ธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
ตามที่คณะผู้บริหารกิจการหนังสือพิมพ์ประกอบด้วยเจ้าของ บรรณาธิการ หัวหน้ากองบรรณาธิการ ผู้มีอำนาจทำการแทนของหนังสือพิมพ์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นสมาชิกสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งประชุมกัน เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ลงนามท้ายบันทึกเจตนารมณ์ร่วมกันด้วยการสนับสนุนจากผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์อันได้แก่ ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และนักเขียนทั่วประเทศ ให้สถาปนาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนอื่น เพื่อส่งเสริมเสรีภาพความรับผิดชอบสถานภาพผู้ประกอบวิชาชีพ และกิจการหนังสือพิมพ์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อหนังสือพิมพ์เพื่อการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการประกาศใช้ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ ครบ ๒๓ ปีแล้ว
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการทำหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความครอบคลุมไปถึงสื่อมวลชนอื่น ๆ ด้วย คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจึงได้มีมติให้ยกเลิก “ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ ” และตรา “ธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓” ฉบับนี้ ขึ้นใช้บังคับแทน ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
บัดนี้การจัดทำธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้แล้วเสร็จ และผ่านความเห็นชอบจากมวลองค์กรสมาชิกแล้ว สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจึงมีมติให้ตราธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ ไว้ดังต่อไปนี้
หมวด ๑ บททั่วไป
ข้อ ๑ ธรรมนูญนี้เรียกว่า “ธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓”
ข้อ ๒ ธรรมนูญนี้ใช้บังคับถัดจากวันที่ประกาศใช้เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๐และให้ใช้ธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ ฉบับนี้แทน
ข้อ ๔ ให้มีองค์กรอิสระควบคุมกันเอง เรียกชื่อว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ชื่อย่อว่า ส.ส.ช. ชื่อภาษาอังกฤษว่า The National Press Council of Thailand ชื่อย่อว่า NPCT
ข้อ ๕ องค์กรสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนอื่นในสังกัดองค์กรสมาชิก ยอมรับผูกพัน และปฏิบัติตามธรรมนูญฉบับนี้
ข้อ ๖ ในธรรมนูญนี้
“สื่อมวลชน” หมายถึง สื่อหรือช่องทางที่ผลิต เผยแพร่ นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชน อย่างสม่ำเสมอเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย และสามารถกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
“หนังสือพิมพ์” หมายถึงสิ่งพิมพ์ที่เสนอข่าวโดยทั่วไปและความคิดเห็นเป็นสาระสำคัญเป็นส่วนใหญ่ ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ มีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม
“โทรทัศน์” หมายถึง สถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งการกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก และการกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทั้งนี้ ให้รวมถึงการทำให้ปรากฏเป็นเสียงและภาพ เพื่อสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นใด ที่เป็นการเสนอข่าวโดยทั่วไปและความคิดเห็น โดยสถานีหรือรายการนั้นด้วย
“วิทยุ” หมายถึง สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือรายการทางสถานีวิทยุ ทั้งนี้ ให้รวมถึงการทำให้ปรากฏเป็นเสียง เพื่อสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นใด ที่เป็นการเสนอข่าวโดยทั่วไปและความคิดเห็นโดยสถานี หรือรายการนั้นด้วย
“สื่อดิจิทัล” หมายถึง สื่อมวลชนที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชน ทั้งนี้ให้หมายรวมถึงสื่อดิจิทัลของสมาชิกที่เป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ด้วย
“สภาการสื่อมวลชน” หมายถึงสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
“กรรมการ” หมายถึง กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
“คณะกรรมการจริยธรรม” หมายถึงคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน กำกับให้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพและเคร่งครัด รวมทั้งมีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องที่มีการกล่าวหาร้องเรียนอันเนื่องมาจากการที่สมาชิกละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
“สมาชิก” หมายถึง องค์กรสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายถึง บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นปกติธุระในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน และเป็นสมาชิกขององค์กรสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
“ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน” หมายถึง บรรณาธิการ หัวหน้ากองบรรณาธิการ บรรณาธิการบริหาร หรือตำแหน่งควบคุมและดำเนินการงานกองบรรณาธิการที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น และให้หมายความรวมถึง ผู้สื่อข่าว ผู้เขียนข่าว ผู้เขียนบทความ ผู้ถ่ายภาพ ผู้เขียนภาพ ผู้ที่ทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับฝ่ายบรรณาธิการหรือบุคคลอื่น ตามที่สภาการสื่อมวลชนกำหนด
ข้อ ๗ สภาการสื่อมวลชน มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้มีความรับผิดชอบและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
(๒) ส่งเสริมเสรีภาพ และสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๓) ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและกิจการสื่อมวลชน
ข้อ ๘ สภาการสื่อมวลชนมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสังกัดสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และข้อบังคับ หรือระเบียบปฏิบัติอื่น ซึ่งตราขึ้นตามธรรมนูญนี้ หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) ให้การศึกษาอบรมด้านวิชาการแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
(๓) เผยแพร่ ประกาศ รายงานการประชุม งาน คำวินิจฉัย และคำสั่งของสภาการสื่อมวลชน ต่อสาธารณะเป็นประจำ
ข้อ ๙ สภาการสื่อมวลชนอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าบำรุงจากสมาชิก
(๒) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์
(๓) รายได้อื่นจากการดำเนินการตามวัตถุประสงค์
(๔) ดอกผลจากเงินตาม (๑) (๒) และ (๓)
หมวด ๒
สมาชิก
ข้อ ๑๐ สมาชิกแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) สมาชิกก่อตั้ง ประกอบด้วย
๑.๑ ประเภทหนังสือพิมพ์ ได้แก่ สมาชิกที่ผู้บริหาร เจ้าของ หรือบรรณาธิการผู้มีอำนาจเต็มของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ได้ลงนามในบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพ เรื่องการจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และยังคงดำเนินกิจการสื่อมวลชนอยู่ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
๑.๒ ประเภทวิทยุ ได้แก่ สมาชิกที่ผู้บริหาร เจ้าของ หรือบรรณาธิการผู้มีอำนาจเต็มของสถานีวิทยุกระจายเสียง หรือรายการทางสถานีวิทยุ ได้ลงนามในบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพ เรื่องการจัดตั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ กรุงเทพ และยังคงดำเนินกิจการข่าววิทยุกระจายเสียงนั้นอยู่ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
๑.๓ ประเภทโทรทัศน์ ได้แก่ สมาชิกที่ผู้บริหาร เจ้าของ หรือบรรณาธิการผู้มีอำนาจเต็มของสถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งการกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก และการกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ได้ลงนามในบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพ เรื่องการจัดตั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ กรุงเทพ และยังคงดำเนินกิจการข่าววิทยุโทรทัศน์นั้นอยู่ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
(๒) สมาชิกสามัญ ได้แก่สมาชิกของสภาการสื่อมวลชน ที่ไม่ใช่สมาชิกก่อตั้ง
ข้อ ๑๑ สมาชิกมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) สนับสนุนกิจกรรมของสภาการสื่อมวลชน และการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ
(๒) ส่งเสริมและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสังกัดให้ปฏิบัติตามข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ข้อ ๑๒ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังกัดสมาชิก ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติอื่น
สมาชิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ฝ่าฝืนข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติอื่น ถือว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพและให้บังคับตามหมวด ๕
ข้อ ๑๓ สมาชิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนพ้นจากสมาชิกภาพเมื่อ
(๑) เลิกกิจการ
(๒) ไม่ปฏิบัติตามมติของสภาการสื่อมวลชน และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของคณะกรรมการทั้งหมดให้พ้นจากสมาชิกภาพ
หมวด ๓
คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
ข้อ ๑๔ ให้สภาการสื่อมวลชนมีกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” จำนวนไม่เกินยี่สิบสามคน ประกอบด้วย กรรมการที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในองค์กรสมาชิกไม่เกินสิบห้าคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ อีกแปดคน โดยกรรมการที่มาจากข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ให้มีได้ไม่เกินหนึ่งคน
