำนาจวีโต้คำตัดสินของสภาทนายความได้ เหมือนแพทยสภาอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นอาชีพนักหนังสือพิมพ์ อาชีพสื่อมวลชน ถ้ายอมให้คนของรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บรรลัยเลย เขาจะสามารถใช้อำนาจอิทธิพลต่างๆนาๆ นั่นประการหนึ่งที่อยากจะเรียนท่านทั้งหลาย
แนะอ่านรายละเอียด อย่าตัดสินจากใครเสนอ
อีกเรื่องที่อยากจะเรียน เราอย่าไปตัดสินหนังสือแค่ดูจากปก อันนี้ผมขอเพิ่มว่า อย่าไปตัดสินหนังสือจากการดูว่า ใครเป็นคนเสนอ คือเรื่องนี้คนเห็นว่ากรมประชาสัมพันธ์เป็นคนเสนอ ก็ตกใจกันใหญ่ เพราะกรมประชาสัมพันธ์คือรัฐบาล เป็นคนเสนอ อย่างที่คุณชวรงค์ระบุถึงอธิบดีสรรเสริญ แก้วกำเนิด ตั้งแต่วันแรก พวกเราถามว่า รัฐบาลมีคำสั่งพิเศษอะไรมาหรือไม่ คุณสรรเสริญบอกว่าไม่มี และท่านก็ไม่ค่อยออกความเห็น นอกจากทำหน้าที่ฝ่ายธุรการ คอยสนับสนุน จะเอาอะไร จะไปทำประชาพิจารณ์ที่ไหน พร้อมสนับสนุนเต็มที่
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าคนที่เห็นชื่อ เห็นหน้าปก ก็ออกมาคัดค้าน เลยอยากจะให้อ่านรายละเอียดเสียก่อน อ่านแล้วก็จะเข้าใจว่า เรื่องนี้นอกจากจะเป็นการกำกับดูแลกันเองแล้ว ยังเกิดประโยชน์กับประชาชน กรณีที่ประชาชนถูกกระทำได้รับผลกระทบต่อการเสนอข่าว เสนอความเห็นของสื่อมวลชน ซึ่งทุกวันนี้พูดกันเสมอว่า ถ้าเป็นสื่อที่มีองค์กรเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เขาสามารถไปดำเนินคดีได้ แต่ถ้าเป็นสื่อปัจเจกบุคคล พวกโซเชียลมีเดียทั้งหลาย จะไปทำอย่างไรได้ อันนี้แหละ กฎหมายจะช่วยคุ้มครองท่านได้เลย เพราะฉะนั้นผมก็ขอชักชวนให้เพื่อนๆ ทั้งหลาย ที่ยังกังขาอยู่ กลับไปย้อนอ่านรายละเอียดของร่างกฎหมายแต่ละมาตรา
เสียงข้างน้อยคัดค้าน-เผชิญแรงกดดัน
ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ซึ่งเข้าไปทำหน้าที่สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยู่ในส่วนของเสียงข้างน้อย ที่คัดค้านใน สปท. ระบุว่า ช่วง สปท.เป็นสถานการณ์ที่ร้อน ความคิดในการควบคุมสื่อ หรือใช้อำนาจจัดการกับสื่อรุนแรงมาก พวกเราอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ อาจารย์มานิจ สุขสมจิตร อาจารย์จุมพล รอดคำดี อาจารย์สุกัญญา สุดบรรทัด อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พี่บุญเลิศ ช้างใหญ่ พี่วสันต์ ภัยหลีกลี้ คุณอ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาฯ โชคดีเรามีคนกลุ่มนี้ที่คอยอธิบายเรื่องคุณค่าของเสรีภาพ
เพราะฉะนั้น เวลามีจดหมายน้อยของอาจารย์เทียนฉาย (เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ) มาที่อาจารย์จุมพล ส่วนใหญ่พวกเราไม่เอาด้วย จึงสรุปประเด็นปฏิรูป อยู่ที่ 2 ประเด็น คือการกำกับสื่อที่มีประสิทธิภาพ อันนี้ฝ่ายวิชาการเป็นคนเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีกฎหมายรองรับ ก็คือการกำกับดูแลกันเอง พวกเราเป็นฝ่ายวิชาชีพ เราสู้มาถึงตรงนี้แล้ว ก็ไปไม่ได้แล้ว ก็ต้องยอมรับมติตรงนี้ 2. คือการป้องกันการแทรกแซงสื่อ 3. คือ เรื่องเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ
กรอบการปฏิรูปทั้ง 3 นี้ อยู่ในหลักของพวกเราตลอด คิดถึงสื่อมวลชนแล้วเราคิดถึงเรื่องอะไร เรื่องเสรีภาพบนความรับผิดชอบ เรื่องการป้องกันการแทรกแซงสื่อโดยรัฐ โดยทุน และเรื่องการกำกับกันเอง ขณะเดียวกัน พวกเราเองส่งอาจารย์มานิจ สุขสมจิตร ไปเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปเฝ้าระวังอยู่ในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรโณ เป็นประธาน
วันแรกๆ ของร่างที่ออกมา มีคำว่า มีการระบุในมาตราด้วยเรื่องเสรีภาพสื่อ คือเรื่องความเกลียดชัง อาจารย์มานิจส่งมาที่พวกเรา เราจึงไปคุยกับอาจารย์บวรศักดิ์ว่า ถ้าใส่คำนี้ไป จะเป็นการขยายความ เป็นการคุกคามเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง อาจารย์บวรศักดิ์ก็บอกว่า คุณต้องไปล็อบบี้คนนี้ ซึ่งเป็นคนแรงมาก ที่ต้องการใส่คำนี้ในร่างรัฐธรรมนูญ จะเล่าให้ฟังถึงการล็อบบี้เลยว่า ไปล็อบบี้ถึงในห้องน้ำกับผู้ใหญ่คนนี้ ขอให้ถอนคำนี้ออก เพราะเขาคนเดียวที่สงวนสิทธิ์คำนี้เอาไว้ เพื่อที่จะใส่คำความเกลียดชังไว้ในรัฐธรรมนูญ
กลับมาที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสภาวิชาการเสนอ ขอไม่ระบุชื่อบุคคล จำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีกฎหมายกำกับ ช่วงแรกพวกเราก็ทำแค่กรอบ หลักการ จะไม่ยกร่างเป็นรายมาตรา แต่สุดท้ายถูกกดดัน โดยเสียงข้างมากว่า ต้องร่างเป็นบทมาตรา ซึ่งพวกเราก็ยืนยันไปว่า เราไม่มีความเชี่ยวชาญร่างกฎหมาย ซึ่งกฎหมายฉบับ สปช.พี่วสันต์ ภัยหลีกลี้ จึงรับเป็นประธาน
พี่แด่น สุวรรณา สมบัติรักษาสุข เป็นเลขานุการ ชุดนี้ผมไม่ได้เป็นกรรมการ เพราะไม่ได้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราก็ร่างได้ในเวลาที่จำกัด ผมเองก็ได้ตั้งข้อสังเกตไปประมาณ 10 ข้อในร่างนี้ 3 ประเด็นว่า ร่างนี้พวกเราไม่เห็นด้วยและให้แนบข้อสังเกตของพวกเราไปกับรายงานของสปช. นี่คือที่มาที่ไปในช่วงนั้น จริงๆ พวกเราฝ่ายสื่อก็เป็นเสียงข้างน้อยด้วย ในประเด็นนี้ เพราะมันผ่านไปแล้ว
พอมายุค สปท.เป็นตัวแทนสื่อ ไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านสื่อเลย มีแต่ ดร.ประภา เหตระกูล เค้าก็เลยแบ่งเป็นอนุกรรมการปฏิรูปสื่อสิ่งพิมพ์ เจาะจงมาเลยว่าต้องปฏิรูปสื่อสิ่งพิมพ์ ดร.ประภา ก็ชวนผม พี่สุวรรณา และพี่จักรกฤษ เพิ่มพูล เข้าไปเป็นอนุกรรมการ ร่างที่พวกเราทำไป จะไม่มีเรื่องการออกใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาต ไม่มีตัวแทนอำนาจรัฐ แต่พอเข้ากรรมการชุดใหญ่ ซึ่งเป็นพวกสุดโต่ง ที่ต้องการคุมสื่อ พวกเราไปดูรายชื่อได้เลย เค้าใส่หมดพวกเราก็เลยประท้วงด้วยกันลาออกจากอนุกรรมการ และมาร่วมเคลื่อนไหวกับองค์กรสื่อโดยใช้คำว่าหยุดตีทะเบียนสื่อ สถานการณ์ช่วงนี้วงการสื่อทั้งหมด ก็ออกมาคัดค้าน จนเค้าถอยเรื่องนี้ แต่เค้าขอคงตัวแทนอำนาจรัฐเอาไว้ในร่างของ สปท.
กลับมาในยุคของกรรมการปฏิรูปสื่อ อันนี้ก็เป็นโชคดีขององค์กรสื่อ สำหรับผม เพราะเรามีกรรมการปฏิรูปประเทศซึ่งมีคุณสุทธิชัยหยุ่น พี่ธงชัย ณนคร พี่สมหมาย ปาริฉัตร อาจารย์ปาริชาติ สถาปิตานนท์ มีผม มีคุณแดง ดร.ประภา หลายคนที่เข้าใจเรื่องสื่อ พวกเราก็ช่วยกันและถกเถียงกับกรรมการปฏิรูปสื่อ สุดท้ายก็มีมติว่า เราจะไม่หยิบร่างที่เป็นปัญหาขึ้นมาพิจารณา
บทลงโทษผ่านสังคมกดดัน
เทพชัย หย่อง กล่าวว่า ถ้าเราเลือกได้ เราก็คงไม่อยากจะมีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา บรรยากาศตอนนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องดูประวัติศาสตร์มันด้วย ถึงจะเข้าใจว่า ทำไมไม่ต้องมี
“ตอนที่ร่าง บ้านเมืองยังปกครองด้วยเผด็จการเต็มรูปแบบ คำขู่ต่างๆ นาๆ ถ้าพวกคุณไม่ร่างกฎหมายขึ้นมา เราก็จะร่างให้คุณเอง ตรงนี้ผมว่าบรรยากาศแบบนั้น มันก็เป็นแรงกดดันพอสมควร ที่ทำให้คนในวงการสื่อ ซึ่งปกติก็ไม่อยากให้มีอะไร เป็นกรอบทางกฎหมายเข้ามายุ่มย่ามกับการทำหน้าที่สื่อ แต่เมื่อทางเลือกมันมีแค่นั้น ถ้าคุณไม่ทำ เราจะทำให้คุณ เราก็จำเป็นจะต้องนั่งลงแล้วก็คุยอย่างจริงจังว่า ถ้าต้องทำ ทำแบบไหนถึงจะมีลักษณะที่เบาบางที่สุด ในแง่การมีบทบาทเข้ามากำกับสื่อและทำอย่างไรให้เป็นไปได้มากที่สุด ในการทำให้สื่อสามารถมีบทบาทในการกำกับกันเอง”
“ผมคิดว่าจริงๆ ร่างนี้ คือเบาบางมากในการกำกับดูแลสื่อ บทลงโทษ อยากให้คุณชวรงค์ เล่าเนื้อหาที่สำคัญจริงๆ มันคืออะไรบ้าง แต่โดยภาพรวมเราก็ถกเถียงกันเยอะมาก สุดท้ายแล้วมันควรจะมีองค์กร หรือกลไกที่จะมีบทบาทในการกำกับ ควรจะมีอำนาจแค่ไหนอย่างไร”
สุดท้ายเราก็กลับไปสู่หลักการเดิมของสื่อสากลทั่วไป คือต้องกำกับกันเอง ซึ่งหมายความว่า จะต้องไม่มีกลไกไหนที่่จะมีอำนาจทางกฎหมายในการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษในรูปแบบใดก็ตาม เราก็ฝากความหวังไว้ที่สังคม โดยให้สภาที่จัดตั้งขึ้นมา เป็นกลไกในการขับเคลื่อน เพื่อให้สังคมตระหนักในเรื่องของความรับผิดชอบของสื่อ เพื่อให้แรงกดดันจากสังคม ทำให้ตัวสภาเป็นตัวชี้เป้าว่า เกิดอะไรขึ้น
หวังว่าสังคมจะเป็นตัวกดดัน ให้สื่อทำหน้าที่อย่างสุจริต ตามหลักการตามหลักจริยธรรม มันถึงจะออกมาด้วยเนื้อหาที่ อาจารย์วรัชญ์ ครุจิต บอกว่ามันเบาบาง แทบจะผิวเผิน ไม่มีอำนาจอะไรเลย ซึ่งในความเห็นของอาจารย์วรัชญ์ ความจริงก็เป็นอย่างนั้น เพราะสุดท้ายแล้วเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กฎหมายฉบับนี้ ถ้าเป็นกฎหมายจริงๆ ก็คงเป็นแค่เครื่องมือให้สังคมมาตรวจสอบ และกดดันสื่อเท่านั้นเอง
โดยมีกลไกอย่างหนึ่งในกฎหมายฉบับนี้คือสภาที่เราพูดถึงอยู่ ที่่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบแต่สุดท้ายก็โยนลูกกลับมาให้สังคม ในการที่จะมีบทบาทในการกำกับสื่อ ผ่านการลงโทษทางสังคมหรือโซเชียลแซงชั่น เท่านั้นเองเพราะถ้าไปดูเนื้อหาจริงๆไม่มีตรงไหนเลยที่ให้อำนาจ ทางกฎหมาย กลไกใดๆ ก็ตามพี่จะมากำกับสื่อ ความจริงจะใช้คำว่ากำกับหรือควบคุมสื่อกับกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ถูกเลยเพราะไม่มีตรงไหนที่เข้าข่ายตรงนั้นเลย
ตำหนิเปิดเผย โทษรุนแรงสำหรับสื่อ
มานิจ สุขสมจิตร กล่าวเพิ่มเติม ว่าที่มีการออกมาระบุว่า เนื้อหากฎหมายเบาบาง ไม่มีตรงไหนเป็นบทลงโทษเลย ตนอยากจะเพิ่มเติมว่า โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อ มีโทษตักเตือน ภาคทัณฑ์ และตำหนิด้วยการเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น การตำหนิการเปิดเผยต่อสาธารณะ คนทำสื่อถ้าหากถูกตำหนิอย่างเปิดเผย เป็นเรื่องที่รุนแรงมาก แสดงว่าเค้าไม่มีความน่าเชื่อถือเลย
เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเบาบาง เพราะมันรุนแรงมาก การตำหนิที่คิดกันไว้ตอนนั้น ก็อาจจะเป็นหนังสือของสภาที่ตั้งขึ้นใหม่ ตำหนิเลยว่าสื่อที่นั่น ได้ประพฤติ ลงข้อความอย่างนี้ ซึ่งไม่ตรงกับความจริง แต่ความจริงเป็นอย่างนี้ คนที่ถูกตำหนิจะต้องอับอายมาก
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเสริม คืออยากจะขอให้ผู้ที่อยู่ในวงสนทนาวันนี้ถ้าข้องใจอะไรให้ถามให้หมดและต่อไปจะได้ช่วยกันชี้แจงหรือจะมาถามในวันหลังก็ได้ ไม่อยากให้มีเสียงบอกว่าสื่อด้วยกัน เค้ายังไม่เอาเลย นั่นประเด็นหนึ่ง อีกประเด็น ที่คุณประดิษฐ์บอกว่า ช่วงร่างรัฐธรรมนูญ ผมเป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญอยู่ เพราะฉะนั้นข้อความใดๆ ที่มีคนเสนอมา ผมเอามาหารือพวกเราทั้งนั้น
เชื่อมั่นการตัดสินใจของสังคมแซงชั่น
มงคล บางประภา ระบุว่า ได้เข้ามาอยู่ในองค์กรสื่อในช่วงคาบเกี่ยวกับการดำเนินการของกระบวนการยกร่างกฎหมายทั้งหมด แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมเป็นอนุกรรมการ กรรมการร่าง หรือตำแหน่งใดๆ แต่ถือว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะสื่อมวลชนก็มีหน้าที่ต้องติดตามความคืบหน้า
ได้มีโอกาสแสดงความเห็น เมื่อกฎหมายนี้ผ่าน ครม.ออกมาแล้ว โดยมีสื่อมาสัมภาษณ์ จึงพยายามรวบรวมเอาประเด็นที่ได้อ่านตัวร่าง และด้วยความที่ทำข่าวเกี่ยวกับกฎหมายมามาก ก็พอจะมีมุมมองในการวิเคราะห์ ผ่านออกไปในการสัมภาษณ์หลายสำนักข่าว และมีส่วนได้รับเชิญไปอธิบายในเวทีของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ FCCT
จึงอยากจะนำข้อสงสัย ที่ได้รับคำถามมา คือ Pain Point เกี่ยวกับตัวร่างนี้มาเน้นย้ำว่า สังคมเขากังวลอะไร โดยขอเพิ่มเติมสิ่งที่อาจารย์มานิจ พูดถึงบทลงโทษทางสังคม ที่บอกว่าบทลงโทษของสังคมรุนแรง แต่ตนก็มองว่าในความรุนแรงนั้น มันจะมีผลเมื่อผู้ออกบทลงโทษนั้นมีเหตุผลประกอบให้สังคมเชื่อได้ เพราะถ้าไปลงโทษ หรือประณามสุ่มสี่สุ่มห้า สังคมก็มีสิทธิ์ถามกลับว่าใช้อคติ หรือใช้อะไรในการประณามเขา เพราะฉะนั้นคนที่จะออกบทประณาม ไม่ใช่ว่าอยากจะประณามก็ทำได้ แต่เป็นการตัดสินใจของโซเชียลที่จะแซงชั่น ซึ่งตนมองว่าเราต้องมีความเชื่อมั่นในสังคม
*****************************************
สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ พ.ศ. ….
ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….ที่ ครม.เห็นชอบ เมื่อ11 ม.ค.2565 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์เสนอ และให้ส่งวิปรัฐบาลกระทั่งถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ เมื่อต้นเดือน พ.ย.2565
ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เคยถูกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนคัดค้านอย่างหนัก เพราะเห็นว่าเนื้อหาเป็นกฎหมายคุมสื่อกระทั่งต่อมาองค์กรสื่อได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่าง และให้ความเห็น โดยยึดหลัก ต้องไม่จำกัดเสรีภาพ หรือกระทบการทำหน้าที่ของสื่อ
โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้อธิบายสรุป ถึงเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.ที่อยู่ในวาระของสภาฯ ดังนี้