สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกาศใช้แนวปฏิบัติ 3 ฉบับเรื่อง การทำข่าวเด็ก ผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ปรับปรุงใหม่ พร้อมตั้ง “นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์” นั่งเก้าอี้เลขาธิการ และ “นพปฎล รัตนพันธ์” เป็นรองเลขาธิการ ขณะที่โครงการ “FACTkathon ได้ทีมชนะเลิศแล้ว จัดสัมมนาผลงาน มอบรางวัล 24 พ.ย.นี้
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลา 13.00 น. มีวาระสำคัญคือ รับทราบการแจ่งตั้งกรรมการใหม่แทนนายชาย ปถะคามินทร์ กรรมการและเลขาธิการ ที่ลาออกจากตำแหน่ง โดยคณะกรรมการสรรหากรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ได้ดำเนินการรับสมัคร และตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครแล้ว จึงมีมติให้นายนพปฎล รัตนพันธ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารและรักษาการหัวหน้าข่าวอาชญากรรมและชุมชนเมือง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติคนใหม่
จากนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้เสนอชื่อเลขาธิการ คนใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ รองเลขาธิการ คนที่ 1 เป็นเลขาธิการ และให้นายนพปฎล รัตนพันธ์ เป็นรองเลขาธิการ คนที่ 1 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้ง น.ส.อศินา พรวศิน อดีตประธานชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ เพิ่มเติม
ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงแนวปฏิบัติการเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมได้มีมติรับรองแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการจริยธรรม ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 3 ฉบับ คือ แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับผู้หญิง และแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (รายละเอียดติดตามจากเว็บไซด์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ https://www.presscouncil.or.th/regulation/)
ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ เปิดเผยผลการจัดกิจกรรม “FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic” โครงการแข่งขันระดมสมองเชิงลึก “หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ส.ส.ส. มูลนิธิฟรีดริชเนามัน Centre for Humanitarian Dialogue และภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 8-10 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีทีมนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 5 ทีมในการเสนอแนวคิดการพัฒนากลไกการตรวจสอบ และรับมือสถานการณ์โรคระบาดของข่าวลวง ข่าวปลอม ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการจัดสัมมนาระดับชาติ เพื่อให้น้องๆ ทั้ง 5 ทีมนำเสนอไอเดีย และมอบรางวัลให้กับทีมที่ชนะเลิศ รองชนะเลิศ และรางวัลชมเชย ในวันที่ 24 พ.ย. 2564
นายชวรงค์ ยังกล่าวถึงการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ต่อร่างแนวปฏิบัติการเสนอข่าวการฆ่าตัวตายว่า ขอเชิญกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในวันจันทร์ที่ 25 ต.ค. 2564 โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงเช้าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน และในช่วงบ่ายจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการจัดในระบบออนไลน์ (ZOOM meeting)