ทั้งนี้ จะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานลูกจ้างขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล องค์กร หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และในพรรคการเมือง รวมถึงที่ปรึกษา พนักงานและลูกจ้างของพรรคการเมือง
กรรมการที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้ถือเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) เจ้าของ หรือผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการ บรรณาธิการ หรือตัวแทนผู้มีอำนาจจากกองบรรณาธิการ จากสมาชิกก่อตั้ง
(๒) เจ้าของ หรือผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการ บรรณาธิการ หรือตัวแทนผู้มีอำนาจจากกองบรรณาธิการ จากสมาชิกสามัญ
ทั้งนี้การเลือกกรรมการตาม (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างสมาชิกในส่วนกลางและสมาชิกจากส่วนภูมิภาคในแต่ละกลุ่ม อีกทั้งให้คำนึงถึงสัดส่วนของจำนวนสมาชิกของสื่อแต่ละประเภทด้วย
ให้กรรมการตาม (๑) และ (๒) เลือกผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน ด้านการบริหารจัดการ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิมนุษยชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาละหนึ่งคน และเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอาวุโสและประสบการณ์สูงด้านสื่อมวลชน ซึ่งไม่สังกัดองค์กรสื่อมวลชนใด อีกจำนวนสองคน (รวม ๘ คน)
ให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งประธานสภาการสื่อมวลชนหนึ่งคน รองประธานสภาการสื่อมวลชน ไม่เกินสามคน เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนหนึ่งคน และกรรมการตำแหน่งอื่นตามความจำเป็นและเหมาะสม
ให้ประธานสภาการสื่อมวลชนเป็นผู้กระทำการแทนสภาการสื่อมวลชนในการติดต่อกับบุคคลภายนอก แต่ประธานสภาการสื่อมวลชนอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นกระทำการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้
ให้รองประธานสภาการสื่อมวลชนคนที่หนึ่ง คนที่สอง หรือคนที่สามกระทำการแทนเมื่อประธานสภาการสื่อมวลชนหรือรองประธานสภาการสื่อมวลชนคนที่หนึ่ง หรือคนที่สองไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้แล้วแต่กรณี หากประธานสภาการสื่อมวลชนหรือรองประธานสภาการสื่อมวลชนคนที่หนึ่ง คนที่สอง และคนที่สาม ไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการผู้มีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นการชั่วคราว
ให้เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนมีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการทั้งปวงของสภาการสื่อมวลชน
วิธีการได้มาซึ่งกรรมการในวรรคสอง ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาการสื่อมวลชน
ข้อ ๑๕ กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่ง๓ปี นับแต่วันที่ได้รับการเลือกตั้งตามข้อ ๑๔
ข้อ ๑๖ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) องค์กรที่สังกัดหยุดดำเนินกิจการ หรือกรรมการจากองค์กรนั้นย้ายสังกัด และต้นสังกัดพ้นสภาพสมาชิกตามข้อ๑๒ เฉพาะกรณีกรรมการมาจากข้อ ๑๐ (๑) (๒)
(๕) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และคณะกรรมการมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
(๖) ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
(๗) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๘) เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
ข้อ ๑๗ กรณีที่มีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการให้มีผู้มาดำรงตำแหน่งแทนตามประเภทของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งในข้อ ๑๖ เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึง ๖๐ วัน และให้กรรมการที่ได้รับเลือกใหม่ อยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๘ ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยทุก ๒ เดือน และกรรมการจะมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนมิได้
ประธานสภาการสื่อมวลชน อาจเรียกประชุมเมื่อมีเหตุผลสมควร หรือโดยคำร้องขอของกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดก็ได้
การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงถือเป็นองค์ประชุม และให้ประธานสภาการสื่อมวลชน ทำหน้าที่ประธานการประชุม
ข้อ ๑๙ คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสภาการสื่อมวลชน ตามวัตถุประสงค์
(๒) พิจารณาการเป็นสมาชิก
(๓) แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม
(๔) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาหรือช่วยทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องที่ได้รับมอบหมายตามวัตถุประสงค์ของสภาการสื่อมวลชน เว้นแต่กิจการที่มีลักษณะหรือสภาพที่สภาการสื่อมวลชนไม่อาจมอบหมายให้กระทำแทนได้
