เนื้อหาแบบไหน ที่คนรุ่นใหม่อยากได้
ชี้แนวโน้มเนื้อหาสื่อที่คนรุ่นใหม่สนใจ มีความหลากหลาย แนะสำรวจความต้องการ เพื่อปรับคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ ย้ำมนุษย์เจน Z เป็น “ดิจิทัลเนทีฟ” ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ และประสบความสำเร็จเร็ว ยังต้องการเรื่องราวของ “ฮาวทู” แต่ก็สนใจประเด็นทางสังคม ด้านผู้บริหารสื่อแนะเน้นเนื้อหาที่ผลิตควรได้ประโยชน์สำหรับเด็กทุกช่วงวัย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิ์ ขณะที่ “หมอสุริยเดว” มองสื่อคือ “ซูเปอร์เพื่อน” แต่ปัจจุบันเนื้อหาเชิงลบเต็มหน้าจอ ส่งผลวัยรุ่นเมิน แนะหลักสื่อสารเข้าใจวัยรุ่น ให้พลังบวก ถึงเวลาปรับระบบวัดเรทติ้ง
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “เนื้อหาแบบไหน ที่คนรุ่นใหม่อยากได้” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมรายการ ประกอบด้วย ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น
โดยทิศทางแนวโน้มเนื้อหาสื่อ ที่คนรุ่นใหม่ต้องการ ในมุมของนักวิชาการด้านสื่อ “ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ” มองว่า ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้แตกต่างกับคนรุ่นก่อน ๆ มากนัก เช่น ด้านจิตวิทยาในช่วงวัย ที่วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากค้นหาตัวเอง หรือรายการที่จะสามารถทำให้เขาค้นหาตัวเองได้เจอ ค้นหาความชอบ ความต้องการ หรือไอดอลต่าง ๆ แต่สิ่งที่ต่างไป อาจเป็นเรื่องบริบท เนื่องจากปัจจุบันวัยรุ่นสามารถรับสื่อที่หลากหลายได้มากขึ้น ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ มีสื่อโซเชียลอีกมากมาย ที่มีโอกาสค้นหาสิ่งที่ชอบ ตอบโจทย์ได้มากกว่า เนื่องจากหลายประเทศมีทุนในการผลิตรายการออกดี ๆ มาก ขณะที่บ้านเรา ให้ความสนใจกับรายการที่มี เรทติ้งสูง ๆ เช่น ละคร ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาที่ผ่านสื่อของประเทศอื่น ๆ แล้ว ก็อาจทำให้คน เจน Z หันไปให้ความสนใจสื่อต่างประเทศมากกว่า
นอกจากนี้ อาจจะต้องเปลี่ยนคำว่า โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสื่อที่คนเจน Z ได้เจอตัวตนมากขึ้นนั้น ก็เริ่มเป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม (Niche) หรือแม้แต่สื่อวิทยุ ที่ปัจจุบันผู้ผลิตรายการ ยังจำเป็นต้องคิดและผลิตเนื้อหาที่เป็นแมส (Mass) เหมือนที่ผ่านมาเนื่องจากลักษณะทางกายภาพของสื่อวิทยุที่ยังต้องกระจายเสียงออกไปเป็น Mass ขณะที่ “พ็อดคาสท์” ได้เข้ามาเป็น “สื่อเสียง” แบบเฉพาะ ที่สามารถตอบสนองคนรุ่นใหม่ในกลุ่มที่อยากจะรู้เรื่องอะไร สนใจเรื่องอะไร ก็จะสามารถเข้าไปสืบค้นเฉพาะเรื่องนั้น ๆ แล้วติดตามได้ในเวลาที่สะดวก นี่คือลักษณะของพฤติกรรมและบริบทที่เปลี่ยนไป
เมื่อถามว่า คนรุ่นใหม่ขณะรวมตัวกัน ความคิดเป็นเอกภาพ หรือกระจัดกระจาย หรือแตกต่างกันมากหรือไม่ ผศ.ดร.มรรยาท กล่าวว่า ลักษณะความชอบของคนเจน Z กับวัยอื่น ๆ ไม่ได้แตกต่างกันคือ มีความหลากหลายทางความคิด ดังนั้นก็ต้องตั้งคำถามว่า สื่อในยุคนี้ เอื้อให้เขาได้เจอคนที่ชอบเหมือน ๆ กันหรือไม่ หากเจอว่ามีชุมชนอยู่ตรงนั้น มีเพจอยู่ตรงนี้ การรวมกลุ่มด้วยความชอบที่เหมือนกันก็จะได้ง่ายขึ้น ชัดเจนได้มากขึ้น รู้สึกว่าสามารถแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองได้แล้ว และเมื่อรวมตัวกัน ก็มีโอกาสที่จะได้แสดงบทบาทความเป็นตัวตนของตัวเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ต่อข้อถามว่า ณ เวลานี้ชุมชนในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น และเป็นชุมชนย่อม ๆ การทำคอนเทนต์จำเป็นต้องสำรวจความต้องการ (Market Survey) ว่า แต่ละกลุ่มชอบอะไรแบบไหน แทนที่จะผลิตแบบชิ้นเดียวเพื่อกระจายไปทุกสื่อ (One content multi-platform) เหมือนที่ผ่านมาหรือไม่
