คนสื่อสะท้อนภาพ โซเชียลมีเดีย กำลังพัฒนาไปสู่โลกเสมือนมากขึ้น ส่งผลผู้รับสารตั้งตัวไม่ทันจนอาจตกยุค “รู้ไม่เท่าทันสื่อ” ขณะที่ Follower จำนวนไม่น้อย ติดตาม “คนโปรด” เพราะความบันเทิง ไม่ได้สนใจสาระอย่างที่ผู้โพสต์-ไลฟ์ ทึกทัก ด้านจิตแพทย์ชี้ โลกเสมือนกับชีวิตจริงกำลังหลอมรวมเข้าด้วยกัน ดังนั้น “อินฟลูเอนเซอร์” จึงต้องสื่อสารด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมเท่ากับชื่อเสียงที่มี ขณะที่นักวิชาการนิเทศฯ แนะ ถึงเวลา “ผู้มีอิทธิพลทางความคิด” ต้องรวมกลุ่มกำหนดกรอบการทำงานและจริยธรรม ก่อนที่รัฐจะใช้กฎหมายจัดระเบียบให้
รายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 MHz อสมท. เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 ได้หยิบยกประเด็น “วิมาน บนสื่อโซเชียล VS ชีวิตจริงในสังคม” ขึ้นพูดคุยกับ นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต และ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายณรงคสุทธิรักษ์ และนายสืบพงษ์ อุณรัตน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้จากปรากฏการณ์อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่มีบทบาทในฐานะผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้นำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเนื่องจากอินฟูเอนเซอร์ส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง จึงได้รับความสนใจและมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก กระทั่งก่อให้เกิดกระแส “อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์” จากประชาชนจำนวนไม่น้อย ขณะที่หลายคนประสบความสำเร็จเนื่องจากเข้าใจบทบาทและมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ขณะที่บางคนแม้จะประสบความสำเร็จและได้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ แต่กลับตกอยู่ในวังวนของโลกเสมือน กระทั่งนำวิธีปฏิบัติ-ประพฤติตน “ที่ไม่เหมาะสม” และ/หรือ “ไม่ถูกต้อง” ที่เคยทำบนโลกเสมือน ออกมาใช้ในโลกความเป็นจริง กระทั่งเกิดปัญหากับทั้งตัวเอง ผู้คนรอบข้าง และกับสังคม ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า คุณสมบัติที่ดีของ อินฟลูเอนเซอร์ คืออะไร และผู้รับสาร (Audience) จะต้องตั้งรับ หรือต้องมีวิธีการติดตามอย่างไร
นางสาวกนกพร ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ทุกคนกำลังก้าวเข้าสู่โลกเสมือน (Virtual Reality) ที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ และการสื่อสารจะไม่ได้มีแค่การรับสาร-ส่งสารเท่านั้น แต่สื่อออนไลน์จะเป็นช่องทางและเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เกือบทุกอย่าง พร้อมกับเปิดโอกาสให้กับประชาชนทั่วไป ในการสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียง หรือนำผลงานของตัวเองที่ไม่มีมีโอกาสเผยแพร่ได้ในสังคม เผยแพร่สู่สาธารณะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้มากขึ้น แต่จะเป็นการเผยแพร่ที่ผู้รับสาร (Audience) ไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากเนื้อหา (Content) จะมีมากขึ้น กระทั่งอาจทำให้ผู้รับสารตกยุคหรือตามไม่ทันสื่อสังคมออนไลน์
“โซเชียลมีเดีย เป็นโอกาสของคนตัวเล็กที่มีความสามารถแต่ขาดโอกาส แต่ในอีกมุมหนึ่ง โซเชียลมีเดีย ก็สร้างปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่เข้าไปเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และจะเป็นกลุ่มสร้างข่าวลวง หรือส่งข้อมูลปลอม (Fake News) เพื่อหวังค่าโฆษณาจากยอดผู้ติดตาม (Follower) ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นสำหรับผู้รับสาร (Audience) คือ อาจรู้เท่าทันไม่มากพอ เนื่องจากการหลอกลวงมีปริมาณเพิ่มขึ้น และผู้ที่ถูกหลอกลวงด้วยความไม่รู้ ก็มีเพิ่มสูงขึ้น กระจายตัวมากขึ้น ขณะที่การรู้เท่าทันแทรกซึมได้ไม่เร็วพอ ผู้รับสารและสังคมจึงควรช่วยกันเฝ้าระวัง และต้องเรียนรู้เพื่อให้รู้เท่าทันมากขึ้น”
ส่วนกรณีอดีตพระสงฆ์ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ และกำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ นางสาวกนกพร ให้ความเห็นว่า เนื่องจากคนไทยชอบสนุก ดังนั้นการที่อินฟลูเอนเซอร์บางคนหยิบยกบางเรื่องบางประเด็นที่ไม่มีข้อมูลหรือไม่รู้จริงขึ้นพูดคุยกับแฟนคลับ หรือ FC บนสื่อสังคมออนไลน์นั้น FC อาจจะติดตามเพื่อความสนุก ความบันเทิง หรือเห็นว่า เป็นเพียงการแสดงที่เกิดจากลีลาและสไตล์เฉพาะตัวของอินฟลูเอนเซอร์เท่านั้น ไม่ได้ต้องการสาระความรู้ในเชิงวิชาการหรือข้อเท็จจริงหรือความถูกต้อง ดังนั้นอินฟลูเอนเซอร์ จึงต้องตระหนักว่า ก่อนที่จะตัดสินใจวิพากวิจารณ์เรื่องใด ภายใต้บทบาทและสถานภาพของตัวเองที่เป็นอยู่ รวมทั้งกรอบกติกาต่าง ๆ นั้น ควรต้องพิจารณาว่า ทำได้แค่ไหน และออกนอกกรอบหรือไม่ เช่น กรณีพระสงฆ์กับฆราวาส กฎ-กติกาในการวิพากษ์วิจารณ์ย่อมไม่เท่ากัน ที่สำคัญคือ อินฟลูเอนเซอร์ ต้องทำความเข้าใจความนิยมที่ FC มีให้ว่า เป็นความนิยมแบบไหน เพื่อที่จะบริหารและจัดการตัวเองได้อย่างถูกต้อง
ด้าน ดร.นพ.วรตม์ ได้สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย ที่มีสาเหตุมาจากสื่อสังคมออนไลน์ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันสังคมออนไลน์เกือบจะหลอมรวมเข้ากับชีวิตประจำวันแล้ว ต่างกับเมื่อครั้งที่ Facebook หรือ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในฐานะของเล่นชิ้นใหม่ แต่ปัจจุบันภาพลักษณ์ของสื่อสังคมออนไลน์เปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นของเล่นมาเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับชีวิตประจำวัน ดังนั้น Facebook จึงเป็นช่องทางสื่อสารที่เป็นปกติรูปแบบหนึ่งที่เข้าร่วมอยู่กับชีวิตประจำวันของคนไทย ฉะนั้นการที่จะสรุปว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทยที่เกิดจากโซเชียลมีเดียล้วน ๆ จึงไม่สามารถแยกออกได้อีกต่อไป
ส่วนกรณีอินฟลูเอนเซอร์ ที่อยู่บนโลกของสื่อสังคมออนไลน์เสมือนอยู่บนวิมาน มีชื่อเสียง มีรายได้ และมีผู้ติดตาม (Follower) เป็นจำนวนมาก สามารถชี้ไม้เป็นนก ชี้นกเป็นไม้ได้ กระทั่งวันหนึ่งต้องออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง และได้นำวิธีการใช้ชีวิต ตลอดจนพฤติกรรมของตัวเองบนโลกของสื่องสังคมออนไลน์มาใช้ในชีวิตจริง แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากแฟนคลับ หรือ FC ทั้ง ๆ ที่เป็น FC กลุ่มเดียวกับที่อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์นั้น
นพ.วรตม์ กล่าวว่า ชื่อเสียงและการยอมรับของคนหมู่มากนำมาสู่พลังและอำนาจ แต่ยิ่งมีอำนาจมากเท่าไร ก็จะต้องมีความรับผิดชอบที่มากขึ้นเท่านั้น หรือ The great power comes with great responsibility นั้น น่าจะหมายความรวมถึงกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ด้วย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงคือ เมื่อ อินฟลูเอนเซอร์ (บางคน) มีชื่อเสียงมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น แต่กลับไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์ในกลุ่มนี้ ได้ชื่อเสียงมาง่าย จากโซเชียลมีเดียจึงอาจทำให้ไม่ทันเตรียมใจว่า จะต้องมีความรับผิดชอบตามมาด้วย แต่ก็ต้องพึงระวังว่า หากเด็กและเยาวชนติดตามอินฟลูเอนเซอร์ในกลุ่มนี้ และลอกเลียนแบบโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะกลายเป็นจุดบอดและเป็นอันตรายต่อทั้งตัวเด็กเยาวชน ครอบครัว และสังคมในที่สุด
