บทบาทสื่อ กับเสียงสะท้อน จากคนใกล้ตัว

สื่ออาวุโสสะท้อนปัญหาความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักลดฮวบ หลังถูกโทษเป็นตัวการปล่อยเฟกนิวส์ แนะสู้ด้วยข้อมูลจริงอย่างรวดเร็ว โดยปชช.-หน่วยงาน ต้องร่วมมือ นักวิชาการสื่อชี้เสรีภาพสื่อไทยยังถูกการเมืองกดทับ ทั้งทางตรงทางอ้อม สื่อแบ่งขั้วยังปรากฎ ขณะที่ความอยู่รอดต้องหาบิสเนสโมเดลใหม่ หาแหล่งทุน สปอนเซอร์เฉพาะรายการ สมาคมโฆษณาเผยเม็ดเงิน 9 หมื่นล้าน ยังอยู่ที่ทีวี 50% แต่สื่อดิจิทัล-ออนไลน์โตเร็ว ต้องชิงด้วยไอเดีย สร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ 

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. เวลา 12.30 -14.00 น. เรื่อง “บทบาทสื่อ กับเสียงสะท้อนจากคนใกล้ตัว” โดย ณรงค สุทธิรักษ์ และสืบพงษ์ อุณรัตน์ โดยมีผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ รองประธาน คณะอนุกรรมการ ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจําคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

จากปาฐกถาพิเศษ โดย ชีล่า โคโรเนล (Sheila Coronel) อดีตนักข่าวรางวัลแมกไซไซ ชาวฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ในงานครบรอบ 25 ปีสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สะท้อนถึงปัญหาการทำงานของวงการสื่อในแง่มุมต่างๆ รวมถึงเผชิญสถานการณ์เฟกนิวส์ บุญรัตน์ มองว่า เฟกนิวส์ เป็นหัวข้อที่สื่อพูดกันมานานนับ 10 ปี ถึงการแสดงความห่วงใย แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดปัญหานี้ได้ ปัญหามีแต่บานปลายออกไป ซึ่งเฟกนิวส์ระบาดมากในหลายสื่อโดยเฉพาะข่าวสงคราม กรณียูเครน-รัสเซีย ที่เกิดเฟกนิวส์โดยองค์กรสื่อที่ไม่รับผิดชอบ ขณะที่องค์กรสื่อที่รับผิดชอบได้พยายามต่อต้านมาก

ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่จะต่อต้านเฟกส์นิวได้คือ ความรับผิดชอบของทุกคน ไม่เฉพาะสื่อ โดยต้องไม่แชร์ข่าวปลอม ข่าวหลอกลวงบิดเบือนความจริง และสิ่งหนึ่งที่สื่อควรทำให้มากที่สุด จากบทเรียนกรณีสงครามยูเครน คือการต่อสู้ด้านองค์ความรู้ เพื่อตอบโต้เฟกส์นิวได้  ขณะเดียวกันก็ต้องมีหน่วยงานที่พร้อมตอบโต้ฉับพลันด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะหากปล่อยไปแค่วันเดียว การแชร์ข้อมูลเท็จยิ่งกระจายไปอย่างกว้างขวาง

เรารู้ว่าช่วงมีปัญหาสิ่งหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกัน คือการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง แล้วไปเข้าทางโซเชียลมีเดียที่กระจายข่าวอย่างรวดเร็ว และมีสื่อกระแสหลักที่ร่วมมือ เพราะมีผลประโยชน์อยู่ด้วย อย่าลืมว่าเรื่องของเฟกนิวส์มีผลประโยชน์มหาศาล ทั้งการปล่อยข่าวเรื่องสงครามนิวเคลียร์ ปัญหาวิกฤติอาหาร ที่บิดเบือนความจริง

