สภาการสื่อมวลชนฯ ประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน หลังคณะกรรมการเห็นชอบร่างแก้ไข ฉบับใหม่ พร้อมรับทราบการลงนามความร่วมมือกับ “ไวซ์ไซท์ ไทยแลนด์” เพื่อสนับสนุนกระบวนการกำกับดูแลด้านจริยธรรมของสื่อมวลชน
การประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มีวาระสำคัญคือ การรับรองร่างข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยวิธีพิจารณา เรื่องร้องเรียน ตามที่คณะกรรมการจริยธรรมเสนอ โดยที่ประชุมมีมติรับรอง พร้อมกับเห็นชอบให้มีผลบังคับใช้ทันที เพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ตามแนวทางการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมของสมาชิก (อ่าน รายละเอียด คลิกที่นี่)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กับบริษัท ไวซ์ ไซท์ ประเทศไทย จำกัด ในการนำเครื่องมือ “Zocial Eye” มาใช้ในรับฟังเสียงสะท้อนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในโซเชียล มีเดียต่างๆ เพื่อประเมินสภาพปัญหาการละเมิดจริยธรรมของสื่อมวลชน โดยมีคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการใช้เครื่องมือดังกล่าว พร้อมกับจะมีการรายงานผลการดำเนินการให้ที่ประชุมคณะกรรมการสภาฯ ทราบเป็นระยะๆ
คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังรับทราบผลการจัดงานครบรอบ 24 ปีสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เมื่อวัน อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 2564 ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) โดยรูปแบบการจัดงานเป็นการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และไทยพีบีเอส เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ ศบค. ในการจำกัดผู้เข้าร่วมงาน
ขณะเดียวกัน ยังรับทราบผลการจัดเสวนา “ทิศทางการเรียนการสอนกฎหมายและจริยธรรมภายใต้บริบทสื่อยุคหลอมรวม” ของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ เมื่อวันเสาร์ที่ 26 มิ.ย. 2564 ในรูปแบบไฮบริด คือ ทั้ง On site และ Online โดยมีนักวิชาการสื่อสารมวลชน นักวิชาชีพด้านสื่อ จากทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 30 คน
ส่วนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนากิจการสื่อ ได้ให้ความช่วยเหลือองค์กรสมาชิกในส่วนภูมิภาค โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ไอเน็ต” เพื่อร่วมมือกันพัฒนาและศึกษาแนวทางในการเพิ่มความสามารถของการเสนอข่าวออนไลน์ของสมาชิก
ในช่วงหนึ่งของการประชุม ได้มีการหยิบยกประเด็นที่ทางรัฐบาลได้ประกาศข้อกำหนดตาม พรก.ฉุกเฉินที่อาจมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยที่ประชุมมอบหมายให้ประธานสภาการสื่อมวลชนฯ และตัวแทนกรรมการ ไปร่วมหารือกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่ออื่นๆ อีก 5 องค์กรในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ค.) เพื่อกำหนดท่าทีร่วมกันต่อไป