ความเป็นมาและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาพิจารณานั้น ได้มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเป็นความพยายามของรัฐที่จะเข้ามาควบคุมสื่อหรือไม่
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงขอหยิบยกสาระสำคัญของร่างระราชบัญญัติดังกล่าวมานำเสนอให้ทราบ ดังนี้
1. ให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการปฏิบัติตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
2. สภาวิชาชีพฯ มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ การรับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามจริยธรรม ติดตามดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามจริยธรรม ส่งเสริมการรวมกลุ่มและกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน ฯลฯ
3. รายได้หลักของสภาวิชาชีพฯ มาจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เป็นรายปีตามที่สภาร้องขอตามความจำเป็น แต่ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท
4. กรรมการสภาวิชาชีพฯ ประกอบด้วย 1) ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผ่านการเลือกกันเอง และสรรหารวม 5 คน 2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนมาจากผู้มีประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อฯ กฎหมาย สิทธิมนุษยชน คุ้มครองผู้บริโภค และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ ด้านละ 1 คน และ 3) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมแล้วมีกรรมการทั้งหมด 11 คน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
5. คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ การบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาฯ กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่มีการละเมิดเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พิจารณาอุทธรณ์คัดค้านผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม พิจารณารับรองหลักสูตรหรือการฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองหรือส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน ฯลฯ
6. ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จัดให้มีสำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อทำหน้าที่ด้านธุรการและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาและคณะกรรมการสภา
7. ให้คณะกรรมการสภาฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมจำนวน 7 คนจากกรรมการสภาฯ 2 คน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 1 คน และผู้แทนนักวิชาการสื่อฯ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและสภาทนายความ อีกด้านละ 1 คน โดยมีหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน
8. คณะกรรมการจริยธรรรมมีอำนาจตรวจสอบและพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ถูกร้องเรียนไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่จดแจ้งกับสภาฯ เท่านั้น ในกรณีที่เป็นเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในอำนาจขององค์กรวิชาชีพที่จดแจ้งแล้ว จะต้องส่งให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นพิจารณา โดยคณะกรรมการจริยธรรมและสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ (ตามหลักการกำกับดูแลกันเองของสื่อ) เว้นแต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นเพิกเฉยดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียน หรือดำเนินการพิจารณาต่ำกว่ามาตรฐานจริยธรรมที่สภาวิชาชีพกำหนด
9. โทษจากการฝ่าฝืนจากการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน ได้แก่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ และตำหนิโดยเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้ อาจสั่งให้มีการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนด้วย และในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมเห็นว่าการฝ่าฝืนจริยธรรมเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย จะแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปก็ได้
10. บทเฉพาะกาล กำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยธุรการของสภาฯ และมีคณะกรรมการสภาชั่วคราวจำนวน 11 คน จากกรมประชาสัมพันธ์ กสทช. ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่จัดทำข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศ เท่าที่จำเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ฯลฯ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ และดำเนินการให้มีคณะกรรมการสภาฯ ชุดแรกภายในเวลา 270 วัน (เมื่อครบ 2 ปี กรรมการชุดแรกจะต้องมีการจับสลากออกจำนวน 4 คน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของคณะกรรมการสภาฯ)
ส่วนขั้นตอน และกระบวนการได้มาของร่างพระราชบัญญัติฯ และเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฯ รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ สามารถดาวน์โหลดไฟล์ตามที่แนบมาด้านล่างนี้
ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. ….
สรุปผลการพิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….