รับผิดชอบร่วม สู้ เฟกนิวส์ ด้วยข้อเท็จจริงที่รวดเร็ว

บุญรัตน์ ระบุว่า ตัวเลขจากการสำรวจหลายครั้ง โดยล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน เรื่องความน่าเชื่อถือของสื่อ ต้องยอมรับว่าสื่อกระแสหลักตกเป็นเหยื่อ ถูกโทษว่าเป็นตัวการในการปล่อยข้อมูลที่บิดเบือน แม้ว่าจะมีโซเชียลมีเดียเข้ามาก็ตาม ปรากฏว่าความเชื่อถือของสื่อลดลงมากตอนนี้ ในสหรัฐอเมริกาต่ำกว่า 30% จากเดิมที่ความเชื่อถือในสื่อดีมาก

เมื่อถามถึง กรณี ชีล่า โคโรเนล มองประเด็นเรื่องระบบทุนนิยมครอบงำทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นได้ชัดว่าเจ้าของสื่อ สถานีโทรทัศน์ทิ้งประชาชน เกือบทุกประเทศ เพราะเห็นแก่ธุรกิจ บุญรัตน์ เห็นด้วยว่า เหมือนกันทุกประเทศ แล้วนักการเมืองของทุกประเทศรวมทั้งไทย มีส่วนหนึ่งเป็นตัวการปล่อยข่าวเท็จ แล้วก็ใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ แม้คนอ่านแม้จะรู้ว่าเป็นข่าวเท็จ ก็ยังแชร์ต่อ นี่คือความไม่รับผิดชอบของผู้เสพสื่อ แต่สื่อเองจะป้องกันอย่างไร

บุญรัตน์ ย้ำว่า สิ่งที่ต้องการคือหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ ต้องรีบเอาความรู้ที่ถูกต้องใส่เข้าไปให้ทันกัน ไม่ใช่เว้นช่วงไปตั้งกี่วันแล้วค่อยมาบอกว่า เรื่องจริงเป็นอย่างนี้ ซึ่งไม่ทัน ตัวอย่างสื่อทีวีของยูเครนช่องใหญ่ได้ร่วมมือกัน พอรู้ว่าเจอเฟกนิวส์ ในเรื่องนี้ จะรีบบอกว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออย่างนี้ออกมา โดยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 5-10 นาที ถ้าไปเขียนเป็นทางการอาจจะช้า

ยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เวลาแถลงแล้วพูดผิด ภายใน 2-3 นาทีเท่านั้น สื่อยักษ์ใหญ่เอาการตรวจสอบข้อเท็จจริงเข้ามาใส่ในทันทีเลย แล้วถ้ารู้ว่าเป็นการพูดที่เกินเลยในช่วงหาเสียงตอนปลาย กับโจ ไบเดน อันไหนที่รู้ว่าเป็นการโกหกปั๊บ เค้าตัดทันที นี่คือหน้าที่รับผิดชอบของสื่อที่กล้าทำ สื่ออย่างเราๆ ก็รู้อยู่ว่า มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเยอะ จึงได้แต่บ่นว่ามีการพูดถึงเรื่องเฟกนิวส์ ในเวทีระหว่างประเทศมาเป็น 10 -20 ปี แต่ทำไมนับวันจึงยิ่งมีปัญหามากขึ้น 

ส่วนกรณีสื่อที่ไม่มีการกลั่นกรองข้อมูล แต่เน้นความเร็ว บุญรัตน์ ระบุว่า ความไม่น่าเชื่อถือของสื่อ มีเฉพาะในสื่อที่คิดว่าขายข่าวให้ไว แต่ผลการสำรวจทุกครั้ง และนักวิชาการพูดเหมือนกันหมด คือประชาชนก็ชอบอ่านข่าวหลอก แต่เวลาถามทีไร ก็บอกว่าเพราะสื่อไม่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งที่สื่อดีๆ สื่อที่เป็นมืออาชีพ ที่ต้องการจะให้ความรู้ที่ถูกต้องก็มีอยู่ แต่จะบอกว่าสื่อไม่น่าเชื่อถือแล้วก็ไปแชร์ข้อมูลที่เป็นเท็จ  ผู้เสพสื่อก็เป็นตัวการสำคัญอย่างมาก ถ้ายุติการแชร์ต่อ เมื่อเริ่มสงสัยว่าข้อมูลนั้นไม่ถูก ก็สามารถสกัดได้

ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดนอกกรอบ จะดึงดูดเม็ดเงินโฆษณา

ด้าน รติ พันธุ์ทวี สะท้อน บทบาทของสื่อในช่วงโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมา ในมุมมองของนายกสมาคมฯ ว่า มีดิสรัปชั่นเกิดขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีของโควิด ในแง่ของสื่อ ที่เกี่ยวกับการโฆษณามีการปรับตัวมาก เพราะสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปหน้ามือเป็นหลังมือ จึงทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ในบริบทของคำว่าสื่อกว้าง เพราะมีหลายแขนง ทั้งสื่อโฆษณา สื่อสารมวลชน หรือนักข่าว เชื่อว่าในโลกของสื่อวันนี้ หลังจากถูกดิสรับชั่นด้วยเทคโนโลยี ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ฉะนั้นเรามองว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้วันนี้ใครก็เป็นสื่อได้ ลุกขึ้นมาอยากนำเสนอข่าว อยากวิเคราะห์ หรือทำโฆษณา ทุกคนทำได้หมด และทำกันแบบข้ามคืนด้วย ตรงนี้มันหยุดไม่ได้ มันเป็นโลกาภิวัตน์ โลกสมัยใหม่ที่เราต้องไปกับมันให้ได้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับบ้านเรา คือความรู้เท่าทันของผู้บริโภค ผู้ฟัง หรือ Audience ซึ่งต้องยอมรับว่าบ้านเรามีความหลากหลาย ในมุมของผู้บริโภค ทั้งการหลอกลวง ซื้อของได้ไม่ตรงปก ตรงนี้ได้มีใครคอนเฟิร์มถึงการรู้เท่าทันของฝั่งผู้บริโภคหรือไม่

เมื่อถามถึงกรณีสื่อสิ่งพิมพ์เคยมีบทบาท ขณะที่สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มองมุมนี้อย่างไร การรับข่าวแบบฉาบฉวยอยู่ได้ แต่การรับรู้ข่าวสารแบบที่มีหลักฐานอ้างอิงกลับอยู่ลำบาก รติ มองเห็นเป็น 2 ส่วน คือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงของช่องทาง จากหนังสือพิมพ์ ทีวี วันนี้มันมีหลายช่องทางให้เสพสื่อมาก 

คำถามคือใครจะเข้าถึงตัวผู้รับสารใกล้เราที่สุดและ Effective ที่สุด อันนั้นคือโจทก์ที่หนึ่ง ถ้าเรามองในภาษาโฆษณา เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบเพื่อให้เกิดความสนใจ เป็นวิธีการหรือ Howto มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างให้เกิดความสนใจเท่าไหร่ เป็นเรื่องของไอเดีย ตราบเท่าที่สิ่งที่เป็นคอนเทนท์นั้น มันไม่มอมเมา หลอกลวง ตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง ไม่ผิดกฎหมาย อันนั้นคือประเด็น บางคนมีคอนเทนท์ดี แต่ไปไม่ถึง ก็สู้ไม่ได้

ชี้ทางให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อถามว่า ช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ สื่อจะต้องทำอย่างไรดี รติ ระบุว่า วันนี้มีความหวังว่า กำลังซื้อกำลังกลับมา ความต้องการในประเทศกำลังเกิดขึ้น คนไทยต้องการกลับมาใช้ชีวิตปกติ เมื่อชีวิตกลับมาปกติการค้าขายก็จะดีขึ้น ธุรกิจก็จะดีขึ้น ผ่านหลังครึ่งปีมานี้เราก็เห็นตัวเลขบวกขึ้นมาแล้ว สำหรับการใช้จ่ายบนโฆษณา ฉะนั้นวันนี้ถ้าสื่อจะสามารถช่วยสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ และชัดเจน มีประสิทธิผลมากขึ้น อันนั้นเป็นสิ่งที่เห็น ที่ควรจะทำ

