แนวปฏิบัติ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

แนวปฏิบัติ

สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

เรื่อง การรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ

เพื่อให้การรับเรื่องร้องเรียนขององค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองกระบวนการตรวจสอบจริยธรรมขององค์กรสื่อมวลชนโดยผู้บริโภคได้ดีและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนซึ่งเป็นเหตุแห่งความล้าช้าในการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ องค์กรวิชาชีพ หมายถึง สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หรือองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมและได้ให้การรับรองแนวปฏิบัตินี้

ข้อ ๒ ผู้ร้องเรียนหมายถึง องค์กร หรือบุคคลที่เห็นว่า สมาชิกขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้กระทำการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมที่แต่ละองค์กรวิชาชีพกำหนดประกาศไว้ต่อสาธารณชน

ข้อ ๓ เรื่องร้องเรียน หมายถึง การร้องเรียนเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชน หรือพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังกัดสมาชิกขององค์กรวิชาชีพ

ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการประสานงานการรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ ประกอบด้วยผู้แทนขององค์กรวิชาชีพในสัดส่วนและจำนวนที่เหมาะสม ทำหน้าที่พิจารณาส่งเรื่องร้องเรียนไปตามช่องทางของแต่ละองค์กรวิชาชีพ

ให้คณะกรรมการประสานงานการรับเรื่องร้องเรียนฯ ประชุมร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อพิจารณาส่งต่อเรื่องร้องเรียนและกำหนดมาตรการหรือข้อเสนอที่จำเป็นในการส่งเสริมการปฏิบัติตามจริยธรรมของสมาชิกขององค์กรวิชาชีพ

ในกรณีจำเป็น คณะกรรมการประสานงานการรับเรื่องร้องเรียนฯ อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันโดยความเห็นชอบขององค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอผลการตรวจสอบให้องค์กรวิชาชีพพิจารณาต่อไป

ข้อ ๕ เมื่อเรื่องร้องเรียนได้รับการส่งต่อไปยังช่องทางตามข้อ ๔ แล้ว ให้องค์กรวิชาชีพรายงานความคืบหน้าในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการประสานงานการรับเรื่องร้องเรียนฯ ทราบเมื่อครบกำหนด ๓๐ วันนับตั้งแต่วันที่องค์กรวิชาชีพได้รับเรื่องร้องเรียนนั้น ข้อ ๖ แนวปฏิบัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่องค์กรวิชาชีพให้การรับรองเป็นต้นไป

650722แนวปฏิบัติการรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมองค์กรวิชาชีพ.pdf (782 downloads )