โควิดฉายภาพปัญหาสังคมให้ชัดขึ้น แต่เป็นบทเรียนให้มนุษย์ปรับตัวไม่ย่ำซ้ำรอยเดิม
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน จาก 8 ด้าน ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางสังคมไทย”
ศ.สุริชัย หยิบยกสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ดำเนินมาแล้วกว่า 2 ปี ขึ้นมาฉายภาพให้เห็นความเป็นจริงในสังคมไทย สถานการณ์ดังกล่าวมีประเด็นให้คิดไปมากกว่าเพียงการควบคุมโรค เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อเนื่องยังคงดำเนินต่อไป ทั้งที่มาตรการต่าง ๆ ผ่อนคลายไปมากรวมถึงการเปิดประเทศรับชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว เรื่องนี้ควรถูกต้องคำถามโดยเฉพาะจากผู้ที่เข้าใจหลักเกณฑ์การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกับความเป็นปกติของสังคม รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติแบบเดิมที่วางไว้ สามารถรับมือสถานการณ์โควิด-19 ได้หรือไม่
ผมมีข้อสังเกตบางประการที่จะเสนอ เพราะคิดว่ามีผู้ใหญ่หลายคนก็ตระหนักว่ายุทธศาสตร์ชาติสำคัญ แต่มันไม่ทันสถานการณ์ที่เราเจอ เช่น โควิด-19 และหลังโควิด-19 จะไปกันอย่างไร ผมจึงมีข้อสังเกตบางประการที่ว่า อำนาจรวมศูนย์อย่างเดียวจะรับมือโควิด-19 ได้บางลักษณะ แต่ไม่สามารถสร้างเงื่อนไขของการสร้างเสริมนวัตกรรมทางสังคม นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ ของการช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน ไปสู่พลังในระดับขั้นตอนใหม่ของอนาคต
สถานการณ์โควิด-19 มีข้อค้นพบบางอย่างที่น่าตื่นเต้นมาก นั่นคือ หลายชุมชนที่เคยขัดแย้งกันทางการเมือง กลับมาหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งแม้จะมีเพียง 14-15 ตัวอย่าง ยังไม่ใช่จำนวนที่ยกมาอ้างอิงได้ทั้งหมด แต่ก็น่าจะชวนให้สังคมไทยหันมามองความขัดแย้ง ที่ผู้คนแบ่งกันเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายเสื้อสีต่าง ๆ ว่ามีอะไรมากกว่านั้น ภายใต้ประสบการณ์ร่วมทุกข์ร่วมกันจากโควิด-19 ได้หรือไม่ ทั้งนี้ “อนาคตของสังคมขึ้นอยู่กับนวัตกรรมที่สังคมร่วมกันสร้าง” คำว่าสังคมนี้หมายถึงทุกภาคส่วนไม่ว่าการเมือง ราชการ ธุรกิจเอกชน ฯลฯ
“สุขภาพจิต” เป็นอีกเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สังคมไทยตระหนักมากขึ้นนอกเหนือจากสุขภาพกาย เช่น ภาวะซึมเศร้า ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโจทย์สำคัญในการทำงานของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในไทย รวมถึงกรมสุขภาพจิต เช่น การพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชัน โดยหวังให้นิสิต-นักศึกษาเข้าถึงการได้รับคำปรึกษา แต่ก็ยังไม่ได้ถูกนำเรื่องเหล่านี้มาพูดคุยกันเท่าใดนัก
“ความเหลื่อมล้ำ” ปรากฏชัดในหลายกรณี เช่น โครงการพัฒนากับความกังวลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ จ.สงขลา ถึงขั้นเดินทางเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ โดยไม่หวั่นเกรงการถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องการชุมนุม เพื่อหวังให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบและให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในพื้นที่มากกว่าที่เป็นอยู่
หรือกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ที่เคยตั้งรกรากอยู่เดิมมายาวนาน ในช่วงที่ไทยพยายามนำอุทยานแก่งกระจานไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ประเด็นนี้สมควรระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการดูแลมรดกโลกกับการดูแลสิทธิมนุษยชน ไม่ต่างจากกรณี นโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมากในหลายพื้นที่ ซึ่งหลายแห่งการออกเอกสารสิทธิ์ยังดำเนินการได้ไม่ทั่วถึง จนผู้ได้รับผลกระทบต้องมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรม แม้จะเสี่ยงถูกดำเนินคดีในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม รวมไปถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เอาเข้าจริงการเข้าถึงระบบสุขภาพก็ยังมีปัญหา
ภายใต้โควิด-19 ก็มีคำขวัญของกลุ่มๆ หนึ่ง กลุ่มเส้นด้ายใช้คำว่าด้ายที่ไม่ใช่เส้น ผมเข้าใจว่าการล้อเลียนด้วยภาษา แต่การสื่อสารที่มีความหมายเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน กรณีนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือโดยไม่ต้องใช้เส้นหรือใช้ระบบอุปถัมภ์ น่าตื่นเต้นที่คนรุ่นใหม่ นักธุรกิจหลายส่วน ได้ทำให้การใช้แอปฯ สมัยใหม่ ช่วยทำให้การตั้งกลุ่มในภาคประชาสังคมหลายส่วน เข้าถึงกลุ่มที่เขาเข้าไม่ถึงระบบต่าง ๆ ในมหานครกรุงเทพฯ ในส่วนเหล่านี้เราก็พบกันไปอีกว่า ระบบสุขภาพในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นมหานครที่สำคัญที่สุดของบ้านเรา ไม่สามารถจะรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ ผมคงไม่ต้องตอกย้ำถึงสถานการณ์อันนี้ การพยายามปรับปรุงเรื่องนี้หลังจากการบ่งชี้หลายลักษณะ รวมถึงการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทที่มากรุงเทพฯ รวมไปถึงการตอบรับของกลุ่มภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มเส้นด้าย และกลุ่มอื่น ๆ ทำให้งานปฐมภูมิด้านสุขภาพของกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจมากขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวทางนโยบาย ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้
อีกด้านหนึ่ง โควิด-19 ได้เผยให้เห็นพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม เช่น สถานประกอบการหลายแห่งพยายามหาทางดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือความตื่นตัวในการต้องขยายการดูแลให้ครอบคลุมไปถึงแรงงานข้ามชาติและบุตรหลานของแรงงานกลุ่มนี้ เพราะหากแรงงานข้ามชาติและครอบครัวไม่ปลอดภัย คนไทยเองก็ไม่ปลอดภัยด้วย เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว สถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นบทเรียนให้สังคมไทยได้เรียนรู้เพื่อปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดจากการการดำเนินการทางนโยบาย
และมองเห็นศักยภาพของการปรับตัวของนวัตกรรมต่างๆ ทีเกิดขึ้น
ศ.สุริชัย ย้ำถึงความท้าทายของยุทธศาสตร์ชาติ จากปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความพยายามในการปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า “แม้ยอมรับการปรับตัวจากโควิด-19 เรียกร้องแนวคิดใหม่ ๆ สำหรับการล้มแล้วลุกให้ไว แต่ก็ไม่ได้สนใจกับการปรับตัวของภาคส่วนนอกราชการ” เช่น ขุมชนท้องถิ่น แม้จะพูดถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นหลังการฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อฐานทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งต้องการการเอาใจใส่ เรื่องนี้เชื่อมโยงกับ “ยุทธศาสตร์ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)” ที่ต้องทำให้มีความหมายกับพื้นที่มากกว่าทีเป็นอยู่