สำหรับภาพรวมเม็ดเงินโฆษณา รติ บอกว่า ปีที่แล้วปิดอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เคยทะลุแสนล้านไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว แล้วลดลงมาเหลือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท และขณะนี้ออนไลน์โตเร็วมาก

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้สื่อหลักที่เป็นโอลด์มีเดีย หรือสื่อกระแสหลักของสังคมไทย ที่มีมาก่อน ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ อาจจะพ่วงโซเชียลมีเดียอีกนิด ซึ่งต้องการไต่เรตติ้งขึ้นไป เพื่อนำไปอ้างกับเอเจนซี่ในการซื้อโฆษณา จึงกลายเป็นการแข่งกันเรตติ้งเพื่อให้ได้โฆษณาโดยไม่สนใจถูกผิด ปัญหาหลักอยู่ที่เอเจนซี่หรือไม่ เพราะคอนเทนท์ดีขายไม่ได้  รติ กล่าวว่า การสื่อสาร การทำงานผ่านสื่อโฆษณา หรือสื่อเก่า สื่อใหม่ ก็ตาม วันนี้นักการตลาด และนักการสื่อสารต้องการเข้าถึงผู้บริโภค หรือ Target audience ของเขา ได้อย่าง Effective ที่สุด เพราะฉะนั้นมันปฏิเสธไม่ได้ ที่เค้าจะต้องไปแสวงหาช่องทางใหม่ๆ อื่นๆ ที่ผู้บริโภคเขาเสพ เพื่อผ่านไปหา และคนกลุ่มนั้นอยู่ในโซเชียลมีเดีย จึงต้องไปตามพฤติกรรมของผู้เสพสื่อ จึงต้องว่ากันไปตามบริบทของการเสพสื่อของผู้บริโภค ถ้าจะไปแตะเรื่องเรตติ้งยอมรับว่าเรตติ้งคือ KPI ชนิดหนึ่ง คือ Measurement ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียวที่ต้องใช้มันมีอื่นๆ อีกมากในโลกของการสื่อสาร

สื่อทีวียังครองโฆษณา 50% แต่ ดิจิทัลโตเร็ว-แรง

เมื่อถามถึงการตัดสินใจลงโฆษณา การให้น้ำหนักการให้งบฯ ของเอเจนซี่จะเทไปทางสื่อไหน รติ กล่าวว่า ทุกวันนี้ถ้าเรามองตัวเลขค่าใช้จ่ายของโฆษณา ด้วยราคาของสื่อทีวี ซึ่งแพงกว่าสื่ออื่น ฉะนั้นถ้าดูจากเม็ดเงิน ก็ยังอยู่ในระดับครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาด ประมาณ 9 หมื่ีนล้าน ทีวีก็อยู่ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี อันนี้เป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุด แต่ที่โตเร็วที่สุดวันนี้ ไปโตเร็วมากที่ดิจิทัล เชื่อว่าวันหนึ่งอาจจะแซงทีวี สำหรับสิ่งพิมพ์ นิตยสาร ตัวเลขล่าสุดครึ่งปีที่ผ่านมาใช้ประมาณ 300 กว่าล้านเท่านั้น สำหรับวิทยุที่เจาะบางกลุ่มพออยู่ได้ โรงหนังยังพออยู่ได้ ก็ถือว่าเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์ เอาท์ดอร์ ยังอยู่ได้

เมื่อถามว่า สื่อต่างๆ ที่ทำหลายแพลตฟอร์ม อย่างสื่อทีวีก็พยายาม การที่เอเจนซี่หรือเจ้าของสินค้าต้องการสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค

ประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องมีสื่อทีวีหลักๆ ได้หรือไม่ รติ ระบุว่า ในตอนนี้ ตอบว่ายังเลิกไม่ได้ เพราะลักษณะของกลุ่มผู้บริโภคบ้านเรา ยังมีความกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย ทีวีก็ยังถือว่า เป็นสื่อที่มีอิทธิพลอยู่ในบางกลุ่ม เพราะฉะนั้นการใช้สื่อทีวี เชื่อว่าก็ยังมีอยู่ และทีวียังมีอิทธิพลในการสร้างความรับรู้อยู่ในวงกว้าง

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาซื้อโฆษณาของสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ ปัจจุบันของสมาคมโฆษณา กำหนดไว้อย่างไรบ้าง รติ กล่าวว่า วันนี้ตอบยากมาก เป็นเรื่องของกลยุทธ์ในการวางแผน ซึ่งแต่ละแคมเปญ โปรเจค ที่ออกไป มีองค์ประกอบที่ต่างกันทั้งสิ้น วันนี้เราอาจจะต้องดู เช่น ทีวีต้องดูเป็นประเภทรายการ คงไม่ได้หว่าน แล้วทุกช่องได้เหมือนสมัยก่อน เราจำเป็นต้องมาผิดจารณาเป็นรายการไป และรายการต่างๆ เหล่านี้ สมัยนี้ก็จะมีช่องทางในโซเชียลออนไลน์ด้วย ก็อาจจะช่วยให้เรตติ้งดีขึ้น ช่วยให้การเข้าถึงดีขึ้น อันนี้ก็แล้วแต่ความนิยม มันมีวิธีอื่นที่พิสูจน์ได้ เรตติ้งเป็นองค์ประกอบหนึ่ง สมัยนี้มีการค้นคว้า มีวิธี Social listening หลายรูปแบบ ที่เราจะเข้าไปทำความเข้าใจกับความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภคได้ละเอียดอ่อนมากขึ้น 

ในยุคปัจจุบันเรตติ้งก็อาจยังเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่ง แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด ในวันนี้เราต้องใช้วิธีอื่นๆ ในการพิสูจน์ถึงเรื่องความนิยมทั้งในรูปแบบคอนเทนท์ การเข้าถึง อย่างสมัยก่อนเราพูดกันถึง ก่อนข่าว หลังข่าว ไพร์มไทม์ เดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้ว เพราะดูย้อนหลัง กี่โมงก็ได้ ฉะนั้นวิธีการวัดผล KPI มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทุกวันนี้เราแทบจะไม่ได้เปิดดูช่องทีวีปกติ

เสรีภาพสื่อยังถูกกดทับ-ปรากฎการณ์สื่อแบ่งขั้ว

ทางด้านนักวิชาการด้านสื่อ รศ.พิจิตรา มีมุมมองต่อสถานการณ์ของคนทำงานสื่อภาพรวมตั้งแต่ต้นปีถึงวันนี้ว่า ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนมาเป็น 10 ปี สื่อก็พยายามปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีด้วย แต่สิ่งที่เรายังเจอในหลายประเด็น พบว่าสื่อก็ยังอยู่ใต้บรรยากาศการเมืองที่ยังกดทับเสรีภาพบางอย่างอยู่ ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องยอมรับว่าวันนี้สื่อก็พยายามนำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง แต่ก็มีลักษณะ Self censorship (เซ็นเซอร์ตัวเอง) ก็มี เพราะฉะนั้นเราจะเห็นแนวโน้ม 1-2 ปี ที่ผ่านมา เราจะเห็นสื่อแยกขั้วแยกข้างกันพอสมควร ซึ่งไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก แต่เราช่วยกันมอนิเตอร์ประเทศไทยเราผ่านการแยกขั้วของสื่อมาแบบสุดโต่งมากๆ เมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ก็เห็นลักษณะแบบนี้ค่อยๆ เกิดขึ้นเหมือนกัน ก็ต้องมอนิเตอร์กันต่อไป

