แนวปฏิบัติฯ การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และภาพข่าว ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ พ.ศ. ๒๕๖๔

แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

เรื่อง การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และภาพข่าว ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ พ.ศ. ๒๕๖๔

เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงประกาศใช้แนวปฏิบัติ เรื่อง การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และภาพข่าว ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ พ.ศ. ๒๕๖๔ ดังนี้

ข้อ ๑ การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป เกี่ยวกับผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีดังนี้

๑.๑ ต้องไม่ ระบุชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ และภาพข่าวของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ และภาพข่าวของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากรณีใด ๆ หรือสิ่งที่ทำให้รู้หรือสามารถรู้ได้ เช่น ภาพที่เกิดเหตุ ข้อมูลสถานศึกษา ที่ทำงานของผู้เสียหาย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียหายด้วย

๑.๒ ในกรณีผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ ๑.๑ เว้นแต่การเผยแพร่ข้อมูลนั้น เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยสามารถนำเสนอได้เฉพาะภาพหน้าตรงของผู้เสียชีวิตขณะมีชีวิตอยู่เท่านั้น

๑.๓ พึงระมัดระวัง การใช้ภาษา การให้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ โดยต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หรือความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียงเกียรติคุณผู้เสียหาย และไม่ตอกย้ำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องเพศอันเนื่องมาจากการล่วงละเมิดทางเพศนั้น

ข้อ ๒ ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ตามแนวปฏิบัติฉบับนี้หมายถึง ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๓ เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายจากการนำเสนอของสื่อในช่องทางออนไลน์ได้รับผลกระทบอย่างถาวร สื่ออิเล็กทรอนิกที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าว เนื้อหาข่าว ความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ที่สร้างผลกระทบทางลบแก่ผู้เสียหาย ต้องรับผิดชอบด้วยการนำออกจากช่องทางออนไลน์ หรือชี้แจงเพื่อเยียวยาผู้เสียหาย แล้วแต่วิธีการใดที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เสียหายนั้น

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

641109แนวปฏิบัติผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ.pdf (389 downloads )