(๕) ออกข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนและข้อบังคับอื่น ตามที่กำหนดในธรรมนูญนี้
(๖) พิจารณาและวินิจฉัยปัญหาและข้อขัดแย้ง หรือปัญหาใดที่มิได้ตราไว้ในธรรมนูญนี้หรือปัญหาการบังคับใช้ธรรมนูญนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวให้เป็นที่สุด
(๗) จัดทำรายงานการดำเนินงานประจำปี ของสภาการสื่อมวลชน เผยแพร่ต่อสาธารณะ
หมวด ๔
การพิจารณาเรื่องร้องเรียน
ข้อ ๒๐ การร้องเรียนว่า ข้อความหรือภาพหรือการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นๆ ที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อดิจิทัล ในสังกัดสมาชิก หรือพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังกัดสมาชิก ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่าเสียหายหรือขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมด้วยหลักฐานต่อองค์กรสื่อมวลชนนั้น เพื่อบรรเทาความเสียหายตามควรแก่กรณี
ให้องค์กรสมาชิกในส่วนกลาง จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับความเสียหาย โดยมีสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกในอัตราที่เหมาะสม ทั้งนี้ องค์กรสมาชิกในส่วนภูมิภาคต้องรวมตัวกันจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนประจำแต่ละภาคด้วย ตามแต่กรณี
หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนประจำภาค ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องกำหนดให้ดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน ๓๐ วัน
ข้อ ๒๑ เมื่อผู้เสียหายได้ดำเนินการตามข้อ ๒๐ แล้วถูกปฏิเสธหรือมีการเพิกเฉยที่จะดำเนินการใด ๆ จากคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรสมาชิกสื่อมวลชน ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหาย หรือเมื่อผู้เสียหายเห็นว่าการบรรเทาความเสียหายของสื่อมวลชนตามข้อ ๒๐ ไม่เป็นที่พอใจจนเห็นได้ชัด ให้ผู้เสียหายมีสิทธิร้องเรียนเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการได้ภายใน ๑๒๐ วัน นับแต่วันได้รับความเสียหายนั้น
การยื่นเรื่องร้องเรียนให้ทำตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๒๒ เรื่องที่คณะกรรมการจะรับไว้พิจารณาดำเนินการ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
(๑) เรื่องที่ได้รับคำร้องเรียนจากผู้เสียหายตามข้อ ๒๑ หรือ
(๒) เรื่องที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับข้อความหรือภาพ ที่ปรากฏในสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิก หรือจากพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังกัดสมาชิก ขัดต่อข้อบังคับ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ถ้าคณะกรรมการมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ให้แจ้งผู้กล่าวหาร้องเรียนทราบพร้อมด้วยเหตุผล ผู้กล่าวหาร้องเรียนมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายใน ๓๐ วันนับแต่วันรับทราบคำวินิจฉัย เมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยไปเป็นประการใดแล้วให้ถือเป็นที่สุด
ข้อ ๒๓ ห้ามมิให้คณะกรรมการรับเรื่องไว้พิจารณาดำเนินการในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกันและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว หรือ
(๒) เรื่องที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเดียวกับเรื่องที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยเป็นที่สุดไปแล้วและไม่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งข้อกล่าวหา หรือ
(๓) เรื่องที่ล่วงเลยมาแล้วเกิน ๑๒๐ วันนับแต่วันที่ผู้เสียหายทราบเรื่อง หรือเกิน ๑ ปี นับแต่วันเกิดเหตุ เว้นแต่คณะกรรมการจะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องต่อประโยชน์สาธารณะ หรือมีผลกระทบต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพสื่อมวลชน
ข้อ ๒๔ เมื่อคณะกรรมการมีมติให้รับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องที่มีการกล่าวหาร้องเรียน แต่หากคณะกรรมการไม่ดำเนินการเอง
ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการจริยธรรมดำเนินการแทน โดยคณะกรรมการจริยธรรมจะแต่งตั้งและมอบหมายให้คณะทำงานสอบข้อเท็จจริงของเรื่องที่ร้องเรียนแทนก็ได้
ข้อ ๒๕ ให้คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมจำนวน ๙ คน ประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภาการสื่อมวลชน ประเภท (๑) เลือกกันเองให้เหลือ ๒ คน
(๒) กรรมการสภาการสื่อมวลชน ประเภท (๒) เลือกกันเองให้เหลือ ๑ คน
(๓) กรรมการสภาการสื่อมวลชน ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ เลือกกันเองให้เหลือ ๒ คน โดยให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอาวุโสและประสบการณ์สูงด้านสื่อมวลชน ๑ คน
