สะท้อนปัญหา “สื่อทีวีขยี้ซ้ำ” ข่าวเด็กเยาวชนถูกกระทำ แถมละเมิดกระบวนการยุติธรรม เหตุ “ติดกับดักเรตติ้ง” ชี้ไม่ควรทำรายการสด งดนำคู่กรณีเผชิญหน้า พร้อมแนะศึกษากฎหมายให้ถ่องแท้ และรู้จักรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ ด้านสภาการสื่อฯ ย้ำแนวปฏิบัติในการทำงานมีมานานแล้ว ไม่เป็นสมาชิกฯ ก็ใช้ได้ ขณะที่ บก.บห. ไทยพีบีเอส ตั้งคำถาม ฤาสื่อ “ต้องการจับคนร้าย”
รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทาง MCOT News FM 100.5 วันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2565 ได้สนทนาในหัวข้อ “ข่าวล่วงละเมิดทางเพศ แค่ไหนถึงเหมาะสม” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และนายคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ มองประเด็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงว่า 10 ปีที่ผ่านมา รายการทีวีประเภทสัมภาษณ์ แบบซอฟทอล์ค ทอล์คโชว์ ในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก และมักเป็นประเด็นปัญหาในกลุ่มสื่อทีวี คือผู้ประกาศข่าว หรือผู้ดำเนินรายการ ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้นำเสนอแบบซักไซ้ไล่เรียง(เจาะลึก)แขกรับเชิญที่เป็นสมาชิกในครอบครัวของเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำและ/หรือ ถูกคุกคามจากคนในครอบครัว คล้ายกับการซักพยานในกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญการคือ รายการเหล่านี้จะเป็นรายการสด จึงไม่สามารถตัดทอน กลั่นกรอง หรือตรวจสอบเนื้อหา-ภาพ จากกระบวนการบรรณาธิการก่อนที่จะมีการเผยแพร่ จึงมีโอกาสอย่างมากที่เด็กและเยาวชน จะถูกล่วงละเมิดซ้ำจากรายการในลักษณะนี้ ขณะที่ผู้ดำเนินรายการเองก็เสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมาย และรวมทั้งฝ่าฝืนจริยธรรมในฐานะคนทำงานสื่อ
นายธาม ยังได้ตอบคำถาม กรณีองค์กรสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ ไม่ใส่ใจกับมาตรฐานทางวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ปัจจุบันผู้ที่เป็นสื่อมวลชนมาจากหลากหลายสาขา เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่เปิดกว้าง คนทำสื่อในกลุ่มนี้ที่นอกจากจะไม่เข้าใจการทำหน้าที่สื่อเนื่องจากไม่มีพื้นฐานทางด้านวิชาชีพแล้ว ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความรู้ทางด้านกฎหมายอีกด้วย แต่ก็สามารถแก้ไขได้ ด้วยการมีนักกฎหมาย/ทนายความเป็นที่ปรึกษารายการว่า ทั้งเนื้อหาและภาพที่เตรียมไว้เพื่อการออกอากาศสดนั้น สามารถเผยแพร่ได้หรือไม่ หรือเผยแพร่ได้แค่ไหน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเปิดช่องให้ทำ หรือมีข้อห้ามอย่างไร
“ผมกำลังตั้งคำถามถึงกระบวนการในวิชาชีพสื่อสารมวลชนปัจจุบัน แค่ในเชิงมาตรฐานวิชาชีพเท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงกฎหมาย ซึ่งนักกฎหมายที่อยู่ในสถานี ในกองบรรณาธิการ หรือแม้กระทั่งบรรณาธิการข่าว หรือโปรดิวเซอร์ พิธีกร ผู้ประกาศข่าวนั้น คนเหล่านี้ มีความรู้ มีมาตรฐานวิชาชีพ “ถึง” หรือไม่ และคนที่เป็นสื่อจะอ้างว่า ตัวเองไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เพราะกฎหมายเหล่านี้มีมาตั้งแต่ปี 2546 / 2550 / 2553 ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองเด็ก 2546 (พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กฎหมายวิธีการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน 2553 (พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 (แก้ไขปรับปรุงตาม ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559) ที่คุ้มครองผู้ถูกละเมิด ก็มีมานานแล้ว ถ้าต้องทำรายการในลักษณะนี้ ก็จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้”
นายธาม ยังได้มีข้อเสนอสำหรับรายการในลักษณะนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย และ/หรือ ละเมิดจริยธรรมสื่อรวม 3 ประการคือ
1) รายการที่เกี่ยวข้องกับคดีความรุนแรงเด็กและเยาวชน ในครอบครัว ไม่ควรทำรายการสด
2) ไม่ควรเปิดพื้นที่ให้สังคมแสดงความคิดเห็น ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ที่รายการเผยแพร่แบบสด ๆ (Live Stream)
3 )ต้องปกป้องอัตลักษณ์ รวมทั้งชื่อเด็ก นามสกุล ที่อยู่ บ้านโรงเรียน ที่โยงถึงเด็กและเยาวชน
“ทุกวันนี้รายการในลักษณะนี้ มีการสัมภาษณ์อย่างละเอียด จนตำรวจแทบไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว คือ จบรายการตำรวจก็ไปรอจับกุมตัวและนำเข้าคุกได้เลย เรื่องแบบนี้สื่อมวลชนต้องระมัดระวัง เพราะนี่คือ การก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมทางหนึ่งด้วย”
ด้านนายวีรศักดิ์ โชติวานิช ระบุถึงแนวปฏิบัติในการทำข่าวในลักษณะนี้ว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีแนวปฏิบัติการทำงานข่าวในลักษณะและสถานการณ์ต่าง ๆ รวม 12 ฉบับ โดยได้มีการปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับบริบทปัจจุบันของสังคมไทยและสังคมโลกไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยึดถือและยอมรับ ครอบคลุมองค์กรสมาชิกสื่อ “ทุกแพลตฟอร์ม” ซึ่งทุกสื่อสามารถนำไปเป็นหลักปฏิบัติในการทำหน้าที่สื่อได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือไม่ก็ตาม
“สื่อเป็นอาชีพที่ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเหมือนหมอ ทนายความ วิศวกร ฯลฯ ที่มีกฎหมายควบคุม สื่อควบคุมดูแลกันเอง มีใบอนุญาตที่ออกให้กันเอง ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย ฉะนั้นผู้ทำหน้าที่สื่อ จึงต้องอยู่ในกรอบและจริยธรรม และต้องอดทนต่อการทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะไม่มีเรตติ้ง หรือเรตติ้งน้อย ก็ต้องอดทน เพราะเชื่อว่า ในระยะยาวถ้าทุกองค์กรสื่อยอมรับ สังคมยอมรับ เรตติ้งของสื่อในกลุ่มที่ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม ก็จะได้รับการยกฐานะที่สูงขึ้น แต่สังคมก็ต้องปรับ (พฤติกรรม) ให้เป็นวิถีใหม่ด้วยคือ ให้การยอมรับสื่อที่ถูกต้อง และสื่อที่อยู่ในกรอบจริยธรรม ด้วยเช่นกัน”
นายคณิศ บุณยพานิช ระบุว่า กรณีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศนั้น ไม่ว่าจะเป็นรายการทอล์ค หรือรายการใด หรือแม้แต่การนำเสนอข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีคู่มือหรือแนวปฏิบัติในการทำหน้าที่เหมือนที่สื่อสำนักต่าง ๆ มี ซึ่งทุกคนเข้าใจและถือปฏิบัติมาโดยตลอด ส่วนประเด็นที่มีการตั้งคำถามถึงรายการโทรทัศน์ที่นำเนื้อหาการล่วงละเมิดเด็กและเยาวชนออกอากาศเป็นรายการสดนั้น คงต้องพิจารณากันว่า การเจาะลึกลงไปในรายละเอียด รวมทั้งการนำเสนอภาพของผู้เสียหาย-ผู้สูญเสียแบบซ้ำ ๆ (Stereo Type) นั้น คุณค่าข่าวอยู่ตรงไหน หรือเป็นเพราะ สื่อที่นำเสนอแบบเจาะลึก ต้องการจะจับคนร้าย
“โจทย์สำคัญที่กองบรรณาธิการของไทยพีบีเอส จะคุยกับทีมข่าวก็คือ หลักคิดที่ว่า ให้ทีมข่าวสมมติว่า พวกเขาเป็นญาติของผู้เสียหาย และขอให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในฐานะญาติ หรือคนในครอบครัวอยากเห็นเรื่องแบบนี้อย่างไร และจะเสนอข่าวในรูปแบบไหน ภาพ-เรื่องราวที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ถ้าเป็นญาติเรา และต้องมีภาพปรากฏเป็นข่าวแบบที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร แต่หากเลี่ยงไม่ได้และต้องนำเสนอจริง ๆ ก็จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการผู้กระทำผิด และชี้ให้เห็นช่องว่างที่เป็นโอกาสให้เกิดการกระทำความผิด ซึ่งต้องเน้นมากกว่าการตอกย้ำความเสียหายของผู้เสียหาย ที่สำคัญคือ คนในวงการสื่อควรต้องพูดคุยหารือเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง สิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็อาจจะลดลงไปได้บ้าง”