ก็จะเห็นว่า 1. รูปแบบสื่อปัจจุบัน ก็ยังอยู่ในบรรยากาศที่ไม่ได้เสรีภาพมากนัก Self censorship  2.เริ่มมีการแบ่งขั้วกันบ้างแล้ว 3.รูปแบบเตรียมไปทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์มาประมาณ 10 ปีแล้ว และเรายังเห็นลักษณะของสื่อที่ทำหน้าที่พยายามจะสร้างเสรีภาพ โดยเฉพาะในพวกแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย แต่อีกส่วนก็ยังต้องวิ่งตามกระแสของออนไลน์ด้วย ที่ต้องพึ่งพิงแพลตฟอร์มค่อนข้างมาก เรียนทั้งเทคโนโลยี ทั้งมัลติสกิล ต่างๆ ที่เป็นยุคใหม่จริงๆ

เมื่อถามว่า ปัญหาดังกล่าว เป็นข้อจำกัดหรือกระทบเป็นข้อเท็จจริงที่สื่อนำเสนอ รศ.พิจิตรา ระบุว่า กระทบแน่นอน บรรยากาศในเรื่องการเมืองการปกครองก็กระทบเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเอง เมื่อเทียบเสรีภาพสื่อบ้านเรา กับเซาท์อีสเอเชียทั่วไป ก็จะพบว่าของเรามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพพอสมควร อาจจะไม่ใช้ลักษณะรุนแรงเหมือนต่างประเทศ แต่เราก็ยังมีลักษณะประนีประนอม

ต้องปรับตัวตาม Audience ที่กระจายตัวอยู่ตามแพลตฟอร์ม

สองที่กระทบคือ เรื่องการต้องปรับตัวเองให้ทันเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าเมืองไทยนักหนาเรื่องของผู้ชม ผู้ฟัง ข้ามไปอยู่บนแพลตฟอร์มค่อนข้างมาก โดยไม่มีการพูดเรื่องลิขสิทธิ์เลย ไปวางบนแพลตฟอร์มดูฟรีๆ เพราะเราคุ้นเคยกับการใช้ฟรีๆ ตอนนี้เราเจอปัญหาคือ เราพึ่งพิงแพลตฟอร์มออนไลน์ค่อนข้างมาก จึงกลายเป็นต้องวิ่งตามแพลตฟอร์ม เพราะเปลี่ยนอะไรเราก็ต้องปรับตัวตาม รวมถึงบิสซิเนสโมเดลที่เราต้องตามแพลตฟอร์ม ที่เค้ากำหนดอะไร เราไม่มีแต้มต่อในเกมแพลตฟอร์มและเกมดิจิทัลแบบนี้

จะเกิดอะไรขึ้น หาก เฟซบุ๊ก กลายเป็น ‘โอลด์ แพลตฟอร์ม’

รศ.พิจิตรา กล่าวว่าเฟซบุ๊กเข้ามาในไทยปี 2010 กว่า ๆ คนที่เข้าไปอยู่ในนั้นเป็นคนกลุ่มใหญ่ของเมืองไทย แต่ ณ ปัจจุบัน ก็รองรับคนที่มีอายุนิดหนึ่งอีกสักพัก ตอนนี้เด็กๆ ไปอยู่ในอยู่ในอีกแพลตฟอร์มหนึ่งใน TikTok เจนวายอยู่ในทวิตเตอร์ สิ่งที่่เกิดขึ้น การแตกของแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้ชมผู้ฟังกระจายตัวไปตามแพลตฟอร์ม ซึ่งแพลตฟอร์มมีอิทธิพลต่อวิธีคิดเขา ก็จะนำมาสู่ การไปคนละทิศและทางซึ่งขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มข้อมูลที่ไหลเวียนบนแพลตฟอร์มนั้นด้วย พอจะต้องมาเจอกัน อาจจะจูนกันไม่ติดในระหว่างเจนเนอเรชั่น และระหว่างแพลตฟอร์มด้วย