ผศ.ดร.มรรยาท กล่าวว่า คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในกลุ่ม เจน Z ที่ถูกเรียกว่า เป็นพวกดิจิทัลเนทีฟ (Digital Native) นั้น มักจะอยู่กับการค้นหาสิ่งที่ชอบอย่างต่อเนื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ความชอบต่าง ๆ นั้น ค่อนข้างเฉพาะ ขณะที่วิธีคิดแบบสื่อมวลชนอย่างเราคือ Mass Media เราต้องการผลิตเนื้อหาแบบกว้าง ต้องการเรทติ้งสูง ๆ ซึ่งสื่อสมัยใหม่ ณ วันนี้ ต้องคิดใหม่ คือ ต้องเข้าใจว่า ยอด View กับยอด Engagement จะแตกต่างกัน และควรให้น้ำหนักกับตัวเลข Engagement มากกว่า
ออกแบบเนื้อหา ต้องเข้าใจผู้รับสาร
ฉะนั้นเวลาที่ออกแบบสื่อ ถ้าอยากได้สื่อที่โดนใจคนรุ่นใหม่ แต่ยังผลิตแบบ Mass วันนี้อาจไม่เหมาะแล้ว แต่ก็ไม่ใช่มีไม่ได้ เพียงแต่ต้องสำรวจว่า ผู้รับสารชอบแบบไหน สไตล์นำเสนอต้องอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นความชอบที่หลากหลาย หรือเป็นซีรีส์ ละคร ก็แตกต่างกัน เพราะเขาก็ไม่รู้สึกว่า จำเป็นต้องมาดูอันเดียวกัน แม้รายการที่ดูเหมือนเรทติ้งดี แต่คนรุ่นใหม่ อาจจะไม่ชอบ หรือถ้าจะผลิตแบบ Mass จริง ๆ ก็ต้องเป็นคอนเทนต์กลาง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะจริง ๆ เช่น คนรุ่นใหม่บอกว่า ต้องการพื้นที่ในการโชว์ของ แสดงความเป็นตัวตน ดังนั้นถ้ามีรายการที่ทำให้เขาสามารถแสดงความชอบ แสดงความเป็นตัวตนออกมา “Concept” รายการประมาณนี้ก็อาจจะพอได้ หรือเด็กอาจจะบอกว่า ต้องการพื้นที่ที่คน “เจนอื่น” ไม่เข้าใจพวกเขา อยากให้เปิดพื้นที่ให้เขาได้พูด ออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง ถ้ามีรายการแบบเปิดพื้นที่ เพื่อให้เกิด Dialog กัน ให้คนรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกัน อันนี้ก็จะเป็นรายการแบบกลาง ๆ ซึ่งสามารถอยู่ในกลุ่มที่แมสของวัยรุ่นได้
5 วินาทีแรก ถ้าไม่โดนคือ จบ
เมื่อถามว่า ปกติสถานีโทรทัศน์ มักจะทำ “มาร์เก็ตเซอร์เวย์” ก่อนที่จะตัดสินใจผลิตรายการ ยังไม่พออีกหรือ คำตอบคือ เป็นกระบวนการผลิตรายการที่ดี แต่หลายรายการก็ยังไม่โดน เพราะการ “เซอร์เวย์” ไม่ได้ลงลึกพฤติกรรมของคนในกลุ่ม “ดิจิทัล เนทีฟ” อย่างจริงจัง จึงไม่เข้าใจความต้องการ ดังนั้นสื่อจะต้องปรับตัวตามโดยเฉพาะ เรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งสื่อต้องมีการปรับ โดยเฉพาะคนยุคนี้ ต้องการประสบความสำเร็จเร็ว จะเป็นจุดสำคัญของเด็กยุคนี้ยุคเจน Z ยุคดิจิทัลเนทีฟ ด้วยความที่เกิดมาในยุคดิจิทัล การรอคอยไม่เหมือนคนสมัยก่อน ที่ค่อยค่อยไปได้ ไต่เต้าขึ้นไปได้ และสามารถทุ่มเทกับงานหนักได้ แต่เด็กรุ่นใหม่ สิ่งที่เขาต้องการคือจบไปทำงานของตัวเอง เช่น การเรียนการสอนของนิสิต นิเทศฯ ทุกวันนี้ ก็ไม่ได้เน้นสอนเพื่อให้เด็กไปอยู่ในองค์กรสื่อ หรือในอุตสาหกรรมสื่อ
