เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 Google News Initiative ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จัดการประชุม Trusted Media Summit APAC 2022 ประจำประเทศไทย ซึ่งมีเจตจำนงในการรวมตัวของคนทำงานด้านสื่อ เพื่อค้นหาแนวทางและการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ข่าวออกไป และทำให้ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย โดยหนึ่งช่วงที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ก็คือช่วงเสวนาในหัวข้อ “สื่อที่สังคมเชื่อใจในวิกฤตสังคมไทย ทบทวนและทางออก” โดยมีคนในวิชาชีพสื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
เริ่มต้นจาก นพปฏล รัตนพันธ์ – สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องของความน่าเชื่อถือของสื่อไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่สื่อถูกไม่ไว้วางใจมาตลอดในช่วง 10-20 ปีมานี้ และถูกลดความน่าเชื่อถือจากทั้งการเมืองและตัวสื่อเองในเรื่องของการทำหน้าที่ ประชาชนคาดหวังว่าจะให้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียง แต่สื่อไม่ได้ทำหน้าที่หรือทำเกินหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมจรรยาบรรณ ซึ่งทั้งสื่อเก่าหรือใหม่ สื่อกระแสหลักหรือกระแสรองก็จะมีปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งสะท้อนได้จากสื่อด้วยกันเอง แหล่งข่าว และประชาชน ซึ่งโจทย์นี้เป็นโจทย์ที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติต้องกลับมาทบทวนการทำงานอย่างหนักเช่นกัน แต่แน่นอนว่าการกำกับดูแลกันเองยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน เพราะคนสื่อกำกับกันเองยังเข้าอกเข้าใจกว่าการที่หน่วยงานภาครัฐมาดำเนินการเอง
วศินี พบูประภาพ – สมาพันธ์สื่อเพื่อประชาธิปไตย กล่าวต่อว่า DEMALL เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมที่สุดของสื่อที่มีความหมายกว้างมาก ทั้งสำนักข่าว สื่อพลเมือง และสื่อบุคคล การเกิดขึ้นของเราเกิดมาจากวิกฤตที่เรารู้สึกว่าองค์กรสื่อแบบดั้งเดิมไม่สามารถตอบโจทย์สื่อในวงกว้างมากๆ เพราะองค์กรสื่อแบบดั้งเดิมไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นที่อ่อนไหวได้เอง ซึ่งการชุมนุมของประชาชนในปี 2563-2564 นั้นจุดประเด็นทำให้เกิดการก่อตั้ง DEMALL ขึ้น และในช่วงนั้นสังคมเรียกร้องให้สื่อนำเสนอข่าวที่เป็นการค้นหาประเด็นให้กับสังคมมากขึ้น เรายังเน้นการรวมตัวเพื่อค้นหาเสรีภาพในการสื่อสาร และพอมารวมกันจริงๆ แล้ว สื่อพลเมืองเกิดขึ้นมาเพราะเขาอยากเป็นประชาชนที่ต้องการแสดงเสรีภาพในการแสดงออก แต่เพราะสื่อไม่สามารถนำเสนอข่าวได้ เขาจึงลงมาเพื่อสร้างการนำเสนอใหม่ๆ ได้
ธีรนัย จารุวัสตร์ – สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีเจตจำนงในการร่วมพัฒนาและปฏิรูปวงการสื่อมวลชนให้สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างมีจริยธรรม อย่างเช่น การจัดอบรม การออกแถลงการณ์ และการถอดบทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงเรื่องรอบตัวของคนสื่อที่ต้องรู้ แต่ปัญหาและความท้าทายหนึ่งก็คือ เวลาอบรมทุกคนดูเข้าใจดีขึ้น แต่เขาไม่สามารถเข้าใจและนำไปปรับใช้ได้ เพราะผู้บริหารและคนในองค์กรเขาไม่ได้เปลี่ยนหรืออยากปรับตัวตามไป ซึ่งทำให้เรามองไม่เห็นว่าเราจะทำสิ่งนี้ไปทำไม แต่นี่คือความท้าทายจริงๆ ที่พยายามปรับตัวและให้ผู้บริหารสื่อเล็งเห็นมากขึ้น รวมไปถึงสื่อภาคพลเมืองที่กล้าพูดได้มากขึ้น สิ่งนี้เราก็เห็นและจับตามองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันทะลุเพดานของสื่อหลักที่เขาไม่กล้าพูดได้มากๆ เราก็เลยจัดการอบรมให้กับสื่อพลเมืองให้สามารถนำเสนอได้ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ ให้เขามีเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพตนเองต่อได้
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ – Media Alert กล่าวปิดท้ายในวงเสวนาว่า ในฐานะของผู้รับสื่อมักจะพูดอยู่เสมอๆ ว่าต้องพัฒนาคนเสพสื่อให้รู้เท่าทันสื่อ เพื่อที่จะสามารถให้เขาเลือกที่จะเสพและแจ้งเตือนไปยังองค์กรสื่อและผู้กำกับดูแลสื่อ แต่ปัญหาก็คือคนเสพสื่อร้องเรียนและกระทุ้งไปยังหน่วยงานน้อยลง ซึ่งเราก็ตั้งคำถามว่าอาจจะเป็นเพราะคนเสพสื่อยังไม่ได้รู้สึกที่อยากจะส่งเสียงออกมา ซึ่ง Media Alert ได้ทำการสำรวจ พบว่าสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ นำเสนอเนื้อหาเร้าอารมณ์เป็นส่วนมาก และสถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอข่าวเชิงประเด็นสาธารณะมีจำนวนที่น้อยมากๆ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอเนื้อหาเร้าอารมณ์กลับเป็นช่องที่มีเรตติ้งสูง ฉะนั้น นอกจากการกระทุ้งไปยังคนสื่อและองค์การสื่อแล้ว เรายังต้องสร้างคนเสพสื่อให้เป็น Smart Consumer เพื่อที่จะปรับภูมิทัศน์สื่อไปพร้อมๆ กัน เพราะสุดท้ายองค์กรสื่อก็ดูตัวเลขคนดูอยู่ดี ทั้งสื่อและคนเสพสื่อต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กัน