ในการทำวิจัยของตน ก็พบว่าสำนักข่าวส่วนใหญ่อยู่บนเฟซบุ๊ก ใช้เป็นตัวหลัก มีบางสำนักข่าวพยายามจะวิ่งตาม อาจจะเข้าไปอยู่ในทวิตเตอร์ ไอจี รวมถึงติ๊กต่อกด้วย 

ทั้งนี้ต้องบอกว่าเฟซบุ๊กเป็นโอลด์แพลตฟอร์มไม่เป็นไร ตราบใดที่สำนักข่าวยังอยู่ เวลาเกิดเหตุอะไรต่างๆ ที่ประชาชนอยากรู้ข่าว เขาก็จะวิ่งกลับมาที่สำนักข่าวหลัก ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน คนไทยเวลาอยากตรวจสอบความจริงก็จะวิ่งเข้ามาซึ่งสำนักข่าวยังมีมูลค่าของมันอยู่ ต่อให้คุณมีแพลตฟอร์มไหน เขาก็จะตามมา เบาใจได้ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องการแตกตัวของวิธีคิด ความเห็นของคนแต่ละเจน ที่อยู่คนละแพลตฟอร์ม

หารูปแบบธุรกิจใหม่ พร้อมแหล่งทุน หรือสปอนเซอร์

เมื่อถามว่า สุดท้ายสื่อก็จำเป็นต้องยึดเรตติ้งเพื่อโฆษณาเพื่อให้อยู่ได้ ซึ่งก็จะวนอยู่ในวัฎจักรเรตติ้งต่อไป รศ.พิจิตรา ระบุว่า หลังจากเรามอนิเตอร์เรื่องสื่อสังคมออนไลน์ และปัจจุบันมี โอทีที หรือ โอเวอร์เดอะท็อป เข้ามาด้วย พวก Netflix , Viu อะไรต่างๆ ที่เข้ามาจากต่างประเทศ แล้วก็เข้ามาดึงผู้ชมของเราออกไปดูคอนเทนท์ต่างประเทศค่อนข้างเยอะ แต่ข่าวยังเป็น Value ที่ยังเหลืออยู่อันสุดท้ายของไทย พอสมควร เพราะยังไงคนก็ยังตามดูข่าวท้องถิ่นอยู่ดี โดยเฉพาะคนไทยยังชอบดูข่าว

สำนักข่าวไม่ใช่องค์กรการกุศล ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นบิสซิเนสโมเดล คือเรื่องสำคัญ เรื่องโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งแต่อีกอัน สามารถทำในลักษณะที่เป็นสปอนเซอร์ได้ เช่น สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง เป็นทุนอุดหนุน ว่าทั้งรายการสปอนเซอร์โดยใคร พยายามให้เกียรติซึ่งกันและกัน 

ประการที่สอง ขอเป็นก้อนสปอนเซอร์ เพื่อทำรายการโดยเฉพาะ ซึ่งตอนนี้ก็มีแหล่งทุน พวกกองทุนสื่อค่อนข้างมากในการที่จะสนับสนุน          

ประการที่สาม ทำข่าวอย่างเดียวอาจจะไม่รอด หลายครั้งจะต้องขยายธุรกิจของตัวเอง นอกจากทำข่าวลักษณะอาจจะเป็น Inside information เพื่อขาย อย่างการขายภาพในประเทศ ออกไปยังสำนักข่าวต่างประเทศ คือพยายามดึง Asset ต่างๆ ทำงานแข่งกับข้อเท็จจริง ความน่าเชื่อถือ หาสปอนเซอร์ด้วย เพราะฉะนั้นเงินอาจไม่ได้มาจากข่าว แต่ได้มาจากอีกขา ที่ไปทำคอนเทนท์อื่นๆ เป็นบิสเนสโมเดลใหม่เพื่อให้สำนักข่าวดำรงอยู่ได้ นำเสนอข้อเท็จจริง มีความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็ต้องหาเงินได้