เนื่องจากเด็กจำนวนไม่น้อยบอกว่า เขาไม่เอาแบบนั้น บางคนทำช่องของตัวเองมาตั้งแต่เรียน และประสบความสำเร็จ มีรายได้ มีกิจการเป็นของตัวเองตั้งแต่ยังไม่จบมหาวิทยาลัย ความคิดเปลี่ยนไปหมด คิดว่า ทำอย่างไรเขาจะเป็นนายของตัวเองได้เร็ว หรือแม้บางคนเรียนจบแล้ว และเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมสื่อ แต่นั่นก็คือ การเข้าไปหาประสบการณ์ หา “คอนเนกชั่น” และเมื่อรู้สึกว่า หาได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็จะออกมาเพื่อทำของตัวเอง เป็นของตัวเองมากกว่า ฉะนั้นวิชาการด้านสื่อที่เด็กในยุคนี้สนใจมากก็คือ Media Entrepreneur คือ เรียนแล้วสามารถออกมาเป็นผู้ประกอบการสื่อของตัวเองได้
หลักการทำงานของเด็กวันนี้ เขาบอกเรื่อง “เวิร์ค แอนด์ ไลฟ์” ต้อง “บาลานซ์” เป็นเรื่องสำคัญ การที่จะงานหนัก แล้วค่อย ๆ ไป เพื่อจะได้โบนัสเยอะ ๆ นั้น เด็กหลายคนที่เจอสถานการณ์แบบนี้ จะรู้สึกว่า เงินเดือนดี แต่ไม่มีความสุข ไม่มีการหยุดพัก เด็กจำนวนไม่น้อยจึงเลือกที่จะเดินออกมา และส่วนใหญ่จะตัดสินใจเร็วมาก เนื่องจากคิดกว่า ทำไมต้องทนอะไรแบบนี้ นี่คือวิธีคิด พอทุกอย่างไม่จำเป็นต้องรอ เพราะสามารถหาอะไรได้ทันที ดูหนัง ดูทีวี ประเภทมีโฆษณาก็ไม่เอาแล้ว รอไม่ได้แล้ว
ถ้าจะทำ TikTok ก็ต้องตรึงคนดูให้ได้ภายใน 5 วินาที ไม่เช่นนั้นคนดูก็จะถอย หรือการเล่าเรื่องผ่าน YouTube จะค่อย ๆ เล่าไม่ได้อีกแล้ว วิธีการสื่อสาร วิธีการเล่า มันก็เปลี่ยน ฉะนั้นคนที่จะทำหน้าที่สื่อสาร ควรเข้าใจจริตนี้ใหม่ เข้าใจวิธีการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า เขาต้องการวิธีการเล่าเรื่องแบบไหน ถึงจะเหมาะกับเขา ถ้าเราสามารถได้ทั้ง “เซอร์เวย์” หรือ “มาร์เกตติ้ง รีเสิร์ช” พฤติกรรมที่ต้องการ แล้วได้คนที่สามารถเล่าเรื่องได้โดนใจตรงใจตรงจริตของเขามากขึ้น อันนี้ถึงจะเวิร์ค แต่ที่ผ่านมา อาจจะไปประยุกต์จากคนทำสื่อในโลกยุคหนึ่ง แล้วพอมาอยู่ตรงนี้ก็เลยจะยาก
วันนี้คนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นแค่ผู้รับสื่อ เพราะโลกทุกวันนี้ ใครก็เป็นสื่อได้ จาก “Audience” กลายมาเป็น Userเป็น Consumer และเป็น Producer ด้วยตัวเองได้ด้วย ฉะนั้นเขาก็จะรู้สึกว่า “ทำไมฉันต้องดูในสิ่งที่คนอื่นที่ไม่ได้เข้าใจพวกเรา” ทำไมเราไม่ฟังเฉพาะของเรากันเอง เราคิดแบบนี้ก็สนุกดี วันนี้เราถึงได้เห็นว่า หลายครั้งที่คนทำสื่อรุ่นใหม่ ๆ ออกมา แล้วเล่าแบบตรงจริตเขามาก ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
คนรุ่นใหม่ยังสนใจคอนเทนต์เป็นประโยชน์
เมื่อถามว่าสื่อรุ่นใหม่ที่ต้องการนำเสนอ หรือต้องการเป็นผู้ประกอบการเอง เน้นเรื่องบันเทิงเป็นหลักมากกว่า “ฮาร์ดนิวส์” หรือไม่ ผศ.ดร.มรรยาท มองว่า เด็กรุ่นใหม่มีความต้องการที่หลากหลายมาก ถ้าเขาต้องการบันเทิง ก็คือต้องการบันเทิง และเป็นยุคที่เขาต้องการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเยอะ เด็กยุคนี้สนใจธุรกิจ ต้องการเป็นผู้ประกอบการสื่อ ฉะนั้นเราถึงได้เห็นรายการ “พ็อดแคสต์” ต่าง ๆ พูดถึงการเป็น SMEs หรือ Startup ก็เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ สนใจ วันนี้เรื่องของเงินอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง Crypto Currency เป็นเรื่องที่เด็กสนใจมาก ถ้าเขาอยากหาข้อมูลรายการนั้นสามารถทำข้อมูลที่โดน ที่เขาต้องการได้ อันนี้ก็จะทำให้เขาสนใจ เพราะเขาก็ต้องการข้อมูลลึก
ข้อมูลที่อ้างว่า เด็ก ๆ ยุคนี้ เรื่องอะไรที่หนักไม่เอานั้น ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าอะไรที่หนัก ๆ แล้วเป็นข้อมูลที่น่าสนใจจริง ๆ เขาพร้อมที่จะฟังยาว ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการชั่วโมง 2 ชั่วโมง เขาก็ติดตามต่อเนื่องได้ ฉะนั้นเวลาที่เราเห็นเด็กรุ่นใหม่กับสิ่งที่เขาชอบก็จะเป็นในเชิงนี้ คือการเป็นนักธุรกิจจะทำยังไง ฮาวทู จะทำยังไง มีปัญหาในธุรกิจจะทำยังไง
