“สอบ.” เผยเหตุยังไม่มีเรื่องร้องเรียน “คอร์สอบรมขายของออนไลน์” อาจเป็นเพราะราคาถูกจนไม่อยากเสียเวลา ด้านคนสื่อชี้ ทุกอย่างที่นำมาสอน ล้วนหาได้จาก “Google” ไม่มีอะไรพิเศษหรือเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยเห็น พร้อมเน้นประชาสัมพันธ์ “อวดความร่ำรวย” กระทั่งเกิดอุปาทานเศรษฐีหมู่ เรียกร้องรัฐ “ป้องกันก่อนมีเรื่อง” เหมือนคอลเซ็นเตอร์ ขณะที่นักวิชาการไม่สรุป เป็น MLM หรือไม่ แต่ผู้จัดฯ ต้อง “เปิดเผยข้อมูล” ให้มากกว่านี้
การเกิดขึ้นของ “คอร์ส-อบรมขายสินค้าผ่านเครือข่ายออนไลน์” ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 และพัฒนาการเทคโนโลยีสื่อสารที่ปัจจุบันสามารถย่อโลกพร้อมรวบรวมผู้บริโภคไว้ได้ใน Smart Phone เพียงเครื่องเดียว ได้กลายเป็นที่สนใจของผู้คนโดยทั่วไป เพราะนอกจากจะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้กับตนเองและครอบครัวแล้ว ค่าอบรมของคอร์สเหล่านี้ ยังอยู่ในระดับที่ถูกมากเมื่อเทียบกับการอบรมทั่วไป กล่าวคือ ไม่เกิน 100 บาทสำหรับการเข้าอบรม 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสเข้ารับการอบรมแบบไม่ต้องจ่ายค่าอบรมอีกด้วย
แม้จะไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า “ของถูกที่ดี/หรือของฟรี” มีในโลกจริงหรือ ตลอดจนการที่ผู้จัดการอบรม เสนอขายสินค้าให้กับผู้เข้ารับการอบรม เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง หรือการชักชวนให้ผู้เข้ารับการอบรมสมัครเป็นลูกข่ายในเครือข่ายการตลาดของผู้จัดการอบรมนั้น ทำได้หรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ และผู้เข้ารับการอบรมจะต้องใช้วิธีการปกป้องตัวเองจากคอร์สอบรมในลักษณะนี้อย่างไร
รายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 MHz อสมท. เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2565 จึงได้เชิญ นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) นายจตุรงค์ กอบแก้ว บรรณาธิการบริหาร นสพ.สยามธุรกิจ และ บรรณาธิการอาวุโส www.salika.com (เว็บไซต์สาลิกา) และ ดร.ธีรพันธ์ โล่ทองคำ นักกลยุทธ์การตลาด พูดคุยในประเด็น “รู้ทันคอร์สอบรมขายของออนไลน์” ร่วมกับ 2 ผู้ดำเนินรายการได้แก่ นายสืบพงษ์ อุณรัตน์ และนายณรงค สุทธิรักษ์
ทั้งนี้ นายภัทรกร เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ สอบ. ยังไม่ได้รับการร้องเรียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคอร์สอบรมขายของออนไลน์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะค่าอบรม เป็นเพียงการจ่ายเงินเล็ก ๆ น้อย คือ ใช้เงินลงทะเบียนไม่เกิน 100 บาท อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า จะถูกหรือจะแพง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค (พ.ศ. 2522) ก็ได้ระบุให้ผู้จัดทำคอร์สอบรมต้องบรรยายสรรพคุณ หรือรายละเอียดในการอบรมให้ครบถ้วนชัดเจน และหากจะนำเสนอมีสินค้าให้กับผู้เข้ารับการอบรม ผู้บรรยาย หรือผู้จัดการอบรม และโคชชิ่ง จะต้องแจ้งให้ผู้เข้ารับการอบรมรับทราบก่อนทุกครั้ง
แม้ว่า หลาย ๆ คอร์สจะมีราคาไม่ถึง 100 บาท แต่เจ้าของคอร์สก็ต้องบรรยายให้ละเอียดว่า ในราคาที่ว่านี้ จะมีรายละเอียดอย่างไร และจะมีอะไรให้กับผู้เข้ารับการอบรมบ้าง ขณะที่ผู้ที่สนใจจะเข้ารับการอบรม ก็ควรตรวจสอบว่า ผู้ที่จัดการอบรมในลักษณะนี้ เป็นองค์กร หรือกลุ่มคนที่จดแจ้งหรือลงทะเบียนไว้กับ สคบ. (สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค) หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ปกติ ซึ่งประชาชนทุกคน สามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้ก่อนที่การตัดสินใจ หรือก่อนที่จะมีการซื้อสินค้า หรือก่อนที่จะตัดสินใจสมัครเป็นลูกข่าย (Down Line) ของผู้ชักชวน ผู้จัดการอบรม หรือวิทยากร ซึ่งถือว่า เป็นการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง
