สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รับทราบผลการจัดงานครบรอบ 25 ปี พร้อมรับรองแนวปฏิบัติการรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ รองรับความร่วมมือกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมของ 3 สภาวิชาชีพ
น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2565 ผ่านการประชุมระบบไฮบริด (Hybrid) โดยมีผู้เข้าประชุมทั้งออนไซต์ และออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 น. ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการจัดงานครบรอบ 25 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทั้ง 3 เวที ได้แก่ เวทีเสวนาสัญจร หัวข้อ “การปรับตัวของสื่อในยุคดิจิทัล : ความท้าทายของสื่อมวลชนท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในส่วนภูมิภาค รวมทั้งนักศึกษา และนักวิชาการ เป็นอย่างดี
ส่วนการจัดเวทีปาฐกถาพิเศษ “มองอนาคตประเทศไทย” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ที่ รร.เซนจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 100 คน เป็นไปตามแนวทางการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีผู้สนใจเข้าร่วมงานผ่านช่องทางออนไลน์อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลังจากนี้ทางสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จะทยอยนำเทปบันทึกการปาฐกถา พร้อมสรุปเนื้อหาของผู้แสดงปาฐกถาทั้ง 8 ท่าน เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค และช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติต่อไป
สำหรับการจัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 นอกจากการจัดงานที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยแล้ว ยังมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางเฟซบุ๊คไลฟ์ ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และช่องทางออนไลน์ของ “ไทยพีบีเอส” โดยเริ่มจากการปาฐกถาพิเศษผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร้นท์ ของอดีตนักข่าวรางวัลแมกไซไซชาวฟิลิปปินส์ “Sheila Coronel” ในหัวข้อ “จริยธรรมในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” และเวทีเสวนาในหัวข้อเดียวกัน มีผู้เข้าร่วมงานทั้งที่สมาคมนักข่าวฯ และติดตามชมผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก
เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบความร่วมมือของ 3 องค์กรวิชาชีพ ได้แก่ สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เพื่อให้การรับเรื่องร้องเรียนขององค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองกระบวนการตรวจสอบจริยธรรมขององค์กรสื่อมวลชนได้ดี และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนซึ่งเป็นเหตุแห่งความล้าช้าในการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติรับรองร่างแนวปฏิบัติเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ ที่ทั้งสามองค์กรได้จัดทำร่วมกันด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบผลการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าว และผู้เกี่ยวข้อง ของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรเครือไทยรัฐ กรณีการนำเสนอข่าว เหตุการณ์ที่ นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ “หมอปลา” นำสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนา บุกสำนักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร หลังได้รับร้องเรียนว่ามีพระเกจิดัง อายุเกือบ 100 ปี มีพฤติกรรมลวนลามผู้หญิง อ้างว่ารักษาโรค โดยมีมติให้ลงโทษผู้ปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบการนำเสนอข่าวกรณีดังกล่าวจำนวน 3 คน โดยการ “ตักเตือน เป็นลายลักษณ์อักษร” ได้แก่ 1.ผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าว 2.นิวส์โพรดิวเซอร์ ทำหน้าที่รีไรท์เตอร์ 3.บรรณาธิการข่าวรายการข่าวไทยรัฐนิวส์โชว์ พร้อมกันนี้ ยังให้ “ตักเตือน” ผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการไทยรัฐทีวี ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดขึ้นอีก