อีกสิ่งที่เขาชอบ คือเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยา จะเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่โหยหาค่อนข้างมาก พออยู่ในวันนี้ ต้องยอมรับว่าประเด็นเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามีผลสูง และเรื่องของการอยู่กับความเครียด การถูกกดดันจากครอบครัว หรือสังคม ก็ทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตค่อนข้างเยอะบางคนก็อาจไม่กล้าไปคุยกับจิตแพทย์ หรือหาหมอ เราก็จะเห็นว่าพวกรายการที่ช่วยให้คำปรึกษา หรือการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง ก็เป็นจุดที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจสูงมาก และอีกประเด็นคือ การเมืองเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ ก็จะมีกลุ่มเด็กที่สนใจ และชื่นชอบมาก ๆ ไปคุยกับเด็ก ๆ ในการทำวิจัยโฟกัสกรุ๊ป กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ว่า เรื่องรายการเป็นอย่างไร เค้าชอบเรื่องสิทธิ
ผลิตเนื้อหาอย่างไรถูกใจแต่ละวัย
ขณะที่ผู้บริหารสื่อในด้านการสร้างสรรค์เนื้อหา “สมยศ เกียรติอร่ามกุล” ให้มุมมองถึงการผลิตเนื้อหาให้ถูกใจวัยรุ่นได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่รายการเด็กทุกวันนี้แทบจะหายไปหมดว่า กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กำหนดให้มีรายการเด็กมาตั้งแต่ต้น กำหนดชั่วโมงในการออกอากาศ ตามยุคสมัย มากบ้างน้อยบ้าง แต่เวลาคิดรูปแบบรายการหรือ Concept รายการให้เด็ก ก็ต้องเริ่มจากการทำ “รีเสิร์ช” (Research) ว่า จะตอบสนองพฤติกรรมกลุ่มคนดูแบบไหน และพัฒนาการหลัก ๆ เราอยากทำรายการเด็กที่พาไปสู่พัฒนาการ ให้เด็กเติบโตได้สมวัย
ถ้าเป็นเด็กประถมวัย ก็จะไปมองเรื่องการใช้กล้ามเนื้อ ทักษะ ภาษา การเข้าสังคมในระดับที่เป็นเด็กเล็ก แม้กระทั่งการดูแลตัวเองให้ได้ในภาวะในประถมวัย พอเด็กโตขึ้นมาถึงเริ่มเข้าโรงเรียนก็จะมองในเรื่องของคอนเทนต์ที่พาไปสู่การพัฒนาเรื่องความรู้ การดูแลตัวเองในภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป เด็กต้องมีความพร้อมในการออกจากอ้อมอกพ่อแม่ มาอยู่ในสังคมที่มีเด็กด้วยกัน
พอโตขึ้นมาหน่อย ก็จะทำรายการเด็กประเภทที่ให้ความสำคัญกับการสร้างทักษะใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียน ที่เป็น “ซอฟสกิล” (Soft Skill) ทั้งหมด สามารถที่จะมีทักษะที่เติบโตขึ้นมากกว่า ถ้าเป็นเนื้อหาวิชาเรียนต่าง ๆ เด็กได้รับจากห้องเรียนพอสมควรแล้ว ถ้าเป็นลักษณะซอฟสกิล ไทยพีบีเอส ให้ความสำคัญมากว่า ถ้าไทยพีบีเอสจะทำรายการเด็กสักรายการ ก็จะเน้นการทำรีเสิร์ช วิจัยศึกษาอย่างดี ก่อนจะมาเป็นรายการ ซึ่งรายการเด็กมีข้อห่วงใย (Concern) เยอะว่า จะเป็นเรื่องความเหมาะสม ปลอดภัยกับเด็ก การที่เด็กจะใช้ประโยชน์ได้จริง แม้กระทั่งเรื่องการตัดต่อ ถ่ายทำ ก็ต้องเหมาะกับเด็ก เพราะเป็นกลุ่มที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษ
เมื่อถามถึงการทำสำรวจต่าง ๆ ผลที่ออกมา มีรายการที่เด็กอยากจะได้หรือไม่ และถ้ามี ตรงกับสิ่งที่ไทยพีบีเอส อยากจะทำหรือไม่
นายสมยศ ระบุว่า ถ้าแบ่งเป็นช่วงวัยของเด็กเล็กประถมวัย สิ่งที่เค้าอยากได้ จะเป็นความสนุก การเปิดโลกใหม่ ผจญภัยในโลกใหม่ จะอยากรู้อยากเห็นไปหมด ทั้งภาษา คณิตศาสตร์ ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ เรื่องของเด็กในวัยเดียวกัน พวกนี้เป็นสิ่งที่เด็กเล็กต้องการ
