ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔

——————————————

โดยที่ได้มีการจัดตั้ง “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เพื่อเป็นองค์กรทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน แทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเดิม จึงเป็นการสมควรที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติต้องออกข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๔ มาบังคับใช้สืบต่อไป 

หมวด ๑ บททั่วไป

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้

‘ข่าว’ หมายถึง เนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย หัวข้อข่าว พาดหัวข่าว ความนำ เนื้อหาข่าว

‘เนื้อหาข่าว’ หมายถึง การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารในรูปแบบต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเสียง สื่อภาพ สื่อเคลื่อนไหว รูปแบบการนำเสนอเฉพาะของสื่อดิจิทัล กราฟฟิก แอนนิเมชั่นจำลองเหตุการณ์ สื่ออินเตอร์แอคทีฟ และรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของข่าว

‘การแสดงความคิดเห็น’ หมายถึง บทบรรณาธิการ บทวิเคราะห์ คอลัมน์ บทความ การเล่าข่าว การ์ตูน รวมทั้งรูปแบบอื่นใดอันเป็นการติชม วิพากษ์วิจารณ์ หรือข้อเสนอแนะ

‘เนื้อหาทั่วไป’ หมายถึง สารคดี สารคดีเชิงข่าว หรือรายงาน หรือสกู๊ป หรือเนื้อหาอื่นใดที่ปรากฏในสื่อมวลชน

‘สื่อมวลชน’ หมายถึง สื่อมวลชนตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๖

‘ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน’ หมายถึงผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๖

ข้อ ๔ สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องไม่ประพฤติปฏิบัติการใด ๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติแห่งวิชาชีพ

หมวด ๒ หลักจริยธรรมทั่วไป

ความถูกต้องและข้อเท็จจริง

ข้อ ๕ สื่อมวลชนต้องตรวจสอบและไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระของข่าวจนคลาดเคลื่อน หรือเกินจากข้อเท็จจริง

ข้อ ๖ สื่อมวลชนต้องละเว้นการเสนอข่าวด้วยความลำเอียงหรือมีอคติเป็นเหตุให้ข่าวนั้นบิดเบือน อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลในข่าวและความเข้าใจผิดในสังคม

ข้อ ๗ สื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอหัวข้อข่าว พาดหัวข่าว ความนำ และภาพประกอบจนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากสาระสำคัญของข่าว

ประโยชน์สาธารณะ

ข้อ ๘ สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่คณะ

ข้อ ๙ สื่อมวลชนพึงเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป โดยตระหนักถึงความสำคัญและอรรถประโยชน์ของข่าวต่อสาธารณะ และไม่เสนอข่าวในทำนองชวนเชื่อหรือเร้าอารมณ์ให้คนสนใจในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ข้อ ๑๐ สื่อมวลชนพึงระมัดระวังในการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ในสถานการณ์วิกฤต อันจะส่งผลกระทบร้ายแรงในเชิงสุขภาพ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และการเมือง ไม่ว่าจะทำให้เกิดความเพิกเฉย หรือตื่นตระหนกเกินเหตุ หรือเจตนาเพื่อให้เกิดประโยชน์เฉพาะบุคคล หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ  

ข้อ ๑๑ สื่อมวลชนพึงทำหน้าที่ประสานความเข้าใจในสังคมในภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้ง แตกแยกในความคิด และพึงระมัดระวังการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว เนื้อหาทั่วไป หรือ การแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์อันจะเป็นการสร้าง หรือเพิ่มความหวาดระแวง ความเกลียดชัง ความขัดแย้ง และความรุนแรงในชุมชนหรือสังคม

ความสมดุลและเป็นธรรม

ข้อ ๑๒ สื่อมวลชนต้องแสดงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ข้อ ๑๓ สื่อมวลชนต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาแสดงข้อเท็จจริงเมื่อข่าวที่นำเสนอมีการพาดพิงอันอาจเกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือองค์กร หรือได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแล้ว

ข้อ ๑๔ สื่อมวลชนต้องรักษาความถูกต้องเที่ยงธรรม เมื่อบุคคลหรือองค์กรที่ถูกพาดพิงเห็นว่าการแสดงความคิดเห็น หรือการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง

การเคารพสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ข้อ ๑๕ สื่อมวลชนต้องเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อเด็ก เยาวชน กลุ่มเปราะบาง และผู้มีความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ในสังคม รวมทั้งต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่บุคคลและครอบครัวของผู้ตกเป็นข่าว