(๔) ให้กรรมการจริยธรรมตาม (๑) – (๓) เสนอชื่อบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน ด้านการบริหารจัดการ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิมนุษยชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมเป็นกรรมการจริยธรรม ให้ได้ ๔ คน โดยไม่ซ้ำสาขา เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการรับรองและแต่งตั้ง
ในคราวแรกของการประชุม ให้คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาเลือกประธาน รองประธานและเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมให้เสร็จสิ้นเพื่อแจ้งให้คณะกรรมการทราบ
การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรมให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ออกตามธรรมนูญนี้
ข้อ ๒๖ เมื่อคณะกรรมการจริยธรรม ได้ตรวจสอบและดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้แจ้งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการและคู่กรณีทราบ ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่พิจารณาเสร็จ หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเห็นว่ายังมีพยานหลักฐานหรือเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา ให้ยื่นคำคัดค้านต่อคณะกรรมการจริยธรรม ภายใน ๒๐ วันนับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพิจารณา
เมื่อคณะกรรมการจริยธรรมได้รับคำคัดค้านแล้ว ให้ส่งผลการพิจารณาพร้อมคำคัดค้านของคู่กรณีให้คณะกรรมการพิจารณาต่อไป
หมวด ๕
ความรับผิดทางจริยธรรม
ข้อ ๒๗ เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิก หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสังกัดสมาชิกละเมิดหรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ให้คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งเป็นหนังสือให้ต้นสังกัดสมาชิกที่ถูกร้องเรียน ลงตีพิมพ์หรือประกาศเพื่อเผยแพร่คำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของคณะกรรมการภายใต้เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยนั้นโดยสภาการสื่อมวลชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
(๒) แจ้งเป็นหนังสือให้ต้นสังกัดสมาชิกที่ถูกร้องเรียน บรรเทาความเสียหายด้วยการลงตีพิมพ์หรือประกาศเพื่อเผยแพร่ข้อความคำขอโทษต่อผู้เสียหายตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ โดยสภาการสื่อมวลชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
(๓) ในกรณีผู้ประพฤติผิดเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้ส่งคำวินิจฉัยไปยังต้นสังกัดของผู้นั้น เพื่อดำเนินการลงโทษ แล้วแจ้งผลให้สภาการสื่อมวลชนทราบโดยเร็ว
(๔) ในกรณีที่เห็นสมควร สภาการสื่อมวลชนอาจตักเตือน เป็นลายลักษณ์อักษร
หลังจากแจ้งผลการพิจารณาให้แก่ผู้ถูกร้องเรียนทราบแล้ว ให้สภาการสื่อมวลชนเผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณะ
หมวด ๖
การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญ
ข้อ ๒๘ การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญนี้ จะกระทำได้จากการเสนอของกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยทำเป็นหนังสือเสนอต่อคณะกรรมการก่อนการประชุมตามข้อ ๑๘ วรรคสองไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน มติให้แก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญนี้ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
หมวด ๗
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๙ ข้อบังคับ คำสั่ง ระเบียบ แนวปฏิบัติ และหรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๐ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนในวันที่ธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับธรรมนูญฉบับนี้
ข้อ ๓๐ ให้คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนในวันที่ธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้คงปฏิบัติหน้าที่ตามธรรมนูญนี้ต่อไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติชุดใหม่
ข้อ ๓๑ ให้สมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่มีสถานภาพเป็นสมาชิกอยู่ก่อนในวันที่ธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้คงมีสถานภาพเป็นสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติตามธรรมนูญนี้ต่อไปตามเดิม
ข้อ ๓๒ การใดที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดกล่าวถึงตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้หมายถึงประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
ข้อ ๓๓ ให้โอนสิทธิ และหน้าที่ รวมทั้งบรรดาทรัพย์สิน พนักงาน เจ้าหน้าที่ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มาเป็นของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติตามธรรมนูญนี้ นับตั้งแต่วันที่ธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓
(นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี)
ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