พอโตขึ้นมาหน่อยเค้าก็ต้องการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน การเข้าสังคมใหม่ ๆ ทักษะใหม่ ๆ นอกเหนือจากที่ได้รับรู้ในห้องเรียนเด็กโตขึ้นมาหน่อย วัยรุ่นจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ระหว่างเพื่อน คนในสังคมด้วยกันเอง พวกนี้เป็นสิ่งที่เด็กในแต่ละวัย มีความต้องการที่แตกต่างกัน
มุ่งหวังให้เด็กได้ประโยชน์จากเนื้อหา
เมื่อถามว่า ปัจจุบันนี้มีสิ่งเร้าใหม่ ๆ เยอะ หนทางที่จะทำให้เด็กนั่งอยู่หน้าจอ ให้ความสนใจกับสื่อที่เราพยามสร้างสรรค์ทำยากหรือไม่ “สมยศ” กล่าวว่า ถ้าเป็นความคาดหวังจะทำให้เด็กอยู่หน้าจอจริง ๆ แล้วไม่ยาก เพราะเราก็รู้ว่า มันมีเทคนิค วิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กอยู่หน้าจอได้ เช่น เอาการ์ตูน การตัดต่อ สีสันใหม่ ๆ หรือวิธีเล่าเรื่องที่สนุกสนาน แปลกใหม่มา แต่สิ่งที่ยากกว่า คือทำยังไงให้เด็กได้ประโยชน์จากคอนเทนต์ที่เรานำเสนอจริง ๆ
อย่างที่สอง คือ เด็กเป็นวัยที่เราต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสวัสดิภาพของเขา บางทีเราทำเนื้อหาไปแล้วสอดแทรกพฤติกรรมการสร้างความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว เรื่องพวกนี้ คนทำทีวีต้องคำนึงถึง
เน้นคุ้มครองสิทธิ์เด็กตามกฎหมาย
อีกส่วนสำคัญ เรื่องสิทธิของเด็ก ที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เช่นการปรากฎหน้า การใช้ชื่อต่าง ๆ การพูดถึง ถ้าเป็นคอนเทนต์ว่าด้วยการเรียนการศึกษา ก็คงไม่ต้อง Concern แต่ถ้าเป็นคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องข่าวสำหรับเด็ก ต้องให้ความสำคัญ
เมื่อถามว่า รายละเอียดที่ทำรายการเด็ก มีข้อจำกัดหลายเรื่อง เด็กก็ไม่ดู ทำแล้วไม่โดน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ ไม่ได้ดูทีวี แต่ดูโซเชียลมีเดีย มองว่าเนื้อหาแบบไหนที่คนรุ่นใหม่อยากได้
นายสมยศ ยอมรับว่าการดูทีวีลดน้อยลงในทุกช่วงวัย ซึ่งรวมถึงคนทั้งโลก โดยเฉพาะการดูแบบผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ หรือดูตามผังรายการ ลดน้อยลงอย่างชัดเจน ทว่ามีหลายสำนักที่ทำรีเสิร์ชพบว่าคนดูทีวีไม่ได้น้อยลง แต่ไปดูผ่าน Device อื่น ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือดูย้อนหลัง ผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Facebook Live, YouTube แต่คอนเทนต์ทีวี คนยังดูเยอะเหมือนเดิม
ทั้งนี้มีสำนักวิจัยสำนักหนึ่งพบว่า วันหนึ่ง ๆ คนไทยดูคอนเทนต์ประมาณ 9 ชั่วโมง และดูผ่านทีวี 4 ชั่วโมง ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 3.5 ชั่วโมง ที่เหลือเป็นวิทยุ สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ก็สังเกตได้ว่า คนดูคอนเทนต์จากทีวีก็ยังเยอะอยู่
นอกจากนี้ ยังมีส่วนงานอื่น เช่น “เจนเนอเรชั่น วอชท์ ไทยแลนด์” ได้สำรวจพฤติกรรมเด็กวัยรุ่น “นิว เจเนอเรชั่น” โดยตั้งคำถามกับเด็กรุ่นใหม่ว่า มีเรื่องอะไรในประเทศไทยที่เด็กสุดจะทน ก็พบว่า 3 อันดับแรก คือ “สุดจะทนระบบราชการ” อันดับ 2 คือ สุดทนกับเรื่องการเดินทาง การคมนาคม รถติด เส้นทางเดินรถ กว่าจะไปถึงโรงเรียน ที่ทำงานหลายต่อหลายทอด ต้องใช้ยานพาหนะหลากหลาย และอันดับ 3 คือ สุดจะทนกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่อง “เซอร์ไพรส์” สำหรับหลาย ๆ คนที่มองว่า เด็กวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ มักจะไม่สนใจกับเรื่องอะไรที่จริงจัง แต่พอดูผลสำรวจอันนี้แล้ว คงต้องเปลี่ยนวิธีคิดถึงถึงเด็กรุ่นใหม่ หรือต้องมองคนรุ่นใหม่ “ใหม่” คือ คงต้องทบทวนความเข้าใจคนรุ่นใหม่ เพื่อนำมาผลิตเนื้อหา
