Fake News ในใจคนรุ่นใหม่
“คนรุ่นใหม่” เข้าใจพิษภัยข่าวปลอม แต่มองว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ขณะที่ Cofact ได้ต้นแบบนวัตกรรมตรวจสอบ Fake News จากทีมนักศึกษา ด้าน Mentor จาก Google ให้ข้อคิดเครื่องมือดีแค่ไหน ถ้าพฤติกรรมคนไทยไม่เปลี่ยน ก็คงไปได้ลำบาก พร้อมแนะกระทรวงศึกษาบรรจุหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อให้เด็กนักเรียนในระดับชั้นประถม
16 ต.ค. 2564 ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาสื่อมวลชนแห่งชาติ” ในประเด็น “fake news ในใจคนรุ่นใหม่” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท ว่า หลังจาก Cofact และอีกหลายหน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมเพื่อการตรวจสอบข่าวลือ ข่าวลวง มาเป็นเวลาประมาณ 3 ปี แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากนัก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
ดังนั้น สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) รวมทั้งภาคีร่วมจัด ประกอบด้วย มูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โคแฟค (ประเทศไทย) มูลนิธิฟรีดิชเนามัน (ประเทศไทย) Humanitarian Dialogue และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น จึงได้ร่วมกันจัดการแข่งขัน “Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic ระดมสมองเชิงลึก หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต-นักศึกษาจากทั่วประเทศ คิดค้นนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสังคมไทยให้ความสนใจในการตรวจสอบข่าวลือข่าวปลอมเพิ่มมากขึ้น
โครงการนี้ มีสนใจเข้าร่วมและผ่านเข้ามาจนถึงรอบสุดท้าย จำนวน 5 ทีม โดยทีมชนะเลิศคือ “ทีมบอท” ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงานที่มีชื่อว่า “Chek-On” ซึ่งเป็นต้นแบบนวัตกรรมการตรวจสอบข่าวปลอมที่ทำได้เพียง “คลิ๊กขวาบนเม้าท์คอมพิวเตอร์แล้วคลุมดำ (select all) บนเนื้อหานั้นๆ” ก็จะทำให้รู้ได้ทันทีว่า ข้อความ หรือข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ เป็นข่าวจริง ข่าวปลอม หรือข่าวลวง ขณะที่ทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง มีผลงงานในลักษณะดิจิตอลอีเลิร์นนิ่ง โดยเพิ่มทักษะตรวจสอบข่าวลือ ข่าวปลอม และการรู้เท่าทัน และทีมที่ได้รองชนะเลิศอันดับ 2 เสนองานเผยแพร่วิธีการตรวจสอบข่าวปลอมในรูปแบบการ์ตูนออนไลน์ หรือเว็บตูน เพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่ ส่วนอีก 2 ที่เหลือ ก็มีความน่าสนใจและจะได้มีการพัฒนาต่อยอดต่อไป
ด้าน น.ส. สุธิดา บัวคอม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตัวแทน “ทีม บอท” ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศในการประกอวครั้งนี้ กล่าวว่า แม้ Fake News จะเป็นอันตราย แต่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมองว่า เป็นเรื่องไกลตัวและไม่ได้ส่งผลร้ายแรง เช่น ข่าวน้ำมะนาวรักษาโรค แต่สำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับข่าวปลอมและต้องการตรวจสอบนั้น เข้าถึงเครื่องมือได้ยาก เธอและเพื่อน ๆ ในทีมจึงตัดสินใจคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการค้นหาข่าวลวงข่าวปลอมให้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น จึงเป็นที่มาของรางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้
“แต่แม้จะมีเครื่องมือในการตรวจสอบข่าวลวงข่าวปลอมที่ดี แต่ถ้าพฤติกรรมผู้รับข้อมูลข่าวสารยังไม่เปลี่ยน คือได้รับอะไรมาก็แชร์ต่อทันที ตรงนี้ก็คงจะเหนื่อย นอกจากนี้ลักษณะนิสัยของคนที่มองว่า Fake News ไม่ได้ร้ายแรง แค่ทำให้เข้าใจผิดเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว Fake News สามารถสร้างอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราได้ ดังนั้นจึงต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้พร้อมกับต้องมีนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการตรวจสอบด้วย” น.ส.สุธิดา กล่าว
ขณะที่ นายธนภณ เรามานะชัย วิทยากร Google News Initiative ซึ่งเข้าร่วมโครงการนี้ ในฐานะ Mentor กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกประสบปัญหา Fake News เหมือนกัน และแม้ที่ผ่านมาจะมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงจุด เนื่องเพราะผู้รับสารสามารถเป็นผู้ส่งสารผ่านสื่อ Social ได้ สิ่งที่สามารถทำได้ในขณะนี้ จึงต้องเป็นเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ขณะที่ผู้รับสาร ก็ต้องตั้งคำถามถึงข้อมูลที่ได้รับมาว่า จริงหรือไม่ แหล่งที่มาของข้อมูลมาจากไหน ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ ก็ควรพิจารณาบรรจุเรื่อง การรู้เท่าทันสื่อ เข้าไว้ในหลักสูตรและเป็นวิชาพื้นฐานของนักเรียนในระดับชั้นประถม เช่น วิชาสังคมศึกษา ได้แล้ว
“ผลงานของนักศึกษา โดยเฉพาะนวัตกรรมของทีมที่ชนะเลิศการประกวดในครั้งนี้ เป็นพัฒนาการที่แตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางเลือกให้กับประชาชนที่ต้องการใช้งาน และคงต้องพัฒนาต่อยอดไปถึงขั้นดาวน์โหลดมาใช้งานได้จริง และหวังว่า จะเป็นนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้รับสารได้ในอนาคต แม้ว่า พฤติกรรมของคนจะไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที แต่ก็ต้องพยายามพร้อม ๆ กับการให้ความรู้อย่างเช่นที่ Cofact กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้” นายธนภณ กล่าว