“ความรุนแรงที่มองไม่เห็น” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น เช่น มีรายงานพบสถิติเด็ก สตรีและผู้พิการถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีมากกว่านั้น เพราะหลายกรณีไม่มีการรายงาน เนื่องจากผู้กระทำเป็นบุคคลใกล้ตัว ทั้งนี้ ในระดับนานาชาติ มีข้อค้นพบว่า โควิด-19 ทำให้สังคมต้องกลับมาทบทวนตนเอง ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การไม่นิ่งเฉยดูดาย โดยเฉพาะกับกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคม ที่นอกจากชีวิตจะลำบากอยู่แล้วยังถูกซ้ำเติมจากการล่วงละเมิดอีก
“ความขัดแย้งที่ต้องมองไปไห้ไกลกว่าการเห็นเพียงอีกฝ่ายที่คิดต่างเป็นผู้กระทำผิด” เพราะวิธีคิดแบบมองผู้เห็นต่างเป็นฝ่ายผิดเพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้สังคมเปิดกว้างเรียนรู้ประเด็นความทุกข์ยากต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่ทางการเมืองในปัจจุบันยังเป็นเพียงการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจเสียมาก ไม่ใช่การเมืองเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนที่แตกต่างอย่างที่ควรจะเป็น
“อาจจะจำเป็นที่ชวนให้เราเห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านอารมณ์ ที่เราไม่ตระหนักถึงคนอีกหลายส่วนซึ่งเขาลำบากยิ่งกว่าเราอีก อารมณ์ของการแพ้-ชนะทางการเมือง กับอารมณ์ของการที่สามารถร่วมทุกข์ ร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ มันอาจจะเรียกร้องให้เราถกกัน สร้างพื้นที่ร่วมกันให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งที่เราพูดกันในภาษาของการฟังพระเทศน์เรื่องเขางกต คือเดินหาทางออกไม่ได้ ก็คงจะเป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นทุกวี่ทุกวัน ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจึงจำเป็นต้องชวนกันให้เห็นถึงว่า การสร้างพื้นที่ของความหวัง เป็นเรื่องที่เราอาจต้องเอาใจใส่ร่วมกันให้มากขึ้น”
จากในประเทศไทย ศ.สุริชัย ชวนมองความเสี่ยงที่ทั้งโลกเผชิญเหมือนกัน เช่น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ (Climate Change) ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสงคราม อาทิ ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการถกเถียงเรื่องอนาคตของสังคมไทยจึงควรเชื่อมโยงกับสังคมโลกด้วย โดยที่ผ่านมา มีทางเลือกอยู่ระหว่าง “โลกาภิวัตน์สุดขั้ว” เน้นระบบตลาด เน้นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ผู้ชนะเลือกตั้งจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ กับ “ทุนนิยมรัฏฐาธิปัตย์” เพราะด้านหนึ่งอยู่ในระบบตลาดแต่อีกด้านก็ต้องการรัฐที่เข้มแข็ง
กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ดูเหมือนทั้งโลกจะเห็นตรงกันว่าทั้ง 2 ทางเลือกที่กล่าวมาไม่ใช่ทางเลือกแห่งอนาคต ซึ่งจะต้องเห็นความสำคัญของชีวิตที่อยู่ร่วมกันในท้องถิ่น ดังนั้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและฐานทรัพยากรชีวภาพจึงมีความสำคัญ ในโลกที่กำลังเผชิญความเสี่ยงเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพสูญเสียไปทุกวัน ทั้งนี้ ลำพังประชาธิปไตยทางการเมืองไม่เพียงพอ ต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย “การเมืองของอนาคตจึงเป็นการเมืองของการอยู่ร่วมกัน” ซึ่งต้องอาศัยหลักจริยธรรมหรือศาสนธรรม