หัวใจการทำคอนเทนต์ฐานข้อมูล-ระบบ
เมื่อถามว่า เมื่อเด็กรุ่นใหม่ค้นหาคอนเทนต์ได้จากทั่วโลก และถ้านำ “Algorithm” ไปจับ แล้วผลิตเนื้อหาให้โดน เหมือนที่สื่อไทยส่วนใหญ่ให้ความนิยมอยู่ในขณะนี้ จะโดนกลุ่มวัยรุ่นได้หรือไม่
นายสมยศ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการทำคอนเทนต์ไม่ว่าจะทีวี หรือสื่อใดก็ตาม โดยเฉพาะ “ดิจิทัล คอนเทนต์” มี 2 เรื่อง คือ 1.ฐานข้อมูล ที่ “แพลตฟอร์ม สตรีมมิ่ง” ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติที่ดีคือ สามารถเก็บฐานข้อมูลของผู้ชมได้ ทั้ง “เดโมกราฟฟิก” พฤติกรรม การใช้ จำนวนชั่วโมงต่าง ๆ ฐานข้อมูลเหล่านี้สำคัญ จะถูกนำไปวิเคราะห์ว่า กลุ่มวัยไหน มีพฤติกรรมดูคอนเทนต์อะไรเป็นหลัก เราก็ทำคอนเทนต์สอดคล้องให้กับเขา
ส่วนที่ 2 คือ ระบบ เดี๋ยวนี้อัลกอริทึม ที่สามารถป้อนความต้องการตามรสนิยมของคนที่ดูได้ง่าย เป็นดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ “ดิสรัป” แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ AI ก็ป้อนคอนเทนต์ตามความต้องการที่อยากดู อยากเห็นภาพ อยากรู้เรื่องราว ซึ่ง AI จัดการได้หมด ซึ่งก็เป็นดาบสองคม เพราะหากเป็นประโยชน์ด้านการตลาด เด็กก็จะกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาด แต่ถ้าใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษา การเรียนรู้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมีคุณค่า
เมื่อถามถึงข้อจำกัดในการทำรายการเพื่อเด็กและเยาวชน มีอุปสรรคอะไรมากที่สุด “สมยศ” ระบุว่า ข้อจำกัดมากที่สุดคือ พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต และ “มายด์เซ็ต” ต่าง ๆ ต่อสังคม รวมถึงพฤติกรรมการใช้สื่อ คือ เด็กทุกวันนี้ไม่ได้ดูทีวี เลือกหาที่ “Engage” ได้ ดูได้ทุกเวลา ทุกความประสงค์ ทุกสถานที่ที่อยากจะดู เป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การที่เราจะเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ แล้วมาทำเป็นคอนเทนต์ เป็นเรื่องยากมาก แต่ก็ยังสามารถทำได้ ประมาณได้ว่าพฤติกรรมของแต่ละกลุ่ม อาจจะพอสรุปได้ว่าคอนเทนต์แบบไหนที่คนรุ่นใหม่ชอบ
โดยดูตามลักษณะของคน เช่น ถ้าแบ่งกลุ่มคนออกเป็นหลายกลุ่ม มีกลุ่มที่ทำวิจัยประเภทเด็กรุ่นใหม่ สมัยนี้ประสบความสำเร็จเร็ว หลายคนเล่น Crypto แม้กระทั่งเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ เป็น Startup ได้ กลุ่มพวกนี้ต้องการอิสระ เป็นผู้ประกอบการอายุน้อย ดังนั้นคอนเทนต์ที่เราอยากจะทำมาเสิร์ฟให้เขาได้ ก็ต้องเป็นคอนเทนต์ที่เสริมทักษะศักยภาพความสามารถของเขา เพราะเป็นช่องทางที่เด็กจะมีอิสระทางการเงิน โดยไม่ต้องเรียนจบก่อน แต่สามารถมีอาชีพ มีรายได้ด้วยตัวเองได้ ก็เป็นคอนเทนต์ที่เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการจะมีีอิสระทางการเงิน
อันที่สอง คือเด็กที่อยากจะเห็นสังคมที่ดีขึ้น มีการรีเสิร์ชพบว่า เด็กเห็นปัญหาระบบโครงสร้างทางสังคมหลายคนอยากเห็นสังคมดีขึ้น เราก็สามารถทำคอนเทนต์ที่ตอบสนองได้ เช่น คอนเทนต์ที่สังคมเกื้อกูลกัน มีการแชริ่ง การให้โอกาสคนที่ด้อยโอกาสกว่า
สื่อยุคนี้คือ ซูเปอร์เพื่อน ของวัยรุ่น
