นิวยอร์กไทม์สะเทือน!
นิวยอร์กไทม์สะเทือน! : ‘จอกอ’จักร์ กฤษ เพิ่มพูล
ไม่เพียงตัวแทนสื่อใน สปช.ที่ความสำคัญด้านฟากสิ่งพิมพ์น้อยลง หากในภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมสื่อระดับโลก ปรากฏการณ์ “เดอะ นิวยอร์กไทม์“ เป็นอีกครั้งที่ตอกย้ำความเชื่อว่า หนังสือพิมพ์ในรูปแบบเดิมกำลังรอความตายที่เฉียดใกล้มาเกือบถึงปลายจมูกแล้วนาทีนี้ นี่เป็นตรงข้ามกับบรรดาองค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กว่า 50 องค์กรทั่วประเทศไทย ที่ผมเดินสายไปให้ความมั่นใจ ว่า หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดในรูปแบบ community newspapers หรือหนังสือพิมพ์ชุมชน ที่รายงานข่าวใกล้ตัว เรื่องราวของสิ่งแวดล้อม การปกครองท้องถิ่น การเกษตร ยังคงอยู่ได้ และมีอนาคต
ขนาดของการบริหารกิจการ เงินทุน จำนวนพนักงาน ก็เป็นปัจจัยสำคัญในความอยู่รอด
กิจการใหญ่ พนักงานมาก การลงทุนสูง แต่ผลิตภัณฑ์อยู่ในภาวะถดถอย สะท้อนภาพเดอะ นิวยอร์กไทม์ ได้ชัดเจน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เดอะ นิวยอร์กไทม์ กิจการหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ของสหรัฐ ปลดผู้สื่อข่าวออก 100 คน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย จากรายได้โฆษณาที่ลดลง ในขณะเดียวกันก็เร่งลงทุนด้านสื่อดิจิทัล พวกเขาพบว่า มีผู้อ่านข่าวจากสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน คนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในยุค I หนังสือพิมพ์คือคนแปลกหน้า หลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ยุคใหม่ ต่างมุ่งไปสู่สื่อดิจิทัล เพื่อตอบรับความต้องการของตลาดแรงงาน
โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ค่อยๆ ขึ้นมาแทนที่คนรุ่นเก่า แต่คนรุ่นเก่าหรือกลางเก่ากลางใหม่ ยังเป็นกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหาหลัก หนังสือพิมพ์ที่มีอายุยาวนาน เช่น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ อายุเฉลี่ย 50+ พวกเขาถนัดในการทำสื่อสิ่งพิมพ์ มีความแหลมคม ลุ่มลึกในแบบคนหนังสือพิมพ์รุ่นเก่า แม้จะมีความพยายามหลอมรวมบางส่วนเข้ากับทีวีดิจิทัล แต่ในที่สุดก็ต้องยอมรับว่า คุณสมบัติของคนข่าวในแบบมัลติมีเดียนั้น มีไม่มากพอสำหรับความต้องการ
ทีวีดิจิทัล กับกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จึงแยกกันอย่างเด็ดขาด ยกเว้นไทยรัฐ ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์ของคนข่าวหนังสือพิมพ์ผ่านบางรายการของไทยรัฐทีวี
นักวิชาการและนักวิชาชีพในสหรัฐได้ศึกษาปรากฏการณ์ใกล้ล่มสลายของสื่อสิ่งพิมพ์มาแล้วหลายปี เขาเสนอให้องค์กรสื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และปฏิรูปการบริหารองค์กรสื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
การลดลงของส่วนแบ่งโฆษณาเป็นสัญญาณขององค์กรสื่อที่มีฐานจากสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะจากปี 2537 ที่สื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย งบโฆษณาลดลงครึ่งหนึ่งในเวลา 10 ปี ในขณะที่สื่อโทรทัศน์ได้รับงบประมาณโฆษณาเพิ่มขึ้น จนกระทั่งถึงยุคทีวีดิจิทัล เริ่มมีการเคลื่อนย้ายงบโฆษณามาสู่ทีวีดิจิทัล งบโฆษณาในสื่อออนไลน์ก็ขยายตัวเช่นเดียวกัน แม้ยังไม่มากพอที่จะคาดหวังในเชิงธุรกิจได้ มีเพียงสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีความพยายามปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถรักษาเม็ดเงินโฆษณาที่เคยมากเป็นอันดับสองรองจากสื่อโทรทัศน์
ดังนั้น การมุ่งไปสู่ดิจิทัลทีวี โดยผ่านการประมูลมูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้าน จึงเป็นความพยายามที่จะกระจายธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงในสื่อสิ่งพิมพ์ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ก็คาดหวังว่าจะมีเรตติ้งติดอยู่ในอันดับต้นๆ ต่างเข้ามาแย่งชิงเค้กก้อนเดิม ที่มีอัตราการเติบโตแต่ละปีไม่กี่เปอร์เซ็นต์
การลงทุนสูง แต่คาดหวังจุดคุ้มทุนระยะสั้นยาก กับสภาพการแข่งขัน ที่คุณภาพข่าวและรายการไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ภายในสามปีนี้ จะได้เห็นความตายของทีวีดิจิทัล
สิ่งที่น่ากลัว คือ ผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการตลาดและกองบรรณาธิการ เมื่อเนื้อหาถูกนำไปรับใช้ทุนเอกชน คนในกองบรรณาธิการต้องไปหาโฆษณาเองในรูปแบบต่างๆ เพราะความอยู่รอดคือปัจจัยสำคัญ ปัญหาด้านจริยธรรมก็จะติดตามมา