ปรากฏการณ์เหนียวไก่เข้าใจตรงกันนะ! : ‘จอกอ’

googlehangout

ปรากฏการณ์เหนียวไก่เข้าใจตรงกันนะ!

ปรากฏการณ์เหนียวไก่เข้าใจตรงกันนะ! : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

                ไม่ว่าใครจะมองเหนียวไก่อย่างไร แต่เรื่องนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ และควรพูดถึงคลิปเหนียวไก่หาย กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เพียงชั่วข้ามคืน ส่งผลให้ไลล่า หรือ กนิษฐา จันทร์สว่าง เด็กหญิงตัวเล็กๆ วัย 15 กลายเป็น Public Figure หรือบุคคลสาธารณะ ที่เกือบทุกคนในประเทศนี้รู้จัก ฉุดให้ร้าน “บังมีนไก่ทอด” ที่เธอไปซื้อไก่ขายดิบขายดี

กระแสไก่ทอดฟีเวอร์ยังส่งผลถึงหลายร้าน ที่ขายไก่ทอดแบบบ้านๆ รวมทั้งคลิปล้อเลียนที่ติดตามมา จนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องขอเข้ามามีบทบาท สร้างแบรนด์ใหม่ “เหนี่ยวไก่” ให้ จ.สตูล ที่ปกติอยู่ห่างไกลการรับรู้ของผู้คนทั่วไป

ด้วยความใสซื่อ บวกกับภาษาถิ่นที่ซื่อๆ ตรงๆ ระบายความอึดอัดคับข้องใจที่ เหนี่ยวไก่ราคา 30 บาทของเธอหายไป เป็นเสน่ห์ของการสื่อสาร ที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ แม้จะมีภาษาที่ต้องเซ็นเซอร์กันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้สื่อความหมายในทำนองหยาบคาย

คงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันพอสมควรว่า ภาพและภาษาที่เธอสื่อสารเพียงเพื่อบอกถึงความแค้นที่มีมือดีลักข้าวเหนียวไก่ทอดไปจากตะแกรงใส่ของบนรถจักรยาน และคงไม่ได้เจตนาให้คนทั่วไปได้มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปด้วยมากนัก เป็นการสื่อสารที่ทรงพลังยิ่งกว่าข่าวสารบ้านเมืองทั่วไปหรือไม่

เพราะเมื่อการสื่อสารได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสนองตอบความต้องการและความพึงพอใจของมนุษย์แล้ว ก็ไม่น่าจะมีข้อสงสัยว่า ข่าวเหนี่ยวไก่หาย จะมีคุณค่าข่าวเพียงพอในการนำเสนอเป็นข่าวสำคัญหรือไม่

ตรงกันข้าม ข่าวสารการเมือง ข่าวผู้นำทหารเรียกสื่อมวลชนไปตักเตือนการเสนอข่าว หรือข่าวผู้นำหงุดหงิดกับการใช้ถ้อยคำบางคำของสื่อ อาจจะมีคุณค่าข่าวน้อยกว่า หรือไร้สาระยิ่งกว่าข่าวเหนี่ยวไก่หายก็ได้ อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้ก็คงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเหมือนกันว่า อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ในกรณีเหนี่ยวไก่หายทั้งยูทูบ และเฟซบุ๊ก ที่กลายเป็นสื่อกระแสนำสื่อกระแสหลักนั้น กำลังจะเข้ามาครอบครองพื้นที่สื่อหลัก และสะท้อนให้เห็นการทำงานข่าวที่ฉาบฉวยมากขึ้นของสื่ออาชีพ

เรากำลังก้าวข้ามกระบวนการสำคัญยิ่งไปเสียกว่า ความเชื่อในทฤษฎีที่ว่า สื่อมวลชนเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสาร หรือทฤษฎีที่เชื่อว่าสื่อมวลชนทรงพลังอำนาจและมีอิทธิพลอย่างสูงในการหล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมของผู้รับสาร พฤติกรรมนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความตั้งใจของสื่อในการควบคุมผู้รับสาร ทฤษฎีเหล่านี้กลายเป็นแนวคิดที่ชำรุดในทางประวัติศาสตร์ เพราะความจริงคนในสังคมทั้งหลายที่เข้าถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ คือผู้กำหนดทุกสิ่ง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า กระบวนการบริหารจัดการภายในกองบรรณาธิการเพื่อรักษาคุณค่าข่าว คือมีการประเมินความสำคัญ ประเมินผลกระทบ และประเมินผลประโยชน์สาธารณะ ที่เคยเข้มงวดและจริงจังในยุคสื่อสิ่งพิมพ์ ได้อ่อนแรงลงในยุคของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการเพียงปริมาณและข่าวที่ขายได้เช่นนั้น หรือไม่
ไลล่า คงตอบไม่ได้ บรรณาธิการที่มีประสบการณ์มายาวนาน หลายยุคสมัย ก็คงต้องเฝ้ามองการไล่ล่าข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผลิตโดยคนสามัญ คนเล็กคนน้อยในสังคมนี้ ไม่ว่าเขาจะตั้งใจให้เป็นเหนี่ยวไก่หายหรือไม่ ถูกแปรรูปมาเป็นข่าวสำคัญต่อไป โดยไม่ต้องลงแรง หรือใช้สมองคิดมากนัก

ผมเชื่อว่า มีสื่อมวลชน นักวิชาการด้านสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์เหนี่ยวไก่หายมากไปกว่าข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่อาจน่าสนใจ แต่จะนำเสนอหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อสื่อมวลชนส่วนหนึ่งเห็นความสำคัญ ประกอบกับคนส่วนใหญ่ของสังคมที่แชร์ภาพและเสียงของไลล่าออกไปอย่างกว้างขวาง มีการกล่าวขวัญถึงกันอึกทึกครึกโครม ความเห็นแย้ง หรือคนที่เห็นแย้งแต่ไม่แสดงความเห็นก็ล่าถอยไป หรืออาจถูกปรับให้เข้ากับเสียงส่วนใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก จนกระทั่งกลายเป็นปรากฏการณ์ร่วมที่ดูเหมือนทุกคนในสังคมเห็นด้วย ทั้งที่ไม่เห็นด้วย

ในทางวิชาการ เขาอธิบายด้วยทฤษฎี The Spiral of Silence คืออิทธิพลของสื่อมวลชนที่ไม่ได้เป็นอิทธิพลโดยตรงแต่มาจากผู้รับสาร

เราอาจจะมีความเห็นแตกต่างกันในประเด็น เหนี่ยวไก่หาย แต่ยามใดที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยข่าวข่มขืน ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ข่าวผู้นำทหารเรียกสื่อไปอบรมวิธีการทำข่าว ข่าวทหารแทรกแซงการทำงานของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ข่าวประเภทเหนี่ยวไก่หาย ที่กฎอัยการศึก หรือประกาศที่กำกับควบคุมสื่อเอื้อมมาไม่ถึง ก็จะเป็นข่าวดีสำหรับยุคสมัยที่ต้องเข้าใจตรงกันนะ