ทางด้าน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น มีมุมมองถึงพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของเด็กยุคใหม่ ต้องการคอนเทนต์ที่มาทำให้ชีวิตรวยเร็วขึ้น แต่ก็คิดเรื่องโครงสร้างทางสังคม ขณะที่เรื่องสภาพจิตใจจากที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป จนต้องมีโค้ชเยียวยาทางด้านจิตใจ สื่อมีส่วนช่วยมากน้อยแค่ไหน
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กล่าวว่า สื่อมีผลมาก มีอิทธิพลมาก แทบต้องใช้คำว่า แทบจะเป็น “ซูเปอร์เพื่อน” ตอนนี้เราใช้สื่อโซเชียลค่อนข้างเยอะ และใกล้ชิด ถ้าเปรียบก็เหมือนรัศมีบาง ๆ ที่ห้อมล้อมตัวเราเองอยู่ และเราก็ใช้เครื่องสมาร์ทโฟนไปเกี่ยวออกมาเพื่อชมเพื่อฟัง ก็ล้วนเป็นเรื่องของสื่อทั้งนั้น
ยิ่งถ้าดูในกลุ่มวัยรุ่น การได้รับการยอมรับในหมู่เพื่อน ในหมู่สังคมของเขา ฉะนั้นสื่อมีอิทธิพลอย่างมาก เพียงแต่เราต้องมาดูว่า จริตของการบริโภคสื่อ หรือประเภทของสื่อแบบไหนที่เป็นที่นิยม ถ้ากลุ่มวัยรุ่นเขาไม่ชอบอะไรที่ยาวยืด แล้วสไตล์เดิม ๆ เหมือน Mass Media สมัยก่อน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ปัจจุบันนี้จะเปลี่ยนมาเป็นการใช้ที่กระทัดรัด ไปไหนมาไหนค้นหาได้ทันที และถ้ามีอะไรที่สามารถสร้างพวกสร้างเพื่อน หรือสร้างกลุ่มได้ ก็จะได้รับการยอมรับในกลุ่มพวกกันเอง ฉะนั้นเทรนด์ของ Twitter จึงมา YouTuber, Influencer จึงเกิดขึ้น อันนี้เกิดขึ้นจากได้รับการยอมรับ ตรงใจ สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ต้องเต็มไปด้วยโฆษณา เหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาต้องการทั้งสิ้น
กับคำถามที่ว่า ทุกวันนี้สื่อบ้านเราทำคอนเทนต์ออกมา ตอบสนองความต้องการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน “รศ.นพ.สุริยเดว” มองว่า ถ้าเป็น Mass Media อย่าง วิทยุ โทรทัศน์ ก็อาจจะน้อย และน่าเป็นห่วง รวมทั้งในมุมของ “หมอเดว” ก็ต้องบอกว่า ไม่ดูแล้ว เพราะมีแต่ โหราศาสตร์ ใบ้หวย ขายของ เช้ามา ก็มีแต่อาชญากรรม มีแต่ข่าวร้าย มีแต่ข่าวลบเต็มหน้าจอไปหมด แต่เนื้อหาประเภทนี้ ผู้ผลิตบอกว่า ชาวบ้าน “อิน” เป็นกระแส มีเรทติ้ง แม้จะเป็นเนื้อหาที่เหมือนว่า มีแต่คนที่อยากจะยุ่งเรื่องคนอื่น หรือสนใจแต่เรื่องอารมณ์ของสังคม ตรงนี้ต้องบอกว่า ในมิติของคนรุ่นใหม่นั้น เขาไม่ชอบ
ถึงเวลาปรับระบบวัดเรทติ้ง
ส่วนกรณีที่ทีวีต้องการทำคอนเทนต์เพื่อให้มีเรทติ้ง และคนรุ่นใหม่ ที่อาจจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ทำแล้วไม่รู้จะมี เรทติ้งหรือไม่ จึงเน้นเรื่อง Mass จับกลุ่มชาวบ้าน ดราม่า ขยี้ข่าว เพื่อได้เรทติ้งมากกว่า แต่ก็ต้องดูว่า เป็นการขัดกัน (contrast) กันหรือไม่ สื่อกระแสหลักกำลังจะทิ้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือไม่นั้น “รศ.นพ.สุริยเดว” เห็นด้วยว่า การผลิตเนื้อหาในลักษณะนี้ เป็นการทิ้งคนรุ่นใหม่จริง เพราะสื่อมุ่งแต่เรทติ้งของสมัยเดิม ๆ ขณะที่ เรทติ้ง ของทีวีขณะนี้ ควรต้องมีนวัตกรรม เพราะถ้ายังคงเป็นรูปแบบเดิม ก็เหมือนเราหลอกตัวเอง และพยายามจะทำให้เกิดเป็นเรทติ้ง แล้วมีโฆษณาเข้ามา ทำให้สถานีเองหรือรายการรู้สึกว่า จะต้องเป็นแบบนี้
แต่ก็ให้ข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ แม้กระทั่งรายการที่ Hot ก็ไปหยิบประเด็นมาจากเทรนด์ Twitter และนำมาเป็นข่าว Mass Media ในรายการโทรทัศน์ ขณะนี้เด็กและเยาวชนจึงไม่ดู แต่ไปดู Netflix ไปดู YouTube ไปดู TikTok ถ้าเกิดเป็นการสื่อสารสองทาง (2 Ways) เกิดการแข่งขัน ดังนั้น เรทติ้ง น่าจะเปลี่ยนรูปแบบการให้คะแนน เพราะถ้าเอาข่าวมาทำจนกลายเป็นละคร ดราม่าข่าว ลักษณะอย่างนี้ แล้วหลอกกันไป ก็จะอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ พัฒนาการก็ไม่เห็น ก็ไม่ได้ใจของคนรุ่นใหม่ เขาก็จะไม่ดูทีวี
