เสียงเล็กที่ยิ่งใหญ่ : ‘จอกอ’

เสียงเล็กที่ยิ่งใหญ่

เสียงเล็กที่ยิ่งใหญ่

เสียงเล็กที่ยิ่งใหญ่ : ‘จอกอ’จัก ร์ กฤษ เพิ่มพูล

               เพราะเชื่อว่ากำลังเกิดวิกฤติศรัทธาในกลุ่มสื่อ เพราะประเมินสถานการณ์กลุ่มที่เข้าไปทำงานปฏิรูปอย่างเป็นทางการว่า ขาดเอกภาพ และไร้ทิศทางที่ชัดเจน ฉะนั้น นอกจากความพยายามที่จะรวบรวมผู้คนที่ไม่ใช่สื่อเข้ามาทำงานด้วยกันแล้ว ยังคิดถึงสื่อบางกลุ่มที่เราอาจไม่เคยให้ความสนใจมากนัก เช่น นักข่าวภาคสนาม หรือฝ่ายปฏิบัติการที่เสมือน “หนังหน้าไฟ” โดนตำหนิติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่คนตัดสินใจสุดท้ายที่นำข่าวไร้สาระ ภาพที่ขาดความรับผิดชอบ เผยแพร่ต่อสาธารณะ คือคนข้างใน ตั้งแต่ระดับบริหารในกองบรรณาธิการ ไปจนถึงนายทุน

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ซึ่งก่อตั้งโดย 4 องค์กรสื่อ ที่มีคุณเทพชัย หย่อง เป็นประธาน ได้ชวนนักข่าวภาคสนาม ทั้งสายการเมือง และอาชญากรรมบางส่วนมา ร่วมให้ความเห็นในการปฏิรูปสื่อ โดยมีแนวทางการปฏิรูปที่ผมตระเตรียมไว้เป็นสารตั้งต้น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่เราย้ำว่า ภารกิจเร่งด่วนคือการผลักดันให้มีการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97 และ 103 ที่ยังคงเนื้อหาอำนาจนิยม และเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานตามวิชาชีพ การปฏิรูปองค์กรกำกับดูแลสื่อ ที่เริ่มมีคำถามดังขึ้นว่า มาตรการลงโทษทางสังคมที่ใช้มายาวนานเกือบ 20 ปีนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่

น่ายินดีที่นักข่าวรุ่นใหม่หลายคน นักข่าวรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ เช่น คุณมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คุณสุเมธ สมคะเน ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย (NUJT) คุณสำราญ สมพงษ์ เว็บไซต์ คม ชัด ลึก หรือคนข่าวอาชญากรรม คุณศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันในแนวทางการทำข่าวที่ตรงไปตรงมา รับผิดชอบและคิดถึงคนที่เขาจะเสียหายจากการรายงานข่าวนั้น

นักข่าวรุ่นใหม่บางคน ไม่แน่ใจนักว่า การเสนอข่าวบางข่าวจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นหรือไม่ จนกระทั่งนักข่าวรุ่นใหญ่ ที่เป็นเสาหลักของน้องๆ ในทำเนียบรัฐบาลอย่าง “เจ๊ยุ” ยุวดี ธัญญสิริ ต้องอธิบายว่า ความขัดแย้ง เกิดจากเนื้อหาของข่าวนั่นเอง หน้าที่เราคือ เสนอความจริง และระมัดระวังในการเสนอภาพหรือข่าวที่ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น หรือที่เจ๊ยุเรียกว่า “ฆ่าซ้ำ” ไม่ใช่เป็นปัญหาที่การเสนอข่าว

ประเด็นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบความเห็นหลัก ที่ผมเสนอในการประชุม คือ เสียงสะท้อนของนักข่าวภาคสนามในเรื่องสวัสดิการ ไม่ว่ามากหรือน้อย พวกเขาคิดว่าอาชีพนักข่าวควรได้รับการดูแลมากกว่าการดูแลยามเจ็บป่วย ในมาตรฐานการรักษาตามมีตามเกิดด้วยบัตรประกันสังคม นักข่าวอาชญากรรมอีกคนหนึ่งเล่าว่า เขาถูกลูกหลงจนบาดเจ็บในห้วงเวลาที่คนไทยสองสีตีกัน ไปรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในในระดับประกันสังคม แต่เมื่อโรงพยาบาลรู้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะไปเยี่ยม เขาก็ได้รับการอัพเกรดเป็นคนป่วยห้องพิเศษในโรงพยาบาลแห่งนั้นโดยอัตโนมัติทันที

สังคมหน้าไหว้หลังหลอกเช่นนี้ ยังมีให้เห็นอยู่เสมอ ตราบที่เรายังนับถืออำนาจมากกว่าคุณธรรม

เรื่องสวัสดิการ ชีวิตความเป็นอยู่ของนักข่าว ที่ต้องทำงานเสมือน “หนูถีบจักร” ในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว และเป็นเสียงเงียบท่ามกลางความอึกทึกครึกโครมของธุรกิจสื่อนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาการปฏิรูปที่ต้องไปถกแถลงกันใน สปช. แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องอาศัยสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้นายจ้างได้ตระหนักถึงหน้าที่ในการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมกับภาระงาน และภาวะค่าครองชีพ

ดังนั้น ภาระของคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป จึงไม่ได้อยู่ในกรอบของการปฏิรูปสื่อในแบบพิธี ซึ่งมีเวลาไม่ถึงปี แต่หากหมายถึงการปฏิรูปในทุกด้าน ตั้งแต่การเตรียมคนเข้าสู่ระบบงาน การเพิ่มศักยภาพการทำงาน การสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรผู้บริโภค การสร้างกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างฝ่ายการตลาดและกองบรรณาธิการ เรื่องเหล่านี้สำคัญมากกว่าการไปใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้สะท้อนภาวะความเป็นผู้นำ

คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปจะทำงานอย่างเป็นอิสระจาก สปช. และจะตรวจสอบการทำงานของสปช.ในเรื่องปฏิรูปสื่ออย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้อำนาจภายนอกเข้ามามีอิทธิพล บงการให้เป็นไปตามคำสั่งของใครก็ตาม