ในโลกแห่งทุนนิยมที่กดดันบีบคั้น การกำกับดูแลทุนโดยภาครัฐอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ ต้องอาศัยภาคสังคม รวมถึงภาคของทุนเองด้วย แต่หากสังคมยังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ก็ไม่สามารถลุกขึ้นมามีศักยภาพในการรับมือสถานการณ์ต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม “ในสังคมไทย ประเด็นการถกเรื่องอนาคตยังเป็นสภาวะที่ค่อนข้างปิดและรวมศูนย์เสียมาก” การที่ได้มาพูดในเวทีของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เพราะหวังว่าสื่อมวลชนจะมีบทบาทในการเดินหน้าไปสู่การมีพื้นที่แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น
ความเสี่ยงอันตรายจากโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหล่านี้ เราไม่สามารถพบว่ามีผู้นำคนใด กลไกใดที่สามารถจะแก้ปัญหาได้โดยลำพังได้อีกแล้ว ภาครัฐจะเข้มแข็งเพียงใดก็ตาม การเมืองจะมีประสิทธิภาพเพียงใดก็ตาม ถ้าปราศจากความเข้มแข็งของสังคม ปราศจากความร่วมไม้ร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ก็เป็นไปไม่ได้ ในส่วนเหล่านี้ โลกาภิวัตน์ของความเสี่ยงอันตรายภายใต้ประสบการณ์จากโควิด-19 จึงเตือนให้เห็นว่า ถ้าจะเดินออกจากภาวะกับดักของความขัดแย้งและความรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันหาทางถกกันเรื่องความรู้ที่ไม่ทั่วถึง และต้องเรียนรู้จากกันและกันให้มากขึ้น เพราะความรู้ที่จำกัดของแต่ละส่วนอาจจะสร้างปัญหาให้คนอื่นรับเคราะห์รับกรรมต่อไปจากพฤติกรรมของเราได้
ย้อนกลับมามองสังคมไทย แม้รัฐบาลปัจจุบันจะเข้าใจหลายส่วน แต่ก็ยังเน้นบทบาทของภาครัฐจนเกินเหตุ และเน้นใช้อำนาจบังคับจนเกินสัดส่วน ถึงขั้นที่จะออกกฎหมายมาควบคุมองค์กรภาคประชาสังคม ในขณะที่อำนาจด้านการส่งเสริมและเปิดพื้นที่ยังขาดการผลักดันอย่างจริงจัง อนึ่ง สถานการณ์โควิด-19 ที่มีความห่วงใยปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) ของนักเรียน ก็น่าจะคิดต่อไปถึงการเรียนรู้ที่ถดถอยของสังคมด้วย ซึ่งเกิดจากสังคมที่เผชิญความขัดแย้งมาร่วม 2 ทศวรรษ
แต่การเรียนรู้ร่วมกันจะทำให้เกิดการตั้งโจทย์ร่วมกัน ในการทำงานร่วมกับพื้นที่อีกหลายส่วน โดยสรุปแล้ว “อันตรายของการถกเถียงเพื่อมองอนาคตคือการมองคนแบบแยกมิตร-ศัตรู หรือการเห็นคนคิดต่างเป็นอาชญากร” สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ทางออกคือควรส่งเสริมให้มองเห็นศักยภาพของการปรับตัวร่วมกัน เพื่อให้ความเดือดร้อนทุกข์ยากจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังสามารถเกิดนวัตกรรมหลายอย่างขึ้นได้ภายใต้ข้อจำกัด กลายเป็นข้อถกเถียงที่ไปไกลกว่าเพียงการเมืองในปัจจุบัน
ขอพูดเรื่องสังคมอนาคต สิ่งที่เรียกว่าคุณค่าที่เราจะถกกันเรื่องอนาคต คงไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวอย่างเดียว แต่เราต้องการการฟื้นตัวของคุณค่าทางด้านความเป็นมนุษย์ ความอาทรร้อนใจต่อความเหลื่อมล้ำต่ำสูง แล้วก็การสำนึกถึงความรับผิดชอบของมนุษย์ที่มีต่อสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมไปทุกวัน ในส่วนเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องเรียกร้องการปรับตัวร่วมกัน เพราะเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาได้ หากเราผลักภาระในการปรับตัวส่วนของเราที่ต้องดำเนินกันต่อไป ไปทางอื่น
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม >>> 8 กูรูจาก 8 ด้าน สะท้อนมุมมอง-หาทางออกประเทศไทย