“อินฟลูเอนเซอร์ ไม่ได้ถูกฝึกมาให้มีความรับผิดชอบที่เท่ากัน แต่ก็สามารถเตือนตัวเองได้ว่า เรากำลังหากินโดยการทำตัวเองเป็นสื่อ แม้อินฟลูเอนเซอร์หลายคนจะบอกว่า ไม่ใช่สื่อ ไม่เกี่ยวกับสื่อ แต่จริง ๆ พวกคุณก็คือสื่อ เพราะคุณกำลังส่งข้อความให้ประชาชนหมู่มากเหมือนกับสื่อ พวกคุณจึงต้องมีจรรยาบรรณและมีความรับผิดชอบที่สูงเท่า ๆ กับชื่อเสียงของคุณ ฉะนั้นใครที่อยากเดินทางสายนี้ ก็ขอให้ตระหนักในเรื่องนี้ให้มากด้วย” นพ.วรตม์ กล่าว
ขณะที่ รศ.พิจิตรา กล่าวว่า อินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทย มีพัฒนาการและก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนไทยทุกคนกำลังอยู่ในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป (Media Landscape) ทำให้อินฟลูเอนเซอร์ ได้รับการยกระดับให้มีความสำคัญมากขึ้น อินฟลูเอนเซอร์ คือ ฮับ (Hub) ที่มีพื้นที่ในการรวบรวมผู้คน ไว้ได้เป็นจำนวนมาก สินค้าต่าง ๆ ให้ความสนใจว่าจ้างให้โฆษณา ภูมิทัศน์ในเรื่องของการหารายได้ของสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) จึงเปลี่ยนไป รวมถึงการวางสินค้า (Product Placement) ก็เปลี่ยนไปด้วย อินฟลูเอนเซอร์รายใหญ่มาก (Mega Influencer) ออกแบบรูปแบบหน้าเพจไว้รองรับการโฆษณาอย่างชัดเจน ฟลูเอนเซอร์รายเล็ก (Micro Influencer) ก็ใช้วิธีการเปิดเผยตัวตน และพยายามสื่อสารกับสังคมว่า ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ด้านใดด้านหนึ่งบนโลกออนไลน์
สำหรับอินฟลูเอนเซอร์ในกลุ่มที่มีความสุขสบายในวิมานบนสื่อโซเชียล และต้องออกมาใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง กระทั่งอินฟลูเอนเซอร์บางคน เกิดปัญหาขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้างนั้น ในทางนิเทศศาสตร์ มีทฤษฎีอัตลักษณ์ ของบุคคลที่อยู่ในโลกเสมือนกับโลกแห่งความเป็นจริงนั้น จะเห็นได้ว่า บุคคลสามารถประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองได้ ทั้งในชีวิตจริงและในโลกเสมือน
“แต่การมีชีวิตเสมือนของหลายคน ไม่เหมือนชีวิตจริง เช่น เกรียนคีย์บอร์ดบางคนที่ปากจัด หรือเปรี้ยวมากบนโลกออนไลน์ ปรากฏว่า ตัวจริงเรียบร้อยมาก ตรงนี้ก็กลายเป็นดับเบิ้ลอัตลักษณ์ ซึ่งก็เป็นอีกทฤษฎีหนึ่ง และในทางนิเทศศาสตร์ ก็ศึกษาว่า อัตลักษณ์ในโลกจริงกับโลกเสมือนอาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ตอนนี้ โลกของเรา มีความซับซ้อนขึ้น และมีหลายชั้น (Layer) เราก็ต้องปรับตัวตามเหมือนกัน”
รศ.พิจิตรา ยังอธิบายต่อไปอีกว่า โลกเสมือนจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะมีกฎเกณฑ์ทางสังคม หรือมีกฎหมายตามไปด้วย เช่นเดียวกับสังคมหรือโลกในชีวิตจริงที่มีกฎเกณฑ์มีระเบียบกติกากำกับดูแลอยู่ และเนื่องจากปัจจุบันการอยู่บนโลกเสมือนก็จะคล้ายกับโลกแห่งความเป็นจริง เพราะเป็นที่ชุมนุมของคนจำนวนมาก มีสังคมเกิดขึ้น จึงต้องมีการป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามซึ่งกันและกันของชาวเน็ต หรือไม่ให้มีการหมิ่นศักดิ์ศรี หรือลดทอนความเป็นมนุษย์ ดังนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงมีกฎกติกาอย่างไรทำอะไร บนโลกเสมือนก็จะต้องมีและจะต้องด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของจริยธรรม และจรรยาบรรณ ของผู้ที่อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันบรรดา Global Platform เช่น Facebook Twitter หรือแม้แต่ Tiktok ก็เริ่มมีกฎระเบียบเข้าควบคุมคนในแพลตฟอร์มตัวเองแล้ว
“อาจจะถึงเวลาที่ อินฟลูเอนเซอร์ ต้องพบปะกัน รวมกลุ่มกัน และกำหนดจริยธรรมจรรยาบรรณของตัวเองร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพราะต้องคำนึงว่า ตัวเองมีอิทธิพลเยอะแล้ว และหากยังไม่กำกับดูแลตัวเอง สุดท้ายรัฐบาลหรือกฎหมายก็จะเข้าไปกำกับดูแล” รศ.พิจิตรา ระบุ