รศ.นพ.สุริยเดว ยังให้แง่คิดของการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ภายในครอบครัวเดียวกันด้วยว่า คนทุกยุคทุกสมัยมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เวลาที่เป็นวัยรุ่นก็จะมีอัตตา (Ego) แข็งแรงมาก ซึ่งเป็นภาวะปกติ ฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องมองให้ขาด ก็คือ ต้องสื่อสารพลังบวก ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังให้มาก เพราะทุกวันนี้ ผู้ใหญ่พูดมาก พูดเยอะ ฟังน้อย และไม่ค่อยฟังเสียงเด็ก หรือถ้าฟัง ก็มักมีธงปักไว้ในใจเรียบร้อย ไม่มีสิทธิ์คิดแบบอื่น แล้วก็พยายามครอบงำความคิด จนไม่ฟังเสียงเขา
แต่ถ้าเป็นเรื่องของสื่อ หากมีเทคนิคดี ๆ กระบวนการดี ๆ มีกุศโลบายในการนำเสนอที่ดี เช่น อาจใช้เป็นละคร ซึ่งคือวิธีการสื่อสารกับวัยรุ่นให้ได้ใจว่า แม่จะคุยกับลูกอย่างไร ญาติพี่น้องจะคุยกันอย่างไร แบบนี้วัยรุ่นชอบ เพราะแม่เองก็จะได้ศึกษาไปด้วยว่า เราเป็นอย่างนั้นหรือไม่ คือไม่ฟังเสียงเขาเลย มีแต่เราพูดมาก อยากให้ลองทบทวนตัวเองดูว่า กำลังทำหน้าที่อยู่ ถามว่าพูดเยอะไปหรือไม่ หรือฟังน้อยไปหรือไม่
แบบนี้เป็น How to หรือ Educate ครอบครัวไทยว่า เราจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างไร แบบไหน ช่วงไหนที่พ่อแม่ควรถอย ลูกควรรุก หรือนิ่ง ๆ หรือถอยบ้าง เนื้อหาพวกนี้ จะนำพาไปสู่ความรู้ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ไม่ต้องไปเสียเงินพึ่งโค้ชชีวิต จริงบ้างไม่จริงบ้าง หรือไม่ยอมรับ ใช้หลักคิดง่าย ๆ ถ้าบ้านเป็นบ้านมันมีสมดุลของความสุขในบ้านเกิดขึ้นและสื่อสารกันแบบไม่ใช่พร้อมบวก แต่สื่อสารกันแบบบวก
แนะหลักสื่อสาร-เข้าใจวัยรุ่น
ขอให้หลักการง่าย ๆ ที่สามารถได้ใจของวัยรุ่นได้ ประเด็นแรก 1.เราทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งต้องฟังให้เป็น ฟังอย่างมีสติ ไม่ใช้สายตาจิก เหยียดหยาม ส่อแววดูถูก ดูแคลน ประชดประชัน 2.ฟังแล้วสะท้อนความรู้สึกที่ดีว่า สมัยเราเป็นวัยรุ่น คิดเหมือนกันเลย ให้ลองเล่าต่อว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางทีก็โอบไหล่ มันจะไม่ได้ออกมาแบบเหน็บแนมประชดประชันดูถูกเหยียดหยาม หรือเปรียบเทียบ เปรียบเปรย จะไม่มีคำพูดพวกนี้หลุดออกมา นี่คือการทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง
3.ฟังแล้วใช้คำถามปลายเปิด ว่าเราเคยเจอปัญหานี้ ถ้าเขาเจอแบบเดียวกัน จะทำอย่างไร แทนที่จะเฉลยให้เขา ก็ปรับเป็นการตั้งคำถามว่า เขาจะแก้ปัญหายังไง ถ้าเจอสถานการณ์นี้ แต่ก็ต้องไม่ใช่ถามที่กวนอารมณ์ แต่ตั้งคำถามเพื่อให้เขาหัดคิดได้แบบพอประมาณ โดยหากเห็นว่า เขาสามารถจัดการได้ก็ปล่อยเขา แต่ถ้าไม่ได้ หรือได้ไม่หมด จึงค่อยให้คำแนะนำ นี่คือวิธีการสื่อสารภายในบ้าน แต่ถ้าเราใช้วิธีอบรมสั่งสอนที่ผู้ใหญ่ชอบใช้อบรมสั่งสอน อันนี้ต้องเลือกใช้ เพราะวิธีการสั่งสอนในยุคนี้ ไม่มีทางได้ใจวัยรุ่นแน่นอน และไม่เฉพาะแต่วัยรุ่น แต่เด็กประถมวัย อนุบาลด้วย เพราะวิธีอบรมสั่งสอน คือ ผู้ใหญ่พูดฝ่ายเดียว พูดเยอะ ยิ่งถ้าเป็นครูก็ต้องกลับไปคิดด้วยเหมือนกัน
ยุคใหม่นี้ไม่ใช่ไปครอบงำทำความคิด เพราะถ้าเราครอบงำความคิด ด้วยการพูดฝ่ายเดียว เราก็จะไม่ได้ยินเสียงของเด็กเลย เช่นเดียวกับสื่อ ก็ต้องนำไปคิดต่อในการผลิตรายการอย่างไร เพื่อที่จะโดนใจคนรุ่นใหม่ และต้องตามยุคสมัยให้ทัน