ทางด้านนายจตุรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันคอร์สอบรมขายของออนไลน์ในประเทศไทย “มีมากจนเฝือ”นอกจากนี้รูปแบบและวิธีการก็เปลี่ยนไปอีกด้วย เช่น โดยปกติแล้วมาตรฐานของ “ขายตรง” นั้น การที่ชักชวนให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นลูกข่าย (Down Line) หรือขายสินค้าให้นั้น ก็จะมีการจัดอบรมเบื้องต้นเช่นกัน แต่หลังจบการอบรมแล้ว ผู้จัดการอบรม จะติดต่อกลับไปยังผู้เข้ารับการอบรม เพื่อถามความสมัครใจในการเป็นลูกข่าย หรือตัวแทนขายสินค้า และหากสนใจ บริษัทก็จะจัดการอบรมเพิ่มเติมในเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การเป็นลูกข่าย หรือตัวแทนขายต่อไป แต่หากไม่สมัครใจก็จะไม่มีการโน้มน้าวหรือพยายามโน้มน้าวอีกต่อไป
คอร์สสอนขายของออนไลน์ที่เห็นอยู่ในขณะนี้ แม้จะเป็นการหาลูกข่ายเหมือนกับบริษัทระดับโลกทำกัน แต่กลับใช้วิธีการเชิญชวนผู้เข้ารับการอบรมให้เป็นลูกข่ายตั้งแต่ได้ยินเสียงกันเป็นครั้งแรก แถมบางรายยังต้อนให้ผู้เข้ารับการอบรมจ่ายเงินค่าสินค้าเพื่อการเป็นลูกข่ายในระดับที่สูงมาก เท่าที่ได้ยินมาต้องจ่ายมากกว่า 200,000 บาท แต่ที่ต้องตั้งข้อสังเกตุก็คือ ข้อมูลและวิธีการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการอบรมนั้น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน และไม่ได้เป็นข้อมูลที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน คือ ทุกคนสามารถหาดูได้จาก Google นอกจากนี้คอร์สอบรมเหล่านี้ ไม่ได้ตอบโจทย์ของผู้เข้ารับการอบรมจริง แต่เป็นความตั้งใจของเจ้าของคอร์สในการหาลูกข่ายเพื่อขายของให้กับตัวเองมากกกว่า
นายจตุรงค์ กล่าวถึงความนิยมของประชาชนที่เข้าคอร์สอบรมในลักษณะนี้ ก็เพราะอิทธิพลและการชักจูงของอินฟลูเอ็นเซอร์ รวมทั้งรูปภาพและข้อความประชาสัมพันธ์ความร่ำรวยของเจ้าของสินค้า และ/หรือ เจ้าของคอร์สอบรม รวมทั้งการรู้ไม่เท่าทันคนกลุ่มนี้ และไม่เข้าใจในระบบขายสินค้าออนไลน์อย่างแท้จริง ทำให้เกิดเป็นอุปาทานหมู่ จึงจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐต้องให้ความรู้กับประชาชน รวมทั้งการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนที่จะเกิดความเสียหายจากคอร์สอบรมเหล่านี้ เช่นความเสียหายที่เกิดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในปัจจุบัน
ขณะที่ ดร.ธีรพันธ์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีคอร์สอบรมขายสินค้าออนไลน์ เกิดขึ้นอย่างมากมายในประเทศไทย และหลายคนเรียก คอร์สฯ เหล่านี้ว่า เป็น MLM (Multi Level Marketing) คือ การจัดอบรมเพื่อหา “ลูกข่าย” (Down Line) ในการขายสินค้าหรือบริการให้กับผู้จัดการอบรม นั้น จะสรุปว่า เป็น MLM ได้ ก็ต่อเมื่อ ผู้จัดการอบรมเปิดเผยโครงสร้างผลตอบแทนของเครือข่ายอย่างละเอียด และต้องรู้ว่า สินค้าที่ผู้จัดการอบรมนำมาเสนอขาย หรือโน้มน้าวให้ผู้เข้ารับการอบรม “ซื้อ” สินค้าเพื่อไปขายต่อนั้น เป็นสินค้าที่ผู้จัดการอบรมผลิตขึ้นแอง เป็นเจ้าของเอง หรือเป็นเพียงตัวแทนจำหน่าย
เราคงต้องหาข้อมูลเบื้องต้นแบบนี้ก่อน เพราะการเป็นเจ้าของสินค้า กับการเป็นตัวแทนผู้จำหน่ายสินค้า แล้วเปิดคอร์สฯ หาผู้ช่วยขายสินค้าให้กับตัวเอง ก็อาจจะเป็นเรื่องของ SLM (Single Level Marketing) หรือ SO (Selling Online) แต่พัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ และการตลาดในยุคปัจจุบัน ที่เป็นลักษณะ Integrated marketing นั้น สื่อฯ ควรต้องทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลให้กับผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นถ้าจะสรุปว่า คอร์สอบรมขายของออนไลน์ที่มีอยู่ในขณะนี้ เป็น MLM นั้น คงยังไม่สามารถสรุปได้ และผู้ที่ต้องการเข้ารับการอบรมควรต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนเข้ารับการอบรม เนื่องจากการอบรมในลัษณะนี้ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง