เมื่อจริยธรรมสื่อต้องอยู่คู่กับธุรกิจ หลังโควิด-19

สภาวิชาชีพฯ ไทย-อินโดฯ ปลุกคนสื่อ ปกป้องสิทธิ์อันพึงได้จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่างที่ออสซี่กำลังทำ ด้าน “ระวี ตะวันธรงค์” ชี้ เฟซบุ๊ค ไม่ใช่ของคนข่าวอีกต่อไป และ “ยอดวิว” จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง  ด้านนักวิชาการ ยกโมเดลยูเนสโก “พลเมืองรู้เท่าทัน” ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมให้สังคมตัดสิน “สำนักไหนตัวจริง”

6 พฤศจิกายน 2564 น.ส.กรชนก รักษาเสรี  อนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ในประเด็น “เมื่อจริยธรรมสื่อต้องอยู่คู่กับธุรกิจ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ถึงการประชุมทวิภาคีระหว่างสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กับสภาการสื่อมวลชนอินโดนีเซีย ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งได้มีการหยิบยกประเด็นการทำงานด้านต่าง ๆ ของทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นหารือ รวมทั้งการทำหน้าที่ของสื่อภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เบาบางลงนั้น สรุปได้ว่า ภายใต้ความจำเป็นทางธุรกิจนั้น สื่อก็ยังคงไว้ซึ่งจริยธรรมเหมือนเช่นที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ฝ่ายอินโดนีเซีย ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมอีกด้วยว่า กำลังศึกษาโมเดลของออสเตรเลีย ที่ประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองสื่อโดยเฉพาะสื่อในกลุ่มข่าว (ไม่รวมสื่อที่มีเนื้อหาด้านบันเทิง หรือด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ข่าว) เพื่อไม่ให้เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เอาเปรียบ แต่สื่อที่เป็นองค์กรทางด้านข่าวก็จะต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อต่อรองกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ได้ผลประโยชน์จากการนำข่าวของพวกเขาไปเผยแพร่ต่อ

“ออสเตรเลีย มีการกำหนดคุณสมบัติของสื่อในกลุ่มนี้ไว้ว่า จะต้องเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการผลิตข่าวเป็นหลัก ต้องมีมาตรฐาน มีความเป็นมืออาชีพ เป็นสื่อที่มีเสรีภาพไม่เอนเอียง และต้องมีการเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย”   
 
ด้าน นายระวี ตะวันธรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สปริงนิวส์ออนไลน์ กล่าวว่า ประเด็นธุรกิจกับจริยธรรมสื่อหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เบาบางลงนั้น เขามั่นใจว่า ตลอดเวลที่ผ่านมาองค์กรสื่อที่มีมาตรฐานในประเทศไทยต่างก็มีโครงสร้างการดำเนินงานในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่วิธีการอาจจะแตกต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในขณะนี้ก็คือ การที่แฟลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ค ประกาศปรับตัวเป็นโซเชียลมีเดียเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว เพื่อรองรับการใช้งานของประชาชนจริง ๆ ซึ่งหมายถึง เฟซบุ๊ค จะไม่ใช่แพลตฟอร์มในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนอีกต่อไป ดังนั้นธุรกิจสื่อจึงต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไร หาก เฟซบุ๊ค ไม่ได้มีไว้สำหรับงานข่าวอีกต่อไป 

“หลายปีก่อน มีการพูดกันว่า สื่อมวลชนกำลังจะตาย เพราะผู้รับสารสามารถเป็นสื่อเองได้ มาถึงวันนี้การเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งผมว่า เรามาถึงจุดเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นจุดที่มืออาชีพกำลังจะกลับมายืนได้บนแพลตฟอร์มดิจิทัล และต้องยืนอย่างเข้าใจ คือ ต้องพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาจริยธรรม ซึ่งต้องไม่ลืมว่า คนเสพสื่อทุกวันนี้เก่งขึ้น อะไรที่ไม่ดี ก็เริ่มจะไม่รับแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มจะไม่เสพเนื้อหาที่มียอดวิวสูง ๆ เพียงอย่างเดียว เหมือนที่ผ่านมา แต่จะเริ่มเน้นสาระ ความถูกถ้วน และความเป็นมืออาชีพของผู้นำเสนอมากขึ้น” 

ขณะที่ ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงประเด็นทางธุรกิจและจริยธรรมสื่อ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลงว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า หากสื่อใช้จริยธรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ สื่อนั้นๆ ก็จะประสบความสำเร็จในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อมากขึ้น ต้องการความโปร่งใส ความถูกต้อง และพิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อสังคมโลกมากขึ้น 

นอกจากนี้เรากำลังจะก้าวเข้าสู่โลกของ Metaverse ของเฟซบุ๊ค และแผนขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในสังคม และการขับเคลื่อนนวัตกรรม ฉบับปี ค.ศ. 2030 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ก็มีนัยยะที่ชัดเจนว่า โลกแห่งอนาคตอันใกล้นี้ จะต้องอาศัยความฉลาดทางดิจิทัลของพลเมืองที่มีความรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่า หรือผู้ที่จะมาเป็นสื่อ จะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ พร้อม ๆ กับจะต้องยึดมั่นจริยธรรมสื่อให้ได้ด้วย