ข้อ ๑๖ สื่อมวลชนต้องไม่เสนอเนื้อหาข่าวที่อุจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียว โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชนอย่างถี่ถ้วน

ข้อ ๑๗ สื่อมวลชนพึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ข้อ ๑๘ สื่อมวลชนพึงระมัดระวังการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว เนื้อหาทั่วไป หรือ การแสดงความคิดเห็น ต่อสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งหรือมีความรุนแรง อันจะทำให้ผู้ตกเป็นข่าวเกิดผลกระทบ ไม่สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติสุขในชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม

ข้อ ๑๙ สื่อมวลชนพึงระมัดระวังการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว เนื้อหาทั่วไป หรือ การแสดงความคิดเห็น อันเป็นการไม่เคารพต่อเชื้อชาติ ศาสนา และชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นความเชื่อตามสิทธิส่วนบุคคล

ข้อ ๒๐ สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไม่สุภาพ หรือเนื้อหาข่าว ที่สื่อความหมายเชิงเหยียดหยาม หรืออยู่ในข่ายประทุษวาจา หรือแสดงนัยเชิงลบ

หมวด ๓ หลักกระบวนการทำงาน

การปกปิดและเคารพแหล่งข่าว

ข้อ ๒๑ สื่อมวลชนต้องไม่เสนอข่าวโดยเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มา พึงระบุชื่อบุคคลที่ให้สัมภาษณ์หรือให้ข่าวอย่างเปิดเผย เว้นแต่จะมีเหตุอันควรปกปิดเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแหล่งข่าว และต้องเป็นประโยชน์ต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน

ข้อ ๒๒ สื่อมวลชนต้องปกปิดชื่อและฐานะของบุคคลที่ให้ข่าวไว้เป็นความลับเมื่อได้ให้คำมั่นแก่แหล่งข่าวนั้นไว้ และต้องปกปิดชื่อจริงของผู้ใช้นามปากกาหรือนามแฝงที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้นไว้เป็นความลับ

ความรับผิดชอบในการแก้ข่าว

ข้อ ๒๓ สื่อมวลชนต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการแก้ไขข้อผิดพลาดอันเกิดจากการเสนอข่าวโดยไม่ชักช้า หากข้อผิดพลาดนั้นส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบุคคลหรือองค์กร ให้ดำเนินการขออภัยพร้อมกันไปด้วย

การแยกแยะข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น

ข้อ ๒๔ สื่อมวลชนต้องไม่สอดแทรกความคิดเห็นลงในข่าว เนื้อหาข่าว

การละเว้นอามิสสินจ้างและประโยชน์ทับซ้อน

ข้อ ๒๕ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องไม่อวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่เพื่อเรียกร้องสิทธิ หรือผล ประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่ชอบธรรม

ข้อ ๒๖ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อ ให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง รอบด้าน

ข้อ ๒๗ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนพึงละเว้นการรับอภิสิทธิ์ หรือตำแหน่ง เพื่อให้กระทำการหรือไม่ กระทำการใดอันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน

การได้มาซึ่งข้อมูลโดยไม่ละเมิด

ข้อ ๒๘ สื่อมวลชนต้องบอกที่มาของข้อมูลในเนื้อหาข่าวที่คัดลอก มาจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากการขออนุญาตจากแหล่งข้อมูลนั้นแล้ว

ข้อ ๒๙ สื่อมวลชนพึงใช้วิธีที่สุภาพและซื่อสัตย์ในการได้มาซึ่งข่าวสาร

โฆษณาที่ไม่แอบแฝงและงมงาย

ข้อ ๓๐ สื่อมวลชนต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ใดๆ บนสื่อเป็นการโฆษณา หรือแสวงหารายได้ ไม่ให้เกิดความกำกวม หรือกลมกลืนจนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นข่าว หรือส่วนหนึ่งของเนื้อหาข่าว

ข้อ ๓๑ สื่อมวลชนพึงใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบ ให้ประกาศโฆษณาทั้งหลายอยู่ภายในขอบเขต ของศีลธรรมและวัฒนธรรม และพึงระมัดระวังที่จะไม่เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประกาศโฆษณาที่น่าจะเป็นภัยแก่สังคมหรือสาธารณะ

ข้อ ๓๒ สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ประกาศโฆษณาที่มีเหตุให้น่าเชื่อว่าเจ้าของประกาศโฆษณา นั้น เจตนาจะทำให้ผู้บริโภคข่าวสารหลงเชื่อในสิ่งที่งมงาย

          ประกาศ ณ วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

 (นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี)

ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